ประวัติ หลวงพ่อกลั่น ธมฺมโชติ วัดพระญาติการาม
ตำบลไผ่ลิง อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
พระเดชพระคุณเจ้า หลวงพ่อกลั่น ธมฺมโชติ ผู้เป็นพระอาจารย์ชื่อเสียงโด่งดังที่สุดของเมืองไทย ในบรรดาพระอาจารย์เจ้าของเหรียญเป็น คือ เป็นพระอาจารย์ที่ปลุกเสกเหรียญรูปเหมือนของท่านด้วยตัวของท่านเอง เหรียญของท่านที่เป็นพิมพ์นิยมนั้นราคาแพงอันดับหนึ่งในเมืองไทยก็แล้วกันคือแพงเป็นล้านบาท จริงๆ ว่ากันไปแล้ว หลวงพ่อเงิน บางคลาน จังหวัดพิจิตร ท่าน ก็ดังมากแต่เหรียญรูปเหมือนของท่านยังไม่แพงเหมือนหลวงพ่อกลั่นเลย หรืออย่างหลวงพ่อศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า ซึ่งประวัติอภินิหารความศักดิ์สิทธิ์ของท่านนั้นขลังมากมาย แต่ก็เป็นที่น่าแปลกอย่างมาก ที่เหรียญของท่านแพงสู้เหรียญของหลวงพ่อกลั่นไม่ได้
ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยานั้นพระอาจารย์ยุคเก่าๆ หลายท่านด้วยกัน ที่มีวิชาความรู้ในด้านธรรมชั้นสูง ด้านกรรมฐาน ด้านวิชาอาคมขลังอย่างยอดเยี่ยมหลายๆ ท่านด้วยกัน พระอาจารย์หลายท่านสมัยก่อนในกรุงเก่าที่ลงตำราพิชัยสงครามได้ ในจังหวัดต่างๆ ของเมืองไทย ไม่มีที่ไหนบอกเอาไว้เลยว่าลงเครื่องพิชัยสงครามได้มีแต่ที่กรุงเก่าเท่านั้น
ยุคของหลวงพ่อกลั่น พระเกจิฯ ที่มีชื่อเสียงอย่างมากในกรุงเก่ามีด้วยกันหลายรูป หลวงพ่อปุ้มวัดสำมะกัน อำเภอนครหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา หลวงพ่อรอด วัดสามไถ หลวงพ่อขัน วัดนกกระจาบ หลวงพ่อนวม วัดกลาง หลวงพ่อกรอง วัดเทพขันทร์ลอย หลวงพ่ออ่ำ วัดวงษ์ฆ้อง ท่านเก่งทางรักษาโรคด้วย สามารถมองหน้าคนก็รู้ว่าเป็นโรคอะไรท่านเก่งทางรักษาโรคขึ้นชื่อที่สุด นอกจากนี้ยังมีหลวงพ่อแพ วัด โตนด นครหลวง หลวงพ่อแพ วัดกลางคลอง เสนา ท่านก็เก่ง สำหรับพระอาจารย์ที่สร้างเหรียญเอาไว้เป็นเหรียญที่เก่ามากอีกท่านหนึ่งก็คือ พระอุปัชฌาย์เย ท่านเป็นเจ้าคณะแขวง คือเจ้าคณะจังหวัดนั่นเองเหรียญท่านสร้าง พ.ศ. 2467 แต่เหรียญท่านราคาไม่แพง
อดีตในจังหวัดนี้มีพระอาจารย์ที่รับการถ่ายทอดอาคมขลังจากสำนักต่างๆ ในยุคนั้นมีสำนักวัดตูม สำนักวัดประดู่ทรงธรรม ทั้งสองสำนักนี้ได้สืบทอดตำรามนต์อาถรรพณ์ และด้านธรรมะมาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาแล้ว พระอาจารย์ในยุคกึ่งพุทธกาลก็หลายสิบรูปด้วยกัน แม้แต่ทุกวันนี้และที่ผ่านมาพระอาจารย์หลายๆ ท่านก็รับการสืบทอดตำรามาจากสองสำนักนี้แหละ
วัดพระญาติการาม วัดนี้ในอดีตถือว่าเป็นสำนักเรียนวัดหนึ่ง ถึงจะเป็นวัดเล็กก็ตาม วัดอยู่ริมคลองระฆัง ก่อนเข้าตัวเมืองอยุธยาจะเห็นทางแยกเข้าวัดพระญาติการาม แยกจากถนนเข้าไปอีกเล็กน้อยก็จะถึงวัด เจ้าอาวาสที่ปกครองวัดนี้ก่อนหลวงพ่อกลั่นนั้นไม่ทราบว่ามีใครบ้าง หลังจากสิ้นหลวงพ่อท่านก็มาถึงหลวงพ่ออั้น หลานชายของหลวงพ่อกลั่นและมาถึงหลวงพ่อเฉลิมหลานของหลวงพ่ออั้น
