สาเหตุที่พ่อท่านฯ ชอบสร้างวัตถุมงคล และมีวัตถุมงคลหลากหลายรุ่น และรูปแบบ น่าจะมาจาก
1. พ่อท่านฯ เป็นพระมาจาก ต.ท่าหิน อ.สทิงพระ จ.สงขลา ซึ่งท่านเกิดและเติบโตในพื้นที่ของคนดีมีวิชา ครูบาอาจารย์ดี ๆ เก่ง ๆ ทั้งนั้น (*J* วัตถุมงคลส่วนหนึ่ง พ่อท่านฯ คงจะสร้างเพื่อสืบทอดวิชาความรู้ และบูชาคุณครูบาอาจารย์ )
2. ในช่วง พ.ศ. 2482-2488 เป็นช่วงสงครามอินโดจีน และสงครามโลกครั้งที่ 2 พ่อท่านฯ เป็นพระ ไม่อาจช่วยเหลือประเทศชาติในด้านการต่อสู้กับข้าศึกศัตรูได้ จึงได้จัดสร้างวัตถุมงคลเพื่อมอบให้แก่ทหาร ดังเช่น มีการเล่ากันว่า เมื่อเกิดสงครามอินโดจีน ท่านได้นำวัตถุมงคลจำนวนมาก เข้ากรุงเทพฯ เพื่อมอบให้จอมพล ป. พิบูลสงคราม เพื่อแจกจ่ายให้แก่ทหารที่ไปสงครามอินโดจีน
3. พ่อท่านฯ เป็นท่านพระนักพัฒนา การพัฒนาวัดแหลมทรายเป็นเป้าหมายสูงสุดของท่าน เพื่อเป็นการตอบแทนแก่ผู้บริจาคปัจจัย เพื่อช่วยสร้างถาวรวัตถุและพัฒนาวัด ท่านจึงได้มอบวัตถุมงคลเป็นการตอบแทนน้ำใจของผู้บริจาคและเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ ให้ระลึกถึงคุณพระรัตนตรัย
ดังเช่นที่กล่าวมา จึงทำให้วัตถุมงคลของท่านมีมากมายหลายรูปแบบหลากหลายรุ่น บางรุ่นท่านก็ไปร่วมปลุกเสกวัตถุมงคลให้กับวัดอื่น ๆ ท่านก็นำกลับมาแจกจ่ายที่วัดแหลมทรายด้วย ต่อไปนี้จะเป็นข้อมูลวัตถุมงคลที่พอจะรวบรวมได้
1. พระโสฬสธาตุ รุ่น 1 (พระปิดตา รุ่น 1)

เอื้อเฟื้อภาพโดย คุณก้อง หาดใหญ่

เอื้อเฟื้อภาพโดย คุณโจ้ พัทลุง

พิมพ์ไม่ตัดปีก เอื้อเฟื้อภาพโดย พี่แหลม สงขลา ภาพจากหนังสือสุดยอดพระเครื่อง
ปีที่สร้าง : ปี พ.ศ. 2484 (ข้อมูลจากคำสัตยาธิษฐานของหลวงพ่อ ในการจัดสร้างพระโสฬสธาตุ รุ่น 2) ซึ่งเป็นช่วงสงครามอินโดจีน
ลักษณะ : จะเป็นองค์พระปิดตานั่งลอยองค์ขนาดเล็ก ด้านหลังองค์พระเป็นอักขระขอม เนื้อโลหะเป็นทองผสม มีวรรณะเหลืองอมเขียว ในส่วนของโลหะที่ประกอบกันเป็นองค์พระ เกิดจากการเรี่ยไรโลหะต่าง ๆ จากผู้มีจิตศรัทธา เช่น ขันลงหินชำรุด , ภาชนะทองเหลือง , โลหะทุกชนิด มีทอง นาค เงิน รวมถึงพ่อท่านฯ ได้นำแผ่นโลหะทองแดง ขนาด 4 x 5 นิ้ว ส่งไปให้บรรดาพระเกจิอาจารย์ในสมัยนั้น ให้เขียนยันต์ลงในแผ่นทองแดงแล้วส่งคืนมา เพื่อทำพิธีหล่อ พระโสฬสธาตุ
สำหรับที่มาของชื่อ พระโสฬสธาตุ ก็เป็นเพราะพระปิดตารุ่นนี้ มีส่วนผสมของโลหะยอดศาสนสถาน อันศักดิ์สิทธิ์ เช่น โบสถ์ อุโบสถ พระเจดีย์วิหาร พระปรางค์ และสถูปต่าง ๆ รวมกันแล้ว เป็นจำนวนโสฬส คือ 16 ยอดพอดี (ยอดของศาสนสถานเหล่านี้ ถือเป็นของสูงและศักดิ์สิทธิ์ และเป็นแหล่งรวมพลังศรัทธาของผู้ไปกราบไหว้บูชา
นอกจากนี้ท่านยังได้ทำการจารแผ่นยันต์ด้วยยันต์โสฬสมงคล ซึ่งเป็นยันต์โบราณ มีค่าโดยประมาณมิได้ เป็นยันต์ที่ท่านได้เรียนมาจากสมเด็จพระสังฆราช ( แพ ) วัดสุทัศน์ อาจารย์ของท่าน เมื่อรวบรวมเนื้อโลหะได้มากพอแล้ว ท่านก็ได้ทำการหล่อออกมาเป็นองค์พระเล็ก ๆ ขนาดเท่าปลายนิ้วก้อย โดยได้ทำพิธีเททองและพุทธาภิเษก ณ วัดชัยมงคล อำเภอ เมืองสงขลา โดยได้ทำการปลุกเสกอยู่ 16 วันเต็ม ๆ
*หมายเหตุ* ในพิธีท่านได้ถือเคล็ด โดยสั่งให้มหรสพทุกประเภท เช่น หนังตะลุง มโนราห์ ที่มาแสดงในงานนี้ ในทุกเรื่องทุกตอนของการแสดง ห้ามไม่ให้มีการตายเกิดขึ้น ถ้าพ่ายแพ้ก็ให้หลบหนีไปได้ ไม่ถูกฆ่าตาย เพื่อเป็นการเอาเคล็ด และในขณะทำพิธีหลอมโลหะอยู่นั้น โลหะที่กำลังหลอมเหลวด้วยความร้อนได้เกิดระเบิด เศษของโลหะที่กำลังหลอมได้กระเด็นไปโดนผู้ร่วมในพิธี แต่ก็ไม่มีผู้ใดร้อน หรือได้รับอันตรายใดเลย
สิ่งมหัศจรรย์ในพิธี ได้มีปรากฎการณ์ผิดธรรมชาติ คือ มีผึ้งยวนมาเกาะตัวกันเป็นรังยาวอยู่ในโรงพิธี โดยได้มาทำรังเกาะกัน อยู่ตั้งแต่ตอนเริ่มพิธี และเมื่อเสร็จพิธีพุทธาภิเษก ผึ้งเหล่านั้น ก็หายไปหมดโดยไม่ได้มีใครไปไล่ หรือทำอะไรผึ้งเหล่านี้เลย
พระโสฬสธาตุ รุ่น 1 นี้ เมื่อสร้างเสร็จก็ได้นำไปแจกจ่ายให้กับทหารหาญของชาติ ณ ค่ายทหารคอหงษ์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา , ค่ายทหารปืนใหญ่ ร.พัน ๑๓ สวนตูล ตำบลเขารูปช้าง อ.เมือง จ.สงขลา และค่ายทหารบ่อทอง อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ส่วนที่เหลือก็ได้แจกจ่ายแก่ประชาชนทั่วไป
คาถากำกับพระโสฬสธาตุ รุ่น 1 ก่อนจะแขวนหรืออม (เพราะพระองค์เล็กมาก บางท่านใช้อมไว้ในปาก) ต้องเสกด้วย พระคาถานี้ พุทธังแคล้วคลาด พระพุทธเจ้าย่างบาท อิติปิโสภควา ธัมมังแคล้วคลาด พระพุทธเจ้าย่างบาท อิติปิโสภควา สังฆังแคล้วคลาด พระพุทธเจ้าย่างบาท อิติปิโสภควา แล้วเอาพระแขวนคอ หรืออม เดินภาวนา นอนภาวนา
ข้อห้าม : พระติดอยู่กับตัวห้ามสังวาสด้วยมาตุคามฯ , ห้ามไม่ให้มีความประมาท เช่น เอาพระผูกคอสัตว์หรือต้นไม้แล้วยิงเพื่อทดลอง
ใบโพย
2. เสื้อยันต์กันภัย


