[ รายละเอียด ] สร้อยลูกปัดทราวดี เขาศรีวิชัย สุราษฎร์ธานี ผ่านประกวดติดรางวัลที่1 ของ จังหวัดสุราษฎร์ธานี เส้นนี้คัดดาวเด่นดาวดังจากทั่วเขาศรีวิชัยมาร้อยเรียงในเส้นสวยเพื่อแสดงความความในแบบสไตล์ลูกปัดเขาศรีวิชัยดั่งเดิมครอบคลุมความยิ่งใหญ่ของอาณาจักรศรีวิชัย(ศรีโพธิ์)มาไว้เป็นหนึ่งเดียวยากที่หาได้แชมป์สถานเดียวครับ
เขาศรีวิชัย/เขาพระนารายณ์
ที่ตั้ง หมู่ 1 บ้านหัวเขา ตำบลศรีวิชัย อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฏร์ธานี พิกัดแผนที่ เส้นรุ้ง 9 องศา 9 ลิปดา 15 ฟิลิปดาเหนือ เส้นแวง 99 องศา 13 ลิปดา 35 ฟิลิปดาตะวันออก ระวาง 4827 II อำเภอพุนพิน
ลักษณะและสภาพของแหล่ง เขาศรีวิชัยหรือเขาพระนารายณ์ตั้งอยู่ริมฝั่งซ้ายของคลองพุนพินสาขาของแม่น้ำตาปี ห่างจากคลองโดยเฉลี่ยประมาณ 400 เมตร ลักษณะเป็นภูเขาขนาดย่อมประกอบด้วยเนินเขาหินดินดานผสมเนินดิน กว้างประมาณ 100 เมตร ยาวประมาณ 650 เมตร สูงประมาณ 21-30 เมตร บนยอดเขามีพื้นที่ราบกว้างประมาณ 45-50 เมตรยาวตลอดแนวสันเขา บริเวณพื้นที่ราบชายเนินมีเนื้อที่ประมาณครึ่งตารางกิโลเมตร ต่อด้วยพื้นที่ราบลุ่มกว้างขวางฝั่งคลองพุนพินซึ่งใช้เป็นพื้นที่เกษตรกรมของชาวบ้านในปัจจุบัน บริเวณพื้นที่ราบชายเนินเขาศรีวิชัยเคยปรากฏบริเวณที่เป็นโคกหรือที่ดอน 2 แห่ง น่าจะเป็นศาสนาสถานสำหรับประดิษฐานรูปเคารพ เพราะปรากฏร่องรอยแนวอิฐและหินดานกรอบประตู ที่เนินโคกหนึ่งพบฐานโยนิ ปัจจุบันเนินดังกล่าวถูกปรับพื้นที่เป็นสนามกีฬาของโรงเรียนวัดเขาศรีวิชัย ซึ่งตั้งอยู่บริเวณเชิงเขาด้านทิศใต้ ส่วนอีกเนินหนึ่งใกล้เชิงเขาพบใบเสมาหินทรายแดงสมัยอยุธยาและเคยพบศิวลึงค์ ส่วนบริเวณพื้นที่ราบห่างจากเขาศรีวิชัยไปทางทิศตะวันตก มีสระน้ำขนาดใหญ่ สันขอบสระเป็นแนวคันดินและอิฐ ชาวบ้านเรียกว่า สระพัง เป็นแหล่งเก็บกักน้ำสำหรับทำกสิกรรมในบริเวณนี้
ประวัติความเป็นมา จากสัมภาษณ์ราษฎรที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ใกล้เคียงวัดเขาศรีวิชัยเกี่ยวกับความเป็นมาของชื่อวัด บ้างว่าวัดเขาศรีวิชัยเรียกกันมาตั้งแต่ดั้งเดิม บ้างก็ว่าชื่อวัดหัวเขาบน ตามชื่อบ้านซึ่งชื่อบ้านหัวเขา ต่อมาจึงเปลี่ยนเป็นวัดเขาศรีวิชัย เกี่ยวกับเรื่องนี้มีหลักฐานที่น่าสนใจและอาจจะเกี่ยวข้องกับชื่อวัดนี้คือ ตำนานการบูรณะพระบรมธาตุไชยาในสมัยพระครูโสภณเจตสิการาม ( หนู ติสโส) เล่าว่า เมื่อปี พ.