[ รายละเอียด ] เหรียญพระพุทธสิหิงค์ มิ่งมงคลสิรินาถ สร้างเฉลิมฉลองสิริราชสมบัติครบ ๕๐ ปี พุทธศักราช พ.ศ.๒๕๓๙ โดย จ.ชลบุรี เหรียญสวยมากยังไม่ได้ผ่านการใช้บูชา สามารถเห็นผิวไฟเห็นเด่นชัด และมีตอกโค้ดชัดเจน ขนาดเหรียญประมาณ 2.7*4 ซ.ม. จัดสร้างโดยกลุ่มยุวพุทธชลบุรี สมเด็จพุฒาจารย์เกี่ยว วัดสระเกศฯ เป็นประธานพิธี
ประวัติพระพุทธสิหิงค์ ตำนานพระพุทธสิหิงค์ เรื่องตำนานหรือประวัติพระพุทธสิหิงค์ ได้มีท่านผู้เรียบเรียงไว้แล้วหลายท่าน เช่น พระโพธิรังสี ปราชญ์แห่งเมืองเชียงใหม่ ได้เขียนเป็นภาษามคธ ราว พ.ศ.๑๙๖๐ และบรรยายเรื่องราว จนมาถึง พ.ศ.๒๔๕๔ สมเด็จพระบรมวงศ์เธอ กรมพระยา ดำรงราชานุภาพ ได้ทรงนิพนธ์ต่อจากพระโพธิรังสี มาจนถึงสมัย หลวงบริบาลบุรีภัณฑ์ ได้เรียบเรียงใหม่เป็นตำนานย่อ และกล่าวข้อวิจารณ์ในทางโบราณคดี
ส่วนที่ผู้เขียนได้นำกล่าวมานี้ได้อ้างถึง"ตำนานพระพุทธสิหิงค์" ของพลตรีหลวงวิจิตรวาทการ เขียนขึ้นเนื่องด้วยได้มีการรวบรวมข้อเท็จจริง ที่ท่านผู้รู้ทั้งหลายเหล่านั้นได้ค้นคว้าแล้วมาเรียบเรียงไว้ให้เป็นตำนาน ที่อ่านง่าย เพื่อความสะดวกและเข้าใจแก่ผู้ที่เลื่อมใสศรัทธาทั่วไป
พระพุทธสิหิงค์ เป็นพระพุทธรูปที่กษัตริย์ลังกาได้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.๗๐๐ ได้อัญเชิญเข้ามาสู่ประเทศสยาม ในสมัยพ่อขุนรามคำแหง ฉะนั้น จึงต้องนับว่า พระพุทธสิหิงค์ เป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของประเทศสยามอย่างแท้จริง แต่ในเมืองไทย พระพุทธรูปที่ทรงพระนามว่าพระพุทธสิหิงค์นั้นมีอยู่ ๓ องค์ ๓ แห่ง คือ
พระพุทธสิหิงค์ องค์ที่ ๑ ประดิษฐานในพระที่นั่งพุทไธศวรรย์ พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ กรุงเทพมหานคร
พระพุทธสิหิงค์ องค์ที่ ๒ ประดิษฐานในวิหารลายคำ วัดพระสิงห์ จ.เชียงใหม่
พระพุทธสิหิงค์ องค์ที่ ๓ ประดิษฐานในหอพระพุทธสิหิงค์ ข้างศาลากลาง จ.นครศรีธรรมราช
พระพุทธสิหิงค์ องค์ที่ ๑ เป็นพระพุทธรูปปางนั่งขัดสมาธิสูง ๙๖ ซม. หน้าตักกว้าง ๖๖ ซม. หล่อด้วยสัมฤทธิ์ ปิดทองคำเปลว พระสรีระได้สัดส่วนและงดงามที่สุดจะหา พระพุทธโบราณในเมืองไทยที่งดงาม และได้สัดส่วนเทียมพระพุทธสิหิงค์องค์นี้มิได้เลย ตามตำนานกล่าวว่าพระพุทธสิหิงค์ องค์นี้ศิลปะสุโขทัยประดิษฐานในพระที่นั่งพุทไธศวรรย์ กรุงเทพมหานคร
พระพุทธสิหิงค์ องค์ที่ ๒ เป็นพระพุทธรูปเก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองเชียงใหม่ มีความสำคัญคู่กับพระพุทธสิหิงค์ในกรุงเทพฯ และเมืองนครศรีธรรมราช เป็นพระพุทธรูปที่งดงามมาก องค์นี้ศิลปะเชียงแสน
