เว็บลิ้งค์ชมรมต่างๆ

เว็บไซต์วัดเกจิดังในสยาม
วัดอัมพวัน จ. สิงห์บุรี
วัดหนองป่าพง จ. อุบลฯ
วัดเขาแหลม จ. สระแก้ว
หลวงพ่อกวย วัดโฆสิตาราม
วัดหัวป่า อ. ระโนด จ. สงขลา
วัดแก้วโกรวาราม จ. กระบี่
หลวงปู่ดุลย์ อตุโล
หลวงสมชาย วัดเขาสุกิม
ป้อนหมายเลขสิ่งของ


***พิมพ์หมายเลขสิ่งของจำนวน 13 หลัก

รายละเอียดเพิ่มเติม

  หน้าหลัก  :  อดีตสู่ปัจจุบัน  :  เว็บบอร์ดชมรม  :  ตารางประกวดพระ  :  สาระน่ารู้  :  เล่าสู่กันฟัง  :  ติดต่อเรา
สาระน่ารู้
03-09-2009 Views: 41790

สำหรับคนชอบเล่นเหรียญ

          คนที่เล่นเหรียญหรือสะสมเหรียญ มักจะบอกว่า “ เหรียญ…เล่นง่ายกว่าพระเครื่องอย่างอื่นๆ ” เพราะมีการจดจำพิมพ์หรือตำหนิต่างๆ ในรายละเอียดได้ง่ายและแม่นยำกว่านั่นเอง แล้วก็ยังสามารถเก็บรักษาดูแลได้ง่ายกว่าพระเครื่องเนื้ออื่นๆ ด้วยซ้ำไป แต่ปัจจุบันในมุมมองส่วนตัวของผมเอง กลับคิดว่าเหรียญกำลังเป็น “ดาบสองคม” เนื่องจากวิวัฒนาการทางด้านเทคโนโลยีที่ทันสมัยล้ำยุค และต้องยอมก้มหน้าเพื่อยอมรับกันแต่โดยดีๆ ว่าตามไม่ทันกันแล้วจริงๆ ครับ ขนาดคนใกล้ๆ เทคโนโลยียังบ่นอุบ…แล้วคนที่ไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกับมันล่ะครับ เขาเหล่านั้นจะเป็นยังไงบ้าง

           เหรียญที่ทำปลอม แบ่งเป็น 3 แบบคือ

                      1. เหรียญที่ปลอมโดยการปั๊ม

                      2. เหรียญที่ปลอมโดยการหล่อ

                      3. เหรียญที่ปลอมโดยการฉีด

            เวลาที่เล่นเหรียญนั้น คนเล่นต้องพยายามศึกษาประวัติที่มาที่ไปของเหรียญให้ดี ใครเป็นผู้สร้าง สร้างปีไหน มีกี่รุ่น มีกี่พิมพ์ มีเสริมหรือเปล่า ข้อมูลเหล่านี้อาจจะนำมาใช้เป็นพื้นฐานประกอบในการพิจารณาได้บ้างไม่มากก็น้อย เพราะก็จะยังดีกว่าไม่ทราบอะไรมาบ้างเลยก็แล้วกันครับ ต่อไปนี้จะขอแจกแจงเรื่องของ “เหรียญ” ที่ทำให้วงการมักจะมีปัญหาในการเล่นบ่อยๆ ดังต่อไปนี้

ประเภทที่ 1 เหรียญปลอม

         1.1 เหรียญปลอมเลียนแบบของจริง เป็นเหรียญที่ทำขึ้นมาใหม่เป็นจำนวนมากจนลายตา มีให้เห็นกันทั่วไปมากกว่าของจริงเสียอีก แต่ยังไงๆ ก็ไม่เหมือนของจริง มันยังห่างจากของจริงมากนักครับ เหรียญแบบนี้ยังไม่ค่อยน่ากลัวสำหรับนักเล่นพระหรอก แต่คนที่มีความโลภบดบังสายตาอยู่ บางทีอาจจะมองไม่เห็นว่ามันเก๊นะครับ

         1.2 เหรียญปลอมเหมือนของจริง เป็นเหรียญที่ผู้ทำมีเจตนาทำให้เหมือนของจริงให้มากที่สุด เท่าที่อุปกรณ์เครื่องไม้เครื่องมือ ตลอดจนลอกกรรมวิธีการต่างๆ ทุกขั้นตอน และใช้วิทยาการทางด้านวิทยาศาสตร์เข้ามาช่วยอย่างเต็มที่ แบบนี้พอทำออกมาแล้วนักเล่นอาจจะดูไม่ออกว่าเป็นเหรียญแท้หรือเหรียญปลอมกันแน่ เพราะเป็นฝีมือการสร้างสรรค์ที่สุดยอดระดับเซียนโดยแท้ มีการทำกันเป็นขบวนการเลยทีเดียว บางครั้งมีการนำตัวอย่างมาลองตานักเล่นและคนในวงการ เพื่อตรวจสอบถึงระดับความเหมือนหรือใกล้เคียงกันว่าพอจะใช้ได้หรือยัง เหรียญแบบนี้แหละที่ทำให้วงการมีปัญหาอยู่มาจนถึงทุกวันนี้เลยครับ

