การสะสมพระเครื่อง แนวทางในการศึกษาพระเครื่อง
- ต้องถามตัวเองก่อนว่าชอบพระเครื่องอะไร เพราะว่าพระเครื่องมีอยู่หลายแบบทั้งเนื้อผง , เนื้อดิน , เหรียญ , กริ่ง , รูปหล่อ ฯลฯ รวมทั้งพระกรุ พระเก่า พระเกจิอาจารย์ต่าง ๆ เลือกเก็บสิ่งที่ชอบจะทำให้มีความสุขในการสะสม
- เลือกเก็บพระที่ดูง่ายเป็นหลัก พระเครื่องอะไรก็ได้ที่ชอบไม่ว่าจะเก่าหรือใหม่ แต่จะต้องเป็นพระแท้ดูง่ายเท่านั้น
- อย่าโลภ เพราะว่าพระแท้ไม่มีถูก อย่าซื้อพระเครื่องที่ราคาใคร ๆ ก็อยากได้ของดีและถูก ซึ่งในความเป็นจริงอาจจะมีแต่น้อยมาก
- ถ้ามีกำลังพยายามเก็บพระสวย แต่ถ้าหาไม่ได้พยายามหาพระเครื่องที่สภาพเดิมที่สุดเท่าที่จะทำได้
- การตรวจเช็คพระต้องเช็คกับคนเป็น อย่าหูเบา การเสนอขายในสนามพระเครื่องเป็นแนวทางการเช็คพระเครื่องที่ดีที่สุด
- วงการพระเครื่องทุกวันนี้มีมาตรฐานมากขึ้น ทำให้การสะสมง่ายขึ้น ศึกษาคนขายก่อนที่จะทำการเช่าบูชา ให้มีการรับประกันความแท้อย่างชัดเจน พึงระลึกว่าเงินของเราแท้ พระเครื่องที่ได้ก็ต้องแท้ด้วย
- พระเครื่อง เป็นวัตถุมงคลที่ไว้ยึดเหนี่ยวจิตใจของชาวพุทธ การได้พระเครื่องมาสะสมถือเป็นเรื่องมงคล ถ้าเช่าพระเครื่องแล้วมีปัญหาที่ทำให้ไม่สบายใจ ไม่ว่าจะเรื่องใด ๆ อาทิ เรื่องเงิน , ทะเลาะกับครอบครัว , ไม่สบายใจ ฯลฯ อย่าเช่าโดยเด็ดขาด พึงระลึกเสมอว่าเรากำลังนำสิ่งที่ดีเป็นมงคลเข้าสู่บ้าน
- เคยมีคนถามผมว่าเก็บพระอะไรดี ราคาจะแพงขึ้นในอนาคต ผมจะตอบทุกท่านว่า ผมเชื่อว่าพระเครื่องทุกชนิดราคาจะขึ้น แต่จะมากหรือน้อยก็แล้วแต่ชนิดของพระ เก็บของที่ชอบและสวย ราคาขึ้นแน่ครับ
- พระเครื่องถือเป็นทรัพย์สินที่มีสภาพคล่องค่อนข้างสูง การสะสมถือเป็นการลงทุนชนิดนึงครับ
พระเครื่อง คืออะไร? เช่าพระเครื่อง-บูชาพระเครื่อง เป็นเรื่องงมงายหรือไม่?
