[ รายละเอียด ] ความ ยุ่งยากของการดำเนินการสร้างวัตถุมงคลในครั้งนี้ ก็เพื่อความเข้มขลังของวัตถุมงคล ดังจะกล่าวได้ว่า มีขั้นตอนการดำเนินการจัดสร้างที่ดีเยี่ยมในพิธีการ และด้วยความต้องการให้วัตถุมงคลเปี่ยมด้วยการสร้างที่ดี ทำให้คณะศิษย์ที่ดำเนินการจัดสร้างต้องหาโรงงานหล่อด้วยความยากลำบาก ทว่าในที่สุดก็ได้โรงหล่อหนองแขมของนายช่างสุเทพ สุนทรประธาน ซึ่งตั้งอยู่ที่ตำบลลำพะยา หมู่ที่ 4 จังหวัดนครปฐม ดำเนินการสร้างพระปิดตานะมหามงคล และแหวนพิรอด ตามเงื่อนไขขั้นตอนที่พระอาจารย์ศรีเงิน อาภาธโร ตั้งไว้
นายช่างได้ดำเนินการปั้นหุ่นแบบพระปิดตา และแหวนพิรอดตามแบบแก้ไขดัดแปลงจนเป็นที่พอใจของคณะศิษย์พระอาจารย์ศรีเงิน อาภาธโร จึงได้ดำเนินการปั้นหุ่นเทียนขี้ผึ้งขึ้นเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2524 โดยปั้นหุ่นพระปิดตาพิมพ์ใหญ่ 1,000 องค์ พระปิดตาพิมพ์เล็ก 1,031 องค์ แหวนพิรอด 524 วง จนหุ่นขี้ผึ้งแล้วเสร็จในวันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2524
|
ในระหว่างการปั้นหุ่นขี้ผึ้งจนบรรจุเบ้าเป็นองค์พระ และแหวนพิรอดนั้น ศิษย์ของพระอาจารย์ศรีเงิน อาภาธโร ซึ่งไปควบคุมด้วยตนเองนอกเหนือไปจากการช่วยในการปั้นหุ่นแล้ว ยังเป็นผู้ไปซื้อกับข้าวไปจากตลาดนครปฐม และลงมือปรุงอาหารให้ช่างอื่นๆ รับประทานโดยมิได้ให้ภรรยานายช่างเข้าช่วยแต่ประการใด ตามเงื่อนไขที่พระอาจารย์ศรีเงิน อาภาธโร ได้ตั้งไว้
วันที่ 17-20 กรกฎาคม พ.ศ. 2524 เริ่มเผาเบ้าหุ่นขี้ผึ้งจนเสร็จเรียบร้อย
แต่ อุปสรรคของการดำเนินการสร้างยังไม่จบสิ้นเพียงเท่านั้นหรอก ด้วยฤกษ์บรรจุลงเบ้าเพียง 4 นาทีเท่านั้น ซึ่งได้กำหนดไว้ในวันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2524 เวลา 04.20-04.24 น. สถานที่หล่อตั้งอยู่กลางแจ้ง แต่ในวันนั้นฝนเริ่มตกตั้งแต่บ่าย 3 จน 3 ทุ่มแล้วยังไม่มีทีท่าว่าจะหยุดตก ที่สุดคณะศิษย์ต้องจุดธูปอธิษฐานพระอาจารย์ทองเฒ่า วัดเขาอ้อ และพระอาจารย์เอียด วัดดอนศาลา ขอให้ฝนหยุดตกตั้งแต่เที่ยงคืน ด้วยช้าไปจะหล่อโลหะกันไม่ทัน ครั้นถึงเวลา 24.00 น. ฝนก็หยุดตก ช่างเริ่มจุดไฟหลอมโลหะและแผ่นชนวน
|
