ชาติกำเนิดและชีวิตปฐมวัย
หลวงปู่ดุลย์ ถือกำเนิด ณ บ้านปราสาท อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์ เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2430 ตรงกับวันแรม 2 ค่ำ เดือน 11 ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะนี้พระยาสุรินทร์ฯ (ม่วง) ยังเป็นเจ้าเมืองอยู่ แต่ไปช่วยราชการอยู่จังหวัดอุบลราชธานี เนื่องจากเจ้าเมื่ออุบลฯ และกรมการเมืองชั้นผู้ใหญ่ต้องไปราชการทัพเพื่อปราบฮ่อ
บิดาของท่านชื่อ นายแดง มารดาชื่อ นางเงิน นามสกุล "ดีมาก" แต่เหตุที่ท่านนามสกุลว่า "เกษมสินธุ์" นั้น ท่านเล่าว่า เมื่อท่านไปพำนักประจำอยู่ที่วัดสุดทัศนารามจังหวัด อุบลราชธานีเป็นเวลานาน มีหลานชายคนหนึ่ง ซื่อพร้อม ไปอยู่ด้วยท่านจึงตั้งนามสกุลให้ว่า "เกษมสินธุ์" ตั้งแต่นั้นมาท่านก็เลยใช้นามสกุลว่า "เกษมสินธุ์" ไปด้วย
ท่านมีพี่น้องร่วมบิดามารดา 5 คนด้วยกัน คือ
คนแรก เป็นหญิง ชื่อ กลิ้ง
คนที่ 2 เป็นชาย ชื่อ ดุลย์ (คือ ตัวท่าน)
คนที่ 3 เป็นชาย ชื่อ แดน
คนที่ 4 เป็นหญิง ชื่อ รัตน์
คนที่ 5 เป็นหญิง ชื่อ ทอง
พี่น้องของท่านตางพากันดำรงชีวิตไปตามอัตภาพตราบเท่าวัยชรา และได้ถึงแก่กรรมไปก่อนที่จะมีอายุถึง 70 ปีทั้งหมด หลวงปู่ดุลย์ ผู้เดียวที่ครองอัตภาพมาได้ยาวนานถึง 96 ปี
ชีวิตของหลวงปู่ดุลย์ เมื่อแรกรุ่นเจริญวัยนั้น ก็ถูกำหนดให้อยู่ในเกฏเกณฑ์ของสังคมสมัยนั้นแม้ท่านจะเป็นลูกคนที่สอง แต่ก็เป็นบุตรชายคนโต ดังนั้นท่านจึงต้องมีภารกิจมากกว่าเป็นธรรมดา โดยต้องทำงานทั้งในบ้านและนอกบ้าน งานในบ้าน เช่น ตักน้ำ ตำข้าว หุงหาอาหาร และเลี้ยงดูน้องๆ ซึ่งมีหลายคน งานนอกบ้าน เช่น เช่วยแบ่งเบาภระของบิดาในการดูแลบำรุงเรือกสวนไร่นาแล้วเลี้ยงวัวเลี้ยงควาย เป็นต้น
ชีวิตสมณะ การแสวงหาธรรม และปฏิปทา
แม้ว่าจะอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ใครๆ ก็ต้องรู้สึกว่าน่าเพลิดเพลินและน่าลุ่มหลงอย่างยิ่ง เพราะนอกจากจะอยู่ในวัยกำลังงามแล้ว ยังเป็นนักแสดงที่มีผู้นิยมชมชอบมากอีกด้วย ถึงกระนั้นหลวงปู่ดุลย์ ก็มิได้หลงไหลในสิ่งเหล่านั้นเลย ตรงกันข้ามท่านกลับมีอุปนิสัยโน้มเอียงไปทางเนกขัมมะ คือ อยากออกบวชจึงพยายามขออนุญาตจากบิดามารดา และท่านผู้มีพระคุณที่มีเมตตาชุบเลี้ยงแต่ก็ถูกท่านเหล่านั้นคัดค้านเรื่อยมา โดยเฉพาะฝ่ายบิดามารดาไม่อยากให้บวช เนื่องจากขาดกำลังทางบ้าน ไม่มีใครช่วยเป็นกำลังสำคัญในครอบครัว ทั้งท่านก็เป็นบุตรชายคนโตด้วย
