เว็บลิ้งค์ชมรมต่างๆ

เว็บไซต์วัดเกจิดังในสยาม
วัดอัมพวัน จ. สิงห์บุรี
วัดหนองป่าพง จ. อุบลฯ
วัดเขาแหลม จ. สระแก้ว
หลวงพ่อกวย วัดโฆสิตาราม
วัดหัวป่า อ. ระโนด จ. สงขลา
วัดแก้วโกรวาราม จ. กระบี่
หลวงปู่ดุลย์ อตุโล
หลวงสมชาย วัดเขาสุกิม
ป้อนหมายเลขสิ่งของ


***พิมพ์หมายเลขสิ่งของจำนวน 13 หลัก

รายละเอียดเพิ่มเติม

  หน้าหลัก  :  อดีตสู่ปัจจุบัน  :  เว็บบอร์ดชมรม  :  ตารางประกวดพระ  :  สาระน่ารู้  :  เล่าสู่กันฟัง  :  ติดต่อเรา
ประวัติเกจิอาจารย์ดัง: หลวงพ่อกลั่น วัดเขาอ้อ

พระครูอดุลธรรมกิตติ์ (หลวงพ่อกลั่น อคฺคธมฺโม) วัดเขาอ้อ
20-10-2009 Views: 23281

   ชาติกำเนิด

   เด็กชายกลั่น แก้วรักษา ได้ถือกำเนิดมาจากตระกูลชาวนา เมื่อวันอาทิตย์ แรม 2 ค่ำ เดือนอ้าย ปีฉลู ตรงกับ วันที่ 14 ธันวาคม พุทธศักราช 2456 ณ บ้านใสคำ ตำบลโตนดด้วน อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง บิดาชื่อ นายตุด แก้วรักษา และ มารดาชื่อ นางจันทร์ แก้วรักษา เด็กชายกลั่นมีพี่น้องร่วมท้องเดียวกัน จำนวน 3 คน คือ

   1.นางกลิ่น แก้วรักษา (สถาพร)

   2.นายกลั่น แก้วรักษา 3.นางขลิบ แก้วรักษา

   ชีวิตวัยเด็ก

   เด็กชายกลั่น เป็นเด็กที่ค่อนข้างซุกซน แต่มีแววแห่งความฉลาดปราดเปรียว เด็กชายกลั่นได้เริ่มเข้าเรียน โรงเรียนประชาบาล ตำบลละอาย อำเภอฉวาง จังหวัดนครศรีธรรมราช เมื่อ พ.ศ.2462 และ เรียนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 เมื่อ พ.ศ.2467 หลังจากนั้นก็ได้ออกไปช่วยเหลืองานบิดามารดาในการทำไร่นา เมื่ออายุเริ่มเข้าสู่วัยหนุ่ม เด็กชายกลั่นก็ได้มีโอกาสได้ศึกษาโลกภายนอกกว้างขวางยิ่งขึ้น และได้เริ่มออกจากบ้าน เพื่อแสวงหาโชคลาภอย่างเช่นเด็กหนุ่มโดยทั่วๆไป

   กลายเป็นนายกลั่นเพราะเหตุด้วยอายุเกิน 15 ปี บิดามารดาพิจารณาเห็นว่าสมควรที่จะให้นายกลั่นได้ศึกษาธรรมวินัย เพื่อจะได้เป็นบุคคลที่มีคุณธรรมโดยสมบูรณ์ ซึ่งก็เป็นความปรารถนาของบิดามารดาสมัยก่อน ดังนั้น นายกลั่นก็ได้เข้าสู่เพศบรรพชาเป็นสามเณร เมื่ออายุ 17 ปีเต็ม ณ วัดสวนขัน ตำบลละอาย อำเภอฉวาง จังหวัดนครศรีธรรมราช เมื่อ พ.ศ.2473 โดยมีพระอาจารย์สังข์วัดทุ่งไหม้เป็นพระอุปัชฌาย์ สามเณรกลั่นได้ใช้ชีวิตบรรพชาอยู่ที่แห่งนี้ได้ถึง 4 พรรษา ซึ่งก็นับว่ามากพอครบเทอมอย่างเช่นนักการเมืองนั่นแหละ… ปลายปีที่ 4 แห่งชีวิตบรรพชา สามเณรกลั่นก็ได้ตัดสินใจลาสิกขาบทออกไปใช้ชีวิตทางโลกอีก คงจะคิดว่าทางโลกนั้นมีหนทางที่จะเดินไปสู่ความก้าวหน้าของชีวิตได้ดีกว่า

