เว็บลิ้งค์ชมรมต่างๆ

เว็บไซต์วัดเกจิดังในสยาม
วัดอัมพวัน จ. สิงห์บุรี
วัดหนองป่าพง จ. อุบลฯ
วัดเขาแหลม จ. สระแก้ว
หลวงพ่อกวย วัดโฆสิตาราม
วัดหัวป่า อ. ระโนด จ. สงขลา
วัดแก้วโกรวาราม จ. กระบี่
หลวงปู่ดุลย์ อตุโล
หลวงสมชาย วัดเขาสุกิม
ป้อนหมายเลขสิ่งของ


***พิมพ์หมายเลขสิ่งของจำนวน 13 หลัก

รายละเอียดเพิ่มเติม

  หน้าหลัก  :  อดีตสู่ปัจจุบัน  :  เว็บบอร์ดชมรม  :  ตารางประกวดพระ  :  สาระน่ารู้  :  เล่าสู่กันฟัง  :  ติดต่อเรา
พระเครื่องเมืองใต้: ไหว้พระทองที่วัดคลองแดน
ไหว้พระทองที่วัดคลองแดน
02-10-2010 Views: 21142

คลองแดนพื้นที่ทั่วไปเป็นที่ราบลุ่มมีแม่น้ำ ลำคลองเป็นสายหลักในการดำรงชีวิตประจำวันและการประกอบอาชีพ โดยมีลำคลองขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นเขตแดนธรรมชาติที่กั้นระหว่าง อ.ระโนด จ.สงขลา และ อ.หัวไทร จ.นครศรีธรรมราช ตำบลนี้จึงใช้ชื่อว่าตำบลคลองแดน มองย้อนกลับไปประมาณเมื่อปีทีผ่านมาของตำบลคลองแดน จากความทรงจำของกระผม สมัยยังเป็นเด็กนักเรียนที่ โรงเรียนวัดคลองแดน พร้อมอุปถัมภ์ คลองแดนเต็มไปด้วยเรือนไม้อายุตั้งแต่ 50-100 ปี มุงด้วยกระเบื้องดินเผาแผ่นบางเฉียบจากเกาะยอ และมีแต่สะพานไม้เคี่ยมทอดยาวตั้งแต่ตลาดทิศตะวันออกจนถึงตะวันตกยาวประมาณ 2 กิโลเมตร เด็กสมัยนั้นไม่ค่อยมีรองเท้าใส่กันนอกเสียจากจะไปในตัว อ. หัวไทร หรือ อ. ระโนด จึงจะใส่กัน เด็กส่วนมากจะเดินเท้าเปล่า สะพานไม้เคี่ยมจะมีเสี้ยนสีดำๆ ถ้าเดินไม่ระวังจะถูกเสี้ยนไม้แทง การเดินเท้าเปล่าบนสะพานตอนเช้ายังเดินแบบสบาย เพราะสะพานยังไม่ร้อน แต่พอช่วงกลางวันแดดจัดๆบนพื้นไม้สะพานร้อนมากจนอาจทำให้พองได้ จึงต้องเดินให้เร็วหรือวิ่งหรือไม่ก็ต้องหลบไป หรือเดินตรงบริเวณที่มีเงาบ้าน บ้านจะสร้างติดสะพาน ทอดยาวเชื่อมติดกันตลอด และมีแนวชายคาบ้านยื่นออกมาเกือบครึ่งสะพาน เมื่อถึงหน้าฝน คลองแดนจะเกิดน้ำท่วมหรือน้ำพะทุกปีทำให้กระดานไม้เคี่ยมหลุดลอยไปกับน้ำทำให้เกิดเป็นร่อง ถ้าเดินไม่ระวังก็ตกร่องหรือลอดร่องสะพาน ต้องเดินงมกันไปตลอดทาง กว่าจะถึงที่หมายก็ใช้เวลานานพอควร จำได้ว่านักเรียนคนไหนที่พลาดตกร่องเสื้อผ้าเปียกก็กลับบ้านไม่ต้องเรียนหนังสือในวันนั้น ก็ได้เล่นน้ำทั้งวันไป สมัยนั้นแต่ละบ้านส่วนมากจะมีเรือพายใช้กัน คลองแดนมีเรือหางยาวที่เป็นเอกลักษณ์ของคนคลองแดนเป็นเรือมาดที่ขุดจากต้นไม้ทั้งต้นตัวเรือจะเรียวสวยงามมาก เป็นเรือรับจ้างวิ่งรับผู้โดยสารจากตำบลต่างๆ และระหว่างอำเภอ ตลอดจนจังหวัดใกล้เคียง เช่น สงขลานครศรีธรรมราช พัทลุง ประมาณได้ว่าเกือบ 100 ลำ ผู้คนเดินเบียดเชียดประมาณได้ว่าน่าจะถึงพันคน ร้านทองเหลืองอร่ามสี่ถึงห้าร้าน โรงสีข้าวเรียงลายตามแนวชายคลองหกถึงเจ็ดโรง ร้านตัดผม ร้านน้ำชาอีกหลายสิบร้าน ร้านข้าวยำขนมจีน เถ้าคั่ว โรงมโนห์รา มีสนามชนโค สนามชนไก่ ที่มีความคึกคักทั้งวันทั้งคืน ท่าเรือและตลาดคลองแดนไม่เงียบเหงาเหมือนสมัยนี้ คลองแดนเป็นเมืองน้ำ ชาวคลองแดนจะต้องยอมรับความจริงในข้อนี้และเมื่อเป็นเมืองน้ำก็ต้องพยายามหาประโยชน์จากทางน้ำ จะขอกล่าวย้อนหลังไปเมื่อหลายสามสิบกว่าปีที่ผ่านมา เส้นทางการคมนาคมของชาวคลองแดนคือทางเรือ แต่เมื่อถนนสายหัวเขาแดงสร้างเสร็จความสำคัญทางเรือก็เริ่มลดน้อยลงไป ในสมัยก่อนมีเรือหางยาววิ่งจากคลองแดนไประโนด จากคลองแดนไปชะอวด จากคลองแดนไปหัวไทรและปาพนัง จากคลองแดนไปทะเลน้อย