ปัจจุบันวัดนี้ได้รับการพัฒนาอย่างมากจากหลวงพ่อเฉลิม ท่านสร้างวิหารขึ้นประดิษฐานรูปเหมือนของหลวงพ่อกลั่น หลวงพ่ออั้น มีคนเดินทางไปกราบไหว้รูปเหมือนของท่านกันไม่ขาด มณฑปท่านสร้างถึงหลายล้านบาทสวยงามอย่างยิ่ง
ชาติภูมิของหลวงพ่อกลั่น ท่านเกิดที่บ้านอรัญญิก แต่ก่อนขึ้นกับอำเภอนครหลวง ปัจจุบันขึ้นกับอำเภอท่าเรือ พ่อท่านชื่ออิน แม่ท่านชื่อชั้น มีพี่น้อง 4 คนหลวงพ่อกลั่นท่านเป็นคนโต พ่อแม่ท่านประกอบอาชีพในการทำนา
เยาว์วัย ท่านเป็นเด็กที่มีความเฉลียวฉลาดอย่างมาก รูปร่างหน้าตาคม รูปร่างโปร่งผิวขาวหมดจด ท่านได้เข้าเรียนหนังสือที่วัดประดู่ทรงธรรม พระอาจารย์ม่วงเป็นพระอาจารย์สอนพระอาจารย์รูปนี้มีวิชาความรู้มาก สมาธิแก่กล้า มีความรู้ทางธรรมสูง หลังจากที่เล่าเรียนเขียนอ่านแล้วท่านก็ไปช่วยพ่อแม่ท่านประกอบอาชีพทำนา ด้วยท่านเป็นผู้ที่ชอบในวิชากระบี่กระบอง ทั้งวิชาการต่อสู้ในเชิงมวย ท่านเป็นคนที่มีจิตใจเด็ดเดี่ยวและมีชั้นเชิงในการต่อสู้และชั้นเชิงในวิชากระบี่กระบองเป็นอย่างมากเมื่อเรียนมาแล้วท่านยังฝึกฝนในชั้นเชิงการต่อสู้ป้องกันตัวด้วยตัวของท่านเอง การชกมวยของท่านดังกระฉ่อนไปไกล อีกทั้งรูปร่างหน้าตาที่ดีเป็นเสน่ห์ต่อฝ่ายตรงข้าม ทำให้ท่านมีศัตรูมาก บางครั้งถึงขนาดดักทำร้ายท่านแต่ก็ถูกท่านปราบมาแล้วอย่างง่ายดาย ขนาดรุ่นใหญ่ยังต้องหลีกทางให้ท่าน ท่านไม่รังแกใครก่อนแต่ไม่ยอมให้ใครมารังแกท่าน
พระอาจารย์สมัยก่อนนั้น แต่ละรูปล้วนแต่ผ่านชีวิตมาแล้วอย่างโชกโชน แม้แต่หลวงพ่อนวมวักลางท่านก็ไม่เบาเอาเลย สมัยเป็นหนุ่มนั้นก็เคยไปช่วยเพื่อนฉุดสาวคนรักของเพื่อนมาให้ ท่านใจกล้าเข้าไปในบ้านเจ้าสาวเอาสาวงามออกมาได้ถึงจะผ่านมีดดาบ หอก ไม้ตะพดมาแล้ว ก็ไม่ระคายผิวหนัง หลวงพ่อกลั่น ท่านผ่านมาแล้วอย่างโชกโชน เพื่อนๆ ของท่านถูกรังแกจากคนบ้านอื่น จะต้องมาขอร้องให้ท่านช่วยเหลือ จนท่านได้รับสมยานามว่า พี่ใหญ่
นอกจากจะเก่งทางวิชาการกระบี่กระบองวิชามวยไทยในแบบการป้องกันตัวต่อสู้ที่ยอดเยี่ยมแล้ว ท่านได้สนใจวิชาอาคมขลัง สมัยก่อนต้องหนังดีคงกระพันชาตรีใครตีไม่แตก จะเป็นวิชาเสกหมาก เสกใบพูลกินให้เหนียว เสกปูนพาดคออาพัดเหล้ากินให้หนังเหนียวหรือจะเสกฝุ่นเสกน้ำอาพัดน้ำลายกลืน ฟันแทงไม่เข้าตีไม่แตก นอกจากนี้ท่านยังเรียนวิชาปลาไหลเผือกจับไม่ติด เวลาเข้าประจันด้วยศัตรูที่มีมากกว่าจะจับอย่างไรก็หลุดไปหมด หากไม่แน่จริงแล้วท่านจะไม่ได้รับสมญานามอย่างแน่นอน
ท่านใช้ชีวิตมาอย่างมาก ในที่สุดท่านก็เบื่อชีวิตที่ผ่านมา หาแก่นสารอะไรไม่ได้เลย ชีวิตผ่านไปวันหนึ่ง อีกประการหนึ่ง วันนี้ชนะได้วันต่อไปอาจแพ้แน่นอน ไม่มีใครที่จะชนะไปได้ทุกครั้งท่านเองก็เคยล้มพวกนักเลงใหญ่มาแล้ว ต่อไปก็ต้องถูกคนรุ่นใหม่ขึ้นมาแทนล้มท่านบ้าง ผู้คนที่เต็มไปด้วยเล่ห์เหลี่ยม ชั้นเชิงการต่อสู้และการหักหลังท่านพบเห็นมาแล้ว ท่านจึงตัดสินใจบวช
