[ รายละเอียด ] เหรียญสมเด็จพระสังฆ์ราช วัดพระเชตุพน วัดโคกสร้าง (เจ้าฟ้าชายเปิดงาน) งานผูกพัทธสีมา อ.เมือง จ.ตราด ปี 2518 สภาพสวยเดิมๆ
พระประวัติ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ปุ่น ปุณฺณสิริมหาเถร) วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม พระองค์ที่ ๑๗ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พระประวัติเบื้องต้น
สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (ปุ่น ปุณฺณสิริมหาเถร) ทรงเป็นชาวสุพรรณบุรี ประสูติเมื่อวันที่ ๓๐ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๓๙ ตรงกับวันอังคาร แรม ๑๓ ค่ำ เดือน ๔ ปีวอก เวลา ๒๔ นาฬิกาเศษ ณ ตำบลสองพี่น้อง อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี ท่านบิดาชื่อ เน้า สุขเจริญ ท่านมารดาชื่อ วัน สุขเจริญ ทรงเป็นบุตรคนที่ ๖ ในจำนวนพี่น้อง ๘ คน
ในเบื้องต้นทรงเล่าเรียนภาษาไทยกับท่านบิดาจนสามารถอ่านหนังสือแบบเรียนเร็ว เล่ม ๑-๒ ได้จบ
ต่อมาท่านบิดาจึงพาไปฝากเป็นศิษย์พระอาจารย์หอม วัดสองพี่น้อง ซึ่งเป็นญาติ จากนั้นจึงทรงเริ่มศึกษาภาษาบาลีอักษรขอม และคัมภีร์มูลกัจจายน์ ที่เรียกกันว่า หนังสือใหญ่ กับพระอาจารย์หอมและพระอาจารย์จ่าง
ปุณฺณโชติ ซึ่งภายหลังได้รับพระราชทานสัญญาบัตร เป็น พระครูอุภัยภาดารักษ์ และเมื่อตกเย็น ก็ทรงต่อ
สวดมนต์กับพระอาจารย์ ที่เรียกว่า ต่อหนังสือค่ำ
พ.ศ. ๒๔๕๔ เมื่อพระชนมายุได้ ๑๐ พรรษา พระอาจารย์หอมได้พามาฝากเป็นศิษย์อยู่วัดมหาธาตุกับพระอาจารย์ป่วน ผู้เป็นญาติฝ่ายท่านมารดา (ภายหลังย้ายไปอยู่วัดพระเชตุพน ต่อมาได้รับพระราชทานสัญญาบัตรเป็น พระครูบริหารบรมธาตุ เป็นเจ้าอาวาสวัดนางชีภาษีเจริญ)
พ.ศ. ๒๔๕๕ พระชนมายุได้ ๑๖ พรรษา ย้ายมาอยู่กับพระอาจารย์สด (ซึ่งภายหลังได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นที่ พระมงคลเทพมุนี วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ) ซึ่งมีศักดิ์เป็นอา ณ วัดพระเชตุพน และในปีนั้น ได้ทรงกลับไปบรรพชาเป็นสามเณร ณ วัดสองพี่น้อง โดยพระครูวินยานุโยค (เหนี่ยง อินฺทโชโต) เจ้าอาวาสวัดสองพี่น้อง เป็นพระอุปัชฌาย์
พ.ศ. ๒๔๕๖ ต้องทรงลาสิกขาออกไปช่วยครอบครัวทำนาอยู่ระยะหนึ่ง เพราะท่านบิดาป่วย ครั้น
พระชนมายุ ๑๘ พรรษา ก็กลับบรรพชาเป็นสามเณรอีกครั้งหนึ่ง แล้วทรงกลับมาอยู่วัดพระเชตุพน เพื่อทรงศึกษาเล่าเรียนต่อ