                            อ้น ระโนด

                        วีรพงศ์ พรหมมนตรี

 



(อาทิตย์อัศดง ณ ตลาดร้อยปีคลองแดน ถ่ายแบบพาโนรามา แต่ตั้งแสงผิดเลยสวยไปอีกแบบ )






คอนเสิร์ตที่นครคืนนั้นจบลงประมาณเที่ยงคืนเศษ ผมขับรถฝ่าความหนาแน่นของรถแฟนเพลงเอกชัยออกมาจากหลังเวทีอย่าทุลักทุเล โรงแรมเกียรตินครซึ่งตั้งอยู่ไม่ไกลจากสนามคือจุดหมายที่ผมจะเอนกายในคืนนี้....

เช้าวันใหม่ วันหยุดวง 2 วัน ผมตื่นขึ้นมาพร้อมกับความคิดว่าผมจะใช้เวลาสองวันนี้อย่างไร หากจะขับรถกลับบ้านที่ชุมพรก็คงจะเปลืองน้ำมันมากโขอยู่ เพราะคิวต่อไปในวันที่ 7 ส.ค. วงจะอยู่ที่สนาม อ.นาทวี เมื่อวานซืนผมมาที่สตูลจากชุมพรเติมน้ำมันไปแล้ว 2 ถัง สามพันกว่าบาท แม่เจ้า...หากให้ตีรถกลับไปกลับมาค่าตัวหมดแน่ "คลองแดน..." ชื่อนี้ผุดขึ้นมาในหัวสมองตื้อๆ ของผม "นอนวัดดีกว่า..." ใจคิดไปถึงหลวงวิทย์ พระที่รู้จักนับถือกันท่านเป็นชาวคลองแดน บวชมาหลายพรรษา เคยไปอยู่ธรรมรัตน์ แต่กลับมาจำพรรษาอยู่ที่วัดคลองแดนหลายปีแล้ว

