[ รายละเอียด ] รูปหล่อหลวงปู่บุญตา วิสุทธสีโล วัดคลองเกตุ อ.โคกสำโรง จ.ลพบุรี รูปหล่อรุ่นนี้สร้างออกให้บูชาในคราวหลวงปู่มีอายุครบรอบ ๘๖ ปี เมื่อปี ๒๕๓๖ หายาก หลวงปู่บุญตาเป็นพระอริยสงฆ์อีกองค์หนึงที่ได้รับความเคารพนับถือจากข้าราชการทหาร ตำรวจในลพบุรี และในจังหวัดอื่นๆด้วยเช่นกัน วัตถุมงคลของท่านมีประสบการณ์ให้เห็นอยู่เนืองๆ ทั้งยังเคยเป็นข่าวลงหน้า 1 หนังสือพิมพ์ไทยรัฐมาแล้ว ท่านเป็นพระนักปฏิบัติและทั้งยังเชี่ยวชาญพระเวทย์วิทยาคม ท่านเป็นยอดพระเกจิที่โด่งดังอย่างมากในช่วงหลังปี 2520 เพราะมีคนแขวนพระเครื่องของท่านแล้วมีประสบการณ์ เช่นโดนฟ้าผ่าไม่เป็นไร แคล้วคลาดอุบัติเหตุ เป็นต้น ถ้าท่านไม่เก่งจริงพวกทหาร ตำรวจ ที่ลพบุรี คงไม่ฝากตัวเป็นศิษย์กันมากมาย หากมีข้อสงสัยว่าเหตุใดท่านจึงเชี่ยวชาญทั้งสองด้าน ก็คงต้องกล่าวว่าเพราะท่านเป็นศิษย์ของพระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม อาจารย์ใหญ่สายกองทัพธรรมแดนอีสาน และท่านยังเป็นศิษย์หลวงพ่อเดิมวัดหนองโพธิ์ เทพเจ้าแห่งปากน้ำโพอีกด้วย องค์นี้ไปเช่าจากวัดเมื่อ 10 กว่าปีมาแล้ว
พระครูสิริธัชสมาจารย์(หลวงปู่บุญตา วิสุทธสีโล) วัดคลองเกตุ อ.โคกสำโรง จ.ลพบุรี มีนามเดิมว่า บุญตา นามสกุล พาซื่อ โยมบิดาชื่อ นายอุด โยมมารดาชื่อ นางทุม พาซื่อ เกิดที่บ้านโนนสะคาม จังหวัดอุบลราชธานี เมื่อวันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2449 ท่านมีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน 4 ท่าน คือ 1. นายอ้วน พาซื่อ 2. นายรุณ พาซื่อ 3. นางลา พาซื่อ 4. หลวงปู่บุญตา วิสุทธสีโล เมื่ออายุได้ 3 ขวบ บิดาย้ายถิ่นฐานไปอยู่บ้านพระเสาร์ อ.มหาชนะชัย จ.ยโสธร
ชีวิตในวัยเยาว์อายุ 12 ปี ได้ศึกษาภาษาไทย ณ วัดพระเสาร์ จนถึงชั้น ป. 3 จึงออกมาช่วยบิดามารดาทำนา จนกระทั่งอายุ 16 ปี บิดามารดาพาย้ายถิ่นฐานไปอยู่บ้านจาน อ.กระสัง จ.บุรีรัมย์ และได้ย้ายไปอยู่บ้านหนองมะนาว ต.ขอนแก่น อ.สำโรงทาบ จ.สุรินทร์ จนอายุได้ 23 ปี มารดาก็เสียชีวิต ท่านจึงได้บวชหน้าไฟเพื่อทดแทนคุณมารดา
ท่านอุปสมบทเมื่อวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2472 ที่วัดหนองม้า ต.หนองฮะ อ.ศรีขรภูมิ จ.สุรินทร์ โดยมีพระอธิการกลัด เจ้าอาวาสวัดสะเม็ด เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์กา วัดสะเม็ด เป็นพระกรรมวาจา พระอธิการเผือ วัดบ้านเครือ เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ท่านได้รับฉายาว่า "วิสุทธสีโล" แปลว่า "ผู้มีศีลอันบริสุทธิ์" เมื่อบวชแล้วได้จำพรรษาอยู่กับพระอาจารย์กลัด พระอุปัชฌาย์ในวัดสะเม็ด ได้เริ่มเรียนการปฏิบัติกัมมัฏฐานอย่างจริงจังกับผู้เป็นอุปัชฌาย์ พร้อมกับเรียนพระปริยัติธรรมควบคู่ไปด้วยและก็สอบได้นักธรรมชั้นตรีในพรรษาแรก
