วัดอุปนันทาราม เป็นวัดราษฎร์ อยู่ในเขตเทศบาลเมืองระนอง เลขที่ ๑๔๔ ถนนท่าเมือง ตำบลเขานิเวศน์ อำเภอเมือง จังหวัดระนอง สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย สภาพฐานะและที่ตั้งวัด
อาณาเขต
ทิศเหนือ ติดต่อกับที่เอกชน, ถนนท่าเมือง ทิศใต้ ติดต่อกับที่เอกชน(เดิมเป็นเขตประทานบัตรเหมืองแร่) ทิศตวันออก ติดต่อกับถนนท่าเมือง ทิศตะวันตก ติดต่อกับถนนเฉลิมพระเกียรติ สภาพแวดล้อม ตั้งอยู่ในเขตเทศบาลเมืองระนองห่างจากสำนักงานเทศบาลประมาณ ๘๕๐ เมตร อยู่ท่ามกลางชุมชนขนาดใหญ่บริเวณวัดมีกำแพงล้อมรอบทุกด้าน ภายในวัดแบ่งเป็นเขตพุทธาวาส สังฆาวาส และเขตสาธารณสงเคราะห์ โดยเขตพุทธาวาสตั้งอยู่บนเนินเขาใจกลางวัด ล้อมด้วยเขตสังฆาวาสเป็นรูปตัวยูU บริเวณที่ราบด้านล่างเป็นเขตสาธารณสงเคราะห์ พื้นที่ทั้งสองส่วนมีถนนลาดยางและบันไดสำหรับเดินเท้าเชื่อมต่อถึงกันโดยรอบ
ประวัติ
"วัดอุปนันทาราม" เป็นวัดสำคัญวัดหนึ่งในระนองที่มีอายุการก่อสร้างวัดตั้งแ ต่ พ.ศ. ๒๔๓๖ ปลายสมัยรัชกาลที่ ๕ ถือได้ว่าเป็นวัดแรกๆของเมืองระนองในสมัยนั้นโดยมีนายบ่าเซ่ง เศรษฐีไทยเชื่อสายพม่าได้ชักชวนพุทธศาสนิกชนทั้งชาวไทย ชาวจีน และชาวพม่า ร่วมกันก่อสร้างขึ้นเพื่อเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวพุทธ เพราะในสมัยนั้นการทำบุญซักครั้งหนึ่งทำได้ยากยิ่ง เพราะว่าเมืองระนองมีเพียงวัดสุวรรณคีรีอารามหรือวัดหน้าเมือง (ภายหลังได้รับพระราชทานชื่อจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อครั้งเสด็จประภาสหัวเมืองมลายูว่า วัดสุวรรณคีรีวิหาร) จึงได้เริ่มหาสถานที่สร้างวัด โดยกำหนดเอาเนินสูงที่สุดในบริเวณนั้นเป็นที่สร้าง คำว่า อุปนันทาราม มาจากคำภาษาบาลี คือ อุป หมายถึง ที่ใกล้, เข้าไปใกล้, มั่น. นันท หมายถึง ยินดี, เพลิดเพลิน, รื่นเริง, บันเทิง, พอใจ, งดงาม. และ อาราม หมายถึง ความยินดี, ความพอใจ, สวน, อาราม, วัด. เมื่อนำมารวมกันอุปนันทารามจึงมีความหมายว่า "พระอารามที่มีความงดงามมั่นคงเป็นที่น่าพอใจ" เพราะสภาพที่ตั้งของวัดที่ตรงกลางเป็นเนินเขาเล็กๆล้อมรอบด้วยพื้นที่ราบที่เป็นสวนธรรมชาติล้อมรอบด้วยย่านชุมชน ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทางการประมง เหมืองแร่ และค้าขายเป็นต้น วัดอุปนันทาราม หรือที่ชาวบ้านเรียกกันอย่างง่ายๆอีกชื่อหนึ่งคือ "วัดด่าน" เพราะตั้งบริเวณบ้านท่าด่านเป็นพื้นที่ที่อยู่สุดเขตแดนติดต่อกับประเทศสหภาพพม่า ซึ่งในอดีตมีลักษณะเป็นท่าด่านปากคลองสำหรับเรือสัญจรที่จะเข้าสู่เมืองระนอง ทั้งเรือโดยสาร เรือขุดแร่ หรือเรือประมง เพราะในสมัยนั้นการสัญจรทางน้ำถือว่าสะดวกที่สุด การสร้างวัดในระยะแรกนั้นได้สร้างเป็นเรือนไม้ทรงปั้นหยาตามแบบศิลปะของภาคใต้ และได้อาราธนานิมนต์หลวงพ่อบรรณ พุทฺธสโร (ภายหลังได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ที่พระครูศีลพงษ์คณารักษ์ เจ้าอาวาสรูปแรก) ซึงเป็นพระธุดงค์มาจากจังหวัดไชยา(อำเภอไชยา