เว็บลิ้งค์ชมรมต่างๆ

เว็บไซต์วัดเกจิดังในสยาม
วัดอัมพวัน จ. สิงห์บุรี
วัดหนองป่าพง จ. อุบลฯ
วัดเขาแหลม จ. สระแก้ว
หลวงพ่อกวย วัดโฆสิตาราม
วัดหัวป่า อ. ระโนด จ. สงขลา
วัดแก้วโกรวาราม จ. กระบี่
หลวงปู่ดุลย์ อตุโล
หลวงสมชาย วัดเขาสุกิม
ป้อนหมายเลขสิ่งของ


***พิมพ์หมายเลขสิ่งของจำนวน 13 หลัก

รายละเอียดเพิ่มเติม

  หน้าหลัก  :  อดีตสู่ปัจจุบัน  :  เว็บบอร์ดชมรม  :  ตารางประกวดพระ  :  สาระน่ารู้  :  เล่าสู่กันฟัง  :  ติดต่อเรา
ประวัติเกจิอาจารย์ดัง: หลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม
หลวงพ่อเงิน จันทสุวัณโณ
02-04-2010 Views: 8197
พระราชธรรมมาภรณ์ (หลวงพ่อเงิน จันทสุวัณโณ)

เทพเจ้าแห่งดอนยายหอม

วัดดอนยายหอม อ. เมือง จ. นครปฐม

หลวงพ่อเงิน จันทสุวัณโณนับเป็นพระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบอีกรูปหนึ่ง ที่มีปฏิปทาน่าเลื่อมใสศรัทธายิ่งนัก ท่านเป็นพระผู้มีจิตเมตตาต่อศิษยานุศิษย์และประชาชน ทั่วไป

หลวงพ่อเงิน จันทสุวัณโณ ถือกำเนิดที่บ้านดอนยายหอม อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม บิดาของท่านชื่อ นายพรม ด้วงมูล มารดาชื่อ นางกรอง ด้วงมูล บิดาของท่านเป็นผู้ที่มีเมตตาจิต เอื้ออารีต่อเพื่อนมนุษย์ทุกคน และยังเป็นผู้ที่ตั้งตนอยู่ในศีลในธรรม เป็นผู้ที่ขยันทำมาหากินโดยสัมมาอาชีวะครอบครัวของนายพรมจึงได้รับการยกย่องนับถือจากชาวบ้านดอนยายหอมอย่างทั่วถึง

พญานาคทองคำ

พระอุโบสถ

ก่อนที่หลวงพ่อเงินจะถือกำเนิดเกิดมานั้น นางกรองผู้เป็นมารดาได้ฝันไปว่า ขณะที่นางกำลังนั่งพักผ่อนอยู่ในบ้าน หูของนางก็แว่วเลียงประหลาด เหมือนมีพายพัดกระหน่ำมาจากแดนไกลไม่ขาดระยะ

นางจึงรีบ ออกไปดูที่ชานเรือน ก็หาได้มองเห็นความวิปริตจากท้องฟ้าอย่างใดไม่ จะว่าฝนตั้งเค้าหรือ เมฆหมอกก็ยัง แจ่มกระจ่างอยู่ แต่เสียงประดุจพายุลูกใหญ่พัดกระหน่ำมาจากทิศประจิมนั้น ดูจะโหมกระหน่ำหนักไปกว่าเดิมเสียอีก

ด้วยความแปลกประหลาดใจนางกรองได้หันไปมองรอบ ๆ ทิศเพื่อจะหาเค้าของพยับโพยมบนเมฆาก็ไม่พบสาเหตุ

ฉับพลันทันใด นางก็ได้เหลือบไปเห็นสิ่งหนึ่งมีสีเหลืองอร่ามแวววาวเช่นทองคำบริสุทธิ์ ลอยลิ่วลงมาจากฟากฟ้าเบื้องบน และค่อยๆไหลเลื่อนลงมาตกลง ณ นอกชานจนเรือนไหวสะท้านไปทั้งหลัง !

นางกรองประสบเหตุมหัศจรรย์เช่นนั้น ก็พลันเกิดอาการกิริยาขนพองสยองเกล้า หากทว่าไม่สามารถที่จะเปล่งเสียงร้องออกมาจากลำคอของนางได้ ได้แต่ยืนตกตะลึงตัวแข็งอยู่กับที่เหมือนต้องมนต์สะกดจากอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญเวทกระนั้น!