เมื่อจิตใจพึงพอใจอยู่กับความสงบประกอบกับหลวงปู่ท่านได้สมาธิแล้ว ก็ทำให้เกิดความเบื่อหน่ายที่จะต้องอยู่กับสิ่งแวดล้อมแห่งผู้คน จึงขออนุญาตพระอาจารย์กลัดแสวงหาครูบาอาจารย์สอนวิชา โดยไปจำพรรษาที่วัดกลาง จังหวัดบุรีรัมย์ เพราะทราบว่ามีครูบาอาจารย์ดีในวัดหลายองค์ ท่านจึงได้ศึกษาวิชาต่างๆ หลายแขนงทั้งทางด้านปฏิบัติธรรม ด้านคาถาอาคม ไสยศาสตร์ แต่เนื่องจากวิชาอาคมต่างๆ ส่วนใหญ่เป็นภาษาขอมท่านจึงคิดที่หาที่เรียนภาษาขอม จึงเดินทางไปยังวัดเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี เรียนภาษาบาลีและอักขระขอม ใช้เวลาเรียนอยู่ 4 ปีเต็มจนแตกฉานในภาษาบาลีและอักขระขอม
จบแล้วจึงไปจำพรรษาที่วัดพระเสาร์เป็นเวลา 3 พรรษา และท่านก็ปรารถนาจะกราบนมัสการพระธาตุพนม ซึ่งไม่เคยไปมาก่อน ท่านจึงออกเดินทางธุดงค์ไปยังวัดพระธาตุพนม ค่ำไหนก็ปักกลดที่นั่น ทำการสำรวจจิตใจด้วยตนเอง ทบทวนด้วยเรื่องของสังขารอยู่ในป่าทึบ จนกระทั่งถึงวัดพระธาตุพนม และอยู่ที่วัดพระธาตุพนม 7 วัน
จากนั้นออกธุดงค์ต่อไปทางจังหวัดเชียงใหม่ไปพักอยู่วัดอุโมงค์ เป็นวัดที่พระชาวศรีลังกามาสอนธรรมะ ท่านอยู่ที่นั่น 15 วัน ก็ธุดงค์ต่อไปทั่วภาคเหนือและภาคอิสาน
ปี พ.ศ. 2474 หลวงปู่เดินธุดงค์อยู่เชียงใหม่ ท่านทราบว่าเจ้าคุณอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท) แสดงธรรมอยู่ที่วัดเจดีย์หลวง ท่านดีใจมากที่จะได้พบพระสุปฏิปันโน และท่านก็ได้รับความเมตตาชี้แนะแนวทางธรรม หลังจากนั้นท่านจึงธุดงค์ไปวัดป่าสาลวัน จ.นครราชสีมา ไปฝากตัวเป็นศิษย์หลวงพ่อเสาร์ กันตสีโล ซึ่งหลวงพ่อเสาร์ ท่านเชี่ยวชาญเรื่องปัฏฐวีกสิณ เตโชกสิณ อาโปกสิณ และวาโยกสิณ หลวงพ่อเสาร์ท่านได้เมตตาสอนปัฏฐวีกสิณให้ โดยนำดินมาปั้นเป็นก้อนกลมๆ ขนาดเท่าหม้อใหญ่และขนาดขันน้ำ โดยมองให้เห็นอยู่อย่างนั้น แล้วลืมตามาเพ่งใหม่คือ การเพ่งดินเป็นอารมณ์ และในการฝึกนั้นจะมีพระมหาปิ่น ปญฺญาธโร และพระอาจารย์สิงห์ ขันตคยาโม เป็นผู้เข้มงวดในการฝึก จนกระทั่งหลวงปู่บุญตา เข้าถึงปฐวีกสิณอย่างรวดเร็วกว่าศิษย์ท่านอื่นๆ
