[ รายละเอียด ] เหรียญกลมเล็กเจ้าคุณนรฯ วัดเทพศิรินทร์ ปี 2514 พิธีพุทธาภิเษกใหญ่ หลวงปู่โต๊ะ วัดประดู่ฉิมพลี ร่วมปลุกเสกและคณาจารย์อีกหลายท่าน
" ท่านธมฺมวิตกฺโก ภิกขุ" หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า " เจ้าคุณนรฯ" หรือพระยานรรัตนราชมานิต เป็นผู้มีความกตัญญูสูงสุด มีสัจจะมั่นคง มีขันติวิระยะแรงกล้า มีเมตตา และทรงคุณธรรมอันประเสริฐ สามารถปฏิบัติธรรมสำเร็จผลสูงสุด ท่านจึงเป็นแบบอย่างที่ดีให้นสาธุชนได้เคารพกราบไหว้สักการะบูชา ในฐานะผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ และปฏิบัติออกจากทุกข์โดยแท้จริง
พระยานรรัตนราชมานิต มีนามเดิมว่า ตรึก จินตยานนท์ เกิดเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2440 ที่บ้านใกล้วัดโสมนัสวรวิหาร กรุงเทพฯ เป็นบุตรของพระนรราชภักดี (ตรอง จินตยานนท์ ) และนางนรราชภักดี ( พุก จินตยานนท์) ศึกษาชั้นประถมที่โรงเรียนวัดโสมนัสฯ ชั้นมัธยมศึกษาที่โรงเรียนวัดเบญจมบพิตร ชั้นอุดมศึกษาที่โรงเรียนข้าราชการพลเรือนหอวัง (ต่อมาได้ยกฐานะเป็นจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย ) ได้รับประกาศนียบัตรในวิชารัฐศาสตร์ เมื่อจบการศึกษาแล้ว ได้เข้าซ้อมรบเสือป่าที่ค่ายหลวง อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงทอดพระเนตรและพอพระราชหฤทัยจึงโปรดเกล้าฯ รับสั่งชวนให้เข้ารับราชการในราชสำนักนับแต่นั้นเป็นต้นมา ท่านได้เข้ารับราชการเริ่มแรกในกรมมหาดเล็กหลวง แผนกตั้งเครื่อง ตำแหน่งมหาดเล็กวิเศษ เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2475 และในระยะเวลาเพียง 9 ปี ท่านก็ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้า ฯให้เป็นเจ้ากรมห้องพระบรรทม มีบรรดาศักดิ์เป็น พระยานรรัตนราชมานิต เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2465 ขณะที่มีอายุ 25 ปี และได้เป็นองคมนตรีในรัชกาลที่ 6 เมื่อวันที่ 1 กรกฏาคม พ.ศ. 2467
ท่านมีความสนใจขวนขวายแสวงหาวิชาความรู้อยู่เสมอ โดยเฉพาะด้านภาษานอกจากนี้ได้แก่ศิลปการป้องกันตัว โยคศาสตร์ ซึ่งวิชาเหล่านี้ได้เป็นประโยชน์ต่อการรับราชการและสุขภาพของท่านในเวลาต่อมา ในตำแหน่ง ต้นห้องพระบรรทมพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวท่านได้ปฏิบัติงานด้วยความวิริยะอุตสาหะ ทุ่มเทกำลังกาย กำลังใจ ถวายชีวิตและความสุขส่วนตัว เพื่อพระองค์ท่านด้วยความจงรักภักดีและความกตัญญูเป็นที่ยิ่ง ด้วยความเอาใจ ใส่ต่อราชการ จึงทำให้ท่านก้าวหน้าในหน้าที่ราชการอย่างรวดเร็ว ท่านเจ้าคุณนรรัตนราชมานิต รับราชการจนกระทั่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต ขณะนั้น ท่านมีทั้งฐานะ ทั้งทรัพย์สมบัติ และโอกาสที่จะหาความเจริญในทางโลกต่อไปอย่างพร้อมมูล แต่ท่านได้สละทุกสิ่งทุกอย่างออกอุปสมบท เพื่ออุทิศพระราชกุศลถวาย แด่สมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องในงานถวายพระเพลิงพระบรมศพ เมื่อวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2468 ณ วัดเทพศิรินทราวาส โดยมีสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (เจริญ ญาณวรเถระ) เป็นพระอุปัชฌาชย์ ได้รับฉายาทางสมณเพศว่า "ธมฺมวิตกฺโก ภิกขุ" และท่านก็ได้ครองสมเพศตลอดมาจนถึงมรณภาพ
เมื่ออยู่ในสมณเพศ ท่านธมฺมวิตกฺโก มีชีวิตโดยเคร่งครัดในศีล และการประพฤติปฏิบัติธรรมเป็นอย่างยิ่ง ท่านไปลงโบสถ์ทำ วัตรเช้าและเย็นวันละ 2 ครั้ง และไม่ออกนอกวัดเพื่อไปในงานหรือกิจการใด ไม่พบปะพูดคุยกับผู้ใดนัก นอกจากการสนทนาธรรม ซึ่งท่าน ยินดีจะให้คำตอบและอธิบายอย่างเต็มใจเท่าที่สามารถกระทำได้ และเนื่องจากท่านเป็นสมณะที่เคร่งครัด อุดมไปด้วยศีลาจารวัตรที่งดงาม จึงมีผู้คนไปขอพรท่านเป็นจำนวนมาก จนท่านได้เขียนโอวาทไว้ว่า "ทำดี ดีกว่าขอพร" คือให้ทุกคนตั้งใจพยายามทำแต่กรรมดี โดยไม่มี ความเกรงกลัวหวั่นไหวต่ออุปสรรคใดๆ เลื่อมใสในคุณพระรัตนตรัย ก็จะทำให้บุคคลนั้นมีความสุขและมีความเจริญสำเร็จสมประสงค์
ตลอดระยะเวลาที่ท่านอยู่ในสมณเพศเป็นระยะเวลา 46 ปีเต็ม นับได้กว่า15,000 วัน ไม่มีวันใดเลยที่ท่านจะว่างเว้นจากการ กรวดน้ำอุทิศถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และในวันที่ 25 พฤศจิกายนของทุกปี ซึ่งเป็นวันเสด็จสวรรคต ของพระองค์ ท่านธมฺมวิตกฺโก ก็จะงดเว้นการฉันอาหาร 1 วัน และนั่งกระทำสมาธิตลอดคืน เพื่อน้อมจิตอุทิศถวายกุศลผลบุญที่ได้ปฏิบัติมา โดยตลอด แด่พระองค์ท่านและได้บำเพ็ญกุศลต่างๆ เพื่อน้อมอุทิศถวายเป็นพระราชกุศลอีกเป็นอเนกประการ ส่วนสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ พระอุปัชฌาชย์ ท่านธมฺมวิตกฺโก มีความเคารพเลื่อมใสเป็นอย่างยิ่งเพราะท่านเป็นพระเถระ ที่สงบเคร่งครัดต่อการประพฤติปฏิบัติและมีเมตตาสูง