เว็บลิ้งค์ชมรมต่างๆ

เว็บไซต์วัดเกจิดังในสยาม
วัดอัมพวัน จ. สิงห์บุรี
วัดหนองป่าพง จ. อุบลฯ
วัดเขาแหลม จ. สระแก้ว
หลวงพ่อกวย วัดโฆสิตาราม
วัดหัวป่า อ. ระโนด จ. สงขลา
วัดแก้วโกรวาราม จ. กระบี่
หลวงปู่ดุลย์ อตุโล
หลวงสมชาย วัดเขาสุกิม
ป้อนหมายเลขสิ่งของ


***พิมพ์หมายเลขสิ่งของจำนวน 13 หลัก

รายละเอียดเพิ่มเติม

  หน้าหลัก  :  อดีตสู่ปัจจุบัน  :  เว็บบอร์ดชมรม  :  ตารางประกวดพระ  :  สาระน่ารู้  :  เล่าสู่กันฟัง  :  ติดต่อเรา
ประวัติเกจิอาจารย์ดัง: หลวงพ่อสด วัดปากน้ำ
หลวงพ่อสด วัดปากน้ำ(ต่อ)
28-02-2010 Views: 18256

(พระนิพนธ์ของ สมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ ๑๗ ต่อ)

                แม้ท่านได้รับสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตร แต่ไม่มีใครเรียกชื่อนั้น เรียกหลวงพ่อเสมอมา บางคนก็ไม่ทราบว่าท่านมีสมณศักดิ์ เพราะภิกษุสามเณรในวัดและคนวัดก็เรียก "หลวงพ่อ" เสียหมด บางคนเรียกว่า "เจ้าคุณพ่อ"

                นอกจากท่านจะสร้างคนให้เป็นคนแล้ว เสนาสนะก็ได้จัดทำรุดหน้าไป แต่เพราะท่านฝักใฝ่ในด้านกรรมฐานเสียมาก การก่อสร้างปฏิสังขรณ์ก็ไม่ใคร่สนใจมากนัก ท่านพูดว่าสร้างคนนั้นสร้างยาก เรื่องเสนาสนะไม่ยาก ใครมีเงินก็สร้างได้ แต่ความสำคัญต้องสร้างคนก่อน

                ๑. กุฏิ ๒ แถว สร้างก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๒ ชั้นบนเป็นไม้ ชั้นล่างก่ออิฐถือปูน สร้างคู่กับโรงเรียน

                ๒. พ.ศ.๒๔๙๓ สร้างโรงเรียนปริยัติเป็นคอนกรีตเสริมเหล็กสูง ๓ ชั้น ยาว ๒๙ วา ๒ ศอก กว้าง ๕ วา ๒ ศอก สิ้นเงินค่าก่อสร้างประมาณ ๒,๕๙๘,๑๑๐.๓๙ บาท (สองล้านห้าแสนเก้าหมื่นแปดพันหนึ่งร้อยสิบบาทสามสิบเก้าสตางค์)

                ๓. สร้างศาลาโรงฉันพอเหมาะแก่พระภิกษุสามเณร ๕๐๐ รูป ฉันภัตตาหารเช้า เพล เป็นเครื่องไม้มุงสังกะสี พื้นลาดปูนซีเมนต์        ภายในยกเป็นอาสนสงฆ์ มีช่องเดินในระหว่างได้ สิ้นค่าก่อสร้างประมาณ ๔๐๐,๐๐๐ บาทเศษ (สี่แสนบาทเศษ)

                ๔. สร้างกุฏิเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก เป็นตึก ๒ ชั้น พื้นฝ้าเพดานไม้สักทาสีขัดชันเล็ก มีห้องน้ำห้องส้วมและไฟฟ้า เป็นกุฏิทันสมัย ราคาก่อสร้างประมาณ ๘๐๐,๐๐๐ บาทเศษ (แปดแสนบาทเศษ)

                ๕. ก่อนมรณภาพสัก ๔-๖ เดือน ได้สร้างกุฏิอีกหลังหนึ่งสูง ๓ ชั้น เป็นตึกคอนกรีตเสริมเหล็กเช่นเดียวกัน มีเครื่องประกอบพร้อม ราคาก่อสร้าง ๓๒๗,๘๔๓.๓๐ บาท (สามแสนสองหมื่นเจ็ดพันแปดร้อยสี่สิบสามบาทสามสิบสตางค์)

สิ่งก่อสร้างเหล่านี้ไม่มีงบประมาณ กุฏิบางหลังไม่มีแปลน ค่าก่อสร้างทวีขึ้นแล้วแต่ช่างจะเสนอ แต่เมื่อเสร็จแล้วก็ได้ของประณีตไว้สำหรับวัด หลวงพ่อก็ไม่ว่าไร สร้างกุฏิเสร็จแล้วหลวงพ่อสดได้สั่งให้พระรูปอื่นอยู่ต่อไป ตัวท่านเองหาได้อยู่อาศัยไม่ เช่นกุฏิหลังใหม่ให้พระศรีวิสุทธิโมลี และพระครูปลัดณรงค์เข้าอยู่อาศัย ใคร ๆ จะอาราธนาให้ขึ้นกุฏิใหม่ก็ไม่ฟังเสียง ท่านเพิ่งไปอยู่เมื่อก่อนมรณภาพสัก ๓-๔ เดือน ที่จำไปนั้นเนื่องด้วยที่อยู่เดิมมีการก่อสร้างกุฏิหลังใหม่ใกล้ชิด ท่านไม่ได้ความสงบ จึงจำยอมมาพักที่กุฏิใหม่และมรณภาพที่กุฏินี้

                การสร้างคนนั้นเป็นอัธยาศัยที่ท่านสนใจ ภิกษุสามเณรรูปใดมีสติปัญญาสามารถ เที่ยวนำฝากสำนักโน้นสำนักนี้ให้ได้รับการศึกษาชั้นดีต่อไป และเพื่อรับเอาขนบธรรมเนียมของสำนักนั้นมาปฏิบัติพอเหมาะสม เป็นการให้สังคมแก่ศิษย์เป็นอย่างดี วางแนวทางให้มีการติดต่อกัน ให้มีสัมพันธ์ต่อกัน ให้แสดงความรู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แม้ในคณะธรรมยุตท่านก็ส่งเสริมให้ได้บรรพชาอุปสมบท คือศิษย์สมัครใจก็อนุญาต ไม่มีความรังเกียจใครผู้ใด ท่านพูดว่า เรามองกันในแง่ดีจะมีสุขใจ เพียงเท่านี้ก็พอใจแล้ว สำนักที่หลวงพ่อสนใจเป็นพิเศษคือวัดเบญจมบพิตร จะทำอะไรก็ต้องอ้างสมเด็จสังฆนายกก่อน ต้องการอาราธนาในการกุศลเสมอ งานเล็กน้อยก็ต้องต้านทานไว้ บางคราวยอมสงบให้ด้วยความไม่พอใจก็มีเหมือนกัน และสมเด็จสังฆนายกได้เมตตาแก่หลวงพ่อสดวัดปากน้ำอย่างดีเสมอมา

ความเจริญในด้านสมณศักดิ์

                ยุคก่อน หลวงพ่อสดไม่ได้รับยกย่องมากนัก ท่านมาอยู่วัดปากน้ำยุคสมเด็จพระวันรัต ติสฺสทตฺตเถร วัดพระเชตุพน เป็นเจ้าคณะอำเภอภาษีเจริญ ต่อมา พระราชสุธี (พร้อม ป.๖) วัดสุทัศน์เทพวราราม ลาสิกขาแล้วต่อมาพระสุธรรมมุนี วัดพระเชตุพน ในสามยุคนี้ พระครูสมุห์สด ก็คงได้สมณศักดิ์เป็นพระครูสมณธรรมสมาทานเท่านั้น