จากนั้นท่านจึงกราบลาหลวงพ่อเสาร์ และพระมหาปิ่น ธุดงค์มาทางจังหวัดลพบุรี และมาพักอยู่วัดพรหมมาสตร์ มาอยู่กับหลวงพ่อพุทธวรญาณได้ศึกษาธรรมะอยู่ 1 พรรษา จากนั้นจึงเดินทางเข้าไปกรุงเทพฯ ไปอยู่วัดมหาธาตุ พร้อมกับปฏิบัติธรรมกัมมัฏฐานกับพระเทพสิทธิมุนี ภาวนายุบหนอ พองหนอ เพ่งสติให้เป็นมหาสติปัฏฐาน ปฏิบัติได้ 2 เดือนเศษก็มีความชำนาญและช่ำชองอย่างรวดเร็ว
ออกจากวัดมหาธาตุ ย้อนกลับไปยังจังหวัดนครสวรรค์ ได้ฝากตัวเป็นศิษย์หลวงพ่อเดิม พุทธสโร แห่งวัดหนองโพ ได้ศึกษาวิชากับหลวงพ่อเดิมหลายอย่าง เช่น การสร้างมีดหมอเทพศาสตราตามตำรับเดิมแท้ ฯลฯ และท่านได้ไปเรียนวิชากับหลวงพ่อทองวัดเขากบ ซึ่งท่านมีชื่อเสียงในการเล่นแร่แปรธาตุ
จากนั้นได้เข้าศึกษาพระธรรมที่วัดศรีษะเมือง หรือวัดนครสวรรค์ ซึ่งมีชื่อเสียงทางปริยัติธรรม หลวงปู่บุญตาจึงได้ศึกษาจนสำเร็จนักธรรมชั้นโทและนักธรรมชั้นเอก ท่านอยู่ที่ในนครสวรรค์ 4 พรรษา จากนั้นก็กลับมาลพบุรี มาจำพรรษาอยู่ที่วัดหนองบัว ต.คลองเกตุ อ.โคกสำโรง จ.ลพบุรี และได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาส ในปี 2483 ท่านอยู่ที่วัดหนองบัว 3 พรรษา จากนั้นจึงกลับไปเยี่ยมภูมิลำเนาเกิด โดยไปจำพรรษาที่วัดพระเสาร์ เป็นเวลา 3 พรรษา จากนั้นก็กลับมาเป็นเจ้าอาวาสวัดหนองบัวอีกครั้งหนึ่ง
ในการอยู่วัดหนองบัวท่านก็ได้โน้มน้าวจิตใจของญาติโยมเข้าวัดปฏิบัติธรรม ควบคู่ไปกลับการสอนปริยัติธรรมให้กับพระภิกษุสามเณร รวมทั้งเป็นที่พึ่งของญาติโยมในภาวะเจ็บไข้ท่านก็ใช้พลังอำนาจทางจิตทำการรักษา รวมทั้งผู้ที่ถูกคุณไสยมนต์ดำ หลวงปู่สยบมาแล้วทั้งนั้น ชื่อเสียงด้านการสอนธรรมะและปฏิบัติธรรมของหลวงปู่ ทำให้ผู้ใหญ่ระดับสูงในอำเภอโคกสำโรง อาราธนานิมนต์ไปยังอารามแห่งใหม่ ท่านอยู่วัดหนองบัวครั้งหลัง 3 พรรษา ปี 2492 ก็ได้รับคำสั่งให้ไปปกครองวัดสิงห์คูยาง ซึ่งอยู่ใจกลางชุมชนตลาดอำเภอโคกสำโรง ท่านพัฒนาวัดสิงห์คูยาง จนก้าวหน้า และได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งพระครูสังฆรักษ์บุญตา พระฐานานุกรมของพระกิตติญาณมุนี (พระพุทธวรญาณ) เจ้าคณะจังหวัดลพบุรี รวมระยะเวลาปกครองวัดสิงห์คูยาง 23 พรรษา