ท่านได้เพียรพยายามประพฤติปฏิบัติตามคำอบรมสั่งสอนอย่างเคร่งครัดและรับใช้ใกล้ชิด ในสิ่งที่พึงปฏิบัติได้ ครั้นเมื่อ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ถึงแก่มรณภาพ งานบำเพ็ญกุศล วันคล้ายวันมรณภาพวันที่ 8 มิถุนายน เวียนมาถึงแต่ละปี ตอนเช้าท่านธมฺมวิตกฺโก จะเดินส่งอัฐิที่อัญเชิญเข้าประดิษฐานในพระอุโบสถเป็นประจำทุกปีไม่เคยขาด และรับเป็นเจ้าภาพเครื่องไทยธรรมสำหรับถวาย พระสวดมนต์และพระเทศน์เป็นประจำตลอดชีวิต
นอกจากนี้ท่านธมฺมวิตกฺโก ยังมีความกตัญญูกตเวที โดยเฉพาะกับบุพการีและผู้มีพระคุณเป็นอย่างยิ่งเมื่อครั้งที่ยังรับราชการ ทุกคราวที่มาถึงบ้านและกลับไปเข้าวัง จะต้องมากราบคุณแม่และคุณยายทั้งขามาและขากลับ เงินเดือนที่ได้รับจากการทำงาน จะนำมามอบ ให้คุณแม่ทั้งหมด แล้วขอไปใช้ส่วนตัวเท่าที่จำเป็นเท่านั้น อีกทั้งอบรมสั่งสอนให้น้องๆ ช่วยเหลือดูแลคุณพ่อ,คุณแม่และคุณยายเพื่อตอบ แทนพระคุณ จึงนับได้ว่าท่านเป็นคนที่มีความกตัญญูอย่างแท้จริง
ตั้งแต่ท่านธมฺมวิตกฺโก อุปสมบท ไม่เคยปรากฎว่า ท่านแสดงธรรมเทศนาที่ใด แม้โอวาทของท่านก็มีเพียงสั้นๆ แต่ท่าน จะฟังเทศน์ที่พระเณรรูปอื่นเทศน์ในพระอุโบสถ โดยความเคารพอย่างสูงทุกครั้ง แสดงให้เห็นว่า การเคารพธรรมอย่างสูงไม่ควรเลือกว่าใครพูด ใครแสดง ถ้าเป็นธรรมประกอบด้วยเหตุผลของท่านผู้รู้แล้ว ประเสริฐทั้งสิ้น
ธรรมเทศนาของท่านธมฺมวิตกฺโก จึงค่อนข้างจะหาได้ยาก เพราะท่านถนัดในการปฏิบัติให้เป็นแบบอย่างมากกว่าการเทศน์ให้ฟัง ธรรมที่ท่านแสดงไว้เมื่อพิมพ์แล้วเป็นเพียงสมุดเล่มเล็กๆ มีเนื้อความเพียง 22 หน้ากระดาษ และเป็นเรื่องสั้นๆ ได้ 9 บท ดังนี้
สันติวรบท โอวาทของธมฺมวิตกฺโกภิกขุ วัดเทพศิรินทราวาส ๑. Personal magnet ๒. เมตตา ๓. สบายใจ ๔. สันติสุข ๕. ทำอะไรไม่ผิดเลย....ก็คือไม่ทำอะไรเลย ๖. สติสัมปชัญญะ ๗. อานุภาพของ....ไตรสิกขา ๘. ดอกมะลิ ๙. "ทำดี ดีกว่าขอพร"
๑. Personal magnet เรื่องที่มีคนเมตตากรุณา เห็นอกเห็นใจนั้นเป็นเพราะ คุณธรรมความดี ของตนเองหลายประการด้วยกันเป็นต้นว่ามี วิริยะ อุตสาหะ บากบั่น เข้มแข็ง แรงกล้า และจิตใจเมตตากรุณา ไม่เย่อหยิ่งจองหอง เป็นเหตุให้ผู้ที่แวดล้อมอยู่ เกิดความเมตตา กรุณารักใคร่เห็นอกเห็นใจ คิดที่จะช่วยเหลือ คนซึ่งมี กิริยามารยาทอ่อนโยน สุภาพ นิ่มนวลย่อมเป็นที่เสน่หารักใคร่ ของ คนที่ได้พบเห็นและพยายามที่จะช่วยเหลือ นี่เป็น Personal Magnet คือ เสน่ห์ในตัวเอง เพราะฉะนั้น จงพยายามรักษาคุณสมบัติดังกล่าวนี้ไว้ จะเป็น เครื่องช่วยตัวเองให้บรรลุความ สำเร็จสมประสงค์ทุกประการทุกกาลเวลา ทั้งปัจจุบันและอนาคต
