หน้าร้าน  :  Gallery สินค้า  :  ข่าวสารจากร้านค้า  :  วิธีการชำระเงิน  :  ติดต่อร้าน  :  บทความ
เจ้าพระยาพระเครื่อง
ลำดับที่เยี่ยมชม

Online: 133 คน
ยินดีต้อนรับ เข้าสู่ : เจ้าพระยาพระเครื่อง

รายละเอียดร้านค้า

ชื่อร้านค้า เจ้าพระยาพระเครื่อง
ชื่อเจ้าของ Weerapong prommontree/วีรพงศ์ พรหมมนตรี(อ้น ระโนด)
รายละเอียด Sale thai amulet as well as share information and knowledge about Thai amulet to interesting persons particularly foriegners./ให้บูชาพระเครื่องและแลกเปลี่ยนความรู้เกี่ยวกับพระเครื่องในเรื่องประวิติเกจิ
เงื่อนไขการรับประกัน เก๊คืนเต็มจำนวน หากคืนพระในสภาพเดิม ภายใน 7 วัน คืน 100 % ภายในสองสัปดาห์ คืน 75 % ภายใน 1 เดือน คืน 50 % / Refund schedule with in 7 days 100 % , with in 14 days 75 % , with in 30 days 50 %
ที่อยู่ Weerapong prommontree 165/91 Senbordee Pimolrach Bangboutong, Nontaburi 11110/วีรพงศ์ พรหมมนตรี 165/91 ซ 26 หมู่บ้านสินบดี ต. พิมลราช อ บางบัวทอง จ. นนทบุรี 11110
เบอร์ที่ติดต่อ 081-6414009,029243140 ( อ้น ระโนด ) line ID weerapong07
E-mail eon_werapong123@hotmail.com
วันที่เปิดร้าน 01-01-2554 วันหมดอายุ 01-01-2568

ท่านสามารถชำระเงิน ผ่านทางธนาคาร อีแบงค์กิ้ง หรือ ตู้ ATM ตามบัญชี ด้านล่าง

ธนาคาร
สาขา
ชื่อบัญชี
เลขที่บัญชี
ประเภทบัญชี
กสิกรไทย สำเหร่
นายวีรพงศ์ พรหมมนตรี
032-2-93420-3
ออมทรัพย์
กรุงไทย บางบัวทอง
นายวีรพงศ์ พรหมมนตรี
121-0-28494-4
ออมทรัพย์
กรุงเทพฯ งามวงศ์วาน
นายวีรพงศ์ พรหมมนตรี
917-004262-7
ออมทรัพย์

วัตถุมงคล: พระเครื่องเกจิอาจารย์ภาคอีสาน
เหรียญพระอาจารย์บุญ วัดป่าศรีสว่างแดนดิน สกลนคร ปี 2518 รุ่น 2 เนื้อทองแดง
30-06-2563 เข้าชม : 2785 ครั้ง

[ ชื่อพระ ] เหรียญพระอาจารย์บุญ วัดป่าศรีสว่างแดนดิน สกลนคร ปี 2518 รุ่น 2 เนื้อทองแดง
[ รายละเอียด ] เหรียญพระอาจารย์บุญ ชินวังโส วัดป่าศรีสว่างแดนดิน สกลนคร ปี 2518 รุ่น 2 เนื้อทองแดง

ประวัติและปฏิปทา พระครูวิมลญาณวิจิตร (หลวงปู่บุญ ชินวํโส) วัดป่าศรีสว่างแดนดิน เลขที่ ๒๐๘ หมู่ที่ ๖ ต.สว่างแดนดิน อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร
    บรรพบุรุษ
    เดิมปู่ย่าของท่านเป็นคนท้องถิ่นในอำเภอหนองบัวลำภู จังหวัดอุดรธานี (จังหวัดหนองบัวลำภู ในปัจจุบัน) แล้วได้อพยพย้ายถิ่นฐานจากอำเภอหนองบัวลำภู มาตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนใหม่อยู่ที่อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี ปู่ย่าของท่านได้เสียชีวิตลงที่นี่ จากนั้นไม่นานนัก บุตรชายของปู่ก็ได้แต่งงานกับหญิงสาวชาวอำเภอเขื่องใน แล้วช่วยกันทำมาหากินประกอบอาชีพชาวไร่ชาวนาตลอดมา
    ชาติภูมิ
    ท่านหลวงปู่บุญ ชินวํโส (นามเดิมของท่าน บุญตา) เกิดในตระกูลสายกัณณ์ ที่อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี เมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๕๕ ตรงกับวันอังคาร ขึ้น ๑๓ ค่ำ เดือน ๗ เป็นบุตรของนายวงศ์สา และนางใคร่ สายกัณณ์ มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันทั้งหมด ๔ คน ท่านเป็นบุตรคนที่ ๔ มีชื่อตามลำดับดังนี้
    (๑) นายพิมพา สายกัณณ์ (ถึงแก่กรรมแล้ว)
    (๒) นายสุดชา สายกัณณ์ (พระอาจารย์พร สุมโน มรณภาพแล้ว)
    (๓) นายจันทา สายกัณณ์ (ถึงแก่กรรมแล้ว)
    (๔) นายบุญตา สายกัณณ์ (หลวงปู่บุญ ชินวํโส มรณภาพแล้ว)
    ก่อนที่เด็กชายบุญตาจะถือกำเนิดมานั้น มีเรื่องเล่าว่า โยมมารดาของท่านไปทำนา ซึ่งตอนนั้นกำลังท้องแก่จวนจะคลอดแล้ว พอขึ้นจากดำนากินข้าวเสร็จ โยมมารดาของท่านก็รู้สึกปวดท้อง จึงได้บอกกับโยมบิดาของท่านว่าจะกลับบ้านก่อน โยมมารดาของท่านได้เดินกลับบ้านเพียงลำพัง พอไปถึงระหว่างทางได้หยุดพักที่เนินต้นตาล รู้สึกปวดท้อง จึงเดินไปหาหนองน้ำในบริเวณนั้น เอาน้ำมาลูบท้อง โยมมารดาของท่านจึงได้คลอดท่านที่หนองน้ำแห่งนั้นด้วยความง่ายดาย ไม่เจ็บปวดทรมานแต่อย่างใด แล้วโยมมารดาของท่านจึงได้เอาผ้าห่อท่านใส่ตะกร้ากลับบ้าน แล้วท่านก็ก่อไฟผิง ต่อมาไม่นานนัก โยมบิดาของท่านก็ได้กลับมาบ้านแล้วตัดสายรกให้ท่าน ตอนคลอดนั้นตัวของท่านเล็กมาก ตัวแดงๆ เหมือนกับพริก โยมบิดามารดาเลยตั้งชื่อให้ท่านว่า บุญตา
    ท่านหลวงปู่บุญเป็นน้องคนสุดท้อง รูปร่างเล็ก ว่องไว ใจเร็ว และขยันหมั่นเพียร เป็นนิสัยมาตั้งแต่เด็ก พออายุครบที่จะเข้าโรงเรียนได้แล้ว โยมบิดาของท่านก็เอาไปฝากเข้าโรงเรียนประถม ที่บ้านเขื่องใน จนจบ ป.๔ พออ่านออกเขียนได้
    ครั้นเด็กชายบุญตาย่างเข้า ๑๑ ปี โยมมารดาก็เสียชีวิต เด็กชายบุญตาก็ได้อยู่กับโยมบิดาเรื่อยมา พี่ชายคนที่ชื่อพิมพา ได้แต่งงานเอาเมียมาเลี้ยงบิดาได้ไม่นานนัก พี่ชายที่ชื่อพิมพาก็เสียชีวิตลง พี่ชายที่ชื่อสุดชาก็บวช ส่วนพี่ชายที่ชื่อจันทาก็บวช ได้ไม่นานก็สึก
    เมื่อท่านอายุย่างเข้า ๑๓-๑๔ ปี พระอาจารย์พร สุมโน ซึ่งเป็นพี่ชายได้บวชเป็นพระ แล้วได้กลับมาเยี่ยมบ้านและพักอยู่ที่บ้านเขื่องใน ได้ถามความประสงค์ของน้องชายว่า อยากบวชไหม เด็กชายบุญตาจึงตอบพระพี่ชายว่า ถ้าบิดาให้บวชก็บวช ท่านอาจารย์พรจึงได้ไปขออนุญาตจากโยมบิดาว่าจะเอาน้องคนเล็กไปบวช โยมบิดาบอกให้ไปถามน้องก่อน ถ้าเขาอยากบวชก็ไม่ขัดข้อง เป็นอันว่าเด็กชายบุญตาไม่มีอะไรขัดข้อง
    ชีวิตผ้าขาว
    เมื่อได้รับอนุญาตโยมบิดาแล้ว เด็กชายบุญตาก็ได้ติดตามท่านอาจารย์พรไปเพื่อหวังจะได้บรรพชา อุปสมบท ท่านอาจารย์พรก็ให้บวชเป็นผ้าขาว ถือศีล ๘ ศึกษาข้อวัตรปฏิบัติในเพศผ้าขาวไปก่อน ประมาณ ๑๐ เดือนที่อยู่ในเพศผ้าขาวนั้น ท่านอาจารย์พรได้พาไปฝึกภาวนาในสถานที่ต่างๆ ซึ่งเป็นที่เปลี่ยวไกลจากหมู่บ้าน สมัยนั้นสัตว์ป่ามีมาก ท่านอาจารย์พรได้พาไปพักอยู่ตามถ้ำต่างๆ ตามเงื้อมผา ป่าช้าป่าชัฏ และสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ซึ่งผู้คนเกรงขาม เพื่อเป็นการทดสอบดูว่าผ้าขาวบุญตานี้จะอยู่ได้สมกับที่อยากบวชหรือไม่ ท่านอาจารย์พรให้เหตุผลกับผ้าขาวบุญตาว่า ธรรมดาสิ่งทั้งปวงที่จะเป็นประโยชน์ และคงทนถาวรได้นานต้องมีการทุบตีหล่อหลอมเสียก่อน จึงจะรู้ว่าจะเป็นของดีหรือของเก๊ เมื่อเป็นของดีก็จะทนอยู่ได้ เมื่อเป็นของเก๊ก็กลับบ้านเสีย ไม่หาญไปกับเราได้ แต่ผ้าขาวบุญตาก็ทนอยู่ได้ ถึงจะเกิดความกลัวจนตัวสั่นก็ไม่คิดจะกลับไปในเพศผ้าขาว ท่านได้ประคับประคองตัวเองให้มีความอดทนอดกลั้นในการฝึกหัดภาวนา ตลอดทั้งข้อวัตรปฏิบัติทุกกรณีที่เป็นหน้าที่ของผ้าขาวจะพึงกระทำ ท่านก็ได้ทำอย่างสมบูรณ์ไม่บกพร่อง
    ภายใต้ร่มกาสาวพัตร์
    หลังจากที่ออกจากบ้านได้บวชเป็นผ้าขาว และติดตามท่านอาจารย์พรไปตามสถานที่ต่างๆ ราว ๑๐ เดือน ผ้าขาวบุญตาจึงได้พากลับมาบ้านที่อำเภอเขื่องใน ซึ่งเป็นบ้านเกิดของท่าน พักอยู่ที่วัดป่าศิลาลักษณ์ โยมบิดาตลอดทั้งญาติๆ พอพากันทราบข่าว ก็ได้พร้อมใจกันมาหาและอยากจะให้ท่านบวชเป็นพระ แต่อายุท่านยังไม่ครบ ๒๐ ปี ท่านจึงได้บรรพชาเป็นสามเณรในปี พ.ศ.๒๔๗๔ ต่อมาในวันที่ ๒๐ เมษายน พ.ศ.๒๔๗๕ จึงได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ที่วัดบูรพาราม ซึ่งสมัยนั้นอยู่ในเขตอำเภอวารินชำราบ (ปัจจุบันอยู่ในเขตอำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี) โดยมี พระศาสนดิลก (เสน ชิตเสโน) เป็นพระอุปัชฌาย์ และพระเพ็ง เป็นพระกรรมวาจาจารย์
    ในพรรษาแรก ท่านได้จำพรรษาที่วัดบูรพาราม พอออกพรรษาแล้วได้เที่ยววิเวกไปกับท่านอาจารย์พรทางจังหวัดศรีสะเกษ จังหวัดสุรินทร์ ข้ามไปประเทศเขมร พอใกล้เข้าพรรษาที่ ๒ ก็กลับมาทางจังหวัดอุบลราชธานี จำพรรษาที่วัดเลียบ ครั้นออกพรรษาก็ได้เที่ยววิเวกไปทางอำเภออำนาจเจริญ อำเภอมุกดาหาร เที่ยววนเวียนอยู่ตามป่าเขาแถบนั้น พอใกล้เข้าพรรษาก็กลับมาวัดเลียบอีก ออกพรรษาแล้วก็เที่ยววิเวกไปทางสกลนคร อุดรธานี แล้วกลับไปจำพรรษาที่วัดบ้านบ่อเสนง อำเภอม่วงสามสิบ จังหวัดอุบลราชธานี
    ในปี พ.ศ.๒๔๗๘ พรรษานี้ ท่านบอกว่าประกอบความเพียรอย่างหนัก ตลอดไตรมาสสามเดือนอยู่ด้วยอริยบถ ๓ คือ ยืน เดิน นั่ง ออกพรรษาแล้วก็เที่ยววิเวกกลับไปยังอำเภอเขื่องใน พักอยู่ที่วัดป่าศิลาลักษณ์ ๓ เดือน พอถึงเดือนมิถุนายน พ.ศ.๒๔๘๑ ก็เข้าไปอยู่กับ ท่านหลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล ที่วัดบูรพาราม จังหวัดอุบลราชธานี จนถึงปี พ.ศ.๒๔๘๕ ได้ติดตามปฏิบัติถือนิสัยอยู่กับท่านหลวงปู่เสาร์ตลอดมาจนกระทั่งท่านมรณภาพ
    หลังจากเสร็จงานฌาปนกิจศพท่านหลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล ที่วัดบูรพาราม จังหวัดอุบลราชธานี แล้วท่านก็เที่ยววิเวกขึ้นไปทางจังหวัดอุดรธานี เข้าไปปฏิบัติถือนิสัยอยู่กับ ท่านหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต ขณะนั้นท่านพักอยู่โนนนิเวศน์ พอใกล้เข้าพรรษา ญาติโยมทางบ้านหนองหลวง อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร ไปขอพระนักปฏิบัติจากท่านหลวงปู่มั่น ท่านหลวงปู่มั่นจึงสั่งให้ไปอยู่กับ ท่านอาจารย์สิงห์ ขนฺตฺยาคโม ที่วัดป่าประชานิยม บ้านหนองหลวง อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร จากนั้นท่านได้จำพรรษาในที่ต่างๆ อีกหลายแห่ง จนกระทั่งปี พ.ศ.๒๕๑๔ ท่านได้มาจำพรรษาที่วัดศรีสว่างแดนดิน อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร ต่อมาภายหลังท่านได้เป็นเจ้าอาวาสวัดศรีสว่างแดนดินเรื่อยมาจนกระทั่งมรณภาพ
    ปฏิปทาและประสบการณ์
    เมื่อท่านหลวงปู่บุญ ชินวํโส อุปสมบทเป็นพระภิกษุแล้ว ก็ได้เข้าไปปฏิบัติถือนิสัยอยู่กับท่านอาจารย์พร สุมโน นานพอสมควร จากนั้นท่านก็ได้ติดตามศึกษาปฏิบัติอยู่กับท่านหลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล อีกเป็นเวลาหลายปี จนกระทั่งท่านหลวงปู่เสาร์ได้มรณภาพ ท่านหลวงปู่บุญได้กล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า ท่านได้รับความองอาจกล้าหาญในปฏิปทาที่ครูบาอาจารย์ดำเนินมาตั้งแต่พรรษาที่ ๔ เชื่อมั่นในคุณพระรัตนตรัย หายสงสัยในคุณพระรัตนตรัย ปฏิปทาที่ได้จากครูบาอาจารย์นั้น ท่านก็ได้ถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัดมาโดยตลอด
    ท่านกล่าวว่า ครั้งแรกที่ได้เข้าไปศึกษาอยู่กับครูบาอาจารย์ ท่านได้ศึกษาปฏิบัติจริงๆ จนได้รับความร่มเย็นในจิตใจ ท่านมิได้ประมาทนิ่งนอนใจ ขยันหมั่นเพียรในทุกกรณีที่เป็นหน้าที่ของพระที่พึงกระทำ ท่านได้บำเพ็ญความเพียรจนเต็มสติกำลังความสามารถของท่าน จนท่านรู้วิถีแห่งการปฏิบัติทั้งภายในและภายนอกที่ครูบาอาจารย์ได้พาดำเนินมาแล้ว เมื่อท่านได้ปฏิบัติบำเพ็ญอยู่เพียงรูปเดียวซึ่งห่างไกลจากครูบาอาจารย์ ก็ได้รับความองอาจกล้าหาญมากขึ้นเป็นทวี
    ฉะนั้น การเที่ยวบำเพ็ญธรรมของท่านหลวงปู่บุญ ชินวํโส ตามสถานที่ต่างๆ ที่เป็นป่าเขาก็เพื่อสะดวกแก่การภาวนา นอกจากเขตไทยแล้วท่านยังได้ข้ามไปเสาะแสวงหาสถานที่บำเพ็ญทางจิตทั้งในเขมรและลาว บางครั้งท่านก็ไปกับครูบาอาจารย์ บางครั้งก็ไปกับหมู่คณะ บางครั้งก็ไปเฉพาะท่านเพียงรูปเดียว
    ในระหว่างปี พ.ศ.๒๔๘๐ ซึ่งเป็นพรรษาที่ ๖ ท่านได้ปลีกจากครูบาอาจารย์และหมู่คณะ ข้ามไปภาวนาอยู่ตามป่าเขาในประเทศลาวเพียงรูปเดียว ได้เที่ยวจาริกบำเพ็ญอยู่ตามสถานที่ต่างๆ ที่ไหนสะดวกแก่การบำเพ็ญจิต สมาธิเจริญขึ้นก็พักอยู่ที่นั้นนานๆ การเที่ยวภาวนาอยู่ตามป่าเขานี้ ท่านบอกว่าไม่ได้สนใจกับภัยที่จะเกิดขึ้นกับตนเองเท่าไร สนใจแต่ธรรมที่กำลังปฏิบัติอยู่ อีกอย่างหนึ่งท่านเชื่อมั่นในปฏิปทาของตัวเองที่ได้มาจากครูบาอาจารย์ ท่านคิดว่าถ้าหากเสือจะกินก็คงจะกินครูบาอาจารย์ที่ท่านปฏิบัติมาก่อนเรา แต่ไม่เคยได้ยินข่าวว่า ท่านองค์นั้นองค์นี้เข้าป่าไปภาวนาแล้วถูกเสือกัดตาย นับประสาอะไรกับเราซึ่งเป็นผู้เกิดมาทีหลังครูบาอาจารย์จะมากลัวแม้กระทั่งเสียงสัตว์ร้อง อย่างนี้จะไม่เสียเพศซึ่งหมายถึงเพศแห่งการเสียสละชีวิตเพื่อธรรมหรือ เพราะความคิดของท่านอย่างนี้ ท่านจึงไม่ท้อถอยแม้ได้ยินเสียงเสือร้องกระหึ่มเข้ามาใกล้ๆ ขณะเดินทางขึ้นไปบนภูเขาควายเพียงรูปเดียว ยังไม่ทันถึงตะวันก็ตกดินเสียก่อน มีเสียงเสือร้องออกมาต้อนรับตามเส้นทางที่เดินไป
    บำเพ็ญธรรมบนภูเขาควาย
    ก่อนที่ท่านจะเดินทางกลับมาเมืองไทย ท่านได้ไปเที่ยวทางอำเภอบ้านอ้น บุกขึ้นไปบนภูเขาควาย พักภาวนาอยู่ที่นั้นนานกว่าทุกแห่ง การเดินทางไปบ้านลาวพวนบนภูเขาควายเป็นการเสี่ยงสำหรับผู้ที่ยังไม่เคยไป เพราะจะต้องเดินข้ามภูเขาหลายลูกจึงจะถึงหมู่บ้านลาวพวน เมื่อท่านได้ถามถึงเส้นทางกับคนที่เคยไป เขาก็บอกว่าเป็นการเสี่ยงนะท่าน ท่านก็คิดในใจว่า เคยเสี่ยงมาแล้ว จึงไม่คิดหนักใจเท่าไร
    วันนั้นท่านเดินทางตลอดทั้งวัน จนกระทั่งตะวันลับยอดไม้ก็ยังไม่พบร่องรอยว่าจะเห็นหมู่บ้านลาวพวนบนภูเขาควายเลย ท่านบอกว่า พอตะวันลับยอดไม้แล้วความมืดก็เริ่มปกคลุมเข้ามา เสียงเสือร้องคำรามเข้ามาทั้งข้างหน้าและข้างหลัง จิตใจที่คิดไว้แต่ก่อนว่าจะยอมสละไม่กลัวตาย แต่พอเข้าตาจนจริงๆ จิตใจที่มีกิเลสแทรกสิงอยู่ภายใน มันไม่ทำตามความคิดแต่แรกก่อนที่เสือจะมา ความจริงแล้ว เสือไม่ได้มาหาท่านเลย มันร้องอยู่ตามป่าตามประสาของมัน เพราะป่าที่ท่านเดินไปนั้นเป็นทำเลของมัน สำหรับความกลัวนั้น ท่านบอกว่ากลัวมากจนเดินไปไม่ได้ คิดจะพักอยู่กลางป่าก็กลัวเหมือนกัน จึงได้แข็งใจเดินต่อไป จิตใจถึงจะภาวนาอยู่ก็เกิดความลังเลขึ้นมาว่า ทางที่เราเดินนี้จะผิดหรือถูกกันแน่ ถ้าถูก ทำไมไม่เห็นหมู่บ้านสักที
    ขณะที่ท่านคิดปรับทุกข์อยู่กับตัวเองนั้น กลัวก็กลัว เสือก็ร้องทั้งใกล้และไกล ถ้าจะเดินต่อไปก็จะไปเจอเสือ ถ้าจะหยุดพักก็กลัวเสือกลัวช้างจะมาพบท่าน กำลังคิดวุ่นวายอยู่อย่างนี้ พลันก็ได้ยินเสียงคนพูดขึ้นข้างหน้า เมื่อเข้ามาใกล้ก็เป็นคนจริงๆ และขอรับบริขารของท่านไปช่วยถือให้ ทีแรกท่านไม่ยอมเพราะคิดว่าเป็นผีป่าเทวดาหรือโจรผู้ร้ายมากกว่าจะเป็นคนที่จะมารับท่าน เขาบอกกับท่านว่า เขามารับท่าน กลัวท่านจะไปไม่ถึงหมู่บ้าน เพราะดงนี้มีสัตว์ร้ายชุกชุมมาก “โยมรู้ได้อย่างไรว่าอาตมาจะไปหมู่บ้านนี้”