สุราษฎร์ธานี)ให้ช่วยอยู่จำพรรษา ด้วยความเมตตาหลวงพ่อจึงรับนิมนต์และอยู่จนได้ก่อร่างสร้างวัดบูรณะพัฒนาวัดมาอย่างต่อเนื่อง จนได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ ๒๕ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๖๒ เขตวิสุงคามสีมากว้าง ๒ เส้น ๒ วา ยาว ๒ เส้น ๗ วา ได้รับคัดเลือกให้เป็นวัดพัฒนาตัวอย่างเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๐ และ พ.ศ. ๒๕๑๙ ได้ผูกพัทธสีมาเมื่อวันที่ ๓ เมษายน พ.ศ. ๒๕๒๐ วัดอุปนันทารามได้จัดระเบียบบริเวณวัดให้มีความสะอาด ร่มรื่น สวยงาม มีอาคารเสนาสนะที่มั่นคงเป็นระเบียบ จัดการปกครองพระภิกษุและสามเณรอย่างมีระเบียบ มีการจัดการศึกษาพระปริยัติธรรม จัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และเอื้อประโยชน์แก่ชุมชนจึงได้รับคัดเลือกเป็นวัดพัฒนาตัวอย่างที่มีผลงานดีเด่นประจำปี พ.ศ. ๒๕๕๑
ความสำคัญ
เป็นวัดในจังหวัดระนองที่ถวายผงธูปบูชาพระพุทธรูปคานสมอ สมัยเจ้าอ้ายยี่เพื่อเป็นมวลสารแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในการสร้างพระพุทธนวราชบพิตรและพระสมเด็จจิตรลดา เป็นที่พำนักของเจ้าคณะจังหวัดระนอง ๔ รูป คือ พระครูศีลพงษ์คณารักษ์ (บรรณ พุทฺธสโร)จจ.ระนองรูปแรก พระครูศีลพงษ์คณารักษ์ (ผุด สุทธางกูร) จจ.ระนองรูปที่ ๒ พระระณังควินัยมุนีวงศ์ (พลอย ธมฺมโชโต) จจ.ระนองรูปที่ ๓ และพระระณังควินัยมุนี (บุญให้ สีลวฑฺฒโน) จจ.ระนองรูปที่ ๔ เป็นที่บรรพชาของสามเณรปั่น เสน่ห์เจริญ ภายหลังเป็นพระพรหมมังคลาจารย์ (หลวงพ่อปัญญานันทะ) ท่านมักปรารภเสมอเมื่อมาระนองว่า "ที่นี่เป็นที่เกิดของฉัน ถ้าไม่มีวัดนี้ป่านนี้ชีวิตฉันไม่รู้จะเป็นอย่างไร"
วัดอุปนันทารามกับการศึกษา
วัดอุปนันทารามได้จัดสอนหนังสือให้แก่ประชาชนในพื้นที่ตั้งแต่แรกเริ่มโดยอาศัยศาลาเล็กๆภายในวัดกับผู้สนใจไม่กี่คนโดยแรกเริ่มทำการสอนโดยหลวงพ่อบรรณเอง ต่อมาเมื่อคนเริ่มมาเรียนหนังสือเพิ่มมากขึ้นได้ขยายออกเป็นโรงเรียนประชาบาลโดยมีครูผู้สอนทั้งฆราวาสและพระภิกษุสามเณร สำหรับพระภิกษุสามเณรที่เคยสอนนั้น เช่น ๑. สามเณรปั่น เสน่ห์เจริญ (พระพรหมมังคลาจารย์ ปัญญานันทะภิกขุหรือหลวงพ่อปัญญา) ๒. พระสงัด ๓. พระบุญเสริม ๔. พระสุพาสน์ เมื่อเริ่มมีนักเรียนมาเรียนมากขึ้นจึงตั้งโรงเรียนในที่ของวัดและโอนไปสังกัดกับเทศบาลเมืองระนอง ปัจจุบันมีชื่อว่า โรงเรียนเทศบาลวัดอุปนันทาราม ส่วนในส่วนของการศึกษาปริยัติธรรมของพระภิกษุสามเณรเองนั้นวัดได้เป็นสำนักศาสนศึกษามีการเรียนการสอน นักธรรม - บาลี เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน และมีการสนับสนุนการศึกษาของพระภิกษุสามเณรที่สนใจใฝ่รู้อยู่ตลอด
การบริหารและการปกครอง