หลังจากอัดรายการและทำสปอตเสร็จ ตามคำสั่งเจ้านายที่บ้านแล้ว ผมเดินทางมุ่งหน้าสู่ อ.ระโนด โดยแวะกินข้าวมันไก่รองท้อง ที่ร้านแก้วโอชา อยู่เลยวัดพระธาตุ ไปนิดนึง เสียดายผมมาช้าไป หมูสะเต๊ะจานสุดท้ายถูกกลุ่มอาซิ้มที่มาเป็นคณะทัวร์โต๊ะข้างๆ สอยไปจนหมด แต่ข้าวมันไก่ ก็ยังอร่อยเหมือนเดิม

หลังจากเติมพลังคนพลังรถเรียบร้อยแล้ว ผมมุ่งหน้าออกเส้นทางสู่ อ.ระโนด ถนนสี่เลนขับสบายมาจนก่อนถึง อ.เชียรใหญ่ อยู่ๆ ถนนก็หดเหลือสองเลน นึกถึงคำพูดบนเวทีของพี่เอก ที่ว่า "ขับรถบ้านเราต้องระวังให้ดี อย่าเพลิน สี่เลนอยู่ดีๆ มันจะหุบเหลือสองเลนโดยไม่รู้ตัว ฮ่า ฮ่า " เกือบจะถึงทางเลี่ยงเมืองเข้า อ.หัวไทร ใจนึกถึง "พี่บ่าวมุ่ย" เจ้าของสถานีวิทยุที่นับญาติกันแล้ว อยากแวะไปหา แต่ดูเวลาแล้ว เอาไว้วันหลังก็แล้วกัน เดี๋ยวจะยาว....

ภาพวัดคลองแดนที่ผมเคยมาอยู่ตอนบวชเณร เมื่อยี่สิบปีที่แล้วกับวันนี้แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ต้นไม้ร่มครึ้มเป็นระเบียบแทรกตัวอยู่ทั่วบริเวณพื้นทรายขาวสะอาด ทั่วทั้งวัดหาเศษใบไม้แทบไม่ได้บ่งบอกถึงการดูแลสถานที่เป็นอย่างดีของผู้อาศัย หลวงวิทย์มีอาการตกใจเล็กน้อยที่เห็นผมโผล่มาแบบไม่คาดคิด อาการเกาหัว กับรอยยิ้มเป็นมิตรคือสิ่งที่ผมชินตายามเจอท่านทุกครั้ง

"มาได้พรือ ? แถวนี้เขาฟังรายการทุกวัน" คือคำทักทายคำแรกที่ผมได้ยิน

"แรกคืน (เมื่อคืน) เล่นที่คอน คืนนี้เลยมาขออาศัยนอนสักคืน เบื่อนอนโรงแรมแล้ว"

"ตามบายเลย..." หลวงวิทย์บอก พร้อมกับที่ท่านพระมหาปราโมทย์ เจ้าอาวาสวัดองค์ปัจจุบันเดินเข้ามาสมทบ ผมยกมือใหว้ท่าน

"เห็นรถแล้ว ยังแหลงกับพระว่าคุ้นๆ รถคันนี้ " ท่านพูดยิ้มๆ ผมเหลือบมองพระหลายองค์ที่ชะเง้อเมียงมองมาทางผม ที่ระโนดรายการแหลงข่าวชาวบ้านของผมเรตติ้งดีพอสมควร โดยออกอากาศทางคลื่น 93.75 MHz ทูซีเรดิโอ

"ครับ ว่ามาขออาศัยวัดนอนสักคืน" ผมขออนุญาตกับท่านสมภารหนุ่มแห่งวัดคลองแดนอีกครั้ง ซึ่งท่านก็อนุญาตทันที ก่อนจะเข้าไปนั่งคุยกันในกุฎิได้สักพัก ก็ถึงเวลาทำวัตรเย็น แม้ผ่านวันเข้าพรรษามาหลายวันแล้วแต่ก็ยังมีญาติโยม เข้ามาทำวัตรเย็นร่วมกับพระจำนวนหลายคนซึ่งอาจจะแตกต่างจากวัดอื่นตรงที่ส่วนมาก จะเข้ามาเฉพาะ "หัวษา" หรือช่วงสองสามวันหลังวันเข้าพรรษาแล้วเท่านั้น แต่ชาวบ้านที่นี่จะเข้ามาทำวัตรเย็นทุกวันตลอดพรรษา คือสามเดือน ผมถือโอกาสให้หลวงวิทย์พาเดินทัวร์ทั่ววัด และได้เห็นความเปลี่ยนแปลงของหลายสิ่งหลายอย่าง