    โยมทั้งสองคนบอกว่า เขามองเห็นท่านเดินข้ามเขาลูกที่ผ่านมานั้นตั้งแต่ตะวันยังไม่ตกดิน และรู้ว่าท่านจะต้องเดินทางมามืดอยู่ในดงนี้ พอพ้นดงนี้ขึ้นเขาไปก็จะถึงหมู่บ้าน เมื่อท่านได้ถามดูแล้วเชื่อว่าเป็นคนจริงๆ ไม่ใช่โจรหรือผีป่ามาหลอก จึงยอมให้เขารับบริขารไป โยมคนหนึ่งเดินนำหน้า อีกคนหนึ่งเดินตามหลัง ระหว่างที่เดินไปโยมบอกว่า ที่โนนสาวเอ้ (หมายถึงสถานที่แห่งหนึ่งบนภูเขาควาย) มีพระมาพักอยู่ก่อนแล้วรูปหนึ่ง ชื่อ ท่านอาจารย์บุญมี ปัจจุบันท่านพักอยู่ที่วัดทุ่งสว่าง จังหวัดหนองคาย เดินไปได้เป็นเวลานานพอดู โยมจึงได้พาท่านแวะไปพักอยู่ที่บ้านร้างหลังหนึ่ง ไม่มีที่มุงที่บัง มีแต่พื้นเพื่อหลบเสือ เขาบอกกับท่านว่า คืนนี้ให้ท่านพักที่นี่ พรุ่งนี้จะมารับ ก่อนที่โยมทั้งสองจะจากไปเขาห้ามไม่ให้ท่านลงมาข้างล่างเพราะมีสัตว์ร้าย พอโยมทั้งสองกลับไปแล้วท่านก็ทำกิจวัตรประจำวันของท่าน ไหว้พระสวดมนต์ นั่งสมาธิภาวนาพอสมควรแล้วก็จำวัด เมื่อรุ่งแจ้งของวันใหม่ก็มีโยมมารับและนิมนต์ท่านไปบิณฑบาต ท่านได้พบกับท่านอาจารย์บุญมีซึ่งไม่เคยรู้จักกันมาก่อนเลย ต่างคนต่างไป และท่านก็ไม่เคยคิดว่าจะได้พบกับเพื่อนสหธรรมิกผู้แสวงหาโมกขธรรมอย่างท่านในป่าแถบนี้
    ท่านได้พักบำเพ็ญธรรมอยู่กับท่านอาจารย์บุญมีบนภูเขาควาย สัตว์ป่าสมัยนั้นมีมาก เช่น อีเก้งเป็นฝูงๆ ไม่มีท่าทีว่าจะกลัวท่านเลย ขณะบิณฑบาตผ่านไป มันก็ยืนมองดูเฉยๆ แล้วก็หากินต่อไป กลางคืนมีสิ่งมากระตุ้นเตือนจิตใจไม่ให้ประมาท ก็คือ เสือและผีกองกอย ถ้าเป็นวันพระ ๘ ค่ำ ๑๕ ค่ำ ผีกองกอยจะเข้ามาเยี่ยมท่าน มาร้องวนเวียนอยู่ที่ที่พักของท่าน จึงเป็นเหตุให้ท่านนั่งตัวตรงแข็งทื่ออยู่ตลอดทั้งคืน การประกอบความเพียรของท่านในระยะนั้น ท่านได้ทำความเพียรอย่างยิ่งยวดถึงขั้นแตกหัก ถ้ากิเลสภายในหัวใจไม่ตาย ตัวเองก็จะขอตายก่อนกิเลส เพราะการประกอบความเพียรเพื่อขับไล่กิเลสนั้น ถ้าตัวเองไม่ตายก็ขอให้กิเลสมันตายไปจากหัวใจ จะได้ไม่ต้องบุกป่าฝ่าดงขึ้นมาให้ลำบากอีกต่อไป เมื่อคิดอย่างนี้แล้ว ท่านจึงได้ทุ่มเทในการทำความเพียรอย่างหนักทุกอิริยบถ ยืน เดิน นั่ง นอน เต็มไปด้วยความพากเพียรเพื่อจะถอดถอนกิเลส
    เมื่อทำความเพียรอยู่อย่างนี้ จิตใจจึงได้รู้ได้เห็นสิ่งแปลกประหลาดอัศจรรย์เกิดขึ้นในเวลาจิตรวมสงบลงเป็นขั้นๆ สิ่งที่ไม่เคยรู้ก็รู้ ทั้งเรื่องภายนอกภายใน ความรู้สึกนึกคิดภายในจิตใจก็ล้วนแต่เป็นเรื่องความดีทั้งสิ้น ความคิดความหวังที่ตัวเองจะได้ครองธรรมบริสุทธิ์ก็อยู่คาเอื้อม ไม่ว่าจะอยู่ในอิริยบถใด สติปัญญาจะพิจารณาถอดถอนกิเลสอยู่ทั้งวันทั้งคืน จิตที่มีสติเป็นพี่เลี้ยงติดตาม ไม่ว่าจะพิจารณาธาตุขันธ์หรืออาการใดอาการหนึ่ง ย่อมได้รับความรู้ความเห็นในสิ่งนั้นๆ อย่างเด่นชัด
    ผจญผีกองกอยบนภูเขาควาย
    ระยะที่ท่านพักภาวนาอยู่บนภูเขาควายนั้น มีหมอยาสมุนไพรทางฝั่งไทย ๓ คนบอกกับท่านว่า พวกเขาอยู่ที่จังหวัดร้อยเอ็ด ได้ขึ้นไปเก็บยาบนภูเขาควาย เมื่อได้ยาแล้วก็มาพักอยู่ที่ลานหินใกล้ที่พักของท่านและได้ก่อกองไฟกองใหญ่ขึ้นแล้วพากันนอนล้อมกองไฟ พอตกกลางคืน คนหนึ่งในสามได้ถูกผีกองกอยทำร้ายเอา นอนตายอยู่ข้างกองไฟ แต่เพื่อนที่มาด้วยกันไม่รู้ พอรุ่งแจ้งสว่างขึ้นเห็นนอนไม่ตื่น เพื่อนจึงปลุกเพื่อให้ตื่น เพิ่งมารู้ตอนนี้เองว่าเพื่อนคนนั้นได้เสียชีวิตแล้วตั้งแต่ตอนกลางคืน หมอยาที่เหลืออีกสองคนบอกกับท่านว่า เมื่อคืนนี้ผีกองกอยมาร้องวนเวียนตลอดคืน เสียงร้องของมันดังผิดปรกติต่างจากที่เคยได้ยินมา บางครั้งเหมือนกับมันมานั่งร้องอยู่ข้างกองไฟ แต่ไม่เห็นตัวมัน ได้ยินแต่เสียงมันร้อง หมอนี่มันทำผิดป่าเขา ไปเอาฝืนมาก่อไฟตอนเย็นเมื่อวานนี้มันดึงลากฝืนมา มันไม่แบกมาจึงผิดป่าแถบนี้ ผีกองกอยมันจึงทำร้ายเอา เขาพูดปรารภปรับทุกข์กับท่าน เมื่อท่านได้พบเห็นกับตาตัวเองอย่างนี้แล้วยิ่งมีความกลัวเกรงในสถานที่มากขึ้น จิตใจไม่มีความชินชากับสถานที่อยู่เลย ถึงจะอยู่นานก็ยังระวังตลอดเวลา เพราะเสือกับผีกองกอยมันมาเยี่ยมและร้องบอกทุกคืนว่าไม่ให้ประมาท ให้รีบเร่งประกอบความเพียรเพื่อถอดถอนกิเลสออกจากจิตใจให้หมดสิ้นโดยเร็ว
    ทุกวันนี้ท่านยังพูดถึงเรื่องที่ท่านไปภาวนาอยู่บนภูเขาควายให้ลูกศิษย์ลูกหาฟังอยู่เสมอว่า สมัยท่านเป็นพระหนุ่มได้เสาะแสวงหาที่ภาวนาตามป่าเขาลำเนาไพร ความเกียจคร้าน ท้อแท้ อ่อนแอ ไม่มีเลย เพราะสิ่งแวดล้อมมันผลักดันให้ต้องตั้งอยู่ในความไม่ประมาทอยู่ตลอดเวลา
    ผจญเสือ
    ท่านได้พักปฏิบัติธรรมภาวนาอยู่บนภูเขาควายประมาณ ๔ เดือน ก็กลับลงมาหาครูบาอาจารย์และหมู่คณะทางฝั่งไทย พร้อมกับได้ข่าวว่าโยมบิดาของท่านป่วย จึงได้เดินทางไปจังหวัดอุบลราชธานี การเดินทางไปจังหวัดอุบลฯ ในสมัยนั้นต้องเดินไป รถราไม่ค่อยจะมี เวลาเดินไปก็ภาวนาไปด้วย แล้วก็แวะตามสถานที่ต่างๆ เมื่อถึงเมืองอุบลก็ได้ไปเยี่ยมโยมบิดา ครั้นอาการของโยมบิดาดีขึ้น ท่านจึงได้ออกเที่ยววิเวกต่อไปทางอำเภอคำชะอี มุกดาหาร ได้แวะพักตามป่าเขาในแถบนั้น ระหว่างปี พ.ศ.๒๔๘๗ มีบางคนที่ไม่รู้ความจริงของท่าน ได้พูดว่า เสือกินท่านอาจารย์บุญเสียแล้ว คนทั้งหลายพอได้ยินข่าวนี้ก็ลือกันใหญ่ว่าเสือได้กินท่านจริงๆ พอท่านกลับมา ทั้งพระทั้งโยมได้ถามท่านว่า ไหนเขาลือว่าท่านถูกเสือกินตายแล้ว ทำไมท่านยังอยู่
    เรื่องจริงมีอยู่ว่า พระธุดงค์กรรมฐานในสมัยท่านหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต และท่านหลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล พอออกพรรษาแล้วก็ต้องเที่ยววิเวกไปตามป่าเขาพักรุกขมูลต่างๆ เช่น ร่มไม้ ถ้ำ เงื้อมผา ต้องเปลี่ยนสถานที่ภาวนาไปเรื่อยๆ ท่านหลวงปู่บุญได้ไปพักอยู่ที่ด่านเม็ง ใกล้บ้านยิ้ว อำเภอคำชะอี พอท่านไปพักที่นั่นยังไม่ถึงคืน ก็มีชาวบ้านยิ้วพร้อมกันมานิมนต์ท่านให้ย้ายไปพักที่อื่น แล้วชาวบ้านก็พูดเป็นการข่มขวัญท่านทันทีว่า
    “ท่านอัญญาธรรมจะพักอยู่ที่นี่ไม่ได้เป็นอันขาด (ท่านอัญญาธรรมเป็นศัพท์ที่ชาวบ้านยิ้วเรียกพระธุดงค์สมัยนั้น) ที่ท่านพักอยู่เดี๋ยวนี้เป็นทางผ่านของเสือโคร่งตัวใหญ่ ดุร้ายมาก เคยกัดกินคนมาแล้ว”
    ขณะท่านฟังชาวบ้านพูดว่า “เสือจะมากัดกินท่าน ถ้าท่านพักอยู่ที่นี่” ท่านก็นึกขำในใจว่า ชาวบ้านอาจจะมาขู่ท่าน ลองดูว่าท่านจะเป็นพระป่าประเภทขี้ขลาดหรือกล้าตาย และท่านก็คิดได้ว่า ถ้าหนีออกไปจากที่นี่ตามคำนิมนต์ของชาวบ้านแล้ว เราก็จะเป็นพระธุดงค์ประเภทขี้ขลาด
    ท่านจึงบอกชาวบ้านว่า “เสือมันไม่กล้าทำร้ายพระ เพราะพระมีเมตตาธรรม ไม่เบียดเบียนสัตว์ เสือไม่มาเบียดเบียนพระหรอกโยม มันจะเบียดเบียนแต่คนไม่มีศีลมีธรรมนั่นแหละ”
    ถึงชาวบ้านจะอ้อนวอนให้ท่านย้ายไปพักที่อื่นอย่างไร ท่านก็ไม่ไป ท่านยังได้พูดทีเล่นทีจริงกับชาวบ้านว่า “ถ้าเสือมาหาอาตมาจริงๆ ก็ดีแล้ว อาตมาจะได้เห็นตัวมัน เสือที่กินคนมาแล้วนี้จะตัวใหญ่ขนาดไหน วันนี้อาตมาจะยังไม่ไปไหน ถ้าจะย้ายไปที่อื่นก็คงอีกหลายวันข้างหน้า”
    ชาวบ้านทั้งหลายที่มานิมนต์ ดูท่าทางท่านแล้วเป็นห่วงท่านจริงๆ เขายังพูดอย่างระล่ำระลักว่า “ท่านจะมาภาวนานั้น ท่านไม่ได้ภาวนาดอก เสือตัวนี้จะรบกวนท่านจริงๆ ถ้าท่านไม่รีบหนีจะถูกมันกัดกินก็ได้ ขอให้ฟังพวกข้าน้อยเถิด อย่าอยู่เลย”
    ขณะที่ชาวบ้านกำลังนิมนต์จะให้ท่านหนีให้ได้ ในจิตใจของท่านก็เท่ากับว่าเขานิมนต์ให้อยู่ที่นี่ อย่าหนีไปไหน ให้ตั้งใจภาวนา ท่านนึกอย่างนี้ ชาวบ้านยังเล่าให้ท่านฟังอีกว่า บางคืนเสือตัวนี้เข้าไปในหมู่บ้านจับเอาวัวควายของชาวบ้านกิน ไม่มีใครกล้าทำอะไรมัน เพราะเขาเชื่อว่าเสือตัวนี้ต้องเป็นสัตว์เลี้ยงของเจ้าป่าเจ้าเขาซึ่งเป็นอารักษ์ของหมู่บ้านยิ้ว ถ้ามีเรื่องเดือดร้อนเพราะสัตว์ร้ายเข้าหมู่บ้านรบกวน ชาวบ้านจะไปพูดกับอารักษ์ผีบ้านว่า ขอให้เจ้าป่าตาอารักษ์บ้านปกป้องคุ้มครองอย่าให้สัตว์ร้ายไปรบกวนนัก เพราะชาวบ้านป่าขาดที่พึ่งทางจิตใจมาก พวกเขาจึงได้ยึดเอาผีสางเทวดาเป็นที่พึ่ง บางหมู่บ้านพอเห็นพระธุดงค์กรรมฐานจะเข้าไปอยู่ดอนผีปู่ตาบ้าน ต้องวิ่งออกมาดักนิมนต์ให้ไปพักที่อื่น
    เมื่อชาวบ้านที่มานิมนต์ท่านกลับไปแล้ว ท่านก็คิดอยู่ในใจว่า เรามาที่นี่เพื่อภาวนา ถึงจะถูกเสือมารบกวนจริงตามคำของชาวบ้าน เราก็จะทนอยู่ไปก่อน เพราะได้ฝืนคำของชาวบ้านไปแล้ว ถึงเสือจะกัดกินก็เป็นกรรมของเราต่างหาก ท่านพักอยู่ที่นั่นได้ ๓-๔ คืน กำลังเตรียมรับมือกับเสือตัวที่ว่านั้นอยู่อย่างไม่ได้หลับไม่ได้นอน ก็ไม่เห็นเสือมาตามชาวบ้านพูด ได้ยินแต่เสียงร้องอยู่ไกลๆ
    พอถึงวันที่ ๗ ใกล้ค่ำวันนั้น ท่านกำลังเดินจงกรมอยู่ ได้ยินเสียงกิ่งไม้หักมาเป็นระยะ พร้อมกับเห็นไก่ป่าตัวหนึ่งบินมาทางท่านแล้วร้องกะต๊าก ท่านมองดูไก่ตัวนี้จะต้องกลัวอะไรสักอย่างหนึ่งเป็นแน่ ท่านคิดในใจ หรือเสียงกิ่งไม้หักนั้นจะเป็นสัตว์ร้าย แล้วเสียงกิ่งไม้หักก็ดังใกล้เข้ามา ท่านเดินจงกรมอยู่ก็ลังเลใจ ระลึกถึงคำครูบาอาจารย์สอนไว้ว่า “เสียงกระโดดสูง เสียงกิ่งไม้หักห่างๆ นั้นเป็นเสียงสัตว์ร้าย จะเดิน จะยืน จะนั่ง จะนอน ให้ระวัง”
    พอท่านนึกถึงคำนี้ ท่านก็เดินออกจากทางจงกรมเข้าไปอยู่ในมุ้งกลด ซึ่งแขวนอยู่ใต้ร่มไม้ริมทางจงกรม แล้วหันไปดูทิศทางที่มาของเสียง ก็เห็นเสือโคร่งตัวใหญ่ยืนอยู่บนทางเดินจงกรมของท่าน มองดูท่านด้วยสายตาอันคม ท่านเกิดความกลัวจนตัวสั่นแทบจะตั้งสติไม่ได้ เพราะระลึกถึงคำชาวบ้านที่ว่า เสือตัวนี้เคยกัดกินคนมาแล้ว
    ขณะที่มันยืนเพ่งดูท่านซึ่งนั่งอยู่ในมุ้งกลด ท่านก็ได้ตั้งสติรีบนั่งขัดสมาธิภาวนา หันหน้าเข้าหามัน แต่ตาท่านหลับ ไม่ได้มองดูเสือด้วยความกลัวจนตัวสั่นเหมือนครั้งแรก พอท่านนั่งไม่กระดุกกระดิก ท่านว่าเหมือนกับเสือมันรู้ว่าท่านเตรียมรับมือมันแล้ว มันก็เดินเข้ามาหาท่าน ตาก็จับอยู่ที่ตัวท่าน พอใกล้จะถึงมุ้งกลดของท่าน มันก็หมอบลงกับพื้น ตีหางของมันกับพื้นดิน ทุกอวัยวะของมันเหมือนจะกระโดดเข้าตะครุบท่าน แต่มันก็ทำอยู่อย่างนั้น แล้วลุกขึ้นเดินไปเดินมา วนเวียนอยู่รอบๆ มุ้งกลดของท่านเป็นเวลานาน ไม่ยอมหนีไปไหน ท่านดูอาการของมันแล้ว เหมือนกับมันบอกให้ท่านทราบว่า มันจะคอยให้ตะวันตกดินเสียก่อนจึงค่อยเข้าตะครุบท่าน ขณะที่มันทำท่าจะตะครุบท่านนั้น ท่านก็ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร จิตใจก็กลัวแทบจะตั้งสติไม่ได้ ก็ระลึกถึงคำของชาวบ้านที่มาขู่เอาไว้ทุกวันว่า ถ้าท่านไม่หนีไปจากที่นี่ ไม่วันใดก็วันหนึ่งเสือจะมากัดกินท่าน
    ความมืดเริ่มคืบคลานเข้ามา มันมีอาการจะเอาตัวท่านให้ได้จริงๆ ท่านก็เลยกำหนดจิตอธิษฐานว่า
    “ถ้าเสือตัวนี้กับข้าพเจ้าซึ่งเป็นนักบวชเคยเป็นศัตรูกันมาตั้งแต่อดีต ข้าพเจ้าเคยสร้างเวรกรรมไว้แล้วกับเสือตัวนี้ ขอให้เสือตัวนี้ตะครุบข้าพเจ้าไปกินเสียเดี๋ยวนี้ ถ้าไม่เคยสร้างเวรกรรมกันมาก่อน ขอให้เสือตัวนี้จงรีบหนีไปโดยเร็วไว”
    พอท่านอธิษฐานจิตเสร็จ จิตใจก็เกิดความกล้าหาญ ยอมสละชีวิตให้กรรมเก่า แล้วท่านก็จับมุ้งกลดรื้อขึ้น จะออกไปใช้หนี้ให้แก่เสือ ยอมให้เสือกิน จะได้สิ้นเวรสิ้นกรรมกันต่อไป พอมือท่านไปถูกมุ้งกลด มุ้งก็ไหว พอเสือเห็นมุ้งกลดไหว มันก็กระโดดเข้าป่าไปอย่างรวดเร็ว ตั้งแต่วันนั้นมา เสือไม่เคยมาหาท่านอีกเลย บางวันท่านยังนึกสนุกอยากให้มันมาทำท่าตะครุบเหยื่อของมันให้ดูอีก สำหรับเสือตัวนั้นพอไปจากท่าน มันก็เข้าไปในหมู่บ้านยิ้ว จับเอาควายของชาวบ้านไปกิน ท่านพักอยู่ที่นั่นประมาณหนึ่งเดือนก็ย้ายไปที่อื่น
    ดูควายสู้เสือ
    การเที่ยวบำเพ็ญสมณธรรมของท่านหลวงปู่บุญสับสนวกวนมาก ตลอดถึงสถานที่บำเพ็ญแต่ละแห่งจะบอกให้ถูกต้องทำได้ยาก เพราะธรรมเนียมของพระธุดงค์สมัยนั้น พอออกพรรษาแล้วจะเที่ยวออกวิเวกไปตามป่าเขา พักตามรุกขมูลร่มไม้ ตามเงื้อผา ป่าช้าป่าชัฏ
    ครั้งหนึ่ง ท่านได้เดินจงกรมลงมาจากภูผักกูด มาถึงภูเก้าน้อย พร้อมด้วยหมู่คณะสามรูป ได้เห็นฝูงควายฝูงหนึ่งเดินวนกันเป็นกลุ่ม ตีเป็นวงกลม ให้ตัวเล็กอยู่กลาง ตัวใหญ่หันหัวออกนอก อีกตัวหนึ่งเป็นควายผู้ไม่เข้าไปในฝูง เดินรอบดูฝูงแล้วก็ถอยเข้าไปในกอไผ่ ท่านกับหมู่คณะรีบเดินลงมาดูใกล้ๆ แต่อยู่คนละฟากกับฝูงควาย ท่านคิดในใจว่า ฝูงควายนี้มันกำลังทำอะไร พลันก็มองเห็นเสือโคร่งตัวใหญ่เดินรอบฝูงควายอยู่ แล้วเสือก็เดินเข้าไปหาควายตัวเดียวที่ไม่เข้าไปในฝูง แล้วก็กระโดดข้ามหัวควายไป ฝ่ายควายขวิดรับแล้วก็ถอยเข้าไปในกอไผ่ ท่านยืนดูอยู่ ได้เห็นเสือกระโดดเข้าใส่ควายอีกหลายครั้ง แต่เสือก็กระโดดออกมาทุกครั้ง เพราะควายขวิดรับ เมื่อเสือกระโดดออกมาแล้วก็พยายามหลอกให้ควายออกมาจากกอไผ่ ฝ่ายควายก็ไม่ยอมออกมา พอเสือกระโดดเข้าใส่ควาย คราวนี้ควายขวิดรับอุตลุด เสือร้องลั่นป่าด้วยความเจ็บปวด แล้วมันก็รีบวิ่งหนีไปทันที ขณะที่ท่านและหมู่คณะยืนดูเสือกับควายต่อสู้กันอยู่นั้น ทุกคนลืมหมดแม้แต่จะร้องขึ้นให้เสือกับควายหนีออกจากกันก็นึกไม่ได้ จึงปล่อยให้มันสู้กันจนควายได้รับชัยชนะ
    สิ่งที่ท่านได้พบเห็นมาตามป่าเขานั้น บางสิ่งบางอย่างนำมาพูดในสมัยนี้ก็ยากที่จะมีคนเชื่อ และยากที่จะมีผู้อุทิศชีวิตเพื่อแลกกับธรรมเหมือนครูบาอาจารย์ทั้งหลาย ที่ท่านได้ตะเกียกตะกายรอดตายมาสั่งสอนผู้อื่น
    ณ ถ้ำพระลานม่วง
    การจาริกเพื่อบำเพ็ญสมณธรรมของท่านหลวงปู่บุญสมัยนั้น ถ้าท่านได้ข่าวว่าสถานที่ใดเจ้าที่แรง คนทั้งหลายเกรงขาม ครูบาอาจารย์จะแนะนำให้ท่านเข้าไปอยู่ที่นั้น สถานที่บางแห่งชาวบ้านห้ามพระไม่ให้เข้าไปอยู่ เขากลัวว่าผีจะมารบกวนบ้านเขา
    ท่านหลวงปู่บุญได้เที่ยวจาริกไปทางจังหวัดอุดรธานี ได้ทราบคำเล่าลือกันว่า ที่ถ้ำพระลานม่วง ใกล้บ้านทมป่าข่า อำเภอศรีธาตุ เป็นถ้ำที่ศักดิ์สิทธิ์ วันพระ ๘ ค่ำ และ ๑๕ ค่ำ จะมีเสียงฆ้องกลองดังอยู่ตลอดทั้งคืน ชาวบ้านแถบนั้นได้ยินกันหมด และต่างก็มีความเกรงกลัวถ้ำนี้มาก ท่านได้ทราบต่อไปว่า คนที่จะเดินข้ามเขาลูกนี้จะต้องถวายดอกบัวเสียก่อนจึงจะไปได้ เพราะเขาลูกนี้มีทางเดินผ่านมาใกล้ถ้ำพระลานม่วง ถ้ามีใครเดินมาที่ถวายดอกบัวแล้วกำแหงไม่ปฏิบัติตาม จะต้องถูกเจ้าเขาเล่นงานทุกคน ดอกบัวที่เขาถวายนั้น เขาจะไปตัดไม้มาทำเหมือนของลับผู้ชาย แล้ววางไว้ที่นั่น พร้อมทั้งบอกกล่าวให้เจ้าป่าเจ้าเขาทราบ แล้วจึงเดินผ่านไป หรือบางคนถ้าจะต้องผ่านเขาลูกนี้ ก็ทำดอกบัวเสร็จไปจากบ้าน เมื่อไปถึงก็ถวายได้เลย ถ้าใครผ่านไปไม่ได้ถวายดอกบัวไว้ที่เขาลูกนี้ เพราะกำแหงว่าตัวดีมีวิชาอาคมปราบผี เขาก็จะมีอันเป็นไปต่างๆ นานา เป็นคนบ้าใบ้เสียจริตก็มี เวลาหลับนอนก็สะดุ้งกลัว ร้องขึ้นแล้ววิ่งออกไปจากที่นอน อันนี้เป็นข่าวที่ท่านทราบก่อนไปถึงแล้ว