และแล้วภาพที่ปรากฏเบื้องหน้านางกรองขณะนี้ก็คือ สิ่งที่ตกลงมาจากฟากฟ้านั้นได้กลับกลายเป็นพญานาคที่มีลำตัวเป็นสีทองประกายกล้าหมอบอยู่เบื้องหน้า !

พญานาคทองคำตัวนั้นได้บอกแก่นางด้วยภาษาของมนุษย์ว่า

“แม่จ๋า! ขอแม่อย่าได้ตกอกตกใจไปเลย ฉันมาดี ไม่ได้มาร้ายไม่ได้จะมาทำร้ายแม่ แต่ฉันจะมาขออาศัยอยู่ด้วยกับแม่

ว่าแล้วก็เลื้อยปราดๆ เข้ามาหา นางกรองก็เกิดหวาดกลัวสุดขีด สะดุ้งตื่นขึ้น ณ บัดนั้น! ครั้นรุ่งเช้านางจึงได้เล่าความฝันให้นายพรมฟังโดยละเอียด

นายพรมฟังแล้วนั่งไปชั่วครู่ ทำกิริยาเสมือนนั่งสมาธิ แล้วจึงบอกว่า

“เราจะได้ลูกชายอีกคนหนึ่งทีเปรื่องปราดในวิชา และเป็นคนที่มีศีลธรรมล้ำเลิศ ถ้าลูกคนนี้ได้บวชเรียน จะต้องเป็นสมภารเจ้าวัดอย่าง แน่นอน !”

แล้วเหตุการณ์ทั้งหลายที่บังเกิดขึ้น ก็ตรงกับคำทำนายของนายพรมทุกประการ เพราะนางกรองได้ตั้งครรภ์ขึ้นมาจริงๆ และมีอาการแปลกประหลาดพิสดารกว่าเมื่อครั้งก่อนๆ เป็นอันมาก

ด้วยอาการแพ้ท้องของนางครั้งนี้ มิรู้ว่าด้วยสาเหตุอันใด จึงทำให้นางกรองรังเกียจของสดของคาวเป็นกำลัง ไม่ว่าจะเป็นเนื้อหมู เนื้อปลาหรือเนื้อไก่ เมื่อนางได้กลิ่นก็จะอาเจียนทันที ไม่ว่าใครจะต้มจะแกงมาอย่างดีวิเศษเพียงไหน นางกรองก็ไม่ยอมแตะต้องแม้แต่คำเดียว

ที่น่าอัศจรรย์ไปยิ่งกว่านั้นก็คือ ของที่นางกรองชอบรับประทานเมื่อมีอาการแพ้ท้องคราวนั้น มีเพียงสองอย่างเท่านั้นก็คือ ผลไม้กับ ดินของสองสิ่งนี้นางกรองชอบรับประทานยิ่งนัก โดยเฉพาะดินแล้วชอบดินขุยรูปู หรือดินสอพอง นายพรมต้องเตรียมหามาไว้เป็นจำนวนมาก เพื่อตุนเอาไว้ไม่ให้ขาดแคลนได้

นามว่าเงิน

ศาลาการเปรียญ

ครั้นถึงวันอังคาร ขึ้นสามค่ำเดือนสิบ ปีขาล นางกรองก็ให้กำเนิดทารกน้อย เพศชายที่มีสุขภาพสมบูรณ์ ผิวพรรณผ่องใส มีปานสีขาวเป็นตำหนิที่หน้าอกเบื้องซ้ายและมีปานสีแดงเข้มเป็นรูปใบโพธิเป็นตำหนิที่ต้นแขนซ้ายอีกแห่งหนึ่ง

นับตั้งแต่เด็กชายผู้นี้เกิดมา ก็ปรากฏว่านายพรมและนางกรองมีลาภผลเนืองนอง ทำมาค้าขายก็ได้กำไรหลายสิบเท่าตัว ไม่ว่าจะจับอะไรก็ดูจะเป็นเงินเป็นทองไปหมด