พระเครื่อง หรือ พระพิมพ์ นั้นจริงๆ แล้วเกิด ขึ้นมา ประมาณ 1000 กว่าปี ร่วม 2000 ปีแล้ว พระเครื่ององค์แรกๆ นั้น จะเป็น พระกริ่ง หรือ พระไภสัชยคุรุ หรือ พระพุทธเจ้าหมอ นั้นเองแต่ในประเทศไทยนั้นเริ่มนิยม พระเครื่องกัน ในสมัยรัชกาลที่ 5 โดยมีการนำพระเครื่องมาแขวนคอ หรือห้อยคอ พกติดตัวกันแล้ว ในปัจจุบัน คนไทย นิยมพระเครื่องกันมาก และสร้างพระเครื่องกันมากเช่นกัน สำหรับผม มองว่าพระเครื่อง ไม่ใช่เรื่องงมงาย ไร้สาระ เช่าพระเครื่อง- บูชาพระเครื่อง เพราะอะไรนั้น จะได้กล่าวดังต่อไปนี้
เราสร้างและมี(สะสม)พระเครื่อง เพื่อประโยชน์ เพื่อความสุข ดังต่อไปนี้
1. สร้างพระเครื่องเพื่อเป็นที่ ระลึก ในกับผู้บริจากทรัพย์ หรือ สมทบทุนฯ ในโอกาสต่าง เช่น สร้างโบถส์ สร้างวิหาร สร้างสิ่งก่อสร้างที่เป็น สาธารณูปโภค ต่างๆ ช่วยเหลือผู้ประสพภัยต่างเป็นต้น ทั้งนี้และทั้งนั้น เพื่อให้ผู้บริจากฯ ได้สามารถจับต้อง และระลึก ถึง ผลบุญ ที่ทำในครั้งนั้นได้
2. สร้างพระเครื่องเพื่อให้เป็นขวัญ และกำลังใจ ในการทำงาน ในการประกอบอาชีพที่สุจริต เช่น ตำรวจ ทหาร อาชีพที่ต้องเสี่ยงภัยต่างๆ ไม่เว้น แม้การเสี่ยงขาดทุน จากการลงทุนในธุรกิจต่างๆ
**** จาก ทั้ง 2 ข้อ จะเห็นว่า พระเครื่องมีไว้ ยึดเหนี่ยวจิตใจ จริงๆ
3. สร้างพระเครื่อง ไว้เพื่อสืบทอด พระพุทธศาสนา การสร้างพระเครื่องในลัษณะนี้ มีมานานมากร่วม 1000 ปี ก่อนหน้านี้แล้ว โดยการสร้างพระเครื่องจำนวนหนึ่ง(ส่วนใหญ่เป็น เลขมงคล) เช่น 84000 องค์ แล้วนำพระเครื่องหรือ พระพิมพ์ นั้นไปบรรจุไว้ ในเจดีย์ หรือ ใต้ฐานพระพุทธรูปบูชาองค์ใหญ่ หรือ ใต้หลังคาอุโบสถ แล้วปล่อยไวอย่างนั้น เมื่อระยะเวลาผ่านไป นานๆ หลายสิบปี หรือ หลายร้อยปี แล้วเกิดเหตุ ให้เจดีย์แตก (กุแตก) หรือ มีการเคลื่อนย้ายพระพุทธรูปบูชาองค์ใหญ่ หรือ โบสถ์เก่าชำรุดสุดโทรมเสียหาย เมื่อมีผู้คนมาพบเจอ พระเครื่อง ที่เก็บไว้นั้น อย่างน้อยๆ ก็ต้องนำไปศึกษา หาที่มาที่ไป และเห็น คุณค่า ว่าเป็นของเก่า ของโบราณ ทำให้ผู้นั้นต้องรู้พระศาสนาต่อไปอีก
จากผล ของทั้ง 3 ข้อ นั้นทำให้ปัจจุบัน มีการ เสาะแสวงหาพระเครื่องเก่า และพระเครื่องที่มีเจตนาการสร้างที่ดี มาครอบครองกัน ทำไม!!! ต้องหามาครอบครองกันด้วย ทั้งๆ ที่พระเครื่องบางองค์ แพงมาก ราคาเช่าหาบูชาระดับ 10 ล้านบาท ในความคิดของผมสาเหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่า
1. พระเกจิอาจารย์ ผู้สร้างพระเครื่องนั้นๆ ท่านเก่ง เป็นพระผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ท่านได้มรณะภาพ(เสียชีวิต)ไป กว่า 100-600 ปี แล้ว และพระเครื่องคือส่วนหนึ่งเพื่อให้ ระลึกถึงท่าน
2. การสร้างโบสถ์ สร้างวิหาร สร้างสิ่งก่อสร้างที่เป็น สาธารณูปโภค ต่างๆ รวมทั้งช่วยเหลือผู้ประสพภัยต่างๆ นั้น ใช่ว่าจะทำหรือเกิดขึ้นกันได้ บ่อยๆ ครับ โบสถ์ วิหาร และสร้างสิ่งก่อสร้างต่างๆ ในแต่ละวัดแต่ละที่ ใช่ว่าจะพังทรุดโทรมกัน ง่ายๆ อย่างน้อยๆ ก็กินเวลา 80-200 ปี กันเลยที่เดียว
3. ถ้ารักชอบ พระเกจิอาจารย์ ท่านใด ก็เก็บของที่ท่านสร้างไว้เป็นที่ระลึก เมื่อท่านมรณะภาพ ไปแล้ว ของที่ระลึกนั้นๆ ก็เป็นตัวแทนท่าน (จะไม่ยอมให้ซื้อ-ขาย หรือเช่าบูชา กันในราคาถูกๆ เป็นแน่ ) หากหายหรือไม่มีแล้ว ก็เหมือนลืมท่าน (เป็นลูกศิษย์ ซะเปล่า! สมบัติชิ้น้ล็กๆ ที่พระอาจารย์ให้ไว้ยังรักษาไม่ได้ ว่างั้น!!!!)
