ท่านพระครูสถิตสันตคุณ (หลวงพ่อพัว เกสโร)
นามเดิมลันามสกุล พัว จิตรัตน์ นามบิดา นายแก้ว จิตรัตน์ มารดา นางหีต + เกิดวันพุธ แรม ๕ ค่ำ เดือน ๑ ตรงกับปีชวด วันที่ ๗ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๑๙ อายุ ๘๘ พรรษา ๖๘ ชาติภูมิ บ้านบางเดือน ตำบลบางเดือน อำเภอพุนพิน (เดิมอำเภอพุมดวง) จังหวัดสุราษฎร์ธานี
ตำแหน่ง เจ้าอาวาสวัดจันทร์ประดิษฐาราม วัดสถิตคีรีรมย์ และเจ้าคณะอำเภอคีรีรัฐนิคม (ท่าขนอน) กิ่งอำเภอพนม เป็นพระอุปัชฌายะในคณะมหานิกาย จังหวัดสุราษฎร์ธานี
ท่านพระครูสถิตสันตคุณ (หลวงพ่อพัว เกสโร) เป็นบุตรคนสุดท้องของบิดา มารดา ในจำนวนพี่น้องทั้งสิ้น ๔ คน คือ + ๑ นายชุ่ม ติตรัตน์ ถึงแก่กรรมแล้ว ๒ ขุนประจักษ์ (พัฒน์ จิตรัตน์) ถึงแก่กรรมแล้ว ๓ นางเผียน จิตรัตน์ ถึงแก่กรรมแล้ว ๔ พระครูสถิตสันตคุณ (พัว จิตรัตน์)
ในวัยเยาว์เมื่ออายุได้ ๑๓ ปี (พ.ศ. ๒๔๓๒) ได้เริ่มศึกษาเล่าเรียนอักขระวิธี ปฐมมาลา ปฐมจินดามุนี (เวลานั้นยังไม่มีโรงเรียนประชาบาล) ในสำนักท่านอธิการยงฯ เจ้าอาวาสวัดบางเดือนเก่า ตำบลบางเดือน อำเภอพุนพิน (อำเภอพุมดวง) จังหวัดสุราษฎร์ธานี
ครั้นอายุได้ ๑๕ ปี (พ.ศ.๒๔๓๔) บรรพชาเป็นสามเณรที่วัดท่าโขลง โดยพระอธิการนุ้ย ประทุมสุวรรณ เป้นพระอุปัชฌายะ เมื่อบวชแล้วกลับไปเรียนหนังสือเพิ่มเติมและศึกษาธรรมวินัยอยู่กับพระอธิการยงฯ วัดบางเดือนเก่าตามเดิมในระหว่างที่ท่านเป็นสามเณรอยู่นั้นท่านได้ฝึกหัดเทศน์มหาชาติตลอดจนคาถาพัน จนขึ้นชื่อว่าเป็นนักเทศน์ที่ขึ้นชื่อผู้หนึ่งในสมัยนั้น
ล่วงเข้าอายุ ๒๑ ปี (พ.ศ.๒๔๔๐) ท่านได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุที่พัทธสีมาวัดท่าโขลง โดยมีพระอธิการเย็น จนฺทมุนี วัดบางงอน เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอธิการนุ้ย ประทุมสุวรรณ วัดท่าโขลง เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระอธิการเพชร อินฺทสุวรรณ วัดเงิน เป็นพระอนุศาสนาจารย์ ได้นามและฉายาว่า พระพัว เกสโร เมื่ออุปสมบทแล้วได้กลับมาจำพรรษาอยู่วัดบางเดือนเก่า
ต่อมาท่านได้มีความคิดที่จะศึกษาพระธรรมเพิ่มขึ้นจึงได้เดินทางเข้าศึกษาที่จังหวัดพระนคร(พ.ศ.๒๔๔๓) ได้พักอาศัยเรียนบาลีอยู่สำนักวัดพระเชตุพลวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์) การศึกษาของท่านดำเนินไปด้วยดี แต่ในที่สุดโชคไม่อำนวยให้ท่านได้สมความตั้งใจ กล่าวคือ พอใกล้จะถึงวันเข้าสอบบาลี ท่านได้เกิดอาพาธป่วยไข้ขึ้นอย่างกะทันหัน ไม่สามารถสอบบาลีได้ ดังนั้น พอปวารณาพรรษาแล้วท่านได้ตัดสินใจเดินทางกลับวัดบางเดือนเก่า จังหวัดสุราษฎร์ธานีทันที