หลวงพ่อกลั่น บวชที่วัดประดู่ทรงธรรม ท่านพระอุปัชฌาย์ม่วงเป็นพระอุปัชฌาย์ และเป็นพระอาจารย์ที่ถ่ายทอดวิชาความรู้ด้านธรรมและด้านมนต์อาถรรพณ์ต่างๆ ท่านศึกษาอยู่สำนักวัดประดู่ทรงธรรมได้รับความรู้ต่างๆ เอาไว้อย่างมาก ประกอบกับท่านเป็นพระที่เอาการเอางานเป็นธุระในหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายจากพระอาจารย์ หลวงพ่อม่วงเห็นว่าท่านสมควรจะไปอยู่ดูแลวัดพระญาติการาม ซึ่งตอนนั้นวัดกำลังขาดผู้ดูแลผู้นำในการบูรณะซ่อมแซมด้วยสภาพที่ก่อสร้างมาช้านาน
ด้วยชื่อเสียงของท่านที่โด่งดังไปทั่วไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าพระอาจารย์อื่นๆ ในลุ่มเจ้าพระยา เสด็จเตี่ย กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ พระองค์ท่านชอบวิชาอาคมขลังและด้านความรู้ทางสมุนไพร ยังเดินทางไปกราบท่านและฝากตัวเป็นศิษย์ท่าน ยังได้พบกับความขลังความศักดิ์สิทธิ์ให้ประจักษ์มาแล้ว หลวงพ่อกลั่นท่านเป็นพระที่ชอบความสงบเงียบ ชอบการเจริญกรรมฐานภาวนา ออกเดินธุดงค์ไปตามสถานที่ต่างๆ สมัยนั้นเมื่อเล่าเรียนวิชาแล้วต้องฝึกกรรมฐานให้แก่กล้า มีความรู้ทางด้านยาสมุนไพร ในการรักษาไข้รักษาโรคร้ายต่างๆ อีกทั้งถอดถอนคุณไสยร้ายได้อย่างดี ถึงจะสามารถรักษาตัวรอดพ้นไปได้
เหรียญรูปเหมือน เหรียญรุ่นแรกของท่านสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2469 เป็นเหรียญทรงเสมาถือว่าเป็นเหรียญราคาแพงที่สุด สภาพสวยงามสมบูรณ์ราคาแพงเป็นล้านบาท เหรียญของท่านมีไม่มากนัก ส่วนมากที่พบจะเป็นเหรียญเก๊ สร้างขึ้นในโอกาสที่ระลึก ในการปฏิสังขรณ์โบสถ์ สมัยนั้นให้ผู้ร่วมทำบุญคนละบาทเดียวเอง คุณเอ๋ย สมัยนั้นเงินบาทหนึ่งแพงมาก ขนมตะโก้อันละสองสตางค์อันโตรับประทานสองชิ้นก็อิ่ม ก๋วยเตี๋ยวชามละไม่กี่สตางค์ เหรียญของท่านด้านหน้า จะเป็นรูปหลวงพ่อกลั่นท่านนั่งเต็มองค์ห่มจีวรรัดอก ข้างเหรียญเป็นภาษาไทยเขียนเอาไว้ว่า หลวงพ่อพระอุปัชฌาย์กลั่น พระญาติ ใต้ขอบห่วงเหรียญเป็นตัวเลข พ.ศ. 2469 ด้านหลังตรงกลางเหรียญจะเป็นตัวยันต์นะเฑาะว์สมาธิ ใต้ตัวเฑาะว์จะเป็นตัวนะปิดล้อมหรือนะตัวต้น และมีตัวขอมว่า พุท ธะ สัง มิ คือ ตัวย่อหัวใจยอดศีล ใช้ทางมหานิยมและแคล้วคลาด พิมพ์นิยมของเหรียญรุ่นนี้ให้ดูที่เส้นซึ่งแกะพลาดเป็นเส้นเกินตรงขมวดยันต์ มีลักษณะคล้ายเบ็ดตกปลา จึงเรียกบล๊อกนี้ว่า พิมพ์ขอเบ็ด
หลังจากนั้นคณะกรรมการจากทางวัดพระญาติการามพร้อมด้วยหลวงพ่ออั้นเดินทางไปยังร้านฮั่งเตียนเซ้ง ซึ่งเป็นผู้ปั๊มเหรียญนี้ทำขึ้นมาอีกครั้งนั้น สมเด็จพระมหาธีราจารย์ (นิยม จันทนิล) เจ้าคณะใหญ่หนกลาง วัดชนะสงคราม ขณะนั้นท่านยังเป็นสามเณรอยู่วัดเลียบ ยังเป็นสามเณรอยู่ ร่วมเดินทางไปยังร้านด้วย ทางร้านบอกว่าด้านหน้ายังอยู่ในสภาพสมบูรณ์ ส่วนด้านหลังชำรุดต้องทำขึ้นใหม่อีก 2 พิมพ์คือ พิมพ์เสี้ยนตอง ให้ดูด้านหลังเหรียญที่จะมีเส้นเป็นริ้วตลอดหลังเหรียญเต็มไปหมด