    เมื่อคณะธรรมจาริกของท่านหลวงปู่บุญได้ทราบเรื่องราวโดยตลอด ก็ตรงไปทันที เมื่อไปถึงบ้านทมป่าข่าก็ได้บอกความประสงค์ให้ชาวบ้านทราบว่า จะไปพักภาวนาที่ถ้ำพระลานม่วง พอชาวบ้านได้ทราบดังนั้น ก็พากันพูดจนไม่รู้จะฟังใคร ทุกคนล้วนแต่พรรณนาถึงความศักดิ์สิทธิ์วิเศษของถ้ำพระลานม่วง และไม่อยากให้ท่านเข้าไปอยู่ เพราะเขาเห็นฤทธิ์จนเกิดความขยาดกลัวถ้ำนี้มาก แต่คณะท่านหลวงปู่บุญได้ขอร้องให้ชาวบ้านพาไปส่งที่ถ้ำพระลานม่วง ท่านบอกกับชาวบ้านว่า “จะขอลองไปอยู่ดูก่อน ถ้าอยู่ไม่ได้จริงๆ จะไปพักอยู่ที่อื่น”
    ชาวบ้านทมป่าข่ามีความเชื่อในพระกรรมฐานมาก จึงพูดกันว่า “ท่านต้องมีดี ท่านจึงอยากไปอยู่ พวกเราอย่าให้ท่านต้องผิดหวังเลย” แล้วพวกเขาก็พาคณะท่านหลวงปู่บุญไปส่งถึงถ้ำพระลานม่วง โดยมีท่านอาจารย์พร สุมโน พระผู้อาวุโส ซึ่งเป็นพี่ชายของท่านเป็นผู้นำ ไปด้วยกันทั้งหมด ๔ รูป ผ้าขาว ๑ คน
    อยู่กับงู
    เมื่อไปถึงถ้ำพระลานม่วงแล้ว ท่านก็ให้ญาติโยมทำแคร่เล็กๆ สูงจากพื้นดินประมาณ ๑ ศอก ท่านรูปไหนชอบสถานที่แห่งใดก็ให้โยมไปทำแคร่ให้ที่นั้น ส่วนท่านหลวงปู่บุญได้พักอยู่ที่หน้าถ้ำพระลานม่วง ที่ปากถ้ำข้างบนมีเถาวัลย์รากไม้รก และมีที่แขวนกลดด้วย ขณะที่ท่านให้ชาวบ้านทำแคร่อยู่นั้น ก็ไม่เห็นมีอะไร พอทำแคร่เสร็จหมดครบทุกรูปแล้ว ชาวบ้านก็พากันลากลับไป
    ท่านจัดการกางมุ้งกลด เอาเชือกพาดขึ้นไปจะผูกติดกับเถาวัลย์ ขณะที่ท่านผูกเชือกอยู่นั้น ท่านเห็นงูจงอางตัวหนึ่งนอนขดอยู่เหนือศีรษะของท่าน ทีแรกท่านตกใจ คิดจะหนีออกจากที่นั่น แต่ก็ได้ทำแคร่ที่พักแล้ว พอผูกเชือกเสร็จ ท่านก็นั่งลงแหงนมองขึ้นดูงู ฝ่ายงูก็ยื่นหัวลงมามองดูท่านด้วยอาการสงบนิ่ง ท่านมองดูอยู่นาน จิตใจก็แผ่เมตตาให้ พร้อมกับคิดรำพึงรำพันในใจว่า... ถ้าเป็นงูอื่นก็ค่อยยังชั่ว แต่นี่เป็นงูจงอาง อันตรายมากถ้าไม่รีบหนี ท่านนั่งคิดปรับทุกข์กับตัวเองว่าจะทนอยู่ที่นี่หรือจะไปอยู่ที่อื่น ท่านจะได้ไปบอกให้หมู่คณะที่ไปด้วยกันทราบ
    ขณะที่ท่านพิจารณาปลอบใจตัวเองอยู่นั้น ตาก็มองจับจ้องอยู่ที่งู ซึ่งนอนขดตัวอยู่เหนือศีรษะท่านเหตุที่ท่านนั่งพิจารณาอยู่นานนั้นก็เพราะตัดสินใจไม่ได้ว่าจะอยู่หรือจะไป จนท่านพิจารณาได้ความแล้ว จึงตัดสินใจลงไปว่า
    ต้องอยู่ที่นี่ เป็นอะไรเป็นกัน หนีไปไม่ได้ งูจะกัดตายก็ยอม ถ้าหนีไป ผีถ้ำนี้จะหาว่าเราเป็นพระขี้ขลาด ไม่สมกับเป็นเพศนักบวช เป็นเพศที่ยอมเสียสละ เมื่อถึงคราวแล้วอยู่ที่ไหนมันก็ตาย ในโลกนี้มีแผ่นดินที่ไหนเข้าไปอยู่แล้วไม่ตายนั้นไม่มีเลย ฉะนั้น ไม่ต้องหนี เมื่อกลัวตายแล้วเข้าป่ามาทำไม เลือดเนื้อหนังเอ็นกระดูกอวัยวะทุกชิ้นที่อยู่ในร่างกายเรานี้ล้วนแต่ได้มาจากเลือดเนื้อหนังของสัตว์มิใช่หรือ มีชีวิตอยู่ ไม่ตายก็เพราะบริโภคเลือดเนื้อเขามิใช่หรือ เพียงแต่งูมันนอนมองดูอยู่เฉยๆ ทำไมเกิดความหึงหวงในร่างกายของตนเองจนตัวสั่น ว่าอย่างไร จะยอมให้งูกัดตาย หรือจะทิ้งลวดลายพระธุดงค์ ท่านรำพึงกับตัวเองขณะมองดูงู
    ท่านได้คิดปลอบใจตัวเองไม่ให้กลัวมาก เมื่อคิดปลอบใจตัวเองอยู่นั้น พลันก็เกิดความกล้า ตกลงว่าจะยอมให้งูกัดตาย ไม่ยอมย้ายไปที่อื่น แล้วท่านก็ลุกขึ้นยืนกางกลดทันที ท่านทำด้วยความระมัดระวัง ฝ่ายงูจงอางตัวนั้นมันยิ่งยื่นหัวออกมายาว เมื่อท่านกางมุ้งกลดเสร็จ ท่านก็รีบไปสรงน้ำ นำเอาเรื่องงูไปบอกให้หมู่คณะทราบ พอสรงน้ำเสร็จก็กลับมาที่พัก เพื่อนก็ตามมาดูงูด้วย แต่ก็ไม่เห็นงู ไม่รู้ว่ามันหนีไปทางไหนในคืนนั้นท่านนั่งภาวนาตลอดทั้งคืน พอใกล้สว่าง ขณะท่านกำลังนั่งภาวนาอยู่ ท่านได้ยินเสียงซาดๆ ดังมาเป็นระยะๆ เสียงนั้นผ่านเข้ามาใต้แคร่ที่พักท่านแล้ว กำลังจะผ่านเข้าไปในถ้ำ ท่านจึงรีบออกจากการนั่งภาวนา รื้อมุ้งกลดขึ้น มองไปเห็นงูเหลือมตัวใหญ่ขนาดโคนขากำลังเลื้อยเข้าไปในถ้ำ ท่านเห็นแล้วขนลุกไปทั้งตัว
    เมื่อท่านกลับจากบิณฑบาต ฉันเช้าเสร็จ กลับมาที่พักก็เห็นงูจงอางตัวนั้นนอนขดอยู่ที่เดิม งูตัวนี้พอตกตอนกลางคืนก็ออกเที่ยวหากิน แต่ตอนมันเลื้อยกลับเข้ามาไม่เห็น บางวันก็เห็นงูเหลือมตัวนั้นเลื้อยผ่านเข้าไปในถ้ำ ท่านได้พักอยู่ที่ถ้ำพระลานม่วงอยู่นาน เห็นสิ่งแปลกประหลาดหลายอย่าง ทั้งเรื่องภายนอกภายใน แต่เรื่องนี้ขอผ่านไปก่อน จะกลับมาพูดถึงเรื่องดอกบัวที่ชาวบ้านและคนสัญจรเดินผ่านนำไปบูชาที่ถ้ำแห่งนี้
    บูชาเจ้าเขา
    ไม่มีใครทราบว่าชาวบ้านและคนที่สัญจรเดินทางผ่านมาบูชากันมานานเท่าไร แต่ดอกบัวที่ยังไม่สลายกลายเป็นดินนั้นกองใหญ่มาก ท่านมองดูกองดอกบัวแล้ว ท่านก็ขนหัวลุก เพราะกองใหญ่ขนาดสักคันรถใหญ่ได้ แม้แต่ชาวบ้านที่มาทำบุญให้ทานกับท่าน เมื่อจะกลับก็ยังแอบไปถวายดอกบัวเสียก่อนจึงกลับ บางคนบอกว่า ถ้าขึ้นเขาลูกนี้แล้วไม่ได้ถวายดอกบัว เหมือนกับเจ้าเขาจะตามไปทำร้าย ไม่สบายใจเมื่อได้ถวายดอกบัวแล้วจึงได้สบายใจ
    คืนวันหนึ่ง ท่านหลวงปู่บุญได้ชวนผ้าขาวไปดูกองดอกบัวที่ชาวบ้านถวาย เมื่อไปถึง ท่านนั่งพิจารณาว่า ชาวบ้านและคนเดินทางสัญจรผ่านมาเขาทำไม้เหมือนกับของลับผู้ชาย แล้วเอามาวางไว้ที่นี่ก็เพราะความกลัวว่า ถ้าไม่ทำ เจ้าเขาลูกนี้จะตามไปทำร้าย หลวงปู่บุญรำพึงในใจว่า ถ้าหากเราไม่ทำลายเสียก็จะเป็นโรคติดต่อไปนานแสนนาน เราจะขอบูชาหัวดอกรักนี้ด้วยไฟแทนดอกบัว ซึ่งจะทำให้ชาวบ้านและคนเดินทางสัญจรผ่านไปมาจะได้เลิกหวาดกลัวเขาลูกนี้อีกต่อไป เมื่อคนทั้งหลายเห็นไฟไหม้แล้ว ความหวาดกลัวก็จะไม่มีใครคิดทำขึ้นอีก
    เมื่อท่านคิดได้เช่นนี้แล้วก็บอกให้ผ้าขาวพิจารณาดูกองดอกบัวของเจ้าป่าเจ้าเขา ด้วยปิยโวหารว่า “ผ้าขาว เจ้าจงพิจารณากองดอกบัวอันนี้อย่าให้เหลือ พิจารณาดูให้ละเอียด” ถ้าผู้ได้รับการฝึกอบรมจากครูบาอาจารย์ดีแล้วก็จะรู้ความหมายทันทีว่า ท่านหลวงปู่บุญสั่งให้เอาไฟจุดหัวดอกรักของเจ้าเขา ผ้าขาวก็จัดการทันที
    แกก็พูดขึ้นดังๆ ว่า “เจ้าป่าเจ้าเขา เจ้าถ้ำพระลานม่วงก็ดี อย่าได้มาโกรธข้าพเจ้าเด้อ ข้าพเจ้าเป็นเพียงผู้ที่ทำตามคำสั่งของครูบาอาจารย์เท่านั้น”
    ก็เป็นอันว่าไฟไหม้กองดอกบัวของเจ้าเขาหมด ขณะที่ไฟกำลังไหม้ลุกโพลงอยู่นั้น ชาวบ้านทั้งใกล้ทั้งไกลมองเห็นกันทั่ว เพราะกองดอกบัวกองใหญ่มากและจุดในเวลากลางคืนประมาณทุ่มกว่าๆ จากนั้น ท่านกับผ้าขาวก็กลับที่พัก เตรียมตัวรับมือกับเจ้าของดอกบัวที่จะตามมาต่อว่าในคืนนี้ ท่านนั่งภาวนาคอยเจ้าของดอกรักอยู่ตลอดทั้งคืนก็ไม่เห็นมาหาท่าน
    พอใกล้สว่าง ท่านคิดว่าเจ้าป่าคงไม่กล้าตามมาต่อว่าแน่ ท่านจึงลงไปเดินจงกรม ในขณะที่ท่านกำลังเดินจงกรมอยู่นั้น พลันก็ได้ยินเสียงสัตว์ดังมาจากป่าใกล้ทางเดินจงกรม แต่ไม่เห็นตัว มันทำเสียงดังอยู่ตลอดเวลา จนท่านรำคาญเสียงเจ้าสัตว์ตัวนั้น ท่านคอยอยู่นานจะให้มันหนีไปเอง มันไม่ยอมหนี ยิ่งทำเสียงดังขึ้นกว่าเดิม ท่านจึงคิดจะไล่ให้มันไปหากินที่อื่น เพราะที่นี่ท่านเดินจงกรมอยู่ ท่านหนวกหูท่าน แล้วท่านก็พูดขึ้นว่า จงไปหากินทางอื่นเถิด ทางนี้เรากำลังทำความเพียรเดินจงกรมอยู่ แล้วท่านก็โยนก้อนดินไปหวังจะให้ตกใกล้ๆ ตัวมัน พอก้อนดินตกถึงพื้น เจ้าสัตว์ตัวนั้นก็แหวกป่ากระโดดเข้าใส่ท่านทันที ท่านยังไม่ได้เตรียมตัว เพราะไม่รู้ว่าจะมีเหตุการณ์อย่างนี้เกิดขึ้น พอสัตว์ตัวนั้นกระโดดเข้าใส่ ท่านก็หลบ พร้อมกับร้องขึ้นจนหมู่คณะได้ยินเสียงท่านก็รีบมาดู เมื่อมันกระโดดไม่ถูกตัว มันก็วิ่งผ่านลงไปข้างล่าง เหตุที่ท่านร้องนั้น เพราะหลบสัตว์พลาดท่าเลยหกล้ม
    หลังจากที่ท่านได้เผาหัวดอกรักของเจ้าป่าเจ้าเขาแห่งนี้แล้ว ตั้งแต่นั้นมา ชาวบ้านและคนเดินทางสัญจรผ่านไปมาก็ไม่มีใครคิดจะถวายดอกบัวแก่เจ้าป่าเจ้าเขาแห่งนี้อีกเลย และก็สามารถเดินทางผ่านไปได้อย่างสบายไม่มีอะไรเกิดขึ้นเหมือนอย่างแต่ก่อน และก็ไม่ได้ยินว่าเจ้าป่าเจ้าเขาลูกนี้ไปเข้าสิงผู้ใดอีกเลย ทั้งนี้ เพราะอัญญาธรรมหรือพระกรรมฐานนั่นแหละไปลบล้างออก ชาวบ้านจึงทิ้งผี หันมาไหว้พระ สักการบูชานับถือพระรัตนตรัยแทนตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา
    ฉะนั้น เรื่องที่ท่านได้เผชิญมากับสิ่งต่างๆ บางเรื่องประทับใจท่านอยู่ไม่น้อย ท่านจึงนำมาเล่าให้ลูกศิษย์ลูกหาฟังอยู่เสมอ ถึงเรื่องนั้นจะผ่านไปนานแสนนาน เพราะความที่ท่านได้เอาชีวิตจิตใจเข้าเสี่ยงเป็นเสี่ยงตายนี่แหละ เป็นเหตุให้ท่านลืมได้ยาก
    ผีกุฏิตาอวย ดังเรื่องเมื่อครั้งท่านได้บวชเป็นผ้าขาวติดตามท่านอาจารย์พร สุมโน เข้าป่าขึ้นเขาไปภาวนาและพักอยู่ตามที่ต่างๆ บางแห่งท่านนั่งกลัวตัวสั่นตลอดคืน บางแห่งพอท่านได้ทราบข่าวเกี่ยวกับสถานที่ที่จะไปพักเท่านั้น ท่านก็เกิดความกลัวขึ้นมาก่อน ทั้งๆที่ยังไม่ทันได้เข้าไปพักที่นั่นเลย ดังเรื่องนี้
    ในปี พ.ศ.๒๔๗๓ ท่านบวชเป็นผ้าขาวได้ประมาณ ๖ เดือน ท่านอาจารย์พร สุมโน ได้พาท่านเข้าไปพักอยู่ที่กุฏิตาอวย ที่นี่เป็นสถานที่ขึ้นชื่อลือนามของคนแถบนั้นว่า ผีกุฏิตาอวยนี้ดุนัก ชาวบ้านมีความหวาดกลัวมาก กิติศัพท์ความร้ายกาจของเจ้ากุฏิตาอวยร่ำลือไปเข้าหูของท่านอาจารย์พรว่า ใครจะเข้าไปพักอยู่หรือทำมาหากินในที่นั้นไม่ได้เป็นอันขาด เพราะเจ้าที่แรงมาก สามารถหักคอคนได้ ถ้าใครไปทำผิดเจ้ากุฏินี้เข้าและไม่รีบนำเหล้าไหไก่ตัวไปแก้แล้ว มีหวังนอนไหลตาย หรือมิฉะนั้นก็กลัวมากจนเสียสติกลายเป็นบ้าไป บางคนถูกเจ้ากุฏิตาอวยเข้าสิงกาย เป็นคนดุ คุ้มดีคุ้มร้าย ญาติพี่น้องต้องวิ่งหาหมอธรรมมาชำระล้างอาถรรพ์ของเจ้ากุฏิ มีหมอธรรมบางคนจะมารักษาผู้ป่วยโรคผีกุฏิตาอวย แต่ก็ถูกเจ้ากุฏิเล่นงานเอาจนถึงกับวิ่งหนีก็มี หมอปราบผีบางคน พอทราบข่าวว่าเขาจะให้ไปไล่ผีกุฏิตาอวยเท่านั้น ก็รีบปฏิเสธบอกว่าตัวเองไม่มีวิชาพอที่จะไปไล่ผีกุฏิตาอวย แล้วก็เลิกหากินทางปราบผีมานานแล้ว ส่วนหมอปราบผีที่ไม่รู้ฤทธิ์เดชเจ้ากุฏิผีตาอวยก็ไปรักษาขับไล่ เมื่อไปถึงก็ประกอบพิธีทางไสยศาสตร์ ขณะที่ประกอบพิธีอยู่นั้น แกก็เป็นลมล้มฟุบลงกับพื้นเรือนนั้น คนที่มาดูวิธีไล่ผีของแกต้องช่วยกันนวดเฟ้นให้ พอแกฟื้นจากลมจับได้สติแล้ว แกจึงบอกลาเจ้าของบ้านลงเรือนไป
    เรื่องที่เล่ามานี้ เป็นคำพูดคำเล่าของคนเฒ่าคนแก่ที่พูดเล่าไว้นานแล้ว ท่านทั้งหลายที่ได้อ่านแล้ว ไม่เชื่อ แต่ก็จงอย่าได้ลบหลู่ ว่าจะมีผีหวงแหนที่อยู่นั้นมีจริงหรือไม่ แต่ว่าคนแถบนั้นก็ยังเกรงกลัวอยู่ตามคำเล่าลือตลอดมา
    เมื่อท่านอาจารย์พรได้เที่ยววิเวกมาตามลำน้ำชี ได้ทราบข่าวดังนั้น ก็คิดจะพาผ้าขาวบุญไปพักภาวนาที่นั่น จะได้แผ่เมตตาให้กับเจ้ากุฏินี้เลิกจากความดุร้ายกลายเป็นผีที่มีเมตตา ไม่ไปรบกวนชาวบ้านอีก สำหรับท่านอาจารย์พร ท่านเคยติดตามปฏิบัติธรรมภาวนาอยู่กับท่านหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต ตั้งแต่วันแรกที่เข้าไปอยู่วัด พอท่านได้ทราบข่าวว่าสถานที่ใดศักดิ์สิทธิ์ ท่านจะต้องไปอยู่ที่นั่นเพราะนิสัยที่ท่านได้รับมาจากท่านหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต นี่แหละ ท่านจึงได้พาผ้าขาวบุญเดินทางไปบ้านกูดตะกาบ ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่ตั้งอยู่ใกล้กุฏิตาอวย ท่านเข้าไปในหมู่บ้าน แล้วบอกความประสงค์ให้ชาวบ้านทราบว่าท่านจะเข้าไปพักอยู่ที่นั่น ชาวบ้านก็ไม่เห็นด้วย เพราะเขากลัวเจ้าผีตาอวยจะมารบกวนทางบ้าน แต่ท่านอาจารย์พรก็รับว่า จะไม่ให้มีอะไรเกิดขึ้นกับชาวบ้าน ท่านยังได้บอกอีกว่า “ถ้าอาตมาอยู่ได้ จะไม่ให้ชาวบ้านกลัวผีตาอวยนี้อีกต่อไป”
    สถานที่ผู้คนเกรงขามอย่างกุฏิตาอวยนี้ ท่านเคยอยู่มาแล้ว ไม่เห็นมีอะไรเกิดขึ้นกับชาวบ้าน และภายหลัง สถานที่นั้นก็กลายเป็นไร่เป็นนาไปหมด แล้วท่านก็สรุปว่า ถ้าอาตมาอยู่ได้หรืออยู่ไม่ได้ ก็จะไม่ให้ชาวบ้านเดือดร้อนเรื่องกุฏิผีตาอวยจะมาทำร้าย คนในหมู่บ้านที่มาพูดกับท่านบางคนก็เชื่อผีมากกว่าเชื่อพระ ยืนกรานคำเดียวว่าจะไม่ให้ท่านเข้าไปอยู่ คิดดูแล้วเหมือนกับวงศาตาทวดพร้อมทั้งตนเองเคยเห็นผีมาแล้ว แม้แต่ขี้ของผี หรือรอยของผีก็ยังไม่เคยเห็นและไม่เคยรู้จัก เพียงแต่ได้ยินชื่อของผีเท่านั้นก็รับเป็นตัวแทนของผีมาพูดกับพระ จะไม่ยอมให้พระเข้าไปอยู่ในที่นั้น นอกจากนั้นยังพรรณนาความเก่งกาจของผีให้พระฟังเพื่อท่านจะได้เกิดความกลัว ไม่คิดที่จะไปอยู่ แถมยังพูดว่า ถ้าไม่เก่งจริง พอเข้าไปอยู่แล้วอาจเป็นบ้าเสียคน อย่างผ้าขาวคนนี้ เขาชี้มือมาที่ผ้าขาวบุญ และพูดทำนองว่าห่วงผ้าขาว กลัวผ้าขาวจะเป็นบ้าเสียจริต เพราะผีกุฏินี้เคยทำอันตรายคนมามากแล้ว ส่วนผ้าขาวบุญ พอตัวแทนผีชี้มือมาก็ขนหัวลุกขึ้นทั้งตัว เกิดความกลัวจนขาสั่น ทั้งๆที่ยังไม่เคยเห็นเจ้าของกุฏิตาอวยเลย เพียงได้ยินแต่ชื่อและคุณวิเศษเท่านั้นก็เป็นเหตุให้ขาสั่นแล้ว
    ตกลงชาวบ้านที่เชื่อพระก็จำใจต้องไปส่งท่านที่กุฏิตาอวย เมื่อไปถึง ท่านก็ให้โยมทำแคร่ ๒ แห่ง ห่างกันประมาณ ๓ เส้น (เส้นหนึ่ง ๒๕ เมตร) ที่นี่ ก็เป็นสถานที่ธรรมดาไม่น่ากลัวอะไร มีป่าโปร่งและหนองน้ำ สิ่งที่ทำให้ที่นี่น่าเกรงขามก็คือ คำพูดของชาวบ้าน สังเกตดูต้นไม้บริเวณนี้ไม่มีใครตัดเลย แสดงให้ท่านเห็นว่า สถานที่นี่เป็นที่เคารพยำเกรงของชาวบ้านแถบนั้น
    เมื่อชาวบ้านมาส่งพร้อมกับทำแคร่และทางเดินจงกรมให้เสร็จแล้ว เขาก็ลากลับ ส่วนผ้าขาวบุญก็คิดหาวิธีเตรียมรับมือผีกุฏิตาอวยถ้าหากมาจริงๆ ก่อนค่ำวันนั้น ท่านได้ทำวัตรปฏิบัติอาจารย์ตามที่ได้เคยปฏิบัติมาเป็นประจำวัน ท่านอาจารย์พรได้ให้โอวาทแก่ผ้าขาวบุญเป็นใจความว่า