พ.ศ. ๒๔๖๐ พระชนมายุ ๒๒ พรรษา ทรงกลับอุปสมบท ณ วัดสองพี่น้อง อันเป็นภูมิลำเนาเดิม พระครูวินยานุโยค (เหนี่ยง อินฺทโชโต) เจ้าอาวาสวัดสองพี่น้อง เจ้าคณะอำเภอสองพี่น้อง เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์โหน่ง วัดสองพี่น้อง (ต่อมาย้ายไปเป็นเจ้าอาวาสวัดอัมพวัน ตำบลดอนมะดัน) เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระศากยปุตติยวงศ์ (เผื่อน ติสฺสทตฺโต สุดท้ายได้รับสถาปนาเป็น สมเด็จพระวันรัต) วัดพระเชตุพน เป็นพระอนุสาวนาจารย์ เมื่อวันที่ ๒๗ เมษายน ๒๔๖๐ ตรงกับวันศุกร์ ขึ้น ๗ ค่ำ เดือน ๖ ปีมะเส็ง
ศึกษาพระปริยัติธรรม
เมื่อเข้ามาอยู่วัดพระเชตุพนแล้ว จึงทรงเริ่มศึกษาพระปริยัติธรรมอย่างจริงจังในสำนักของ สมเด็จพระวันรัต (เผื่อน ติสฺสทตฺโต) แต่ครั้งยังดำรงสมณศักดิ์ที่ พระศากยปุตติยวงศ์ และกับพระมหาปี วสุตฺตโม ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๕๕ เป็นต้นมา สอบไล่ได้นักธรรมและเปรียญชั้นต่างๆ มาเป็นลำดับ
จนในปี พ.ศ. ๒๔๗๐ สอบได้เปรียญธรรม ๖ ประโยค
นอกจากการศึกษาพระปริยัติธรรมแล้วยังทรงใฝ่พระทัยในการศึกษาภาษาต่างประเทศด้วยเท่าที่จะทรงมีโอกาสศึกษาได้ กล่าวคือ ทรงศึกษาภาษาอังกฤษกับหลวงประสานบรรณวิทย์ และทรงศึกษาภาษาจีนกับนาย กมล มลิทอง
ตำแหน่งหน้าที่ในการคณะสงฆ์
เจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ ทรงรับภาระหน้าที่ทางการคณะสงฆ์มาแต่ทรงเป็นพระเปรียญ เริ่มแต่หน้าที่ภายในพระอารามไปจนถึงหน้าที่ในการปกครองคณะสงฆ์
พ.ศ. ๒๔๙๐ สมเด็จพระวันรัต (เผื่อน ติสฺสทตฺโต) เจ้าอาวาสวัดพระเชตุพน ถึงมรณภาพ เจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ ขณะทรงดำรงสมณศักดิ์ที่พระราชสุธี จึงได้รับแต่งตั้งเป็นผู้รักษาการเจ้าอาวาสวัดพระเชตุพน เป็นกรรมการสภามหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และในคราวเดียวกันได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นเทพที่ พระเทพเวที
พ.ศ. ๒๔๙๑ เป็นสังฆมนตรี (สมัยที่ ๑) เป็นเจ้าอาวาสวัดพระเชตุพน เป็นกรรมการและเลขาธิการ
ก.ส.พ (กรรมการสังฆาณัติระเบียบพระคณาธิการ) ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นธรรมที่พระธรรมดิลก
พ.ศ. ๒๔๙๒ เป็นเจ้าคณะตรวจการภาค ๒ เป็นสภานายกสภาพระธรรมกถึก
พ.ศ. ๒๔๙๓ เป็นสังฆมนตรี (สมัยที่ ๒)
พ.ศ. ๒๔๙๔ เป็นสังฆมนตรี (สมัยที่ ๓) เป็นสังฆมนตรีและสังฆมนตรีสั่งการแทนสังฆมนตรีว่าการองค์การเผยแผ่ (สมัยที่ ๔)
พ.ศ. ๒๔๙๖ เป็นประธานกรรมการสงฆ์ แห่งโรงพยาบาลสงฆ์
พ.ศ. ๒๔๙๙ ได้รับพระราชทานสถาปนาเป็นพระราชาคณะเจ้าคณะรองที่ พระธรรมวโรดม เป็นสังฆมนตรีว่าการองค์การสาธารณูปการ (สมัยที่ ๕)
พ.ศ. ๒๕๐๐ เป็นกรรมการ ก.ส.พ. เป็นกรรมการอุปถัมภ์กิตติมศักดิ์ มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
พ.ศ. ๒๕๐๒-๘ เป็นผู้รักษาการเจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ
พ.ศ. ๒๕๐๓ เป็นสังฆมนตรีว่าการองค์การเผยแผ่ (สมัยที่ ๖)