และอีกพิมพ์หนึ่งคือ พิมพ์หลังเรียบ ซึ่งขณะนั้นหลวงพ่อกลั่นท่านยังมีชีวิตอยู่ได้ปลุกเสกเหรียญทั้งสองรุ่นด้วยตัวท่านเอง ซึ่งระยะเวลาห่างจากเหรียญที่ปั๊มครั้งแรกไม่กี่ปี ทำให้เหรียญมีราคาการเช่าหาแตกต่างกันอย่างมาก เหรียญหลังเสี้ยนตองและเหรียญหลังเรียบราคาการเช่าหาสภาพสวยๆ ก็เป็นหมื่นเหมือนกัน อีกทั้งให้ดูตัวตัดเหรียญที่ไม่เหมือนเหรียญรุ่นขอเบ็ด รอยตัดจะเรียบร้อยแล้ว เหรียญหลังเสี้ยนตองกับเหรียญหลังเรียบ รอยตัดจะไม่เหมือนกัน และดูที่ด้านหน้าของเหรียญหลังเสี้ยนตอง และเหรียญหลังเรียบ ด้านหน้าของเหรียญจะมีริ้วรอยของเม็ดขี้กลากขึ้นอยู่ทั่วไปของเหรียญ เพราะสนิมขึ้นบนเหล็กนั่นเอง
เหรียญกลมของหลวงพ่อกลั่น สร้างขึ้นในปีพ.ศ. 2478 ด้านหน้า เป็นรูปหลวงพ่อนั่งเต็มองค์ ห่มจีวรมีผ้ารัดอก แตกต่างจากเหรียญรุ่นแรกตรงที่ผ้ารัดอกรุ่นแรก ผ้าสังฆฏิจะทับผ้ารัดอก แต่รุ่นพ.ศ. 2478 ผ้ารัดอกจะทับผ้าสังฆาฏิ รอบขอบเหรียญจะเป็นตัวขอมอ่านว่า นะ มะ นะ อะ นอ กอ นะ กะ กอ ออ นอ อะ นะ อะ กะ อัง คาถาพระเจ้าสิบหกพระองค์ ด้านหลัง จะเป็นตัวเฑาะว์เหมือนรุ่นแรก แต่การเขียนแตกต่างกัน และมีตัวขอมเป็นตัวคาถาทางมหาอุด เหรียญรุ่นนี้มีทั้งเหรียญที่เรียกว่า นะกลม นะรี ให้ดูตรงใต้ฐานด้านหน้ารูปหลวงพ่อ ตัวนะปิดล้อมจะกลมและรี และอีกบล็อกหนึ่ง เรียกว่าบล็อกตาชั่ง คือตัวนะใต้รูปหลวงพ่อจะติดไม่ชัดเจน เกิดจากการปั๊มเหรียญที่จริงนั้นเกิดจากการกดกระแทกของช่างที่ทำการปั๊มนั่นเอง เครื่องมือสมัยนั้นยังไม่ทันสมัย ประกอบกับใช้การมาก เหรียญมักจะเป็นห่วงเชื่อม เหรียญรุ่นนี้มีเนื้อทองแดงและทองเหลือง ราคาการเช่าหาเป็นหมื่นเหมือนกัน คนในอยุธยาเขานิยมกันมาก มีประสบการณ์ไม่แพ้รุ่นแรกเลย พระอาจารย์ที่ปลุกเสกก็เป็นพระอาจารย์ในยุคนั้นหลายรูปด้วยกัน
เหรียญยันต์ตะกร้อ เหรียญรุ่นนี้มีรูปทรงคล้ายรูปอาร์มแต่สวยกว่าอาร์ม หลวงพ่อนั่งเต็มองค์มีตัวขอมอ่านว่า มะผุดผัดผิดอิติปัดปิด เป็นคาถาทางคงกระพันชาตรีทางป้องกันอันตราย ด้านหลัง เป็นยันต์พระเจ้าห้าพระองค์มีเส้นลากลักล้อมตัว นะ โม พุท ธา ยะ ถึงสามเส้นซ้อนกัน มีตัวขอมอีกหลายตัวอ่านว่า พุทธ สัง มิ เป็นคาถาทางยอดศิลทางเมตตามหานิยม มะ อะ อุ เรียกว่า แก้วสามประการ ใช้ทางป้องกันอันตรายภัยต่างๆ และตัว พุท โธ ตัวต้นของคาถาบทสำคัญๆ ใช้ย่อมา เหรียญรุ่นนี้สร้างเมื่อพ.ศ. 2483 มีหลวงพ่ออั้นและหลวงพ่อต่างๆ อีกหลายท่านด้วยกันร่วมกันปลุกเสก
เหรียญที่กล่าวมาแล้วของท่านแต่ต้น เป็นเหรียญที่ได้รับความนิยมและราคาการเช่าหาแพงนอกจากนี้ยังมีเหรียญรุ่นชาตรีและเหรียญรุ่นอนุสาวรีย์เป็นเหรียญรูปไข่สร้างขึ้นเมื่อพ.ศ. 2505 ด้านหน้าเป็นรูปท่านนั่งเต็มองค์ ด้านหลังจะใช้ยันต์ไม่เหมือนก่อนๆ ที่ผ่านมา รุ่นนี้ใช้ยันต์นะโมตาบอด หรือยันต์พระเจ้าห้าพระองค์อีกแบบหนึ่ง ยันต์ตัวนี้ใช้ทางป้องกันอันตรายใช้ทางคงกระพันชาตรีและทางแคล้วคลาดเป็นพระนะจังงังอีกด้วย แต่เหรียญรุ่นชาตรีเป็นรูปทรงเสมาใช้ยันต์นะโมตาบอดเหมือนรุ่นอนุสาวรีย์ แต่มีตัวนะตัวต้นเหนือยันต์นะโมตาบอดอีกตัวหนึ่ง