๒. เมตตา อย่ากลัว จงรักษาตัวให้บริสุทธิ์ ไม่มีอะไรทำอันตรายได้ จงจำไว้ว่า ถ้าปรารถนาความเมตตาและความเห็นอกเห็นใจจากผู้อื่น ก็ควรส่งกระแสใจที่ประกอบด้วยความเมตตา และความเห็นอกเห็นใจไปยังท่าน เหล่านั้น แล้วก็จะได้รับความเมตตาและความเห็นอกเห็นใจจากท่านเหล่านั้นเช่นเดียวกัน นี่เป็นกฏของจิตตนุภาพแล้วความสำเร็จทั้งหลายที่ปรารถนา ก็จะบังเกิดแก่ตน สมประสงค์ทุกประการเป็นแน่นอนไม่ต้องสงสัยเลย
๓. สบายใจ คำว่า "ไม่สบายใจ" อย่าใช้ และอย่าให้มีขึ้นในใจต่อไป "Let it go,and it out!" ก่อนจะเกิด Let it go!ปล่อยผ่านไปอย่ารับเอาความไม่สบายใจไว้ ถ้าเผลอไปมันแอบเข้ามาอยู่ในใจได้ พอมีสติรู้สึกตัวว่าไม่สบายใจไว้ในใจ ต้อง Get it out! ขับมันออกไปทันที อย่าเลี้ยงเอาความไม่สบายใจไว้ในใจจะเคยตัว ทีหลังจะเป็นคนอ่อนแอออดแอดทำอะไรผิดพลาดนิด ๆ หน่อย ๆ ก็ไม่สบายใจเคยตัวเพราะความไม่สบายใจนี้แหละเป็นศัตรู เป็นมาร ทำให้ใจไม่สงบ ประสาทสมองไม่ปกติ เป็นเหตุให้ร่างกายผิดปกติ พลอยไม่สงบไม่สบายด้วย ทำให้สมองทึบไม่ปลอดโปร่งเป็น habit ความเคยชินที่ไม่ดีเป็นอุปสรรคกีดกั้นขัดขวาง สติปัญญาไม่ให้ปลอด โปร่งแจ่มใส ต้องฝึกหัดแก้ไขปรับปรุงจิตใจใหม่ ทั้งก่อนที่จะทำอะไรหรือกำลังกระทำอยู่ และเมื่อเวลากระทำเสร็จแล้วต้องหัดจิตใจแช่มชื่น รื่นเริง เกิดปิติปราโมทย์เป็นสุขสบายอยู่เสมอ เป็นเหตุให้เกิดกำลังกาย กำลังใจ Enjoy living มีชีวิตอยู่ด้วยความเบิกบาน สมองจึงเบิกบาน จะศึกษาเล่าเรียนก็เข้าใจจำได้ง่ายเหมือนดอกไม้ที่แย้มเบิกบานต้อนรับหยาดน้ำค้างและอากาศอันบริสุทธิ์ฉะนั้น
๔. สันติสุข พระพุทธเจ้าสอนว่า "นตฺถิ สนฺติปรํ สุขํ" "สุขอื่นยิ่งกว่าความสงบไม่มี" หมายความว่า ความสุขอื่นมี เช่น ความสุขในการดูละคร ดูหนังการเข้าสังคม Social ในการมีคู่รักคู่ครองหรือ ในการมีลาภยศได้รับความสุข สรรเสริญ และได้รับความสุขจากสิ่งเหล่านี้ ก็สุขจริงแต่ว่า สุขเหล่านี้มีทุกข์ซ้อนอยู่ทุกอย่างต้อง คอยแก้ไขปรับปรุงกันอยู่เสมอ ไม่เหมือนกับความสุขที่เกิดจากสันติความสงบซึ่งเป็นความสุขที่เยือกเย็นและไม่ซ้อนด้วยความทุกข์ และไม่ต้องแก้ไขปรับปรุงตกแต่งมากเป็นความสุขที่ทำได้ง่ายเกิดกับกายใจของคนเรานี่เอง อยู่ในที่เงียบๆคน เดียว ก็ทำได้ หรืออยู่ ในสิ่งแวดล้อมสังคมก็ทำได้ ถ้าเรารู้จักแยกใจหาสันติสุขกายนี้ก็เพียงสักแต่ว่าอยู่ในที่ระคนด้วยความยุ่งสิ่งแวดล้อมเหล่านั้นไม่ยุ่งมา ถึงใจแม้เวลาเจ็บหนักมีทุกขเวทนาปวดร้าวไปทั่วกาย แต่เรารู้จักทำใจให้เป็นสันติสุขได้ ความเจ็บนั้นก็ไม่สามารถจะทำให้ใจเดือดร้อน ตามไปด้วย เมื่อใจสงบแล้ว กลับทำให้กายนั้นสงบหายทุกขเวทนาได้ด้วยและประสบสันติสุข ซึ่งไม่มีสุขอื่นยิ่งกว่าสันติสุขนั้น พระพุทธเจ้าสอนให้ฝึกเป็น ๓ ทางคือ ๑. สอนให้สงบกายวาจาด้วยศีลไม่ทำโทษทุจริตอย่างหยาบที่เกิดทางกาย วาจาเป็นต้นเหตุสันติสุข ทางกายวาจา เป็นประการต้น ๒. สอนให้ฝึกหัดให้เกิดสันติสุขทางใจด้วยสมาธิ หัดใจไม่ให้คิดถึงเรื่อง ความกำหนัด ความโกรธ ความโลภ ความหลง ความกลัว ความฟุ้งซ่านรำคาญ ความลังเลใจ ทำให้ใจไม่เด็ดเดี่ยว ไม่เด็ดขาด เมื่อสิ่งเหล่านี้ได้ เป็นเหตุให้ใจสงบ เป็นสันติสุข ทางจิตใจอีกประการหนึ่ง ๓. ทรงสอนให้ฝึกหัดให้เกิดสันติสุขทางทิฏฐิ ความเห็นด้วย ปัญญาพิจารณาให้เห็นว่า สรรพสิ่งทั้งหลายไม่แน่นอน เป็นอนิจจัง ไม่เที่ยงคงทนอยู่ไม่ได้ คือเสื่อมสิ้น แปรปรวน ดับไปเรียกว่าเป็นทุกข์ ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชา อ้อนวอนขอร้องเร่งรัด ให้เป็นไปตามความประสงค์เรียกว่า อนัตตา เมื่อเรารู้เห็นความเป็นจริงเช่นนี้ จะทำให้จิตใจของเราเข้มแข็งมั่นคง เด็ดเดี่ยว ไม่หวั่นไหวไปตามเหตุการณ์ทั้งหลายเพราะ รู้เห็นตามความเป็นจริงด้วยปัญญาว่าสิ่งเหล่านั้นไม่แน่นอน มันคงอยู่ไม่ได้ ต้องเปลี่ยนแปลง เสื่อมสิ้นดับไปไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาฝ่า ฝืนของเรา อย่าไปเร่งรัดให้เสียกำลังใจคงรักษาใจให้เป็นอิสระมั่นคงอยู่เสมอ ไม่หวั่นไหวไปตามเหตุการณ์เหล่านั้น เป็นเหตุให้ใจตั้งอยู่ใน สันติสุข เป็นอิสระที่เกิดอำนาจทางจิตใจ Mind power ที่จะใช้ทำกิจกรณียะอันเป็นหน้าที่ของตนได้สำเร็จสมประสงค์ "นตฺถิ สนฺติปรํ สุขํ" สุขอื่นยิ่งกว่าความสงบไม่มี It needs a Peaceful Mind to support a Peaceful Body,and it needs a Peaceful Body to support a Peaceful Mind, and it needs Both Peaceful and Mind to attain all success that which you wish.