    “สถานที่บางแห่งถึงจะศักดิ์สิทธิ์ขนาดไหน ก็พบเห็นได้เฉพาะคนบางคนเท่านั้น มิใช่ว่าจะพบเห็นได้ทุกคนไป พูดถึงผี ไม่มีผีตัวไหนที่ร้ายกาจเท่ากับผีที่มีอยู่ในตัวเรา ผีตัวนี้หลอกให้คนร้องไห้ก็ได้ หลอกให้คนหัวเราะก็ได้ หลอกให้มือเท้าหรืออวัยวะสั่นก็ได้ เจ้าอย่าคิดอะไรมากนัก เพราะความคิดว่าจะมีผีจริงตามคำพูดของชาวบ้านผู้ที่ห่างไกลจากศีลธรรม ห่างไกลจากการปฏิบัติเพื่อความรู้ยิ่ง รู้จริง เพียงได้ยินคนอื่นพูด จะเท็จหรือจริงก็เก็บเอามาพูด ซึ่งเป็นการข่มขวัญคนอื่นให้เกิดความกลัวไปด้วย ที่ชาวบ้านเขาพูดกันนั้น มันเป็นไปไม่ได้หรอก เพราะเรามีศีลธรรม ความเป็นคนมีศีลธรรมนี่แหละ จะไปสู่สถานที่ใดก็ได้รับความร่มเย็นเป็นสุข ไม่มีอะไรมารบกวนให้เดือดร้อน นอกจากความขี้ขลาดซึ่งเป็นตัวมารร้ายกาจที่อยู่ในหัวใจของเรานี่แหละจะมาหลอกหลอนรบกวนตัวเองให้เดือดร้อน ให้หาวิธีกำจัดผีตัวนี้ให้ได้ อย่าให้เหลือ เมื่อผีตัวขี้ขลาดหวาดกลัวไม่มีอยู่ในหัวใจแล้ว จะไม่มีอะไรมารบกวนหลอกหลอนจิตให้สะดุ้งได้อีก ผีภายนอกมันก็อยู่เฉพาะผี มันคนละภพคนละภูมิกันกับเรา จะไปคิดกลัวทำไม ความกลัว ความขี้ขลาดนี่แหละเป็นผีตัวร้ายกาจ ให้จำหน้าผีที่มาหลอกหลอนนั้นให้ดี ไม่ว่าไปที่ไหนหรืออยู่ที่ไหน
    พอใบไม้ร่วง ด้วงกัดกิ่งไม้หัก ก็ไปโทษผีว่ามันมาหลอก หาเรื่องใส่ผีโดยไม่ทราบว่ามีผีจริงหรือไม่ ก็เพราะใจดวงโง่ๆ นี่แหละจึงได้เพ่งเล็งไปหาผีซึ่งอยู่ห่างกันคนละภพคนละภูมิ ตั้งแต่เกิดมายังไม่เคยเห็นหน้ากันเลย มองไปแต่ข้างนอก ไม่มองเข้ามาข้างในดูความโง่ของตัวเอง ที่มันหลอกหลอนตัวเองอยู่ตลอดเวลา แม้กระทั่งใบไม้ร่วงมันก็บอกว่าผีทำ จะมีใครอยู่หรือไม่อยู่มันก็ร่วงไปตามธรรมชาติของมัน ขนาดนั้นแหละความขี้ขลาด เพียงแต่ใบไม้ร่วงมันก็หลอกเราให้ขนหัวลุกได้ ถ้าไม่คิดกำจัดมัน ความขี้ขลาดจะทำให้เราสะดุ้งกลัวอยู่ตลอดเวลา จะหาสถานที่สงบสงัดเพื่อบำเพ็ญภาวนาได้ยาก
    ฉะนั้น ระวังคืนนี้ผีขี้ขลาดจะมาหลอก เตรียมรับมือไว้ให้ดี สติปัญญารู้เท่าทันอารมณ์แห่งความขี้ขลาดของจิต ถ้าไม่รู้เท่าทันมันแล้ว พอมีอะไรเกิดขึ้น แม้แต่ปลวกตัวเล็กนิดเดียวมันสั่นหัวของมัน ใจขี้ขลาดจะรีบวิ่งไปเอามาหลอกให้ขนหัวลุกทันที ส่วนผีจริงๆ เขาไม่ได้มายุ่งกับเรา ถ้ามาก็เพียงแต่มาถามข่าวดูเท่านั้น อย่าว่าเขามาหลอก ให้คิดว่าเขามาดูว่าเราภาวนาหรือไม่ หรือเราเข้ามายืนกลัว นั่นกลัว นอนกลัว ซึ่งผิดกับวาจาจิตที่คิดไว้ว่าจะมาภาวนา นี่แหละผีมันอยากมาดูตรงนี้แหละ ถ้าเข้ามากลัว ก็เป็นอันว่าตัวเองกลายเป็นผีหลอกตัวเอง หลอกทั้งคนอื่นที่เขาคิดว่าเรามาภาวนา ฉะนั้น คืนนี้ให้กระทำบำเพ็ญสมกับเข้าป่ามาภาวนาจริงๆ อย่ามากลัวเป็นอันขาด”
    พอท่านอาจารย์พรให้โอวาทเสร็จแล้ว ท่านก็บอกให้ผ้าขาวบุญกลับที่พัก จิตใจของผ้าขาวบุญขณะเดินกลับมาเมื่อความมืดเข้าปกคลุมนั้น ก็รู้สึกเกรงขามสถานที่ ยิ่งมืดขึ้นทุกทีจิตใจก็ยิ่งหมอบราบลง ส่วนความขี้ขลาดกำลังตื่นขึ้นมาล้างหน้าแปรงฟัน เพื่อจะได้หัวเราะใจที่กำลังหมอบราบให้กับมัน ถึงที่พักแล้ว ท่านก็เข้าทางเดินจงกรม เดินกลับไปกลับมา แต่จิตใจก็ไม่ได้ตั้งอยู่ในองค์ภาวนา ไปคิดรำพึงถึงคำพูดของชาวบ้านและโอวาทที่ท่านอาจารย์ให้มาแก้ไขจิตไม่ให้กลัวมากเกินไปจนถึงกับภาวนาไม่ได้ แต่ก็ดีใจอยู่อย่างหนึ่ง เพราะได้เห็นพระจันทร์กำลังโผล่ขึ้นมาพอจะช่วยบรรเทาความกลัวได้อีกทางหนึ่ง ท่านเดินจงกรมอยู่ประมาณ ๑ ทุ่มก็เข้ามุ้งกลด ไหว้พระสวดมนต์ เสร็จแล้วนั่งภาวนาต่อ
    จนถึงประมาณ ๓ ทุ่มลงไปเดินจงกรมอีก จิตใจไม่กลัวเท่าไร เดินไปได้ไม่นาน พลันก็มีลมพัดทำให้ขนหัวลุก กำลังคิดปลอกใจตัวเองอยู่ก็มีเสียงดังขึ้นตรงหัวทางเดินจงกรมที่จะเดินกลับไปอีก มองไปก็เหมือนคนมานั่งอยู่หัวทางจงกรม แต่ไม่ชัด เพราะเดือนสลัวๆ ประจวบกับเงาไม้บัง จึงแข็งใจไปอยู่ใกล้ๆ ก็เห็นชัด เป็นอีเห็นตัวใหญ่ยืนมองดูท่าน ท่านก้าวเข้าไปดูใกล้ๆ มันก็กระโดดเข้าป่าตุบเดียวเงียบ ไม่มีเสียงวิ่งไปไหน ผ้าขาวบุญไม่สนใจตัวอีเห็น แต่พอหันกลับจะเดินไปข้างหน้าก็เห็นสัตว์ตัวนั้นยืนมองท่านอยู่ที่หัวทางจงกรมอีก ทีนี้ ผ้าขาวบุญแปลกใจ ไม่มีเสียงวิ่ง แต่ทำไมไปปรากฏตัวที่นั้นอีก ท่านรีบเดินไปให้ถึงสัตว์นั้นพร้อมกับคิดในใจว่า ลมก็พัดวนเวียนอยู่อย่างนี้ ถ้าอีเห็นหายไปอีกคงจะเป็นเจ้าของกุฏิแน่นอน แล้วก็เป็นดังที่คิด พอท่านเดินเข้าไปใกล้อีเห็นก็กระโดดเข้าป่าตุบเดียวหายเงียบ มีแต่ลมพัดวนเวียนไปมา ท่านเห็นท่าไม่ดีจึงหยุดเดิน ยืนคิดปลอบใจตัวเองตามที่ท่านอาจารย์บอกไว้แต่หัวค่ำว่า จะกลัวไปทำไม ในเมื่อเจ้าของบ้านผู้อารีมาต้อนรับถามข่าว ผ้าขาวบุญได้บอกกับเจ้าของกุฏิในใจว่า
    “สิ่งที่ปรากฏแก่ข้าพเจ้านี้ ถ้าหากเป็นเจ้าของกุฏิมาเยี่ยมถามข่าวจริงแล้ว จงรับทราบไว้เถิดว่า ข้าพเจ้าชื่อผ้าขาวบุญ ได้ติดตามท่านอาจารย์มาภาวนาอุทิศส่วนกุศลให้เจ้าที่เจ้าทางที่สิงสถิตอยู่ในสถานที่นี้ ขอท่านจงรับเอาส่วนบุญกุศลที่ข้าพเจ้าอุทิศไปให้ ขอจงมีความสุขทุกอริยบถเถิด อย่ามารบกวนข้าพเจ้าเลย”
    แล้วผ้าขาวบุญก็สงบจิตแผ่เมตตาให้เจ้าของกุฏิ จากนั้นแข็งใจเดินจงกรมต่อไป จิตใจบริกรรมพุทโธอยู่อย่างไม่ลดละ หัวใจสั่นระริกๆ อยู่ตลอดเวลา จะให้หยุดกลัว คืนนั้นผ้าขาวบุญไม่ได้นอนเลย
    พอรุ่งอรุณของวันใหม่ก็รีบไปปฏิบัติท่านอาจารย์ ได้เวลาออกบิณฑบาตก็ไปส่งบาตรท่าน คิดว่าท่านจะถาม ท่านก็ไม่ถาม ตลอดวันนั้นทั้งวันท่านก็ไม่ถาม ก่อนค่ำวันที่สองก็ได้เข้าไปปฏิบัติเช่นเคย เสร็จกิจแล้ว ผ้าขาวบุญก็เล่าเรื่องเจ้าของกุฏิแปลงเป็นอีเห็นให้ท่านอาจารย์ฟัง ท่านฟังแล้วก็หัวเราะอยู่ในลำคอแล้วก็พูดว่า
    “ความจริงมันก็มีเท่านั้นแหละ ไม่เหมือนอย่างที่ชาวบ้านเขาพูดดอก ผีที่ไหนจะมาทำให้ผ้าขาวเป็นบ้าเป็นบอไปได้ ไม่มีดอก มีแต่คนไร้ศีลธรรมนั่นแหละ เพราะกามลามกของตัวทำให้ตัวเองเป็นบ้า แล้วก็ไปโทษสิ่งอื่น ไม่รู้ว่าตัวเองขาดศีลธรรมเป็นที่พึ่ง ในเมื่อตัวเองโสมมอยู่กับความชั่ว ความสะดุ้งหวาดกลัวก็มีมาก เวรภัยก็มีมาก จิตใจก็ระส่ำระสาย มีเรื่องเล็กๆ น้อยๆ เกิดขึ้นก็ไปเหมาเอาว่าผีกุฏินั้นกุฏินี้มาทำ นี่แหละจิตใจไม่มีศีลธรรมเป็นเครื่องยึดเหนี่ยว ดูญาติโยมบางหมู่บ้านที่ผ่านมา พอเห็นพระมาก็อยากได้น้ำมนต์ เครื่องรางของขลังเอาไปกำจัดเสนียดจัญไร เอาไปไล่ผี กำจัดบ้า ป้องกันศาสตราสารพัด ส่วนศีลธรรมที่จะไปดับแหตุเสนียดจัญไรเขาไม่อยากได้ดอก”
    เมื่อสมควรแก่เวลาแล้ว ท่านก็ให้ผ้าขาวบุญกลับที่พัก จากนั้นมาก็ไม่มีอะไรอีก จนกระทั่งออกไปจากที่นั่น
    ส่วนชาวบ้าน เมื่อเห็นท่านอยู่ด้วยความสงบสุข ทั้งหมู่บ้านก็อยู่ด้วยความสงบสุขไม่มีอะไรไปรบกวน ซึ่งผิดกับที่เขาคิดไว้ว่า ถ้าพระเข้าไปอยู่ที่นั่นแล้วผีกุฏิตาอวยจะมารบกวนชาวบ้าน แต่ท่านเข้าไปอยู่แล้วก็ไม่เห็นเป็นไปตามที่ชาวบ้านคิด ก็เกิดความศรัทธาเคารพนับถือท่านมาก ไม่อยากให้ท่านออกไปจากที่นั่นเลย
    สำหรับเรื่องราวของผู้ที่เข้าป่าภาวนา ไม่ว่าจะเป็นพระหรือโยมผู้ติดตาม บางแห่งถ้าไม่อดทนจริงๆ ก็อยู่ไม่ได้ ไม่ว่าจะพักอยู่หรือเดินผ่านไป เต็มไปด้วยความระมัดระวังภัย
    เจ้าที่บ้านโคกดินแดง
    สมัยที่ท่านหลวงปู่บุญ ชินวํโส พักอยู่ที่วัดบูรพารามบ้านโคกสำราญใหม่ๆ พอออกพรรษาแล้วได้ออกเที่ยววิเวกไปตามป่าเขาหรือสถานที่แห่งใดแห่งหนึ่งที่คนเข้าไปทำมาหากินไม่ได้ ท่านก็เข้าไปพักภาวนาที่นั่น แล้วก็บอกให้เขาไปอยู่ทำไร่นาที่นั้นได้ ดังจะได้นำเอาเรื่องของท่านที่เข้าไปภาวนาเพื่อขอสถานที่แห่งนั้นกับผีมาเล่าให้ท่านฟังสักเรื่องหนึ่งดังนี้
    มีโยมบ้านโคกดินแดง ชื่อนายแสงและนางแดง ได้มานิมนต์ท่านไปภาวนาแผ่เมตตาในสถานที่ของแก แกบอกว่าจับจองสถานที่ไว้แล้ว พอเข้าไปทำมาหากินก็มีอันเป็นไปต่างๆ นานา ไม่สบายกันทั้งครอบครัว เหมือนกับว่ามีภูตผีหวงแหนอยู่ ท่านรับนิมนต์แล้วก็เข้าไปภาวนาอยู่ ที่นั่นมีหนองน้ำอยู่แห่งหนึ่งลึกมาก มีน้ำขังอยู่ตลอดฤดูแล้ง ท่านได้พักอยู่ใกล้หนองน้ำนี้ อาศัยน้ำนั้นบริโภค จนกระทั่งถึงคืนที่สี่ ใกล้จะสว่าง ท่านเดินไปล้างหน้าที่หนองน้ำนั้นซึ่งเคยเป็นที่เคยล้างเป็นประจำทุกเช้า เมื่อไปถึง ท่านก็ยื่นมือลงไปกวักน้ำขึ้นมา แต่ก็ไม่ดื่มน้ำ พอสว่างขึ้นท่านจึงเห็นว่าน้ำในหนองใหญ่หายไปหมด เหลือแต่โคลนตม แม้แต่ปูปลากุ้งหอยในน้ำก็ไม่มีเหลืออยู่สักตัว มันหายไปหมด ท่านได้ทบทวนดูเหตุการณ์เมื่อตอนกลางคืน จึงได้รู้ว่า ขณะที่ท่านนั่งภาวนาปรากฏในนิมิตว่า มีผู้คนมากมายทั้งชายทั้งหญิงมากราบลาท่าน บอกว่าจะย้ายไปอยู่ที่อื่น และได้มอบสถานที่แห่งนี้ให้ท่าน ในคืนนั้นก็เงียบผิดปรกติ ซึ่งคืนก่อนๆ จะได้ยินเสียงปลาดำว่ายดำผุดทำให้น้ำเกิดเสียงดังตลอดทั้งคืน ท่านว่าเป็นเรื่องที่น่าคิดอยู่ น้ำในหนองไม่มีที่จะไหลไป เกิดหายไป ตลอดถึงสัตว์น้ำ จึงเป็นเหตุให้คนทั้งหลายที่ได้รู้ได้เห็นเรื่องนี้ พูดกันว่า ในสถานที่นี้มีสิ่งลึกลับหวงแหนอยู่จริง เมื่อย้ายไปจากที่นี่แล้วจึงนำเอาสิ่งต่างๆ เหล่านั้นไปด้วย แต่ก็ไม่มีใครทราบว่าสิ่งเหล่านั้นหายไปไหน
    ท่านได้จำพรรษาที่วัดบูรพาราม บ้านโคกสำราญเป็นเวลาหลายปีด้วยกัน ถ้าสถานที่ใดคนเข้าไปทำมาหากินไม่ได้ ท่านจะต้องเข้าพักภาวนาอยู่ในสถานที่นั้นๆ แล้วสถานที่นั้นๆ ก็กลายเป็นสถานที่ธรรมดาขึ้นมา ผู้คนสามารถเข้าไปทำมาหากินได้เป็นปรกติ
    เสือเดินตาม
    ครั้งหนึ่ง ท่านได้รับนิมนต์ไปที่บ้านเปือย และมีโยมชื่อพรหมติดตามไปด้วย ตอนขากลับ ท่านได้เดินข้ามดงพระเจ้าตัดตรงไปยังบ้านโคกสำราญ พอท่านเดินเข้าดงพระเจ้าได้ไม่นาน ก็มีเสือโคร่งตัวใหญ่ตัวหนึ่งเดินตามมาส่งท่านจนพ้นดง ท่านบอกว่าเสือตัวนั้นไม่กล้าทำอะไรท่าน พอท่านหยุดเดิน มันก็หยุดบ้าง พอท่านเดิน มันก็เดินบ้าง บางขณะอยู่ห่างกันประมาณ ๑ เส้น (๒๕ เมตร) บางขณะก็เข้ามาใกล้ท่าน ถ้ามันจะกระโดดเข้าตะครุบท่าน มันกระโดดทีเดียวก็ถึงตัวท่านแล้ว แต่นี่มันเพียงแต่เดินตามท่านไปเฉยๆ ถ้าเวลาไหนเสือเดินเข้ามาใกล้ ท่านจะค่อยๆ เดินแล้วหยุด พอท่านหยุดเดิน เสือก็หยุดนั่งมองดูท่าน เวลาเสืออยู่ห่างท่าน ท่านจะต้องรีบเดินให้เร็วที่สุด พอเสือเห็นท่านเดินเร็ว มันจะรีบเข้ามาใกล้ ตรงไหนทางเลี้ยว มันจะเดินเข้ามาใกล้ประมาณ ๔-๕ วาเท่านั้น ถ้าทางตรงมันจะเดินช้าลงคือมันจะได้เห็นตัวท่านอยู่ตลอดเวลาขณะที่เสือเดินตามท่านอยู่นั้น จิตใจของท่านได้แผ่เมตตาให้มันอยู่ตลอดเวลา พูดถึงความกลัวนั้น ท่านบอกว่า เวลาไหนเสือเดินเข้ามาใกล้ ท่านกลัวจนเข่าอ่อน ส่วนโยมพรหมนั้น พอเห็นเสือเดินตามมาติดๆ ก็รีบเดินเร็วๆ ไปก่อนท่าน เสือเดินตามท่านจนกระทั่งพ้นดงพระเจ้าถึงที่ไร่นา เสือจึงหยุดเดินตาม
    ฉะนั้น เรื่องราวทุกเรื่องที่ท่านได้ผจญมา นับเป็นเรื่องยากแสนยากลำบากจริงๆ
    ผจญผีโปร่งค่าง
    อีกเรื่องหนึ่ง ท่านกับเพื่อนสหธรรมิกของท่านคือ หลวงปู่มหาบุญมี สิริธโร ซึ่งปัจจุบันท่านอยู่ที่วัดป่าภูดิน อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี พากันเที่ยวหาความวิเวกทางจังหวัดศรีสะเกษ สมัยนั้น บางวันเดินตั้งแต่เช้าจนถึงค่ำ แสนที่จะลำบากจริงๆ ไม่เหมือนกับสมัยนี้ เรื่องอาหารการขบฉันนั้นก็ตามมีตามเกิด บางวันต้องฉันข้าวกับใบมะขามอ่อน บางวันก็ต้องฉันข้าวกับยอดสะเดา มีลูกศิษย์บางคนถามท่านว่าอร่อยหรือเปล่า ท่านตอบว่า เราฉันไปเพื่อให้อยู่รอดไปวันๆ เพื่อปฏิบัติธรรมเท่านั้น ไม่ได้ฉันเพื่อความอยากเพื่อความอร่อยนี่ และบางครั้งท่านก็เที่ยววิเวกไปอยู่กับพวกชาวเผ่าภูไทบ้าง พวกโซ่งบ้าง พวกลาวพวนบ้าง พวกแม้วพวกม้งบ้าง และคนภูเขาเผ่าต่างๆ บ้าง การภาวนาก็สบายดี เพราะต่างคนต่างอยู่ เขาไม่มารบกวนพระเหมือนอย่างทุกวันนี้ดอก
    ท่านได้เที่ยววิเวกไปทางฝั่งลาว ผีโปร่งค่างมารบกวน ลักษณะของมันเหมือนหนู แต่ตัวใหญ่เท่ากับแมว ตัวยาวประมาณ ๑ ศอก ท่านว่าผีพวกนี้ชอบดูดเลือดเป็นอาหาร หน้าตามันเหมือนกับลิง ฟันก็เหมือนฟันของลิงไม่มีผิดเลย ตอนที่ท่านไปภาวนาอยู่ที่นั่น มันมารบกวนอยู่ ๓ วัน ทำให้ท่านไม่ได้พักผ่อนเลย พอหลับตาลงนอนมันจะเข้ามารบกวนทันที ถ้าท่านไม่นอน มันจะอยู่ห่างๆ ประมาณ ๑๐ เมตร มันจะขึ้นๆ ลงๆ อยู่ตามเถาวัลย์ ถ้าเผลอเมื่อไรมันจะมาดูดกินเลือดทันที
    พอถึงวันที่สี่ ท่านก็อธิษฐานว่า ถ้าเคยมีเวรกรรมต่อกัน เราจะใช้กรรมให้ท่าน แต่ถ้าเราไม่เคยมีเวรกรรมต่อกันแล้วก็อย่ามารบกวนเรา เราจะภาวนาแผ่บุญกุศลไปให้ ท่านอธิษฐานแล้วก็นั่งภาวนาต่อไป พอออกจากที่ภาวนา ผีโปร่งค่างที่มารบกวนอยู่นั้นไม่รู้หายไปไหน ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมาก็ไม่เห็นวี่แววของมันอีกเลย
    เรื่องแบบนี้ บางคนก็ไม่เชื่อ คิดว่าคนสมัยก่อนเห็นอะไรเป็นผีไปหมด คนสมัยนี้กับคนสมัยนั้นไม่เหมือนกัน ดูแต่จิตใจก็รู้ เรื่องผีเรื่องสาง เรื่องเทวดา คนไม่เชื่อว่ามีในโลกนี้ ก็อย่าได้ถือสาหาความ ให้นึกเสียว่าเป็นกรรมของผู้นั้น สำหรับครูบาอาจารย์ย่อมเห็น จึงกล้าพูดได้เต็มปากเต็มคำ เพราะท่านเห็นในโลกธาตุอันนี้ ไม่เหมือนพวกเราซึ่งเป็นพวกหูกระทะ ตาไม้ไผ่
    เมื่อท่านออกจากที่นั้นแล้วก็เที่ยววิเวกต่อไปอีกหลายแห่งในสถานที่ต่างๆ ของทางฝั่งประเทศลาวเป็นเวลานานพอสมควรจึงได้กลับมาประเทศไทย แล้วก็มาจำพรรษาที่วัดประชานิยม บ้านหนองหลวงอีกครั้ง ครั้นออกพรรษาแล้วก็เที่ยววิเวกต่อไป เพราะนิสัยของท่านไม่ชอบอยู่กับที่
    ผจญผึ้งรังใหญ่
    ในปี พ.ศ.๒๔๘๘ ซึ่งเป็นปีที่เกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ ตอนนั้นท่านจำพรรษาที่วัดบูรพาราม จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งปีนั้นท่านอยู่กับหลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล และหมู่คณะอีกหลายรูปด้วยกัน ท่านเล่าว่า ออกพรรษาแล้ว วันหนึ่งหลวงปู่เสาร์ได้พาลูกศิษย์ไปเที่ยวธุดงค์ที่อำเภอโขงเจียมและนครจำปาศักดิ์ ขณะเที่ยวธุดงค์อยู่นั้นหลวงปู่เสาร์เกิดไม่สบาย ลูกศิษย์ที่เข้ามาปฏิบัติท่านตอน ๔ โมงเย็นได้นิมนต์หลวงปู่ไปสรงน้ำ แต่หลวงปู่เดินไม่ได้เพราะท่านป่วย ลูกศิษย์จึงหาเตียงมาหามท่านไป เพราะหนองน้ำอยู่ไกลมาก พอไปถึงก็วางเตียงลงไว้ใต้ต้นยางต้นหนึ่ง และหมู่คณะสงฆ์ก็พากันไปตักน้ำมาสรงท่าน พอเดินกลับมาใกล้จะถึงตัวท่าน ขณะนั้น ก็มีอีแร้งตัวหนึ่งบินมาที่ต้นยาง ชนเอารังผึ้ง รังใหญ่ประมาณ ๒ วา ซึ่งอยู่บนต้นยางนั้นตกลงมาใส่หลวงปู่พอดี พวกลูกศิษย์เห็นดังนั้น จึงพากันวิ่งมาหามเตียงที่ท่านนอนอยู่ไปที่อื่น ลูกศิษย์อีกพวกหนึ่งก็หลอกล่อไล่ผึ้งไปทางอื่น จากนั้นก็ช่วยกันปฐมพยาบาลหลวงปู่ ลูกศิษย์ถามหลวงปู่ว่า เจ็บมากไหมครับกระผม หลวงปู่ตอบว่า มันต้องเจ็บสิ ผึ้งตั้งรัง ระบมไปหมดทั้งตัวเลย ตอนนั้น หลวงปู่บุญกล่าวว่าสงสารท่านหลวงปู่เสาร์จริงๆ ตัวท่านก็ไม่สบายอยู่แล้ว ยังมาถูกผึ้งต่อยอีก ถ้าพวกลูกศิษย์ไม่พาท่านไป ก็คงจะไม่เป็นอย่างนี้แน่ หลวงปู่เสาร์เลยพูดถึงเรื่องวินัยว่า “พวกคุณไม่มีสติเลยนะ เป็นอะไรจึงพากันวิ่ง มันผิดวินัย รู้ไหม” พวกลูกศิษย์จึงคิดได้ว่า พวกเรานี้ไม่มีสติกันจริงๆ