ประเภทที่ 2 เหรียญที่ถูกสร้างขึ้นในปี พ.ศ. เก่า

        คือเป็นเหรียญแท้ๆ แต่สร้างขึ้นในลักษณะที่เป็นเหรียญตาย หมายถึงถูกจัดสร้างขึ้นภายหลังจากที่พระเกจิอาจารย์ในเหรียญนั้นท่านได้มรณภาพลงไปแล้วนั่นเอง อาจจะเป็นศิษย์หรือคณะกรรมการจัดสร้างขึ้นเป็นที่ระลึกในงานศพหรืองานอื่นๆ หลังจากงานศพไปแล้ว บางเหรียญก็ไม่ได้บอกปี พ.ศ. หรือรายละเอียดของการจัดสร้างเอาไว้ด้วย เหรียญแบบนี้เป็นเหรียญที่วงการไม่ค่อยยอมรับหรือเล่นกันแพร่หลายได้เท่าที่ควร นักเล่นหลายท่านเพียงเห็นว่าเป็นเหรียญแท้ และมีปี พ.ศ. เก่าดี ลึกดี อะไรทำนองนั้น จึงเช่าหรือบูชากันได้ และบางครั้งก็เช่าแพงมากจริงๆ เพราะไม่รู้มาก่อนนั่นเอง ต่อมาพอศึกษาหรือทราบข้อมูลเพิ่มเติมขึ้นในภายหลัง และรู้ว่าเป็น “เหรียญตาย” ที่วงการเขาไม่นิยมเล่นกัน ลมแทบใส่ก็มีอยู่หลายรายนะครับ ท่านเคยโนกันบ้างไหมกับกรณีเหรียญที่มีปัญหาเช่นนี้

ประเภทที่ 3 เหรียญที่สร้างขึ้นมาในยุคหลัง แต่ย้อน ปี พ.ศ.

เหรียญแบบนี้สร้างขึ้นมาใหม่จริงๆ แต่มีการลง พ.ศ. กำกับในพิมพ์ไว้เลย เรียกว่าดูผ่านๆ เผลอๆ แล้วจะตกหลุมพรางเอาง่ายๆ ถ้าใจร้อนเกินไปนะครับ คือจะเป็นการจงใจในการสร้างขึ้นมาหรือเปล่าก็มิอาจจะเดาได้ หรือจะเป็นเรื่องของการตลาดที่จะทำให้เกิดผลต่อราคาของเหรียญนั้นก็มิอาจล่วงรู้ได้เลยจริงๆ นักเล่นมือใหม่ๆ อาจจะสับสนในเรื่องของ ปี พ.ศ. ได้ แต่หากศึกษาถึงเบื้องลึกในเนื้อโลหะมาบ้าง รับรองว่าโดนยากครับ คือจะพบว่าเหรียญย้อน พ.ศ. นั้นไม่เก่าจริงๆ ทั้งที่เป็นเหรียญแท้ๆ ก็ตาม แต่บางท่านก็ดูเป็นของปลอมไปเลยก็มีนะครับ ดังนั้นหากคิดจะสร้างเหรียญขึ้นมาแล้ว ผมว่าก็พิมพ์ ปี พ.ศ. ที่จัดสร้างขึ้นมาซะเลยก็หมดเรื่องครับ วันหน้าวันหลังจะได้ไม่ต้องสับสนกับปีที่เห็น

ประเภทที่ 4 เหรียญที่มีแม่พิมพ์ตั้งแต่ 2 พิมพ์ หรือ 2 บล๊อกขึ้นไป

    จริงๆ เป็นเหรียญแท้ๆ เก่าเดิมๆ ประมาณนั้นแหละครับ แต่ถูกสร้างหรือจัดทำขึ้นมาพร้อมๆ กัน ออกในรุ่นเดียวกัน ปีเดียวกัน หรือพิธีเดียวกันด้วยซ้ำไป การที่มีพิมพ์ของเหรียญมากกว่า 1 บล๊อกนั้น ถ้านักเล่นพระเกิดไม่ทราบประวัติและข้อมูลบางอย่างที่ชัดเจนจริงๆ แล้ว อาจจะเกิดปัญหาในการเช่าบูชาหรือปล่อยออกไปได้แน่นอน เพราะวงการมักจะแบ่งเรื่องพิมพ์เรื่องบล็อกกันออกไปอีกขั้น แถมยังมีการเล่นที่ราคาแตกต่างกันไปด้วย หากไม่ทราบเกิดเช่าหากันผิดราคาก็ยุ่งอีก ไอ้ที่เช่าถูกได้ของแพงคงจะดีใจกันไป แต่คนที่เช่าแพงแต่ได้บล็อกถูกๆ นี่สิ ปัญหาใหญ่จริงๆ คิดว่ามีหลายท่านที่โดนแบบนี้มาบ้างแล้วนะครับ ลองคิดย้อนกลับไปดูแล้วกรุณาลองยกตัวอย่างขึ้นมาให้ทราบกันเป็นความรู้ก็จะดีไม่น้อยเลยครับผม ตัวอย่างง่ายๆ เช่น เราเคยเห็นเหรียญนี้ หรือเคยเช่า หรืออ่านเจอในหนังสือพระเครื่องอะไรสักอย่างก็ได้ ซึ่งอาจจะสรปุเองเออเองคนเดียวว่าแท้และดีต้องเก็บหรือบุกไปออกตัวต่อไปได้ แต่สุดท้ายดันไปเก็บเอาเหรียญที่เขาไม่นิยมกันก็จบเห่เท่านั้นเองครับ บางทีอาจจะเป็นของดีของแท้อยู่แบบเดียว แต่พอเห็นอีกบล็อกซี่งก็แท้และดีเช่นกัน แต่ดันคิดไปแล้วว่าเป็นของปลอมก็ได้นะครับ เพราะไม่เหมือนกับที่เห็นมาก่อน แต่ความจริงคือไม่ทราบประวัติการจัดสร้างที่ชัดเจนของเหรียญรุ่นนั้นมากกว่านั่นเอง ถึงบอกว่า “เหรียญ” แท้ๆ ไม่ได้เล่นกันง่ายๆ นะครับท่าน