แต่ในที่สุด บิดามารดาก็ไม่อาจขัดขวางความตั้งใจจริงของท่านได้ ต้องอนุญาตให้บวชได้ตามความปรารถนาที่แน่วแน่ไม่คลอนแคลนของท่าน พร้อมกับมีเสียงสำทับจากบิดาว่าเมื่อบวชแล้วต้องไม่สึกหรืออยางน้อยต้องอยู่จนได้เป็นเจ้าอาวาส ทั้งนี้เนื่องจากปู่ของท่านเคยบวชและได้เป็นเจ้าอาวาสมาแล้ว และคงเป็นเพราะเหตุนี้ด้วยกระมังท่านจึงมีอุปนิสัย รักบุญ เกรงกลัวบาป มิได้เพลิดเพลินคึกคะนองไปในวัยหนุ่มเหมือนบุคคลอื่น
ครั้นเมื่อได้รับอนุญาตจากบิดามารดาเรียบร้อยแล้วอย่างนี้ ท่านจึงได้ละฆราวาสวิสัยอย่างเข้าสู่ความเป็นสมณะตั้งแต่ปี พ.ศ. 2452 เมื่อท่านมีอายุได้ 22 ปี โดยมีพวกตระกูลเจ้าของเมืองที่เคยชุบเลี้ยงท่าน เป็นผู้จัดแจงในเรื่องการบวชให้ครบถ้วนทุกอย่าง ท่านได้บรรพชาอุปสมบท ณ พัทธสีมา วัดชุมพลสุทธาวาส ในเมืองสุรินทร์ โดยมี+ พระครูวิมลสีลพรต (ทอง) เป็น พระอุปัชฌาย์ พระครูบึก เป็น พระกรรมวาจาจารย์ พระครูฤทธิ์ เป็น พระอนุสาวนาจารย์
เมื่อแรกบวช ก็ได้ปฏิบัติกัมมัฏฐานกับหลวงปู่แอกวัดคอโค ซึ่งอยู่ชานเมืองสุรินทร์ วิธีการเจริญกัมมัฏฐานในสมัยนั้น ก็ไม่มีวิธีอะไรมากมายนัก วิชาที่หลวงปู่แอกสอนให้สมัยนั้น คือ จุดเทียนขึ้นมา 5 เล่ม แล้วนั่งบริกรรมว่า "ขออัญเชิญปีติทั้ง 5 จงมาหาเรา" ดังนี้เท่านั้นแต่หลวงปู่ดุลย์ก็พากเพียรปฏิบัติอย่างเคร่งครัด ด้วยความวิริยะอุตสาหะอย่างแรงกล้า พยายามบริกรรมเรื่อยมาจนครบไตรมาสโดยไม่ลดละ แต่ก็ไม่ปรากฏเห็นผลอันใดแม้เล็กน้อย
นอกจากนี้ยังได้ฝึกฝนทรมานร่างกายเพื่อเผาผลาญกิเลส ด้วยความเข้มงวดกวดขันการขบฉันอาหาร วันก่อนเคยฉัน 7 คำ ก็ลดเหลือ 6 คำ แล้วลดลงไปอีกตามลำดับจนกระทั่งรางกายซูบผอมโซเซ สู้ไม่ไหว จึงหันมาฉันอาหารตามเดิม ระยะนั้นก็ไม่ปรากฏเห็นผลอันใดแม้เล็กน้อย+ นอกจากนี้ก็ใช้เวลาที่เหลือท่องบ่นเจ็ดตำนานบ้าง สิบสองตำนานบ้าง แต่ไม่ได้ศึกษาพระวินัยเลย เรื่องวินัยที่จะนำมาประพฤติปฏิบัติขัดเกลากาย วาจา เพื่อเป็นรากฐานของสมาธิภาวนานั้น ท่านไม่ทราบ มิหนำซ้ำ ระหว่างที่อยู่วัดดังกล่าว พระในวัดนั้นยังใช้ให้ท่านสร้างเกวียนและเลี้ยงโคอีกด้วย ท่านจึงเกิดความสลดสังเวช และเบื่อหน่ายเป็นกำลัง แต่ก็อยู่มาจนกระทั่งได้ 6 พรรษา