    เมื่อหลวงปู่เสาร์หายดีแล้ว ท่านก็พาลูกศิษย์มาอยู่ที่วัดดอนธาตุ ซึ่งตั้งอยู่ริมลำน้ำชี การไปมาต้องใช้เรือเป็นพาหนะ หลวงปู่เสาร์กล่าวว่า ที่วัดดอนธาตุนี้ การภาวนาดีมาก ถ้าใครเข้ามาอยู่แล้วแต่ไม่ภาวนาเดี๋ยวจะได้เห็นดีกับเจ้าของเขา ซึ่งท่านหมายถึงเจ้าที่ในวัดดอนธาตุนั้น อีกทั้งกับได้อยู่ใกล้หลวงปู่เสาร์ด้วยแล้ว ทำให้การเจริญเมตตาภาวนาดีมาก ไม่มีคำว่าถอยหลัง พอออกจากวัดดอนธาตุ แล้วก็กลับมาอยู่ที่วัดบูรพาราม จังหวัดอุบลราชธานีอีกครั้ง
    ผจญระเบิดสงคราม
    ย้อนมาที่วัดบูรพาราม สมัยที่เกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ ระยะนั้นท่านหลวงปู่บุญเป็นพระหนุ่ม จะไปเที่ยววิเวกที่ไหนไม่ได้เลย ในระหว่างพรรษานั้น ท่านก็อยู่ที่วัดบูรพาราม บางวันทหารประเทศอื่นมาทิ้งระเบิดในบ้านเมือง ทำความเสียหายให้บ้านเมืองและทำให้ประชาชนเดือดร้อน ข้าวปลาอาหารก็แพง น่าสงสารผู้คนจริงๆ บางวันเครื่องบินมาทิ้งระเบิดในวัด พอท่านได้ยินเสียงระเบิดเท่านั้น ท่านก็เข้าไปอยู่ในอุโบสถ รีบเร่งทำความเพียร เพราะความตายกำลังจะเข้ามาถึงตัว หลวงปู่เสาร์พูดว่า ถ้าใครไม่อยากตายให้รีบเร่งภาวนาเข้าไว้ มันก็เป็นความจริงตามที่หลวงปู่เสาร์พูด เพราะตอนภาวนาอยู่ในอุโบสถนั้น เครื่องบินทิ้งระเบิดลงในวัด แต่ลูกระเบิดไม่ถูกกุฏิวิหาร แม้แต่อุโบสถก็ไม่ถูกระเบิด น่าอัศจรรย์จริงๆ หลวงปู่เสาร์พูดว่า เพราะบารมีของครูบาอาจารย์คุ้มครองแท้ๆ ส่วนบ้านของประชาชนนั้นพังพินาศหมด ต้องเตรียมเนื้อเตรียมตัวอยู่เสมอ ถ้าได้ยินเสียงระเบิดดังขึ้นต้องวิ่งไปหลุมหลบภัย บางคนกินข้าวยังไม่ทันอิ่มก็มี ถ้าค่ำมาต้องดับไฟหมด เพราะศัตรูจะแลเห็น ทำให้ประชาชนต้องทนทุกข์อยู่กับเสียงระเบิดเป็นเวลานาน
    เรื่องราวประวัติความเป็นมาของท่านหลวงปู่บุญ ชินวํโส ยังมีอีกมากมาย ที่ท่านได้เล่าให้ข้าพเจ้าผู้เรียบเรียง พร้อมกับอัดเทปไว้ ได้คัดมาเฉพาะที่เห็นว่าสมควรจะนำมาเรียบเรียงให้ท่านผู้อ่านทั้งหลายได้รู้จักในปฏิปทาของหลวงปู่ ยังมีข้อมูลของหลวงปู่อีกมาก แต่ผู้เรียบเรียงยังไม่กล้านำมาลงเพราะกลัวจะไม่ถูกต้อง จึงต้องรอถามครูบาอาจารย์ผู้อาวุโสมากก่อน แล้วจึงจะนำมาลงเพิ่มเติมในภายภาคหน้าต่อไป ดังนั้น ผู้เรียบเรียงจึงขอยุติการนำประวัติของหลวงปู่บุญ ชินวํโส มาเผยแผ่ไว้แต่เพียงเท่านี้
    คนเราจะดีจะชั่วก็อยู่ที่ใจ
    คนเราจะดีจะชั่วก็เนื่องมาจากจิตหรือใจตัวเดียวเท่านั้น ความจริงแล้ว จิตหรือใจจะเป็นตัวรับรู้สิ่งภายนอกทั้งหมด ไม่ว่าจะผ่านมาทางอายตนะใด จะเป็น ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ หรือเข้าสู่ใจ (โดยความนึกคิด) โดยตรง จิตใจจะทำหน้าที่เป็นผู้รับรู้ทั้งสิ้น โดยเหตุที่ จิตรับรู้อารมณ์ได้หลายทางนี้เอง ถ้าจิตไม่ได้รับการอบรมหรือการฝึกฝนมาดีพอ เมื่อมากระทบเข้ากับอารมณ์ที่ผ่านมาทางตาบ้าง ทางหูบ้าง จิตก็ย่อมแส่ส่าย ฟุ้งซ่านไปตามอารมณ์ที่เข้ามากระทบ จึงไม่สามารถทำให้จิตรวมเป็นหนึ่งเดียวได้ เรียกว่า จิตไม่มีอารมณ์เป็นหนึ่งเดียว ซึ่งหมายความว่า จิตไม่เป็นสมาธินั่นเอง เช่น ตามองไปที่โต๊ะที่มีสิ่งของวางอยู่หลายอย่าง โดยไม่มุ่งหมายเจาะจงดูของสิ่งใด ก็จะไม่รู้ว่ามีของอะไรอยู่บนโต๊ะบ้าง แต่ถ้าเราจ้องมองดูไปที่ของสิ่งหนึ่งบนโต๊ะนั้น แล้วพินิจพิจารณาของสิ่งนั้นเพียงสิ่งเดียว ในกรณีเช่นนี้ เราจะมีใจจดจ่ออยู่ที่สิ่งนั้น จึงเรียกว่า เรามีสิ่งนั้นเป็นอารมณ์เพียงสิ่งเดียว ตามปรกติแล้ว คนเราจะมีสมาธิอยู่ได้ไม่นาน จิตมักจะซัดส่ายไปตามอารมณ์ต่างๆ อยู่ตลอดเวลา น้อยคนนักที่จะมีสมาธิอยู่ได้นาน และบุคคลที่มีสมาธิเหล่านั้นก็จะเป็นผู้ที่สามารถเรียนรู้ได้สูงๆ และมีปัญญาเหนือกว่าคนอื่น ซึ่งอันนี้ก็เป็นผลดีของสมาธิอย่างหนึ่งที่สำคัญยิ่ง อย่างไรก็ตาม คนที่มีสมาธิดีก็ไม่ได้หมายความว่าจะมีสมาธิอยู่อย่างนั้นตลอดเวลา แต่หมายถึงว่า เขาสามารถตั้งสมาธิได้ลึกและนานกว่าคนอื่นเท่านั้นเอง สมาธิที่เกิดขึ้นจากความตั้งใจจดจ่อให้เกิดขึ้นเพื่อขบคิดพิจารณาสิ่งใดนั้น ท่านเรียกว่า ขณิกสมาธิ หมายถึง สมาธิที่เกิดขึ้นเป็นครั้งเป็นคราว หรือเป็นขณะๆ ไปตามแต่จะต้องการใช้ประโยชน์ คนที่มีสมาธิดีก็คือ คนที่สามารถทำให้เวลาของการมีสมาธิอยู่ได้นานกว่า คนที่มีสมาธิไม่ดี ก็เท่านั้นเอง ระวังจะหลงติดสมาธิ การทำสมาธิให้เกิดขึ้นมาในจิตใจนี้มีมาแต่ก่อนครั้งพุทธกาลโน้นแล้ว และเป็นเรื่องของการทำให้จิตมนุษย์มีประสิทธิภาพสูงขึ้น แต่เนื่องจากสมาธิในระดับสูงที่ได้ฝึกให้เกิดขึ้น ทำให้ผู้ฝึกมีความสุขและความสงบของจิตใจเป็นอันมากด้วย จึงมีผู้เข้าใจกันว่าเป็นจุดสุดยอดของการปฏิบัติทางจิตของมนุษย์ แล้วก็หลงติดอยู่กับสมาธิเหล่านั้น ดังเช่น อุทกดาบสและอาฬารดาบส ผู้เป็นครูของพระพุทธเจ้าก่อนที่ท่านจะตรัสรู้ ก็เป็นที่เข้าใจผิดเช่นนั้น เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะได้เสด็จไปทรงศึกษาด้วย จนบรรลุฌานสมาบัติขั้นสูงแล้ว ก็ทรงทราบว่านั่นไม่ใช่จุดสุดยอดอย่างแท้จริง เพราะไม่ใช่เป็นการระงับดับทุกข์ได้อย่างเด็ดขาดเป็นการถาวรนั่นเอง ดังนั้น เจ้าชายสิทธัตถะจึงได้เสด็จไปทรงค้นคว้าต่อด้วยพระองค์เองจนได้ตรัสรู้มรรค ซึ่งเป็นวิธีปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ได้อย่างเด็ดขาดถาวร ในมรรคนี้เอง มีอยู่ ๓ ข้อที่เป็นเรื่องการฝึกสมาธิให้เกิดขึ้น รวมเรียกว่า สมาธิขันธ์ ได้แก่ สัมมาวายามะ สัมมาสติ และสัมมาสมาธิ นี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าที่พระองค์ทรงบัญญัติขึ้น เพื่อชี้ให้เห็นว่า สมาธิที่พระองค์ทรงนำมาใช้ประโยชน์ในการระงับทุกข์นั้น ไม่ใช่สมาธิธรรมดาสามัญตามที่เข้าใจกัน หากแต่เป็นสมาธิที่มีลักษณะพิเศษ ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสแก่พระภิกษุทั้งหลายว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็สมาธิของพระอริยะอันมีเหตุประกอบ คือ สัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ เป็นไฉน ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ที่จิตเป็นอารมณ์เป็นหนึ่ง ประกอบด้วยองค์ ๗ เหล่านี้ เรียกว่า สัมมาสมาธิ
    สัมมาสมาธิเป็นไฉน
    ภิกษุในวินัยนี้ สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม บรรลุปฐมฌาน มีวิตก วิจาร มีปีติ และสุขแต่วิเวกอยู่ เธอบรรลุทุติยฌาน มีความผ่องใสแห่งจิตใจภายในเป็นธรรมเอกผุดขึ้น เพราะวิตก วิจาร สงบไป ไม่มีวิตก วิจาร มีปีติ และสุขเกิดแต่สมาธิอยู่ เธอมีอุเบกขา มีสติ มีสัมปชัญญะ เสวยสุขด้วยกาย เพราะปีติสิ้นไป บรรลุตติยฌานที่พระอริยเจ้าทั้งหลายสรรเสริญว่า ผู้ได้ฌานนี้เป็นผู้มีอุเบกขา มีสติอยู่เป็นสุข เธอบรรลุจตุตถฌาน ไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข เพราะละสุข ละทุกข์ และดับโสมนัส โทมนัสก่อนๆ ได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่ อันนี้เรียกว่า สัมมาสมาธิ ดังนี้”
    จิตคล้ายกับน้ำ
    จิตที่สะอาดก็เหมือนกับน้ำที่สะอาด จะใช้ทำอะไรก็ได้ จะดื่มจะกินก็ได้ จะนำไปรดต้นไม้ก็ได้ ถ้าน้ำไม่สะอาด เช่น น้ำทะเล จะเอามาดื่มกินก็ไม่ได้ จะนำเอามารดต้นไม้ก็คงไม่ได้อีก เพราะมันเค็ม มันไม่สะอาด จิตของเราก็เช่นเดียวกัน ถ้ามันไม่สะอาด คือมีกิเลสเป็นเครื่องเจือปน ทำให้น้ำจิตของเราเป็นไปตามอำนาจของกิเลสแล้ว จะไปใช้ให้เกิดประโยชน์อะไรก็ไม่ได้ ด้วยเหตุนี้ เราจึงควรหาทางชำระให้ผ่องใส ด้วยการให้ทานรักษาศีล และเจริญภาวนา การภาวนานั้น เป็นการควบคุมไม่ให้จิตของเราไหลไปตามอารมณ์ เหมือนกับสำลีหรือนุ่นที่มันเป็นของเบาก็ต้องมีอะไรคอยรักษาไว้ มิฉะนั้นก็จะลอยไปตามลม จิตของเราก็เหมือนกัน เราต้องควบคุมด้วยการภาวนา ตรวจค้นจิตของเรา โดยการน้อมเข้ามาในตน ทบทวนเข้าหาจิตของเราแล้วตรวจค้นอยู่เสมอ ให้รู้ผิดรู้ถูก รู้ดีรู้ชั่วของจิต ต้องค้นต้องคิดในสิ่งที่ผิด ในสิ่งที่หลง ในสิ่งที่เมา ในเมื่อมันเมาในรูปร่างกายของตนก็ให้เห็นตามความเป็นจริง เมื่อจิตผ่องใสแล้ว เราก็มองเห็นดี มองเห็นชั่ว มองเห็นบาปบุญคุณโทษ และสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ได้ชัดเจน ถ้ากิเลสของเราไม่เบาบางลงไป จิตใจของเราก็ไม่ผ่องใส ก็เท่ากับว่าจิตของเรามันมืด ท่านจึงเรียกว่าจิตมันมืด จิตมันบอด เพราะไม่สามารถจะมองเห็นความเป็นจริงได้ ด้วยเหตุนี้ สมควรที่เราจะต้องชำระจิตของเราให้สะอาดผ่องใสอยู่เสมอ เมื่อใจผ่องใสแล้วจะฟังธรรมหรือพิจารณาธรรมข้อใดก็ย่อมได้เหตุผลกระจ่างชัด ผิดกับเวลาที่ใจเศร้าหมอง จะฟังธรรมหรือจะพิจารณาธรรมข้อใดก็เข้าใจได้ไม่ชัดหรือไม่ลึกซึ้ง
    นิสัยที่ไม่ดีของคนเราจะยังมีอยู่ ถ้าทิฐิ การถือตัวยังมีอยู่ในตัวเรา
    ฉะนั้น การกำจัดทิฐิให้หมดไปได้ เราจะต้องชำระจิตใจของเราให้บริสุทธิ์ ให้สะอาดผ่องใสขึ้นมาเสียก่อน เมื่อจิตของเราบริสุทธิ์ผ่องใสแล้ว ก็ย่อมจะรู้ความจริงของโลกได้อย่างแจ่มชัด จนถึงขนาดปล่อยวางความยึดถือได้ในที่สุด
    การที่พระพุทธเจ้าได้ชื่อว่าเป็นผู้รู้แจ้งโลก ก็เพราะทรงรู้อย่างนั้นเอง รู้แล้วละได้จนกลายเป็นผู้อยู่เหนือโลกได้ในที่สุด เราไม่รู้โลก มีแต่หลงโลก เพราะจิตใจของเรายังไม่หยั่งรู้ ยังไม่ลืมตา ยังหลับอยู่ในกิเลสนั่นเอง การปฏิบัติธรรมจึงเป็นการทำให้จิตใจของเราตื่นจากการหลับด้วยอำนาจกิเลส ผู้ที่ตื่นจากกิเลสนิทราแล้ว ได้ชื่อว่า พุทโธ คือ รู้อยู่ รู้สึกอยู่ คนเราต้องรู้สึกตัว ถ้าไม่รู้สึกตัว ไม่ระแวดระวังตัวเอาไว้บ้าง ความเสียหายก็อาจจะเกิดขึ้นได้ เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงทรงสอนให้ตั้งอยู่ในความไม่ประมาท โดยทำความรู้ตัวอยู่เสมอทุกขณะ และให้มีความคิดระแวดระวังตัวของเราอยู่ทุกวิถีทาง แล้วเราก็จะเป็นไปเพื่อความเจริญได้ นี่แหละความจริงที่ควรแสวงหาอย่างยิ่ง ก็คือธรรมะของพระพุทธเจ้านี่เอง
    อะไรเป็นธรรม
    ถ้าว่าธรรมนั้น อะไรเป็นธรรม สิ่งที่ดีก็กล่าวว่าเป็นธรรม สิ่งที่ชั่วก็กล่าวว่าธรรม สิ่งที่ไม่ดีไม่ชั่วก็กล่าวว่าธรรม ดังบาลีว่า กุศลาธมฺมา อกุศลาธมฺมา อพฺยากตาธมฺมา ดังนี้ อะไรเป็นธรรม ในธรรมรัตน์แก้ว่า ความจริงแต่ไม่ดี ก็ไม่เป็นธรรม ความไม่จริงนี้ก็ไม่เป็นธรรม ความเห็นว่าผลของบุญและบาปไม่มี อธิโลกก็ไม่มี ดังนี้เป็นต้น ชื่อว่าความไม่ดีไม่จริง ความว่า พระอาทิตย์เป็นของส่องโลก ให้ความสว่าง ดิน น้ำ ลม ไฟ เป็นที่อาศัยของสัตว์ และการกราบไหว้บูชา ของเหล่านั้น ชื่อว่าความจริงไม่ดี
    แต่การปฏิบัติของพวกคนบางพวกนั้น เมื่อเวลาราคะ โทสะ โมหะ เกิดขึ้นในจิต ก็เห็นว่าราคะ โทสะ โมหะ เป็นของไม่ดี เป็นกิเลส แล้วชำระจิตของตนให้หลุดพ้นจาก ราคะ โทสะ โมหะ จิตก็สบาย เบากาย เบาจิตเพราะจิตเราอยู่เหนือราคะ เหนือจากโทสะ และเหนือจากโมหะ
    พูดถึงเรื่องกิเลส มันก็อยู่ในจิตใจของเรานี้เอง เหตุฉะนั้น จงทำจิตใจของตนให้รู้เท่าทันต่อกิเลส ไม่ได้หมายเอาภายนอก คือกิเลสภายในจิต อยู่ที่จิตของเรานี้แหละ เราพึงชำระจิตให้สะอาดปราศจากความมัวหมองของใจ จึงจะได้รับความสุขกายสุขใจ สมกับที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า กณฺห ธมฺม วิปฺปหาย เราควรละธรรมอันดำเสีย สุกฺก ภาเวถ ปณฺฑิโต ผู้ประพฤติแต่ธรรมอันขาวจึงสมควรได้ชื่อว่าเป็นบัณฑิตและนักปราชญ์ ผู้ประพฤติธรรมนำตนของตนให้พ้นทุกข์ได้ สมกับที่ว่า วิริเย ทุกฺขมจฺเจติ ผู้ไม่ละความเพียร นำสุขมาให้ บุคคลใดเกียจคร้าน มีแต่นำความทุกข์มาใส่ตนถ่ายเดียว ด้วยเหตุนี้ เราควรละกิเลสออกจากดวงใจของแต่ละคน อย่าพากันว่ากิเลสเป็นของดี ที่จริงกิเลสเป็นของเศร้าหมอง ฉะนั้น ให้รู้เท่าทันกิเลสเสีย อย่าเข้าใจผิด บางคนเข้าใจว่ากิเลสมีอยู่ที่ตา หู จมูก ลิ้น มือ เท้า พากันเข้าใจผิดอย่างนี้ ผลที่สุดเข้าใจว่า รูปตรงข้ามกันเป็นกิเลส ความเห็นอย่างนี้เป็นการเห็นผิดของบุคคลผู้นั้นต่างหาก ความจริงแล้วกิเลสมันนั่งอยู่ในใจของตนเท่านั้น เหตุฉะนั้น ควรชำระจิตของตนดีกว่าใส่โทษบุคคลอื่น ใส่โทษตนดีกว่าใส่โทษผู้อื่น ถ้าตนดี บุคคลอื่นก็ดีไปด้วย กิเลสก็ไม่มี ตัวเราก็สบายทั้งกายทั้งใจ อย่าพากันประมาทนะ ความตายใกล้เข้ามาทุกขณะๆ ให้รีบทำความดีเสียก่อนตาย ครูบาอาจารย์ก็ได้แต่บอกให้เท่านั้นนะ ทำให้ไม่ได้ ให้พากันทำความเพียร อย่าเก่งแต่คุย ต้องทำด้วย เห็นไหมครูบาอาจารย์พากันทำมา ถ้าอยากไปสวรรค์ อยากไปนิพพาน ให้ลงมือปฏิบัติกันเดี๋ยวนี้
    เอาละ ทีนี้ลงมือลงไม้ปฏิบัติได้แล้ว และในที่สุดนี้ ขอให้มีอายุ วรรณะ สุขะ พละ
    ทางวัดสันติธรรมได้รับมาจากสามเณร วัดป่าศรีสว่างแดนดิน ครั้งแรกที่ได้รับมารู้สึกสงสัยว่าจะเป็นพระธาตุจริงหรือเปล่า เพราะมีลักษณะคล้ายพลอยมาก ต่อมาอีกหลายปีจึงอัญเชิญพระธาุตุองค์นี้ ไปให้หลวงพ่อประสิทธิ์ ปุญฺญมากโร วัดป่าหมู่ใหม่ จ.เชียงใหม่ พิจารณา ท่านจึงรับรองว่าเป็นพระธาตุของหลวงปู่บุญจริงๆ ให้รักษาไว้ให้ดี

[ ราคา ] ฿800
[ สถานะ ] มาใหม่
[ติดต่อเจ้าของร้านเจ้าพระยาพระเครื่อง] เบอร์โทรศัพท์ : 081-6414009,029243140 ( อ้น ระโนด ) line ID weerapong07
 


วัตถุมงคล: พระเครื่องเกจิอาจารย์ภาคอีสาน
เหรียญอาจาริยบูชา ปี 2535 หลวงพ่อคูณปลุกเสก เนื้อทองแดงรมน้ำตาล
เหรียญพระราชพิศาลสุธี ปี18 มีโค๊ด เนื้อทองแดงรมดำ
เหรียญรุ่นแรกหลวงปู่กินรี วัดกัณตะศิลาวาส  เนื้อทองแดงผิวไฟปี 2519
พระสมเด็จปริสุทโธ รุ่นพิทักษ์ชายแดน หลวงพ่อคูณ วัดบ้านไร่ ปี ๒๕๓๕
เหรียญหลวงพ่อเสือ พระครูสุนทรธรรมาภิรักษ์ วัดตาก๋อง รุ่นสมโภชพัดยศ
พระสมเด็จ หลังตรากระทรวงมหาดไทย หลวงพ่อคูณ วัดบ้านไร่
เหรียญรุ่น1 หลวงพ่อสุนทร วัดป่าสุนทรวนาราม ต.ศิลา อ.เมือง จ.ขอนแก่น
เหรียญรุ่นแรก หลวงพ่อบุญมี โชติปาโล วัดสระประสานสุข พิมพ์ใหญ่
พระผงรูปเหมือน หลวงปู่ศรี มหาวีโร วัดป่ากุง รุ่นรับทรัพย์  ปี 2550 เนื้อแดงปัดทองทั้งองค์
พระสมเด็จวัดชัยสามหมอ รุ่นผูกพัทธสีมา จ.ชัยภูมิ