ด้วยเหตุนี้บิดามารดาจึงได้ตั้งนามแก่เด็กผู้นี้ว่า เงิน แต่นั้นมาเด็กชายเงินผู้นี้มีอุปนิลัยผิดแผกแตกต่างจากเพื่อนรุ่นเดียวกัน คือ ในยามที่เด็กคนอื่นเล่นซุกซนเป็นลิงเป็นค้างอยู่นั้น เด็กชายเงินจะหยิบไม้กวาดมาเที่ยวกวาดถนนหนทางในบริเวณใกล้เคียงตามแถวนั้น จนแลดูสะอาดสะอ้าน ผู้ใดทำพิเศษของทิ้งหล่นเปรอะเปื้อน เด็กชายเงินก็จะไปหยิบนำมารวมเป็นกองไว้แห่งหนึ่ง

แต่สิ่งที่เด็กชายเงินชอบมากที่สุด ได้แก่ การเล่นบวชนาค ถ้าชวนเพื่อนทั้งหลายบวชนาคได้มากเท่าใด เด็กชายเงินจะมีความเบิกบานเป็นที่สุด แล้วตัวเองก็จะเอาผ้าห่มมาคลุมแทนจีวร วางท่าทางภาคภูมิดุจพระอุปัชฌาย์ฉะนั้น

การเล่นที่แปลกออกไปจากนี้ได้แก่ สมมุติว่าตัวเป็นเศรษฐีผู้มีใจกุศล โดยเก็บกระเบื้องกลมๆ หรือฝาหอยที่สมมุติเป็นเงินมาแจกเป็นทานแก่เพื่อนๆ ที่ทำเป็นยาจกเข็ญใจ อันแสดงให้เห็นว่าเด็กชายเงินผู้นี้มีจิตเปี่ยมด้วยทานมาแต่ยังเยาว์วัย

เมื่อเด็กชายเงินเติบโตพอจะเข้าโรงเรียนได้ พ่อแม่ก็ส่งเด็กชายเงินเล่าเรียน แต่จะเรียน ณ โรงเรียนแห่งไหน ในเมื่อสมัยนั้นแม้วัดก็ยังไม่มีการสอน!

หนทางที่ดีที่สุดที่พ่อคือ นายพรมจะกระทำได้ในขณะนั้นก็คือ ตั้งโรงเรียนกันที่บ้านของตัวนั่นแหละแล้ววางระเบียบเอาไว้

ระเบียบการสอนของนายพรมก็คือ พอค่ำลง แทนที่จะปล่อยให้ลูกของตนเที่ยวเตร่ตามหัวบ้านท้ายบ้าน เฉกเช่นเด็กหนุ่มวัยคะนองทั้งหลาย นายพรมกลับสั่งสอนลูกๆ ว่า

“เราไม่ใช่สัตว์เดรัจฉานอื่นๆ จะได้ออกเที่ยวหากินในยามค่ำคืน แต่กลางคืนเป็นเวลาสำหรับพักผ่อนของคน คนที่ชอบเที่ยวเวลากลางคืนนั้น ถ้าเคราะห์หามยามร้ายก็อาจจะถูกงูเงี้ยวกัดได้ หรือถ้าพวกขโมยรู้แกว มันก็จะฉวยโอกาสเข้าลักทรัพย์ในบ้านได้”

แล้วนายพรมก็จะหาวิธีมิให้ลูกเบื่อบ้าน โดยเอาหนังสือคำกลอนหรือเพลงมาอ่านให้ฟัง บางคราวก็เล่านิทานแปลก ๆ มีคติสอนใจกล่อมความคิดให้ลูกๆ เลื่อมใสในพระศาสนา เกลียดความชั่ว รักความดี

ในโอกาสนี้ลูก ๆ ก็อยากจะอ่านหนังสือเป็นบ้าง เพราะอยากรู้เรื่องสนุกในหนังสือที่พ่อมีไว้มากมาย นายพรมก็เริ่มสอนลูกให้อ่าน ก. เอ๋ย ก. ไก่ แต่นั้นมา

ต่อเมื่อลูก ๆ พอจะอ่านหนังสือทั้งไทยและขอมได้แล้ว นายพรมก็จัดให้มีการแข่งขันกัน ว่าใครจะต่อหนังสือได้มากกว่ากัน พ่อจะได้ชมเชยลูกคนนั้น