                  เมื่อคณะสงฆ์ปกครองโดยพระราชบัญญัติปกครองคณะสงฆ์ พ.ศ.๒๔๘๔ ตำแหน่งเจ้าคณะอำเภอตกมาอยู่ในปกครองของเจ้าคุณพระวิเชียรกวี (ฉัตร ป.๕) วัดหนัง อำเภอบางขุนเทียน จังหวัดธนบุรี หลวงพ่อก็ยังคงเป็นพระครูตามเดิม ที่เป็นดังนั้นเพราะการปกครองของหลวงพ่ออยู่ในวงแคบ คือเป็นเพียงเจ้าอาวาสพระอารามหลวงตำแหน่งเดียว

                อันความจริงหลวงพ่อสดก็ไม่ได้กระตือรือร้นหรือเที่ยววิ่งเต้นและก็ไม่สนใจในเรื่องเช่นนั้น ท่านสนใจอย่างเดียว คือต้องการให้ภิกษุสามเณรมีปัจจัย ๔ บริบูรณ์ เพียงเท่านี้ก็พอใจ

                เรื่องที่คณะวัดปากน้ำเดือดร้อนใจอยู่อย่างเดียวในสมัยโน้น คือคณะวัดปากน้ำเห็นต้องกันว่า หลวงพ่อที่เคารพของตนมีคนนับถือมาก กุลบุตรสมัครใจมาบวชปีละหลาย ๆ สิบคน ทั้งหลวงพ่อก็มีภูมิพอจะอบรมให้เกิดความรู้ในการปฏิบัติไม่ยิ่งหย่อนกว่าวัดทั้งหลาย แต่ไม่ได้รับแต่งตั้งเป็นอุปัชฌายะ ท่านครองวัดมาแต่ พ.ศ.๒๔๕๙ มาได้ตำแหน่งอุปัชฌายะเมื่อ พ.ศ.๒๔๙๐ นับเป็นเวลา ๓๐ ปีเศษ จึงได้รับ อันความจริงวัดปากน้ำเป็นพระอารามหลวงย่อมมีสิทธิพิเศษในการได้รับแต่งตั้งเป็นอุปัชฌายะ แม้ในยุคใหม่ก็มีกฎหมายเปิดโอกาสถวายเพื่อเกียรติพระอารามหลวง

                เมื่อพิจารณาอัธยาศัย หลวงพ่อสด วัดปากน้ำ หนักในกตัญญูกตเวทิตาธรรม เมื่อท่านมาปกครองวัดปากน้ำ ได้รับโยมหญิงผู้ชรามาไว้ สร้างที่อยู่อาศัยและอุปถัมภ์ด้วยเครื่องเลี้ยงชีวิตเป็นอย่างดีจนตลอดชีวิตของโยม แม้คนอื่นก็เหมือนกันท่านย่อมอนุเคราะห์ตามฐานะ

                เมื่อสมเด็จพระวันรัต ติสฺสทตฺตเถร อาพาธเป็นอวสานแห่งชีวิต หลวงพ่อวัดปากน้ำได้ปฏิการะเป็นอย่างดี โดยจัดอาหารและรังนกจากวัดปากน้ำมาถวายทุกวัน ท่านตั้งงบประมาณไว้วันละ ๔๐ บาท พอได้เวลา ๐๔.๐๐ น. ให้คนลงเรือจ้างขึ้นปากคลองตลาด พอถึงวัดพระเชตุพนได้อรุณพอดี สมัยนั้น สะพานพุทธฯ ชำรุดเพราะภัยสงคราม ถนนฝั่งธนบุรีถึงตลาดพลูยังไม่เรียบร้อย รถโดยสารยังไม่มี การคมนาคมต้องใช้เรือจ้าง หลวงพ่อเพียรปฏิบัติฉลองพระคุณดังนี้เป็นเวลาหลายเดือน เมื่อผู้นำอาหารมาถวายกลับไปแล้วต้องรายงานให้หลวงพ่อทราบทุกวัน

                การทำคิลานุปัฏฐากเป็นอวสานปฏิการะนี้ น่าจะให้ผลแก่หลวงพ่อมากอยู่ เมื่อเจ้าคุณพระพิมลธรรม ฐานทตฺต วัดมหาธาตุ หมั่นมาเยี่ยมสมเด็จพระวันรัต ติสฺสทตฺตเถร ผู้กำลังอาพาธหนัก วันหนึ่งเป็นเวลาค่ำแล้ว เจ้าคุณสมเด็จพระวันรัต ได้ขอร้องให้ช่วยแต่งตั้งพระครูสมณธรรมสมาทานวัดปากน้ำเป็นอุปัชฌายะด้วย เจ้าคุณพระพิมลธรรมยินดีและรับรองว่าจะจัดการให้ตามประสงค์ และต่อมาไม่ช้าตราตั้งเป็นอุปัชฌายะ ก็ตกถึงพระครูสมณธรรมสมาทาน คือหลวงพ่อสด วัดปากน้ำ เมื่อได้รับตราตั้งเป็นพระอุปัชฌายะแล้ว คณะวัดปากน้ำชื่นชมยินดี กุลบุตรพากันมาบรรพชาอุปสมบทในสำนักวัดปากน้ำทวีขึ้น

                อันเจ้าคุณพิมลธรรม ฐานทตฺต นั้น ท่านชอบพอกันมานานในส่วนตัว และพอใจในการปฏิบัติด้วย ท่านเคยพูดว่าท่านพระครูวัดปากน้ำ ถึงมีข่าวอกุศลอย่างไรก็ยังดีมีคนมาขอปฏิบัติธรรมเจริญพระกัมมัฏฐาน ทุกวัดน่าจะทำตามบ้าง

                หลวงพ่อสด วัดปากน้ำได้รับสมณสักดิ์เป็นพระครูสมณธรรมสมาทานแต่ พ.ศ.๒๔๖๔ นับแต่นั้นมาเป็นเวลา ๒๘ ปี จึงได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะสามัญที่ พระภาวนาโกศลเถระ ถือพัดยอดพื้นขาวอันเป็นตำแหน่งวิปัสสนาธุระ พ.ศ. ๒๔๙๒ การได้สมณศักดิ์ครั้งนี้ นัยว่าเป็นด้วยคณะสังฆมนตรีได้ทราบเกียรติคุณของท่านอยู่บ้าง จึงได้รับคะแนนส่งเสริมเป็นอันดียิ่ง พระพิมลธรรม (อาสภเถร) วัดมหาธาตุด้วยแล้วส่งเสริมเต็มที่ และได้พยายามส่งเสริมมาทุกระยะกาล เพราะพระพิมลธรรมพอใจในสุปฏิบัติของหลวงพ่อวัดปากน้ำ

                พ.ศ.๒๔๙๔ ได้รับพระราชทานพัดยศเทียบเปรียญ

                พ.ศ.๒๔๙๘ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นราชาคณะชั้นราช มีราชทินนามว่า "พระมงคลราชมุนี"

                พ.ศ.๒๕๐๐ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นเทพ มีพระราชทินนามว่า "พระมงคลเทพมุนี"

                เมื่อได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระมงคลราชมุนีแล้ว ต่อมาท่านได้อาพาธเกี่ยวแก่ความดันโลหิตสูง เริ่มแต่เดือนมีนาคม ๒๔๙๙ เป็นต้นมา มีอาการขึ้น ๆ ลง ๆ พลเรือจัตวา เรียง วิภัตติภูมิประเทศ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลทหารเรือ แพทย์ประจำ ได้มาเยี่ยมอาการทุกเช้าเย็นและทำการพยาบาลด้วยตนเอง เมื่อเวลามาเยี่ยมตรวจอาการของโรคใดที่แพทย์สงสัย ได้เชิญผู้เชี่ยวชาญแต่ละสาขามาตรวจรักษา เช่น นายแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางปอด ทางหัวใจ เป็นต้น โดยที่สุดได้เชิญ คุณพระอัพภันตริกาพาธ ผู้เชี่ยวชาญชั้นเยี่ยมของประเทศไทยมาตรวจและแนะนำ เพราะท่านผู้นี้เป็นอาจารย์ของนายแพทย์ทั้งหมดด้วย โรคนั้นมีแต่ทรงกับทรุด บางคราวก็ทำให้มีความหวังบ้าง