"คลองแดน"คือชื่อคลอง และชื่อชุมชนที่ตั้งอยู่ริมฝั่งคลองเล็กๆ อันเป็นเส้นแบ่งเขตกั้นสองจังหวัด ฝั่งวัดขึ้นอยู่กับ ต.รามแก้ว อ.หัวไทร จ.นครศรีธรรมราช แต่อีกฝั่งคลองที่เชื่อมโยงด้วยสะพานไม้ที่ชาวบ้านร่วมใจกันสร้างขึ้นคือ ต.คลองแดน อ.ระโนด จ.สงขลา ลำคลองตรงใต้สะพานถูกปิดกั้นด้วยกระสอบทราย เป็นการป้องกันน้ำเค็มจากการทำนากุ้งไม่ให้ไหลผ่านไปสู่ลำคลองด้านล่าง ซึ่งชาวบ้านส่วนใหญ่ใช้น้ำในคลองแห่งนี้ทำนาปลูกข้าวมาตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตาทวด

"ธรรมดาหน้านี้ น้ำหลังเขื่อนนี่เต็มคลองแล้ว แต่ปีนี้แล้งหนัก ชาวบ้านทำนาไม่ได้เพราะไม่มีน้ำ" หลวงวิทย์บอกพร้อมกับชี้ให้ดูสภาพแห้งขอดของลำคลองหลังเขื่อน ซึ่งต่างจากหน้าเขื่อนกั้นที่ยังพอมีน้ำอยู่บ้างแต่ไม่มากนักและเป็นน้ำกร่อยถึงเค็ม ผมหวลคิดถึงเมื่อยี่สิบปีที่แล้ว ที่ผมมาคลองแดนทุกครั้งก็จะได้เห็นน้ำเต็มคลองทุกที ไม่เคยเห็นภาพแบบนี้มาก่อน





ตลอดเวลาที่ผมเดินดูทั่ววัด ก็สะดุดตากับแผ่นป้าย บอกสถานที่ท่องเที่ยวของชุมชนคลองแดน ที่แทรกอยู่ทั่วบริเวณ กำลังจะถามหลวงวิทย์ ว่านี่คืออะไร ก็พอดี "พี่โย" พี่ที่ผมคุ้นเคยอีกคนก็ขับมอเตอร์ไซด์เข้ามาในวัด ผมรีบทักทายอย่างดีใจ เพราะรู้จักและเจอพี่โยทุกครั้งหลังเวทีเอกชัยยามมาเล่นระโนด หลังจากพูดคุยกันสักพักผมจึงได้รู้ว่าการมานอนวัดของผมในวันนี้เป็นสิ่งที่ไม่เสียเวลาเปล่าเลยสำหรับสิ่งที่ผมจะได้พบเห็น โดยการนำทัวร์ตลาดร้อยปีคลองแดนของพี่โยและหลวงวิทย์





