[ รายละเอียด ] เหรียญหลวงพ่อแดง หลังหลวงพ่อเจริญ วัดเขาบันไดอิฐ จ. เพชรบุรี ปี 14 เนื้อทองแดงiรมดำ บล็อคพื้นเหรียญมีเส้นตาราง รุ่นนี้ออกที่วัดพลับพลา จังหวัดเพชรบุรี ปลุกเสกด้วยหลวงพ่อแดง หลวงพ่อเจริญ และหลวงปู่โต๊ะร่วมปลุกเสกด้วย มีประสบการณ์มากมาย
วัดพลับพลาชัยตำบลคลองกระแชงอำเภอเมืองเพชรบุรีจังหวัดเพชรบุรี
วัดพลับพลาชัยสร้างขึ้นในปลายสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีตกอยู่ในระหว่าง พ.ศ.๒๒๒๙ ถึง ๒๓๑๐ ในสมัยของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๔ พระเจ้าอยู่หัวบรมโกษ โดยบรรดาขุนนางพ่อค้าคหบดีและประชาชน รวมทุนกันสร้างขึ้น
เดิมที่ดินอันเป็นที่ตั้งวัดนี้ เคยเป็นที่ประชุมกองทัพ เป็นที่ฝึกอาวุธของทแกล้วทหารทั้งปวง จึงเป็นที่หลวง ได้เคยมีพลับพลาที่ประทับของพระมหากษัตริย์ ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเพชรบุรีด้วย เมื่อได้ก่อสร้างวัดขึ้นแล้ว จึงตั้งชื่อวัดว่า พลับพลาชัย อันเป็นมงคลนามเรียกขานกันมากว่า ๒๐๐ ปีแล้ว
ที่ตั้งวัดในปัจจุบันนี้ อยู่ตรงใจกลางเมืองเพชรบุรี ทิศตะวันออกจดแม่น้ำเพชรบุรี ทิศตะว้นตกติดวัดและทางเดินเข้าวัดแก่นเหล็ก ทิศเหนือติดกับโบสถ์ศรีพิมลธรรม(คริสต์จักรที่ ๑๗) และมีอาคารร้านค้า และห้างสรรพสินค้าสุริยะ ทิศใต้ติดตรอกทางเดินเข้าวัดแก่นเหล็ก
มีถนนดำเนินเกษมตัดจากศาลากลางจังหวัดไปยังพระราชวังรามนิเวศน์(วังบ้านปืน)ถนนได้แบ่งวัดออกเป็น ๒ ส่วน ส่วนทางด้านตะวันออก เป็นที่ตั้งอุโบสถ วิหาร ศาลาการเปรียญ เป็นส่วนพุทธาวาส ส่วนทางด้านตะวันตกเป็นที่ตั้งอาคารโรงเรียนปริยัติธรรม กุฏิเสนาสนะสงฆ์ ศาลาฌาปนสถาน เป็นส่วนสังฆาวาส แยกจากกัน
หลักฐานที่ยืนยันอันแน่ชัดได้ว่า
วัดพลับพลาชัยได้สร้างมาแต่สมัยศรีอยุธยายุคปลาย ก็คือพระประธานในอุโบสถซึ่งเป็นพระพุทธรูปปูนปั้นแบบสุโขทัย หน้าตักกว้าง ๑๗๐ เซ็นติเมตร ปิดทองคำเปลว ประทับบนฐานปัทมามาศสูงจากฐานเชียง ๑๕๕ เซ็นติเมตร ฐานปัทมามาศประดับด้วยกระจกสีต่างๆฐานเชียงสูงจากพื้นอุโบสถถึงองค์พระ ๒ เมตร ๕๕ เซ็นติเมตร พระพุทธรูปปั้นทรงนี้ มักนิยมสร้างกันมากในสมัยอยุธยาตอนปลาย
สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ทรงมาเห็น และทรงให้คำรับรองว่า เป็นฝีมือปั้นของช่างในสมัยศรีอยุธยาตอนปลายแน่นอน นอกจากนี้ยังมีหลักฐานปรากฎด้วยว่าในรัชสมัยของสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ ๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ วัดพลับพลาชัยได้สร้างขึ้นมาแล้วเมื่อประมาณ พ.ศ.๒๓๔๐ ได้มีพระภิกษุเชื้อสายจีนผู้หนึ่งได้เป็นเจ้าอาวาส ท่านได้รื้อถอนอุโบสถหลังเก่าที่ชำรุดทรุดโทรมแล้วสร้างหลังใหม่ขึ้นแทนที่ โดยสร้างแบบก่ออิฐถือปูนในเขตวิสุงคามสีมาเดิม และได้อัญเชิญพระประธานองค์เดิมเข้ามาประดิษฐานในอุโบสถ หลังใหม่ตอไป
