เว็บลิ้งค์ชมรมต่างๆ

เว็บไซต์วัดเกจิดังในสยาม
วัดอัมพวัน จ. สิงห์บุรี
วัดหนองป่าพง จ. อุบลฯ
วัดเขาแหลม จ. สระแก้ว
หลวงพ่อกวย วัดโฆสิตาราม
วัดหัวป่า อ. ระโนด จ. สงขลา
วัดแก้วโกรวาราม จ. กระบี่
หลวงปู่ดุลย์ อตุโล
หลวงสมชาย วัดเขาสุกิม
ป้อนหมายเลขสิ่งของ


***พิมพ์หมายเลขสิ่งของจำนวน 13 หลัก

รายละเอียดเพิ่มเติม

  หน้าหลัก  :  อดีตสู่ปัจจุบัน  :  เว็บบอร์ดชมรม  :  ตารางประกวดพระ  :  สาระน่ารู้  :  เล่าสู่กันฟัง  :  ติดต่อเรา
ประวัติเกจิอาจารย์ดัง: หลวงพ่อวัน วัดประสิทธิชัย

หลวงพ่อวัน มะนะโส
20-03-2010 Views: 20049

หลวงพ่อวัน มะนะโส
หลวงพ่อวัน มะนะโส เกจิอาจารย์ดังแห่งเมืองตรัง วัดประสิทธิชัย (ท่าจีน) อ.เมือง จ.ตรัง

    ในพื้นที่ย่านเมืองตรังลูกเล็กเด็กแดงที่นับถือศาสนาพุทธไม่มีใครที่ไม่รู้จัก “หลวงพ่อวัน” วัดท่าจีน แม้ว่าจะไม่เคยเห็นรูปร่างหน้าตาท่านก็ตามที  ชื่อเสียงกิตติคุณของหลวงพ่อวันก็โด่งดังไปทั่ว ชาวเมืองตรังให้ความเคารพศรัทธาท่านเสมอมา  จวบจนทุกวันนี้แม้เด็กๆ ก็ยังรู้จัก “หลวงพ่อวัน”  เพราะผู้ใหญ่บอกกล่าวและให้ความเคารพนับถือ พลอยให้ลูกเล็กเด็กแดงรู้จัก “หลวงพ่อวัน” ไปด้วย
หลวงพ่อวัน มะนะโส  ท่านเป็นพระเกจิอาจารย์ดังที่มีชื่อเสียงมาก  หลวงพ่อท่านเป็นชาวบ้านโคกแตร้ ตำบลควนขัน อำเภอเมืองตรัง จังหวัดตรัง  นามเดิมว่า “วัน” นามสกุล “มะนะโส”  ถือกำเนิดเมื่อวันที่ 21 มกราคม พ.ศ.2421  ตรงกับวันอังคาร 3 2  แรม 14 ค่ำ  เดือนยี่  ปีขาล  โยมบิดาชื่อ จอก  โยมมารดาชื่อ คล้าย  มีพี่น้องทั้งหมด 3 คน  ท่านเป็นบุตรคนหัวปลีของครอบครัว  น้องอีก 2 คน  ชื่อนายเคียง และนางสัม มะนะโส  และมีพี่น้องต่างมารดาอีก 4 คน  คือ ขุนสิทธิชัยภักดี (เวียง มะนะโส, นายหนูหมี, นายแป้น และนางแก้ว)
ในวัยเด็กท่านอยู่กับครอบครัวที่ประกอบอาชีพทำการเกษตรได้ระยะหนึ่ง  จากนั้นทางบ้านก็ส่งให้ไปอยู่กับญาติที่บ้านป่าพะยอม อำเภอควนขนุน (ปัจจุบันเป็นอำเภอป่าพะยอม เมื่อปี พ.ศ.2543) จังหวัดพัทลุง  แล้วญาติก็พาไปฝากให้อยู่กับ พระอธิการเรือง เจ้าอาวาสวัดป่าพะยอมให้ได้ศึกษาเล่าเรียนหนังสือไทย ขอม และเลขไทย  จนอ่านออกเขียนได้เฉกเช่น เด็กวัดในชนบททั่วๆ ไป