ประเภทที่ 5 เหรียญที่สร้างเป็นการเสริมขึ้นมาภายหลัง

เหรียญแบบนี้ ในความคิดส่วนตัวแล้วผมว่าน่ากลัวที่สุดนะครับท่าน เรียกว่า “เซียนขยาด” กันทั้งวงการเลยทีเดียว จะไม่ให้น่ากลัวได้ยังไงกัน เพราะส่องกล้องดูกี่ทีกี่ครั้งก็ยังดูไม่ออกเลยว่าเป็นเหรียญแท้สร้างในพิธีหรือเหรียญเสริมสร้างขึ้นในภายหลังกันแน่ครับ จะดูเรื่องตำหนิ เหรียญแบบนี้ก็มีครบจริงๆ จะดูเรื่องใบหน้า หน้าก็ดันเหมือนอีกนะ หรือจะดูตัวหนังสือก็ต้องตอบว่า “ใช่” อีกแหละครับ พอพลิกเหรียญดู “ขอบข้าง” บ้าง ก็ถูกต้องเสียอีกนี่กระไร คือว่าไม่รู้จะไปหาข้อผิดพลาดตรงส่วนไหนมาพิจารณากันดีนะ เขาใช้แม่พิมพ์เดิมๆ มาปั๊มเหรียญขึ้นมาใหม่ แล้วแบบนี้จะเป็นเหรียญปลอมได้ที่ไหนล่ะครับ ชักจะงงกันใหญ่แล้วนะเนี่ย เพียงแต่ว่าเหรียญเสริมนั้น “ไม่ได้ผ่านพิธี” มาเท่านั้น เพราะฉะนั้นจึงแยกกันไม่ออกว่าเหรียญไหนผ่านหรือไม่ผ่านพิธีมาก่อน แล้วก็ที่จะมาสาธยายกันต่อเรื่องเป็นของปลอมนั้นก็ให้ตัดทิ้งประเด็นนั้นไปได้เลยทันทีครับ ใครจะไปทดสอบโดยการ “ลองของ” อะไรก็ตามใจนะครับ แต่ผมไม่เอาด้วยคนหนึ่งละกัน ถามหลายท่านเรื่อง “เหรียญเสริม” ว่าจะระวังยังไงกันดี เรื่องนี้ตอบยากจริงๆ ครับผม ใครที่มีข้อแนะนำในการแยกแยะหรือพิจารณาของเสริมนี้ช่วยอธิบายแทนผมด้วยนะครับ ในบางกรณีหากมีการใช้แม่พิมพ์เดิมๆ มาปั๊มสร้างเหรียญขึ้นใหม่ บางคนบอกว่าให้ดูที่ “ขี้กลาก” บนเหรียญนะครับ คือมี “ขี้กลาก” ก็อย่าเล่นเป็นดีที่สุด แต่ผมว่าไม่แน่เสมอไปนะครับ เพราะเหรียญบางรุ่น เห็นว่าต้องมี “ขี้กลาก” เขาถึงเล่นกันเสียอีก ผมเลยยิ่งงงกันไปใหญ่

         ถึงตรงนี้ในฐานะที่ผมได้มีการสะสม “เหรียญ” พระพุทธชินราช รุ่นอินโดจีน 2485 อยู่ด้วยจึงต้องขอบอกให้ทุกท่านก็ควรจะต้องศึกษาและพิจารณากันให้ดีๆ ก่อนเช่นกันนะครับ เพราะเท่าที่ทราบมีของปลอมมานานแล้วเสียด้วยนะ เดี๋ยวจะหาว่า “ไม่หล่อ” แล้วไม่เตือนกันครับผม

ข้อคิดสำหรับคนเล่นพระ

       แต่ละท่านที่สะสมพระเครื่องนั้นมีความชอบชนิดของพระเครื่องแตกต่างกันออกไป เช่น พระกรุ พระเกจิอาจารย์ หรือแยกเป็น เนื้อดิน ชิน ผง ว่าน เป็นต้น ในความนิยมย่อมต้องมีพระประเภทเหรียญอยู่แน่นอน อาจแยกออกได้เป็นเหรียญหล่อ เหรียญปั๊ม เป็นต้น