เหรียญทั้งสองรุ่นนี้ราคาการเช่าหาแค่พันต้นๆ เท่านั้นเอง นอกจากนี้ยังมีเหรียญรุ่นทวีลาภ ด้านหลังเหรียญรุ่นทวีลาภจะเป็นพระสิวลีราคาการเช่าหาถ้าสวยๆ ก็พันกว่าบาท หรือหย่อนลงมา รุ่นนี้หลวงพ่ออั้นท่านปลุกเสกและยังมีพระอาจารย์สายหลวงพ่อกลั่นอีกหลายท่านด้วยกัน
หลวงพ่อกลั่น เป็นหนึ่งในสิบคณาจารย์ผู้มีพลังจิตสูงในปีพ.ศ. 2452 ที่จังหวัดนครปฐมได้มีการชุมนุมพระอาจารย์จากสำนักต่างๆ ทั่วประเทศไทย มีการทดสอบวิทยาคม และพลังจิตจากพระอาจารย์ทั่วประเทศที่ได้รับนิมนต์มาร่วมในพิธีร้อยกว่าองค์ ซึ่งแต่ละจังหวัดได้จัดให้พระอาจารย์เดินทางไปร่วมในพิธี โดยมีการทดสอบพระอาจารย์ต่างๆ ครั้งละสิบองค์ มีสมเด็จพระสังฆราช (เข) วัดบวรนิเวศวิหาร เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ ที่บริเวณ วัดพระปฐมเจดีย์ ในการทดสอบครั้งนั้นมีกติกาว่าให้เอาท่อนไม้มา 1 ท่อน วางบนม้า 2 ตัว แล้วเอากบไสไม้วางไว้บนท่อนไม้ แล้วประธานฝ่ายสงฆ์จึงบอกกติกาว่า อาจารย์องค์ใดสามารถทำกบไสไม้ให้วิ่งไสไม้ไปกลับได้โดยกบไม่หล่นทำการทดสอบกันถึงสามวันสามคืน พระอาจารย์ส่วนมากสามารถใช้จิตบังคับให้กบวิ่งไปได้ แต่กลับไม่ได้ ที่ทำให้กบไสไม้ไปกลับได้ มีด้วยกัน 10 รูป ในสิบรูปนั้นมีหลวงพ่อกลั่นเป็นหนึ่งในสิบนั้นด้วย
หลวงพ่อกลั่น
หลวงปู่บุญ
หลวงพ่อวัดมะขามเฒ่า
หลวงปู่เอี่ยม วัดหนัง
หลวงพ่อเงิน วัดบางคลาน
หลวงพ่อทา วัดพะเนียงแตก
หลวงพ่อทอง วัดเขากบทวาศรี นครสวรรค์
หลวงพ่อปาน วัดบางเหี้ย
หลวงปู่ยิ้ม หนองบัว
หลวงพ่อจอน วัดดอนรวบ ชุมพร
ความขลังของหลวงพ่อกลั่น เป็นที่กล่าวขานกันมาช้านานทั้งในคนอำเภออุทัย อำเภอนครหลวง หลวงพ่อกลั่น หลวงพ่อนวม วัดกลาง หลวงพ่อกรอง วัดเทพจันทร์ลอย ทั้งสามท่านนี้นับถือกัน มักจะลองวิชากันเสมอๆ หลวงพ่อนวมนิมนต์ให้หลวงพ่อกลั่นไปร่วมงาน หรือเมื่อท่านไปเยี่ยม มักจะลองวิชากัน ถ้าแก้เคล็ดได้ ก็สามารถเข้าวัดได้ ทั้งสามท่านนี้นับถือกันมาก แต่ต้องยอมให้หลวงพ่อกลั่นก็พลังจิตของท่านวิชานะจังงังของท่านเหนือกว่ามาก ทั้งย่นหนทางก็เก่งกว่า
ผู้ใหญ่ทองดี ผาสุขโอษฐ์ ปัจจุบันอายุเกือบ 90 ปี แล้วแต่ยังแข็งแรงมาก บุหรี่ไม่สูบ สุราไม่ดื่ม คนรุ่นเดียวกันล้มหายตายไปกันหมด ผู้ใหญ่ทองดีเล่าให้ฟังว่า หลวงพ่อกลั่นท่านมีสมาธิแก่กล้ามาก เราคิดอะไรท่านจะรู้หมด พอเห็นหน้าเท่านั้น ท่านจะทักทันที ใครไม่ดีถ้าเตือนไม่เชื่อ จะตายโหงทุกราย ผู้ใหญ่ทองดียังเล่าอีกว่าไปกราบท่าน 5 ครั้ง สมัยนั้นไปทางเรือพายไป แจวไปบ้าง นอกจากนั้นแล้วถึงจะเดินด้วยเท้า สมัยนั้นมีคนเดินทางไปหาหลวงพ่อท่านไม่เคยขาด
