ไอ้ไข่ เด็กวัดเจดีย์ : เทพแห่งสามัญชน
บรรดาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายที่คนนับถือ จำแนกประเภทได้หลายประการเช่น ประเภทบุคคล สิงห์สาราสัตว์ ต้นไม้ ภูเขา เป็นต้น ในส่วนของบุคคลก็มีหลายสถานภาพทั้งบรรพชิต และคฤหัสถ์ หลายวัยตั้งแต่หลวงพ่อ หลวงปู่ หรือพ่อปู่ พ่อแก่ กระทั่งย้อนมาถึงวัยเด็กเช่น กุมารทอง รัก-ยม เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่มีผู้นิยมกันอย่างแพร่หลาย รู้จักกันทั่วประเทศไทย วัดใดใครสร้างก็ได้ แผงพระทั่วไปก็มากมี
ส่วน"ไอ้ไข่ เด็กวัดเจดีย์" เป็นนามของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำวัด แม้จะเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์แต่ก็หาใช่กุมารทองหรือรัก-ยมไม่ ที่มาของท่านก็มิได้เกี่ยวข้องกับนวนิยายหรือวรรณคดีเล่มใด คนในท้องถิ่นตำบลฉลอง อำเภอสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช ออกปากเอ่ยนามบนบานศาลกล่าวและเห็นประจักษ์ศักดิ์สิทธิ์มาตั้งแต่ครั้งโบราณกาล จากปากคำของคนในหมู่บ้านที่บอกเล่าถึงอิทธิปาฏิหาริย์ ค่อยๆแผ่กระจายไปต่างหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ กระทั่งถึงต่างจังหวัด
เมื่อมีการรับรู้กันอย่างกว้างขวางก็มีคนถามว่า"ไอ้ไข่ เด็กวัดเจดีย์" ท่านเป็นใคร มาจากไหน ลูกเต้าเหล่าใคร บางคนยังย้ำคำถามทิ้งท้ายว่า"เป็นอะไรตาย"
ครูคำรพ เกิดมีทรัพย์ ได้นำคำถามเหล่านี้ไปนมัสการถามพระอธิการอภิชิต พุทธสโร (พระอาจารย์แว่น) เจ้าอาวาสรูปปัจจุบัน ท่านอารย์จึงเล่าประวัติโดยสังเขปให้ผู้เขียนนำมาฝากท่านผู้อ่าน ความว่า.....
เมื่อกาลล่วงมากว่า 300 ปีแล้ว สถานที่แห่งนี้เป็นที่รกร้าง มีหลักฐานให้รู้ว่าเป็นที่วัดคือซากอิฐที่ปรักหักพัง และพระพุทธรูปที่ชาวบ้านเรียกว่า"ท่านเจ้าวัด" ยังคงหลงเหลืออยู่กับความศักดิ์สิทธิ์ของเด็กวัด สิ่งดังกล่าวคงอยู่ในหัวใจชาวบ้่านผู้นับถือ มีการบนบานศาลกล่าวอย่างต่อเนื่อง กว่า 99%ที่ได้ดังใจปรารถนา เมื่อสิ่งที่บนบานสำฤทธิ์ผลก็มีคนเข้ามาแก้บนที่วัดร้างแห่งนี้เป็นนิจ
ท่านเจ้าอาวาสกล่าวต่อไปว่า ท่านเองก็อยากทราบประวัติเหมือนที่ญาติโยมพุทธบริษัทถามนั่นแหละ ท่านถามใครก็ไม่มีใครรู้ รู้แต่ว่าปู่ของปู่ๆๆ หรือย่าของย่าๆๆ บอกว่าตรงนี้เป็นที่วัดมีเด็กเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำวัด แต่ท่านอาจารย์ก็ไม่ละความพยายาม สืบค้นเค้าคำเล่าความจากคนโน้นคนนี้มาปะติดปะต่อพอเป็นเรื่องราวว่า