       การสร้างพระเครื่องให้อยู่ในรูปของเหรียญปั๊มนั้นมีข้อดีหลายประการ คือ ความสวยงามคมชัด หรือความคงทนของเหรียญเนื่องจากเป็นโลหะ ประการสำคัญคือใช้งบประมาณในการสร้างไม่มากนักเมื่อเทียบกับเนื้องาน ดังนั้นเหรียญจึงมีอยู่ในความนิยมของนักสะสมและผู้สนใจมาโดยตลอด

        นักสะสมที่ชื่นชอบการสะสมเหรียญทั้งคณาจารย์และพระพุทธ ต่างก็มีวิธีการศึกษาจดจำ พิสูจน์ความแท้-ปลอมของเหรียญต่างกันออกไป เช่น การจำตำหนิบนเหรียญ ดูการตัดขอบเหรียญ หรือดูความเป็นธรรมชาติ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนต้องอาศัยความช่างสังเกต จดจำ สะสมข้อมูลเป็นเวลาพอสมควร อาจกล่าวง่ายๆว่าต้องใช้ประสบการณ์

        วิธีการจำแนกความแท้-ปลอม ของเหรียญที่ดีวิธีหนึ่งก็คือ การทำความเข้าใจธรรมชาติของเหรียญ ในที่มีที่นี้จะเล่าถึงวิธีการสร้างเหรียญทั้งแท้และปลอม ทั้งสองแบบมีวิธีการต่างกันอยู่และเป็นที่มาของการสังเกตแยกแยะ หากข้อเขียนนี้มีประโยชน์ใดๆอยู่บ้างก็ขอยกความดีให้กับผู้มีพระคุณของผมทุกท่าน ส่วนมีข้อผิดพลาดประการใดนั้นผมขอน้อมรับไว้ด้วยความเต็มใจ และเป็นเกียรติอย่างยิ่งหากมีผู้เสริมเติมส่วนที่ขาด หรือแก้ไขสิ่งที่ผิดพลาด

       การสร้างเหรียญปั๊มในปัจจุบันนี้จำแนกออกตามวิธีการสร้างคือ เหรียญตัวตัด เหรียญตีปลอก และเหรียญข้างเลื่อย ทั้งสามแบบจะมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวต่างกันออกไป เนื่องจากวิธีการทำต่างกัน ซึ่งจะเล่าคร่าวๆดังนี้

       เหรียญตัวตัด ถือว่าเป็นวิธีการที่นิยมกันมากเนื่องจากสะดวก ง่าย และไม่เปลืองอุปกรณ์และเวลา ซึ่งเหรียญที่สร้างหลังปี 2500 มา จะเป็นแบบนี้ ที่เรียกว่าเหรียญตัวตัดนั้นเกิดจากในขั้นตอนการปั๊มต้องมีการใช้พิมพ์ตัดเพื่อตัดเหรียญที่ปั๊มออกมาแล้วให้มีขนาดตามที่ต้องการ โดยก่อนที่จะปั๊มนั้นต้องตัดโลหะที่จะปั๊มเป็นเหรียญให้มีขาดใหญ่กว่าเหรียญก่อน เมื่อปั๊มออกมาได้รายละเอียดตามแม่พิมพ์แล้ว ก็ต้องนำไปตัดให้ได้ขนาดแล้วค่อยนำไปเจาะหูเหรียญต่อไป

       เหรียญตีปลอกนั้นโดยมากพบในเหรียญยุคเก่า วิธีการปั๊มนั้นต้องมี ปลอก ซึ่งทำจากโลหะที่มีรูปร่างตามรูปเหรียญที่ต้องการ ไม่ว่าจะเป็นรูปไข่ เสมา หรือเหรียญกลม ปลอกที่ว่านี้จะสวมอยู่กับเครื่องปั๊มมีหน้าที่คอยบังคับไม่ให้เนื้อโลหะเกินออกไปจากรูปเหรียญ ดังนั้นเมื่อปั๊มเสร็จแล้วก็ไม่ต้องนำไปตัดอีก เพราะออกมาเป็นรูปที่ต้องการเลย ซึ่งเหรียญเก่าๆที่ใช้การเชื่อมหูเหรียญนั้นจะพบว่าทำด้วยวิธีนี้ แต่เหรียญหูในตัวที่ใช้การตีปลอกก็ยังพบได้ เช่น เหรียญพ่อท่านซัง วัดวัวหลุง เหรียญหลักของทางใต้เหรียญหนึ่งชึ่งเป็นรูปไข่หูในตัว

       เหรียญข้างเลื่อยนั้นวิธีการเหมือนกับเหรียญตัวตัดทุกประการต่างกันที่เมื่อปั๊มออกมาแล้วก็ใช้แรงคนเลี่อยปีกเกินของเหรียญออกให้ได้รูป จะพบในเหรียญเก่าๆ เช่น หลวงพ่อคง วัดศรัทธาราษฎร์ ราชบุรี เป็นต้น