มีเรื่องเล่าถึงหลวงพ่อกลั่นอีกว่า ทุกเช้าหลังจากบิณฑบาตกลับมาแล้ว ท่านจะต้องโปรยข้าวส่วนหนึ่งให้นก กา หมา ไก่ และลิง ที่ออกมาคอย ให้ได้กินจนอิ่มทั่ว ชาวบ้านละแวกวัดจะได้เห็นหลวงพ่อกลั่นเดินอยู่ท่ามกลางฝูงสัตว์อยู่เป็นประจำทุกวัน ชาวบ้านและเณรในวัดจึงพากันสงสัยว่าทำไมสัตว์จึงชอบเดินตามท่าน เมื่อสงสัยจึงมีการทดลอง สอบหาความจริง โดยในวันหนึ่งเมื่อหลวงพ่อกลั่นไม่อยู่ ได้มีพระรูปหนึ่งแอบนำผ้าเหลืองของหลวงพ่อกลั่นมาปลอมเป็นหลวงพ่อทุกอย่าง แล้วทำเป็นเดินขึ้นมาจากเรือคล้ายว่าเพิ่งกลับจากวัด เมื่อเดินผ่านสัตว์ต่าง ๆ ที่เคยได้ข้าวและอาหารจากหลวงพ่อ สัตว์เหล่านั้นก็เฉย ๆ เพราะจำได้ว่าไม่ใช่หลวงพ่อ เป็นเพราะความเมตตาที่แผ่ออกมา ทำให้สัตว์เหล่านั้นจดจำหลวงพ่อได้เป็นอย่างดี เพราะพวกมันสัมผัสรู้ได้
หลวงพ่อกลั่น เมื่อได้มาเป็นเจ้าอาวาสวัดพระญาติฯ ทุก ๆ เช้าเมื่อออกบิณฑบาต พระสงฆ์ในวัดจะต้องพายเรือไปตามลำน้ำ ซึ่งจะมีชาวบ้านมารอตักบาตรทั้ง 2 ฝั่ง และชาวบ้านจะรู้ว่าเรือลำไหนเป็นของหลวงพ่อกลั่น เพราะจะมีจุดสังเกตคือ เรือของหลวงพ่อกลั่นจะมีสีดำสนิท ปกคลุมตั้งแต่หัวเรือไปจรดกลางลำเรือ สีดำเหล่านั้นก็คือ "อีกา" นับสิบ ๆ ตัวที่มาเกาะเรือของหลวงพ่อ แล้วเวลาชาวบ้านมาลงตักบาตรแก่หลวงพ่อกลั่น "อีกา" ทั้งฝูงจะบินวนรอบ ๆ เรือไม่ไปไหน พอชาวบ้านตักบาตรเสร็จมันก็บินกลับมาเกาะเรือเหมือนเดิม ส่วนอาหารที่ชาวบ้านนำมาถวายหลวงพ่อกลั่นเต็มลำเรือนั้น เหล่าอีกาไม่แตะต้องเลย และพอเรือมาถึงวัด หลวงพ่อกลั่นจะให้ลูกศิษย์ขนสำรับขึ้นไปก่อน ตัวท่านจะอุ้มบาตรมาทีหลัง และจะมีอีกาอีกฝูงหนึ่งคอยรอรับท่านอยู่หน้าวัด มันจะบินรุมล้อมหน้าล้อมหลังเป็นกลุ่ม แทบไม่เห็นองค์หลวงพ่อกลั่น เมื่อได้เวลาฉันหลวงพ่อกลั่นจะจัดแบ่งอาหารเป็นหมวดหมู่ เตรียมให้อีกา หมา และแมว อีกาฝูงใหญ่จะคอยรอท่าอยู่ห่าง ๆ พอหลวงพ่อนั่งเรียบร้อย เมื่อเปิดฝาบาตรจะลงมือฉัน อีกาทั้งฝูงก็จะกระโดดไปที่กองอาหารแล้วลงมือจิกกินทันที
หลวงพ่อกลั่นท่านสื่อภาษาสัตว์กับอีกาเหล่านั้นได้ เพราะบางครั้งที่มันแย่งอาหารจิกตีกัน หลวงพ่อจะพูดด้วยเสียงเบา ๆ อีกาก็หยุดตีกันทันทีแล้วค่อย ๆ กินอย่างสงบ
เรื่องราวของหลวงพ่อกลั่น ธมฺมโชติ ภิกษุผู้มีความมหัศจรรย์อันประกอบไปด้วยเมตตาธรรม สามารถสื่อภาษาสัตว์ได้เข้าใจ หลวงพ่อท่านนี้เมื่อครั้งที่ยังมีชีวิตอยู่ท่านมักแสดงอภินิหารให้ใครหลายคนได้ประจักษ์หลายต่อหลายเรื่อง เช่นว่ามีอยู่คราวหนึ่งอยู่ในช่วงออกพรรษา ซึ่งพระสงฆ์ตามวัดต่างๆนิยมออกธุดงค์เพื่อแสวงหาความสงบวิเวก และเพื่อโปรดพุทธบริษัทที่อยู่ในชนบทห่างไกลในถิ่นกันดาร หลวงพ่อกลั่นพร้อมด้วยคณะลูกศิษย์ท่านก็ออกธุดงค์เช่นกัน โดยตั้งใจจะไปนมัสการพระเจดีย์ในเมืองพม่า เมื่อคณะของหลวงพ่อรอนแรมเดินทางมาถึงแม่น้ำสะโตง ซึ่งกว้างใหญ่มาก แต่หาเรือแพข้ามฟากไม่ได้ หลวงพ่อกลั่นจึงต้องหาทางข้ามด้วยตัวเอง