ลูกๆ ก็เพลิดเพลินอยู่กับบ้านที่มีสภาพเหมือนโรงเรียนกลายๆ ฝ่ายแม่ก็ซื้อน้ำตาลมาตุน เคี่ยวเป็นขนมแจกนักเรียนที่ท่องหนังสือเก่งทุกวันไป

ก็ในเมื่อการอบรมของพ่อแม่เป็นเช่นนี้ ลูกๆ ของนายพรม แม่กรอง ก็อ่านหนังสือได้คล่องทุกตัวคน โดยไม่ต้องไปเข้าโรงเรียนสำนักใดเลย

สู่ร่มกาสาวพัสตร์

ศาลาธรรมโสฬส อันเป็นสถานที่ตั้งสรีระ
ของหลวงพ่อเงิน จันทสุวรรโณ

ในวันที่ 13 พฤษภาคม พ.. 2453 เวลา 18.15 . พ่อและแม่ของนายเงิน ก็ได้จัดการบวชให้อย่างเงียบๆ คือ โกนศีรษะ นุ่งขาวห่มขาวเข้าวัดไปเลย ทั้งนี้เพราะพ่อแม่รู้จิตใจของลูกคนนี้เป็นอย่างดีว่า ไม่ชอบครึกครื้นเกรียวกราว ชอบทำอะไรเงียบๆ โดยเฉพาะลูกคนนี้ไม่ปรารถนาสมบัติทางโลกแม้แต่น้อย เขาปรารถนาธรรมมากที่สุดต่างหาก

ครั้นได้เวลาพ่อแม่และมวลญาติมิตรที่ใกล้ชิด จึงพร้อมใจกันถือเครื่องอัฐบริขาร กระทำการทักษิณาวรรตอุโบสถวัดดอนยายหอมสามรอบ โดยปราศจากกลองยาวหรือแตรสังข์แห่แหนดุจนาคทั้งหลาย แล้วขอบรรพชาต่อท่านปลัดฮวย เจ้าอาวาสที่เป็นอุปัชฌาย์เลยทีเดียว

พระอุปัชฌาย์ได้ตั้งนามฉายาให้ว่า “จันทสุวัณโณ”

ปฏิปทาพระภิกษุเงิน

เมื่อพระภิกษุเงิน เป็นพระนวกะ ก็ได้หมั่นเพียรทำวัตรสวดมนต์ทุกเช้าเย็น และร่ำเรียนพระธรรมวินัยเป็นอย่างดี จนเป็นที่พิศวงแก่พระเก่า ๆ ที่มีอาวุโสเป็นอันมาก ในการที่พระเงินสามารถสวดพระคาถาได้ทุกบท ไม่ว่าพระเก่า ๆ จะสวดบทไหนก็ตามและเมื่อครบพรรษาแรก พระภิกษุเงินก็สามารถสวดพระปาติโมกข์ได้อย่างคล่องแคล่ว

พอพรรษาต่อมา พระภิกษุเงินก็เริ่มเรียนกรรมฐานตามที่โยมพ่อแนะนำ และคร่ำเคร่งกับการปฏิบัติเพื่อให้ลุล่วงจากความทุกข์อย่างหนัก เที่ยวไปนั่งสมาธิตามป่าช้าที่เงียบสงัด เที่ยวไปเสาะหาละแวกใกล้เคียงอันวิเวก จนลุล่วงเข้าพรรษาที่ 6

ออกธุดงค์

ครั้นย่างเข้าพรรษาที่ 6 พระภิกษุเงินมีความคิดที่จะธุดงค์ เป็นการวิเวกตามแบบพระคณาจารย์สมัยนั้นปฏิบัติกัน อันเป็นการกำจัดอาสวะหรือกิเลสให้บรรเทาเบาบางลง และทั้งจะยังเป็นการได้เผยแพร่ธรรมไปในตัวด้วย

การเดินทางด้วยวิธีทรมานสังขาร ฉันอาหารเพียงมื้อเดียว นี้ มิใช่เป็นสิ่งที่จะปฏิบัติได้อย่าง่ายดาย