      ทั้งสามแบบที่เล่ามานั้นมีธรรมชาติในตัวแตกต่างกันออกไป เหรียญตัวตัดนั้นแน่นอนว่าต้องมีรอยตัดอยู่ที่ข้างเหรียญ เป็นรอยที่เกิดจากโลหะตัดโลหะซึ่งจะเหมือนกันทุกเหรียญที่ตัดจากตัวตัดเดียวกัน ส่วนเหรียญตีปลอกโดยมากจะพบรอยปลิ้นของเนื้อโลหะบริเวณขอบเหรียญ ข้างเหรียญ เกิดจากปลอกที่สวมบังคับไว้มีการเขยื้อนตามแรงปั๊มของเครื่องจักร สุดท้ายเหรียญข้างเลื่อยที่จะมีรอยเลื่อยอยู่ที่ขอบเหรียญ สังเกตได้ว่าต่างจากการตัดด้วยตัวตัด เพราะการใช้คนเลื่อยนั้นย่อมไม่สม่ำเสมอเหมือนใช้เครื่อง นอกจากนี้แล้วยังมีการสร้างแบบปลีกย่อยอีก เช่น ตัดด้วยตัวตัดแล้วมาใช้เครื่องเจียรให้ขอบเหรียญเรียบ (พระธาตุพนมช่วยไทย) หรือ ตัดแล้วมาตะไบซ้ำ(25 พุทธศตวรรษ พิมพ์เสมา) เป็นต้น

      ต่อไปจะขอเล่าถึงการทำเหรียญปั๊มแท้ว่าทำอย่างไร เพราะวิธีการสร้างนั้นจะเป็นที่มาของการแยกแยะความแท้-ปลอม

      ก่อนจะเริ่มปั๊มเหรียญแท้นั้น ต้องมีการแกะพิมพ์โดยใช้ช่างแกะพิมพ์ที่มีความชำนาญ แกะตามแบบที่ตกลงกับทางวัดหรือผู้สั่งทำว่าจะให้มีรายละเอียดอะไรบ้าง มีตัวหนังสือบอกอะไร รูปร่างเหรียญเป็นแบบใด การแกะแบบจะทำบนท่อนเหล็กปาดหน้าเรียบ เมื่อแกะเสร็จแล้วก็จะมีการชุบท่อนเหล็กดังกล่าวให้แข็ง เพื่อนำไปทำเป็นบล๊อก ซึ่งจะต้องมีทั้งด้านหน้าและด้านหลัง เมื่อได้บล๊อกออกมาแล้วก็นำไปติดตั้งบนเครื่องปั๊ม เพื่อทำการปั๊มเหรียญออกมา หากเป็นชนิดเหรียญตัวตัดก็ต้องมีการทำพิมพ์ตัดให้มีรูปร่างตามที่ต้องการไว้ หากเป็นแบบตีปลอกก็ต้องสร้างปลอกให้มีขนาดเท่ากับรูปร่างที่ต้องการแล้วนำไปสวมบังคับไว้กับเครื่องปั๊ม ส่วนเหรียญข้างเลื่อยจะไม่มีขั้นตอนพวกนี้ เมื่อปั๊มได้จำนวนเหรียญตามต้องการแล้ว ก็นำไปตัด เจาะหู รมดำ หรือลงกะไหล่ต่อไป

       จุดสำคัญของเหรียญแท้นั้นอยู่ที่บล๊อกและตัวตัด บล๊อกที่ทำจากเหล็กกล้าชุบแข็งจะมีความแข็งมากกว่าโลหะที่นำมาใช้เป็นเนื้อเหรียญ เครื่องปั๊มจะปั๊มได้เต็มกำลังทำให้เกิดความตึงแน่นบนเนื้อเหรียญ รายละเอียดคมชัด และที่เรียกกันว่าผิวไฟที่เกิดจากการกระแทกอย่างแรงระหว่างโลหะต่อโลหะ เกิดเสี้ยนสาดกระจายออกรอบๆผิวเหรียญ ตัวตัดแต่ละตัวจะมีรอยตัดที่ไม่ซ้ำกันและเป็นสิ่งที่ถอดพิมพ์ไม่ได้ เราจะเห็นว่าหลายๆเหรียญพิสูจน์ความแท้-ปลอม โดยการดูที่ตัวตัด เช่น เหรียญเลื่อนสมณศักดิ์ หลวงปู่ทวด ปี 08 หรือ เหรียญพุฒซ้อน หลวงปู่ทวด ปี 09 เป็นต้น