เมื่อทราบข่าวว่า ที่จังหวัดอุบลราชธานีมีการเรียนการสอนพระปริยัติธรรม ก็เกิดความยินดีล้นพ้น รีบเข้าไปขออนุญาตท่านพระครูวิมลศีลพรต ผู้เป็นพระอุปัชฌาย์เพื่อไปศึกษา แต่ก็ถูกคัดค้านกลับมา ท่านมิได้ลดละคามพยายามไปขออยู่เรื่อยๆ จนกระทั่งพระอุปัชฌาย์เห็นว่าท่านมีความตั้งใจจริง จึงอนุญาตให้ไปได้โดยมีครูและครูดิษฐ์ไปเป็นเพื่อน
เมื่อแรกไปถึงจังหวัดอุบลฯ นั้น เขาไม่อาจรับท่านให้พำนักอยู่ที่วัดธรรมยุตได้เพราะต่างนิกายกัน แม้จะอนุมัติให้เข้าเรียนได้ก็ตาม ดังนั้น ท่านจึงต้องไปอยู่วัดหลวงซึ่งการบิณฑบาตเป็นไปได้ยากเสียเหลือเกิน พอดีหลวงพี่มนัส ซึ่งเดินทางไปเรียนก่อน ได้แวะไปเยี่ยมทราบความเข้า จึงพาท่านไปฝากอยู่อาศัยพร้อมทั้งศึกษาพระปริยัติธรรมไปด้วยที่วัดสุทัศนาราม แต่เนื่องจากวัดนี้เป็นวัดฝ่ายสงฆ์ธรรมยุตจึงไม่อาจให้ท่านอยู่ที่วัดได้ด้วยเหตุผลที่น่าฟังว่ามิได้รังเกียจ แต่เกรงจะเกิดผลกระทบต่อความเข้าใจอันดีระหวางผู้บริหารการคณะสงฆ์ของนิกายทั้งสอง
อย่างไรก็ดี ด้วยเมตตาธรรม ทางวัดสุทัศน์ ได้แสดงความเอื้อเฟื้อด้วยวิธีการอันแยบคาย โดยรับให้ท่านพำนักอยู่ในฐานะพระอาคันตุกะผู้มาเยี่ยมเยือน แต่อยู่นานหน่อยความเป็นอยู่ของท่านจึงค่อยกระเตื้องขึ้น คือเป็นไปได้สะดวกบ้าง+ ท่านพยายามมุมานะศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรมอย่างเต็มสติกำลัง จนกระทั่งประสบผลสำเร็จ คือ สามารถสอบไล่ได้ประกาศนียบัตรนักธรรมชั้นตรี นวกภูมิ เป็นรุ่นแรกของจังหวัดอุบลราชธานี และยังได้เรียนบาลีไวยกรณ์ (มูลกัจจายน์) จนสามารถแปลพระธรรมบทได้ นับว่าท่านได้บรรลุปณิธานที่ได้ตั้งไว้ ในการจากบ้านเกิดเมืองนอนไป ศึกษาต่อ ณ ต่างแดนแล้ว ที่กล่าวเช่นนี้ เพราะการคมนาคมระหว่าง สุรินทร์-อุบลฯ ในสมัยนั้นเป็นไปโดยยากจนนับได้ว่าเป็นต่างแดนจริงๆ
ต่อมาท่านได้พยายามอย่างยิ่งที่จะญัตติจากนิกายเดิมมา เป็นธรรมยุตติกนิกาย แต่ทางคณะสงฆ์ธรรมยุต โดยเฉพาะพระธรรมปาโมกข์ (ติสฺโส อ้วน) เจ้าคณะมณฑลในขณะนั้น ซึ่งเป็นพระเถระชั้นผู้ใหญ่ พระนักบริหารผู้มีสายตาไกลและจิตใจกว้างขวาง ได้ให้ความเห็นว่า "อยากจะให้ท่านศึกษาเล่าเรียนไปก่อนไม่ต้องญัตติ เนื่องจากทางคณะสงฆ์ธรรมยุตมีนโยบายจะให้ท่านกลับไปพัฒนาศึกษาพระปริยัติธรรมที่จังหวัดสุรินทร์บ้านเกิดของท่าน ให้เจริญรุ่งเรือง เพราะถ้าหากญัตติแล้วเมื่อท่านกลับไปสุรินทร์ท่านจะต้องอยู่โดดเดี่ยว เนื่องจากในสมัยนั้นยังไม่มีวัดฝ่ายธรรมยุตที่จังหวัดสุรินทร์เลย"
แต่ตามความตั้งใจของท่านเองนั้น มิได้มีความประสงค์จะกลับไปสอนพระปริยัติธรรมจึงได้พยายามขอญัตติต่อไปอีก