สรุปก็คือ พระเครื่องมีไว้เพื่อความ ความสบายใจ เพื่อระลึกถึงสิ่งดีๆ ของตนที่ได้กระทำไว้ นั้นเอง ไม่เห็นว่าการ เช่าพระเครื่อง หรือ บูชาพระเครื่อง จะเป็นเรื่องงมงาย หรือ ไร้สาระเลย |
กรรมวิธีและวัตถุดิบในการสร้างพระ
กรรมวิธีการสร้างพระ สามารถจำแนกตามลักษณะของวัตถุดิบในการจัดสร้างเป็น 2 ประเภท คือ ประเภทพระเครื่อง และ ประเภทเครื่องราง
ประเภทพระเครื่อง ได้แบ่งการสร้างพระเครื่องออกเป็น
1. การสร้างพระเนื้อดิน
2. การสร้างพระเนื้อชิน
3. การสร้างพระเนื้อผง
4. การสร้างพระเนื้อโลหะ ประเภทพระหล่อ พระปั้ม พระฉีด
5. การสร้างพระเนื้อว่าน
6. การสร้างพระจากวัสดุอื่นๆ
1. การสร้างพระเนื้อดิน
พระเนื้อดิน นับเป็นพระที่มีอายุการสร้างเก่าแก่ที่สุด โดยการนำดินอันเป็นวัสดุหาง่าย คงทน มาสร้างสรรค์ปฏิมากรรมได้สะดวก นอกจากนี้มนุษย์ยังมีความเชื่อ นับถือ ยกย่อง ดินประดุจเทพเจ้าที่ทรงคุณเอนกอนันต์ ในนามของ แม่พระธรณี ซึ่งดินที่นำมาสร้างพระล้วนเป็นดินที่นำมาจากศาสนสถานสำคัญ ศักดิ์สิทธิ์ หรือสถานที่เป็นมงคล ในการนำดินมาสร้างพระทุกครั้ง ต้องมีการทำพิธีบวงสรวง ขอบารมีแม่พระธรณี เจ้าที่เจ้าทาง และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ผู้สถิตรักษาทุกครั้ง ต้องมีการทำพิธีบวงสรวง ขอบารมีอภินิหารให้มีต่อพระเครื่องและเครื่องรางที่สร้าง นอกเหนือจากส่วนผสมอื่นๆ ที่ได้ผ่านการพิจารณาอย่างถี่ถ้วนแล้วว่าดีและให้คุณ ที่จะส่งเสริมความเป็นมงคลแก่พระเครื่องและเครื่องรางที่จะสร้าง ความพิถีพิถันในการเสาะหาและเตรียมวัตถุดิบเป็นเรื่องสำคัญมากประการหนึ่งที่ผู้สร้างวัตถุมงคลต่างๆ ให้ความสำคัญและถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัดมาช้านาน ด้วยเชื่อว่าพระเครื่องและเครื่องรางที่จะสร้างขึ้นนี้ต้องมีความดีนอกและดีใน ดีในหมายถึงวัตถุดิบที่นำมาสร้างต้องล้วนเป็นของดีมีมงคล ดีนอกหมายถึงต้องผ่านการปลุกเสกอย่างดี ผ่านพิธีกรรมที่ถูกต้องและเข้มขลัง โดยพระคณาจารย์ผู้เรืองเวทย์วิทยาคุณสูง รวมถึงผู้ทำพิธีอันจะก่อเกิดความเข้มขลังให้กับพระเครื่องและเครื่องรางที่ผ่านขั้นตอนที่สำคัญนี้แล้ว
ดังนั้น เป็นความเชื่อถือที่ยึดมั่นกันมาแต่ครั้งโบราณว่า พระเครื่องและเครื่องรางของขลังที่ดีจริง ต้องดีนอก ดีใน คือ วัตถุที่นำมาสร้างต้องล้วนเป็นของงดี ผู้สร้างต้องดีพร้อม และผ่านพิธีกรรมที่ดี จากจุดนี้เราจึงเข้าใจว่าเหตุใด พระเครื่องและเครื่องรางของขลังจึงมีความศักดิ์สิทธิ์ พระทุกประเภททุกเนื้อเครื่องรางทุกชนิด ล้วนเห็นข้อพึงปฏิบัติในการสร้างวัตถุมงคลนี้ โดยมีกฎเหล็กที่พึงต้องกระทำอย่างเคร่งครัด