ศ. 2438 มีชายหนุ่มที่ต่อมารู้จักในนาม ตาปะขาวนุ้ย ไม่ปรากฏว่าหลักฐานแหล่งเดิมอยู่ที่ใดแต่ได้มาขออาศัยที่วัดหัวเขา อำเภอพุนพิน มีชื่อเสียงในการบูรณะวัด ต่อมาชาวไชยาเดินทางไปรับตาปะขาวมาไชยาและเริ่มเข้ามาถากถางเพื่อบูรณะพระบรมธาตุ แต่เกิดเรื่องเสียก่อนจึงบูรณะไม่สำเร็จ ( ธรรมทาส พานิช , 2541: 260 ) เรื่องที่ยกมานี้มีข้อสังเกตที่ชื่อวัดหัวเขา อำเภอพุนพิน ว่าน่าจะเป็นชื่อเดิมของวัดเขาศรีวิชัยที่ชาวบ้านเรียกกันสืบต่อมาก็ได้ อย่างไรก็ตามมีหลักฐานที่เป็นลายลักษณ์อักษรปรากฏชื่อ วัดเขาศรีวัย ในหนังสือสัญญาการรับเหมาสร้างกุฏิ 3 หลังที่อารามวัด ลงวันที่ 24 กันยายน ร.ศ. 121 หนังสือสัญญานี้อยู่ในความครอบครองของพระครูวิจิตรคณานุการ อดีตเจ้าอาวาสวัดเขาศรีวิชัย (ธราพงศ์ ศรีสุชาติ , 2529 เล่ม 6 : 2524 ) ดังนั้นจึงเป็นหลักฐานค่อนข้างแน่ชัดว่า ชื่อวัดเขาศรีวิชัยเป็นชื่อที่มีมาไม่ต่ำกว่า พ.ศ. 2445 ส่วนจะเก่าไปถึงเท่าใดก็ไม่ทราบแน่ชัด และชื่อวัดหัวเขาบนคงเป็นชื่อที่ชาวบ้านนิยมเรียกอย่างไม่เป็นทางการนั่นเอง
ส่วนชื่อ เขาพระนารายณ์ เป็นอีกชื่อหนึ่งที่ใช้เรียกเขาศรีวิชัย หลักฐานการประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานของกรมศิลปากร วัดศรีวิชัย ในขณะเดียวกันก็ประกาศขึ้นทะเบียน เขาพระนารายณ์ ( กรมศิลปากร,กรม , 253: 59 ) ซึ่งเป็นชื่อที่ชาวบ้านเรียกเขาศรีวิชัยอีกชื่อหนึ่ง เนื่องจากพบเทวรูปพระนารายณ์อยู่บนซากโบราณสถานบนยอดเขา ชาวบ้านเรียกว่า ฐานพระนารายณ์ มีเรื่องเล่าของชาวบ้านในแถบนี้ว่า เมื่อครั้งพม่ายกกองทัพมาถึงหมู่บ้านในบริเวณนี้ชาวบ้านได้หนีขึ้นไปอยู่บนเขากันหมด พม่าได้ยินเสียงอื้ออึง เมื่อขึ้นไปดูก็ไม่พบผู้คนเห็นแต่เทวรูปอยู่บนเขา ครั้นลงมาข้างล่างก็ได้ยินเสียงเหมือนมีคนอยู่บนเขา แต่เมื่อไปดูไม่พบผู้ใดเนื่องจากอิทธิฤทธิ์ของพระนารายณ์กำบังไว้ เป็นอย่างนี้ทุกครั้งไป พม่าจึงฟันแขนเทวรูปหักขาดเรื่องเหล่านี้ผู้เฒ่าผู้แก่เล่าสืบทอดกันมาสะท้อนให้เห็นความศรัทธา เลื่อมใสในความศักดิ์สิทธิ์ของเทวรูปที่เปรียบเสมือนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำชุมชน ต่อมาสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ โปรดฯ ให้นำไปเก็บรักษาไว้ที่กรุงเทพฯ ซึ่งปัจจุบันจัดแสดงอยู่ ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