สมเด็จ สำนักสงฆ์ปุญญภาโค ชัยภูมิ รุ่น1 เนื้อผงใบลาน ปี ลึก
หลวงพ่อพระใส รุ่นแผ่บารมี ปี 58 พิมพ์ชัยวัฒน์เล็ก
พระผงซุ้มเรือนแก้ว หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโณ วัดป่าบ้านตาด ปี 53 เนื้อขาว
เหรียญพระครูโสภณปสุตคุณ วัดรัมณียาราม รุ่นแรก เนื้อทองแดง
เหรียญหลวงพ่อพุธ ฐานิโย วัดป่าสาลวัน ออกวัดวะภูแก้ว ปี 32 เนื้อทองแดง
เหรียญหลวงปู่นิล วัดครบุรี ปี 20 ตอกโค๊ด
เหรียญหลวงพ่อดี สำนักสงฆ์  ภัทธิโย ภิกขุ รุ่นพิเศษ ปี 20
สมเด็จนางพญางิ้วดำ วัดใหม่บ้านดอน รุ่นพิเศษเสาร์ 5 ปี 36
พระผงรูปเหมือนหลวงปู่เหรียญ วรลาโภ วัดอรัญญบรรพต ปี 2539 รุ่นถวายพระพร
เหรียญพุทธคยา หลวงปู่เมตตาหลวง วัดเทพพิทักษ์ปุณณาราม จ.นครราชสีมา ปี 2527
เหรียญหลวงพ่อสนธิ์ เขมปัญโญ วัดอรัญญานาโพธิ์ จ.นครพนม รุ่น 38  ปี 21
สมเด็จพระอาจารย์คำสิงห์ วัดป่าถ้ำหม้อ อ.เทพสถิต จ. ชัยภูมิ
พระนาคปรก ปี 2537 เนื้อผงพุทธคุณ
พระผงรูปเหมือนหลวงปู่หงษ์ หลังพระพิฆเนศ วัดเพชรบุรี พิมพ์เล็ก
เหรียญพระอาจารย์กัน วัดป่าโพธิไพศาล สกลนคร รุ่นแรก ปี 18 เนื้อทองแดง มีโค๊ด
เหรียญหลวงปู่ทา วัดสระพังทอง ศรีสะเกษ รุ่นแรก ปี 2529 เนื้อทองแดง
เหรียญหลวงพ่อผาง วัดอุดมคงคาคีรีเขต ปี 2519 เนื้อทองแดงผิวไฟ
เหรียญหลวงปู่ศรี วัดสโมสรประชาสามัคคี สกลนคร รุ่นบูชาครู ปี 21 กะหลั่ยทอง
เหรียญหลวงปู่เครื่อง วัดสระกำแพงใหญ่ ปี 2537 เนื้อทองแดงกะหลั่ยทอง
สมเด็จนาคปรกหลวงพ่อแพง วัดโพธิ์ร้อยต้น จ.ร้อยเอ็ด รุ่นสร้างอุโบสถ ปี 2538
เหรียญหลวงพ่อบุญเที่ยง วัดป่าพุทธทรงธรรม รุ่น ๑ ปี ๒๕๒๐ เนื้อทองแดง
เหรียญพระครูสังฆรักษ์ วัดอภิสิทธิ์ มหาสารคาม รุ่นแรก เนื้อทองแดง
เหรียญหลวงปู่บุญมา วัดแดนดงคางนาราม ชัยภูมิ รุ่น 2 ปี 37
พระผงรูปเหมือนพระครูมงคลวิริยคุณ วัดหนองสาหร่าย อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา
พระผงผสมชานหมากหลวงปู่หงษ์  วัดเพชรบุรี จังหวัดสุรินทร์ รุ่นแรก  ปี 2541
เหรียญพระครูศีลสุนทร ทตฺโต วัดบ้านโพนเมือง อุบลราชธานี 2521
เหรียญพระอาจารย์สนธิ์ เขมมิโย วัดอรัญญา นาโพธิ์ อ.ศรีสงคราม จ.นครพนม  รุ่น 3 ปี 2518
เหรียญเสมาหลวงปู่ฝั้น อาจาโร หลังอัฐบริขาร วัดป่าอุดมสมพร จ.สกลนคร ปี พ.ศ.2519 เนื้อทองแดงรมดำ
ปิดตาหลวงปู่เหรียญ วัดอรัญบรรพต รุ่นฉลองเจดีย์ หนองคาย ปี 39
เหรียญพระอาจารย์บุญ วัดป่าศรีสว่างแดนดิน สกลนคร  ปี 2518 รุ่น 2 เนื้อทองแดง
พระนาคปรก ปี 2537 เนื้อผงใบลาน
พระกริ่งประทายสมันต์ วัดหนองบัว จ.สุรินทร์ ปี 39
เหรียญหลวงพ่ออ่วม วัดไพรสน รุ่นแรก เนื้อทองแดง
เหรียญนั่งเต็มองค์หลวงพ่อคูณ วัดบ้านไร่ ปี 2537 เนื้อทองแดง
เหรียญพระครูพิสิษฐ์สังฆภาร วัดโนนระเวียง จ.นครราชสีมา ปี 26
สมเด็จนางพญางิ้วดำ วัดใหม่บ้านดอน ปี 20 ประทานพร รุ่นพิเศษ
เหรียญหลวงพ่อสนธิ์ วัดอรัญญานาโพธิ์ รุ่น 31 ปี 2521 เนื้อทองแดง ตอกโค๊ด
เหรียญหลวงปู่เพชร  วัดสิงห์ทอง ปี 20 เนื้อทองแดง
สมเด็จหลวงปู่ฤทธิ์ วัดชลประทานราชดำริ รุ่นพิเศษ ปี 44
เหรียญหลวงพ่อยาม วัดบูรพาปะอาวเหนือ จ.อุบลราชธานี รุ่นแรก ปี 25
เหรียญหลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ วัดบ้านไร่ ปี 43 เนื้อชุบนิเกิ้ล
เหรียญ 3 พระอาจารย์ รุ่นแรก วัดประชานิมิตร จ เลย ปี 20
เหรียญหลวงพ่อสิงห์ทอง วัดสระมะค่า ปี 2523 เนื้อทองแดงรมดำ
เหรียญหลวงพ่อจอย วัดโนนไทย รุ่น คู่บารมีเสาร์ 5 ปี 37 เนื้อทองแดงรมดำ ตอกโค๊ด นะ
สมเด็จเนื้อผงผสมอิฐพระธาตุ วัดพระธาตุพนม ปี 19 เนื้อขาวอมเหลือง
พระผงหมือนรูปหลวงปู่เวิน วัดน้ำวิ่ง งานผูกพีทธสีมา 35
สมเด็จเนื้อผงผสมอิฐพระธาตุ วัดพระธาตุพนม ปี 19 เนื้อเหลือง หนานิยม
เหรียญพระครูวิมลสีลาภรณ์ (เนย สมจิตฺโต) วัดโนนแสนคำ ๖๔ ปี 44
เหรียญหลวงปู่กาฬสิน จ.กาฬสินธุ์ ปี 2524 เนื้อทองแดงรมดำ
เหรียญเจ้าคุณพระคัมภีรฺฺ์ธรรมาจารย์ วัดสว่างอารมย์ ร้อยเอ็ด ปี 20
เหรียญหลวงปู่แว่น ธนปาโล ออกวัดป่าสุทธาวาส จ.สกลนคร ปี 2519 เนื้อทองแดง
เหรียญหลวงปู่นาคปรก วัดป่าหนองนาโพ ปี 38 ร้อยเอ็ด
พระผงสมเด็จหลวงปู่คิ้น ปัญญาวโร
พระรูปเหมือนหลวงปู่เหรียญ วรลาโภ วัดอรัญญบรรพต ปี 2539 รุ่นประทาน พิมพ์สี่เหลี่ยม
พระผงรูปเหมือนห้าเหลี่ยม หลวงพ่อบุญมี โชติปาโล วัดสระประสานสุข
เหรียญหลวงพ่อผาง วัดอุดมคงคาคีรีเขต รุ่นมุงหลังคาอุโบสถ วัดราษฎร์เจริญ ปี ๒๐ เนื้อทองแดงรมดำ
เหรียญพระครูวินัยธรธีร์ วัดสว่างอารมณ์ ปี 2524 เนื้อกะหลั่ยทอง
พระอาจารย์วัน วัดถ้ำอภัยดำรงธรรม รุ่น 3 ปี 16 บล็อคหนังสือเล็ก นิยม เนื้อทองแดง
พระนางพญางิ้วดำ วัดใหม่บ้านดอน ปี 21 พิมพ์ใหญ่ เสด็จเททอง
เหรียญหลวงพ่อเขียน วัดศิริมงคล ปี 37
สมเด็จหลวงปู่ศรี วัดหลวงสุมังคลาราม ศรีสะเกษ
พระผงหลวงปู่สัมมา ออกวัดสุทธาวาส มหาสารคาม
พระสมเด็จพระครูกันตสีลากร วัดประชาสังคม สุรินทร์ เนื้อผงใบลาน
เหรียญหลวงพ่อทอง วัดอีสาน ปี 2519 เนื้องกะหลั่ยทอง
เหรียญพระปทุมญาณมุนี ออก วัดบึง  ปี 2529
เหรียญหลวงปู่ขาว หลังพระสยามเทวาธิราช วัดถ้ำกลองเพล ปี ๒๕๒๐ เนื้อทองแดง
เหรียญหลวงปู่ผาง วัดอุดมคงคาคีรีเขต รุ่นสหชาติ ปี 2521 เนื้อทองแดง
เหรียญอาจารย์ขันตี วัดนาพิมาน จ.อุบลราชธานี รุ่น ๑ เนื้อทองแดง
เหรียญหลวงปู่เม้า วัดศรีมงคล จ.อุดรธานี รุ่นแรก ปี 2521 เนื้อทองแดง
เหรียญหลวงปู่พรหมมา สวนหินผานางคอย อุบลราชธานี ปี 40
เหรียญหลวงปู่บุญมี วัดศรีสงคราม  ปี 37 รุ่นแรก เนื้อทองแดง
เหรียญหลวงปู่ศรีจันทร์ วัณณาโภ วัดเลยหลง รุ่นพิเศษ เนื้อทองแดง ปี 22
เหรียญหลวงพ่อผาง  วัดศรีษะเกษ จ.หนองคาย ปี 18 กะไหล่ทอง
เหรียญหลวงปู่สาย วัดป่าจันทร์นิมิตรสามัคคี รุ่น 1 ปี 2523 เนื้อทองแดง
เหรียญพระครูเกษตรโสมคุณ วัดกลาง รุ่นแรก ปี 2513 เนื้อทองแดง
เหรียญพระครูพุทธิ วัดชัยชนะวิหาร อ.จัตุรัส จ.ชัยภูมิ 2531
เหรียญหลวงพ่อคูณ รุ่นสหกรณ์ออมทรัพย์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ปี 38 เนื้อกะไหล่ทอง
เหรียญหลวงพ่อคูณ วัดบ้านไร่ ออกวัดท่ากระทุ่ม ปี 2524 เนื้อทองแดง
พระสมเด็จปรกโพธิ์ วัดบูรพาราม  รุ่นแรก
เหรียญหลวงปู่สาย เขมธัมโม วัดป่าพรหมวิหาร อ.โนนสัง จ.หนองบัวลำภู ปี 49
เหรียญพระครูอนุรักษ์ชลาสัย วัดหนองบัว บุรีรัมย์ ปี 23 เนื้อทองแดง
เหรียญพระครูปลัดคูณ วัดป่าบ้านเมืองน้อย ปี 43 เนื้อทองแดงรมดำ
เหรียญหลวงตาซาดี  วัดโพธิ์ชัย รุ่นแรก ปี 48 เนื้อทองแดงผิวไฟ
เหรียญพระอธิการบุญ จันทโก วัดศิริมงคล เนื้ออัลปาก้า ชุบนิเกิ้ล
เหรียญพระอาจารย์บุญเหลี่ยม วัดป่าแสนสุข มุกดาหาร รุ่นแรก
เหรียญหลวงพ่ออำนวย วัดโคกปราสาท รุ่นแรก ปี 43 เนื้อทองแดงรมดำ
เหรียญหลวงพ่อสมาน สุเมโธ วัดป่าแสงอรุณ ขอนแก่น ปี 51 เนื้อกะหลั่ยทอง
เหรียญหลวงปู่สมภาร วัดป่าวิเวกพัฒนาราม ปี 2560 เนื้อทองแดง มีโค๊ด
เหรียญพระครูกิติธรรมวิมล วัดท่าลาด ปี 35 เนื้อกะหลั่ยทอง
เหรียญพระธาตุวัดกู่จานหลังพระพิพิธธรรมโสภน รุ่นแรก เนื้อทองแดง
เหรียญหลวงปู่มหาโส กสสฺโป วัดป่าคีรีวัน จ.ขอนแก่น รุ่น 2 ปี 2520
เหรียญพระครูสิริพัชราภรณ์ วัดทุ่งมนศิริพลเมือง อ.เจริญศิลป์ จ.สกลนคร ปี 2540 เนื้อทองเหลือง
เหรียญหลวงปู่นิล วัดครบุรี ปี 2521 เนื้อทองแดง
เหรียญหลวงพ่อบุญ วัดสะเดา จ.บุรีรัมย์ ปี 2529 เนื้อทองแดง
เหรียญหลวงพ่อคำคนึง วัดถ้ำคูหาสวรรค์ หลังอัฐบริบาล ปี 2537 เนื้อทองแดง
เหรียญหลวงพ่อผาง ออกวัดขวัญเมือง จ.กาฬสินธุ์ ปี 2521 เนื้อทองแดง
เหรียญหลวงปู่เครื่อง สุภัทโท วัดสระกำแพงใหญ่ ปี 2541 เนื้อทองแดงรมดำ
เหรียญ หลวงพ่อบุญเคน วัดสำโรงยุทธาวาส จ.อุดรธานี ปี 2519
เหรียญหลวงปู่ประเทือง วัดป่าตาดฟ้า  รุ่นแรก  ปี 2541 เนื้อทองแดง
เหรียญพระองค์แสน วัดพระธาตุเรณู จ.นครพนม ปี 2524 เนื้อทองแดง
พระผงพระประธาน วัดป่าโคกเกลา ปี 2538 เนื้อว่านยา
เหรียญหลวงพ่อถวิล สุจิณฺโณ รุ่นสัจจะบารมี ปี 2540 เนื้อทองแดงรมดำ
เหรียญหลวงพ่อทองแดง วัดบ้านกระเบา ปี 23  เนื้อทองแดง
เหรียญหลวงพ่อตู้ วัดศรีษะช้าง ปี 2522 เนื้อทองแดง นครราชสีมา
เหรียญเสมาหลวงพ่อเปลี่ยน อินทโชโต วัดบึง ปี ๒๕๑๗ เนื้อทองแดงกะไหล่ทอง
เหรียญหลวงพ่อพุธ วัดป่าชินรังษี เนื้อทองแดงรมดำ
อาจารย์พรรณ วัดศรีโนนสูง
เหรียญหลวงปู่เฉย วัดศรีสันตยาราม จ.เลย รุ่นพิเศษ ปี 19 เนื้อทองแดง ตอกโค๊ด
เหรียญหลวงปู่คง วัดเฝือแฝง อ.ภูเขียว จ.ชัยภูมิ ปี 50 อายุครบ 75
เหรียญหลวงพ่อสนธิ์ เขมปัญโญ วัดอรัญญานาโพธิ์ จ.นครพนม รุ่น 30 ปี 2520
เหรียญหลวงปู่โทน กันตสีโล วัดบูรพา รุ่นอีสานเขียว เนื้อทองแดง
เหรียญเหลวงปู่บัว วัดศรีมงคล อ.หล่มสัก จ.เพชรบูรณ์ เนื้อทองแดงผิวไฟ
เหรียญหลวงปู่จิรโส จกกฺธัมโม วัดสระบัวโพนสิม กาฬสินธุ์ รุ่นแรก
เหรียญหลวงปู่คำพันธ์ โฆษปัญโญ วัดธาตุมหาชัย ร่วมสร้าง ปี 35 เนื้อทองแดงผิวไฟ
เหรียญหลวงพ่อบุญ วัดศรีโนนสัง จ.อุดรธานี รุ่นแรก ปี 18 เนื้อทองแดง
พระผงรูปเหมือน หลวงปู่ชอบ ฐานสโม วัดป่าสัมมานุสรณ์ จ.เลย รุ่นหน้าไฟ
พระผงรูปเหมือน หลวงปู่นิล วัดครบุรี รุ่นเสาร์ ๕ ปี 2537 เนื้อผงพุทธคุณ ฝังตะกรุด
พระผงรูปเหมือนหลวงปู่เนย สมจิตฺโต วัดป่าโนนแสนคำ ปี 54
เหรียญพระธาตุพนม หลังพระนาคปรก วัดพันทคีรี จ.นครพนม ปี 2541 เนื้อทองแดง
เหรียญหลวงพ่อศิริ ญาณวีโร สำนักสงฆ์ศิริธรรมภาวนา รุ่น แรก ปี 34 เนื้อทองแดง
เหรียญหลวงพ่อนิล วัดครบุรี รุ่นสร้าง รพ. ครบุรี ปี 37 เนื้อทองแดง
เหรียญพระธาตุพนม หลังแผนที่ประเทศไทย ปี พ.ศ. 2519 เนื้อทองแดง
เหรียญกลมใหญ่หลวงปู่มั่น ทัตโต วัดบ้านโนนเจริญ รุ่น พระไตรปิฎก อายุ ๑๐๒ ปี เนื้อทองแดง
เหรียญหลวงปู่คำพลอย วัดป่าโนนศิลาทองสามัคคี ปี 40 เนื้อทองเหลือง
พระสมเด็จ วัดธาตุคำ อ.ศรีเชียงใหม่ จ. หนองคาย
สมเด็จ หลังรัชกาลที่5 พระอาจารย์เจียม วัดเทพวิสุทธาราม กุดบาก สกลนคร
สมเด็จหลังเพิ่มบารมี เนื้อผงน้ำมัน
พระกสิณหลวงพ่อคูณ วัดบ้านไร ปี 2536 เนื้อผงใบลาน
เหรียญหลวงปู่คำดี ปัญโญภาโส วัดป่าสุทธาวาส สกลนคร ปี 2539 เนื้อกะไหล่ทอง
พระรูปเหมือนหลวงปู่ศรี มหาวีโร วัดป่ากุง จ.ร้อยเอ็ด เนื้อผง ปี 2551
เหรียญพระครูวินัยรสสุนทร วัดมิ่งเมือง อ.เสลภูมิ จ.ร้อยเอ็ด รุ่นแรก ปี 2519 เนื้อทองแดงรมดำ
เหรียญหลวงพ่อแสร์ วัดอรุโณทยาราม รุ่น ๑ ปี 2538 เนื้อทองแดง
เหรียญหลวงปู่หลี วัดประสิทธิ์ไพศาล อ.ชุมแพ จ.ขอนแก่น รุ่นแรก
เหรียญ หลวงปู่ดี ทีปโก  วัดสร้างแก้วใต้ จ.อุบลฯ รุ่นแรก เนื้อทองแดง
เหรียญหลวงพ่อคำมี วัดสามัคคีธรรม รุ่นพิเศษ ปี 18  เนื้อทองแดง
เหรียญรูปเหมือนหลวงปู่เหรียญ วรลาโภ วัดอรัญญบรรพต ปี 2539 รุ่นครบรอบ 84 ปี
พระผงรูปเหมือนพระครูอรรถกิจพิพัฒน์ วัดหมูสี อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา
พระสมเด็จหลวงพ่อดี วัดหนองจอก จ นครราชสีมา เสาร์ ๕ ปี ๓๖.
เหรียญพระครูนิมิตนวการ หลวงปู่กองสิงห์ อาภารโณ วัดสระพังทอง รุ่นแรก ปี ๒๕๓๔ เนื้อทองฝาบาตรกะไหล่ทอง
พระยอดธง คง คูณ ดี  รุ่นพิเศษ วัดกระโดน โคราช ปี 39
เหรียญหลวงปู่คำปัน วัดป่าโนนสวรรค์  รุ่นแรก เนื้อทองแดงรมดำ
พระรูปเหมือนหลวงปู่เหรียญ วรลาโภ วัดอรัญญบรรพต ปี 2539 รุ่นประทานพร
เหรียญนั่งพานหลวงพ่อพุธ ฐานิโย วัดป่าสาลวัน จ.นครราชสีมา ปี 2537 เนื้อทองแดง ตอกโค๊ด
เหรียญหลวงพ่อละ วัดแหลมรวก ครบรอบ 70 ปี เนื้อทองแดงรมดำ
สมเด็จหลวงปู่พรหมมา เขมจาโร หลังฤาษี สำนักวิปัสสนาสวนหินผานางคอย ปี 38
พระสมเด็จหลวงพ่อคูณ รุ่นคูณบารมี-กูให้ทำ ฝั่งตะกรุดเงิน 1 ดอก
เหรียญหลวงปู่เหรียญ วรลาโภ วัดอรัญญบรรพต ปี 2545 เนื้อทองแดงรมดำ
เหรียญพระครูโกศลอาวาสกิจ วัดบ้านโนนสูง ศรีสะเกษ รุ่นแรก ปี ๓๘ เนื้อกะหลั่ยทอง
เหรียญหลวงพ่อทา เขมจิตฺโต วัดพุทธาราม ปี ๒๕๑๘ เนื้อทองแดง
พระผงสมเด็จนางพญางิ้วดำ วัดใหม่บ้านดอน ปี พ.ศ.2517 พิมพ์เล็กยอดนิยม เลี่ยมเก่า
เหรียญพระธาตุอุโมงค์ ปี ๒๕๔๑ เนื้อกะไหล่ทอง หลวงปู่คำพันธ์ อธิษฐานจิต
เหรียญพระเจ้าองค์หลวง วัดศรีมงคลใต้ ปี 2530 เนื้อทองแดง สมโภชน์ ๒๒๐ ปี
เหรียญหลวงพ่อเพชร วัดโพธิ์ไทร จ.นครพนม รุ่นเสาร์ ๕ ปี 2523  เนื้อทองแดงรมดำ
เหรียญหลวงพ่อพิมย์จันโท วัดโพธิ์ทอง จ.นครราชสีมา รุ่นเสาร์ห้า ปี 2523 เนื้อทองแดงรมดำ
เหรียญหลวงพ่อเที่ยง วัดเลียบ รุ่นพิเศษ เนื้อทองแดง
เหรียญหลวงพ่อพระอินทร์แปลง วัดพระอินทร์แปลง รุ่น 1 พ.ศ.2521 เนื้อทองแดงรมดำ
เหรียญพระพุทธมงคลนิมิต วัดประชานิมิต จ.เลย ปี ๒๒ เนื้อทองแดง
เหรียญหลวงปู่โท วัดโพนธาราม จ.สกลนคร รุ่นแรก เนื้อทองแดงผิวไฟ
เหรียญหลวงปู่พรหม วัดเขื่อนอุบลรัตน์ เนื้อทองแดง
เหรียญหลวงปู่โส กัสสโป วัดป่าคำแคนเหนือ รุ่นมั่งมีศรีสุข ปี 36  เนื้อทองฝาบาตร
เหรียญหลวงปู่มา ญาณวโร สำนักสงฆ์สันติวิเวกบ้านโนนคำ ปี 2541 เนื้ออัลปาก้า
เหรียญพระครูพิพิธนิมานคุณ วัดตะดอบ จ.ศรีษะเกษ ปี 2522 เนื้ออัลปาก้า
เหรียญหลวงปู่เครื่อง วัดเทพสิงหาร รุ่นร่วมใจสู่ชายแดน ปี 20 เนื้อทองแดงรมดำ ตอกโค๊ด นิยม
เหรียญกลมลวงพ่อผาง วัดอุดมคงคาคีรีเขต จ.ขอนแก่น รุ่นฉลองศาลา ปี ๒๕๑๙ เนื้อทองฝาบาตรกะหลั่ยทอง สวยมาก
เหรียญหลวงพ่อพุธ ฐานิโย วัดป่าสาลวัน จ.นครราชสีมา ปี 2536 เนื้อทองแดง
พระปิดตาหลวงปู่เหรียญ วรลาโภ วัดอรัญญบรรพต ปี 2541 รุ่นเจริญพร เนื้อผงใบลาน
รูปหล่อหลวงพ่อพระใส จ.หนองคาย ปี 33 ก้นกลึง กะไหล่ทอง รุ่นประสบการณ์ พิมพ์ใหญ่
เหรียญหลวงพ่อผาง วัดอุดมคงคาคีรีเขตต์  ปี 2521 เนื้อทองแดง
เหรียญหลวงพ่อประดิษฐ์ วัดพิฤกทักษิณ รุ่นแรก ปี 21 เนื้อทองแดงรมดำ
เหรียญหลวงปู่ปาน คุตตสติ วัดกุดไผท ปี 2539 เนื้อทองแดงผิวไฟ
เหรียญหลวงพ่อบุญธรรม วัดช้างเผือก รุ่นแรก ปี 19 เนื้อทองแดงรมน้ำตาล
เหรียญหลวงพ่อมหาบุญทัน วัดป่าสามัคคีสันติธรรม รุ่นแรก ปี ๒๕๒๔ เนื้อทองแดงรมน้ำตาล
เหรียญพระครูไพโรจน์พัฒนกิจ วัดบึง ปี 2528 เนื้อทองแดงรมน้ำตาล
เหรียญพระอาจารย์เต่า วัดป่าสิริธรรม อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี รุ่นเมตตามหาเศรษฐี
หลวงพ่อสุวรรณ อุปสโม วัดสัจจะธรรม หลังหลวงพ่อใหญ่ เนื้อทองแดง
เหรียญหลวงปู่สลี วัดพระธาตุสันติธรรม รุ่น1 เนื้อทองแดง
ปรกใบมะขาม 9 มงคล หลวงปู่เหรียญ วัดอรัญบรรพต หนองคาย ปี 2540 เนื้อทองฝาบาตร