เมื่อได้วัตถุดิบที่ต้องประสงค์แล้ว ก็จะนำวัตถุดิบต่างๆมาผสมคลุกเคล้ากัน โดยมีดินเป็นมวลสารหลัก ในการยึดประสานมวลสารต่างๆให้เข้าเป็นเนื้อเดียวกัน จากนั้น จึงนำส่วนผสมไปกดลงในแม่พิมพ์ที่แกะเค้าโครงรูปร่างของพระเครื่องที่ต้องการ เมื่อนำพระที่กดลงในแม่พิมพ์ออกจากพิมพ์แล้ว จึงนำพระมาเรียง แล้วผ่านกรรมวิธีทำให้แห้ง ซึ่งแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ
1.1 พระที่ผ่านการเผา นับเป็นการสลายความชื้นและคงรูปวัตถุ ทำให้เกิดมวลสารของพระเครื่องเป็นแบบดินสุก หรือดินสีหม้อใหม่ เช่นเดียวกับการทำภาชนะเครื่องปั้นดินเผาต่างๆ หากแต่ในสมัยโบราณ การเผาพระไม่มีเครื่องมือในการตรวจวัดอุณหภูมิความร้อนให้คงที่และสม่ำเสมอ จึงทำให้พระที่ผ่านการเผาออกมา มีสีต่างๆกัน ตามระดับอุณหภูมิความร้อนสูงหรือต่ำที่ได้รับ
นอกจากนี้จากการค้นคว้าศึกษายังพบว่า พระเครื่องที่ผ่านการเผายังมี 2 ลักษณะคือ พระที่ผ่านการเผาเป็นเวลานานในอุณหภูมิความร้อนที่สูง กับพระที่ผ่านการเผาพอประมาณ ใช้เวลาในการเผาไหม้ไม่นานนัก หรืออาจจะเรียกว่า ผ่านการอบให้แห้ง โดยมวลสารคายความชื้นออก เพื่อความยึดติดเข้ารูป เป็นเหตุให้พระออกมามีหลายสี แต่คงไว้ซึ่งมวลสารส่วนผสมปรากฎเห็นชัดเจนกว่าพระที่ผ่านการเผาครบขบวนการทำเครื่องปั้นดินเผาที่มีผลให้มวลสารบางชนิดถูกเผาไหม้ไป ซึ่งตัวอย่างของพระที่ผ่านการเผาทั้ง 2 ลักษณะ มีดังนี้
พระที่ผ่านการเผาจนครบขั้นตอน ได้แก่ พระรอด พระนางพญา พระกรุทุ่งเศรษฐี พระหลวงพ่อปาน วัดบางนมโค เป็นต้น
พระที่ผ่านการอบให้แห้ง ได้แก่ พระผงสุพรรณ พระซุ้มกอดำ เป็นต้น
1.2 พระที่ผ่านการตากแดดให้แห้ง พระประเภทนี้เราเรียกว่า พระดินดิบ ซึ่งหมายถึง มวลสารถูกแยกน้ำออก ด้วยวิธีการตากแดดให้แห้ง ความแข็งแกร่งคงทนจะน้อยกว่าพระที่ผ่านการเผา ดินจะสามารถละลายตัวหากนำมาแช่น้ำทิ้งไว้ พระเนื้อดินดิบ ได้แก่ พระเครื่องศิลปะศรีวิชัยที่พบทางใต้ เช่น พระเม็ดกระดุม เป็นต้น
นอกจากนี้ยังพบว่าในพระเนื้อดินมวลสารหรือเนื้อของดินได้สามารถแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ คือ
ก. ประเภทเนื้อละเอียด หมายถึง ก่อนที่จะนำดินมาผสมกับมวลสารอื่นๆ ดินที่นำมาสร้างพระนั้นได้ผ่านการร่อนกรองจนละเอียดแล้ว พระที่สร้างออกมาจึงมีความนวลเนียนของพื้นผิว เช่น พระกำแพงกลีบบัว พระกำแพงซุ้มยอ พระกำแพงทุ่งเศรษฐี เป็นต้น
ข. ประเภทเนื้อหยาบ หมายถึง ดินที่นำมาสร้างพระ ได้ผ่านการร่อนกรองมาแล้วแต่ไม่มากจนได้เนื้อดินละเอียด ยังคงปรากฏมีเม็ดแร่ กรวด ทราย ปะปนอยู่ด้วย มองเห็นชัดเจน เช่น พระชุดขุนแผนบ้านกร่าง เป็นต้น