ต่อมาชาวบ้านได้ขุดพบเทวรูปพระนารายณ์ศิลาอีกองค์หนึ่งบริเวณเชิงเขาด้านทิศใต้สภาพชำรุดไม่มีเศียร สูง 40 เซนติเมตร เป็นเทวรูปรุ่นเดียวกันและลักษณะคล้ายกัน ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ นครศรีธรรมราช และเมื่อปี พ.ศ. 2518 มีการพัฒนาตัดถนนผ่านวัดก็ได้พบลูกปัดจำนวนมาก รวมไปถึงบริเวณที่ราบเชิงเขาจนจรดฝั่งแม่น้ำตาปี ส่วนใหญ่เป็นลูกปัดแก้วสีต่าง ๆ ลูกปัดหลายแบบมีลักษณะคลายกับลูกปัดอินเดีย ลูกปัดหินก็พบแต่มีจำนวนน้อยกว่า มีทั้งที่ทำด้วยหินคาร์เนเลี่ยน อาเกต และควอทซ์ รวมทั้งลูกปัดทองคำด้วย จึงเป็นเหตุให้ชาวบ้านเข้าไปลักลอบขุดหาโบราณวัตถุ จนทำให้เกิดเสียหายกับหลักฐานทางประวัติศาสตร์ เพราะการขุดคุ้ยเพื่อให้ได้ซึ่งโบราณวัตถุเพียงอย่างเดียว เป็นการทำลายข้อมูลทางวิชาการที่จะทำให้สามารถย้อนอดีตแรกเริ่มที่มีผู้คนเข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณเขาศรีวิชัยลงอย่างน่าเสียดาย ในการขุดหาลูกปัดของชาวบ้านทำให้เกิดการขุดพบพระพิมพ์ขนาดเล็กที่เรียกว่า พระพิมพ์เม็ดกระดุม โดยบังเอิญ นอกจานี้ยังพบเศษเครื่องถ้วยชามจีน สมัยราชวงศ์ซุ่ง และราชวงศ์หมิง กระจัดกระจายอยู่ทั่วไปร่วมกับเศษภาชนะดินเผาพื้นเมือง
หลักฐานทางโบราณคดีและรูปแบบศิลปกรรม
1. เนินโบราณสถาน พบเนินโบราณสถานบนยอดเขาทั้งสิ้น 8 เนิน ได้แก่
1.1 เนินโบราณสถานหมายเลข 1 ภายหลังการขุดแต่งในปีงบประมาณ 2534 พบว่าเนินโบราณสถานหมายเลขหนึ่ง เป็นอาคารสถาปัตยกรรมที่สร้างขึ้นโดยการดัดแปลงภูเขาธรรมาติให้อยู่ในรูปทรงของฐานปิระมิด โดยการนำหินขนาดใหญ่มาก่อเรียงซ้อนกันขึ้นไปจาเชิงเขาถึงยอดเขา ขนาดประมาณ 50 X 50 เมตร เมื่อถึงยอดเขาได้ปรับพื้นที่ในแนวระนาบให้เรียบร้อยแล้วจึงสร้างอาคารก่ออิฐฐานสูง ขนาด 14 X 18 เมตร เป็นอาคารประธาน สันนิษฐานว่าเป็นเทวาลัยสำหรับประดิษฐานเทวรูปพระวิษณุ จากการขุดแต่งได้พบฐานเสาจำนวน 16 ต้น น่าจะเป็นฐานเสาอาคารของเทวสถานประธาน พบกระเบื้องมุงหลังคาดินเผาจำนวนมาก สันนิษฐานว่าอาคารหลังนี้นาจะมีหลังคาจั่ว มีปีกนกรองรับ 1 ชั้น ด้านหน้าอาคารประธานมีอาคารขนาดเล็กอีก 2 หลัง หลังที่อยู่ด้านทิศตะวันตกหมดสภาพไปแล้ว อาคารบริวารด้านหน้านี้สันนิษฐานน่าจะเป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมของพราหมณ์ ที่กระทำพิธีให้กับศาสนิกชน ที่ขึ้นมาประกอบพิธีทางศาสนา
1.2 เนินโบราณสถานหมายเลข 2 อยู่ถัดจากเนินโบรารสถานหมายเลข 1 ไปทางทิศ เหนือประมาณ 6-8 เมตร ปรากฎแนวหินก่ออิฐเรียงซ้อนกันเป็นฐานอาคารทางด้านทิศใต้ของเนินสูงจากพื้นดินด้านล่างประมาณ 3 เมตร ใกล้กับแนวฐานหินตรงมุมด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้มีเนินดินขนาด 20X30 เมตร อยู่ตรงส่วนบนของแนวฐานหินนั้น ความสูงของเนินหินประมาณ 1.50 เมตร