       เหรียญปลอมจะเริ่มต้นด้วยการถอดพิมพ์ โดยนำเหรียญต้นแบบที่มีความคมชัด ไม่มีรอยกลากหรือกาบโลหะ มาถอดพิมพ์ด้วยยางซิลิโคลน ทั้งด้านหน้าและหลัง ยางซิลิโคลนจะเก็บรายละเอียดทุกอย่างบนเหรียญแท้ไว้ แล้วจึงนำยางซิลิโคลนดังกล่าวไปเหวี่ยงขึ้นรูปเป็นบล๊อกแม่พิมพ์ ซึ่งจะทำด้วยทองเหลือง เมื่อได้บล๊อกมาแล้วก็จะดำเนินการตามวิธีการสร้างเหรียญแท้ทุกประการ ถ้าเหรียญต้นแบบใช้ตัวตัดก็จะทำตัวตัดขึ้นมา ดังนี้แล้วความเชื่อที่ว่าขอบเหรียญปลอมต้องมีรอยตะไบ เพราะเหรียญปลอมไม่ได้ใช้ตัวตัดตัดออกมานั้น ควรต้องปรับเสียใหม่ เพราะเหรียญปลอมยุคนี้ใช้วิธีการเดียวกันทุกประการ แม้กระทั่งเจาะหูเหรียญก็ใช้เครื่องเจาะเช่นกัน จุดที่ควรจะดูควรเป็นรอยตัดของตัวตัดมากกว่าว่าเป็นตัวตัดแท้หรือไม่ อาจใช้การจดจำจุดที่เป็นรอยเด่นๆ หรือให้ง่ายเข้าก็ควรมีเหรียญที่แท้แน่นอนไว้เทียบรอยตัด วิธีนี้แน่นอนมาก

        จุดสำคัญของเหรียญปลอมนั้นอยู่ที่บล๊อกที่ทำจากทองเหลืองนั้นมีความแข็งไม่เท่ากับเหล็กกล้า ทำให้การปั๊มทำได้ไม่เต็มกำลังเครื่องปั๊ม หากว่าให้แรงเครื่องจักรเต็มที่แล้วก็จะทำให้บล๊อกแตกเสียหาย ผู้ทำปลอมต้องใช้วิธีการปั๊มซ้ำๆกันหลายๆครั้งจนกว่ารายละเอียดของเหรียญจะปรากฎตามต้องการ เมื่อเป็นเช่นนี้ ความคมชัดของเหรียญปลอมจะสู้เหรียญแท้ไม่ได้ แต่การจะสังเกตออกได้ต้องมีประสบการณ์ดังที่กล่าวไปตอนต้น หรือ นำมาเทียบกันดู และรอยตัดของตัวตัดจะไม่เหมือนกันกับเหรียญแท้

        การได้เห็นเหรียญบ่อยๆไม่ว่าแท้หรือปลอมจะทำให้แยกแยะได้ดีขึ้น และควรจะดูผสมกันไปทั้ง ตำหนิ ตัวตัด ธรรมชาติความคมชัด หากไปเน้นเพียงอย่างใดอย่างหนึ่งแล้วอาจทำให้ผิดพลาดได้ เช่น เหรียญหลวงปู่เพิ่มวัดกลางบางแก้ว รุ่นแรก ที่มีรอยจารตรงด้านหลัง เข้าใจกันว่าปลอมยาก หรือจารไม่เหมือนก็ดูได้ สำหรับหรียญนี้ที่เป็นบล๊อกฆ่าเซียนนั้นถอดติดแม้กระทั่งรอยจารบนเหรียญ ถ้าจำเพียงลายมือจารอย่างเดียวรับรองได้ว่าเรียบร้อย

มีอะไรที่เหรียญปลอมถอดไม่ติดหรือไม่?

       มีแน่นอน แต่ผู้ที่รู้ชำนาญก็มักจะหวงแหนไม่ยอมถ่ายทอดให้ใคร เนื่องจากเป็นเคล็ดลับส่วนตัว แต่ละท่านจะมีจุดตาย หรือตำหนิที่ดูต่างกัน แต่สุดท้ายก็ต้องมาดูธรรมชาติของเหรียญอยู่ดี บางท่านั้นประสบการณ์สูง เห็นเหรียญมามาก ก็จะทำให้ดูได้รวดเร็ว แม่นยำ

จำเป็นหรือไม่ที่เหรียญปลอมต้องบวม?

       ไม่จำเป็นเลย ส่วนใหญ่ที่พบว่าบวมจะเป็นเหรียญปลอมสมัยเก่าที่วิธีการปั๊มไม่ดีนัก อุปกรณ์ไม่ทันสมัย ปั๊มได้ไม่ดีนักก็จะบวม แต่เหรียญปลอมรุ่นใหม่ๆนั้นไม่บวมแล้ว เว้นแต่ว่าเหรียญแม่แบบจะบวม ซึ่งก็มีเหรียญแท้บางรุ่นที่บวม เช่น เหรียญหลวงพ่อปาน วัดบางเหี้ย ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ ปี 91 ซึ่งเล่นหากันในราคาสูงพอควรแม้จะเป็นเหรียญตายก็ตาม เหรียญนี้ก็บวมด้านหน้าทั้งที่เป็นเหรียญแท้ เป็นต้น