พระภิกษุผู้จะออกธุดงค์ จะต้องทำเป็นพิธีรีตองให้ถูกต้องตามแบบแผน จะต้องจาริกไปในป่าดงที่เงียบสงัดและทุรกันดารจริงๆ จึงจะเกิดกุศลผลบุญ ไม่ใช่จาริกเข้าไปในถิ่นที่เจริญรุ่งเรือง เป็นต้นว่า เดินทางเข้ามาในกรุงเทพฯ แล้วกลับอย่างนี้ไม่เรียกว่าเป็นการธุดงค์

เริ่มแรก พระภิกษุเงิน ได้จาริกไปตามชนบทต่างๆ ด้วยการเดินเท้า โดยบ่ายหน้าไปสู่ภาคเหนือและยึดเอาป่า จังหวัดลพบุรี สระบุรีที่มีดงป่าหนาทึบแน่นขนัดไปด้วยไม้ใหญ่น้อย เป็นที่หมาย

ทั้งนี้เป็นการธุดงค์ที่เดาสุ่มปราศจากความสันทัดจัดเจนในภูมิประเทศ ว่าตอนใดเขตไหนเป็นอย่างไร ท่านมิได้มีความรู้มาก่อนเลย

มืดค่ำที่ไหนก็กางกลดพักแรมที่นั่น เรื่องข้าวเรื่องน้ำไม่มีการคำนึงถึง อดบ้าง ฉันบ้าง สุดแต่ใครจะศรัทธานำมาถวาย และเป็นการฉันมื้อเดียว

จากลพบุรี สระบุรี ท่านได้จาริก เรื่อยไปจนถึงนครสวรรค์ตลอดเวลาการธุดงค์นั้น ท่านได้ปฏิบัติตามแบบแผนอย่างเคร่งครับ มีการสำรวมในอิริยาบถด้วยไตรทวารอย่างมั่นคง

ทุกคืนที่กางกลดอยู่ในป่าลึกดงสูง ก็สวดมนต์เจริญพระกรรมฐานน้อมจิตแผ่เมตตาให้แก่สัตว์โลกจงเป็นสุข เป็นสุขเถิด อย่าได้เบียดเบียนซึ่งกันและกันเลย

นอกจากนี้ ท่านยังตั้งสัตย์อธิษฐานขออุทิศสังขารให้เป็นทานหากจะมีสัตว์ร้ายมาขบกัดก็จะไม่โกรธเคืองในสังขารอันที่จะพลีร่างกายและเลือดเนื้อให้เป็นทานแก่สัตว์ร้ายทั้งหลาย

แต่ด้วยเดชะอำนาจของพุทธบารมี ธรรมบารมี สังฆบารมี จึงไม่ปรากฏว่ามีสัตว์ร้ายใดๆ มาทำอันตรายท่านเลย จึงทำให้เพิ่มพูนกำลังใจที่จะเดินทางไปสู่ทางแห่งความดับทุกข์ยิ่งๆ ขึ้น

แต่ก็มีอยู่บ้างที่บางคืนท่านหลงปักกลดอยู่ในดงทึบใหญ่ที่หนาแน่นไปด้วยสัตว์ร้ายนานาชนิด พอตกกลางคืน ก็มีช้างและเสือมาเดินวนเวียนอยู่รอบๆ กลด

ท่านก็มิได้ตกใจ กลับเข้าไปนั่งในกลด สวดมนต์ภาวนาอาราธนาคุณพระศรีรัตนตรัย พร้อมกับแผ่เมตตาไปยังสัตว์ร้ายเหล่านั้น ด้วยถือหลักธรรมว่า เมตตาย่อมสนองต่อผู้มีเมตตา

เจ้าสัตว์ร้ายทั้งหลายก็ไม่ได้กล้ำกรายเข้าไปทำอะไรท่าน มีแต่วนเวียนอยู่ใกล้ๆ คล้ายกับว่าจะมีเมตตาตอบ โดยจะคอยระวังภัยอันตรายให้ท่านกระนั้น

เข้าดงจระเข้

สรีระของหลวงพ่อเงินยังคงตั้งไว้ให้ศิษยานุศิษย์
และประชาชนทั่วไปได้กราบไหว้รำลึกถึง

อยู่มาวันหนึ่ง ท่านธุดงค์เรื่อยมาตามทางเดินเล็กๆ สายหนึ่งอย่างไร้จุดหมาย แล้วก็ไปโผล่ที่ชายทุ่งแห่งหนึ่ง เป็นป่าโปร่งระคนกับผืนนา ท่านเดินไปพิจารณาไป ก็มิเห็นว่าที่ใดจะเหมาะสำหรับกางกลดค้างแรม