1.3 เนินโบราณสถานหมายเลข 3 อยู่ถัดจากเนินโบราณสถานหมายเลข 2 ไปทาง ทิศเหนือ ตัวเนินสูงจากพื้นโดยรอบประมาณ 2.10 เมตร ขนาด 20X 30 เมตร พบเศษอิฐแตกหักกระจายอยู่ทั่วไป และเป็นที่น่าสังเกตว่าเนินโบราณสถานหมายเลข 2 และ 3 อยู่ใกล้กันมากอาจจะเป็นอาคารที่ก่อสร้างอยู่บนฐานหินทรงปิรามิดยอดตัดฐานเดียวกันก็ได้
1.4 เนินโบราณสถานหมายเลข 4 อยู่ห่างจากเนินโบราณสถานหมายเลข 3 ไปทางทิศเหนือราว 50 เมตร พบเศษอิฐกระจัดกระจายอยู่จำนวนมาก บางก้อนมีลักษณะเป็นชุดประกอบฐานลวดบัวสถาปัตยกรรม และชิ้นส่วนสถาปัตยกรรมศิลา ขนาดของเนินดินประมาณ 50 x 60 เมตร สูงประมาณ 1.50 เมตร
1.5 เนินโบราณสถานหมายเลข 5 อยู่ห่างจากโบราณสถานหมายเลข 4 ไปทางทิศเหนือประมาณ 150 เมตร พบเศษอิฐกระจัดกระจาย มีอิฐที่ถากเป็นรูปบัว ขนาดของเนินประมาณ 30 x 30 เมตร สูงประมาณ 1.50 เมตร ที่ขอบเนินทางด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้พบแนวฐานหินก่อเรียงซ้อนกันสูงประมาณ 3 เมตร ตรงกลางเนินมีลักษณะเป็นบ่อขนาดใหญ่ ลึกประมาณ 1.00 เมตร อาจเป็นบ่อที่เกิดจากการลักลอบขุดมากกว่าบ่อน้ำธรรมชาติ
1.6 เนินโบราณสถานหมายเลข 6 อยู่ห่างจากเนินโบราณสถานหมายเลข 5 ไปทางทิศเหนือราว 20 เมตร สภาพเป็นเนินอิฐทับถมกันอย่างหนาแน่น ขนาดของเนินประมาณ 25 x 25 เมตร มีร่องรอยลักลอบขุดเป็นหลุมลึกประมาณ 1 เมตร
1.7 เนินโบราณสถานหมายเลข 7 อยู่ห่างจากเนินโบราณสถานหมายเลข 6 ไปทางทิศเหนือประมาณ 30 เมตร เป็นเนินที่ชาวบ้านเรียกว่าฐานพระนารายณ์ มีร่องรอยการลักลอบขุดเป็นหลุมขนาดใหญ่อยู่กลางเนิน ขนาดของเนินประมาณ 25 x 25 เมตร หลุมลักลอบขุดมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 4.20 เมตร ลึก 1 เมตร
1.8 เนินโบราณสถานหมายเลข 8 อยู่ห่างจากเนินโบราณสถานหมายเลข 7 ไปทางด้านทิศเหนือประมาณ 30 เมตร เป็นเนินดินขนาดใหญ่ สูงจากพื้นโดยรอบราว 2 เมตร ขนาดของเนินดินประมาณ 25 x 25 เมตร มีเศษอิฐกระจัดกระจายอย่างหนาแน่นตลอดทั้งเนิน มีร่องรอยลักลอบขุดเป็นหลุมลึกประมาณ 1.50 เมตร ถัดจากนี้ก็สิ้นสุดแนวสันเขาซึ่งมีความลาดชันมากกว่าด้านทิศใต้
2. เทวรูปพระวิษณุ (พระนารายณ์) พบทั้งสิ้นจำนวน 4 องค์ได้แก่
- พระวิษณุ สูง 170 เซนติเมตร อายุประมาณพุทธศตวรรษที่ 13 ลักษณะพระพักตร์รูปไข่ พระเนตรเบิก พระโอษฐ์แย้มพระสรวลอย่างอ่อนโยน พระวรกายแสดงกล้ามเนื้อตามธรรมชาติ พระอังสากว้าง บั้นพระองค์เล็ก ทรงสวมกีรีฏมุกุฏทรงสูง ทรงพระภูษาโจงยาวขมวดเป็นปมอยู่ใต้พระนาภี และคาดทับด้วยปั้นเหน่งผ้าผูกเป็นโบว์อยู่ด้านหน้า คาดผ้าพระโสภีเฉียงและผูกเป็นโบว์อยู่เหนือต้นพระเพลาขวา พระหัตถ์ขวาล่างชำรุด พระหัตถ์ซ้ายล่างทรงถือคทา ส่วนพระหัตถ์หลังทั้งสองข้างหักหายไป ปัจจุบันอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร กรุงเทพมหานคร