พระพุทธสิหิงค์ เชียงใหม่ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ขัดสมาธิเพชร หล่อด้วยสัมฤทธิ์ปิดทองคำเปลว หนักตักกว้าง ๔๐ นิ้ว ศิลปะเชียงแสนรุ่นแรก ปัจจุบันประดิษฐานในวิหารลายคำ วัดพระสิงห์ จ.เชียงใหม่
พระพุทธสิหิงค์ องค์ที่ ๓ เป็นพระพุทธรูปเก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองนครศรีธรรมราช มีความสำคัญคู่กับพระพุทธสิหิงค์เมืองเชียงใหม่ และกรุงเทพมหานคร เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ขัดสมาธิเพชร แบบขนมต้ม มีพระพักตร์กลม อมยิ้ม พระอุระอวบอ้วน หล่อด้วยสัมฤทธ์ ปิดทอง หน้าตักกว้าง ๑๔ นิ้ว สูง ๑๖.๘ นิ้ว นับเป็นพระพุทธรูปสำคัญ คู่บ้านคู่เมืองมาแต่โบราณกาล ประดิษฐานอยู่ในบุษบกไม้ ณ หอพระ ระหว่างศาลกับศาลากลางจังหวัดนครศรีธรรมราช องค์นี้ศิลปะศรีวิชัย
พระพุทธสิหิงค์ทั้ง ๓ องค์ ๓ สมัย ๓ ภาค สร้างในสมัยเดียวกัน ผู้สร้างคือ มหากษัตริย์ลังกา ๓ พระองค์ ทรงสร้างเมื่อ พ.ศ.๗๐๐
ตำนานของพระโพธิรังสีกล่าวว่าพระพุทธสิหิงค์ เป็นพระพุทธรูปที่ เจ้าลังกา ๓ พระองค์ ได้ร่วมพระทัยกันพร้อมด้วยพระอรหันต์ใน เกาะลังกาสร้างขึ้นราว พ.ศ.๗๐๐ โดยหมายจะให้ได้พระพุทธรูปเหมือนองค์พระพุทธเจ้าจริงๆ ถึงกับตำนานกล่าวว่า พญานาคซึ่งเคยเห็นองค์พระพุทธเจ้ามาแปลงกายให้ดูเป็นตัวอย่าง
มาถึงสมัยพ่อขุนรามคำแหง (พ.ศ.๑๘๒๐-๑๘๖๐) มีพระภิกษุลังการ เข้าสู่ประเทศสยาม พ่อขุนรามคำแหงได้ทรงทราบกิติศัพท์เลื่องชื่อ ว่าเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์มีพุทธลักษณะที่งดงาม พ่อขุนรามคำแหง จึงทรงขอให้พระเจ้าศรีธรรมโศกราช แต่งทูตเชิญพระสาส์นไปขอประทานพระพุทธสิหิงค์จากเจ้ากรุงลังกา
เนื่องด้วยว่าเป็นเมืองที่มีการติดต่อสัมพันธ์อยู่กับลังกาอย่างใกล้ชิด ซึ่งก็ได้ตามพระราชประสงค์ อัญเชิญมาประดิษฐานที่นครศรีธรรมราช จัดงานพิธีสมโภชใหญ่โตเป็นเวลา ๗ วัน พระเจ้าศรีธรรมโศกราชได้ให้ช่างท้องถิ่นจำลองไว้บูชา ๑ องค์ โดยกล่าวไว้ว่าพ่อขุนรามคำแหงเสด็จไปรับ พระพุทธสิหิงค์ถึงนครศรีธรรมราช ด้วยพระองค์เอง แล้วอัญเชิญมาประดิษฐาน ณ กรุงสุโขทัย พระมหากษัตริย์กรุงสุโขทัยทุกพระองค์ได้ทรงเคารพบูชาพระพุทธสิหิงค์ตลอดมา
พระพุทธสิหิงค์ ที่ประดิษฐานอยู่ที่นครศรีธรรมราชนี้ มีลักษณะ ตามแบบสกุลช่างท้องถิ่น เรียกว่า แบบขนมต้ม คือมีพระพักตร์กลม อมยิ้ม พระอุระอวบอ้วน ประทับนั่งในท่าขัดสมาธิเพชร ชายสังฆาฏิสั้นระดับพระถัน เป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของ ชาวนครศรีธรรมราชเป็นพระพุทธรูปที่มีพระรูป และสัดส่วนที่งดงามมาก