จากคำบอกเล่าของพี่โย ซึ่งเป็นลูกคลองแดนขนานแท้แต่กำเนิด บอกว่าเมื่อเกือบร้อยปีที่แล้วชุมชนคลองแดนถือเป็นชุมชนใหญ่ในยุคสมัยที่ความสะดวกสบายในการเดินทางโดยถนนยังไม่เกิดขึ้น การเดินทางสัญจรทางน้ำคือทางเลือกเดียวในการเชื่อมโยงและค้าขายของผู้คนต่างถิ่นกัน คลองแดน ได้รับการขนานนามว่า เป็น "สามคลองสองจังหวัด" เป็นจุดนัดพบของสายน้ำที่ไหลรวมกัน ณ ที่นี้ นำพาผู้คนหลั่งไหลมาสู่คลองแดนจนทำให้กลายเป็นตลาดขนาดใหญ่ที่มีร้านรวงต่างๆ ครบครันในสมัยนั้น พี่โยชี้ให้ดูตู้โชว์ทองคำเก่าคร่ำคร่าที่ถูกทิ้งร้างอยู่ชายคาบ้านหลังหนึ่ง หลังจากร้านทองย้ายไปจากคลองแดนเมื่อหลายสิบปีที่แล้ว
"เมื่อก่อนที่นี่มีร้านทอง สี่ห้าร้าน มีโรงสี มีร้านค้าใหญ่โตมากมาย ของซื้อของขายมีทุกอย่าง"
พี่โยเล่าถึงความเจริญแต่หนหลังที่ตัวเองยังพอจำได้ ผสมกับคำบอกเล่าของคนรุ่นก่อน และสรุปให้เห็นสาเหตุของการล่มสลายของตลาดคลองแดน ที่เกิดขึ้นในเวลาต่อมา จนมาถึงสิ่งที่พี่โย และชาวคลองแดนกำลังทำกันอยู่ในเวลานี้คือการพยายามจะพลิกฟื้นภาพเงาอันเลือนลางในอดีตที่เคยรุ่งโรจน์ของตลาดคลองแดน ให้คนรุ่นหลังได้เห็นโดยความร่วมมือของ วัด ชุมชน และหน่วยงานภาครัฐ




ผมเก็บภาพตามคำบอกเล่าของพี่โย ด้วยกล้องจากโทรศัพท์มือถือ แต่เหมือนภาพเงาแห่งความงดงามในอดีตของคลองแดนจะเปล่งประจายเจิดจ้าจนบางรูป สวยจนตากล้องมือสมัครเล่นอย่างผมอดแปลกใจไม่ได้ พี่โยกับหลวงวิทย์พาผมเดินไปบนสะพานไม้ที่ชาวบ้านทอดผ้าป่าร่วมสร้างกันขึ้นมา ให้เชื่อมโยงถึงกันตลอดสองฝั่งคลองหลังจากที่มันได้สลายหายไปพร้อมกับการโยกย้ายร้านไปหาทำเลค้าขายที่อื่นของบางร้าน สะพานไม้ที่ขาดช่วงเดินไม่ถึงกันในอดีตคือสิ่งที่ทำให้ตลาดคลองแดนซบเซาลงอย่างรวดเร็ว
"เมื่อก่อน บ้านตาเคล้ากับยายปริกอยู่ตรงนั้น "
พี่โยชี้ให้ดูเสาตอม่อ กลุ่มหนึ่งที่แทรกตัวผุดโผล่อยู่ริมเลนชายคลอง พร้อมกับบอกว่าเคยเป็นบ้านของน้องสาวแท้ๆของคุณตาของผม ภาพหญิงชราร่างเล็กผมสีขาวทั้งหัว ตายิบหยีเวลายิ้มอย่างคนแก่ใจดี ผุดขึ้นมาในความคิด ผมจำภาพยายปริกได้ดีตอนที่ผมยังเป็นเด็กครั้งหนึ่งผมไม่สบายนอนซมอยู่ที่บ้าน พิษไข้ร้อนผ่าวไปทั้งตัว รู้สึกเหมือนมีมือเย็นๆ มาลูบหัว และเสียงแม่บอกว่า "ยายมาเยี่ยม..." ผมค่อยๆเปิดเปลือกตาขึ้นมาอย่างยากลำบาก รอยยิ้มนั้นผมยังจำไม่เคยลืม ยายมาพร้อมกับองุ่นหนึ่งถุง
"หายเร็วๆ นะลูก" ยายบอกพร้อมกับรอยยิ้มอบอุ่น ต่อมาแม่เล่าให้ฟังว่าเมื่อก่อนยายปริกกับตาเคล้า เคยค้าขายอยู่ตลาดคลองแดน จนมีฐานะ ก่อนจะย้ายครอบครัวมาอยู่ที่ธรรมรัตน์ ยายมีลูกหลานหลายคน รวมถึง "มะเดี่ยวศรีหลานยายปริก" ด้วย



