[ รายละเอียด ] เหรียญหลวงปู่บาง วัดสโมสร ปี 36 พิมพ์นั่งเต็มองค์เนื้อทองแดงผิวไฟ สภาพสวยมาก สร้างน้อยหายาก มีเนื้อทองแดงอย่างเดียว 5000 เหรียญ นับได้ว่าเป็นรุ่นหนึ่งทีมีประสพการณ์ ออกแบบได้สวยงาม คม ชัด ลึก และเป็นเหรียญที่หายากมากในขณะนี้
ระหว่างวันที่ ๖-๘ มีนาคม ๒๕๕๒ นี้ ที่ วัดสโมสร ต.ไทรใหญ่ อ.ไทรน้อย จ.นนทบุรี ได้จัดพิธีพระราชทานเพลิงศพ พระครูปัญญานนทคุณ หรือ หลวงปู่บาง อดีตเจ้าอาวาสวัดสโมสร พระเกจิอาจารย์ที่ชาวมอญกระทุ่มมืด รวมทั้งชาวมอญปทุมธานี และสมุทรสาคร ให้ความเคารพนับถือเป็นอย่างยิ่ง
ทั้งนี้ คณะศิษย์ได้ร่วมกันจัดสร้างหีบบรรจุศพ และปราสาทอย่างงดงามวิจิตรพิสดาร ซึ่งไม่บ่อยครั้งมากนักที่จะได้เห็น ทั้งนี้ในวันอาทิตย์ที่ ๘ มีนาคม ซึ่งเป็นวันพระราชทานเพลิงศพ เวลา ๑๖.๐๐ น.
อ.สมพิศ มงคลพันธ์ ช่างควบคุมการก่อสร้างปราสาท บอกว่า เมื่อมีพระมอญรูปหนึ่งรูปใดมรณภาพลง โดยเฉพาะพระชั้นผู้ใหญ่ที่มีพรรษาสูง มีศีลจารวัตรที่งดงาม ไม่ด่างพร้อย การจัดงานศพจึงค่อนข้างยิ่งใหญ่กว่าศพคนธรรมดาสามัญทั่วไป ด้วยการสร้างปราสาทสำหรับตั้งศพ พระรูปใดที่มีคุณสมบัติดีเลิศ ลูกศิษย์จะสร้างปราสาทให้ถึง ๙ ยอด พระรูปใดที่มีคุณสมบัติทางพรรษา และคุณธรรมน้อย ยอดปราสาทก็จะลดน้อยลงตามลำดับ เพราะราคาปราสาทนั้นแพงมาก ประกอบกับช่างฝีมือชาวมอญก็หายาก และมีจำนวนน้อยลงเรื่อยๆ
ตัวปราสาทจะทำจากไม้ และกระดาษ ตามพิธีของมอญโบราณจะเผาปราสาทไปพร้อมๆ กับโลงศพ เนื่องจากปราสาทมีราคาแพงมาก เพราะทำจากไม้อย่างดี จึงไม่ค่อยมีให้เห็นบ่อยครั้งนัก
คติความเชื่ออย่างหนึ่ง ของพุทธศาสนิกชนชาวมอญ คือ คนมอญนิยมไปงานศพมากกว่าที่จะไปงานทอดกฐิน แม้ว่ากฐินจะเป็นกาลทาน ซึ่งหมายถึงปีหนึ่งทำได้ครั้งเดียว แต่การเผาศพพระเกจิอาจารย์มอญถือเป็น มหากาลทาน ซึ่งเป็นทานใหญ่กว่า ที่นานๆ ครั้งจะมีหน
ทั้งนี้ เพราะคติความเชื่อของอานิสงส์แห่งการเผาศพ อาจารย์ "ฟะ" นักปราชญ์มอญ ที่แต่งเรื่องราวรวมถึงพิธีกรรมต่างๆ ของมอญไว้หลัง พ.ศ.๒๓๑๐ ซึ่งเป็นปีแรกที่กรุงหงสาวดีแตก ใช้เป็นบรรทัดฐานความเชื่อมาจนถึงปัจจุบัน