                การได้รับสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะที่ พระมงคลเทพมุนี ก็อยู่ในระหว่างอาพาธ อาการของโรคเริ่มจะแสดงว่าหมดหวัง แต่กำลังใจของท่านยังแข็งแกร่ง พอเข้าวังรับพระราชทานสัญญาบัตรได้ คณะวัดปากน้ำก็มีหวังอยู่ว่าคงจะหายจากโรคสักวันหนึ่งนั้นเป็นแต่เพียงความหวัง ตั้งแต่เริ่มอาพาธจนถึงมรณภาพเป็นเวลา ๒ ปีเศษ หลวงพ่อไม่ได้แสดงอาการรันทดใจใด ๆ เลย ต้อนรับแขกด้วยอาการยิ้มแย้มเสมอ เวลาจะลุกจะนั่งไม่พอใจให้ใครไปช่วยเหลือ ท่านพอใจทำเอง ผู้อื่นคอยตามเพื่อช่วยเหลือเวลาท่านเซไปเท่านั้น

                นอกจากโรคดังกล่าวแล้ว ยังมีโรคไส้เลื่อนกำเริบขึ้นอีก ถึงกับต้องไปทำการผ่าตัดที่โรงพยาบาลศิริราชในระหว่างพรรษา แม้กระนั้นท่านก็ไม่ยอมขาดพรรษา ดิ้นรนมารับอรุณที่วัดปากน้ำจนได้ และได้มาอยู่โรงพยาบาลสงฆ์ ๒ ครั้ง ได้รับการพยาบาลเป็นอย่างดีทุกแห่ง

                เมื่อ พ.ศ.๒๕๐๐ อาการของโรคกำเริบมากขึ้น ท่านก็คาดว่าจะมรณภาพ จึงได้จัดการฌาปณกิจศพโยมหญิงของท่าน เพื่อสนองคุณมารดาในอวสาน เวลานั้นอาการก็หนักมากอยู่แล้ว แต่ด้วยกำลังใจอันเข้มแข็ง จึงพยายามมาบำเพ็ญกุศลได้จนตลอดพิธี

                เวลานับเป็นปี ๆ ที่กำลังอาพาธ ท่านได้กำจัดความประมาททุกวิถีทาง ทุกเวลาเย็นได้เรียกพระไปทำกัมมัฏฐานใกล้ ๆ ท่านเป็นเวลา ๑ ชั่วโมงบ้าง ๒ ชั่วโมงบ้าง หรือเวลาอื่นก็มีเช่นนั้น เวลากลางคืนก็สั่งงานให้พวกปฏิบัติกระทำกิจกัมมัฏฐาน จิตใจของท่านผูกพันอยู่อย่างนี้ ใครจะทักท้วงประการใด ท่านเพียงแต่ฟัง แต่ไม่รับปฏิบัติตามคำทักท้วงนั้น

                เมื่ออาพาธครอบงำท่านได้ ๑ ปีเศษแล้ว วันหนึ่งท่านพูดกับผู้เขียนเรื่องนี้ว่า เจ็บคราวนี้ไม่หาย ไม่มียารักษา เพราะยาที่ฉันมีอยู่นั้นมันไม่ถึงโรค ท่านเปรียบว่ายาที่ฉันนั้นเหมือนมีแผ่นหินมารองรับกั้นไว้ ไม่ให้ยาซึมไปกำจัดโรคได้ ท่านบอกว่ากรรมมันบังไว้ เป็นเรื่องแก้ไม่ได้ ท่านพูดแล้วก็ยิ้มด้วยอารมณ์เย็น

                ตั้งแต่อาพาธจนมรณภาพ เจ้าคุณพระมงคลเทพมุนี ไม่มีอาการครวญครางแสดงอาการเจ็บปวดเว้นแต่ไม่รู้สึกตัว เมื่อได้สติก็กำจัดได้ ไม่จู้จี้บ่นเอาแก่ใคร จะแสดงความไม่พอใจบ้างก็เฉพาะผู้ไม่มาปฏิบัติธรรมกับท่าน การห่วงใยใด ๆ ไม่แสดงออก วางอารมณ์เฉย สิ่งใดต้องการ ถ้ามีก็เอา ถ้าไม่มีก็นิ่งเฉยและยิ้มรับความไม่มีนั้นด้วย

                เรื่องอาหารการขบฉันระหว่างอาพาธ ใครทำถวายอย่างไรฉันอย่างนั้น ที่ถูกปากก็ฉันมาก สิ่งใดที่มีผู้ห้ามก็เลิกฉันสิ่งนั้น แม้จะชอบก็ไม่พยายามฝืนคำห้ามของบุคคล อันผู้ที่ห้ามนั้นเกิดขัดใจกับผู้เขียนก็มีหลายครั้ง

                เป็นอันว่า หลวงพ่อสด วัดปากน้ำได้ทำพระกัมมัฏฐานและควบคุมการปฏิบัติด้วยตนเองตั้งแต่ต้นจนชีวิตเป็นอวสานสมัย เวลาป่วยไข้ก็ควบคุมและสนใจในการปฏิบัติ ท่านให้ภิกษุมานั่งสมาธิใกล้ ๆ ท่านทุกวัน เป็นงานที่หลวงพ่อสดห่วงมาก และสั่งไว้ว่า งานที่เคยทำอย่างไรอย่าให้ทิ้ง จงพยายามกระทำไป และจงเลี้ยงภิกษุสามเณรดังเคยทำมา.

ธรรมกาย 

                การปฏิบัติธรรมตามหลักพระกัมมัฏฐาน อันเป็นปฏิปทาสูงสุดในพระพุทธศาสนา ถ้าการปฏิบัตินั้นเข้าขั้นปรมัตถ์ ผู้ปฏิบัติก็ย่อมเข้าถึงอมตสุข แม้ยังไม่เข้าขั้นปรมัตถ์ก็ยังอำนวยผลแก่ผู้ปฏิบัติให้มีกาย วาจา ใจ สงบระงับ อันผู้ปฏิบัติเข้าถึงธรรมย่อมมีกาย วาจา ใจ ไกลจาก โลภ โกรธ หลง เป็นบุคคลคงที่ต่อหลักธรรมไม่ก่อกรรมทำเวร

                หลวงพ่อสด วัดปากน้ำ ปฏิบัติเพื่อกำกัดโทษเช่นนี้ มีปฏิปทาเดินสายกลาง ไม่ห่วงในลาภสักการะเพื่อตน แต่ขวนขวายเพื่อส่วนรวม กิจการนิมนต์ทางไกลถึงกับค้างคืนแล้วท่านรับนิมนต์น้อยนัก โดยท่านเคยแจ้งว่าเสียเวลาอบรมผู้ปฏิบัติ ท่านมีความมุ่งหมายใช้ความเพียรติดต่อกันทุกวัน ชีวิตไม่พอแก่การปฏิบัติ จึงมีบางท่านตำหนิหลวงพ่อว่าอวดดี อันความจริงคนเรานั้นถ้ามีดีจะอวดก็ควรเอาออกแสดงได้ เว้นไว้แต่ไม่มีดีจะอวดใครแล้วเอาเท็จมาอวดอ้างว่าเป็นของดีลวงผู้อื่นให้หลงเข้าใจผิด อันหลวงพ่อไม่ใคร่รับนิมนต์ใครนั้นเป็นปณิธานในใจของท่านเอง ลงได้ตั้งใจแล้วก็ต้องทำตามตั้งใจเสมอมา มิใช่ว่าเป็นผู้หมดแล้วจากความปรารถนา ยังอยู่ในกลุ่มแห่งความปรารถนา แต่ท่านไม่หลงจนประทุษร้ายให้เสียธรรมปฏิบัติ