เหรียญเสมา หลวงตาพวง สุขินทริโย วัดศรีธรรมาราม จ.ยโสธร รุ่นถิ่นกำเนิด ปี 2539 เนื้อทองแดง
พระกริ่งชัยวัฒน์ปริสุทโธ หลวงพ่อคูณ วัดบ้านไร่ รุ่นปลอดภัย ปี 38 เนื้อนวะ
เหรียญหลวงพ่อผาง วัดอุดมคงคาคีรีเขตต์ รุ่นเสาร์ห้า ปี 16 เนื้อทองแดงรมดำ
เหรียญกลมเล็ก พระอาจารย์วัน วัดถ้ำอภัยดำรงค์ ปี 18 เนื้อทองแดงรมดำ
เหรียญหลวงพ่อเคน วัดเมืองเดช จ.อุบลราชธานี ปี 2539 เนื้อทองแดงรมดำ
พระผงรูปเหมือนหลวงพ่อหนู วัดอัมพวนาราม รุ่นแรก
เหรียญหลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ รุ่นแซยิด 6 รอบ 72 ปี พ.ศ. 2537 หลังขีด นิยม
เหรียญหลวงพ่อจอย วัดโนนไทย รุ่น คู่บารมีเสาร์ 5 ปี 37 เนื้อทองแดงรมดำ
เหรียญหลวงปู่บุญ ชินวิโส วัดป่าศรีสว่างฯ  ปี 2532 เนื้อทองแดง
พระปิดตายันต์ฺยุ่ง หลวงพ่อพุธ ฐานิโย วัดป่าสาละวัน ปี 36 เนื้อนวะ
เหรียญหลวงพ่อผุย วัดศิริมงคล ปี 2523 เนื้อทองแดง
เหรียญหลวงพ่อพระใส วัดโพธิ์ชัย ปี 2520 เนื้อทองแดง
เหรียญพระสุธรรมคณาจารย์(แดง) ออกวัดประชานิยม จ.กาฬสินธุ์ ปี 2514
เหรียญหลวงพ่อผาง ออกวัดใหม่บ้านดอน ปี 14 เนื้อทองแดงรมดำ
เหรียญพระครูนิมิตนวการ หลวงปู่กองสิงห์ อาภารโณ วัดสระพังทอง รุ่นแรก ปี ๒๕๓๔ เนื้อทองแดง
เหรียญหลวงปู่เครื่อง วัดเทพสิงหาร รุ่นพิเศษ ปี 19 เนื้อทองแดงรมน้ำตาล ตอกโค๊ด
เหรียญหลวงพ่อบุญมี วัดหน้าพระธาตุ ปี 35 เนื้อทองฝาบาตร
เหรียญพระพุทโธ วัดเจริญสุข จ.นครราชสีมา ปี 2520 เนื้อทองแดง
เหรียญหลวงพ่อสนธิ์ วัดอรัญญานาโพธิ์ รุ่น 6 ปี 2519 เนื้อกะหลั่ยทอง
เหรียญพระพุทธธัญญราชหลังหลวงปู่ญาธรรมโคตม์(ผาง) วัดธาตุนาใหญ่ รุ่น ๑ เนื้อทองฝาบาต
พระสมเด็จนางพญางิ้วดำ วัดใหม่บ้านดอน รุ่นพิเศษ ปี พ.ศ.2519 พิมพ์กลาง
เหรียญหลวงปู่เวิน วัดน้ำวิ่ง  ปี ๒๕๒๐ เนื้อทองแดง
รูปหล่อหลวงปู่ศรีจันทร์ วัณณาโภ วัดเลยหลง รุ่นเพชรน้ำหนึ่ง ปี 38 เนื้อทองเหลือง
เหรียญหลวงปู่มา วัดสันติวิเวก รุ่นสร้าง อบต.บึงเกลือ ปี 49 เนื้อกะหลั่ยทอง
พระผงหลวงปู่เหรียญ วัดอรัญบรรพต ปี 2539 รุ่นศรัทธาบารมี เนื้อผงพุทธคุณ
เหรียญหลวงปู่ชอบ ฐานสโม รุ่นกู้ภัยให้ลาภ ปี 2537 มีโค๊ดหน้าหลัง เนื้อทองแดง
เหรียญหลวงปู่ศรีจันทร์ วัณณาโภ วัดเลยหลง รุ่นแรก เนื้อทองแดง
รูปหล่อพระญาณวิเศษ หลวงปู่ศรี วัดหลวงสุมังคลาราม รุ่น ใต้ฐาน พิมพ์ิยม ทันหลวงพ่อครับ
เหรียญพระอาจารย์สุวิทย์ อภิชาโต รุ่น๑ วัดชัยมงคลวนาราม เนื้อกะหลั่ยทองสวยมาก
เหรียญเสด็จพ่อขุนไกร หลังพระขุนไกร กะไหล่ทอง 2514
เหรียญหลวงพ่อผาง ออกวัดป่าแสงอรุณ จ.ขอนแก่น ปี 25 เนื้อทองแดงรมดำ
เหรียญหลวงพ่อปิ่น วัดปราสาท เนื้อทองแดง รุ่น 2 เนื้อทองแดง
เหรียญพระครูวิรุฬสุตการ วัดวาริน รุ่นแรก ปี 15 เนื้อทองฝาบาตร
เหรียญหลวงปู่ชอบ วัดป่าสัมมานุสรณ์ หลัง ภปร. รุ่น ครบรอบ 81 ปี 2526 เนื้อทองแดงกะไหล่ทอง มีโค้ด ช
เหรียญหลวงปู่ชอบ วัดป่าสัมมานุสรณ์ หลัง ภปร. รุ่น ครบรอบ 81 ปี 2526 เนื้อทองแดงผิวไฟ มีโค้ด ช
เหรียญหลวงพ่อองค์ดำ วัดพระธาตุบังพวน ปี 37 เนื้อทองแดง
เหรียญพระครูปทุมสรารักษ์ วัดป่าหนองบัวลาย รุ่นแรก ปี 14 เนื้อทองแดงรมดำ
เหรียญหลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ รุ่นแซยิด 6 รอบ 72 ปี พ.ศ. 2537 หลังขีด นิยม
เหรียญพระอาจารย์จันทร์ สนฺตจิตโต วัดใน รุ่นแรก ปี 16 เนื้อทองแดงรมดำ
พระผงหลวงปู่ศรี มหาวีโร วัดป่ากุง จ.ร้อยเอ็ด ปี 2552 เนื้อผงพุทธคุณ
พระรูปเหมือนหลวงปู่สี สิริญาโณ วัดป่าศรีมงคล ปี 54 เนื้อผงผสมเกษาหลังติดจีวร
พระผงสมเด็จนางพญางิ้วดำ วัดใหม่บ้านดอน ปี พ.ศ.2521 พิมพ์เล็ก ในหลวงเททอง หายาก
พระนิมิตมงคลชัยสีมา วัดใหม่บ้านดอน นครราชสีมา  ปี ๒๕๑๗ พิมพ์ใหญ่
เหรียญหลวงพ่อดำ วัดป่านาเจริญ ปี 37 เนื้อทองแดง
พระผงพุทธมิ่งเมืองมงคลหลังรูปเหมือนหลวงปู่ศรี วัดป่ากุง ปี 2553 เนื้อผงพุทธคุณ
พระผงรูปเหมือนฐานสิงห์หลวงปู่ศรี วัดป่ากุง รุ่นชนะมาร ปี 2553 เนื้อผงพุทธคุณ
เหรียญหลวงตาพวง วัดศรีธรรมาราม จ.ยโสธร รุ่นบารมีปลดหนี้ มั่งมี ศรีสุข ปี ๒๕๔๐ เนื้อทองแดง
เหรียญพระประธาน วัดป่ามุจลินท์ เรณูนคร จ.นครพนม เนื้อทองแดงผิวไฟ
เหรียญพระอาจารย์อ่อน ญาณสิริ วัดป่านิโครธาราม รุ่นแรก เนื้อทองแดงรมดำ ตอกโค๊ด
เหรียญหลวงปู่ปาน คุตตสติ วัดกุดไผท ปี 2537 เนื้อทองแดงรมดำ
เหรียญหลวงพ่อพุธ ฐานิโย วัดป่าสาลวัน นครราชสีมา เนื้อกะไหล่ทองลงยาสวยมาก
เหรียญกายทิพย์หลวงพ่อริม วัดอุทุมพร นิยม เนื้อทองแดง
สมเด็จวัดทุ่งโพธ์ จ.ฝั่งเม็ดพระธาตุ บุรีรัมย์
พระปิดตาหลวงปู่เหรียญ วัดอรัญบรรพต ปี 2539 รุ่นศรัทธาบารมี เนื้อผงพุทธคุณ
เหรียญพระองค์แสนหลังพระธาตุเรณู วัดมหาธาตุ จ. นครพนม
เหรียญหลวงพ่อพุธ ฐานิโย วัดป่าสาลวัน นครราชสีมา ปี 2523 เนื้อทองแดง
เหรียญหลวงปู่เสาร์ วัดกุดเวียน รุ่นครบรอบ 91 ปี ปี 2545 เนื้อทองแดงรมดำ
เหรียญหลวงปู่มี กันตสีโล วัดป่าสันติธรรม รุ่น 3 อายุ 84 ปี พ.ศ. 26 เนื้อทองแดงรมดำ
เหรียญพระธาตุพนม รุ่นพิเศษ ปี 2520 เนื้อทองแดง
เหรียญหลวงปู่เครื่อง สุภัทโท วัดสระกำแพงใหญ่ ปี 2530 เนื้อทองแดงรมดำ
เหรียญพุทธลีลา พุทธมหาจักรแก่นนคร พ.ศ.๒๕๑๕ เนื้อทองแดงรมดำ
เหรียญหลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ รุ่นแซยิด 6 รอบ 72 ปี พ.ศ. 2537 เนื้อทองแดงผิวไฟ
เหรียญหลวงพ่อโป่ง อัคคสาโร วัดขาม ปี 2520 เนื้อทองแดงรมดำ
เหรียญหลวงพ่อหนูเพ็ญ ยโสธโร วัดบัวทอง รุ่นพิเศษ ปี 2526 เนื้อทองแดง
เหรียญหลวงปู่เสาร์ วัดกุดเวียน รุ่นเสาร์ ๕ ปี 2539 เนื้อกะไหล่ทอง
เหรียญหลวงปู่เสาร์ วัดกุดเวียน รุ่นสรงน้ำ ปี 2545 เนื้อทองแดงรมดำ
เหรียญหลวงปู่เหรียญ วรลาโภ วัดอรัญญบรรพต ปี 2539 รุ่นถวายพระพร เนื้อทองแดงกะไหล่ทอง มีโค๊ด
เหรียญหลวงพ่ออุปัชฌาย์บัว ปัญญาธโร วัดบ้านนาซาว รุ่นแรก ปี 2530 เนื้อทองแดงรมน้ำตาล
เหรียญรูปเหมือนหลวงปู่เต็ม วัดบ้านตำแย รุ่นแรก พ.ศ.2533 เนื้อทองแดง
เหรียญหลวงปู่เหรียญ วรลาโภ วัดอรัญญบรรพต ปี 2537 เนื้อทองแดงรมดำ
เหรียญหลวงปู่หงษ์ พรหมปัญโญ สุสานทุ่งมน หลังยันต์เกราะเพชร รุ่นเจริญพร เนื้อทองแดงผิวไฟ
เหรียญหลวงปู่พวง วัดป่าปูลู จ.อุดรธานี ฉลอง 6 รอบ ปี 2543 เนื้อทองแดง
พระผงรูปเหมือนหลวงปู่สิงห์ทอง ปภากโร วัดป่าสุนทราราม ปี 2539
เหรียญหลวงพ่อกินรี วัดกัณตะศิลาวาส รุ่น 2 ปี 2520 เนื้อทองแดงรมดำ มีโค๊ด
เหรียญหลวงพ่อผาง รุ่นที่ระลึกในงานวางศิลาฤกษ์อุโบสถ วัดหนอกจิก ปี 2520 พิมพ์เล็ก เนื้อทองแดงผิวไฟ
เหรียญกลมหลวงปู่เครื่อง สุภัทโท วัดสระกำแพงใหญ่ ปี 2538 เนื้อทองแดง
สมเด็จหลังพระครูสิริรัตนวิมล วัดอำนวยศรี รุ่น ๑ อ.รัตนะ จ. สุรินทร์
เหรียญหลวงปู่ล่อน วัดกุดโบสถ์ ปี 2539 เนื้อทองแดง
เหรียญพระอาจารย์เลื่อน วัดบ้านเสลา รุ่นแรก เนื้อทองแดง
เหรียญพระครูมงคลรัตนชัย วัดชัยมงคล รุ่นแรก ปี 2523 เนื้อทองแดง
เหรียญหลวงพ่อผาง วัดอุดมคงคาคีรีเขต รุ่นพิเศษ ออกวัดศรีแก้งคร้อ ปี 2519 เนื้อกะหลั่ยทองสวย
เหรียญหลวงพ่อคำแหง วัดป่าสุวรรณนิเทศน์ รุ่นแรก ปี 2520 เนื้อทองแดง มีโค๊ด ค
เหรียญหลวงปู่มั่น วัดถ้ำสาริกา รุ่นแรก ปี 2519 เนื้อทองแดงรมน้ำตาล มีโค๊ด
เหรียญหลวงปู่คำดี ปภาโส วัดถ้ำผาปู่ ปี 20 เนื้อทองแดง
พระสมเด็จหลังข้าวสารหิน วัดถ้ำข้าวสารหิน รุ่นแรก ปี 2544
เหรียญหลวงพ่อพุธ ฐานิโย วัดป่าสาลวัน นครราชสีมา ปี 2537 เนื้อทองแดง ตอกโค๊ด
รูปเหมือนพระศรีธรรมภาณ หลวงพ่อพวง สุขินทริโย วัดป่าศระรรมาราม ปี 35 เนื้อผงพุทธคุณ
เหรียญหลวงตาพวง สุขินทริโย วัดศรีธรรมาราม จ.ยโสธร รุ่นถิ่นกำเนิด ปี 2539 เนื้อกะไหล่ทอง
เหรียญรูปไข่หลวงพ่อผาง วัดอุดมคงคาคีรีเขตต์  ปี 2522 ที่ระลึกฉลองพระเจดีย์ เนื้อทองแดง
พระผงรูปเหมือนหลวงปู่พรหมมา เขมจาโร วัดสวนหินผานางคอย เนื้อว่าน รุ่นสร้างอุโบสถ
พระผงรูปเหมือน หลวงปู่ศรี มหาวีโร วัดป่ากุง รุ่นรับทรัพย์  ปี 2550 จ.ร้อยเอ็ด เนื้อแดง
เหรียญหลวงปู่เจ็ก วัดสว่าง ร่น 2 ปี 37 เนื้อทองแดง
เหรียญหลวงพ่อเชย จนฺทสิริ วัดราษฎร์บำรุง รุ่นแรก เนื้อทองแดง เลี่ยมเดิม
เหรียญหลวงปู่คำดี ปภาโส วัดถ้ำผาปู่ รุ่นแรก บล๊อกกลาก ปี 17 เนื้อทองแดงรมดำ
เหรียญพระเจ้าใหญ่อินแปลง ญาท่านสวน วัดสำโรง ปี 2518 เนื้อทองแดงรมดำ
พระปิดตาหลวงปู่เหรียญ วัดอรัญบรรพต ปี 2539 รุ่นศรัทธาบารมี เนื้อผงใบลานฝังตะกรุด
เหรียญหลวงพ่อผาง วัดอุดมคงคาคีรีเขตต์ รุ่นพิเศษ  สร้างอุโบสถ วัดสีลาขันธ์ ปี 20
เหรียญหลวงปู่สังเวช ปภากโร วัดป่าวิเวกเวฬุวัน รุ่นแรก เนื้อทองแดง
หลวงพ่อผาง วัดอุดมคงคาคีรีเขตต์ รุ่นทรัพย์ยังมา ปี 2512 ตัวหนังสือใหญ่ นิยม
เหรียญพระครูถาวร สมณวัตร วัดทุ่งสว่าง รุ่นที่ระลึกในการสร้างกุฎิ ปี 39 เนื้อทองแดงรมดำ
เหรียญพระครูศรีธรรมรัตน์ วัดลิ้นฟ้า ศรีสะเกษ รุ่น ๑ นิยม เนื้อทองแดงรมดำ
สมเด็จหลวงปู่สาม วัดป่าไตรวิเวก ปี 33 รุ่นฉลองอายุ 91 ปี หลังตะไบทอง ปั๊มตราวัด 2 ครั้ง
เหรียญหลวงปู่โทน กันตสีโล วัดบูรพา รุ่นแรก ประคำ ุ6 เม็ด เนื้อทองแดง บล็อกนิยมสุด
พระสมเด็จหลังมงคลวิเศษ หลวงปู่ชอบ รุ่นพิเศษ เสาร์ 5 เนื้อว่าน ๑๐๘ ปี 36 ออกที่วัดภูตูมวนาราม
พระสมเด็จ 5 อังคาร หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ วัดอรัญบรรพต จ.หนองคาย
เหรียญบล็อคกษาปณ์ หลวงพ่อพุธ ฐานิโย วัดป่าสาลวัน รุ่น ที่ระลึกอายุครบ 75 ปี พ.ศ 2539 เนื้อทองแดง
เหรียญหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต ออก วัดศรีสันตยาราม จ.เลย ปี 2518 ตอกโค๊ต
เหรียญหลวงปู่เคน วัดทุ่งสว่างโนนโพธิ์ รุ่น1 เนื้อทองฝาบาตร
เหรียญหลวงปู่คำพันธ์ วัดธาตุมหาชัย รุ่นบุญญาบารมี ปี 2537 เนื้อทองแดง
เหรียญหลวงปู่ขาว อนาลโย วัดถ้ำกลองเพล ปี 18 เนื้อทองแดงรมน้ำตาล
เหรียญหลวงพ่อผาง วัดอุดมคงคาคีรีเขตต์  ปี 2522 ที่ระลึกฉลองพระเจดีย์ เนื้อทองแดง
เหรียญบล็อคกษาปณ์ หลวงพ่อพุธ ฐานิโย วัดป่าสาลวัน รุ่น ที่ระลึกอายุครบ 75 ปี เนื้ออัลปาก้า
เหรียญหลวงพ่อเที่ยง วัดพระพุทธบาทเขากระโดง รุ่นแรก ปี 31 เนื้อทองแดงรมดำ
เหรียญหลวงปู่คำพันธ์ วัดธาตุมหาชัย รุ่นสร้างอุโบสถ วัดศรีโคตรคีรี ปี 2539 เนื้อทองแดงรมดำ
เหรียญพระครูคัมภีรวุฒาจารย์(พระอาจารย์หนู) วัดทุ่งศรีวิไล ปี 18  เนื้อทองแดง รุ่นฉลองสมณศักดิ์
เหรียญหลวงพ่อคำคณึง วัดถ้ำูหาสวรรค์ รุ่นแรก ปี 24 เนื้อทองแดงรมดำ สวยมาก
เหรียญหลวงปู่เหรียญ วรลาโภ วัดอรัญญบรรพต  รุ่นถวายพระพร ปี 2539 เนื้อทองแดงรมดำ มีโค๊ด
เหรียญหลวงปู่เขียว วัดโพธิ์ศรีธาตุ รุ่นทำบุญอายุครบ 6 รอบหรือฉลองพัดยศชั้นเอก ปี 26 กะไหล่ทอง
เหรียญหลวงปู่อ่อนสี จุลโทเถระ วัดรัตนมงคล จ.อุดรธานี ปี 2522 รุ่นแรก
เหรียญพระอาจารย์แว่น ธนปาโล ออกวัดสุทธาวาส จ.สกลนคร ปี ๒๕๒๑
เหรียญหลวงพ่อกินรี วัดกัณตะศิลาวาส รุ่น 3 ปี 2521 เนื้อทองแดงผิวไฟ
เหรียญหลวงพ่อพุฒทา วัดบ้านโนนยาง อุทุมพรพิสัย รุ่นแรก ปี 2523 เนื้อทองแดง
เหรียญสำเร็จพรหมา เขมจาโร วัดถ้ำผาโป่งช้าง ปี 29 เนื้อทองฝาบาตร
ปรกใบมะขามหลวงพ่อพุธ ฐานิโย วัดป่าสาลวัน นครราชสีมา ปี 2541 เนื้อทองแดง
เหรียญหลวงปู่ขาว อนาลโย วัดถ้ำกลองเพล รุ่นมหาราช ปี 21 เนื้อทองแดงผิวไฟ
ล็อคเก็ตหลวงปู่สรวง  บายติ๊กเจีย  เทวดาเดินดิน หลังจีวร ตะกรุด 3 ดอก  รุ่นเสาร์ 5  ปี 2540
เหรียญหลวงปู่บุญมี โชติปาโล วัดสระประสานสุข ปี 39 100 ปี กรมป่าไม้
เหรียญกลมหลวงปู่มั่น ทัตโต วัดบ้านโนนเจริญ รุ่น พระไตรปิฎก อายุ ๑๐๒ ปี เนื้อทองแดง
เหรียญหลวงปู่จันดา วัดสว่างคำเหมือดแก้ว รุ่น 1 ปี 2528 เนื้อทองแดง
เหรียญหลวงปู่่คำแหง จนฺทสาโร วัดป่าสุวรรณนิเทศ  รุ่นแรก ปี ๒๕๒๐ เนื้อทองแดงรมน้ำต
เหรียญหลวงปู่ฤทธิ์ วัดชลประทานราชดำริ อ.กระสัง จ.บุรีรัมย์ ปี ๒๕๔๒ เนื้อทองแดงรมดำ
เหรียญหลวงปู่เหรียญ วัดอรัญบรรพต ปี 2539 รุ่นศรัทธาบารมี เนื้อทองแดง
พระผงสมเด็จนางพญางิ้วดำ วัดใหม่บ้านดอน ปี พ.ศ.2517 พิมพ์หญ่ยอดนิยม
รูปหล่อหลวงพ่อพุธ ฐานิโย วัดป่าสาลวัน รุ่น 1  โรงเรียนราชสีมาวิทยาลัยสร้าง ปี 2530
รูปหล่อหลวงพ่อคำดี วัดบูรพาบ้านผึ้ง รุ่นแรก ปี ๒๕๒๙ อุดกริ่ง เนื้อทองแดงรมดำ
เหรียญหลวงพ่อญาณวโร บวร วัดโพธิ์ชัย รุ่นสร้างโบสถ์ ปี 21 หลังจาร เนื้อทองแดงรมน้ำตาล
เหรียญหลวงปู่เสาร์ วัดกุดเวียน ปี 2544 เนื้อทองแดงรมดำ
เหรียญกลมพิมพ์นั่งสมาธิเต็มองค์หลวงปู่พรหมมา เขมจาโร วัดสวนหินผานางคอย ปี 2538 เนื้อทองแดงรมดำ
พระปิดตาหลวงปู่ศรี วัดป่ากุง รุ่นสมหวังดังใจ ปี 2553 เนื้อผงพุทธคุณ
พระปิดตาหลวงปู่เหรียญ วรลาโภ วัดอรัญญบรรพต ปี 2539 รุ่นประทานพรวรลาโภ เนื้อผงพุทธคุณ
เหรียญหลวงปู่จันทร์ วัดจานเขื่อง จ.อุบลราชธานี ปี ๒๕๑๙ รุ่นสอง เนื้อทองแดงผิวไฟ
พระสมเด็จหลวงปู่เหรียญ วัดอรัญบรรพต ปี 2539 รุ่นศรัทธาบารมี
พระสมเด็จนางพญางิ้วดำ วัดใหม่บ้านดอน รุ่นพิเศษเสาร์ห้า ปี พ.ศ.2523 พิมพ์ใหญ่
เหรียญเสมา 7 รอบหลวงปู่บุญหนา วัดป่าโสตถิผล  ปี 2558 เนื้อสัตตะ
เหรียญหลวงปู่สิงห์ทอง ปภากโร วัดป่าสุนทราราม ปี 2555  เนื้อทองแดง
รูปหล่อหลวงปู่คำพันธ์ โฆสปัญโญ รุ่นปฐวีธาตุ ปี 36 เนื้อทองผสมรมดำ
เหรียญหลวงพ่อผาง วัดป่าสุวรรณไพโรจน์ ปี 2518 เนื้อทองแดง
เหรียญหลวงปู่เหรียญ วรลาโภ วัดอรัญบรรพต หลังพัดยศเครื่องอัฐบริขาร ปี 2536 เนื้อทองแดง
เหรียญหลวงพ่อผาง วัดอุดมคงคาคีรีเขตต์ ปี 2517 เนื้อทองแดง
เหรียญพระราชทานเพลิงศพ อ.ฝั้น อาจาโร วัดป่าอุดมสมพร ปี 2521
เหรียญพระครูมงคลสารวิสุทธิ์ วัดมงคลหลวง ปี 2516 เนื้อทองแดงรมดำ
เหรียญหลวงปู่เหรียญ วัดอรัญบรรพต ปี 2540 เนื้อทองแดง
เหรียญหลวงปู่พระครูวรพรต วัดจุมพล รุ่นเสาร์ห้า ปี 36 เนื้อทองแดง
เหรียญพระอาจารย์วัน อุตฺโม วัดถ้ำอภัยดำรงธรรม รุ่น 50 ปี 2521 เนื้อทองแดงรมดำ
เหรียญหลวงปู่สวน วัดนาอุดม รุ่น ญาติโยมสร้างถวาย เนื้อทองแดง
เหรียญหลวงปู่พระครูวรพรต วัดจุมพล ปี 39 เนื้อทองแดง
เหรียญหลวงปู่น้อย วัดบ้านดอนกลอย ปี 2544 เนื้อทองแดงผิวไฟ
เหรียญหลวงพ่อบุญจันทร์ กมโล วัดบ้านหนองทุ่ม มหาสารคาม รุ่นแรก ปี 2540 เนื้อทองแดง
เหรียญหลวงพ่อกินรี วัดกัณตศิลาวาส ปี 2519 เนื้อทองแดงรมน้ำตาล ตอกโค๊ด นิยม
เหรียญท้าวสุรนารี รุ่นฉลองครบ 100 ปี ราชสีมาวิทยาลัย พ.ศ.2542 เนื้อทองแดง
เหรียญหลวงพ่อคูณ วัดบ้านไร่ รุ่นมหาราช ปี 36 เนื้อทองแดงรมดำ มีโค๊ด