    หลวงพ่อวันเป็นเด็กวัด คลุกอยู่กับวัดมาตั้งแต่เด็กๆ จนกระทั่งอายุ 17 ปี  พระอธิการเรือง สมภารวัดป่าพะยอมก็ให้ท่านบรรพชาเป็นสามเณร  โดยมี พระครูกาชาด วัดป่าลิไลย์ เป็นพระอุปัชฌาย์  เมื่อบวชแล้วก็ศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัย ทำวัตร สวดมนต์ เรียนบาลีมูลกัจจายนะ และเรียนวิชาอาคมเวทย์มนต์ต่างๆ จากพระอาจารย์  แล้วก็ไปเรียนอยู่ในสำนักของอาจารย์ใหม่บ้าง
จวบจนกระทั่งอายุครบบวช 20 ปีบริบูรณ์  ท่านก็อุปสมบทเป็นพระภิกษุ เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ.2441  ณ พัทธสีมาวัดป่าพะยอม อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง  มี หลวงพ่อคง วัดบ้านมูล เป็นพระอุปัชฌาย์  หลวงพ่อใหม่ เป็นพระกรรมวาจาจารย์  หลวงพ่อปล้อง เป็นพระอนุสาวนาจารย์  ได้รับฉายา “จนฺทสรมหาเถร”
หลังจากบวชได้ 1 พรรษา  ท่านก็ต้องการที่จะลาสิกขาบท  แต่พระอาจารย์คือ ท่านอุปัชฌาย์คง ท่านห้ามไว้ว่ายังลาสิกขาไม่ได้ เพราะที่เล่าเรียนศึกษามายังไม่เพียงพอ ยังไม่ซาบซึ้งถึงหลักธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนาโดยแท้จริง  ควรที่จะศึกษาในการที่จะเจริญสมถกัมมัฏฐานธรรม และวิปัสสนากัมมัฏฐาน พิจารณาในสติปัฏฐาน 4  ให้รู้แจ้งเห็นจริงในสัจจธรรม  จึงจะได้ชื่อว่าเป็นผู้เข้าถึงพระพุทธศาสนา
พระภิกษุวันในสมัยนั้นก็เชื่อ ไม่ลาสิกขาปฏิบัติธรรมตามที่พระอาจารย์บอกกล่าวด้วยความเคารพ  ตั้งใจศึกษาปฏิบัติอย่างจริงจัง  ในที่สุดก็เกิดความรู้สึกซาบซึ้งในรสพระธรรม ได้รู้ได้เห็นตามความเป็นจริงในสัจจธรรม เกิดความเชื่อมั่นในหลักคำสอนของพระพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่ง
จนกระทั่งพรรษาที่ 3  ท่านได้บอกลาพระอาจารย์มาเยี่ยมโยมบิดา-มารดา และญาติพี่น้องของท่านที่บ้านท่าจีน (ทุกวันนี้ชื่อบ้านท่ากลาง) โยมบิดามารดาตลอดจนญาติพี่น้องเห็นท่านมาเยี่ยมก็ดีใจ ต่างก็พร้อมใจกันอาราธนาให้ท่านมาจำพรรษาอยู่ที่วัดประสิทธิชัย  ในสมัยนั้นเรียกว่า “วัดปอร์น หรือ “วัดท่าจีน”  เพื่อให้ท่านได้อยู่ใกล้บ้านใกล้ญาติพี่น้อง  หลวงพ่อก็กลับไปลาพระอุปัชฌาย์มาจำพรรษาอยู่ที่วัดประสิทธิชัย  ขณะนั้นมี พระอธิการเวียง วิริโย(ขุนสิทธชัย ภักดี)  ผู้มีฐานะเป็นน้องต่างมารดา ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัด  พอหลวงพ่อวันไปจำพรรษาอยู่  พระอธิการเวียงก็ขอลาสิกขาเพราะท่านอาพาธหนัก กลับไปอยู่ที่บ้านให้ญาติพี่น้องคอยดูแลรักษา
หลวงพ่อวันได้อยู่รักษาการตำแหน่งเจ้าอาวาสอยู่ 1 ปี  พอปี พ.ศ.2445  ท่านก็ได้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดประสิทธิชัย หรือวัดปอร์น ในสมัยนั้น เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน
อันว่า วัดประสิทธิชัย  ชื่อเดิมว่า “วัดปอร์น”  หรืชาวบ้านมักเรียกกันว่า “วัดท่าจีน”  สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย อยู่ในเขตปกครองคณะสงฆ์ตำบลนาโต๊ะหมิง อำเภอเมืองตรัง จังหวัดตรัง  ตั้งอยู่ที่บ้านท่าจีน  เลขที่ 300 ถนนท่ากลาง ตำบลทับเที่ยง อำเภอเมือง จังหวัดตรัง  ที่ดินตั้งวัดเนื้อที่ 20 ไร่ 1 งาน 42.5 ตารางวา  พื้นที่ตั้งวัดอยู่ใกล้แม่น้ำตรัง  เมื่อถึงฤดูฝนในลำธารต่างๆ เต็มไปด้วยน้ำไหลลงสู่แม่น้ำตรัง  น้ำมักจะท่วมถึงวัดตลอด ทำให้ต้องถมพื้นที่บริเวณวัดและยกพนังกั้นน้ำให้สูงขึ้น  ปัจจุบันชุมชนท่าจีนโดยรอบวัด ได้รับการพัฒนาเส้นทางคมนาคมให้มีความเจริญไปมาหาสู่กับวัดประสิทธิชัยได้สะดวกยิ่งขึ้น  ซึ่งต่างจากสมัยก่อนการไปมาหาสู่ค่อนข้างลำบาก
วัดประสิทธิชัยนั้น ประวัติความเป็นมาของการสร้างวัด เท่าที่สืบทราบจากหลักฐานบางอย่างยืนยันว่า เดิมชื่อวัดปอร์น  มีลายแทงให้มีการขบคิดกันมาแต่โบราณ จนถึงปัจจุบันนี้ก็ยังไม่มีใครคิดได้ มีความว่า
“วัดปอร์น  มีควนปลาคลัก  เชือกสั้นไม่ให้สาว  เชือกยาวไม่ให้ชัก  มีกาจับหลัก  มีจักรทั้งคู่  ผู้หญิงนอนหงาย  ผู้ชายนอนคู้  ผู้ใดคิดรู้กินไม่รู้สิ้นเอย”
ท่านผู้อ่านจะช่วยขบคิดไขปริศนาด้วยก็ได้  เผื่อว่าคิดออกจะได้กินไม่รู้สิ้น  หมายถึง ร่ำรวยทรัพย์เงินทองก็ได้ใครจะไปรู้
สำหรับคำว่า “ปอร์น” นั้น ปัจจุบันมีคลองปอร์นผ่านตลาดทับเที่ยง ผ่านวัดประสิทธิชัยไหลลงสู่แม่น้ำตรัง เรียกว่า “ปากคลองปอร์น” มีทุ่งปอร์นซึ่งเป็นทุ่งสงวนเลี้ยงสัตว์ บางส่วนทางเทศบาลได้สร้างเป็นโรงฆ่าสัตว์ และเป็นที่ตั้งสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยจังหวัดตรัง  ซึ่งเดิมก็เรียกอาณาบริเวณนี้ว่า ทุ่งปอร์นเช่นกัน  อีกชื่อหนึ่งชาวบ้านจะเรียกกันว่า “ท่าจีน” เพราะเป็นที่อยู่ของชาวจีนจำนวนมาก
สมัยก่อนนั้นการคมนาคมไม่สะดวก ไม่มีทางรถไฟ รถยนต์ไปมาไม่สะดวก การสัญจรต้องอาศัยแม่น้ำตรังเป็นหลัก  มีชาวจีนจากเมืองจีนมาตั้งหลักแหล่งทำมาค้าขายเป็นล่ำเป็นสัน อาศัยการคมนาคมทางน้ำ  เรือสินค้าจากต่างประเทศและเกาะต่างๆ ทางประเทศตะวันตกก็บรรทุกสินค้าเข้า-ออก ไปมาค้าขายเป็นประจำ  มีการจัดทำเป็นท่าเรือใช้ชื่อว่า “ท่าจีน” เพราะเป็นที่อยู่ของชาวจีน ต่อมามีการสร้างวัดขึ้นมาบริเวณนั้น จึงเรียกว่า “วัดท่าจีน” ไปด้วย
การก่อสร้างวัดเท่าที่เล่าสืบต่อกันมาว่า เมื่อครั้งที่มีการก่อสร้างพระเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่จังหวัดนครศรีธรรมราช  มีพวกชาวต่างประเทศและพวกชาวเกาะ นักแสวงบุญ  ต้องการไปร่วมในการสร้างพระเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ โดยมาทางเรือผ่านเข้ามาตามลำน้ำตรัง เมื่อก่อนนี้เรียกแม่น้ำท่าจีน ระหว่างการเดินทางแวะพักอยู่ที่ท่าจีน จึงคิดว่าควรสร้างวัดไว้เป็นอนุสรณ์  ได้ร่วมกันกับชาวจีนที่อยู่ในพื้นที่สร้างวัดขึ้นมา  ปรากฏหลักฐานที่พอจะยืนยันได้ก็คือ หินปะการัง เป็นชนิดที่มีอยู่ทั่วไปตามทะเล  ตามพื้นที่ของวัดบางส่วนขุดลงไปจะพบหินปะการัง  และปัจจุบันพื้นที่วัดยังมีรูปลักษณะคล้ายคนแก่  ชาวบ้านเรียกว่า “ยายไอ” มีผู้บนบานศาลกล่าวให้หายจากอาการเจ็บไข้ได้ป่วยอยู่เสมอ