ในกาลต่อมา นับว่าเป็นโชคของท่านก็ว่าได้ ท่านมีโอกาสได้คุ้นเคยกับ ท่านอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม ท่านรับราชการครู ทั้งที่ยังเป็นพระสงฆ์อยู่ในขณะนั้นที่วัดสุทัศน์ จังหวัดอุบลฯ ท่านอาจารย์สิงห์ได้ชอบอัธยาศัยไมตรีของหลวงปู่ดุลย์ และเห็นปฏิปทาในการศึกษาเล่าเรียน พร้อมทั้งการประพฤติปฏิบัติกิจในพระศาสนาของท่าน ว่าเป็นไปด้วยความตั้งใจจริง ท่านอาจารย์สิงห์จึงได้ช่วยเหลือท่านในการขอญัตติ จนกระทั่งประสบผลสำเร็จ
ดังนั้น ใน พ.ศ. 2461 ขณะเมื่ออายุ 31 ปี ท่านจึงได้ญัตติจากนิกายเดิมมาเป็นพระภิกษุในธรรมยุตติกนิกาย ณ พัทธสีมาวัดสุทัศน์ฯ จังหวัดอุบลราชธานี โดยมี พระมหารัฐ เป็นพระอุปัชฌาย์ พระศาสนดิลก เจ้าคณะมณฑลอุดร เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ถ้าหากจะนับระยะเวลาที่ท่านไปอยู่ที่วัดสุทัศน์ในฐานะพระอาคันตุกะ จนกระทั่งได้รับเมตตาอนุญาตให้ได้ญัตติก็เป็นเวลานานถึง 4 ปี รวมเวลาที่ดำรงอยู่ในภาวะของนิกายเดิมก็เป็นเวลานานถึง 10 ปี
จากการที่ได้ศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรมและพิจารณาข้อธรรมะเหล่านั้นจนแตกฉานช่ำชองพอสมควรแล้ว ก็เห็นว่าการเรียนปริยัติธรรมอย่างเดียวนั้นเป็นแต่เพียงการจำหัวข้อธรรมะได้เท่านั้น ส่วนการปฏิบัติให้ได้ผลและได้รู้รสพระธรรมอย่างซาบซึ้งนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่งต่างหาก จึงบังเกิดความเบื่อหน่ายและท้อถอยในการเรียนพระปริยัติธรรมและมีความสนใจโน้มเอียงไปในทางปฏิบัติธรรม ทางธุดงค์กัมมัฏฐานอย่างแน่วแน่
นับว่าเป็นบุญลาภของหลวงปู่ดุลย์อย่างประเสริฐ ที่ในพรรษานั้นเองท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ พระปรมาจารย์ผู้ยิ่งใหญ่ฝ่ายอารัญญวาสี ได้เดินทางกลับจากธุดงค์กัมมัฏฐาน มาพำนักจำพรรษาอยู่ที่วัดบูรพา จังหวัดอุบลราชธานี ข่าวที่พระอาจารย์มั่นมาจำพรรษา ที่วัดบูรพานั้นเลื่องลือไปทุกทิศทาง ทำให้ภิกษุสามเณร บรรดาศิษย์ และประชาชนแตกตื่นฟื้นตัวพากันไปฟังพระธรรมเทศนาของพระอาจารย์มั่น+ หลวงปู่ดุลย์กับอาจารย์สิงห์ 2 สหายก็ไม่เคยล้าหลังเพื่อในเรื่องเช่นนี้ พากันไปฟังธรรมเทศนาของพระอาจารย์มั่นกันเป็นประจำ ไม่ขาดแม้สักครั้งเดียว นอกจากได้ฟังธรรมะแปลกๆ ที่สมบูรณ์ด้วยอรรถพยัญชนะ มีความหมายลึกซึ้งและรัดกุมกว้างขวาง ยังได้มีโอกาสเฝ้าสังเกตปฏิปทาของท่านพระอาจารย์มั่น ที่งดงามน่าเลื่อมใสทุดอิริยาบถอีกด้วย ทำให้เกิดความซาบซึ้งถึงใจคำพูดแต่ละคำมีวินัยแปลกดี ไม่เคยได้ยินได้ฟังมาก่อน จึงเพิ่มความสนใจใคร่ประพฤติปฏิบัติทางธุดงค์กัมมัฏฐานมากยิ่งขึ้นทุกทีฯ