วัดอุปนันทาราม จัดการปกครองภายในวัด โดยมีกติกาของวัด กำหนดให้พระภิกษุสามเณรปฏิบัติตามพระวินัยอย่างเคร่งครัด เพื่อให้หมู่คณะของพระสงฆ์อยู่กันอย่างเรียบร้อยเป็นที่น่าเลื่อมใส และเพื่อความเรียบร้อยของการบริหารและการปกครองโดยคำนึงถึงความคล่องตัว รวดเร็ว จึงได้แต่งตั้งผู้ช่วยเจ้าอาวาสไว้ช่วยงาน ๔ ด้าน คือ ด้านการปกครอง ด้านการศึกษา ด้านสาธารณูปการ และด้านการเผยแผ่ พร้อมทั้งเลขานุการเจ้าอาวาส เพื่อดำเนินนโยบายตามอำนาจและหน้าที่ของเจ้าอาวาส พระครูศีลพงษ์คณารักษ์ พระระณังควินัยมุนีวงศ์ พระระณังควินัยมุนี พระครูอุปนันทโสภณเจ้าอาวาสตั้งแต่แรกสร้างวัดจนถึงปัจจุบัน มีดังนี้ พระครูศีลพงษ์คณารักษ์ (บรรณ พุทฺธสโ ร) (พ.ศ. ๒๔๓๖ - พ.ศ. ๒๔๖๓) เจ้าอาวาสรูปแรก , เจ้าคณะจังหวัดระนองรูปแรก พระครูศีลพงษ์คณารักษ์ (ผุด สุทธางกูร) (พ.ศ. ๒๔๖๓ - พ.ศ. ๒๔๗๒) เจ้าคณะจังหวัดระนองรูปที่ ๒ ภายหลังได้ลาสิกขากลับไปรับราชการเป็นศึกษาธิการจังหวัดภูเก็ต พระระณังควินัยมุนีวงศ์ (พลอย ธมฺมโชโต รัตนดิลก ณ ภูเก็ต) (พ.ศ. ๒๔๗๒-พ.ศ. ๒๕๑๗) เจ้าคณะจังหวัดระนองรูปที่ ๓ พระราชาคณะรูปแรกของระนอง และเป็นพระราชาคณะชั้นราชรูปแรกของระนองด้วย (ในราชทินนามเดิม) หลวงพ่อเจ้าคุณเป็นผู้ชักชวนนายปั่น เสน่ห์เจริญมาช่วยสอนหนังสือ และเป็นอุปัชฌาย์จารย์ของสามเณรปั่น เสน่ห์เจริญ (พระพรหมมังคลาจารย์ ปัญญานันทะภิกขุ) พระระณังควินัยมุนี (เรวัต (บุญให้) สีลวฑฺฒโน อรุณวิมล) (พ.ศ. ๒๕๑๗-พ.ศ. ๒๕๓๕) เจ้าคณะจังหวัดระนองรูปที่ ๔ พระครูอุปนันทโสภณ (โสภณ โสภโณ ชุ่มชื่น) (พ.ศ. ๒๕๓๖ - ปัจจุบัน) เจ้าคณะอำเภอกะเปอร์ พระครูวิมลกิจจาภรณ์ (กิตติภัทร กิตฺติภทฺโท) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสฝ่ายปกครอง พระปลัดน้อย อตฺตรกฺโข ผู้ช่วยเจ้าอาวาสฝ่ายสาธารณูปการ พระกิตติศักดิ์ อติเมโธ หัวหน้าองค์การเผยแผ่วัดอุปนันทาราม , เลขานุการเจ้าคณะอำเภอกะปอร์
เสนาสนะ
ภายในวัดอุปนันทารามมีเสนาสนะต่างๆเช่น 1 พระอุโบสถ กว้าง ๙.๓๐ เมตร ยาว ๑๖.๘๐ เมตร สร้างเมื่อพ.ศ. ๒๔๙๐ มีลักษณะเป็นศิลปะผสม คือตัวอาคารเป็นทรงสเปนซึ่งเป็นที่นิยมในสมัยนั้น หน้าต่างไม้สักและประตูสลักลายไทย ส่วนกรอบประตูและหน้าต่างเป็นลวดลายดอกไม้จีน พระอุโบสถหลังนี้ได้รับการบูรณะเมื่อประมาณพ.ศ. ๒๕๑๘ ในครั้งนั้นหลังจากบูรณะส่วนหลังคาเสร็จเรียบร้อยช่างมิได้นำช่อฟ้าใบระกาใส่คืนอย่างเก่าจึงดูแปลกและสวยงามไปอีกแบบ 2 เจดีย์ทรงพม่า สร้างโดยมหาอำมาตย์ตรีพระยาประดิพัทรภูบาล (คอยู่เหล ณ ระนอง) พระสหายในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๖ เจดีย์องค์นี้เป็นการผสมผสานระหว่างศิลปะไทยและพม่าคือส่วนฐานจะเป็นศิลปะแบบพม่า แต่ส่วนยอดเป็นศิลปะไทย ภายในได้บรรจุพระพุทธรูปปางลีลา (พระเครื่องสมัย ๒๕ พุทธศตวรรษ) เจดีย์นี้ตั้งอยู่หลังพระอุโบสถภายในเขตพัทธสีมา เป็นเจดีย์สีขาวดูเด่นเป็นสง่าทีเดียว 3 ศาลาการเปรียญ เป็นลักษณะทรงไทยโบราณ หลังคาทรงปั้นหยา มีหน้ามุข ๔ ด้าน กว้าง ๑๑.๕๐ เมตร ยาว ๑๘ เมตร สร้างเมื่อพ.ศ. ๒๔๘๐ เดิมทีเป็นศาลาโล่งๆมิได้กั้นผนังอะไร ใช้เป็นที่สอนหนังสือให้แก่พระภิกษุสามเณร รวมถึงประชาชนทั่วไปที่เข้ามาเรียนหนังสือ |