     ชีวิตคู่

     หนุ่มวัยฉกรรจ์กลั่น แก้วรักษา ก็ยังมีความปรารถนาที่จะมีชีวิตคู่เฉกเช่นหนุ่มสาวโดยทั่วไป หนุ่มกลั่นได้พิจารณาอย่างรอบคอบถี่ถ้วนโดยตนเอง และการเชื่อฟังบิดามารดาในการเลือกคู่ครอง หนุ่มกลั่นจึงตัดสินใจแต่งงานกับหญิงสาวนามว่า กุหลาบ ทองพันธุ์ บุตรของผู้ใหญ่เปลี่ยน ทองพันธุ์ และ นางพลับ ทองพันธุ์ ซึ่งอยู่บ้านห่างกันคนละฝากถนนรถไฟ มีอาชีพในการทำนาเช่นกัน เมื่ออายุได้ 21 ปี นายกลั่น ได้ใช้ชีวิตการครองเรือน มีบุตรและธิดาทั้งหมด 6 คน คือ

    1. นางหนูผอง แก้วรักษา แต่งงานกับ นายประสิทธิ์ ชูศรี

    2. นางละออง แก้วรักษา แต่งงานกับ นายคลี่ เรืองศรี

    3.นายธานี แก้วรักษา แต่งงานกับ นางฉาย แก้วรักษา

    4.นางบุญคุ้ม แก้วรักษา แต่งงานกับ นายอรุณ กลับแก้ว

    5.นายถาวร แก้วรักษา แต่งงานกับ นางละม่อม ไหมพุ่ม

    6.นางรัตนา แก้วรักษา แต่งงานกับ นายสำราญ แปงสาย

    เมื่อชีวิตครองเรือนของนายกลั่น ตั้งแต่แต่งงาน มีบุตรธิดา นายกลั่นได้ใช้ชีวิตอยู่ร่วมสมาชิกภายในครอบครัว อบรมสั่งสอนบุตรธิดา เหมือนบิดามารดาโดยทั่วไป จนกระทั่งอายุ 58 ปี นายกลั่น เห็นว่าบุตรธิดาเติบใหญ่พอที่จะช่วยเหลือตนเองได้แล้ว จึงได้ตัดสินใจเข้าสู่เพศบรรพชิตอีกครั้ง เมื่อวันจันทร์ขึ้น 13 ค่ำ เดือน 8 ปีกุน ตรงกับ วันที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ.2514 ณ วัดบ้านสวน ตำบลมะกอกเหนือ อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง โดยมีท่านพระครูพิพัฒน์ศิริธร (หลวงพ่อคง) เจ้าอาวาสวัดบ้านสวนเป็นพระอุปัชฌาย์

     สมณเพศจากอดีตสู่ปัจจุบัน

     เมื่อพระกลั่น อคฺคธมฺโม ถือเพศเป็นสมณแล้ว ก็ได้กลับไปอยู่ ณ วัดเขาอ้อ และได้ศึกษาธรรมวินัยไปด้วยควบคู่กับการศึกษาเรื่องไสยศาสตร์ เพราะวัดเขาอ้อเป็นวัดที่มีชื่อเสียงในเรื่องเครื่องรางของขลัง โดยสมัยนั้นท่านพระอาจารย์ปาน ปาลธมฺโม เป็นเจ้าอาวาส และเป็นเกจิอาจารย์ที่มีชื่อเสียงสืบทอดต่อมาจากท่านพระอาจารย์ทองเฒ่

      ภายหลังจากที่ท่านพระอาจารย์ปาน ปาลธมฺโม ได้มีสุขภาพร่างกายไม่ค่อยจะสมบูรณ์มากนัก และได้ไปจำพรรษาที่วัดดอนศาลาชั่วคราว ใน พ.ศ.2518 พระกลั่น ก็ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาสวัดเขาอ้อ และหนึ่งปีให้หลัง คือ พ.ศ.2519 ก็ได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดเขาอ้อ ต่อจากนั้นเรื่อยมาก็ได้รับการแต่งตั้งเป็นพระใบฎีกากลั่น ซึ่งก็เป็นพระฐานานุกรมรูปหนึ่ง ในทำเนียบพระสังฆาธิการ ตำบลมะกอกเหนือ อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง จนกระทั่งได้เป็น ท่านพระครูอดุลธรรมกิตติ์ ใน ปี พ.ศ.2536

    อาลัย "พ่อท่านกลั่น" เกจิวัดเขาอ้อพัทลุง

    คุณธรรม คือ ตำนานคน หลวงพ่อกลั่น วัดเขาอ้อ ได้กลั่นธรรมดำ (อกุศล) เป็นธรรมขาว (กุศล) จนเหลือแต่ความว่างเปล่าแห่งธรรมด้วยวัยวุฒิ 94 ปี 36 พรรษา เมื่อวันที่ 13 เมษายน 2549