- ชิ้นส่วนองค์พระวิษณุ อายุประมาณพุทธศตวรรษที่ 13 พระเศียรหักหายไป แต่ลักษณะพระวรกายแสดงถึงกายวิภาคตามธรรมชาติ ทรงพระภูษาโจงยาวขมวดเป็นปมอยู่ใต้พระนาภีและคาดรัดประคดผ้าทับและผูกเป็นโบอยู่ด้านหน้า คาดผ้าพระโสภีเฉียงและผูกเป็นโบว์ไว้ที่ต้นพระเพลาขวา พระหัตถ์หลังทั้งสองข้างหักหายไป พระหัตถ์ขวาหน้าทรงถือภู (ก้อนดิน) และพระหัตถ์ซ้ายหน้าทรงถือคทา (ชำรุดหักเหลือแต่ส่วนบน) ปัจจุบันอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ นครศรีธรรมราช
- ชิ้นส่วนองค์พระวิษณุ อายุประมาณพุทธศตวรรษที่ 12 ลักษณะคล้ายคลึงกับรูปพระวิษณุที่ศาลพระนารายณ์ อำเภอเวียงสระ กล่าวคือพระวรกายแสดงถึงกายวิภาคที่ใกล้เคียงธรรมชาติ พระอังสากว้าง บั้นพระองค์คอด พระโสภีผาย ทรงพระภูษาโจงยาวขมวดเป็นปมใต้พระนาภีและคาดผ้าพระโสภีตามแนวนอนผูกเป็นโบว์อยู่ด้านหน้า
- ชิ้นส่วนพระวิษณุ อายุประมาณครึ่งหลังพุทธศตวรรษที่ 13 ลักษณะพระอังสากว้าง พระอุระเล็กสูง บั้นพระองค์คอด พระโสภีผาย ต้นพระเพลาใหญ่ พระชงฆ์ใหญ่ พระบาทโต พระกรทั้งสี่ข้างหักหายไป ทรงพระภูษาโจงยาวขมวดเป็นปมอยู่ใต้พระนาภี และไม่มีผ้าคาดพระโสภี ปัจจุบันอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จันทรเกษม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
3. พระพิมพ์ดินดิบ หรือที่เรียกว่า พระเม็ดกระดุม ลักษณะเป็นรูปทรงกลมขนาดเล็กคล้ายเม็ดกระดุม ภายในเป็นภาพพระพุทธรูปนูนต่ำนั่งขัดสมาธิราบบนดอกบัว แสดงปางสมาธิ บริเวณพระเศียรมีประภามณฑล (รัศมี) รอบองค์พระมีจารึกคาถา เย ธมมาฯ พบบริเวณที่ราบระหว่างเขาศรีวิชัยกับคลองพุนพินด้านหน้าวัดเขาศรีวิชัย
4. ลูกปัด พบเป็นจำนวนมาก อาจเป็นสินค้าสำคัญอย่างหนึ่งที่มีการติดต่อซื้อขายกันระหว่างชุมชนโบราณเขาศรีวิชัย กับชุมชนโบราณรอบอ่าวบ้านดอน ส่วนใหญ่เป็นลูกปัดแก้วสีต่าง ๆ ได้แก่ สีฟ้า สีน้ำเงิน สีเขียว สีเหลือง สีส้ม สีแดงเข้ม สีน้ำตาลแดง สีดำ และสีขาว มีทั้งรูปทรงวงแหวน ทรงกระบอกสั้นและยาว ลูกปัดหินพบในปริมาณน้อยกว่า ส่วนใหญ่เป็นหินอาเกต สีขาวสลับดำ หินควอตซ์สีขาว และหินคาร์นีเลี่ยนสีส้ม ลูกปัดทองคำทรงผลฟักทอง พบบ้างแต่จำนวนน้อยกว่าประเภทอื่น ๆ ลูกปัดที่พบมีลักษณะคล้ายคลึงกับลูกปัดในแหล่งโบราณคดีแหลมโพธิ์ อำเภอไชยา แหล่งโบราณคดีที่ตำบลวัง อำเภอท่าชนะ แหล่งโบราณคดีควนลูกปัด อำเภอคลองท่อม จังหวัดกระบี่ และแหล่งโบราณคดีสมัยทวารวดีในภาคกลางของประเทศไทยทั่วไป