      สำหรับเราๆท่านๆที่สะสมนั้นจะทำอย่างไรให้รอดปลอดภัยจากเหรียญปลอม ผมได้ข้อสรุปจากประสบการณ์ และปัญญาอันน้อยนิดของตัวเองว่าอย่างแรกที่ต้องทำคือ ทำใจ อาจจะฟังดูท้อถอยแต่เป็นเรื่องจริง เล่นใหม่ๆหัดดูใหม่ๆ ต้องโดนของปลอมบ้าง เป็นเรื่องธรรมดา แต่โดนแล้วศึกษา เรียนรู้ ให้ผิดเป็นครู ก็จะดีขึ้นๆ ส่วนใครที่เล่นมาไม่เคยโดนเลย(โดยเฉพาะเหรียญ) ก็ถือเป็นบุญวาสนาของท่านอย่างยิ่ง ผมมีวิธีการง่ายๆเสนอ

       1. ศึกษาประวัติความเป็นมาของการสร้างเหรียญให้ชัดเจน ว่าสร้างจำนวนเท่าใด มีเนื้ออะไรบ้าง มีโค้ดใดๆหรือไม่ ถ้าจะให้ดีควรรู้ว่าสร้างด้วยวิธีใด ตัวตัด ตีปลอก หรือ เลื่อย เล่านี้อาจใช้วิธีสอบถามเอาจากผู้รู้ที่รู้จริง และมีความเต็มใจที่จะให้ข้อมูล

      2. ศึกษาเหรียญจากรูปภาพ โดยดูจากสื่อต่างๆหรือไปซื้อรูปถ่ายมาเองจากร้านถ่ายรูปพระ เช่นที่ท่าพระจันทร์ก็มีขาย ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเหรียญแท้ (วิธีนี้ผมชอบเพราะผมไม่ค่อยมีเงินเช่าเหรียญ) ส่วนการดูรูปจากสื่อต่างๆก็ควรเลือกที่เชื่อถือได้

      3. เช่าเพื่อศึกษาและใช้เทียบ คือเราไปเช่าเหรียญมาจากผู้ที่รู้จริง ไว้ใจได้ เพื่อมาดูว่าเหรียญนี้มีตำหนิ มีธรรมชาติอย่างไร และเวลาจะเช่าเหรียญที่เป็นรุ่นเดียวกันก็สามารถเอาไว้ใช้เทียบได้ ไม่ต้องอายที่ควักเหรียญของเรามาส่องเทียบ เพราะเซียนใหญ่ มีชื่อเสียงแล้วเขาก็ทำกัน เพื่อความปลอดภัย

      4. อย่าโลภ ของดี ราคาถูกนั้นไม่มีสำหรับคนที่ยังไม่ชำนาญ หรือมีก็น้อยมาก (เช่าถูกหวังฟลุกนั้นคนที่ ฟลุกจริงๆ คือคนที่เอาพระมาให้ท่านเช่าครับ อยู่ดีๆ มีคนเอาเงินมาให้) และอย่าเช่าทั้งๆที่ไม่แน่ใจแต่บางท่านชอบเสี่ยงและมีกำลังเสี่ยงก็ไม่ห้ามกันครับ สุดท้ายคือ สะสม เช่าหา ด้วยสติและควรมีที่ปรึกษาที่ไว้ใจได้ และทำตัวเป็นนักเรียนอยู่เสมอ

      เรื่องราวที่เล่าสู่กันฟังเรื่องนี้อาจจะยาวไปสักนิดนะครับ แต่ก็เรียบเรียงมาจากความทรงจำของผมเอง และจากประสบการณ์อันน้อยนิดอีกทั้งอัตคัตขาดรูปประกอบจึงขออภัยไว้ด้วยครับ ขอบคุณทุกท่านที่สละเวลาอ่านครับ

วิธีการดูพระเครื่องประเภทรูปเหมือน

รูปเหมือนปั้ม

      การดูพระรูปเหมือนปั๊มให้ใช้หลักการดูเหรียญปั๊มได้เลย เพราะพระหล่อปั๊มคือ พระโลหะปั๊มเป็นรูปองค์เท่านั้น ถ้าปั๊มแบนเป็นแผ่นก็คือเหรียญปั๊มนั่นเอง เช่น รูปเหมือนปั้มหลวงพ่อพรหม วัดช่องแค รุ่นก้นระฆัง

รูปเหมือนฉีด

      การดูพระรูปเหมือนฉีดให้ดูพิมพ์รวมเป็นหลัก พระทุกองค์จะต้องรูปร่าง เท่ากันทุกองค์ 100% แต่ไม่คมชัดเหมือนพระปั๊ม บริเวณก้นองค์จะมีรอยตะไบบริเวณรอยฉีดโลหะเข้าทุกองค์ เช่น พระหล่อใบโพธิ์ เจ้าคุณนรฯ ปี 13

รูปเหมือนหล่อโบราณ มี 2 ชนิด คือ

      เบ้าทุบ ไม่มีรอยตะเข็บข้าง แต่จะมีรอยตะไบเดือยที่ก้นทุกองค์ เช่น หลวงพ่อเงิน วัดบางคลาน พิมพ์นิยม

      เบ้าประกบ มีรอยตะเข็บซ้าย-ขวาข้างองค์พระทุกองค์ ก้นจะมีรอยเนื้อเทไม่เต็ม เช่น หลวงพ่อเงิน วัดบางคลาน พิมพ์ขี้ตา