ครั้นออกพรรษาแล้วท่านอาจารย์มั่นได้ออกธุดงค์อีก ภิกษุ 2 รูป คือ พระอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโมกับหลวงปู่ดุลย์ จึงตัดสินใจสละทิ้งการสอนการเรียน ออกธุดงค์ติดตามพระอาจารย์มั่นไปทุกแห่ง จนตลอดฤดูกาลนอกพรรษานั้น
ตามธรรมเนียมธุดงค์กัมมัฏฐานของพระอาจารย์มั่นมีอยู่ว่า เมื่อถึงกาลเข้าพรรษาไม่ให้จำพรรษารวมกันมากเกินไป ให้แยกกันไปจำพรรษาตามสถานที่อันวิเวก ไม่ว่าจะเป็นวัด เป็นป่า เป็นถ้ำ เป็นเขา โคนไม้ ป่าช้า ลอมฟาง เรือนว่าง หรืออะไรตามอัธยาศัยของแต่ละบุคคล แต่ละคณะ
เมื่ออกพรรษาแล้ว หากทราบข่าวว่าพระอาจารย์มั่นอยู่ ณ ที่ใดพระสงฆ์ก็พากันไปจากทุกทิศทุกทางมุ่งไปยัง ณ ที่นั้นเพื่อเรียนพระกัมมัฏฐานและเล่าแจ้งถึงผลการประพฤติปฏิบัติที่ผ่านมา เมื่อมีอันใดผิดพระอาจารย์จัดได้ช่วยแนะนำแก้ไข อันใดถูกต้องดีแล้วท่านจักได้แนะนำข้อกัมมัฏฐานยิ่งๆ ขึ้นไป
ดังนั้น เมื่อจวนจะถึงกาลเข้าปุริมพรรษา คือ พรรษาแรกแห่งการธุดงค์ของท่าน คณะหลวงปู่ดุลย์ จึงพากันแยกจากท่านพระอาจารย์มั่น เดินธุดงค์ผ่านไปทางอำเภอท่าคันโท จังหวัดกาฬสินธุ์ ครั้นถึงป่าท่าคันโท ก็สมมติทำเป็นสำนักวัดป่า เข้าพรรษาด้วยกัน 5 รูป คือ
ท่านพระอาจารย์สิงห์
ท่านพระอาจารย์บุญ
ท่านพระอาจารย์สีทา
ท่านพระอาจารย์หนู
ท่านพระอาจารย์ดุลย์ อตุโล (คือ ตัวหลวงปู่เอง)
ทุกท่านปฏิบัติตามปรารภความเพียรอย่างอุกฤษฎ์แรงกล้า ปฏิบัติตามคำอบรมสั่งสอนของท่านปรมาจารย์อย่างสุดขีด ครั้งนั้น บริเวณแห่งนั้นเป็นสถานที่ทุรกันดาร เกลื่อนกล่นไปด้วยสัตว์ป่าที่ดุร้าย ไข้ป่าก็ชุกชุมมาก ยากที่จะดำรงชีวิตอยู่ได้
ดังนั้นยังไม่ทันถึงครึ่งพรรษาก็ปรากฏว่า อาพาธเป็นไข้ป่ากันหมด ยกเว้นท่านอาจารย์หนูองค์เดียว ต่างก็ได้ช่วยรับใช้พยาบาลกันตามมีตามเกิด หยูกยาที่จะนำมาเยียวยารักษากันก็ไม่มีความป่วยไข้เล่าก็ไม่ยอมลดละ จนกระทั่งองค์หนึ่งถึงแก่มรณภาพลงในกลางพรรษานั้น ต่อหน้าต่อตาเพื่อนสหธรรมิกอย่างน่าเวทนา