การสร้างและการบูรณะวัด เมื่อก่อน พ.ศ.2478  ศาสนวัตถุต่างๆ ชำรุดทรุดโทรมไปตามอายุกาล  ได้มาพัฒนาถมพื้นที่ของวัดให้สูงขึ้นมีบริเวณกว้าง สร้างพนังกั้นน้ำขึ้นมาในภายหลัง
ลำดับสมภารปกครองวัดรูปที่ 1 ได้แก่  พระอธิการรอด จนฺทวณฺโณ  จาก พ.ศ.2326 ถึง พ.ศ. 2336  รูปที่ 2  พระสมุห์ทองอินทร์ อินฺทวณฺโณ  พ.ศ.2337 ถึง พ.ศ.2340  รูปที่ 3  พระครูวิเชียรนาวา  พ.ศ.2341 ถึง พ.ศ.2380  รูปที่ 4  พระอธิการขาว สุวณฺโณ  พ.ศ.2381 ถึง พ.ศ.2415  รูปที่ 5  พระอธิการเวียง วิริโย  พ.ศ.2416 ถึง พ.ศ.2442  รูปที่ 6  พระบริสุทธศีลาจาร จนฺทสรมหาเถร (หลวงพ่อวัน มะนะโส)  พ.ศ.2445 ถึง พ.ศ.2503  รูปที่ 7  พระมงคลสิทธิการ  พ.ศ.2504 ถึง พ.ศ.2546  รูปที่ 8  พระครูศรีปัญญาภรณ์  พ.ศ.2547 ถึงปัจจุบัน
ย้อนกลับมาถึงเรื่องราวของหลวงพ่อวัน  เมื่อได้รับตำแหน่งเจ้าอาวาสดูแลวัด  ท่านก็จัดการงานบริหาร พัฒนาวัดให้รุ่งเรือง ก่อสร้างเสนาสนะต่างๆ ขึ้นมาตามลำดับ  หลวงพ่อวันท่านเป็นพระที่มีเมตตาสูง พูดจาไพเราะ ยิ้มแย้มแจ่มใสอยู่ตลอดเวลา  เป็นที่ศรัทธาเลื่อมใสของผู้ที่ประสบพบเห็นและฟังคำแนะนำสั่งสอนจากท่าน  มีความเป็นอยู่แบบเรียบง่าย มีสมณสัญญา สันโดษ มัธยัสถ์ เคร่งครัดในสิกขาวินัย ยินดีในสิ่งที่ได้ ใช้ในสิ่งที่มี ยินดีและพอใจ ชอบช่วยเหลือสงเคราะห์ผู้อื่นด้วยเมตตาธรรม และคุณลักษณะอื่นๆ  อันเป็นส่วนสังคหธรรมปฏิบัติ เป็นที่เคารพนับถือยกย่องทางคณะสงฆ์และพุทธบริษัททั่วไปในฐานะปูชนียบุคคลและมีคุณธรรม
หลวงพ่อวันปกครองวัด ได้รับตำแหน่งต่างๆ สูงขึ้นตามลำดับ  ปี 2549 ได้รับตำแหน่งเจ้าคณะอำเภอห้วยยอด(เจ้าคณะแขวงอำเภอเขาขาวในสมัยนั้น)  ปี 2469 ได้รับแต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์  ปี 2479 เป็นรองเจ้าคณะจังหวัดตรัง  และปี 2490 เป็นผู้รักษาการแทนเจ้าคณะจังหวัดตรัง  และปี 2493 ขึ้นดำรงตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดตรัง ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เลื่อนเป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่ พระบริสุทธศีลาจาร  คณะบริหารอริยวงศวาที สังฆปาโทกข์
”
หลวงพ่อถึงแก่มรณภาพด้วยอาการสงบด้วยความชราภาพ  เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2503  เวลา 21.10 น. รวมอายุได้ 82 ปี 11 วัน  สร้างความโศกเศร้าแก่ศิษยานุศิษย์เป็นอันมาก
   หลวงพ่อวันท่านเป็นพระนักปฏิบัติเจริญวิปัสสนากรรมฐานอยู่เนืองนิตย์  ทำให้วิชาอาคมที่ท่านศึกษาเล่าเรียนมามีความเข้มขลังอยู่ตลอด จัดว่าท่านเป็นพระเกจิอาจารย์ผู้เรืองวิชามากในสมัยนั้น  แม้ว่าท่านจะไม่อ้างอวดคุณวิเศษในตนเองอย่างใด  แต่ลูกศิษย์หรือผู้ที่เคารพท่านก็ได้พบเห็นประสบการณ์มากมายจากหลวงพ่อ
ทางด้านวัตถุมงคลหลวงพ่อวันนั้น มีไม่กี่รุ่น  ปัจจุบันหายากมาก ใครมีไว้ครอบครองต่างก็หวงแหนเป็นนักหนา