ท่านได้กล่าวถึงอานิสงส์ของการเผาศพไว้ว่า ๑.บุคคลคนใดทำโลงศพให้วิจิตรงดงามจะได้อานิสงส์ ๑,๐๐๐ ชาติ ๒.บุคคลใดนิมนต์พระสงฆ์มาพิจารณาซากศพ ซึ่งเป็นกรรมฐานจะได้รับอานิสงส์ ๒,๐๐๐ ชาติ และ ๓.เผาศพพระพุทธเจ้าจะได้รับอานิสงส์ไม่มีที่สิ้นสุด การไปร่วมงานเผาพระเกจิมอญที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบก็จะได้อานิสงส์ทั้งหลายนั้น จะส่งให้ผู้ที่ไปในการเผาศพสมบูรณ์ไปด้วยมนุษย์สมบัติ สวรรค์สมบัติ ได้ไปบังเกิดในพรหมโลก ไม่ต้องตกอยู่ในอบายมุขใดทั้ง ๔ คือ นรก เปรต อสุรกาย และสัตว์เดรัจฉาน ซึ่งบางคนก็เชื่อว่า เป็นเพียงอุบายให้คนกระทำแต่ความดีเท่านั้น นรก สวรรค์ ไม่มีจริงแต่ประการใด
อ.สมพิศ ยังบอกด้วยว่า ทุกวันนี้ชุมชนมอญหลายแห่งที่กระจายอยู่ตามจังหวัดต่างๆ ยังคงรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีของตนเองไว้อย่างเหนียวแน่น ดังนั้นเมื่อมีพระมอญรูปหนึ่งรูปใดมรณภาพลง โดยเฉพาะพระชั้นผู้ใหญ่ที่มีพรรษาสูง มีศีลจารวัตรที่งดงาม ไม่ด่างพร้อย การจัดงานศพจึงค่อนข้างยิ่งใหญ่กว่าศพคนธรรมดาสามัญทั่วไป ด้วยการสร้างปราสาทสำหรับตั้งศพ พระรูปใดที่มีคุณสมบัติดีเลิศ ลูกศิษย์จะสร้างปราสาทให้ถึง ๙ ยอด พระรูปใดที่มีคุณสมบัติทางพรรษา และคุณธรรมน้อย ยอดปราสาทก็จะลดน้อยลงตามลำดับ ๗ ยอด ๕ ยอด และ ๑ ยอด
อย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งที่น่าวิตก คือ ปัจจุบันนี้ราคาปราสาทนั้นแพงมาก ประกอบกับช่างฝีมือชาวมอญก็หายาก และมีจำนวนน้อยลงเรื่อยๆ ตัวปราสาทจะทำจากไม้และกระดาษ ตามพิธีของมอญโบราณจะเผาปราสาทไปพร้อมๆ กับโลงศพ คล้ายๆ กับที่คนจีนเผากระดูกไปให้บรรพบุรุษ
การสร้างปราสาทเพื่อเผาพระเกจิมอญจึงไม่ค่อยให้เห็นบ่อยครั้งนั้น ส่วนใหญ่จะเห็นเป็นเมรุลอย และปราสาทหลังนี้น่าจะเป็นหลังสุดท้ายเพราะอายุมากแล้ว "การที่ต้องสร้างปราสาทให้ภิกษุที่มรณภาพ เพราะถือกันว่าพระนั้นเป็นผู้มีศีลบริสุทธิ์ ไม่ควรเผารวมกับคนธรรมดา นอกจากนั้นการจุดไฟเผาศพพระ ก็ไม่นิยมเผาด้วยมือ แต่จะใช้จุดลูกหนู เพื่อให้วิ่งไปกระทบปราสาทและโลง เพื่อให้ไฟลุก และเผาศพอีกต่อเนื่อง" อ.สมพิศ กล่าว