จุดสังเกตสำคัญ

       พิมพ์หรือรูปร่างโดยรวมของพระรูปหล่อจะต้องเหมือนกัน รูปหล่อที่มีโค๊ด โค๊ดจะต้องคมชัดเพราะใช้ตอกด้วยโลหะ รอยปั๊มหรือรอยตะไบ ถ้าเป็นพระที่มีอายุ 20 ปีขึ้นไป ควรที่จะไม่มีความคมและไปในทางเดียวกันไม่สับสน

วิธีการดูพระเครื่องประเภทเหรียญ

       หลาย ๆ คนบอกว่าพระเครื่องประเภทเหรียญปัจจุบันนี้ เล่นยากมาก เพราะทำเก๊ได้เหมือนของแท้เหลือเกิน โดยเฉพาะเก๊คอมพิวเตอร์ แต่ในความคิดของผม ผมว่าเหรียญทุกชนิดจะดูง่ายขึ้น ถ้าเรามีหลักการในการดูดังนี้

      เมื่อพบเหรียญใด ๆ ให้ดูด้วยตาเปล่าก่อนว่าเหรียญบวมหรือไม่ ถ้าบวมหรือบิดผิดธรรมชาติ ก็คือ เก๊แน่นอน ยกเว้นเหรียญที่นูนจากแม่พิมพ์เอง เช่น เหรียญหลังเต่าเจ้าคุณนร ฯ

      เมื่อเหรียญไม่บวมก็ให้ดูตำหนิเทียบกับหนังสือพระเครื่องทั่ว ๆ ไปได้ว่าถูกพิมพ์หรือไม่ ถ้าเหรียญผิดพิมพ์หรือไม่มีตำหนิ ก็คือ เก๊แน่นอน จากแกะบล็อคใหม่นั่นเอง แต่ถ้าเหรียญถูกพิมพ์ก็จะมีอีก 2 กรณีคือ

 1.แท้

 2.เก๊คอมพิวเตอร์

    การแยกพระแท้กับพระเก๊คอมพิวเตอร์แยกได้ง่ายมาก และไม่ต้องดูตำหนิแล้ว ให้ดูเหรียญโดยทั่ว ๆ ไปก่อน ทั้งด้านหน้าและด้านหลัง บล็อกเก๊คอมพิวเตอร์จะมีพื้นผิวเหรียญที่ไม่ตึงเรียบ และจะมีจุดเนื้อเกินแตกต่างจากเหรียญแท้เสมอ หลังจากนั้นค่อยพิจารณาดูองค์ประกอบทั่ว ๆ ไปของเหรียญ เช่น อายุของโลหะ รมดำหรือกะไหล่ ว่ามีความเก่าหรือไม่

จุดพิจารณาร่วมในการดูเหรียญ

        อายุของโลหะต้องมีความเก่าตามอายุการสร้างของเหรียญ เช่น เหรียญ พ.ศ. 2460 ทองแดงไม่เก่าก็คือ เก๊นั่นเอง กระไหล่หรือรมดำ ต้องเก่าตามอายุเหรียญ

       เหรียญสึก ควรสึกเฉพาะส่วนที่นูนของเหรียญเท่านั้น ส่วนลึกสุดของเหรียญต้องคมชัด และดูได้ว่าเป็นเหรียญปั๊ม

การดูรอยตัดปั๊มขอบเหรียญ ถ้าไม่มีหรือเป็นรอยตะไบถือว่าไม่ใช่เหรียญปั๊ม ยกเว้นเหรียญปั้มบังคับปลอก(บังคับขอบเหรียญ) เช่นเหรียญ ลพ.เดิม ปี 2482 ขอบจะเรียบครับ หรือเหรียญที่ตะไบขอบเช่นเหรียญ ลพ.คง วัดบางกระพ้อม บล็อกขอบตะไบ ครับ แต่เหรียญพิเศษแบบนี้จะมีไม่มากครับ แต่ถ้ามีรอยตัดปั๊มอาจเก๊คอมพิวเตอร์ก็ได้

       เหรียญห่วงเชื่อม รอยเชื่อมเงินต้องมีความเก่า

       ไม่ควรเช่าเหรียญที่เลี่ยมพลาสติกไว้เพราะดูลำบากอาจหลอกตาได้ ยกเว้น เหรียญดูง่าย


 
------------------------
  หน้าหลัก  
  คำถามที่มีการถามบ่อย  
  เราเล่นพระทำไม ?  
  กฎหมายพระเครื่อง  
  เกร็ดเล็ก-เกร็ดน้อย  
  สมัครเปิดร้านค้า  
  การชำระเงินค่าร้านค้า  
  ความรู้เกี่ยวกับพระเครื่อง  
  ข้อมูลสถิติเกี่ยวกับร้านค้า  
 
หน้าหลัก  อดีตสู่ปัจจุบัน  เว็บบอร์ดชมรม  ตารางประกวดพระ  สาระน่ารู้  เล่าสู่กันฟัง  ติดต่อเรา
Copyright©2024 zoonphra.com
Powered by Tactical IT