สำหรับหลวงปู่ดุลย์ ครั้นได้สำเหนียกรู้ว่า มฤตยูกำลังคุกคามอย่างแรงทั้งหยูกยาที่จะนำมารักษาพยาบาลก็ไม่มี จึงตัดเตือนตนว่า "ถึงอย่างไร ตัวเราจักไม่พ้นเงื้อมมือของความตายในพรรษานี้เป็นแน่แล้ว เมื่อเป็นเช่นนี้ แม้นเราจักตาย ก็จงตายในสมาธิภาวนาเถิด" จึงปรารภความเพียรอย่างเอาเป็นเอาตาย ตั้งสติให้สมบูรณ์พยายามดำรงจิตให้อยู่ในสมาธิอย่างมั่นคงทุกอริยาบถ พร้อมทั้งพิจารณาความตาย คือ มีมรณัสสติกัมมัฏฐานเป็นอารมณ์ไปด้วยโดยไม่ย่อท้อพรั่นพรึงต่อมรณภัยที่กำลังคุกคามจะมาถึงตัวในไม่ช้านี้เลย
ณ ป่าท่าคันโท จังหวัดกาฬสินธุ์นี้เอง การปฏิบัติทางจิตที่หลวงปู่ดุลย์พากเพียรบำเพ็ญอยู่อย่างไม่ลดละ ก็ได้บังเกิดผลอย่างเต็มภาคภูมิ กล่าวคือ ขณะที่นั่งภาวนาอยู่ตั้งแต่หัวค่ำจนดึกมากนั้น จิตก็ค่อยๆ หยั่งลงสู่ความสงบและให้บังเกิดนิมิตขึ้นมา คือ เป็นพระพุทธรูปปรากฏขึ้นที่ตัวของท่าน ประหนึ่งว่าตัวของท่านเป็นพระพุทธรูปองค์หนึ่ง ท่านพยายามพิจารณารูปนิมิตต่อไปอีก แม้ขณะที่ออกจากที่บำเพ็ญสมาธิภาวนาแล้วและขณะออกเดินไปสู่ละแวกบ้านป่า เพื่อบิณฑบาต ก็เป็นปรากฏอยู่เช่นนั้น
วันต่อมาอีกก่อนที่รูปนิมิตจะหายไป ขณะที่เดินกลับจากบิณฑบาต ท่านได้พิจารณาดูตนเองก็ได้ปรากฏเห็นชัดว่า เป็นโครงกระดุกทุกส่วนสัด วันนั้นจึงเกิดความรู้สึกไม่อยากฉันอาหารจึงอาศัยความเอิบอิ่มใจของสมาธิจิตกระทำความเพียรต่อไป เช่น เดินจงกรมบ้าง นั่งสมาธิบ้างตลอดวันตลอดคืน และแล้วในขณะนั้นเองแสงแห่งพระธรรมก็บังเกิดขึ้น ปรากฏแก่จิตของท่าน
รู้ชัดว่าอะไรคือจิต อะไรคือกิเลส จิตปรุงกิเลสหรือกิเลสปรุงจิต และเข้าใจสภาพเดิมของจิตที่แท้จริงได้จนรู้กิเลสส่วนไหนละได้แล้ว ส่วนไหนยังละไม่ได้ ดังนี้
1. บำเพ็ยเพียรภาวนาเป็นปกติไม่ขาดสาย ไม่เคยขาดตกบกพร่อง กลางคืนจะพักผ่อนเพียง 2 ชั่วโมงเท่านั้น
2. ฉันมื้อเดียวตลอดมา เว้นแต่เมื่อมีกิจนิมนต์จึงฉัน 2 มื้อ
3. มีความเป็นอยู่ง่าย เมื่อขาดไม่ดิ้นรนแสวงหา เมื่อมีไม่สั่งสม เป็นอยู่ตามมีตามเกิดเจริญด้วยยถาลาภสันโดษ (คือสันโดษ ได้อย่างไร บริโภคอย่างนั้น)
4. มีสัจจะ พูดอย่างไรต้องทำอย่างนั้น มีความตั้งใจจริง จะทำอะไรแล้วต้องทำจนสำเร็จ
5. สัลลหุกวุตติ เป็นผู้มีความประพฤติเบากาย เบาใจ คือ เป็นผู้คล่องแคล่วว่องไว เดินตัวตรงและเร็ว แม้เวลาตื่นนอนพอรู้สึกตัวท่านจะลุกขึ้นทันที เหมือนคนที่พร้อมอยู่ตลอดเวลา
6. นิยมการทำตัวง่ายๆ สบายๆ ไม่มีพิธีรีตอง มักตำหนิผู้ที่เจ้าบทบาท มากเกินควร
7. การปฏิสันถาร ท่านปฏิบัติเป็นเยี่ยมตลอดมา+ หลวงปู่ดุลย์ เป็นผู้มีอุปนิสัยเยือกเย็น พูดน้อย สงบ อยู่เป็นนิตย์ มีวรรณผ่องใส ท่านรักความสงบจิตใจใฝ่ในความวิเวกมาก จะเห็นได้ว่าท่านชอบสวดมนต์บท "อรญฺเญ รุกขมูเลวา สุญฺญาคาเรวา ภิกฺขโว ... " มาก