สะพานไม้ทอดวกวนเลียบลำคลองก่อนจะเชื่อมโยงไปสู่อีกฝั่งด้วยสะพานไม้ท่อนขนาดใหญ่ เราเดินข้ามมายังร้านขายยาเก่าแก่ที่ยังเปิดกิจการอยู่โดยลูกหลานในรุ่นที่สามแล้ว หน้าร้านเป็นเวทีการแสดง พี่โยบอกว่าทุกวันเสาร์จะมีการจัดตลาดย้อนยุค มีนักท่องเที่ยวเข้ามามาก จึงมีการแสดงศิลปะวัฒนธรรมหรือดนตรีโฟล์กซองให้ชมฟรี บ้านโฮมสเตย์ของ อ.สายัณห์ คือบ้านหลังแรกๆที่เปิดรับนักท่องเที่ยวริมคลองตลาดคลองแดน โดยดัดแปลงบ้านไม้เก่าอายุเกือบร้อยปี ให้เป็นที่พัก มีนักท่องเที่ยวหรือนักศึกษามาพักอยู่เป็นประจำ ความมืดเริ่มโรยตัวเข้ามาพร้อมกับไฟโคมที่เรียงรายอยู่ริมคลองเริ่มส่องสว่าง เงาเหลืองสว่างจ้าสะท้อนพื้นน้ำสีดำ แลดูขัดแย้งกัน แต่กลับมีเสน่ห์อย่างน่าประหลาด อ.สายัณห์พาไปดูการทำหุ่นตุ๊กตามโนราห์ ซึ่งมีเจ้าหน้าที่มาสอนวิธีการทำให้ชาวบ้านผลิตเป็นของฝาก จำหน่ายแก่นักท่องเที่ยว จนได้เวลาพอสมควรพร้อมกับท้องเริ่มร้องจ๊อกๆ พวกเราจึงเดินกลับมาแวะกินข้าวมื้อเย็นที่บ้านพี่โยซึ่งอยู่สามแยกหน้าวัดนั่นเองส่วนหลวงวิทย์ ไม่ฉันข้าวเย็น(ฮา....)จึงปลีกตัวไปคุยกับโยมแม่ที่บ้าน ซึ่งอยู่คนละฝั่งถนน


สำรับกับข้าวแบบง่ายๆ ถูกยกมาวางบนเสื่อ อาหารมื้ออร่อยอีกมื้อหนึ่งของผมจึงเริ่มขึ้นพร้อมกับเรื่องราว มากมายที่พรุ่งพรูออกมาจากคำบอกเล่าของพี่โย ทั้งเรื่องประวัติตลาดคลองแดน เรื่อง"พระทอง" ที่ถูกทาสีดำไว้ในวัดมาหลายร้อยปี จนวันหนึ่งถูกค้นพบว่าเป็นทองแท้ประเมินค่ามิได้โดยบังเอิญ เรื่องความศักดิ์สิทธิ์ของตาหลวงพร้อม ตาหลวงชุม เรื่องช้างค่อม ช้างแกลบ หรือช้างแคระ แห่งทุ่งระโนดที่พี่โยเอากระดูกกรามช้างมาให้ดู บางเรื่องฟังแล้วเหมือนนิทานปรัมปรา มีอภินิหารอันเหลือเชื่อ ผมฟังไปด้วยกินไปด้วยจนข้าวหมดหม้อไม่รู้ตัว (ฮา...)





กว่าจะเดินกลับมาในวัดก็เกือบสามทุ่ม กุฎิพระบางหลังยังเปิดไฟสว่างพระหนุ่มหลายรูปยังจับกลุ่มคุยกันอยู่ พวกเราเดินไปที่กุฏิหลังใหญ่ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระทอง และเป็นกุฎิเจ้าอาวาส