                ธรรมานุภาพให้ผลแก่หลวงพ่อทันตาเห็น ต้องการโรงเรียนประหนึ่งความฝัน ธรรมานุภาพก็ดลบันดาลให้สมประสงค์กลายเป็นความจริง ต้องการกุฏิ โรงฉันและการเลี้ยงพระวันละหลาย ๆ ร้อยรูปก็ได้สมความปรารถนา ต้องการให้มีผู้ปฏิบัติมาก ๆ นักปฏิบัติก็ติดตามมา ปัจจัยที่จ่ายเรื่องอาหาร เรื่องกุฏิ โรงเรียนในยุคของท่าน มีจำนวนมิใช่ล้านเดียว ถ้าคิดแต่ค่าอาหารอย่างหยาบ ๆ วันละ ๑,๐๐๐ บาท (หนึ่งพันบาท ปีหนึ่งเป็นจำนวนเงิน ๓๖๐,๐๐๐ บาท (สามแสนหกหมื่นบาท) สิบปีเป็นเงินเท่าไร นี้คิดอย่างต่ำ ถ้าหลายสิบปีจะเป็นเงินเท่าไร หลวงพ่อท่านพูดว่า เราเป็นลูกพระพุทธเจ้า เมื่อกาย วาจา ใจ บริสุทธิ์แล้ว ย่อมมีสิทธิ์ใช้มรดกของพระพุทธเจ้าได้ และใช้ได้จนตลอดชาติ ถ้าไม่บริสุทธิ์แล้ว แม้จะเอาไปใช้ก็ไม่ถาวรเท่าไร

                การปฏิบัติของคณะกัมมัฏฐานวัดปากน้ำ ย่อมเป็นไปตามระเบียบที่หลวงพ่อได้วางไว้ ทุกคราวท่านพูดให้เกิดกำลังในการใช้ความเพียร ธรรมกายของวัดปากน้ำแพร่ปรากฏไปแทบทุกจังหวัด ยิ่งกว่านั้นยังไปแสดงธรรมานุภาพยังภาคพื้นยุโรปด้วย เกียรติศักดิ์ของธรรมกายแพร่หลายเช่นนั้น ย่อมแสดงความศักดิ์สิทธิ์อันเป็นสัจจธรรมแก่ผู้ปฏิบัติ ทั้งนี้เนื่องด้วยโดยมากผู้จะเดินทางไปเมืองนอกได้มาขอพรต่อหลวงพ่อก็มี โดยได้รับคำบอกเล่าจากผู้ใหญ่ก็มี ชาวยุโรปเกิดความสนใจในเรื่องธรรมวินัยในพระพุทธศาสนา นี้แสดงว่าธรรมกายของวัดปากน้ำได้ข้ามน้ำข้ามทะเลไปนอกประเทศแล้ว

                พ.ศ.๒๔๙๗ ศาสตราจารย์ วิลเลียม อาจารย์มหาวิทยาลัยในกรุงลอนดอนได้ล่องฟ้าข้ามทะเลจากยุโรปมาสู่ประเทศไทย เพื่อศึกษาธรรมปฏิบัติ ณ วัดปากน้ำเป็นครั้งแรกในประเทศไทย หลวงพ่อได้จัดการอุปสมบทให้ตามที่มุ่งหมาย ก่อนจะให้การอุปสมบทนั้น ได้อบรมจนเข้าใจพิธีและเรียนธรรมปฏิบัติฝึกหัดพระกัมมัฏฐานจนได้แนวมั่นคงเป็นที่พอใจแล้ว จึงได้จัดการให้อุปสมบท

                การที่ชาวอังกฤษมาบวช ณ สำนักวัดปากน้ำนั้น ได้รับอุปการะจากหลวงพ่อเป็นอย่างดี ท่านได้จัดการซ่อมตึกขาวซึ่งได้ใช้เป็นห้องสมุดให้เรียบร้อย มีห้องน้ำห้องส้วมทันสมัย ตีรั้วล้อมตึกมิให้ใครมาปะปน พระวิลเลี่ยมนี้มีฉายาว่า กปิลวฑฺโฒ เมื่อได้อุปสมบทแล้วทำการปฏิบัติพระกัมมัฏฐานต่อไป ได้ยินว่าได้ธรรมกายเบื้องต้น ต่อมาได้ไปประเทศอังกฤษอีก มีผู้เลื่อมใสในพระกปิลวฑฺโฒมาก ต่อมาได้นำผู้ศรัทธามาบวชอีก ๓ คน ล้วนแต่มีวิทยฐานะได้ปริญญาทั้งนั้น หลวงพ่อสด ได้ให้อุปการะเป็นอย่างดี เรื่องอาหารบริโภคไม่ฝืดเคือง ได้ทำงบประมาณไว้โดยเฉพาะ ตลอดถึงช่วยค่าพาหนะเวลากลับยุโรปตามสมควร

                ต่อมาเกิดความเข้าใจผิดกันขึ้น อันความเข้าใจผิดนั้นจะเป็นเพราะล่ามก่อกวนให้เกิดขึ้นหรือเกิดขึ้นเพราะภิกษุฝรั่งนั้นทำให้เกิดขึ้น ยังเอาเป็นความจริงไม่ได้แน่นอนจึงไม่สามารถจะเขียนลงได้ในโอกาสนี้ พระภิกษุฝรั่งและผู้เป็นล่ามเข้าหาหลวงพ่อขอสิทธิบางอย่าง หลวงพ่อชี้แจงให้เข้าใจอย่างไรก็ไม่ฟังเสียง ภิกษุเหล่านั้นได้ลุกออกจากที่ประชุมไปโดยไม่เคารพในฐานะเป็นอุปัชฌายะ ล่ามคงไม่ปรับความเข้าใจให้ดี ได้ยินว่าล่ามกับภิกษุฝรั่งนั้นได้ตกลงโครงการกันมาก่อนแล้วจึงไม่ฟังเสียงหลวงพ่อสด เมื่อเหตุการณ์เป็นดังนั้น ภิกษุฝรั่งก็พากันออกจาก วัดปากน้ำ ไปและล่ามก็ออกไปด้วย

                ความไม่ราบรื่นเกิดขึ้นในวัดปากน้ำ เรื่องอื้อฉาวอยู่พักหนึ่ง ทั้งล่ามทั้งภิกษุฝรั่งได้เข้ามาหาผู้เขียนเรื่องนี้ เพื่อแจ้งว่าได้ออกจากวัดปากน้ำแล้ว เฉพาะล่ามได้ออกความเห็นว่า ถ้าจะให้เข้าอีกจะขอสิทธิบางอย่างจึงจะยอมเข้าสำนักตามเดิม

                หลวงพ่อสด วัดปากน้ำ ท่านไม่เห็นด้วยและไม่ยอมรับข้อกติกาใด ๆ ที่ทางล่ามเสนอมา เมื่อล่ามแสดงอาการแข็งแกร่งไม่สำเร็จก็ต้องหลบหน้าไป พระฝรั่งพักอยู่ในประเทศไทยพอสมควรแล้วชวนกันกลับยุโรปในเพศบรรพชิต

                ต่อมาพระกปิลวฑฺโฒ ได้กลับมาประเทศไทยเพื่อขอแสดงอัจจยะโทษ โดยมานึกถึงความบกพร่องอันเกิดแต่ความเข้าใจผิดของตน เวลานั้นเจ้าคุณพระมงคลเทพมุนีกำลังอาพาธอยู่ จึงไม่ยอมให้พระกปิลวฑฺโฒเข้าพบ ตามเสียงพูดกันว่าหลวงพ่ออาพาธครั้งนั้นเกิดแต่เสียใจเรื่องเอาพระฝรั่งไว้ไม่อยู่ อันความจริงนั้นท่านอาพาธมาก่อนเกิดเรื่อง ท่านจะเสียใจอะไรในเรื่องเช่นนั้นเพราะท่านไม่ได้ก่อขึ้น พวกนั้นเป็นผู้ก่อขึ้นเอง