ธรรมโอวาท
สำหรับหลวงปู่ดุลย์ นั้น ท่านเล่าว่าได้ตริตรองพิจารณาตามหัวข้อกัมมัฏฐานว่า "สพฺเพ สงฺขารา อนิจฺจา สพฺเพ สญฺญา อนตฺตา" ที่ท่านพระอาจารย์มั่นให้มา ในเวลาต่อมาก็เดิความสว่างไสวในใจชัดว่า เมื่อสังขารขันธ์ดับได้แล้ว ความเป็นตัวตนจักมีไม่ได้ เพราะไม่ได้เข้าไปเพื่อปรุงแต่ง ครั้นความปรุงแต่งขาดไป ความทุกข์จะเกิดขึ้นอย่างไร และจับใจความอริยสัจจแห่งจิตได้ว่า
1. จิตที่ส่งออกนอก เพื่อรับสนองอารมณ์ทั้งสิ้น เป็นสมุทัย
2. ผลอันเกิดจากจิตที่ส่งออกนอกแล้วหวั่นไหว เป็นทุกข์
3. จิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้ง เป็นมรรค
4. ผลอันเกิดจากจิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้ง เป็นนิโรธ
แล้วท่านเล่าว่า เมื่อทำความเข้าใจในอริยสัจทั้ง 4 ได้ดังนี้แล้ว ก็ได้พิจารณาทำความเข้าใจใน ปฏิจฺจสมุปบาท ได้ตลอดทั้งสาย
คติธรรม ที่ท่านสอนอยู่เสมอ คือ+ "อย่าส่งจิตออกนอก" "จงหยุดคิดให้ได้" "คิดเท่าไหร่ ก็ไม่รู้ ต้องหยุดคิดให้ได้จึงรู้ แต่ก็ต้องอาศัยความคิด นั่นแหละจึงรู้"
"คนในโลกนี้ต้องมีสิ่งที่มี เพื่ออาศัยสิ่งนั้นเป็นผู้ปฏิบัติธรรมต้องปฏิบัติถึงสิ่งที่ไม่มีและอยู่กับสิ่งที่ไม่มี"
ปัจฉิมบท
สังขารธรรมหนึ่งอุบัติขึ้นเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2430 ณ บ้านปราสาท ตำบลเฉลียง อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์ ได้เจริญเติบโตและรุ่งเรืองมาโดยลำดับตามวัย ได้ดำเนินชีวิตอย่างถูกต้องดีงามอยู่ภายใต้ผ้ากาสาวพัสตร์เป็นเวลานานถึง 64 พรรษา ท่านประพฤติปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดีงามของชาวพุทธตลอดเวลา เป็นเนื้อนาบุญของโลก ท่าทนเป็นพุทธสาวกอย่างแท้จริง ได้บำเพ็ญประโยชน์แก่ผู้อื่นอย่างสมบูรณ์บริบูรณ์ บัดนี้สังขารขันธ์นั้นได้ดับลงแล้ว ตาม สภาวธรรม เมื่อ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2526
แม้ว่า หลวงปู่ดุลย์ อตุโล ได้สละทิ้งร่างกายไปแล้ว แต่เมตตาธรรมที่ท่านได้ประสาทไว้แก่สานุศิษย์ทั้งหลาย ยังเหลืออยู่ คุณธรรมดังกล่าวยังคงประทับอยู่ในจิตใจของทุกๆ คนไม่ลืมเลือน
"พระอาจารย์ดูลย์ อตุโล" วัดบูรพาราม มรณภาพลงอย่างสงบ เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2526 สิริอายุ 96 ปี พรรษา 64 |