หลังจากกลับจากพระนครมาจำพรรษาต่อที่วัดบางเดือนเก่าดังเดิม (พ.ศ.๒๔๔๔) ท่านได้ตั้งปณิธาน ที่จะศึกษาทางด้านสมถะกัมมัฏฐานและวิปัสสนากัมมัฏฐาน โดยได้ศึกษากับพระอาจารย์เพชรฯ วัดเงิน ในเบื้องต้น และท่านได้ออกรุกขมูลธุดงค์เพื่อฝึกฝนโดนลำพัง จนล่วงเข้าจังหวัดภูเก็ต (พ.ศ. ๒๔๔๕) ท่านได้เข้าฝากตัวกับพระอาจารย์รอดฯ วัดโฆสิตาราม อยู่ฝึกอบรม จนล่วงเข้าพรรษาที่ ๒ หลังปวารณาออกพรรษาแล้ว (พ.ศ.๒๔๔๖) ท่านได้กราบลาท่านอาจารย์ออกธุดงค์จาริก เพื่อไปนมัสการพระธาตุชะเวดากอง กรุงร่างกุ้ง ประเทศพม่า โดยการเดินทางครั้งนี้จนกลับคืนยังวัดโฆสิตาราม ใช้เวลา ๔ เดือนเศษ จากนั้นท่านได้กราบลากลับไปจำพรรษายังวัดบางเดือนเก่าตามเดิม
เมื่อกลับมายังวัดบางเดือนเก่า (พ.ศ.๒๔๔๗)ท่านได้ยึดป่าช้าเป็นที่พักอาศัยสำหรับการปฏิบัติ จนล่วงเข่าปี พ.ศ. ๒๔๔๙ ท่านได้ออกธุดงค์จาริกอีกครั้ง โดยมุงหน้าสู่กรุงเทพฯนมัสการพระแก้วมรกตต่อไปยังวัดพระมงคลบพิตร จังหวัดอยุธยา ต่อเรื่องไปยังพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี ล่วงเข้าจังหวัดลพบุรี และไปอีกหลายจังหวัดในเขตนั้น และยังเลยไปถึงพระแท่นดงรัง จังหวัดกาญจนบุรี ก่อนกลับมายังวัดพระเชตุพลวิมลมังคลาราม แล้วกลับคืนสู่วัดบางเดือนเก่า
ด้วยจริยวัตรอันงดงามของท่านจนเป็นที่ศรัทธาแก่ชาวบ้าน จึงได้ชักชวนชาวบ้านสร้างวัดขึ้น (พ.ศ. ๒๔๕๐) ในพื้นที่บริเวรตำบลบางเดือน ได้ชื่อว่า วัดจันทร์ประดิษฐาราม
โดยในระหว่างการสร้างวัดท่านเห็นว่าขั้นตอนการก่อสร้าง เริ่มเข้าที่เข้าทาง ท่านจึงได้ออกธุดงค์จาริกอีกครั้ง(พ.ศ. ๒๔๕๕) โดยคราวนี้มีจุดหมายที่พระแท่นศิลาอาสน์ จังหวัดอุตรดิตถ์ ซึ่งระหว่างทางท่านได้แวะยังสถานที่สำคัญอีกหลายที่ และได้กลับมายังวัดจันทร์ประดิษฐาราม ซึ่งในปีเดียวกันนี้เอง ทางวัดได้รับพระราชทานวิสุงคามวาสี และได้หล่อพระประทานเป็นผลสำเร็จ
ท่านได้จาริกธุดงค์ไปนมัสการพระธาตุชะเวดากองอีกครั้ง (พ.ศ. ๒๔๕๗) โดยคราวนี้ท่านได้ลงเรือที่ระนองข้ามไปยังพม่า แล้วเดินท้าวต่อจนถึงพระธาตุ