พ.ศ. ๒๕๐๔ ได้รับพระราชทานสถาปนา เป็นสมเด็จพระราชาคณะที่ สมเด็จพระวันรัตเป็นกรรมการพิจารณาหลักสูตรการศึกษาปริยัติธรรม แผนกบาลี
พ.ศ. ๒๕๐๖ เป็นกรรมการมหาเถรสมาคม ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ ซึ่งประกาศใช้แทน พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๔๘๔ เป็นผู้รักษาการเจ้าอาวาสวัดโสธรวราราม จนถึง พ.ศ. ๒๕๐๗
พ.ศ. ๒๕๐๘ เป็นเจ้าคณะใหญ่หนกลาง และรักษาการในตำแหน่ง เจ้าคณะใหญ่หนตะวันออก หนเหนือ และหนใต้
พ.ศ. ๒๕๐๙ เป็นแม่กองงานพระธรรมทูต
พ.ศ. ๒๕๑๐ เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนสมเด็จพระสังฆราช ในระหว่างที่ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (จวน อุฏฺฐายีมหาเถร) สมเด็จพระสังฆราชเสด็จเยือนศรีลังกาเป็นทางการ
พ.ศ. ๒๕๑๕ เป็นเจ้าคณะนครหลวง กรุงเทพธนบุรี
สมเด็จพระสังฆราช พระองค์ที่ ๑๗ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
พ.ศ. ๒๕๑๕ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าสถาปนาเป็น สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก สืบต่อจาก สมเด็จพระสังฆราช (จวน อุฏฺฐายีมหาเถร) วัดมกุฏกษัตริยาราม นับเป็นพระองค์ที่ ๑๗ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
การพระศาสนาต่างประเทศ
ในด้านการพระศาสนาต่างประเทศนั้น เจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ ก็ทรงรับภาระปฏิบัติมาเป็นลำดับ เริ่มแต่ครั้งทรงดำรงสมณศักดิ์ที่ พระธรรมดิลก กล่าวคือ
พ.ศ. ๒๔๙๗ ร่วมในคณะผู้แทนแห่งคณะสงฆ์ไทยไปร่วมในการประชุมฉัฏฐสังคายนา ณ ประเทศพม่า
พ.ศ. ๒๔๙๙ ไปร่วมฉลองพุทธชยันตี (ฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษ) ณ ประเทศศรีลังกา แล้วเดินทางไปนมัสการสังเวชนียสถาน ในประเทศอินเดีย และแวะสังเกตการณ์ พระศาสนา ณ ประเทศสิงคโปร์
พ.ศ. ๒๕๐๒ ไปร่วมพิธีเปิดวัดไทย ณ พุทธคยา ประเทศอินเดีย
พ.ศ. ๒๕๐๖ ไปเยือนวัดไทยในรัฐเคดาห์ปินัง ประเทศมาเลเซีย และประเทศสิงคโปร์
พ.ศ. ๒๕๐๙ ไปเป็นประธานในพิธีผูกพัทธสีมาวัดไทยพุทธคยา ประเทศอินเดีย จากนั้นไปสังเกตการณ์พระศาสนา ณ ประเทศเนปาล
พ.ศ. ๒๕๑๐ ไปเป็นประธานผูกพัทธสีมา วัดเชตวัน กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย
พ.ศ. ๒๕๑๑ ไปเยือนวัดพุทธปทีป กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ และไปสังเกตการณ์ พระศาสนา ณ ประเทศเนเธอร์แลนด์ ฝรั่งเศส เบลเยี่ยม ลักเซมเบอร์ก เยอรมันนี สวิสเซอร์แลนด์ และอิตาลี
พ.ศ. ๒๕๑๕ เสด็จเยือนประเทศสหรัฐอเมริกา ตามคำอาราธนาของรัฐบาลสหรัฐอเมริกา และในโอกาสเดียวกัน ก็เสด็จเยือนสำนักวาติกัน ณ กรุงโรม ประเทศอิตาลี เยือนวัดพุทธปทีป กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เยือนเนเธอร์แลนด์ ฝรั่งเศส เยอรมนี สวิสเซอร์แลนด์ และสเปน