5. ฐานโยนิ ศิลา รูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ขนาด 88 x 88 เซนติเมตร เจาะรูกลมตรงกลาง พบบริเวณเนินโบราณสถานขนาดใหญ่ในเขตโรงเรียนวัดเขาศรีวิชัย ปัจจุบันถูกไถปรับหมดสภาพแล้ว
6. เครื่องประดับ ได้แก่ แหวนโลหะ ต่างหูโลหะ กำไลทำด้วยหินและแก้ว
7.เครื่องมือเครื่องใช้ เช่น เศษภาชนะดินเผา หินบดและแท่นหินบด ตราประทับแม่พิมพ์สำหรับหล่อต่างหูโลหะ เป็นต้น
การประกาศขึ้นทะเบียน กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานสำหรับชาติ ในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 53 ตอนที่ 34 วันที่ 27 กันยายน 2479
การวิเคราะห์หลักฐาน จากหลักฐานทางโบราณคดีที่พบบริเวณเขาศรีวิชัย/ เขาพระนารายณ์ และพื้นที่ราบโดยรอบเขา ได้แก่ เนินโบราณสถานบนยอดเขา ฐานโยนิ เทวรูปพระวิษณุ ชิ้นส่วนสถาปัตยกรรม เช่น ธรณีประตู กรอบประตู ฐานเสา อีกทั้งเครื่องมือเครื่องใช้ เครื่องประดับ จำพวกเศษเครื่องถ้วยจีน เศษภาชนะดินเผาพื้นเมือง และลูกปัดจำนวนมาก สันนิษฐานว่าบริเวณนี้เป็นที่ตั้งถิ่นฐานของเมืองโบราณขนาดใหญ่ ลักษณะบ้านเรือนคงตั้งเรียงรายอยู่ตามริมน้ำ มีอายุตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 12-13 เป็นต้นมา มีการติดต่อกับชุมชนภายนอกหรือชุมชนโพ้นทะเลโดยใช้เส้นทางคลองพุมดวงและแม่น้ำตาปีเป็นหลัก ศาสนาที่สำคัญของชุมชนได้แก่ ศาสนาฮินดูทั้งไวษณพนิกาย ( นับถือพระวิษณุ ) และไศวนิกาย (นับถือพระศิวะในรูปของลึงค์ ) ต่อมาพุทธศาสนามหายานได้เผยแพร่เข้ามาในช่วงประมาณพุทธศตวรรษที่ 14-15 จนกระทั่งถึงสมัยอยุธยาได้มีการก่อสร้างวัดพุทธหินยานบริเวณเชิงเขาด้านทิศใต้ อันเป็นที่ตั้งของวัดเขาศรีวิชัยในปัจจุบัน
การสร้างศาสนสถานบนยอดเขาเพื่อเป็นเทวาลัยพระวิษณุ เป็นแนวคิดเดียวกับการสร้างศูนย์กลางจักรวาลบนภูเขาศักดิ์สิทธิ์ เพื่อให้เป็นศูนย์กลางของแคว้นหรือรัฐ โบราณสถานแห่งนี้จึงเป็นกุญแจสำคัญที่จะใช้เป็นข้อมูลในการศึกษาประวัติศาสตร์ของรัฐโบราณรอบอ่าวบ้านดอน ซึ่งต้องใช้เวลาในการศึกษา ค้นคว้า ขุดค้น ขุดแต่ง ทางวิชาการโบราณคดีในขอบเขตที่กว้างขวางต่อไป กล่าวโดยสรุปกลุ่มชุมชนโบราณที่ตั้งถิ่นฐานอยู่รอบเชิงเขาศรีวิชัย เป็นกลุ่มชุมชนที่น่าสนใจมากสำหรับการศึกษาประวัติศาสตร์ โบราณคดีของจังหวัดสุราษฎร์ธานี เพราะเป็นกลุ่มชนกลุ่มใหญ่ที่นับถือศาสนาฮินดูลัทธิไวษณพนิกาย ในขณะที่ภาพลักษณ์ของชุมชนโบราณรอบอ่าวบ้านดอนในระยะเวลาร่วมสมัยเดียวกันหรือในเวลาใกล้เคียงกัน ส่วนใหญ่เป็นชุมชนที่นับถือศาสนาพุทธ เช่นแหล่งโบราณคดีควนพุนพิน เป็นต้น
|