๕. ทำอะไรไม่ผิดเลย ก็คือไม่ทำอะไรเลย Do no wrong is do nothing จงระลึกถึงคติพจน์ว่า Do No wrong is do nothing ทำอะไรไม่ผิดเลย ก็คือไม่ทำอะไรเลย ความผิดนี้แหละเป็นครูอย่างดี ควรจะรู้สึกบุญคุณของตัวเอง ที่ทำอะไรผิดพลาด และควรสบายใจที่ได้พบกับอาจารย์ผู้วิเศษ คือความผิดจะได้ตรงกับคำว่า เจ็บแล้วต้องจำ ! ตัวเองทำผิดเอง นี้แหละ เป็นอาจารย์ผู้วิเศษ เป็น Good example ตัวอย่างที่ดี เพื่อจะได้จด จำไว้สังวรระวังไม่ให้ผิดต่อไป แล้วตั้งต้นใหม่ด้วยความไม่เลินเล่อเผลอประมาทอดีตที่ผิดไปแล้วก็ผ่านพ้นล่วงเลยไปแล้ว แต่อาจารย์ผู้ วิเศษยังคงอยู่คอยกระซิบเตือนใจอยู่เสมอทุกขณะว่า ระวัง ! อย่าประมาทนะ! อย่าให้ผิดพลาดเช่นนั้นอีกนะ ผิดหนึ่งพึงจดไว้ ในสมอง เร่งระวังผิดสอง ภายหน้า สามผิดเร่งคิดตรอง จงหนัก เพื่อนเอย ถึงสี่อีกที่ห้า หกซ้ำอภัยไฉน ! จงสังเกตพิจารณาดูให้ดีเถิด จะเห็นได้ว่านักค้นคว้าวิทยาศาสตร์ทางโลกก็ดีและท่านผู้วิเศษที่เป็นศาสดาอาจารย์ ในทางธรรมทั้งหลายก็ดี ล้วนแต่ผ่านพ้น อุปสรรคความผิดพลาดนับครั้งไม่ถ้วนด้วยกันมาแล้วด้วยกันทุกส่วน
๖. สติสัมปชัญญะ(ความระลึกได้ และความรู้ตัว) ที่จะทำอะไรไม่ผิดนั้น ข้อสำคัญอยู่ที่สติ ถ้ามีสติคุ้มครองกายวาจาใจอยู่ทุกขณะจะทำอะไรไม่ผิดพลาดเลย ที่ผิดพลาดเพราะขาดสติ คือ เผลอเหม่อ เลินเล่อ ประมาท ระเริง หลงลืม จึงผิดพลาด จงนึกถึงคติพจน์ว่า กุมสติต่างโล่ป้อง อาจแกล้วกลางสนาม ธรรมดาชีวิตทุกชนิด ทั้งมนุษย์และสัตว์ตลอดทั้งพืชพันธุ์พฤกษาชาติเป็นอยู่ได้ ด้วยการต่อสู้ตรงกับคำว่า Life is fighting ชีวิตคือการต่อสู้ เมื่อต่อสู้ไม่ไหวขณะใด ก็ต้องที่สุดแห่งชีวิต คือ death ความตาย เพราะฉะนั้นยังมีสติอยู่ตราบใดถึงตายก็ตายแต่กาย เช่นกับชีวิตพระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ท่านมีสติไพบูลย์อยู่ทุกขณะจิต ท่านจึงทำอะไรไม่ผิดและถึงซึ่งอมตธรรม คือ ธรรมที่ไม่ตาย ตรงกับคำว่า Immortal จึงเรียกว่าปรินิพพาน คือนามรูปสังขารร่างกาย ที่เรียกว่าเบญจขันธ์ ขันธ์ ๕ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ แตกดับไปเท่านั้น เพราะฉะนั้น ควรฝึกฝนสติ (ความระลึกรู้ก่อนทำ ก่อนพูด ก่อนคิด) สัมปชัญญะ(รู้ตัวอยู่ทุกขณะที่กำลังทำอยู่ พูดอยู่ คิดอยู่) เมื่อทำเสร็จแล้ว ก็มีสติตรวจตราพิจารณาดูว่าบกพร่องอย่างไร หรือเรียบร้อยบริบูรณ์ดี ถ้าบกพร่องก็รีบแก้ไขเพื่อ ให้สมบูรณ์ต่อไป ถ้าเรียบร้อยดีอยู่แล้ว ก็พยายามให้เรียบร้อยดียิ่งๆ ขึ้นไปจนถึงที่สุด