                ได้ถามหลวงพ่อสดว่า ทำไมไม่ให้พระกปิลวฑฺโฒเข้าพบ ท่านตอบว่าเขาลุกจากที่ประชุมไปโดยไม่สำคัญในเราเลย แสดงคารวะถึงเช่นนี้จะเลี้ยงกันได้อย่างไร เราก็ต้องจริงต่อเขาบ้าง มิฉะนั้นเขาจะดูหมิ่นพระพุทธศาสนา การที่เราปฏิเสธไปเช่นนั้นแหละจะสอนให้ฝรั่งรู้สึกตัวว่าต่อไปควรจะทำตนอย่างไรในภูมิของสมณะ เมื่อไปร่วมกับคณะอื่นจะได้ไม่เอาแต่ใจของตน ถ้าเราขืนให้พบต่อไปก็จะมาเหยียบย่ำกันอีก ให้เขาเห็นความจริงของเราเสียบ้างไม่เช่นนั้นเสียเหลี่ยม พระกปิลวฑฺโฒแม้จะพยายามเป็นอย่างดีแล้วก็ไม่ได้พบหลวงพ่อตามที่ปรารถนาและได้กลับไปสู่ประเทศอังกฤษตามเดิม ได้ทราบข่าวจากยุโรปว่าพระกปิลวฑฺโฒเสียใจมากต่อเหตุการณ์และเวลานี้ก็สนใจในธรรมกายนั้นอยู่

                ธรรมกายนั้นให้ผลแก่ผู้ปฏิบัติเป็นมหัศจรรย์ จะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ ภิกษุหรือสามเณร เมื่อได้ปฏิบัติถึงขั้นก็ได้ธรรมกายเหมือนกัน หลวงพ่อชอบพูดแก่ใคร ๆ ว่า เด็กคนนั้นได้ธรรมกายและชอบยกเด็ก ๆ ขึ้นอ้าง ลักษณะนี้เป็นอุบายวิธีให้ผู้ใหญ่สนใจด้วย อาจนำไปคิดว่าเด็ก ๆ ยังปฏิบัติได้ทำไมผู้ใหญ่จะทำไม่ได้ คิด ๆ ไป ก็อาจเกิดอุตสาหะในการปฏิบัติธรรมหรือเกิดความละอายตัวเองที่ไม่แสวงหาสารธรรมแก่ตน มัวแต่สะสมกิเลสเข้าไว้ หลวงพ่อว่าเมื่อได้ธรรมกายแล้วย่อมทำประโยชน์ได้หลายอย่าง ถ้าจิตเป็นกุศลแม้โรคภัยไข้เจ็บก็ช่วยแก้ได้ ในเมื่อโรคนั้นยังไม่เข้าขั้นอเตกิจฉา

                การใช้ธรรมกายแก้โรค หลวงพ่อเคยพูดว่าแก้ได้จริงถ้าได้ประกอบกันทั้งสองฝ่าย คือฝ่ายแก้และฝ่ายเจ้าทุกข์มีความเชื่อมั่นคง กล่าวคือต้องเรียนพระกัมมัฏฐานปฏิบัติธรรมด้วย เพื่อให้กระแสจิตเชื่อมถึงกันลักษณะนี้มีหวังมาก ที่ไม่ได้ผลก็เนื่องด้วยผู้เจ็บไม่พยายามทำพระกัมมัฏฐาน ทางเชื่อมไม่ถึงกัน แต่ถึงอย่างไรนั้นก็มีผลบ้างในเมื่อโรคนั้นยังอ่อน และท่านพูดว่าถึงไม่หายก็จะเป็นไร เราไม่ได้เรียกค่ารักษาเอาแก่ใคร ช่วยด้วยเมตตา อย่างน้อยคนเจ็บจะต้องได้ความรู้วิธีปฏิบัติธรรม หรือเข้าใกล้พระรัตนตรัยพอสมควรแก่อุปนิสัย ท่านพูดว่าที่หายก็มากที่ไม่หายเพียงแต่บรรเทาเป็นครั้งคราวก็มี

                พูดถึงวิธีแก้โรค ผู้เขียนได้พบกับนักเรียนแพทย์คนหนึ่งซึ่งเขาสนใจในวิชาของหลวงพ่อสด ระหว่างเป็นนักเรียนแพทย์ปีปลาย ๆ เขาได้รักษาพยาบาลไข้ผู้หนึ่ง คนไข้นั้นก็เจ็บปวดมากหมดทางแก้ไข เขาได้ตัดสินใจพูดกับเพื่อน ๆ ว่าประเดี๋ยวจะแก้ให้หายขอเข้าในห้องสักครู่ก่อน นักเรียนแพทย์คนนั้น เข้าห้องทำสมาธิจิตตามหลักของวัดปากน้ำ สักครู่ใหญ่ ๆ ต่อมาคนป่วยสงบจากความเจ็บปวด พวกเพื่อนนักเรียนแพทย์ด้วยกันแปลกใจ ถึงผู้เข้าสมาธิเองก็แปลกใจและภูมิใจในการกระทำของเขา ได้ถามว่าทำไมจึงกล้าเช่นนั้น ตอบว่าสงสารคนเจ็บ ไม่รู้จะช่วยได้อย่างไรไม่มีทางอื่นก็ลองดู และยังได้พูดต่อไปว่า เขาได้เห็นตนเองว่าเมื่อชาติก่อนเขาเคยเป็นนักบวชมาเหมือนกัน นักเรียนแพทย์คนนี้ตามปกติชอบวัดและพิธีทางศาสนาตั้งแต่จำความได้ เพราะผู้ใหญ่สนใจในทางศาสนา เขาอาราธนาศีลอาราธนาพระปริตได้ตั้งแต่พูดชัด มีการทำบุญประจำปีเด็กคนนี้ได้อาราธนาศีลพระปริตเสมอมาและอาราธนาได้อย่างไม่กระดากอายเลย การเรียนดีสำเร็จปริญญาแพทย์โรงพยาบาลศิริราชเมื่ออายุได้ ๒๑ ปี

                มีคนโดยมากสงสัยในเรื่องเด็ก ๆ ได้ธรรมกาย คิดดูหมิ่นว่าผู้ใหญ่ยังปฏิบัติเข้าไม่ถึง ทำไมเด็ก ๆ จะมาได้ ต่อมาก็ต้องเชื่อเหตุที่เชื่อนั้น วันหนึ่งมีผู้นำเด็กพอคลานได้อย่างแข็งแรงมาขอให้ตั้งชื่อ เด็กคนนี้ซนขนาดหนักเห็นอะไรจะต้องคลานไปจับขว้างจนได้ ผู้เขียนเรื่องนี้ได้ส่งซองหนังสือให้เล่น ๑ ซอง แต่อยากจะล้อเด็กนั้นด้วย ส่งให้แล้วจับดึงไว้ข้างหนึ่งคะเนว่าเด็กฉุดไม่หลุดจากมือเรา เด็กน้อยคว้าซองอีกด้านหนึ่งไม่ยอมปล่อยดึงจนกระดาษซองขาดติดมือไป จึงประหวัดถึงคำหลวงพ่อว่าเด็กได้ธรรมกายนั้นอาจเป็นจริง เพราะว่าเด็ก ๆ มีอารมณ์ไม่ฟุ้งซ่านคืออารมณ์ต้องการอะไรก็ปักใจดิ่งลงไปไม่ยอมทิ้งจะเอาให้ได้ ถ้าแย่งของไปจากมือต้องร้องให้เอาของนั้นคืนเสมอ อนึ่ง เมื่อผู้ใหญ่สอนอะไรเด็ก ๆ มักจะจดจำและทำตาม เด็กปฏิบัติธรรมก็มีทางจะได้ธรรมกายเหมือนหลวงพ่อท่านพูดไว้ ใครเล่าจะพิสูจน์ เพราะผู้ใหญ่จะลดตัวและทำความรู้สึกเหมือนเด็กไม่ได้.