หลังจากการธุดงค์จาริกไปยังที่ต่างๆท่านได้กลับมาจำพรรษาที่วัดจันทร์ประดิษฐาราม จนอายุท่านล่วงเข้า ๔๐ พรรษาที่ ๒๐ (พ.ศ.๒๔๕๙) ท่านเจ้าคณะจังหวัดสุราษฎร์ธานี ท่านเจ้าคุณพระชยาภิวัฒน์ ได้เห็นถึงศีลาจาริยวัตรอันงดงามตลอดจนอายุกาลพรรษาของท่าน เห็นสมควรที่จะขอแต่งตั้งท่านเป็นพระอุปัชฌายะ จึงดำริให้ท่านเข้ารับการฦกหัดเป็นพระอุปัชฌายะ กับพระครูสารคณกิจ(จวน) เจ้าคณะอำเภอพุนพิน ในสมัยนั้น และได้ เข้ารับการฝึกกับเจ้าคุณพระธรรมาราม เจ้าคณะจังหวัดหลังสวน (ขณะนั้นยังเป็นจังหวัด) และได้เข้ารับการฝึกต่อที่วัดพระเชตุพลวิมลมังคลาราม (พ.ศ. ๒๔๖๐) จนมีความชำนาญจึงลากลับยังวัดจันทร์ประดิษฐารามดังเดิม(พ.ศ. ๒๔๖๑)
ในระหว่างท่านจำพรรษาที่วัดจันทร์ประดิษฐาราม (พ.ศ.๒๔๖๒) ท่านได้ช่วยบูรณะปฏิสังขรณ์ วัดละมุ (วัดปราการ) ซึ่งตั้งอยู่ที่ตำบลท่าขนอน อำ เภอคีรีรัฐนิคม จนแล้วเสร็จในปี พ.ศ. ๒๔๖๓ และได้แต่งตั้งให้พระเชื่อม เป็นผู้ดูแลรักษาวัดสืบไป
จากการธุดงค์จาริกไปยังที่ต่างๆของท่าน ท่านได้พบว่าพื้นที่บริเวรเขาพระราหู เห็นควรจะมีวัดซักแห่งหนึ่งจึงชักชวนชาวบ้านร่วมกันสร้างวัดขึ้น(พ.ศ.๒๔๘๐) ซึ่งในขณะนั้นท่านมีอายุล่วงได้ ๖๒ ปี จนสำเร็จได้รับพระราชทานวิสุงคามวามสีมา ในปี พ.ศ. ๒๕๐๓ ซึ่งเป็นปีที่ท่านมีอายุครบ ๗ รอบพอดี
ตลอดเวลาท่านได้ดูแลปกครองคณะสงฆ์และอบรมชาวบ้านให้ดำเนินไปในทางอันดีงาม จนล่วงเข้าปีต้นปี พ.ศ. ๒๕๐๘ ท่านได้อาพาธด้วยโรคชราโดยก่อนหน้า ท่านได้ประกาศการจัดการเกี่ยวกับสรีระของท่านตลอดจนการดำเนินการต่างๆไว้ ซึ่งต่างเข้าใจกันว่าท่านคงจะทราบถึงกาลมรณะก่อนหน้าแล้ว จบวันที่ ๓๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๐๘ ตรงกับวันอาทิตย์ แรม ๑๔ ค่ำ เดือน ๒ เวลา ๑๖.๐๕ น. ท่านก็ได้ถึงกาลมรณภาพ รวมสิริชนมายุ ๘๘ ปี ๑เดือน ๒๔ วัน
ตำแหน่งพระสังฆาธิการ(พระคณาธิการ) และสมณศักดิ์
๑ เมษายน ๒๔๕๕ ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดจันทร์ประดิษฐาราม
๑ กุมภาพันธ์ ๒๔๕๘ ได้รับแต่งตั้งเป็นรองเจ้าคณะอำเภอพุนพิน(พุมพวง)
๒ พฤษภาคม ๒๔๖๑ ได้รับแต่งตั้งเป็นรักษาการเจ้าคณะอำเภอคีรีรัฐนิคม(ท่าขนอน) และกิ่งอำเภอพนม
๒ กรกฎาคม ๒๔๖๑ ได้รับแต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌายะ ในคณะมหานิกาย
๘ ธันวาคม ๒๔๗๒ ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการศึกษาพระปริยัติธรรม ในอำเภอคีรีรัฐนิคม (ท่าขนอน) และกิ่งอำเภอพนม
๖ พฤศจิกายน ๒๔๗๔ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์พระครูชั้นเอกที่ พระครูสถิตสันตคุณ
๑๐ มิถุนายน ๒๔๘๒ ได้รับแต่งตั้งเป็นประธานอำนวยการเทศนา สั่งสอนประชาชน จากคณะสงฆ์ในเขตปกครอง
๑ ตุลาคม ๒๔๙๑ ได้รับการแต่งตั้งเป็นประธานกรรมการสงฆ์ในเขตปกครอง |