วัตถุมงคลรุ่นแรกเป็นเหรียญรูปไข่ เนื้อทองแดง สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2487 

รุ่นสองสร้างเมื่อปี พ.ศ.2498 

รุ่นสามสร้างเมื่อปี 2503  เป็นเหรียญสร้างแจกในงานพระราชทานเพลิงศพหลวงพ่อ ใช้บล็อกรุ่นสอง 

รุ่นสี่ คณะศิษย์จัดสร้าง ในปี พ.ศ.2516 

รุ่นห้า สร้างปี พ.ศ.2520 

และรุ่นหกสร้างปี 2530 เป็นเหรียญรูปไข่ เนื้อทองแดงทั้งสิ้น
     เรื่องราวอัตชีวประวัติหลวงพ่อวัน มะนะโส  พระเกจิอาจารย์ดังแห่งเมืองตรัง  พอสังเขปก็มีเพียงเท่านี้... สวัสดี.



 
------------------------
  หน้าหลัก  
  คำถามที่มีการถามบ่อย  
  เราเล่นพระทำไม ?  
  กฎหมายพระเครื่อง  
  เกร็ดเล็ก-เกร็ดน้อย  
  สมัครเปิดร้านค้า  
  การชำระเงินค่าร้านค้า  
  ความรู้เกี่ยวกับพระเครื่อง  
  ข้อมูลสถิติเกี่ยวกับร้านค้า  
 
หน้าหลัก  อดีตสู่ปัจจุบัน  เว็บบอร์ดชมรม  ตารางประกวดพระ  สาระน่ารู้  เล่าสู่กันฟัง  ติดต่อเรา
Copyright©2024 zoonphra.com
Powered by Tactical IT