หลวงพ่อกลั่น จึงสั่งให้พระภิกษุที่ร่วมธุดงค์กับท่านเอาผ้าผูกตาให้หมดแล้ว เกาะจีวรตามท่านเป็นแถวเรียงหนึ่ง มีข้อห้ามคือไม่ให้พูดจากัน พอถึงฝั่งแม่น้ำฟากนั้นจึงบอกให้เอาผ้าผูกตาออก และน่าอัศจรรย์ที่พระแต่ละรูปไม่มีใครที่จีวรเปียกน้ำเลย และยังไม่มีใครรู้อีกว่า หลวงพ่อท่านพามาโดยวิธีใด อีกครั้งหนึ่งคือเมื่อคราวที่หลวงพ่อและพระลูกวัดพระญาติฯ รับกิจนิมนต์ไปยังหมู่บ้านแห่งหนึ่ง ครั้นใกล้เวลาที่เขานิมนต์ปรากฏว่าฝนตั้งเค้าทำท่าจะตก พระที่เดินทางไปกับหลวงพ่อเตือนให้ท่านรีบไปจะได้กันฝน แต่หลวงพ่อกลั่นกลับบอกให้พระเหล่านั้นไปก่อนล่วงหน้า ส่วนท่านจะตามไปทีหลัง และพอท่านออกจากวัดฝนก็ตกไล่หลังท่านเรื่อยไปจนถึงบ้านงาน แต่ตัวท่านกลับไม่เปียกฝนเลย และยังมีเรื่องเล่าถึงอภินิหารของหลวงพ่อกลั่นกันปากต่อปากว่า ในครั้งหนึ่งเมื่อสมัยที่ท่านยังมีชีวิตอยู่นั้นที่คลองข้างวัดของท่านมีปลาปักเป้าชุกชุม ลูกศิษย์วัดมาลงอาบน้ำจะถูกปลาปักเป้ากัดบ่อยๆ เดือดร้อนหลวงพ่อต้องหายามารักษา อยู่มาวันหนึ่งหลวงพ่อได้สั่งให้เด็กลงเล่นน้ำ เพื่อล่อให้ปลาปักเป้ากัด ปลาปักเป้าก็กัดติดเนื้อเด็กอย่างไม่ปล่อย แต่เด็กที่เป็นเหยื่อล่อปลากลับไม่มีบาทแผลซักคน จากนั้นหลวงพ่อกลั่นจึงเอาปลาเหล่านั้นใส่ลงไปในถังน้ำ แล้วเอามือจุ่มลงไปในถัง คนอยู่พักเดียวก็เอาปลาไปปล่อยริมคลองหน้าวัดเหมือนเดิม และเป็นที่อัศจรรย์คือตั้งแต่นั้นมาก็ไม่มีเด็กวัดถูกปลาปักเป้ากัดอีกเลย
หลวงพ่อกลั่น ท่านเชี่ยวชาญวิชาหลายอย่างไม่ว่าจะเป็นวิชาฟันดาบหรือต่อสู้ด้วยเพลงอาวุธแบบโบราณ และยังมีวิชาด้านอื่นที่ขลังและศักดิ์สิทธิ์อีกมาก จนบางครั้งมีคนมาขอพบเพื่อลองวิชา ซึ่งหลวงพ่อท่านก็รู้ด้วยญาณของท่านว่าคนๆนี้มาลองดีกับท่าน เพราะอยากรู้ว่าหลวงพ่อกลั่นจะแน่จริง
เหมือนกิตติมศักดิ์ที่ร่ำลือกันหรือไม่ คราวหนึ่งได้มีนักเลงคนหนึ่งมาขอลองวิชากับหลวงพ่อด้วยปืนยาว หลวงพ่อก็ยินดีให้ทดสอบโดยโยนผ้าให้ยิง นักเลงผู้นั้นก็เหนี่ยวไกปืนยิงไม่ยั้ง แต่สิ่งที่ได้ยินมีเพียงเสียงไกปืนกระทบกับลูกกระสุนเท่านั้น ไม่มีเสียงระเบิดแต่อย่างใด คนลองดีถึงกับตะลึง แปลกใจแล้วพอหันกระบอกปืนยิงขึ้นฟ้า ลูกปืนกลับระเบิดเสียงดังสนั่น หลวงพ่อกลั่นบอกให้นักเลงผู้นั้นลองยิงอีกครั้ง ท่านก็โยนผ้าขึ้นฟ้า พอนักเลงผู้นั้นลั่นกระสุนออกไปก็ได้ยินเสียง "แชะ ๆ ๆ" เช่นเดิม ลูกปืนไม่ระเบิด นักเลงต่างถิ่นถึงกับก้มกราบหลวงพ่อกลั่นด้วยความศรัทธา และเป็นที่โจษขานกันทั่วอยุธยา
หลวงพ่อกลั่น ท่านยังมีวิชาลูกเบา หรือวิชาชาตรี ซึ่งเป็นวิชาอยู่ยงคงกระพันวิชาหนึ่งขอท่าน วิชาลูกเบาหรือวิชาชาตรีไม่มีการสักอักขระยันต์ แต่มีการชักยันต์ซึ่งมีบทคาถาแขกภาวนา ในขณะที่ศิษย์ได้รับการถ่ายทอดจากครู อาจารย์ จะโดนทุ่มด้วยของหนัก เช่น ก้อนหินที่มีน้ำหนักมากๆ อย่างหินลับมีด แต่ผู้ที่ได้รับการครอบวิชาจะไม่รู้สึกเจ็บปวดเหมือนโดนทุ่มด้วยของเบาๆ แต่ถ้าไม่ได้เรียนวิชานี้มา ถ้าโดนทุ่มขนาดนี้อาจจะคอหักตาย ผู้ที่มาขอฝากตัวเป็นศิษย์จึงโดนทุ่มด้วยก้อนหินเป็นการขึ้นครูทุกคน