เหรียญอายุครบ 80 ปี หลวงปู่เหรียญ วัดอรัญญบรรพต ปี 35 เนื้อทองแดงผิวไฟ
เหรียญฉลองสมณศักดิ์ หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ วัดอรัญบรรพต หลังพัดยศเครื่องอัฐบริขาร ปี 2536
พระสมเด็จ 5 อังคาร หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ วัดอรัญบรรพต เนื้อพิเศษ
เหรียญหลวงปู่สาม อกิญจโน วัดป่าไตรวิเวก จ.สุรินทร์ รุ่นร่วมน้ำใจ ปี 28 เนื้อทองแดงรมดำ
พระสมเด็จหลวงปู่เหรียญ วัดอรัญญบรรพต ปี 2539 รุ่นประทานพรวรลาโภ
เหรียญหลวงปู่ผาง จิตฺตคุตฺโต วัดอุดมคงคาคีรีเขต ปี 19 หายาก
หลวงปู่หมุน วัดบ้านจาน พระพิมพ์หลวงปู่ทวด หลังพระพิฆเนศ ปางอิทธิฤทธิ์ ปี 2543 เนื้อแร่ผสมใบลาน
เหรียญหลวงพ่อผาง ออกวัดป่าธรรมวิเวก ปี 20 เนื้อกระไหล่ทอง
สมเด็จ เนื้อผงผสมอิฐพระธาตุ วัดพระธาตุพนม ปี 19 สีชมพู นิยม
เหรียญพระครูวิโรจน์รัตโนบล (บุญรอด) พระราชพิธีบรรจุพระอุรังคธาตุ วัดพระธาตุพนม ปี 2522
เหรียญหลวงปู่พรหมา เขมจาโร สำนักสงฆ์ถ้ำสวนหินแก้ว ผานางคอ  ปี .2537 เนื้อทองแดง
เหรียญหลวงพ่อจันทร์ วัดราษฏร์รังสรรค์ บุรีรัมย์ รุ่นแรก ปี ๒๕๑๔
พระผงสมเด็จนางพญางิ้วดำ วัดใหม่บ้านดอน ปี พ.ศ.2516 พิธีใหญ่  หายาก
เหรียญพระครูสุภัทรธรรมาภรณ์ วัดปลาเดิด รุ่นแรก เนื้อทองแดง
เหรียญหลวงพ่อชื่น วัดตาอี บุรีรัมย์  รุ่นแรก ปี 43 เนื้อทองแดง
เหรียญหลวงพ่อห้อย วัดเจริญผล ปี 20 เนื้อทองแดง
พระสมเด็จนางพญางิ้วดำ วัดใหม่บ้านดอน รุ่นพิเศษ ปี พ.ศ.2519 พิมพ์เล็ก นิยม
เหรียญหลวงพ่อคูณ วัดบ้านไร่ ปี 2536 รุ่นคูณค้ำคน กะไหล่ทอง
เหรียญพระครูสุธีธรรมจารย์ วัดเหนือแวงน่าง จ.มหาสารคาม ปี 21 เนื้อทองแดง
เหรียญหลวงพ่อพวง  ญาณทีโป วัดใต้บ้านยางขี้นก รุ่นแรก ปี 42
เหรียญหลวงพ่อมาน วัดทุ่งสว่าง รุ่นแรก ปี 2519 เนื้อทองแดงผิวไฟ
เหรียญหลวงปู่แสง วัดหนองเขวา ปี 2548 เนื้อทองแดง มีโค๊ด รุ่น คงเกียรติอำนวย
เหรียญเจ้าพ่อพญาแล ปี 39/40 เนื้อทองแดง มีโค๊ด
เหรียญหลวงพ่อยอดแก้ว วัดยอดแก้วศรีวิชัย ปี 19 เนื้อทองแดงรมดำ
เหรียญหลวงปู่สา เปสาโล วัดบ้านโพธิ์ เนื้อทองแดงรมน้ำตาล ปี 2540
เหรียญท้าวสุรนารี ที่ระลึกงานฉลองครบ 60 ปีอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี พ.ศ.2537 เนื้อทองแดง
เหรียญหลวงพ่อคำดี วัดบูรพา รุ่นครบรอบ 72 ปี ๒๕๔๕ เนื้อทองแดงผิวไฟ
เหรียญหลวงปู่ขาว อนาลโย วัดถ้ำกลองเพล  วพ อุดรธานี รุ่น6 ปี 16
เหรียญหลวงปู่มั่น ภูริทัตโตปี 37 เนื้อทองแดง ออกวัดป่าสาลวัน โค๊ต นะ
เหรียญหลวงปู่เจ๊ก วัดสว่าง ร่นแรก ปี 23 เนื้ออทองแดงรมดำ
เหรียญหลวงพ่อผาง จิตตคุตโต ออกวัดใหม่บ้านดอน ปี 14 เนื้อทองแดงรมดำ
เหรียญหลวงปู่สาม อกิญจโน วัดป่าไตรวิเวก จ.สุรินทร์ ปี 2522 เนื้อทองแดง
พระสมเด็จหลวงปู่พรหมมา เขมจาโร รุ่น 5 แผ่นดิน ปี 37 เนื้อผงฝั่งพลอยแดง
หลวงปู่หยวม วัดสระธาตุ รุ่นแรก เนื้อทองแดงรมน้ำตาล
รูปหล่อหลวงตาพวง สุขินทริโย วัดศรีธรรมาราม จ.ยโสธร
หลวงพ่อละเมียด วัดสามัคคีราษฎร์บำรุง อ.นางรอง บุรีรัมย์ รุ่นแรก ปี 19 เนื้อทองแดง
เหรียญพระสมณโคดมหลังพระสมเด็จพุฒาจารย์โต ปี 14 เนื้อทองฝาบาตร
พระสมเด็จหลวงปู่สรวง วัดเลียบ ปี 39 หลังรูปเหมือนครึ่งองค์ลูกตาเบ๊าะ นื้อชานหมากสีแดง
เหรียญหลวงพ่อจอน หลังพระพรหม วัดบุญญฤทธิ์ เนื้อทองแดง ตอกโค๊ด
เหรียญหลวงพ่อผาง ออกวัดป่าศิลาเลย จ.อุบลราชธานี ปี 2519 เนื้อกะหลั่ยทองสวย
เหรียญหลวงปู่ชอบ ฐานสโม วัดป่าสัมมานุสรณ์ จังหวัดเลย รุ่น ครบรอบ 81 ปี 2526 เนื้อทองแดง มีโค้ด ช
เหรียญพระอาจารย์มหาสิน วัดถ้ำบาหลอด รุ่นแรก ปี 2518 เนื้อทองแดง จ.เลย
เหรียญพระครูอดุลสังฆกิจ วัดกุดเรือคำ สกลนคร ปี 2514 เนื้อกะไหล่ทองสวย
เหรียญหลวงพ่อคำดี วัดบูรพา รุ่นแรก ปี ๒๕๒๙ พิมพ์เล็กเนื้อทองแดงผิวไฟ
เหรียญและตะกรุดคู่ 2 ดอกหลวงพ่อฤทธิ์ รตนโชโต วัดชลประทานราชดําริ บุรีรัมย์  รุ่นแรก
เหรียญหลวงปู่คำพอง ติสโส วัดถ้ำกกดู่ จ.อุดรธานี ปี 2540 เนื้อทองแดงรมน้ำตาล
เหรียญพระอาจารย์ผั่น ปาเรสโก วัดป่าหนองไคร้ จ.ยโสธร ปี 2535 รุ่นแรก เนื้อทองแดง
เหรียญหลวงพ่อผาง วัดอุดมคงคาคีรีเขตต์ ปี 20 เนื้อทองแดงรมน้ำตาล พิมพ์ใหญ่
เหรียญหลวงพ่อองค์ตื้อ วัดศรีธาตุ รุ่น 1 เนื้อทองแดง
เหรียญเจ้าพ่อราชครูหลวงโพนสะเม็ก(ราชครูขี้หอม) พระราชพิธีบรรจุพระอุรังคธาตุ ปี 2522 วัดพระธาตุพนม
เหรียญหลวงพ่อสุข วัดนารายณ์บุรินทร์ สุรินทร์ ปี 2521  เนื้อทองแดงรมน้ำตาล
เหรียญพระมหาบุญมี เรวโต ปี 2515 เนื้องทองแดงรมดำ
เหรียญหลวงปู่เครื่อง วัดสระกำแพงใหญ่ รุ่นรถไฟ ปี 2526 บล็อคแรก นิยม
เหรียญหลวงพ่อคำคนึง วัดถ้ำคูหาสวรรค์  รุ่นพูลทรัพย์ ปี 2537 เนื้อทองแดงรมดำ
เหรียญหลวงพ่อคำดี วัดบูรพา รุ่นแรก ปี ๒๕๒๙ พิมพ์ใหญ่ เนื้อทองแดงรมดำ
เหรียญพระแก้วมรกต วัดอุมังคละบ้านนาเรียง ต.สามัคคี อ.ร่องคำ จ.กาฬสินธุิ์ ปี 2514 รุ่น ๒
เหรียญหลวงปู่ชอบ ฐานสโม วัดป่าสัมมานุสรณ์ จังหวัดเลย รุ่น เมตตา77 ปี 2520 เนื้อทองแดง ตอกโค๊ต
เหรียญหลวงพ่อดำหริ วัดนิคมเขต สุรินทร์ รุ่น 1 ปี 2537 เนื้อทองแดงรมดำ
หลวงพ่อพระใส วัดโพธิ์ชัย ปี 2518 เนื้อทองแดงกะไหล่เงินสวย
เหรียญหลวงพ่อสมัย วัดตาลเดี่ยว ชัยภูมิ เนื้อทองฝาบาตร
เหรียญหลวงพ่อจันทร์ สุภทฺโท วัดโคกยาว มหาสารคาม รุ่น 2 ปี 21
เหรียญหลวงพ่อเสียบ วัดบ้านเกาะ อ.เมือง จ.นครราชสีมา รุ่นแรก ปี 2519
เหรียญหลวงปู่อ่อน วัดประชานิยม จ.กาฬสินธุ์ รุ่นแรก ปี 2518 เนื้อทองแดง
เหรียญหลวงพ่อพุธ ฐานิโย วัดป่าสาลวัน รุ่น 1  โรงเรียนราชสีมาวิทยาลัยจัดสร้าง ปี 2530
เหรียญหลวงพ่อทองสุก วัดหัวบึงทุ่ง อ. ธาตุพนม จ.นครพนม รุ่นแรก ปี  2520 มีโค๊ด นิยม
เหรียญหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน รุ่นเจดีย์มหามงคล ร้อยเอ็ด ปี 2549
หลวงพ่อน้อย วัดป่านิมิตรมงคล สุรินทร์ (ศิษย์อาจารย์มั่น)สวยๆ ๆ
เหรียญหลวงพ่อพระเจ้าทองแสน วัดท่าคกเรือ รุ่นแรก ปี ๒๕๒๓ เนื้อทองแดงผิวไฟ
หลวงพ่อสา วัดโพธิวราราม จ. อุดรธานี รุ่นแรก ปี 2518 เนื้อทองแดงรมดำ
เหรียญหลวงปู่พรม ขฺนติธมฺโม วัดศรีบุญเรือง รุ่นแรก ปี 29
เหรียญหลวงพ่อสิงห์ วัดหนองหิน จ. ร้อยเอ็ด รุ่นแรก  สวยมาก
เหรียญพระครูอินทรีโสภิต วัดศรีสุนทร จังหวัดชัยภูมิ รุ่นแรก ปี 2518 เนื้อทองแดงรมดำ
เหรียญหลวงปู่ปุ๊ก  วัดพุดซา เนื้ออัลปาก้า ไม่ใช่ยันต์เล็กและบ่อยันต์ใหญ่
เหรียญหลวงพ่อเพ็ง วัดพรมเทพ สุรินทร์ ปี 2538 รุ่นอายุครบ ๘0 ปี เนื้อทองแดงรมดำ
เหรียญหลวงพ่อคำดี วัดบูรพา รุ่นแรก ปี ๒๕๒๙ พิมพ์เล็กเนื้อทองแดง
เหรียญหลวงปู่เสาร์ วัดกุดเวียน ปี 2547  เนื้อทองแดงผิวไฟ
เหรียญพระครูอินทรีโสภิต วัดศรีสุนทร จังหวัดชัยภูมิ รุ่นแรก ปี 2518 เนื้อทองแดงผิวไฟ
เหรียญหลวงพ่อทองสุก วัดหัวบึงทุ่ง จ.นครพนม รุ่น 109 ปี พ.ศ. 2521 เนื้อทองแดง
เหรียญพระอาจารย์จันดี เขมปัญโญ วัดศรีสะอาด อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร รุ่นแรก
เหรียญหลวงพ่อคูณ ที่ระลึกงานผูกพัทธสีมา วัดม่วงสระน้อย ปี2539
พระผงซุ้มเรือนแก้ว หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโณ วัดป่าบ้านตาด อ.เมือง จ.อุดรธานี ปี 53
เหรียญพระอาจารย์วัน อุตตโม วัดถ้ำอภัยดำรงธรรม จ.สกลนคร  ปี 2521 เนื้อทองแดง
เหรียญหลวงพ่อคำมี วัดเขื่องกลาง จ.อุบลราชธานี ปี 22 เนื้อทองแดง
พระผงชานหมากหลังโต๊ะหมู่ หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน 60 ปีบรรลุธรรม ระลึกงานเปิดโลกธาตุ ปี 53
เหรียญหลวงพ่อพุธ ฐานิโย วัดป่าสาลวัน จ.นครราชสีมา ปี 2536 เนื้อทองแดง
เหรียญฉลองสมณศักดิ์ หลวงพ่อพุธ ฐานิโย วัดป่าสาลวัน จ.นครราชสีมา ปี 28
เหรียญพระอาจารย์แสง วัดมหาชัย หนองบัวลำภู รุ่น 2 เนื้อทองแดง
หลวงปู่คำคนิง จุลมณี วัดถ้ำคูหาสวรรค์ จังหวัดอุบลราชธานี
เหรียญหลวงพ่อก้อน วัดอัมพวัน จังหวัดนครราชสีมา หลังยันต์นกคุ้ม
เหรียญขวัญถุงหลวงปู่โทน วัดบูรพา เนื้อทองแดงรมดำ นิยม
เหรียญหลวงปู่โทน กันตสีโล วัดบูรพา รุ่นแรก ประคำ 7 เม็ด เนื้อทองแดง
พระผงรูปเหมือน หลวงปู่ศรี มหาวีโร วัดป่ากุง รุ่นรับทรัพย์  ปี 2550 จ.ร้อยเอ็ด เนื้อแดงปัดทอง
เหรียญหลวงพ่อหล้า วัดหนองบัวรอง  รุ่นแรก ปี 2518 เนื้อทองแดงรมดำ มีโค๊ด
กริ่งเล็กหลวงพ่อพระใส จ.หนองคาย ปี 33 ก้นกลึง กะไหล่ทอง รุ่นประสบการณ์
หลวงพ่อพระใส  วัดโพธิ์ชัย เนื้อกระเบื้องหลังคาโบสถ์ รุ่นแรก  ปี ๒๕๔๑ จ.หนองคาย
เหรียญหลวงปู่ขาว อนาลโย วัดถ้ำกลองเพล ปี 2520  อายุครบรอบ 90 ปี จ.อุดรธานี
เหรียญเจ้าพ่อพญาแล  ปี 2530 เนื้อทองแดง จ.ชัยภูมิ
สมเด็จงิ้วดำ วัดใหม่บ้านดอน รุ่นพิเศษเสาร์ 5 พิมพ์มหานิยม ปิดทอง ปี 2519
เหรียญหลวงพ่อผาง วัดอุดมคงคาคีรีเขตต์ ปี 18 หลังลายเซ็น เนื้อทองแดงรมน้ำตาล
เหรียญหลวงปู่พรหมมา วัดบุปผาวัน รุ่นแรก เนื้อทองแดงรมดำ
เหรียญหลวงปู่ศรี วัดป่านาหลัก รุ่นสร้างศาลา เนื้อทองแดงกะหลั่ยทอง แจกกรรมการ
เหรียญหลวงปู่พ่วง สุจิณโณ วัดลำบ้านใหม่ รุ่น 1 ปี 2537 เนื้อทองแดง
พระขุนแผนอุ้มไก่ หลวงปู่สรวง บ้านละลม เนื้อดินดำปราสาทขอมพันปี แช่น้ำมนต์ ปลุกเสกปี ๑๙
เหรียญหลวงพ่อผาง วัดอุดมคงคาคีรีเขตต์ ปี 20 เนื้อทองแดงรมน้ำตาล
พระขุนแผนอุ้มนาง หลวงปู่สรวง บ้านละลม เนื้อดินแดง ดินปราสาทขอม แช่น้ำมนต์ ปลุกเสกปี ๑๙
พะสมเด็จ หลวงปู่สรวง บ้านละลม เนื้อดินดำ ดินปราสาทขอม แช่น้ำมนต์ ปลุกเสกปี ๑๙
พระขุนแผนพิมพ์อกใหญ่  หลวงปู่สรวง บ้านละลม เนื้อดินแดง ดินปราสาทขอม แช่น้ำมนต์ ปลุกเสกปี ๑๙
พระขุนแผนอุ้มไก่ หลวงปู่สรวง บ้านละลม เนื้อดินแดง ดินปราสาทขอม แช่น้ำมนต์ ปลุกเสกปี ๑๙
เหรียญหลวงพ่อคง วัดตะกร้อ รุ่นมหานิยม เนื้อทองแดง
เหรียญหลวงปู่อินทร์ วัดตลาดประดู่ รุ่นแรก เนื้อทองแดง
พระกริ่ง 7 รอบ หลวงพ่อเสาร์ วัดกุดเวียน ปี 2539
ฤาษีหลวงปู่พรหมมา  เขมจาโร ปี 2537 รุ่นฉลองอายุ 96 ปี ใต้ฐานอุดผงพุทธคุณและตอกโค๊ด
เหรียญหลวงปู่สิม พุทธาจาโร ออกวัดป่าสันติสังฆาราม จ.สกลนคร ปี 2522
เหรียญหลวงปู่มั่น วัดถ้ำสาริกา ปี 2519 เนื้อทองแดงรมน้ำตาล
เหรียญหลวงปู่ฤทธิ์ วัดชลประทานราชดำริ อ.กระสัง จ.บุรีรัมย์ รุ่นแรก ปี ๒๕๓๗ พิมพ์ใหญ่
พระครูวิมลสีลาภรณ์ (เนย สมจิตฺโต) วัดโนนแสนคำ รุ่นมหาลาภ ๖๑ ปี 41
เหรียญหลวงปู่เหรียญ วรลาโภ วัดอรัญญบรรพต ปี 2536 พิมพ์พัดยศครึ่งองค์ เนื้อทองแดงผิวไฟ
เหรียญหลวงปู่พระครูวรพรตวิธาน วัดจุมพล ปี 2540 รุ่นพิเศษ เนื้อทองแดง
เหรียญหลวงพ่อรอด วัดสว่างสำราญ รุ่นแรก เนื้อทองแดงรมดำ
เหรียญหลวงปู่ปทุมญาณมุนี วัดบัวใหญ่ ปี 13 เนื้อทองแดง
เหรียญหลวงปู่นิล วัดป่าคุ้มจัดสรร รุ่นแรก เนื้อทองแดง
เหรียญหลวงพ่อพุธ วัดป่าสาลวัน  ครบ 5 รอบ ปี 2524  เนื้อทองแดง
เหรียญหลวงปู่บัว สิริปุณโณ วัดป่าหนองแซง รุ่นแรก ปี ๒๕๑๑ เนื้ออัลปาก้า ห้าห่วงนิยม
เหรียญพระครูสิริกันทรลักษณ์ วัดศรีขุนหาญ จ. ศรีสะเกษ ปี 2521  รุ่นแรก
เหรียญปรกใบมะขาม หลวงปู่ชอบ ฐานสโม รุ่นแรก ปี ๓๓ เนื้อทองแดง
เหรียญพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต หลัง พระธรรมเจดีย์ (จูม พันธุลเถระ )วัดโพธิสมภรณ์  จ.อุดรธานี ปี 25
เหรียญพระสุธรรมคณาจารย์(แดง) วัดป่าสามัคคีธรรม จ.กาฬสินธุ์ รุ่นแรก ปี 2521 มีโค๊ดนิยม
เหรียญหลวงปู่ฤทธิ์ วัดชลประทานราชดำริ อ.กระสัง จ.บุรีรัมย์ รุ่นแรก ปี ๒๕๓๗ พิมพ์เล็ก
เหรียญพระครูคัมภีรวุฒาจารย์(พระอาจารย์หนู) วัดทุ่งศรีวิไล ปี 18  เนื้อทองแดง จ.อุบลราชธานี
เหรียญพระอาจารย์ผัน วัดบุราณเรือง สกลนคร รุ่นแรก เนื้อทองแดง
พระกริ่งหลวงพ่อนิยม วัดป่าหลักร้อย จ.นครราชสีมา เนื้อทองผสม
เหรียญหลวงปู่พระครูวรพรตวิธาน วัดจุมพล ปี 18 เนื้อทองแดง
พระผงสมเด็จนางพญางิ้วดำ วัดใหม่บ้านดอน ปี พ.ศ.2517 พิมพ์เล็กยอดนิยม
พระนิมิตมงคลชัยสีมา วัดใหม่บ้านดอน นครราชสีมา  ปี ๒๕๑๗ พิมพ์กลาง
เหรียญหลวงปู่เครื่อง สุภัทโท วัดสระกำแพงใหญ่ รุ่นมหาลาภเสาร์ห้า เนื้ออัลปาก้า
เหรียญพระอาจารย์ผัน วัดบุราณเรือง สกลนคร ปี 2521 เนื้อทองแดง
เหรียญหลวงพ่อออน อมโร รุ่นแรก ปี ๒๕๑๗ เนื้อทองแดง บล็อคธรรมดา หน้านิยมมีกลาก
เหรียญพระสิงห์หนึ่ง วัดยางประชาสามัคคี อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร
เหรียญ พระสังกัจจาย วัดศรีบุญเรือง ปี ๒๐ มุคดาหาร จ.นครพนม
เหรียญ 8 เหลี่ยม อาจารย์มั่น ภูริทัตโต ปี ๒๕๑๕ รุ่นพิพิธภัณฑ์
พระอาจารย์อ่อน ญาณสิริ วัดป่านิโครธาราม
เหรียญพระอาจารย์นนท์ โกวิโท วัดป่านันทาสุทธาวาส นครพนม รุ่นแรก ปี 2519
เหรียญพระครูภาวนานุยุต วัดนาข่าศรีสุทธาวาส รุ่นพัดยศ
เหรียญหลวงปู่บัว เตมิโย วัดหลักศิลามงคล จ. นครพนม รุ่นแรก ปี 18
เหรียญหลวงพ่อผาง วัดอุดมคงคาคีรีเขตต์ ปี 18 หลังลายเซ็น เนื้อทองแดงรมดำ
เหรียญ พระพุทธ วัดสว่างโพธิ์ทอง ปี 2519 จ.ร้อยเอ็ด
เหรียญหลวงพ่อพวน วัดมงคลรัตน์ รุ่น ๑ เนื้อทองแดง จ.สุรินทร์
เหรียญหลวงพ่อออน อมโร รุ่นแรก ปี ๒๕๑๗ เนื้อทองแดงรมดำ บล็อคแตก นิยม
เหรียญหลวงพ่อผาง วัดอุดมคงคาคีรีเขตต์ รุ่นพิเศษ ปี ๑๗  เนื้อทองแดง
เหรียญร่วมพลังจิต หลวงพ่อผาง วัดอุดมคงคาคีรีเขตต์ รุ่น อนุเคราะห์ ปี ๑๘
เหรียญหลวงปู่ผาง วัดอุดมคงคาคีรีเขต ออกวัดสะอาด ปี 24 เนื้อทองแดง
เหรียญหลวงพ่อผาง รุ่นศูนย์การแพทย์อนามัย ปี 2519 เนื้ออัลปาก้ากะหลั่ยทองแจกกรรมการ
เหรียญหลวงพ่อคูณ วัดบ้านไร่ รุ่นมหาเศรษฐีมีมากมาย ปี 41 เนื้ออัลปาก้า
เหรียญหลวงพ่อพระใส วัดโพธิ์ชัย ปี 2518  เนื้อทองแดง
หลวงปู่สุข ธมฺมโชโต วัดโพธิ์ทรายทอง
เหรียญหลวงพ่อสิงห์ วัดหนองหิน  จ. ร้อยเอ็ด รุ่นนแรก เนื้อทองแดง
เหรียญหลวงปู่ทองมา ถาวโร วัดสว่างท่าสี รุ่นฉลองอายุ ๗๕ ปี พ.ศ. 18
เหรียญหล่อหลวงปู่ดี วัดโคกหินช้าง พิมพ์ใหญ่  รุ่น ๑  ต.สาหร่าย อ.ชุมพวง จ.นครราชสีมา
เหรียญกลมหลวงปู่ขาว อนาลโย วัดถ้ำกองเพล ปี 2511 บล็อกนิยม สระอี ซ้อน
กริ่งพระเจ้าใหญ่อินทร์แปลง วัดมหาวนาราม จ.อุบลราชธานี รุ่นเสาร์ห้า ปี ๒๕๓๙ เนื้อนวะโลหะ มีโค๊ด
เจ้าพ่อพญาแล ปี 21 เนื้อทองแดง มีโค๊ด บล็อคหลังนวะ

หน้าหลัก  ข่าวสารจากร้านค้า  วิธีการชำระเงิน  ติดต่อร้าน  บทความ  ผู้ดูแล
Copyright©2024 zoonphra.com/amulet
Powered by อ้น ระโนด