ประเพณีการจุดลูกหนู พระอธิการวิเชียร กตปุญโญ เจ้าอาวาสวัดสโมสร บอกว่า ประเพณีการจุดลูกหนูในงานพระราชทานเพลิง หลวงปู่บาง นั้นในปี ๒๕๕๒ นี้ น่าจะมีที่วัดเพียงแห่งเดียวเท่านั้น เพราะการแข่งขันจุด ลูกหนู จะมีขึ้นเฉพาะงานเผาศพพระเกจิมอญเท่านั้น
โดยมีคณะลูกหนูจากวัดมอญต่างๆ ๑๓ สาย (สายละ ๑๒ ลูก) ทั้งที่เป็นมาจากวัด และลูกศิษย์ที่ศรัทธา เช่น วัดบึงลาดสวาย วัดน้ำวน วัดเขียนเขต วัดโสภาราม วัดสำแล วัดบางโพธิ์ใน วัดป่างิ้ว วัดกลางคลองสี่ วัดบ่อทอง วัดป่ากลางทุ่ง วัดเตย วัดโบสถ์ วัดเจดีย์หอย เป็นต้น
เมื่อคณะลูกหนูทุกๆ คณะ เมื่อเดินทางมาถึงวัดจะมีการแห่สมโภชรอบปราสาท ๓ รอบ จากนั้นจะไปยังสนามแข่งขัน โดยจะเริ่มมีการจุดตั้งแต่เวลา ๐๙.๐๐ น. เป็นต้นไป
การจุดลูกหนูนี้ เดิมทีเดียวพระสงฆ์เท่านั้น เป็นผู้จุดชนวน ฆราวาสจะยุ่งเกี่ยวไม่ได้ เพราะถือว่า พระสงฆ์เป็นปูชนียบุคคล อันสูงสุด
ทั้งนี้ จะทำรวมไปกับการจุดดอกไม้เพลิง เป็นประเพณีท้องถิ่นของประชาชน ใช้เฉพาะวัดที่มีพระมอญนั้น โดยไม่มีการจำกัดชั้นวรรณะของพระแต่ประการใด
ประเพณียังคงรักษาสืบมาจนทุกวันนี้ แต่เนื่องจากแรงวิ่งของลูกหนูบางครั้งทำให้ศพกระจัดกระจาย เป็นที่อุจาดตา ปัจจุบันจึงเปลี่ยนแปลงให้เหมาะสม โดยสร้างเมรุจำลอง สำหรับทำพิธีขึ้นต่างหาก มีปราสาทโลงศพเช่นกัน ส่วนศพจริงๆ นั้น ตั้งไว้ที่เมรุสำหรับเผาจริง
เวลาจุดลูกหนูก็จะจุดไปที่เมรุจำลอง ต่อมาการจุดลูกหนูจึงกลายเป็นการเล่นแข่งขันกันในงานศพพระประเภทหนึ่ง โดยส่งตัวแทนของวัดประมาณ ๕ ๘ ๑๐ วัด หรือมากกว่านั้น สุดแต่ความใหญ่โตของงาน การแข่งขันนี้จะจุดทีละสาย สายละตัว จนครบทุกสาย สายใดลูกหนูวิ่งไปชนยอดปราสาท ถือว่าชนะเลิศ ผู้ชนะจะมีการแห่ยอดปราสาทกันอย่างครึกครื้น และมีรางวัลให้ตามความสามารถ ลดหลั่นกันไป เมื่อแข่งขันเสร็จแล้วจึงมีการเผาจริงอีกครั้งหนึ่ง พิธีจุดลูกหนูนี้จะทำกันในตอนบ่ายของวันเผาจริง เจ้าอาวาสวัดสโมสร กล่าว |