ขณะที่ท่านพำนักอยู่วัดสิงห์คูยางนั้นท่านเดินทางสู่วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ เพื่อขอรับการฝึกปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานตามแนวทางของพระธรรมธีราชมุนี (โชดกญาณสิทธิ ป.ธ.9) ในรุ่นที่ 3 และได้รับการยกย่องจากพระเดชพระคุณ พระพิมลปัญญาว่า เป็นพระวิปัสสนาจารย์ชั้นเยี่ยม เพราะเข้าสมาธิได้เป็นที่ 1 สามารถทำให้ร่างกายไม่ไหวติงนานนับ ถึง 1 วัน 1 คืน ถึงขั้นมีผู้ทดสอบยกร่างของท่านจากที่เดิมไปที่แห่งใหม่ โดยที่ท่านั่งของท่านยังคงเดิมไม่ไหวติง เพราะหลวงปู่ท่านเข้าถึงสภาวะจิตขั้นสูงแล้ว
วัดคลองเกตุ ต.คลองเกตุ อ.โคกสำโรง ถึงยุคเสื่อมโทรมร้างเจ้าอาวาส ชาวบ้านตำบลคลองเกตุได้พร้อมใจกันไปขอร้องท่านผู้ใหญ่ในอำเภอ ขออาราธนานิมนต์ไปปกครองวัดคลองเกตุไปเป็นหลักของชาวบ้านคลองเกตุ เพราะความศรัทธาที่มีต่อท่านตั้งแต่ครั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดหนองบัว ซึ่งอยู่ในตำบลเดียวกัน
คณะสงฆ์ผู้ใหญ่ได้สอบถามหลวงปู่ หลวงปู่ก็ตอบตกลงเพราะว่าวัดสิงห์คูยางเจริญแล้ว และอยู่กลางอำเภอ และเห็นว่าวัดคลองเกตุเงียบสงบ เหมาะแก่การเจริญภาวนา ปฏิบัติธรรม ท่านจึงตอบตกลงทันที
วันที่ 25 มกราคม 2514 ขบวนชาวบ้านคลองเกตุ ได้จัดขบวนไปรับหลวงปู่ถึงวัดสิงห์คูยาง เพื่อไปดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดคลองเกตุ ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา หลวงปู่ท่านก็ได้ไปบริหารจัดการและพัฒนาจนเจริญก้าวหน้าจนเป็นวัดคลองเกตุในปัจจุบัน
หลวงปู่บุญตาท่านมีความช่ำชองในการเพ่งกสิณไฟเป็นพิเศษ ถึงขนาดที่กำหนดจิตเสกพระให้แก่ผู้ศรัทธาเพียงชั่วอึดใจ พระที่ท่านเสกให้ถึงกับร้อนจัดขึ้นทันที และที่น่าอัศจรรย์คือมีผู้ห้อยพระของท่านถูกฟ้าผ่า แต่รอดตายได้อย่างปาฏิหารย์ วัตถุมงคลของท่านทุกรุ่น ประสบการณ์เพียบ....เรื่องแคล้วคลาด ปลอดภัย โชคลาภ มีพูดคุยปากต่อปากของลูกศิษย์ของท่านไม่ขาดปากตลอดจนถึงปัจจุบันนี้ และวัตถุมงคลของท่านไม่มีวางให้เห็นตามแผงพระทั่วไป เพราะลูกศิษย์เห็นจะเก็บไว้หมด นานๆ ทีจึงจะเห็นวัตถุมงคลของท่านออกมาให้เห็นตามตลาดพระบ้าง กสิณไฟเหนือฟ้า วาจาสิทธิ์ ลูกศิษย์ของหลวงพ่อบุญตา ทั้งใกล้และไกลได้ประจักษ์ถึงคุณวิเศษของท่านคือ วาจาสิทธิ์ ถ้อยคำที่ท่านพูดออกไปนั้นมักเป็นความจริงเสมอ จนได้รับการยกย่องว่า หลวงปู่บุญตาวาจาสิทธิ์ หลวงปู่ท่านเป็นพระกัมมัฏฐานที่มีจิตใจสะอาดมองโลกในงแง่ดีเสมอ กายวาจาและจิตใจของท่านบริสุทธิ์จริงไม่มีการพลั้งเผลอขาดสติ จิตใจแน่วแน่อยู่ในพุทธคุณ วาจาที่กล่าวออกมาจึงบังเกิดความศักดิ์สิทธิ์ เป็นที่รู้กันไม่ว่าหลวงปู่จะพูดอะไรก็เป็นไปอย่างนั้น จะทักใครให้อยู่ดีมีความสุข คนนั้นก็จะเป็นไปตามที่หลวงปู่พูด