2. การสร้างพระเนื้อชิน
พระเนื้อชินถือเป็นพระเนื้อโลหะประเภทหนึ่งที่เกิดจากการผสมผสานของแร่หลัก 2 ชนิด คือ ดีบุก กับตะกั่ว เกิดเป็นโลหะเจือชนิดใหม่ที่เรียกว่า เนื้อชิน หากเรามองลึกลงไปถึงคุณสมบัติของธาตุหลักทั้ง 2 ชนิด คือ
ดีบุก เป็นแร่ธาตุที่พบมากที่สุดประเภทหนึ่งในประเทศไทย สามารถแยกหาดีบุกออกจากสิ่งปะปนได้อย่างง่ายๆด้วยวิธีแรงโน้มถ่วง โดยการร่อนแร่ ซึ่งกระทำได้ไม่ยุ่งยาก หากต้องการ ดีบุกที่บริสุทธิ์มากขึ้น ก็สามารถนำไปย่างเพื่อขจัดซัลไฟด์ หรือธาตุที่แผงอยู่ในดีบุก
ดีบุก เป็นธาตุที่มีจุดหลอมเหลวต่ำ ที่อุณหภูมิ 231.9 องศา แปรรูปง่าย เกิดโลหะเจือกับโลหะได้หลายชนิด ทำให้คุณสมบัติของโลหะใหม่มีอานุภาพป้องกันการผุกร่อนได้ นอกจากนี้ยังนำไฟฟ้าต่ำ
ตะกั่ว เป็นแร่ธาตุที่มนุษย์รู้จักนำมาใช้ประโยชน์ตั่งแต่สมัยโบราณ มีหลักฐานยืนยันว่ามนุษย์รู้จักนำตะกั่วมาใช้ทำประโยชน์ตั้งแต่ 4000 ปีก่อนคริสตกาล รวมวิธีการถลุง ตะกั่วไม่ยุ่งยาก เพียงผ่านขบวนการเผา
ตะกั่ว เป็นธาตุที่มีจุดหลอมเหลวต่ำ ที่อุณหภูมิ 327 องศา มีน้ำหนัก นับเป็นโลหะอ่อนมีแรงตึง หรือ แรงรองรับต่ำ โลหะตะกั่วจึงไม่เหมาะกับการใช้งานที่ต้องรับน้ำหนักมากๆ แต่ความอ่อนตัวของตะกั่วมีประโยชน์ที่ทำให้โลหะผสมสามารถแปรรูปได้ง่ายขึ้น ไม่ว่าจะทำให้เป็นแผ่นบางๆ หรือนำโลหะผสมให้สามารถแทรกซอนไปตามความลึกของแม่พิมพ์ ก่อให้เกิดลวดลายงดงามตามจินตนาการของช่างได้ นอกจากนี้ ยังนำไฟฟ้าต่ำ
จากคุณสมบัติของธาตุทั้งสองชนิดดังกล่าว เราจะพบว่ามีความสอดคล้องเหมาะสมในการนำมาหลอมรวมกันเป็นโลหะใหม่ ที่มีจุดหลอมเหลวต่ำทั้งคู่ สามารถกลมกลืนเป็นเนื้อเดียวกันได้ มีความอ่อนนิ่มที่สามารถจับรายละเอียดแม้เพียงบางเบาเล็กน้อยของแม่พิมพ์ได้ แม้รูปทรงจะมีความบางเรียบแบน ก็สามารถขึ้นรูปได้ ทั้งทนทานต่อความผุกร่อน และมีความนำไฟฟ้าต่ำ ทำให้ปลอดภัยเมื่อนำพกติดตัว
เนื้อชิน จึงนับเป็นโลหะที่มีคุณสมบัติพิเศษ ลงตัว เหมาะสมที่จะนำมาสร้างพระเครื่องได้เป็นอย่างดี ซึ่งถือเป็นภูมิปัญญาของบรรพชนไทยอันชาญฉลาดและลึกล้ำในการสร้างพระเนื้อชิน เพื่อสืบทอดพระศาสนาและศิลปวัฒนธรรมอันดีงามยิ่งใหญ่ ในรูปแบบของพระเครื่องตกทอดสู่อนุชนรุ่นหลัง พระเนื้อชินมี 3 ประเภทคือ
2.1 พระเนื้อชินเงิน คือพระที่มีส่วนผสมของดีบุกมาก พระที่พบจะมีสีเงินยวงจับองค์พระอย่างงดงาม พระเนื้อชินเงินนี้จะปรากฏลักษณะตามธรรมชาติในรูปของเกล็ดกระดี่ และสนิมตีนกา ตามองค์พระ เช่น พระหูยาน ลพบุรี พระนาคปรก วัดปืน เป็นต้น