ครั้งเมื่อได้ตั้งกรุงศรีอยุธยาขึ้น ทางสุโขทัยอ่อนกำลังลง สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๑ เจ้ากรุงศรีอยุธยา ได้สุโขทัยไว้ในอำนาจเมื่อปี พ.ศ.๑๙๒๐ พญาไสยลือไทย เจ้ากรุงสุโขทัย ถูกลดตำแหน่งเป็นเจ้าประเทศราช ลงมาครองพิษณุโลก จึงได้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ มาประดิษฐานไว้ที่พิษณุโลกด้วย เมื่อพระยาไสยลือไทย สิ้นพระชนม์ สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๑ ก็ทรงโปรดให้เชิญพระพุทธสิหิงค์โดยมาทางเรือลงมาไว้ที่กรุงศรีอยุธยา
เมื่อทางกรุงศรีอยุธยาได้กรุงสุโขทัยไว้ในอำนาจแล้ว ได้จัดแบ่งการปกครอง ออกเป็นสองมณฑลคือเมืองตาก, สวรรคโลก กับพิษณุโลก เป็นมณฑลสอง ให้เจ้านายในราชวงศ์พระร่วงปกครอง พระยาธิษฐิระ ผู้ครองกำแพงเพชรนั้นปรากฏว่า ราชบุตรเลี้ยงของสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๑ ปรารถนาจะได้พระพุทธสิหิงค์ไปประดิษฐานไว้เมืองกำแพงเพชร จึงให้มเหสีผู้เป็นมารดาตนขอพระพุทธรูปองค์หนึ่ง แล้วติดสินบนขุนพุทธบาลผู้รักษาพระ เลือกพระพุทธสิหิงค์ส่งไป
เรื่องมีต่อว่า ใน พ.ศ.๑๙๓๑ นี้เองมีพระภิกษุรูปหนึ่งในเมืองกำแพงเพชรปั้นรูปจำลองพระพุทธสิหิงค์ด้วยขี้ผึ้ง และนำพระพุทธรูปจำลองนี้ไปเชียงราย เมื่อเจ้ามหาพรหมผู้ครองนครเชียงรายได้เห็นจึงชวนเจ้ากือนา พี่ชายผู้ครองนครเชียงใหม่ยกกองทัพไปกำแพงเพชรและ ขู่ขอพระพุทธสิหิงค์ พระยาธิษฐิระต้องยอมยกพระพุทธสิหิงค์ให้ไป พระพุทธสิหิงค์จึงได้ไปประดิษฐานอยู่เชียงราย ในปี พ.ศ.๑๙๓๑
พอถึง พ.ศ.๑๙๕๐ เชียงใหม่กับเชียงรายเกิดรบกัน เชียงรายแพ้ เจ้าแสนเมืองมาเจ้านครเชียงใหม่ก็อัญเชิญ พระพุทธสิหิงค์มาประดิษฐานอยู่เชียงใหม่ราว ๒๕๕ ปี เมื่อสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ตีเมืองเชียงใหม่ได้ใน พ.ศ.๒๒๐๕ โปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์มาประดิษฐานไว้ ณ วัดพระศรีสรรเพชรกรุงศรีอยุธยา ครั้นเมื่อกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าครั้งที่ ๒ เชียงใหม่เป็นพวกพ้องพม่า จึงสามารถอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์กลับไปเชียงใหม่ได้เมื่อ พ.ศ.๒๓๑๐
มาถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อเชียงใหม่ได้รวมอยู่กับคนไทยแล้ว พม่ายกกองทัพมาล้อมเชียงใหม่ สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระอนุชาธิราชกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ยกกองทัพไปขับไล่กองทัพพม่าพ้นเมืองเชียงใหม่ สมเด็จพระกรมพระราชวังบวรฯ จึงได้ทรงอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์มากรุงเทพฯ (พ.ศ.๒๓๓๔) ประดิษฐานในพระที่นั่งพุทไธศวรรย์ ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานอยู่จนถึงปัจจุบัน โดยนัยนี้ นับว่าพระพุทธสิหิงค์เป็นพระพุทธรูปสำคัญคู่บ้านคู่เมืองของสยามประเทศ มาตั้งแต่ต้นประวัติกาล
ผู้แต่งตำนานคือพระโพธิรังสี ได้พรรณนาอานุภาพของพระพุทธสิหิงค์ไว้เป็นอันมาก มีข้อที่น่าฟังตอนหนึ่งกล่าวว่า "พระพุทธสิหิงค์หามีชีวิตได้ก็จริง แต่มีอิทธานุภาพด้วยเหตุ ๓ ประการ คือ อธิษฐานพละของพระอรหันต์ อธิษฐานพละของเจ้าลังกาหลายพระองค์ และศาสนพละของพระพุทธเจ้า" ซึ่งหมายความว่ากำลังใจของพระอรหันต์ และกำลังใจของเจ้าลังกาพร้อมทั้งกำลังแห่งพระพุทธศาสนา กระทำให้พระพุทธสิหิงค์เป็นพระพุทธปฏิมากรที่ทรงอานุภาพ
อีกตอนหนึ่งพระโพธิรังสี กล่าวว่า "พระพุทธสิหิงค์เมื่อประทับอยู่ ณ ที่ใด ย่อมทรงทำให้พระพุทธศาสนารุ่งเรืองดั่งดวงประทีปชัชวาล เหมือนหนึ่งว่าพระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์ชีพอยู่"
ในส่วนของพลตรีหลวงวิจิตรวาทการ ผู้ซึ่งได้รวบรวมตำนาน พระพุทธสิหิงค์เองมีความเชื่อมั่นในอานุภาพ ของพระพุทธสิหิงค์อยู่มาก "อย่างน้อยก็สามารถบำบัดทุกข์ร้อนในใจให้เหือดหาย ผู้ใดมีความทุกข์ร้อนในใจท้อถอยหมดมานะด้วยเหตุใดเหตุหนึ่ง ถ้าได้มาจุดธูปเทียนบูชาและนั่งนิ่งๆ มองดูพระองค์สัก ๑๐ นาที ความทุกข์ร้อนในใจจะหายไป ดวงจิตที่เหี่ยวแห้งจะกลับมาสดชื่น หัวใจที่ท้อถอยหมดมานะจะกลับเข้มแข็งมีความมานะพยายาม ดวงจิตที่หวาดกลัวจะกลับกล้าหาญ ดวงจิตที่เกียจคร้านจะกลับขยัน ผู้ที่หมดหวังจะกลับมีความหวัง"
คุณานุภาพของพระพุทธสิหิงค์ดังกล่าวมานี้ กระทำให้ท่านเชื่อเหตุผลของ พระโพธิรังสีว่าอธิษฐานพละ คือกำลังใจของพระอรหันต์ และเจ้าลังกาผู้สร้างพระพุทธสิหิงค์ได้เข้าไปอยู่ในองค์พระพุทธสิ หิงค์พร้อมทั้งศาสนพละของพระพุทธเจ้า และข้อที่พระโพธิรังสีกล่าวว่า "พระพุทธสิหิงค์ประทับอยู่ใดก็เหมือนพระพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ ที่นั้น"
ข้อนี้ก็สมจริง ใครที่ได้เห็น พระพุทธเจ้าแม้แต่ยังมิได้ฟังธรรมเทศนาเลย ก็มีความสบายใจในทันทีที่ได้เห็นผู้ใดที่ได้เห็น พระพุทธสิหิงค์ย่อมได้รับผลอย่างเดียวกัน พระพุทธสิหิงค์เป็นที่เคารพสักการะบูชาของ องค์พระมหากษัตริย์ ของประชาชนชาวสยามมาเป็นเวลาช้านาน จึงกล่าวได้ว่าพระพุทธสิหิงค์เป็นพระคู่บ้านคู่เมืองของสยามประเทศเลยทีเดียว
|