ทันใดนั้น ท่านก็ต้องชะงักเพราะมี แม่น้ำขวางกั้นอยู่เบื้องหน้า มีลักษณะใหญ่โตคล้ายๆ ทะเลสาบก็ไม่เชิง ท่านก็เลยตกลงใจปักกลดที่นั้น เพราะใกล้น้ำประการหนึ่ง ทั้งจวนจะพลบค่ำอีกประการหนึ่ง

พอสวดมนต์ภาวนาเสร็จ ท่านก็หลับไปอย่างเหนื่อยอ่อน มาสะดุ้งตื่นเอาในกลางดึก เพราะมีเสียงประหลาดดังขึ้นขรมไปหมดทั่วบริเวณนั้น

แต่ท่านก็พยายามควบคุมสติให้อยู่ในอาการสงบไม่ยอมดื่นเต้นได้แต่เงี่ยหูฟังอยู่นาน ก็ไม่อาจทราบได้ว่าเป็นเสียงอะไร

ท่านสันนิษฐานว่า คงจะเป็นเสียงสัตว์ชนิดหนึ่ง และคงจะนับเป็นร้อยๆ ตัวขึ้นไป เสียงจึงได้ตะเบ็งเซ็งแซ่เช่นนี้ แต่พอท่านลุกขึ้นสวดมนต์ พลันเสียงสัตว์ประหลาดเหล่านั้นก็เงียบหายไปเป็นปลิดทิ้ง

ครั้นรุ่งสว่าง ขณะที่ท่านยังนั่งอยู่ในกลด กำลังพิจารณาว่าจะออกไปบิณฑบาตโปรดสัตว์ทิศทางไหนดีนั้น ก็ได้เหลือบไปเห็นชาวนาคนหนึ่งเดินตรงเข้ามาหา และเมื่อเขากราบนมัสการท่านแล้วก็ถามท่านว่า

“ท่านอาจารย์มาจำวัดที่นี่ตลอดคืน หรือเพิ่งจะมาถึงเดี๋ยวนี้

ท่านตอบชาวนาผู้นั้นว่า

“อาตมาปักกลดตั้งแต่จวนพลบเมื่อวานนี้”

ชาวนาผู้นั้นถึงแก่อาการตะลึงงันทันที พลางพูดกับท่านว่า

“ที่นี่ไม่เหมาะสมที่ท่านจะพักแรมเลย เพราะในบึงข้างหน้านี้มีจระเข้และสัตว์ร้ายหลายชนิด หากมันคลานขึ้นมาทำร้ายท่าน ก็จะไม่ปลอดภัยแน่ บึงนี้น่ากลัวที่สุดใครๆ เขาก็รู้กันทั่ว”

แต่ท่านบอกแก่เขาว่า

“ภัยอันตรายใด ๆ อาตมาไม่หวั่นเกรงดอก เพราะตั้งใจอุทิศสังขารให้เป็นทานแก่สัตว์ที่หิวกระหายอยู่แล้ว”

เช้าวันนั้น ซาวนาผู้ศรัทธาได้รีบกลับไปนำอาหารมาถวายท่าน เมื่อท่านฉันเสร็จแล้วได้ให้พรเขาและออกธุดงค์ต่อไป

ฝ่าดงกระสุน

ที่จังหวัดลพบุรีนั้น ใครๆ ก็รู้ว่าเป็นเมืองทหารมาแต่ไหนแต่ไร วันหนึ่งทางราชการจัดให้มีการยิงเป้าที่สนามฝึกซึ่งเป็นที่ดินกว้างขวางตั้งอยู่ชายป่านอกเมือง

วิธียิงเป้าสมัยนั้น เขาสมมุติให้ทหารยึดชายป่าแห่งหนึ่ง แล้วระดมยิงรูปหุ่นที่ตั้งเอาไว้ ทั้งสองฟากสนามมีธงแดงปลิวสะบัด เป็นสัญญาณเตือนให้ชาวบ้านที่สัญจรไปมารู้ว่าเป็นเขตอันตรายห้ามเดินผ่านเข้าไป