ระหว่างการหลอมโลหะก็ปรากฏอัศจรรย์ขึ้น ตะกรุดทองคำและแผ่นยันต์ของพระอาจารย์ศรีเงิน อาภาธโร ไม่หลอมละลาย ทั้งที่โลหะอื่นนั้นหลอมละลายหมดแล้ว เมื่อเอาเหล็กมากดแผ่นยันต์ให้จมลง พอยกเหล็กขึ้นแผ่นยันต์ก็ลอยขึ้นมาอีก นายช่างก็ชักเริ่มตกใจด้วยใกล้ฤกษ์ที่กำหนดไว้แล้ว ช่างทั้ง 3 จึงได้จุดธูปเทียนขอขมาอาจารย์ แล้วบนบานที่จะสร้างพระพุทธรูปสุโขทัยถวาย 1 องค์ ปรากฏว่าแผ่นชนวนและตะกรุดทองคำหลอมละลายหมดทันฤกษ์พอดี
เป็นที่โล่งใจของช่าง ด้วยไม่ทันฤกษ์ก็ต้องเตรียมการใหม่หมด
แต่มีเรื่องประหลาดที่ว่า มีพระปิดตาองค์ใหญ่องค์หนึ่ง ไม่มีแกนชนวนติดหลุดออกมาเลยตอนทุบเบ้า และเมื่อช่างเริ่มตัดชนวนทีละองค์ ได้เริ่มต้นพระปิดตาพิมพ์เล็กเป็นองค์แรก หลุดจากแกนชนวนหล่นตกพื้น ต่างคนต่างมองเห็นองค์พระตั้งอยู่บนพื้น แต่เมื่อเอื้อมมือไปหยิบขึ้นมา องค์พระปิดตาหายไปเสียแล้ว
วัตถุมงคลที่ได้ดำเนินการสร้างในครั้งนั้นเป็นพระปิดตา 2 ขนาด คือ พิมพ์ใหญ่ และพิมพ์เล็ก และแหวนพิรอด สำหรับแหวนพิรอดนั้นได้หล่อกันในวันรุ่งขึ้นจากการหล่อพระปิดตาแล้ว โดยใช้ชนวนที่เหลือจากการสร้างพระปิดตาผสมเนื้อปืนใหญ่โบราณ และแผ่นยันต์เพิ่มอีก 3 แผ่น เพื่อบรรจุลงในเนื้อโลหะสร้างแหวนพิรอดโดยเฉพาะ
หล่อต่อเนื่องกับพระปิดตา เพียงแต่ราไฟไว้ไม่ให้ดับ ปรากฏว่าเบ้าระเบิดไปบางส่วน ได้แหวนพิรอดสมบูรณ์เพียง 400 วง เท่านั้น
เสร็จพิธีแล้ว พระอาจารย์ศรีเงิน อาภาธโร ได้เก็บไว้ในกุฏิปลุกเสกเดี่ยว จนถึงวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2524 จึงได้นำไปปลุกเสกใหญ่อีกครั้งหนึ่งร่วมกับพระกริ่งนะมหามงคล
พระเกจิอาจารย์ที่ปลุกเสก ประกอบด้วย
1. พระครูกาชาด (บุญทอง) วัดดอนศาลา จังหวัดพัทลุง 2. พระอาจารย์ศรีเงิน อาภาธโร วัดดอนศาลา จังหวัดพัทลุง 3. พ่อท่านคล้อย วัดภูเขาทอง จังหวัดพัทลุง 4. พระอาจารย์แก้ว วัดโคกโดน จังหวัดพัทลุง 5. พ่อท่านหมุน วัดเขาแดงตะวันออก จังหวัดพัทลุง 6. พระอาจารย์เล็ก วัดประดู่เรียง จังหวัดพัทลุง 7. พระอาจารย์จับ วัดท่าลิพงศ์ จังหวัดนครศรีธรรมราช 8. พระอาจารย์หนูจันทร์ วัดพัทธสีมา จังหวัดนครศรีธรรมราช 9. พระอาจารย์ทอง พระธุดงค์มาจากจังหวัดสงขลา |