   วัดเขาอ้อ เป็นวัดโบราณเก่าแก่แห่งหนึ่งของจังหวัดพัทลุง ตั้งอยู่หมู่ที่ 3 ต.มะกอกเหนือ อ.ควนขนุน จ.พัทลุง

   วัดแห่งนี้มีชื่อเสียงโด่งดังด้านวิทยาคมมาตั้งแต่อดีต โดยเฉพาะเครื่องรางของขลัง และพระเครื่องวัตถุมงคลที่มีพุทธคุณ เป็นสุดยอดปรารถนาของคนทั่วไป

    ด้วยความรู้ด้านวิทยาคมแห่งสำนักวัดเขาอ้อ มีทั้งพระภิกษุและฆราวาส ในอดีตได้เล่าเรียนสืบต่อมาหลายชั่วอายุคน จนกลายเป็นตำนานสืบสายพุทธาคม มายาวนานต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน

    รวมไปถึงหลวงพ่อกลั่น อัคคธัมโม หรือพระครูอดุลธรรมกิตติ เจ้าอาวาสวัดเขาอ้อ ต.มะกอกเหนือ อ.ควนขนุน จ.พัทลุง ถือเป็นหนึ่งในผู้สืบทอดวิทยาคม สายวิชาสำนักวัดเขาอ้อ

       ภายหลังใช้ชีวิตในร่มกาสาวพัสตร์เป็นเวลา 4 ปี ท่านได้ตัดสินใจลาสิกขาออกไปใช้ชีวิตทางโลก ตามความปรารถนาของคนวัยหนุ่มและได้แต่งงานกับ น.ส.กุหลาบ ทองพันธุ์ ลูกสาวผู้ใหญ่เปลี่ยน-นางพลับ ทองพันธุ์ มีบุตรชาย-หญิง รวม 6 คน

     หลังจากที่ได้อบรมเลี้ยงดูบุตรธิดาทุกคนเติบใหญ่สามารถช่วยเหลือตนเองได้แล้ว นายกลั่น เกิดความเบื่อหน่ายชีวิตทางโลก จึงได้ตัดสินใจหันหน้าเข้าสู่เพศบรรพชิตอีกครั้ง เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2514 ณ วัดบ้านสวน ต.มะกอกเหนือ อ.ควนขนุน จ.พัทลุง โดยมีพระครูพิพัฒน์ศิริธร (หลวงพ่อคง) เจ้าอาวาสวัดบ้านสวน เป็นพระอุปัชฌาย์, หลวงพ่อคล้าย วัดสวนขัน เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และหลวงพ่อหนานสูง เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า "อัคคธัมโม" มีความหมายว่า ผู้มีธรรมเป็นยอด

      หลังจากที่ได้ศึกษาอยู่กับหลวงพ่อคง ที่วัดบ้านสวน อ.ควนขนุน จ.พัทลุง นานพอสมควร ท่านได้รับมอบหมายให้ไปรักษาการบูรณะวัดเขาอ้อ พร้อมทั้งศึกษาพระธรรมวินัยควบคู่ไปกับการศึกษาวิทยาคมสายเขาอ้อกับพระอาจารย์ปาล ปาลธัมโม ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดเขาอ้อในขณะนั้น และเป็นผู้สืบทอดวิชาจากพระอาจารย์ทองเฒ่า

      พ.ศ.2518 พระอาจารย์ปาล ไปจำพรรษาที่วัดดอนศาลาชั่วคราว หลวงพ่อกลั่น ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาสวัดเขาอ้อ พ.ศ.2519 ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดเขาอ้อตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา และได้รับการแต่งตั้งเป็นพระใบฎีกากลั่น รวมทั้งได้รับการเลื่อนสมณศักดิ์ เป็นพระครูสัญญาบัตร เจ้าอาวาสวัดราษฎร์ชั้นโทที่ พระครูอดุลธรรมกิตติ ตามลำดับ

       ตลอดเวลา หลวงพ่อกลั่นได้ทำการบูรณปฏิสังขรณ์ฟื้นฟูวัดเขาอ้อ จนเจริญรุ่งเรืองขึ้นตามลำดับ พร้อมสร้างสาธารณประโยชน์มากมาย เป็นที่ศรัทธาของประชาชนทั่วไปทั้งชาวไทยและต่างประเทศ

     หลวงพ่อกลั่น ได้ปฏิบัติงานศาสนกิจด้วยดี ได้อบรมสั่งสอนพระธรรมวินัยแก่พระภิกษุสามเณรและศิษย์วัดในการปกครอง อบรมสั่งสอนศีลธรรม จริยธรรม แก่พุทธบริษัทอย่างสม่ำเสมอ นอกจากนี้ ยังเป็นกรรมการที่ปรึกษาหมู่บ้านอพป.หมู่ที่ 3 บ้านเขาอ้อ โดยให้คำแนะนำปรึกษาและช่วยเหลือแก่คณะกรรมการหมู่บ้าน ร่วมปฏิบัติกิจทางศาสนาเป็นตัวอย่างแก่ภิกษุสามเณรและประชาชน