"ไอ้ไข่ เด็กวัดเจดีย์" ท่านเป็นลูกเต้าเหล่าใคร เกิดในสมัยไหนไม่มีข้อมูล เล่ากันว่า ในครั้งกระโน้นพระขรัวทอง เป็นเจ้าอาวาสวัดเจดีย์ มีเด็กวัดซึ่งเป็นศิษย์คอยปรนนิบัติรับใช้ 2 คน คนหนึ่งชื่อเหมียน อีกคนหนึ่งไม่ทราบชื่อ คนที่ไม่ทราบชื่อนั้นชาวบ้านเรียกกันว่าไอ้ไข่ไอ้ไข่เป็นเด็กซุกซน แต่ชอบช่วยเหลือชาวบ้าน ไม่เกรงกลัวใคร มีความรู้ทางเวทย์มนต์ คาถาอาคม มีลักษณะพิเศษเหนือกว่าเด็กธรรมดาทั่วๆไป
พระอาจารย์ทองเล่าต่อว่า ในตำนานเมืองนครกล่าวถึงเหตุการณ์ตอนเจ้าพระยาคืนเมือง มีท้องตรามายังเมือง"อลอง"(คำนี้ปราชย์ท้องถิ่นยืนยันคำอ่านว่า หลอง) มีบันทึกว่า...มาถึงเมืองอลอง แวะพักหนึ่งคืน นมัสการสมภารทองมีศิษย์เกะกะชื่อว่าไอ้ไข่...เล่ากันว่าหากชาวบ้านหมดปัญญาสามารถในเรื่องใดต้องนึกถึงไอ้ไข่เด็กวัด หรือไปออกปากให้ช่วยเหลือ เป็นอันต้องสำเร็จ จนถือกันว่าเป็นเด็กที่มีความแปลกอานุภาพพิเศษ สร้างความแปลกใจใจให้แก่ชาวบ้าน ถึงแม้ไอ้ไข่จะเป็นเด็กซุกซนแต่ก็ไม่มีใครเกลียดชัง กลับกลายเป็นเด็กที่ไปได้ทั่ว อยู่ในความระลึกของชาวบ้านตลอดมา และยังบ่งบอกว่าไอ้ไข่เป็นเด็กที่มีความจริงทั้งวาจาและจิตใจ ถือสัจจะเป็นหลัก สิ่งใดที่รับปากแล้วเป็นต้องทำให้ได้ ถึงแม้บางครั้งเป็นเรื่องอันตรายก็ตาม บางคนเล่าว่าหากควายตัวใดไม่ยอมให้จับหรือพยศ หากไอ้ไข่รับปากจับให้แล้วเมื่อตอนเข้าไปใกล้ควายหากไอ้ไข่จับหางติดแล้ว ก็ไม่ยอมปล่อยเด็ดขาดไม่ว่าควายจะวิ่งอย่างไร ในที่สุดควายต้องละพยศหมดฤทธิ์ลงโดยสิ้นเชิง ไอ้ไข้ กลายเป็นเด็กที่คนยุคนัั้นกล่าวขวัญกันไม่รู้จบ
ท่านสมภารรูปปัจจุบันเล่าเพิ่มเติมอีกว่า เมื่อท่านขรัวทองชราภาพ ท่านขรัวเห็นว่าวัดมีภัยทางศึกพม่าบุกเมืองนครแน่นอน วัดเจดีย์ ก็เป็นด่านหนึ่งที่พม่าบุก(ในสงคราม 9 ทัพ) เป็นเหตุให้ชาวบ้าน ชาววัด ต่างหนีศึกพม่าไปคนละทิศละทาง (ความตรงนี้มีหลักฐานชื่อบ้านในละแวกใกล้เคียงรองรับ เช่นทุ่งสู้เมือง นาค่าย ทุ่งเจ้าไชย เป็นต้น) ท่านสมภารทองเห็นดังนั้น จึงบอกให้ไอ้ไข่ช่วยรักษาวัดอย่าได้ทิ้งไปไหน(ความตรงนี้ ในสมัยรัชกาลที่ 3 แห่งราชวงศ์จักรี เรียกคนที่รักษาวัดว่า เลขวัด มีการสักเลขเป็นเครื่องหมายไม่ต้องให้ทางการเกณฑ์ไพร่พลไปรบ) ท่านสมภารทองเองก็อยู่ปกป้องคุ้มครองรักษาวัดด้วยเช่นกัน