๗. อานุภาพของไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ ปัญญาด้วยอานุภาพของไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ ปัญญานี้แล จึงชนะข้าศึกคือ กิเลสอย่างละเอียดได้ ! ๑. ชนะความหยาบคาย ซึ่งเป็นกิเลสอย่างหยาบที่ล่วงทางกายวาจาได้ ด้วยศีล ! ชนะความยินดียินร้าย หลงรัก หลงชัง ซึ่งเป็นกิเลสอย่างกลางที่เกิดในใจได้ด้วยสมาธิ ชนะความเข้าใจ รู้ผิดเห็นผิด จากความเป็นจริงของสังขารซึ่งเป็นกิเลสอย่างกลางที่เกิดในใจได้ด้วยสมาธิ ! ชนะความเข้าใจ รู้ผิดเห็นผิด จากความเป็นจริงของสังขารซึ่งเป็นกิเลสอย่างละเอียดได้ด้วยปัญญา ! ๒. ผู้ใดศึกษาและปฏิบัติตามไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ ปัญญานี้ โดยพร้อมมูล บริบูรณ์ สมบูรณ์แล้ว ผู้นั้นจึงเป็นผู้จากทุกข์ทั้งปวงได้ เป็นแน่นอน ไม่ต้องสงสัยเลย! เพราะฉะนั้นจึงควรสนใจ เอาใจใส่ ตั้งใจศึกษา และปฏิบัติตามไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ ปัญญานี้ทุกเมื่อเทอญ
๘. ดอกมะลิ ดอกมะลิ เป็นดอกไม้ที่ถูกรับรองแล้วว่าเป็นดอกไม้ที่หอมเย็นชื่นใจที่สุดและขาวบริสุทธิ์ที่สุดในบรรดาดอกไม้ทั้งหลาย ชีวิตของมนุษย์ที่เป็นอยู่ก็เช่นเดียวกับการละคร ขอให้เป็นตัวเอกที่มีชื่อเสียงที่สุดเช่นเดียวหรือลักษณะเดียวกับดอกมะลิ อย่าเป็นตัวผู้ร้ายที่เลวที่สุด และ ให้เห็นว่าดอกมะลินี้จะบานเต็มที่เพียง ๒-๓ วันก็จะเ*่ยวเฉาไป ฉะนั้นขอให้ทำตัวให้ดีที่สุด เมื่อยังมีชีวิตอยู่ให้หอมที่สุดเหมือนดอกมะลิที่เริ่ม แย้มบานฉะนั้น "จงเลือกทำแต่กรรมที่ดี ๆ"
๙. "ทำดี ดีกว่าขอพร" "จงเลือกทำแต่กรรมที่ดี ๆ นะ !" เตือนให้เตรียมตัวไว้ดำเนินชีวิตต่อไปเป็นตัวแทนคำอวยพรอย่างสูงสุดประกอบด้วยเหตุผล เมื่อทำกรรมดีแล้ว ไม่ให้พรก็ต้องดี เมื่อทำกรรมชั่วแล้วจะมาเสกสรรปั้นแต่งอวยพรอย่างไรก็ดีไม่ได้ ทำชั่วเหมือนโยนหินลงน้ำจะต้องจมทันที ไม่มีผู้วิเศษใด ๆ จะมาเสกเป่าอวยพรอ้อนวอนขอร้องให้หินขึ้นมาได้ ทำกรรมชั่วจะต้องล่มจมป่นปี้เสียราศีเกียรติคุณชื่อเสียง เหมือนก้อนหินหนักจมลงไปอยู่กับโคลนใต้น้ำ ทำดีเหมือนน้ำมันเบา เมื่อเทลงน้ำ ย่อมลอยเป็นประกายมันปลาบอยู่เหนือน้ำ ทำกรรมดี ย่อมมีสง่าราศี มีเกียรติคุณชื่อเสียง มีแต่คนเคารพนับถือยกย่องบูชาเฟื่องฟุ้งฟูลอยเหมือนน้ำมันลอย ถึงจะมีศัตรูหมู่ร้ายจงใจเกลียดชังมุ่งร้าย อิจฉาริษยาแช่งด่าให้จมก็ไม่สามารถจะเป็นไปได้ กลับจะแพ้เป็นภัยแก่ตัวเอง ขอให้จงตั้ง ใจกล้าหาญพยายามทำแต่กรรมดี ๆ โดยไม่มีความเกรงกลัวหวั่นไหวต่อ อุปสรรคใดๆทั้งสิ้น ผู้ที่มีความเลื่อมใสในคุณพระรัตนตรัย ผู้ที่มีโชคดี ผู้ที่มีความสุขและผู้ที่มีความเจริญประสงค์ใดสำเร็จสมประสงค์ ก็คือผู้ประกอบกรรม ทำแต่ความดีอย่างเดียวนั่นเอง นอกจากนี้ยังมีโอวาทที่น่าสนใจ อีกบางข้อเช่น "คนเราเมื่อมีลาภก็มีเสื่อมลาภ เมื่อมียศก็มีเสื่อมยศ เมื่อมีสุขก็มีทุกข์ เมื่อมีสรรเสริญก็มีนินทา เป็นของคู่กันมาเช่นนี้ จะไปถือสาอะไรกับปากมนุษย์ ถึงจะดีแสนดีมันก็ติ ถึงจะชั่วแสนชั่วมันก็ชม นับประสาอะไร พระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐเลิศยิ่งกว่ามนุษย์ และเทวดายังมีมารผจญ ยังมีนินทาติเตียน ปุถุชนอย่างเรา จะรอดพ้นจากโลกธรรมดังกล่าวแล้วไม่ได้ ต้องคิดเสียว่าเขาจะติก็ช่าง ชมก็ช่าง เราไม่ได้ทำอะไรให้เขาเดือดเนื้อร้อนใจ ก่อนที่เราจะทำอะไรเราคิดแล้วว่า ไม่เดือดร้อนแก่ตัวเราแลคนอื่น เราจึงทำ เขาจะนินทาว่าใส่ร้าย อย่างไรก็ช่างเขา บุญเราทำกรรมเราไม่สร้าง พยายามสงบกาย สงบวาจา สงบใจ จะต้องไปกังวลกลัวใคร ติเตียนทำไม ไม่เห็นมีประโยชน์ เปลืองความคิดเปล่าๆ " ท่านธมฺมวิตกฺโก ได้ชักชวนให้สาธุชนจดจำพระคาถาในหนังสือสันติวรบทความว่า " บุคคลประพฤติสุจริตธรรม ในเวลาใด เวลานั้น ย่อมเป็นฤกษ์ดี มงคลดี แสงสว่างดี การตั้งมั่นดี เป็นขณะดี เป็นยามดี การบูชาที่ดี ในท่านผู้ประพฤติพรหมจรรย์ทั้งหลาย การกระทำทางกาย วาจาใจ เป็นปทักษิณ ควรทำให้อยู่เบื้องขวา คือ ควรเชิดชู, คุณธรรมที่ควรเชิดชู เป็นอันตั้งไว้แล้ว บุคคลทำการที่เชิดชู ทั้งหลายแล้ว ย่อมได้รับประโยชน์อันควรเชิดชูเช่นกัน " ท่านธมฺมวิตกฺโก ได้ถึงแก่มรณภาพด้วนโรคมะเร็ง เมื่อวันที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2514 เมื่อท่านอายุได้ 74 ปี ครองสมณเพศเป็นเวลา 46 ปี การปฏิบัติของท่านเป็นตัวอย่างที่ประเสริฐยิ่ง สมควรแก่การจดจำรำลึกของสาธุชนทั่วไป
|