ที่หน้าอุโบสถหลังใหม่ ท่านได้สร้างเก๋งจีนขึ้นหลังหนึ่ง ก่อด้วยอิฐถือปูนเพื่อใช้เป็นที่บรรเลงดนตรีในเวลามีผุ้นำนาคมาอุปสมบท และหอระฆัง(ดังในภาพ)
ที่หน้าอุโบสถมีสิงห์โตหินอยู่คู่หนึ่ง(ปัจจุบันหายไปแล้ว)สิงห์โตหินคู่นี้นัยว่ามีพ่อค้าจีนนำมาถวายท่านไว้ และเป็นสิงห์โตที่แกะสลักมาจากเมืองจีน เพราะในยุคปลายกรุงศรีอยุธยาติดต่อกับสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ไทยกับจีนเริ่มมีการค้าติดต่อกันแล้ว รูปสิงห์โต รูปตุ๊กตาเมืองจีน พ่อค้ามักใช้เป็นอับเฉาถ่วงเรือสำเภาในสมัยนั้น
ต่อมาเจ้าอาวาสเชื้อจีนรูปนี้ได้สร้างศาลาแรเปรียญขึ้นอีก ๑ หลัง สร้างถัดจากวิหารไปทางทิศเหนือ โดยสร้างเป็นแบบทรงไดยสมัยอยุธยา แต่มีบันไดด้านข้างทิศใต้ ก่อด้วยอิฐถือปูน ๒ บันได ขึ้นลงคนละทาง คล้ายๆ กับบ้านขุนนางจีนในกรุงปักกิ่ง
เก๋งจีนหน้าอุโบสถยังคงมีอยุ่จนทุกวันนี้
เนื่องจากเจ้าอาวาสเชื้อสายจีนรูปนี้ ไม่ว่าท่านจะปลูกสร้างถาวรวัตถุชิ้นใดลวไว้ในวัดพลับพลาชัย ท่านมักจะทิ้งศิลปะแบบจีนไว้ด้วย ชาวบ้านจึงพากันเรียกชื่อท่านว่า หลวงพ่อจีน จนติดปากทั่วไป ทำให้เราไม่อาจสืบทราบนามจริง และประวัติของท่านให้แน่ชัดได้
แม้ในสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์นี้พม่าได้ยกกองทัพใหญ่(สงคราม ๙ ทัพ)เข้ามารุกรานประเทศไทย สมเด็จกรมพระราชวังบวรสถานมงคล(วังหน้า)ได้ยกทัพเรือมาทางอำเภอบ้านแหลม และมาขึ้นบกที่หน้าวัดพลับพลาชัย แล้วจึงเดินทัพไปทางอำเภอชะอำ สามร้อยยอด เพื่อไปตีเมืองถลางคืน
แม้ในรัชสมัยของสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยุ่หัว สุนทรภู่ เจ้ากรมพระอาลักษณ์ ได้มาราชการในจังหวัดเพชรบุรีโดยทางเรือ ก็ได้บรรยายถึงวัดพลับพลาชัยไว้ในนิราศเมืองเพชรบุรีของท่าน แสดงให้เห็นโดยชัดเจนว่า วัดพลับพลาชัย ได้สร้างมานานแล้ว และได้เจริญรุ่งเรืองมาช้านานแล้วด้วย
ฯลฯ ถึงคุ้งเคี้ยวเลี้ยวลดชื่อคดอ้อย ตะวันคล้อยคล้ำฟ้าในราศี
ค่อยคล่องแคล่วแจวรีบถึงพริบพรี ประทับที่หน้าท่าพลับพลาชัย
ด้วยวัดนี้ที่สำหรับประทับร้อน นรินทรท้าวพระยามาอาศัย
ขอเดชะอานุภาพช่วยปราบภัย ให้มีชัยเหมือนนามอารามเมือง
ดูเรือแพแซ่ซร้องทั้งสองฟาก บ้างขายหมากขายพลูหนวกหูเหือง
นอนค้างคืนตื่นเช้าเห็นชาวเมือง ดูนองเนืองนาวาบ้างมาไปฯลฯ
|