      ด้านงานสาธารณูปการ หลวงพ่อกลั่น ได้สร้างกุฏิถาวรเป็นเรือนไม้ 1 หลัง สร้างพระประธานยืนหน้าอุโบสถ ถังประปาถาวร ห้องน้ำห้องส้วม กุฏิถาวรทรงไทย สร้างที่ประดิษฐาน รูปเหมือนพระอาจารย์ทองเฒ่า สร้างโรงครัวแบบถาวร เมรุเผาศพ แบบถาวร หอสมุดแบบถาวรลักษณะทรงไทย สร้างบันไดขึ้นภูเขาอ้อ จำนวน 89 ชั้น ศาลาพักร้อนบนภูเขา 1 หลัง สร้างพระพุทธรูป และอื่นๆ อีกมากมาย

      ด้านสาธารณประโยชน์ หลวงพ่อกลั่นได้ชักชวนประชาชนช่วยกันสร้างถนนเข้าสู่วัดเขาอ้อ และทำถนนต่อจากวัดไปถึงบ้านเขากลาง พร้อมทั้งจัดสร้างสะพานข้ามคลอง ร่วมหาเงินและบริจาคเงินสมทบสร้างอาคารเรียนให้กับโรงเรียนวัดเขาอ้อ สร้างสะพานข้ามคลอง ถนนสายเขาอ้อ-ปากคลอง ร่วมกับประชาชนสร้างถนนสายเขาอ้อ-ดอนศาลา และสิ่งสาธารณประโยชน์อื่นๆ อีกหลายอย่าง

      หลวงพ่อกลั่น ได้สืบทอดวิชาสายเขาอ้อ ท่านได้นำวิชาความรู้ปลุกเสกสร้างวัตถุมงคลออกมาหลายรุ่นด้วยกัน และที่กำลังได้รับความนิยมมากขณะนี้ก็คือ รุ่นพุทธาคมนอโม ซึ่งสร้างขึ้นในโอกาส ฉลองอายุวัฒนมงคล 90 ปี พระครูอดุลธรรมกิตติ "หลวงพ่อกลั่น" วัดเขาอ้อ เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2546

      หลวงพ่อกลั่น เป็นพระเกจิอาจารย์ชื่อดังท่านหนึ่ง ที่ได้เล่าเรียนวิชาความรู้ตำรับวัดเขาอ้อสืบต่อมา ซึ่งก่อนท่านจะละสังขารอย่างสงบ เมื่อช่วงวันสงกรานต์ที่ผ่านมา

      หลวงพ่อกลั่น ได้สร้างวัตถุมงคลและทำพิธีปลุกเสกวัตถุมงคลไว้หลายรุ่นด้วยกัน เช่น พระปิดตามหาอุดเขาอ้อ รุ่นบูรณะถ้ำฉัตรทัณฑ์บรรพต ซึ่งได้ทำพิธีพุทธาภิเษก เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2549 ณ ถ้ำฉัตรทันต์บรรพต วัดเขาอ้อ

      วัตถุมงคลรุ่นดังกล่าว มีหลายชุดด้วยกัน คือ วัตถุมงคลพระปิดตามหาอุด ชุดกรรมการเทหล่อในถ้ำ พระยอดขุนพลนำฤกษ์ ฤาษีนำฤกษ์ พิมพ์ใหญ่ ชุดพระหล่อฤาษีเทองค์ครูเนื้อเงินยวง ยังมีรุ่นเมตตามหาบารมี พิธีปลุกเสกครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2548 และรุ่นเมตตามหาบารมี พิธีปลุกเสกครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2548

      ณ บัดนี้ นามแห่งหลวงพ่อกลั่น กลายเป็นอีกตำนานสุดยอดวิทยาคมแห่งสำนักวัดเขาอ้อ



 
------------------------
  หน้าหลัก  
  คำถามที่มีการถามบ่อย  
  เราเล่นพระทำไม ?  
  กฎหมายพระเครื่อง  
  เกร็ดเล็ก-เกร็ดน้อย  
  สมัครเปิดร้านค้า  
  การชำระเงินค่าร้านค้า  
  ความรู้เกี่ยวกับพระเครื่อง  
  ข้อมูลสถิติเกี่ยวกับร้านค้า  
 
หน้าหลัก  อดีตสู่ปัจจุบัน  เว็บบอร์ดชมรม  ตารางประกวดพระ  สาระน่ารู้  เล่าสู่กันฟัง  ติดต่อเรา
Copyright©2024 zoonphra.com
Powered by Tactical IT