ผมกราบนมัสการพระทองแล้วนั่งคุยกันท่านมหาปราโมทย์ อยู่จนดึก ได้ข้อมูลที่น่าสนใจหลายอย่างทั้งเรื่องการพัฒนาวัด เรื่องพัฒนาคนโดยวัดคลองแดนเป็นศูนย์ฝึกอบรมนักเรียนนักศึกษา มีการนำนักเรียนมาเข้าค่ายคุณธรรมในวัดเป็นประจำ การบวชเณรภาคฤดูร้อนซึ่งจัดติดต่อกันมาสิบกว่าปีแล้ว ทุกปีมีเด็กมาบวชกันมากขึ้น และจะมีที่ไม่ลาสิกขา ขอเรียนต่อทางธรรมโดยตอนนี้ ทางวัดคลองแดนส่งให้เณรเรียนอยู่สิบกว่ารูป ทั้งทางโลกระดับมัธยม และเปรียญธรรม โดยใช้ทุนส่วนตัว ที่ท่านมหาไปเทศน์มาบ้าง พระในวัดไปสวดมาบ้าง ได้ปัจจัยมาก็แบ่งๆกันไปตามที่มี ผมก็เลยรับปากว่าจะคุยกับพี่เอกเรื่องดึงทุนมาช่วยวัดคลองแดนบ้าง เพราะเอกชัย ตั้งใจจะหาทุนส่งพระเณรเรียน และได้มีการมอบถวายทุนไปจำนวนหนึ่งเมื่อปีที่แล้ว โดยเรื่องนี้พี่เอกมอบหมายให้ผมช่วยดูแลอยู่ นั่งคุยกันจนดึกพอสมควร ก็ได้เวลาไปนอนครับ เป็นครั้งแรกในรอบหลายปีที่ผมได้นอนห่มจีวร ผ้าผืนบางๆที่คุ้นเคยและอบอุ่นหลับสบายดีเหมือนเดิม

(ที่นอน คืนนี้ครับ)

ผมตื่นเกือบแปดโมง ทั้งๆที่ตั้งใจจะลุกขึ้นมาช่วยหลวงวิทย์กวาดลานวัดตอนหกโมงเช้า แต่นอนเพลินไปหน่อยหลวงวิทย์ท่านก็ไม่ปลุกด้วยคงจะสงสารปล่อยให้นอนเต็มที่ นานๆจะนอนบนพื้นกระเบื้องแข็งๆแบบนี้ซักทีก็มีอาการปวดหลังนิดหน่อย แต่ไม่เป็นไร เมื่อก่อนชีวิตก็เคยชินอยู่กับแบบนี้ตอนหลังนอนฟูกจนเคยตัวแค่นั้นเอง ลุกขึ้นล้างหน้าล้างตาแล้วนั่งทำงานต่อ หลวงวิทย์เอาข้าวและกับข้าวใส่บาตรมาให้จนเต็ม



จนเกือบเที่ยงจึงอาบน้ำกินข้าว อัดรายการและสปอตเสร็จเรียบร้อยช่วงบ่าย กราบลาหลวงวิทย์และท่านมหาปราโมทย์ออกเดินทาง มาบ้านพี่เอกที่นาหม่อม กินข้าวมื้อเย็นที่บ้านพี่เอกแล้วมาเปิดห้องนอนที่ "ภูไม้หอมรีสอร์ท"ใกล้ ๆบ้านพี่เอก เริ่มต้นนอนวัดจบที่นอนโรงแรมตามเคย...เฮ้อ ...ชิวิต ราตรีสวัสดิ์ครับ





ป.ล. เริ่มเขียนที่วัดคลองแดน เขียนเสร็จ ที่ ภูไม้หอมรีสอร์ท จ.สงขลา เวลา 01.35 น. วันที่ 7 ส.ค.2553


 
------------------------
  หน้าหลัก  
  คำถามที่มีการถามบ่อย  
  เราเล่นพระทำไม ?  
  กฎหมายพระเครื่อง  
  เกร็ดเล็ก-เกร็ดน้อย  
  สมัครเปิดร้านค้า  
  การชำระเงินค่าร้านค้า  
  ความรู้เกี่ยวกับพระเครื่อง  
  ข้อมูลสถิติเกี่ยวกับร้านค้า  
 
หน้าหลัก  อดีตสู่ปัจจุบัน  เว็บบอร์ดชมรม  ตารางประกวดพระ  สาระน่ารู้  เล่าสู่กันฟัง  ติดต่อเรา
Copyright©2024 zoonphra.com
Powered by Tactical IT