 การสร้างพระพุทธรูปเนื้อผง (พระสมเด็จ วัดปากน้ำ)
               

                 เมื่อการสร้างโรงเรียนปริยัติธรรมเริ่มขึ้น หลวงพ่อสด ได้สร้างพระพุทธรูปเป็นพระพิมพ์เล็ก ๆ ครั้งแรก ๘๔,๐๐๐ องค์ ผสมด้วยผงและสรรพดอกไม้หอม มีดอกมะลิเป็นต้นที่ได้บูชาพระประจำเช้าเย็นและนำออกตาก ได้มาผสมกับผง พิมพ์เป็นพระแจกแก่ผู้มาร่วมการกุศลในวัดนั้น ปรากฏว่าเป็นที่นิยมของประชาชน เพราะหลวงพ่อสดท่านเข้าสมาธิปลุกเศกด้วยตนเองและรวมศิษย์ที่ได้ธรรมกายช่วยบรรจุอิทธิฤทธิ์อันเกิดแก่ธรรมกาย ช่วยกันทำเป็นเวลาแรมปี

                การแจกนั้น มิใช่ให้ผู้ใดนำ พระสมเด็จ วัดปากน้ำ ออกไปนอกวัด และมิได้ลงแจ้งความชักชวนเป็นใบปลิว วัดปากน้ำทำอย่างเงียบรู้กันเป็นภายใน เกิดความนิยมภายในก่อน แล้วข่าวว่าหลวงพ่อสดทำพระผงก็แพร่หลายไป มีผู้มารับกันคับคั่งวันหนึ่งเป็นจำนวนร้อย ๆ หลวงพ่อเป็นผู้แจกเอง ผู้รับนั้นคือคนมาทำบุญที่วัด เมื่อบริจาคแล้วเอาใบเสร็จไปถวายหลวงพ่อ หลวงพ่อสดก็ให้พระ ๑ องค์ ประสิทธิ์ประสาทให้ตามพิธีของท่าน

                ตามต่างจังหวัดเดินทางมาเป็นหมู่โดยทางเรือเมล์บ้าง โดยเอาเรือแท็กซี่มาเป็นคณะบ้าง มีพระภิกษุนำมาบ้าง ครั้งแรก ๆ คนแน่นวัด ถ้ามาผิดเวลาต้องรอตั้งวันจึงได้รับพระที่ตนต้องการ พวกมารับพระนั้นไม่ได้พูดกันว่ามาเช่าพระ แต่พูดกันทุกคนว่ามารับของขวัญ

                เมื่อออกแจกเป็นของขวัญไม่ช้า วันหนึ่งมีผู้มารับพระของขวัญมีจำนวนถึง ๑,๕๐๐ คนเศษ ที่ทราบจำนวนดังนี้โดยนับใบปวารณาที่ผู้มารับของขวัญไปทำถวายแทบทุกวัน ต้องสิ้นเวลาแจกนับเป็นชั่วโมง ๆ แสดงความอัศจรรย์ในสมาธิจิตอันเกิดแก่ธรรมกายของหลวงพ่อวัดปากน้ำ

                การนำพระสมเด็จ วัดปากน้ำออกไป แจกตามนอกวัดนั้นไม่ได้เป็นเด็ดขาด ต้องมารับที่วัดปากน้ำและต้องรับจากหลวงพ่อสดด้วยจึงจะพอใจ ใคร ๆ จะแจกแทนไม่ได้ แม้จะมีผู้อื่นแจกแทนผู้ต้องการก็ไม่นิยม

                ผู้จะรับพระผงของขวัญได้เพียงองค์เดียวเท่านั้น คือคนหนึ่งรับได้ ๑ องค์ จะฝากกันไปรับหลวงพ่อสดก็ไม่ให้ใคร รับไปแล้วถ้าทำหายจะมารับอีกหลวงพ่อก็ไม่ให้เหมือนกัน แม้จะทำบุญสักเท่าไร ๆ ก็ไม่ให้อยู่นั่นเอง เว้นไว้แต่ไม่ทราบ

                ที่ประหลาดยิ่งกว่านั้น ก็คือว่าใครทำบุญมาก ๆ เช่น ๑,๐๐๐ บาท หรือ ๑๐,๐๐๐ บาท หลวงพ่อสด ก็ให้พระของขวัญเพียงองค์เดียวเหมือนกัน ได้เคยถามท่านว่า เมื่อเขามาทำบุญตั้งพันบาทเช่นนั้นจะให้ของขวัญสัก ๕ องค์ ๑๐ องค์ ไม่ได้หรือ หลวงพ่อสด ตอบว่าพระของเรามีคุณภาพสูงยิ่งกว่าราคาใด ๆ เงินพันบาทเงินหมื่นบาทนั้นยังไม่สมกับคุณภาพของพระเสียอีก แม้ท่านจะให้แก่ผู้ใดเป็นส่วนตัว ท่านก็จะต้องบริจาคปัจจัยให้แก่วัดเหมือนกัน ทั้งนี้ท่านถือว่าท่านทำให้แก่วัดมิใช่ทำเพื่อส่วนตัว จะเอาเปล่า ๆ ไม่ได้ ชั่วเวลาไม่ถึงปีพระผงของขวัญจำนวน ๘๔,๐๐๐ ก็หมดไป หลวงพ่อสด ต้องเข้าบริกรรมทำอีก เพื่อเป็นของขวัญแก่ประชาชน เมื่อก่อนท่านจะมรณภาพ คือเวลากำลังป่วย ท่านสั่งให้ทำพระอีกและก็แจกด้วยตนเองเรื่อยมา กว่าจะแจกทั่วถึงกันวันหนึ่ง ๆ ต้องเสียเวลาแจกตั้งชั่วโมง

                เมื่อหลวงพ่อสดป่วยหนัก ได้มอบภาระและประสิทธิ์ประสาทวิชาให้แก่พระครูสมณธรรมสมาทาน (มหาเจียก) ศิษย์ท่านแจกต่อไป โดยท่านพิจารณาเห็นแล้วว่าจะทำหน้าที่แทนท่านได้ เวลามอบของขวัญต้องเป็นพระครูองค์นี้ องค์อื่นไม่มอบ

                ที่ให้พระครูสมณธรรมสมาทานเป็นผู้แจกนั้น โดยท่านเห็นว่าได้ธรรมกายมาตั้งแต่เป็นสามเณร ได้ใช้สอยให้ถอนโรคแทนตัวท่าน ทำงานได้ผลดีเป็นที่พอใจหลวงพ่อสด มีความเชี่ยวชาญในทางสมาธิอยู่มาก จึงมอบให้รับภาระนี้ต่อมา พระที่ให้เป็นของขวัญนี้เวลานี้ก็ยังมีแจกและมีคนไปรับทุกวัน

                ความจริงในเรื่องคนเดียวให้องค์เดียวนั้น หลวงพ่อสด ถือขลังมาก ผู้เขียนเรื่องนี้ได้เคยรับจากหลวงพ่อมา ๑ องค์และได้มอบเป็นของขวัญแก่เด็กผู้มาขอตั้งชื่อไป วันหนึ่งไปขอหลวงพ่อใหม่ท่านไม่ยอมให้ บอกว่าต้ององค์เดียว ต่อมาไปพูดเลียบเคียงจะขออีก หลวงพ่อนิ่งเฉยไม่ยอมตอบ เป็นอันไม่ให้แน่

                ครั้งหนึ่งพูดกับหลวงพ่อสด ว่า จะเอาติดตัวไปตามหัวเมืองต่าง ๆ เมื่อใครต้องการจะได้ให้เป็นของขวัญต่อเขา หลวงพ่อว่าทำอย่างนั้นไม่ได้ พระของเรามีคุณภาพจริง ผู้อยากได้ต้องมาเอง ถ้าเอาไปอย่างนั้นของดีก็กลายเป็นของเก๊ ไม่เป็นที่ตั้งแห่งความเลื่อมใสและพูดแถมท้ายว่า อย่ากลัวเลย แปดหมื่นสี่พัน ๒ หนก็ไม่พอแจก และเป็นจริงดังคำพูดของหลวงพ่อ.
อาพาธ - มรณภาพ 