2.2 พระเนื้อชินสนิมแดง คือพระที่มีส่วนผสมของตะกั่วมาก พระที่พบจะมีลักษณะคล้ายพระชินเงิน แต่มีไขสนิมแซม ตามซอกพระ เช่น พระมเหศวร พระสุพรรณหลังผาน พระลีลากำแพงขาว เป็นต้น
2.3 พระเนื้อตะกั่วสนิมแดง ถือเป้นพระเครื่องประเภทเนื้อชิน ที่มีส่วนผสมของตะกั่วมากที่สุดถึง 90% พระที่พบจึงมีสีแดงของสนิมตะกั่วจับอยู่ในเนื้อพระเป็นสีแดง ที่เรียกว่า แดงลูกหว้า ตัวอย่างเช่น พระร่วงหลังลายผ้า-พระร่วงหลังรางปืน พระท่ากระดาน และพระร่วงพิมพ์ต่างๆ เป็นต้น
กรรมวิธีการสร้างพระเนื้อชิน ถือเป็นการหลอมเหลวรวมแร่ธาตุสำคัญดังที่กล่าวข้างต้น ข้อสำคัญคือมีการแกะแม่พิมพ์ให้งดงาม อลังการ ตามจินตนาการของช่าง พระที่พบส่วนมากจะเป็นศิลปะสกุลช่างหลวง เพราะแม้ว่า พระเนื้อชินจัดเป็นพระที่ไม่ยุ่งยากในการสร้าง หากในสมัยโบราณกรรมวิธีนี้ถือเป็นเรื่องที่ต้องเตรียมการและอาศัยแรงคนจัดทำมิใช่น้อย ดังนั้นผู้ที่สามารถสร้างพระเนื้อชินได้ จะต้องดำรงตำแหน่งอยู่ในชั้นเจ้านาย หรือระดับผู้นำ ที่สามารถสั่งบัญชาการได้ จึงถือว่าพระเนื้อชินเป็นพระเครื่องชั้นสูงมาแต่โบราณ ประการสำคัญ การพบพระเนื้อชินส่วนมากจะพบในกรุตามโบราณสถานสำคัญ ซึ่งถือเป็นเรื่องยากที่สามัญชนจะกระทำการได้
พระเนื้อชิน นับว่าเป็นพระเครื่องที่มีบทบาทสูง เป็นที่ครองใจผู้คนมานานนับแต่โบราณความยึดถือศรัทธาของประชาชนที่มีต่อพระเนื้อชินนั้นเป็นรากลึกในจิตใจ ทั้งยังปรากฏเห็นผลให้เล่าขานเลื่องลือตกทอดอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้พระเนื้อชิน ถือเป็น อมตพระเครื่องยอดนิยมตลอดกาล
3. การสร้างพระเนื้อผง
ถือเป็นขบวนการหนึ่งในศาสตร์ศิลปแขนงวิชาการปั้นปูน ซึ่งมวลสารในการปั้นมีส่วนผสมของปูนเป็นหลักใหญ่ประสานเนื้อด้วยยางไม้ กาวหนัง น้ำอ้อยหรือขี้ผึ้งชั้นดี และเป็นวิทยาการที่ศิลปินกรีก-โรมันกับอินเดียดึกดำบรรพ์ได้ใช้ปั้นพระพุทธรูปก่อนที่มีการนำกรรมวิธีนี้มาใช้ในการสร้างพระเครื่อง
พระเครื่องเนื้อผง ที่มีความเก่าแก่ที่สุดในประเทศคือ พระกรุวัดทัพข้าว จังหวัดสุโขทัย รองลงมาคือ พระสมเด็จอรหัง วัดมหาธาตุ สร้างโดย สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 4 หรือที่รู้จักกันในนาม พระสังฆราชสุกไก่เถื่อน และพระสมเด็จอรหังนี้ถือเป็นต้นแบบในการสร้างพระเนื้อผง รูปทรงสี่เหลี่ยมชิ้นฟัก ซึ่งสร้างขึ้นครั้งแรกเมื่อประมาณปี พ.ส.2360