เอื้อเฟื้อภาพโดย คุณโก๋ สงขลา



ในช่วงระหว่างสงครามนั้น นอกจากพระเครื่องแล้ว พ่อท่านฯ ได้ทำเสื้อยันต์สีแดงขึ้นมา เพื่อแจกทหารที่ร่วมรบกับทหารญี่ปุ่น เสื้อยันต์นี้ดีทางแคล้วคลาด และคงกระพัน
ปีที่สร้าง : ประมาณปี พ.ศ. 2484 ลักษณะ : เป็นเสื้อยันต์สีแดง พิมพ์เป็นลายยันต์ต่าง ๆ ผสมด้วยอักขระขอม ลักษณะคล้ายเสื้อคอกลม ไม่เย็บตะเข็บด้านข้างตัว แต่ใช้วิธีผูกคล้ายเสื้อม่อฮ่อมแทน
3. ผ้ายันต์


ปีที่สร้าง : น่าจะสร้างพร้อมกับเสื้อยันต์ คือ พ.ศ. 2484 เนื่องจากอักขระและลายยันต์ที่พิมพ์ลงไปบนผ้า เป็นแบบเดียวกัน
ลักษณะ : เป็นผ้ายันต์ลักษณะสี่เหลี่ยมผืนผ้า สีแดง พิมพ์เป็นลายยันต์ต่าง ๆ ผสมด้วยอักขระขอม มีอักษรไทยว่า วัดแหลมทราย จังหวัดสงขลา เป็นอักขระและลายยันต์แบบเดียวกับเสื้อยันต์
เอื้อเฟื้อภาพโดย คุณเลสาบสงขลา
4. เหรียญเนื้อตะกั่ว พิมพ์พัทธสีมา (เหรียญแจกแม่ครัว) >

เอื้อเฟื้อภาพโดย คุณเลสาบ สงขลา
เหรียญนี้ได้ข้อมูลปีที่สร้างมาจากหนังสือคู่มือพระส่งประกวด ในนิทรรศการประกวดพระเครื่องพระบูชาและเหรียญคณาจารย์ทั่วประเทศ ซึ่งได้จัดในวาระฉลองครบรอบ 100 ปี ของโรงเรียนมหาวชิราวุธ เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2539 โดยเป็นหนึ่งในประเภทพระของจังหวัดสงขลาที่มีการจัดประกวด
ปีที่สร้าง : ประมาณปี พ.ศ. 2484 (น่าจะสร้างพร้อมกับพระปิดตา รุ่น 1)
ลักษณะ : เป็นเหรียญเนื้อตะกั่ว พิมพ์พัทธสีมา ด้านหน้ามีภาพองค์พระพุทธประทับนั่ง หลังองค์พระพุทธเป็นเสนาธรรมจักร มีกวางหมอบอยู่ข้างใต้ ด้านล่างของเหรียญมีอักษรว่า วัดแหลมทราย
ด้านหลังเหรียญ เป็นยันต์ มีตรีอยู่ใต้ยันต์ และมีคำว่า สงขลา อยู่ด้านล่าง เป็นเหรียญมีรูสำหรับใส่ห่วงในตัว
วัตถุประสงค์ในการสร้าง : (*J* จากชื่อของเหรียญที่ใช้ในประเภทที่จัดประกวด คงจะเป็นเหรียญที่จัดสร้างเพื่อแจกเป็นที่ระลึกให้กับบรรดาแม่ครัว ผู้มาร่วมทำอาหารถวายพระภิกษุและประชาชนทั่วไปที่มาร่วมในพิธีพุทธาภิเษกพระโสฬสธาตุ รุ่น 1 (พระปิดตา รุ่น 1) ในขณะนั้น ซึ่งใช้เวลาในการพุทธาภิเษก ณ วัดชัยมงคล ถึง 16 วันเต็ม)
*หมายเหตุ* เหรียญนี้จะมีลักษณะคล้ายกับเหรียญที่ระลึกพิธีฉลองอุโบสถหลวงพ่อ วัดเขาตะเครา |