การก่อสร้างปฏิสังขรณ์
ตั้งแต่ทรงดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส เป็นต้นมา การก่อสร้างปฏิสังขรณ์ในพระอารามสิ้นเงินประมาณ ๒๐ ล้านบาท
สร้างพิพิธภัณฑ์สมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ ๑๗ ณ วัดสุวรรณภูมิ อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี
สร้างโรงพยาบาลสมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ ๑๗ ณ อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี
สร้างตึกสันติวัน โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โดยทุนส่วนพระองค์ และผู้ที่ถวายในคราวเสด็จเข้ารับการผ่าตัด เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๖ รวมเป็นเงิน ๔๐๘,๒๐๐ บาท และยังทรงบริจาคสมทบสร้างตึกศัลยกรรม โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ๕๐,๐๐๐ บาท เครื่องทำความเย็นตึกกายภาพบำบัด ๕๐,๐๐๐ บาท เป็นทุนค่าอาหาร ๓๐,๐๐๐ บาท ทุนตึกจงกลนีวัฒนวงศ์ ๒๐,๐๐๐ บาท
สร้างโรงเรียนสมเด็จพระวันรัต ตลาดสามชุก อำเภอสามชุก จังหวัดสุพรรณบุรี
สร้างหอสมเด็จ วัดวิมลโภคาราม อำเภอสามชุก จังหวัดสุพรรณบุรี
ได้รับพระกรุณาโปรด ให้เป็นประธานสร้างโรงเรียนสงเคราะห์เด็กอนาถา วัดศรีจันทร์ประดิษฐ์ จังหวัดสมุทรปราการ และวัดป่าไก่ จังหวัดราชบุรี
มูลนิธิที่ทรงบริจาคและริเริ่มก่อตั้ง
พ.ศ. ๒๔๙๒ ศึกษานิธิวัดพระเชตุพน
พ.ศ. ๒๕๐๕ มูลนิธิ ทุนพระพุทธยอดฟ้า ในพระบรมราชูปถัมภ์ (๑๙,๐๔๑,๒๒๖.๖๒ บาท)
พ.ศ. ๒๕๑๐ เป็นประธานมูลนิธิอภิธรรม มหาธาตุวิทยาลัย
พ.ศ. ๒๕๑๒ มูลนิธิสมเด็จพระพุทธโคดม วัดไผ่โรงวัว อำเภอ สองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี โดยรับพระราชทานทุนของ นางละมุน บุรกรรมโกวิท ๑๐๐,๐๐๐ บาท (๑๖๓,๓๗๖.๕๗ บาท)
พ.ศ. ๒๕๑๕ มูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ ๑๗ อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี (๑๒,๐๐๐.๐๐ บาท)
พ.ศ. ๒๕๑๖ มูลนิธิศูนย์โภชนาการช่วยเหลือเด็กวัยก่อนเรียนอำเภอหางน้ำสาคร จังหวัดชัยนาท โดยทุนทรงบริจาค และของพระภิกษุ พล.ต.ท. ชุมพล โลหะชาละ อีก ๑๐๐,๐๐๐ บาท (๑๒๕,๙๐๐.๐๐ บาท)
พ.ศ. ๒๕๑๖ มูลนิธิห้องสมุดสันติวัน วัดพระเชตุพน (๑๖๙,๕๐๐.๐๐ บาท)
งานพระนิพนธ์ สันติวัน ศรีวัน
นอกจากทรงแต่งและเรียบเรียงพระธรรมเทศนาแล้ว โดยที่ทรงสนใจในการประพันธ์มาตั้งแต่ยังทรงเป็นสามเณร โปรดการอ่านหนังสือ และสะสมหนังสือต่างๆ ทั้งเคยทรงเขียนบทความเกี่ยวกับวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์เดลิเมล์ ในพระนามว่า ป.ปุณฺณสิริ ยังทรงนิพนธ์หนังสืออีก ๒๐ กว่าเรื่อง
ประเภทวิชาการ
เมื่อทรงเป็นเลขาธิการ ก.ส.พ. ได้ทรงรวบรวมระเบียบข้อบังคับคณะสงฆ์พิมพ์เป็นเล่ม ชื่อประมวลอาณัติคณะสงฆ์
ประเภทสารคดี
บันทึกการเสด็จไปยังที่ต่างๆ คือสู่เมืองอนัตตา พุทธชยันตี เดีย-ปาล สู่สำนักวาติกัน และนิกสัน และพระนิพนธ์เรื่องสุดท้าย คือ บ่อเกิดแห่งกุศลคือโรงพยาบาล
ประเภทธรรมนิยาย
เช่นจดหมายสองพี่น้องสันติวัน พรสวรรค์ หนี้กรรมหนี้เวร ไอ้ตี๋ ดงอารยะ เกียรติกานดา คุณนายชั้นเอก ความจริงที่มองเห็น ความดีที่น่าสรรเสริญ อภินิหารอาจารย์แก้ว กรรมสมกรรม ในพระนามสันติวันหรือศรีวัน
นอกจากนี้ ยังได้ทรงเขียนเป็นบทความต่างๆ อีกมาก
พระเกียรติคุณ
สมเด็จพระสังฆราช ทรงเจริญอยู่ในพรหมวิหารธรรม ทรงเป็นครุฐานียอภิปูชนียบุคคล เป็นที่รักเป็นที่เคารพบูชาสักการะอย่างยิ่งแห่งปวงบรรพชิตและคฤหัสถ์ ทรงได้รับยกย่องพระเกียรติคุณเป็นอย่างสูง มีพระนามเป็นพิเศษว่า สมเด็จป๋า พระเครื่องและเหรียญพระรูป ที่ทรงสร้างขึ้นในวาระต่าง ๆ หรือที่มีผู้มาขออนุญาตพิมพ์เป็นที่ระลึกในงานกุศลปรากฏว่าเป็นที่นิยมกันมาก
สิ้นพระชนม์
โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ได้มีแถลงการณ์ ในการสิ้นพระชนม์ดังนี้
สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เสด็จเข้ารับการรักษา ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ตั้งแต่ วันที่ ๑๒ กันยายน ๒๕๑๖ ด้วยพระอาการเวียนพระเศียร ความทรงจำเสื่อม พระวรกายทางซีกขวาอ่อน เคลื่อนไหวไม่ได้ คณะแพทย์ลงความเห็นว่า พระอาการทั่วไปทั้งหมด เนื่องมาจากการที่พระองค์ทรงประชวรเป็นเนื้องอกในปอดข้างซ้าย ซึ่งคณะแพทย์ได้ถวายการผ่าตัดเมื่อวันที่ ๒ ตุลาคม ๒๕๑๕ และต่อมาได้กระจายไปที่สมอง คณะแพทย์ได้ถวายการรักษาด้วยรังสีโคบอลท์ พระอาการดีขึ้นบ้าง
ต่อมาวันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ มีพระโรคแทรก คือ มีพระโลหิตออกจากกระเพาะอาหาร คณะแพทย์ได้ถวายการผ่าตัดเพื่อระงับมิให้มีการสูญเสียพระโลหิตทางพระลำไส้อีก และถวายการผ่าตัดเพื่อมิให้มีพระอาการขึ้นอีก นับตั้งแต่วันที่ ๑๘ ตุลาคม ๒๕๑๖ เป็นต้นมา พระอาการทางสมองมากขึ้น จนครึ่งพระวรกายซีกขวาเคลื่อนไหวไม่ได้ ทรงมีพระอาการไข้ขึ้นสูงตลอดมา ปอดบวม มีพระอาการทั่วไปอ่อนเพลียลงตามลำดับ ในที่สุดสิ้นพระชนม์ลงเมื่อวันศุกร์ ที่ ๗ ธันวาคม ๒๕๑๖ เวลา ๒๒.๒๕ ด้วยพระอาการอันสงบ
สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช ทรงดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดพระเชตุพน เป็นองค์ที่ ๑๑ เป็นเวลา ๒๖ ปี ๘ เดือน ๓๐ วัน ทรงดำรงตำแหน่ง สมเด็จพระสังฆราช เป็นเวลา ๑ ปี ๔ เดือน ๑๘ วัน สิริพระชนมายุ ๗๗ พรรษา |