สมเด็จพระสังฆราชสุก (ไก่เถื่อน) นี้ ท่านเป็นพระอาจารย์ที่สมเด็จพระพุฒาจารย์โต พรหมรังสี เคารพเป็นอย่างยิ่ง และถือเอาวัตรปฏิบัติ ตลอดจนวิธีการสร้างพระขององค์พระอาจารย์องค์นี้มาสร้างสมเด็จวัดระฆัง พระสมเด็จบางขุนพรหม และพระสมเด็จเกศไชโย อันนับเป็นพระเนื้อผงที่ได้รับความศรัทธานิยมสูงสุดมาโดยตลอด ดังนั้นขั้นตอนกรรมวิธีการสร้างพระเนื้อผงในลำดับต่อๆมา จึงได้ยึดเอาขั้นตอนกรรมวิธี การจัดเตรียม การสร้าง และการปลุกเสก ตามอย่างสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) เป็นปัจจัยหลักปฏิบัติ ซึ่งแบ่งเป็น 3 ขั้นตอนใหญ่ๆ คือ
3.1 การจัดเตรียมวัสดุ เป็นที่ทราบกันดีว่ามวลสารหลักในพระเนื้อผงก็คือ ผงปูนขาว ซึ่งโบราณจะใช้เปลือกหอยมาเผาไฟ แล้วบดให้ละเอียด เรียกว่า ผงปูนเปลือกหอย ซึ่งมีคุณสมบัติ เช่นเดียวกัน
เมื่อได้มวลสารหลัก ก็จัดเตรียมผงที่เป็นมงคลต่างๆ อาทิเช่น ว่านดอกไม้ แร่ทรายเงิน ทรายทอง วัสดุศักดิ์สิทธิ์ เป็นมงคลทั้งหลายที่เห็นสมควรนำมาเป็นส่วนผสมนำมาบดเป็นผง เป็นต้น
สิ่งที่ช่วยประสานเนื้อผง และทัพสัมภาระทั้งหลาย ให้เกาะติดเป็นเนื้อเดียวกันในสมัยโบราณจะใช้กล้วยน้ำ และน้ำมันตังอิ๊ว (กล้วยน้ำเป็นคำโบราณ = กล้วยน้ำว้า , น้ำมันตังอิ๊วเป็นยางไม้ชนิดหนึ่งผสมกับน้ำมัน ทำให้เกิดความเหนี่ยว)
จากสูตรการสร้างพระเนื้อผงของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) พรหมรังสี (ผู้ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้สร้าง สูตรนิยม หรือ สูตรครู ในการสร้างพระเนื้อผงต่อๆมา) และในมวลสารของพระเครื่องที่สมเด็จโตสร้าง ท่านให้ความสำคัญกับธาตุแท้แห่งคุณวิเศษ คือ ผงวิเศษ 5 ประการ อันประกอบด้วย ผงปถมัง อิธเจ มหาราช พุทธคุณ และตรีนิสิงเห ซึ่งไม่ได้หมายความว่าเป็นชื่อของผงแต่ละชนิดแล้วนำมารวมผสมคลุกเคล้ากัน หากแต่เป็นผงชุดเดียวกันที่ผ่านกรรมวิธีซับซ้อนถึง 5 ขั้นตอนในการสร้าง โดยเริ่มต้นที่การสร้างผงปถมังก่อน แล้วเอาผงปถมังนั้นมาทำเป็นผงอิธะเจ แล้วสร้างต่อเนื่องจากผงเดิมจนครบกระบวนการทั้ง 5 อันนับเป็นภูมิปัญญาและสมบัติล้ำค่าต่อมวลมนุษยชาติสืบมา ได้รับรู้ ศึกษากรรมวิธี และนำเป็นต้นแบบที่ดีในการสร้างวัตถุมงคลเนื้อผง
ขั้นตอนการทำผงวิเศษ 5 ประการ ของท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) พรหมรังสี ประกอบด้วยขั้นตอนดังนี้
1) การสักการะบูรพาจารย์ นับเป็นประเพณีในการศึกษษพุทธาคมมาแต่ครั้งโบราณ ที่ผู้ศึกษาจะต้องทำพิธีสักการบูรพาจารย์ก่อนกระทำการใดๆ เพื่อความเป็นสิริมงคล และรับการประสิทธิ์ประสาทวิทยาคม โดยผู้ทำพิธีต้องทำตนให้สะอาด เป็นฆราวาสให้นุ่งขาวห่มขาว ทำจิตใจให้ผ่องใส และรับสมาทานเบญจศีลเสียก่อน เป็นพระภิกษุให้ทำสมาธิจนจิตนิ่งสงบ ผ่องใส แล้วตั้งเครื่องสักการะ