อำนาจจิตของหลวงพ่อกลั่นนั้นมากมาย เรื่องนี้หลวงพ่ออั้นอุปัฏฐาก หลวงพ่อกลั่นได้เล่าให้ลูกศิษย์ฟังถึงครั้งที่เรียนวิปัสสนากรรมฐานกับหลวงพ่อกลั่นว่า ขณะที่เรียนกรรมฐานนั้นหลวงพ่อกลั่นได้ให้หลวงพ่ออั้นไปนั่งปฏิบัติในโบสถ์ ขณะนั่งอยู่หลวงพ่ออั้นมองเห็นหลวงพ่อกลั่นจากในนิมิตว่า เห็นท่านเดินจากกุฏิมานั่งอยู่ตรงหน้า คอยสั่งสอนว่าผิดตรงไหนควรทำอะไร อย่างไร ซึ่งเป็นเรื่องแปลกเพราะหลวงพ่ออั้นท่านก็รู้ว่า หลวงพ่อกลั่นท่านอยู่บนกุฏิ กำลังคุยเรื่องธุระกับญาติโยมที่มาหาท่าน แต่ท่านก็ยังแบ่งร่างมาสอนหลวงพ่ออั้นในโบสถ์ได้
เหรียญของท่านสุดยอดเหนียว เมื่อยี่สิบปีก่อนนั้นชาวบ้านใกล้วัดคลองน้ำชา ใกล้วัดมเหยงค์ เดินทางไปหาเพื่อนกลับเอามืด ถูกคนร้ายดักยิงระยะห่างแค่สองเมตรเท่านั้น ด้วยปืนลูกซอง แต่ว่าลูกปืนยิงไม่เข้า และเมื่อหลายปีที่ผ่านมาที่ตำบลบ่อโพธิ์กำนันคนดัง ถูกหลานชายตนเองฆ่าตายเพราะผลประโยชน์คุมคลังสินค้าต่างๆ กำนันคนดังมีเหรียญหลวงพ่อกลั่น ถูกหลานตนเองยิงด้วยปืนพกหลายนัดไม่เข้า กำนันคิดไม่ถึงว่าหลานชายตนเองจะทำได้ พวกหลานชายรู้ว่ายิงไม่เข้า พอกำนันชักปืนมาจะยิงสวน พวกนั้นจับกำนันและตีด้วยไม้แล้วกระชากสายสร้อยทองคำหนักสิบบาทออกแล้วยิงด้วยปืนนัดเดียว กำนันตาย ตอนหลังพวกนั้นก็ตายจนหมด คนที่มีศีลธรรมประกอบแต่ความดีเรื่องตายโหงไม่มี ผู้ใหญ่ทองดีบอกว่า เคยได้เหรียญท่านมาและตะกรุดโทน ลูกอมผ้ายันต์ก็มอบให้บุตรชายไปจนหมด
พระเครื่องของหลวงพ่อกลั่นที่ได้รับความนิยมอีกชนิดหนึ่งคือ รูปเหมือนหล่อโบราณ เป็นเนื้อโลหะทองเหลืองผสมขนาดหน้าตักประมาณ 2 ซม หลังค่อมถ้าใครไม่ใช้ความสังเกตแล้วอาจคิดว่าเป็นรูปหล่อของหลวงพ่อหินวัดหนองสนม ระยอง รูปหล่อของท่านเมื่อก่อนจะพบบ่อยตอนหลังหายากมาก ถึงแม้ว่าท่านจะไม่ได้ปลุกเสก หลวงพ่ออั้นท่านเป็นผู้สร้างปลุกเสกก็ตาม รูปหล่อของท่านมีประสบการณ์ทางแคล้วคลาดทางเหนียวอย่างมาก
เหรียญหลวงพ่อกลั่น ธมฺมโชติ เป็นเหรียญที่มีอายุการสร้างถึง 70 ปี แล้วเป็นเหรียญที่เก่ามาก มีประสบการณ์สูง ผู้ใดได้ไว้บูชามักจะประสบความสำเร็จตามที่ต้องการ เป็นเหรียญที่มีเหรียญเก๊มาก มีการตบแต่งให้เนื้อหาเหมือนของเก่า แต่ผู้ที่เชี่ยวชาญแล้วยังสามารถดูออก ถ้าหารุ่นที่แพงอันดับหนึ่งไม่ได้ก็ลองหารุ่นอื่นที่ราคาไม่แพงมาบูชาซีครับแล้วจะรู้ว่ามีประสบการณ์ขนาดไหน
หลวงพ่อกลั่น มรณภาพเมื่อ พ.ศ.2477 เล่ากันว่าในวันที่หลวงพ่อกลั่นจะมรณภาพ อีกานับร้อยพันตัวมาออกันทั่ววัด ส่งเสียงระเบ็งเซ็งแซ่ พอหลวงพ่อสิ้นลม อีกาเหล่านั้นเงียบเสียงเป็นปลิดทิ้ง แล้วโผบินจากไปเป็นกลุ่มๆ ครั้นพอถึงวันฌาปนกิจร่างหลวงพ่อกลั่นรุ่งขึ้นมีการทำบุญอัฐิ อีกาของหลวงพ่อก็กลับมาอีกครั้ง เป็นครั้งสุดท้าย พวกมันบินมาเกาะที่เชิงตะกอน และบริเวณลานวัด จากนั้นก็พากันบินวนไปรอบๆอยู่ 3 รอบ และตั้งแต่วันนั้นก็ไม่มีใครได้เห็นอีกาที่วัดพระญาติการามอีกเลย |