พระอธิการอภิชิต เจ้าอาวาสรูปปัจจุบันเล่าต่อว่า ไม่สามารถทราบได้ว่าท่านสมภารขรัวทองมรณภาพเมื่อใด และไอ้ไข่มีชีวิตถึงสมัยไหน บ้างเล่าต่อๆกันมาว่า หลังจากท่านขรัวทองมรณภาพแล้ว ไอ้ไข่ก็เดินลงไปในสระน้ำหน้าวัด แล้วไม่ขึ้นมาให้ใครเห็นอีกเลย แต่วันดีคืนดีแม้ในปัจจุบัน ยังมีคนเห็นเด็กวิ่งเล่นในวัดหรือปรากฎร่างเด็กให้เห็น หรือมีเสียงเด็กให้ได้ยิน หรือปรากฏแก่ผู้ที่มานอนวัดเจดีย์แบบครึ่งหลับครึ่งตื่น
ราว พ.ศ.2543 ปีนั้นวัดนี้ไม่มีภิกษุจำพรรษา นายทหารจากกองทัพภาคที่ 4 นครศรีธรรมราช นำทหารมาปราบปรามผู้ก่อการร้ายแวะพักค้างคืนในเปลสนามที่ผูกติดกับต้นไม้ โดยไม่ได้บอกกล่าวสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เพราะนายทหารผู้นี้ไม่เคยรู้เรื่องเกี่ยวกับวัดนี้มาก่อน ขณะทำท่าว่าจะหลับโดนเขกกบาลตกใจผงกหัวขึ้นมา เห็นเงาเด็กวิ่งหายไปในความมืด ท่านโดน 2-3 ครั้งต้องสั่งทหารเคลื่อนกำลังพลกลางดึก ปัจจุบัน (2553) ท่านผู้นี้ยังมีชีวิตและเล่าให้ใครต่อใครฟัง จากนั้นนามไอ้ไข่เด็กวัดเจดีย์ก็ขจรขจายไปทั่วสารทิศ)
ก่อนหน้าที่นายทหารนำกำลังพลมาพักดังกล่าวแล้ว ที่วัดมีรูปแกะสลักทำด้วยไม้อยู่ในกุฏิ รูปแกะสลักมีความเป็นมาอย่างไร ท่านเจ้าอาวาสเล่าให้ฟังว่า
อยู่มาวันหนึ่ง ผู้ใหญ่เที่ยง เมืองอินทร์ ฆราวาสจอมขมังเวทผู้มีฉายาว่า"เที่ยง หักเหล็ก" (เพราะท่านมีอาคมแก่กล้าหักตะปู มีดพร้าได้) ท่านนำไม้ตะเคียนมาแกะสลักเป็นรูปคน แล้วอัญเชิญวิญญาณมาสิงสถิต และขนานนามรูปแกะสลักนั้นว่า"ไอ้ไข่วัดเจดีย์"
ดังนั้นนามเรียกขานประกอบด้วยคำสองคำ คือคำว่า"ไอ้"กับคำว่า"ไข่"รวมเป็น"ไอ้ไข่"คำนี้มีความหมายตามพจนานุกรมว่า ชื่อเพื่อนฝูงแสดงว่ามีความสนิทสนมมาก และไอ้ไข่ ท่านรับร่างไม้ที่ผู้ใหญ่เที่ยงแกะสลักให้ และรับนามนั้นด้วย
แต่บางคนเข้าใจว่าคำว่า"ไอ้"เป็นคำไม่สุภาพจึงใช้คำอื่นแทน เช่นน้องไข่ ตาไข่ ลุงไข่ ทวดไข่ ลูกไข่ หรือ ไข่ ซึ่งจะเป็นว่าหมายถึงผู้อื่นที่มิใช่ท่าน"ไอ้ไข่ วัดเจดีย์
รูปแกะสลักด้วยไม้ดังกล่าวประดิษฐานอยู่ที่กุฏิ มีคนมากราบไหว้บูชา ขอพร บนบานศาลกล่าวขอให้มีโชคได้ลาภในการเสี่ยงดวงเล่นพนันขันต่อ หรือขอให้ช่วยเรียกคนให้มาซื้อของ หรือให้ทำยอดให้ได้ตามเป้า หรือของหายขอให้ช่วยหา หรือขอให้ช่วยปกป้องภัยนานา แล้วนำสิ่งของมาแก้บนมิไดเว้นแต่ละวัน ครั้นถึงวันสงกรานต์ 13-17 เมษายน ของทุกปีมีการจัดงานบุญ คณะกรรมการวัดนำรูปมาประดิษฐานยังปะรำพิธี ให้คนสรงน้ำพระแล้วอาบน้ำ ไอ้ไข่ ขอพรด้วยความเชื่อมั่น ศรัทธาใน ไอ้ไข่ เด็กวัดเจดีย์ : เทพแห่งสามัญชน"