คนเกเรข่มเหงไม่ว่าผู้เฒ่าผู้เฒ่าผู้แก่ระรานเขาไปทั่ว เมื่อหลวงปู่ทราบก็จะสั่งสอนให้กลับเนื้อกลับตัวเสียใหม่ ให้ปฏิบัติแต่ในสิ่งที่ดีงามก่อนจะสาย หากคนนั้นรับปากแล้วไม่กระทำตามหรือดูหมิ่น ในคำสอนของหลวงปู่ก็จะต้องได้รับความวิบัติจนถึงหายนะไปในที่สุดดังที่ประจักษ์กันมาแล้ว คำพูดของท่านที่ลูกศิษย์ได้ยินเสมอคือ ช่างเขาเถอะ
หลวงปู่ท่านเป็นผู้ที่ให้เสมอ ผู้ใดขออะไร ท่านก็มีแต่ให้ ท่านมักพูดน้อย วาจาไพเราะ ผิวพรรณผ่องใสงดงาม ผู้ที่เข้ามากราบท่าน พบท่านแล้วจะเกิดความเลื่อมใสเป็นอย่างยิ่ง สิ่งที่เป็นเอกลักษณ์ของท่านก็คือ การเพิ่มพลังกำลังใจให้แก่ผู้ตกทุกข์ได้ยาก หรือที่ภาษาของชาวบ้านเรียกว่า ต่ออายุหรือต่อชะตา ชาวบ้านใกล้ไกลจะมาให้ท่านสงเคราะห์อยู่อย่างสม่ำเสมอ คนป่วยที่ว่าไม่น่ารอด ไปหาหมอไหนๆ ก็ส่ายหน้า แต่ถ้ามากราบนิมนต์ให้ท่านทำหรือแนะนำให้ไปปฏิบัติ ก็จะหายจากอาการที่เป็นอยู่ และจะดีขึ้นในวันต่อมา เป็นความมหัศจรรย์จริงๆ
หลวงปู่ท่านจะอบรมสั่งสอนให้ศิษย์เป็นคนดีหนีทุกข์ยากได้สำเร็จ ดั่งคำพูดของท่านว่า "อาตมาเป็นพระภิกษุสงฆ์ บวชแล้วได้อาศัยอาหารของชาวบ้าน เลี้ยงตัวตนจึงนับด้วยพระคุณ ดุจทองคำอันมีค่า แต่ยังด้อยกว่าข้าวเพียงหนึ่งคำที่ฉันผ่านลำคอ ดังนั้น แม้เวลาใดขณะใดญาติโยมมาหา อาตมาก็ต้องต้อนรับขับสู้ด้วยจิตที่มีเมตตายินดี"
หลวงปู่ท่านได้เมตตาอบรมความคิดคติธรรมคำพรประสิทธิ์แด่ลูกศิษย์ ดังนี้ 1. ให้ทำความสงบทางจิตใจ 2. ให้ขยันหมั่นเพียร 3. อย่าเกียจคร้านให้สร้างเนื้อสร้างตัวโดยเร็ว 4. ให้ทำตัวเป็นคนดี จะได้หลุดพ้นความยากจนและความทุกข์ 5. มีให้เกินใช้ มีมากใช้น้อย 6. ได้ให้เกินเสีย คือทำงานมีเงินควรเก็บไว้แต่เวลาใช้ก็อย่าใช้มากให้ประหยัด 7. คบเพื่อนที่ดี เพื่อนที่แนะนำไปในทางที่ดี 8. สวดมนต์ภาวนา สร้างกุศลเพื่อหลุดพ้นภพชาติ ขอให้ญาติโยมทุกคนหมั่นเจริญภาวนาหาเหตุผลแยกแยะความดีความชั่ว ดูให้ออกมองให้เห็นและหมั่นทำความดีรักษาศีล เจริญธรรม ชีวิตที่อับเฉาของญาติโยมก็จะดีขึ้นมีความสุขขึ้น เพราะพระธรรมย่อมนำความสุขสงบความร่มเย็นมาให้
สมัยก่อนมีลูกศิษย์ได้ถามหลวงปู่บุญตาว่า ทำไมฟ้าจึงผ่าคนแล้วไม่ตายครับ หลวงปู่ตอบว่า ฟ้าคงจะทดลองบุญบารมีเขากระมัง ลูกศิษย์ท่านนั้นก็ถามว่า ทดลองบารมีใครหรือครับ หลวงปู่ตอบกลับไปว่า ลองสวดมนต์บ่อยๆ นั่งกัมมัฏฐานเรื่อยๆ นะ เดี๋ยวก็จะรู้เอง ลูกศิษย์คนนั้นก็ได้แต่รับปากว่า...ครับ...หลวงปู่... |