                เจ้าคุณพระมงคลเทพมุนี เริ่มป่วยแต่ พ.ศ.๒๔๙๙ งานอย่างหนึ่งซึ่งได้ตั้งใจไว้คือการฉลองโรงเรียนปริยัติ พ.ศ.๒๕๐๐ หลวงพ่อจะมีแจง หรือนิมนต์พระ ๒,๕๐๐ องค์ มาเจริญพระพุทธมนต์ จะถวายสำรับคาวหวานและสมณบริขารองค์ละชุด รวมเป็น ๒,๕๐๐ ชุด แต่เพราะอาพาธมาขัดขวางเสีย ความคิดนั้นก็ไม่เป็นความจริงนับว่าเป็นโชคร้ายของวัดปากน้ำอย่างมหันต์ ซึ่งถ้าหลวงพ่อไม่อาพาธวัดจะได้ทุนเป็นค่าภัตตาหารอีกเป็นจำนวนมาก

                ตั้งแต่เริ่มอาพาธมา ได้รับความสะดวกในการอุปถัมภ์และพยาบาล ทุกอย่างไม่มีอะไรขัดข้อง มีพร้อมเท่าที่หลวงพ่อต้องการจนถึงมรณภาพ

                ทุกครั้งยิ้มรับแขกสนทนาปราศรัยพอสมควรแต่โดยมากเข้าเยี่ยมยาก เพราะหมอห้ามไม่ให้รบกวน เมื่อถูกห้ามบ่อย ๆ คนเยี่ยมก็ห่างไป เพียงมาถามข่าวข้างนอกแล้วก็กลับ

                ทุกอย่างชอบทำเองเมื่อเวลาป่วยไข้ เช่นจะพยุงลุกพยุงนั่งไม่ชอบ ลุกนั่งเอง เดินเอง สรงน้ำเอง ใครจะไปประคองไม่ถูกอัธยาศัย เป็นเพราะกำลังใจแข็ง เมื่อลุกนั่งไม่ไหวจริง ๆ เพราะอาพาธทวีขึ้นจึงยอมให้มีคนพยุงลุกนั่ง

                ผู้เขียนเรื่องนี้พยายามไปเยี่ยม ไปติด ๆ กันบ้าง ห่างไปนาน ๆ บ้าง ซึ่งทั้งนี้แล้วแต่อาการของโรค ถ้าทราบข่าวว่าหนักมากก็หมั่นมา และการไปก็ไม่ได้บอกกำหนดแน่นอนแก่ใคร ๆ บางวันไปเช้า บางวันบ่าย บางวันเย็นค่ำ ทั้งนี้เพื่อจะสังเกตการณ์ว่าภิกษุสามเณรเอาใจใส่ต่อหลวงพ่ออย่างไร ได้ทราบว่าจัดเป็นเวรมาปฏิบัติทุกวัน พวกมาเจริญกัมมัฏฐานต่างหาก

                วันหนึ่ง พอไปถึงที่พักของหลวงพ่อสด มีพระเวรมาแจ้งก่อนว่า หลวงพ่อสด ออกมารออยู่นานแล้ว จึงพูดว่า "ฉันไม่เคยบอกแก่ใครว่าจะมา พวกคุณไปโกหกหลวงพ่อไว้หรือว่าฉันจะมา"

                พระเวรตอบว่า "ผมก็ไม่ทราบ แต่หลวงพ่อสั่งให้จัดอาสนะไว้รับพระเดชพระคุณด้วยวาจา 'จัดที่ไว้ ธรรมดิลกจะมา' " ท่านสั่งดั่งนี้ไม่พลาดสักคราวเดียว ถ้าหายไปนานก็พูดขึ้นลอย ๆ ว่า "ธรรมดิลกวัดโพธิ์ไม่อยู่"

                หลวงพ่อสด ต้องอยู่โรงพยาบาลสงฆ์ ๒ ครั้ง ไปทำการผ่าตัดโรคไส้เลื่อนที่โรงพยาบาลศิริราช ๑ หน ทั้งโรคเก่าโรคใหม่มาซ้ำเติม ความหวังในชีวิตก็มีแต่สั้นเข้า

                ท้ายเดือนมกราคมและต้นเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๐๒ ติดต่อกัน ผู้เขียนเรื่องนี้ไปทำการควบคุมการตรวจนักธรรมในภาค ๗ ประจำ พ.ศ.๒๕๐๑ งานนี้ได้ตรวจข้อสอบนักธรรมรวมแห่งเดียวกัน ๘ จังหวัด งานเสร็จสิ้นลง วันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๒ คิดว่าจะอยู่ตากอากาศสัก ๒-๓ วัน เพื่อหาโอกาสเยี่ยมวัดต่าง ๆ ด้วย เกิดสังหรณ์ใจถึงเจ้าคุณพระมงคลเทพมุนีขึ้น จึงเดินทางกลับวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ ศกเดียวกัน ถึงวัดพระเชตุพน ๑๘.๐๐ น. มาโดยรถยนต์ รถวิ่งมาอย่างช้า ๆ

                รุ่งขึ้นวันที่ ๓ กุมภาพันธ์ เวลา ๑๒.๐๐ น. โทรศัพท์มาจาก วัดปากน้ำ แจ้งว่าหลวงพ่อสด อาการหนักแล้ว ขอให้รีบไปวัดปากน้ำด่วน

                ถึงวัดปากน้ำ เวลา ๑๓.๐๐ น.เศษ ได้เข้านมัสการ หลวงพ่อสด มีอาการหอบ ทางวัดปากน้ำได้ตามหมอที่เคยประจำก็ไม่พบ หลวงพ่อสด หมดความรู้สึก มีแต่อาการหอบอย่างเดียว คุณหญิงชลขันธพินิจ มาเยี่ยมทนดูไม่ได้ ต้องไปตามหมออื่นมา หมอบอกว่าหมดความรู้สึก เส้นโลหิตสมองแตกแล้วหมดความหวัง หมอไม่ยอมทำอะไรเพียงแต่แนะนำว่าให้เอาน้ำแข็งห่อผ้าวางไว้บนศีรษะ เวลานั้นภิกษุสามเณรอุบาสกอุบาสิกาแน่นห้อง ต่างมองดู หลวงพ่อด้วยน้ำตา หน้าสลดหมดความหวัง หมอพยากรณ์ไว้ว่าภายใน ๒๔ ชั่วโมงจะอยู่ได้เป็นอย่างดี หมอกลับไปแล้ว พวกศิษย์ก็ยังห้อมล้อมหลวงพ่ออยู่ เข้าใจว่าหลวงพ่อไม่รู้สึกเลยหลวงพ่อหลับตา หอบถี่ ๆ หนักขึ้นแล้วก็ค่อย ๆ น้อยลง ๆ วิญญาณของหลวงพ่อได้ทิ้งร่างกายอันทุพพลภาพนั้นไปด้วยอาการอันสงบ และสงบอย่างสมภูมิของนักปฏิบัติ เวลา ๑๕.๐๕ น. ของวันที่ ๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๒

                เสียงสะอื้นก็ระงมขึ้นในห้องที่หลวงพ่อสด มรณภาพ ทุกคนหน้าซีดสลด แม้น้ำตาไม่ออกทางลูกตา จะปฏิเสธไม่ได้ว่าผู้นั้นไม่กลืนน้ำตาแห่งความสลดใจ