บูชาครูอาจารย์ อันประกอบไปด้วย
ดอกไม้ 9 สี ธูป 9 ดอก เทียน 9 เล่ม บายศรีปากชาม ขนมต้มแดง ขนมต้มขาว มะพร้าวอ่อน กล้วยน้ำไทย (กล้วยน้ำว้า) ผลไม้ 9 สิ่ง หัวหมู เป็ด ไก่ ปลาช่อนนิ่งทั้งตัวไม่ขอดเกล็ด ถั่วคั่ว งาคั่ว ข้าวตอก นม เนย ขันล้างหน้า ผ้าขาว ผ้าแดง เงินค่าบำรุงครู 6 บาท
จากนั้นให้บูชาพระรัตนตรัย แล้วร่ายโองการ (บทสวดบูชาคุณพระรัตนตรัย ต่อด้วยบทอัญเชิญทวยเทพ บทอัญเชิญครู โองการสรรเสริญครู โองการชุมนุมครู) เมื่อเสร็จพิธีคำนับครู ก็เริ่มเข้าสู่การเรียกสูตรต่างๆ
2.) การเรียกสูตร คือ การฝึกหัดเขียน อักขระ เลข ยันต์ นานาประเภท อันประกอบด้วย การบริกรรมสูตรพระคาถาต่างๆ ตามจังหวะของการเขียนอักระเลขยันต์นั้นๆด้วย ดินสอผงวิเศษ
ดินสอผงวิเศษ สร้างจากส่วนผสมของเครื่องเคราต่างๆอันประกอบด้วย
-ดินโป่ง 7 โป่ง (ดินที่มีเกลือสินเธาว์ผุดเกรอะกรัง มีพบอยู่ตามป่าทั่วไป ในที่นี้ให้นำดินโป่ง 7 แห่ง)
-ดินตีนท่า 7 ตีนท่า (ดินจากท่าน้ำ 7 แห่ง)
-ดินหลักเมือง 7 หลักเมือง (ดินจากหลักเมือง 7 เมือง)
-ขี้เถ้าไส้เทียนบูชาพระประธานในพระอุโบสถ
-ดอกกาหลง
-ยอดสวาท
-ยอดรักซ้อน
-ขี้ไคลเสมา (คราบไคลดินบนแผ่นเสมาที่แสดงขอบเขตของโบสถ์)
-ขี้ไคลประตูวัง
-ขี้ไคลเสาตะลุงช้างเผือก (คราบไคลดินจากเสาหลักคู่ สำหรับล่ามช้างเผือก)
-ราชพฤกษ์ (ไม้ต้นราชพฤกษ์ตากแห้งป่นเป็นผง)
-ชัยพฤกษ์
-พลูร่วมใจ (ต้นพลูที่ใช้กินกับหมาก ขึ้นเป็นดง เป็นกอ บางครั้งจึงเรียกว่า พลูร่วมใจ เพราะจะขึ้นพร้อมๆกัน ไม่ใช้ที่ขึ้นแยกต้น แยกกอ)
-พลูสองหาง (ในบรรดาใบพลู จะมีบางต้นที่น้อยมาก ปรากฏปลายใบแยกเป็น 2 แฉก)
-กระแจะตะนาว (ชื่อต้นไม้ขนาดเล็ก ขึ้นในป่าเบญจพรรณ ต้นและกิ่งมีหนาม เปลือกขรุขระสีเทา ดอกเล็กสีขาวเป็นช่อสั้นมีกลิ่นหอมอ่อนๆ ท่อนไม้ใช้ฝนกับน้ำเป็นเครื่องประทินผิว)
น้ำมันเจ็ดรส (น้ำมันที่ได้จากของ 7 ประเภท จะเป็นพืชหรือสัตว์ก็ได้ ยิ่งหายากยิ่งดี
-ดินสอพอง
เอาส่วนผสมทั้งหมดมา ผสมกันแล้วบดให้ละเอียด เจือน้ำ ปั้นเป็นแท่งดินสอ
เมื่อได้ดินสอผงวิเศษ ซึ่งต้องเตรียมการไว้แล้ว ก็จะเข้าสู่การทำกรรมวิธีสร้างผงวิเศษ ที่จะต้องกระทำในพระอุโบสถ โดยเตรียมเครื่องสักการะ เช่นเดียวกับการคำนับครู โดยตั้งของต่างๆไว้เบื้องหน้าพระประธาน จุดธูปเทียนบูชาพระ ยกถาดบรรจุสิ่งของเหล่านั้นขึ้น แล้วกล่าวคาถาอัญเชิญครู ประกาศอัญเชิญเทพยดา ทำประสะน้ำมนต์(ชำระล้างตัวให้สะอาดแล้วเอาน้ำมนต์ราดชำระให้ทั่วร่างกาย) พรหมตัว เรียกอักขระเข้าตัว(การเรียก หรือสวดมหาพุทธมนต์ต่างๆให้มาสถิต ประสิทธิ์กับตัวเอง)และอัญเชิญครูเข้าตัว
|