                เมื่อแน่ใจว่าดับสนิทแล้ว ระฆังทุกใบในวัดได้บันลือเสียงขึ้น กลองก็ดังขึ้นเป็นอันรับรู้กันว่า เจ้าคุณพระมงคลเทพมุนี ได้ละโลกนี้ไปสู่ปรโลกแล้ว ครู่ต่อมากุฏิตึกหลังใหญ่เนืองแน่นไปด้วยภิกษุสามเณรอุบาสกอุบาสิกา หน้าเศร้าน้ำตาคลอ บ้างทิ้งตัวลงกราบ บ้างยืนไหว้ บ้างสะอื้นเอามือปิดหน้า เวลานั้นไม่มีเสียงพูดมีแต่เสียงสะอื้นและเงียบสงัด แสดงว่าหมดที่พึ่งแล้วจนอวสานแห่งชีวิตของตน

                การมรณภาพของหลวงพ่อสด เวลา ๑๕.๐๕ น.นั้น คล้ายกับว่าพระคุณท่านยังมีความกรุณาอยู่ เพราะยังให้เวลาดำริและติดต่อเรื่องจัดการศพได้เป็นเวลาสะดวกจริง ๆ จะติดต่อกับใคร สั่งการอย่างไรอันเกี่ยวแก่ศพสำเร็จทุกทาง คล้ายกับว่าหลวงพ่อเปิดทางสะดวกไว้ให้ เครื่องใช้สอยมีทุกอย่างทันความประสงค์ ถ้ามรณภาพในเวลากลางคืนหรือใกล้รุ่งก็จะพากันเดือดร้อนและหนักใจเพียงไร คืนนั้นเราพิมพ์การ์ด อาบน้ำศพเสร็จ จัดสถานที่ตั้งศพเรียบร้อย เรียกอย่างไรได้อย่างนั้นและทันประกาศทางวิทยุและหนังสือพิมพ์

                เพื่อความเรียบร้อย ในวันรุ่งขึ้นได้จัดการให้ภิกษุสามเณร อุบาสกอุบาสิกาและชาวบ้านใกล้เคียงหรือห่างไกลที่มาประชุมกันวันนั้น ได้อาบน้ำศพเสียก่อน ต้องจัดให้เข้าอาบน้ำศพคราวละ ๓ คนบ้าง ๔ คนบ้าง กว่าจะทั่วถึงสิ้นเวลากว่า ๒ ชั่วโมง

                จัดการปลงผมและเปลี่ยนผ้าครองใหม่ ฉีดยารักษาศพมิให้เน่าในวันนั้นเอง ได้สั่งให้เก็บผมของหลวงพ่อไว้เพื่อบรรจุพระแจกจ่ายแก่ชาวบ้านต่อไป แต่ได้สั่งช้าไป มีผู้เก็บไปหมดจะหาเหลืออยู่สักเส้นหนึ่งก็ไม่ได้ ยิ่งกว่านั้นแม้ผ้าเช็ดมือเช็ดปาก สบงจีวรทั้งเก่าทั้งใหม่อันเป็นของใช้ของหลวงพ่อ ก็ถูกฉีกยื้อแย่งปันหมดสิ้นในคืนนั้นเอง จะหาเหลือสักนิ้วหนึ่งก็ไม่ได้ ดีไปอย่างหนึ่งที่ไม่ต้องเก็บกวาดเอาไปทิ้ง ผู้ไม่ได้ก็พูดว่าจะรอเอากระดูกเมื่อเวลาเผา

                ทำความสะอาดแก่ศพเรียบร้อยแล้ว ยกไปไว้ที่โรงเรียนชั้น ๓ เตรียมต้อนรับผู้จะอาบน้ำศพในวันรุ่งขึ้น คืนนั้นภิกษุสามเณรแทบไม่ต้องจำวัด ทำงานกันคืนยังรุ่ง เพราะต้องทำความสะอาดให้เรียบร้อยทั่ววัด ขนเก้าอี้เสื่อสาดอาสนะกันโกลาหล ไม่มีใครบ่นว่าเหนื่อย เต็มใจทำ กราบหลวงพ่อด้วยความเคารพ ดีที่มีภิกษุสามเณรมากและพร้อมเพรียงกันกระทำ งานที่เต็มใจทำย่อมลุล่วงไปด้วยดี

                รุ่งขึ้นวันที่ ๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๒ การอาบน้ำศพได้มีตั้งแต่ ๑ โมงเช้า พากันมาเป็นสาย ๆ อาบกันไม่ขาดระยะ จนกระทั่งยกศพใส่หีบเวลา ๑๗.๐๐ น. ล่วงแล้ว ที่มาไม่ทันก็นับจำนวนหลายร้อย สมเด็จพระสังฆนายกได้กรุณามาประกอบพิธีเอาน้ำพระราชทานอาบศพและเป็นประธานตลอดพิธี

                ศพหลวงพ่อสดที่บรรจุแล้วในหีบทองของหลวงที่พระราชทานให้เป็นเกียรติยศแก่หลวงพ่อสดและได้ประดิษฐานอยู่มุมด้านตะวันออกของโรงเรียน ประดับตบแต่งด้วยเครื่องสักการะอันงดงาม เวลากลางคืนมีสวดพระอภิธรรม เป็นการกุศลตามประเพณีนิยม มีผู้มาเยี่ยมคืนละมาก ๆ เป็นจำนวนร้อยและได้รับเป็นเจ้าภาพสวดทุกคืน คืนละ ๑ เจ้าภาพ ตั้งแต่วันที่ ๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๒ มา การบำเพ็ญกุศลเช่นนั้นได้ติดต่อกันถึงเดือนมิถุนายน ๒๕๐๒ ล้วนแต่มีผู้เต็มใจมาขอเป็นเจ้าภาพทั้งสิ้น บางคืนก็มีสวด ๒ สำรับ บางสัปดาห์ก็มีพระธรรมเทศนา บางวันก็มีแจง อาราธนาภิกษุสามเณรมาสวดแจงหมดวัด การบำเพ็ญกุศลเทศน์แจงนี้มีมาหลายคราวแล้ว

                เจ้าคุณพระมงคลเทพมุนี ชาตะ พ.ศ.๒๔๒๗ มรณภาพ พ.ศ.๒๕๐๒ อายุ ๗๕ โดยปี บวชอยู่ ๕๓ พรรษา สำนักที่หลวงพ่อเคยอยู่คือ :-

                ๑. วัดสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี

                ๒. วัดพระเชตุพน พระนคร

                ๓. วัดชัยพฤกษมาลา ธนบุรี

                ๔. วัดโบสถ์ นนทบุรี

                ๕. วัดปากน้ำ อำเภอภาษีเจริญ ธนบุรี

                ชีวิตของเจ้าคุณพระมงคลเทพมุนี หรือ หลวงพ่อสด วัดปากน้ำ มีที่สุดของชาตินี้อันถึงแล้ว รูปธรรม นามธรรม ของพระคุณท่าน แสดงเป็นความจริงดังพระพุทธภาษิตที่ตรัสว่า:-

                รูปํ ชีรติ มจฺจานํ นามโคตฺตํ น ชีรติ

จบบริบูรณ์



ประวัติเกจิอาจารย์ดัง: หลวงพ่อสด วัดปากน้ำ
»หลวงพ่อสด วัดปากน้ำ(ต่อ)
28-02-2010
»หลวงพ่อสด วัดปากน้ำ
28-02-2010
 
------------------------
  หน้าหลัก  
  คำถามที่มีการถามบ่อย  
  เราเล่นพระทำไม ?  
  กฎหมายพระเครื่อง  
  เกร็ดเล็ก-เกร็ดน้อย  
  สมัครเปิดร้านค้า  
  การชำระเงินค่าร้านค้า  
  ความรู้เกี่ยวกับพระเครื่อง  
  ข้อมูลสถิติเกี่ยวกับร้านค้า  
 
หน้าหลัก  อดีตสู่ปัจจุบัน  เว็บบอร์ดชมรม  ตารางประกวดพระ  สาระน่ารู้  เล่าสู่กันฟัง  ติดต่อเรา
Copyright©2024 zoonphra.com
Powered by Tactical IT