แต่ตอนสายวันนั้น พระภิกษุเงิน ท่านแบกกลดก้มหน้าภาวนามายังทิศนั้น โดยไม่ได้เงยหน้าสังเกตธงแดง เครื่องหมายบอกอันตรายแต่อย่างใด ด้วยท่านธุดงค์ในอาการลำรวมตลอดเวลา

ในขณะนั้นแสงอาทิตย์แรงกล้า เพราะใกล้เวลาเพล นายทหารผู้ให้สัญญาณการยิงได้โบกธงเขียวลดลง เพื่อให้เหล่าทหารลงมือระดมยิงเป้าตามคำลั่ง

วินาทีเดียวกันที่ธงเขียวโบกลง พระภิกษุเงินก็ก้าวข้ามเข้าไปยังหุ่นที่เขาตั้งเอาไว้!

ฉับพลันเสียงปืนนับสิบ ๆกระบอกก็แผดกัมปนาท เป้าของศูนย์ปืนทุกกระบอกจับที่หุ่น!

ทันใดที่ท่านได้ยินเสียงปืนดังหูดับตับไหม้ พระภิกษุเงินก็ทำจิตเข้าสู่สมาธิน้อมรำลึกถึงคุณพระรัตนตรัย พลางอธิษฐานว่า

“ด้วยบารมีแห่งองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า หากอาตมามีวาสนาจะได้เป็นที่พึ่งแก่สัตว์โลกต่อไปแล้ว ก็ขออย่าให้คมอาวุธทั้งหลายแตะต้องร่างของอาตมาได้เลย”

ปรากฏว่าลูกปืนทุกนัดปลิวเฉียดร่างของท่านไปหมดสิ้น!

นายทหารที่ให้สัญญาณโบกธงเขียว ได้แต่ยืนอ้าปากค้าง จนท่านเดินหายไป

เมื่อพระภิกษุเงินออกธุดงค์จนพอสมควรแล้ว ได้ย้อนกลับเข้าสู่บ้านดอนยายหอมอีกครั้งหนึ่ง

แต่เนื่องจากการธุดงค์ของท่านครั้งนี้เนิ่นนานมิใช่น้อย ร่างกายก็ดำคล้ำผอมเกรียมด้วยแดดเผาตลอดมา ทั้งนุ่งห่มด้วยจีวรสีกรัก ไม่เหลืองลออเช่นพระภิกษุตามวัดวาทั้งหลาย ชาวบ้านซึ่งเป็นคนบ้านเดียวกันกับท่านจึงจำไม่ได้

ต่อเมื่อนายแจ้ง พี่ชายของท่านมุ่งหน้ามาหา เพื่อจะสนทนาธรรม จึงได้เกิดจำท่านขึ้นมาได้ ยังความโกลาหลให้แก่หมู่ญาติ และชาวบ้านที่รักใคร่สนิทมาแต่ก่อนเป็นอันมาก

สละโลก

รูปหล่อเหมือนหลวงพ่อเงิน

อีกครั้งหนึ่งที่พระภิกษุเงินได้พบกับโยมของท่านทั้งหญิงชาย ท่านเห็นมวลหมู่ญาติมิตรมาพร้อมหน้าพร้อมตากันเช่นนี้ จึงได้ปรารภขึ้นมาท่ามกลางญาติมิตรทั้งหลายว่า

“อาตมามีความปรารถนาแน่วแน่ที่จะสลัดภารกิจทางโลกออกเสียจากตัวให้หมด โดยขอคืนทรัพย์สินที่โยมจัดสรรไห้เป็นส่วนของอาตมา ให้แก่บรรดาพี่น้องด้วยอาตมาจะเก็บเอาไว้เป็นสมบัติส่วนตัวก็ไร้ประโยชน์ เป็นเครื่องสร้างความกังวลเปล่าๆ

ทั้งอาตมาได้มาคิดดูแล้วว่าความจริงนั้น สมบัติทั้งหลายไม่ว่าจะยึดจะถือเป็นของเขา ของเรานั้น มันเป็นสมบัติของโลกทั้งนั้น! ไม่มีอะไรเป็นของเราจริงๆ เลย ไปยึดไปถือไว้ทำไม เราควรจะยึดจะถือกรรมดี กรรมชั่วต่างหาก”

โยมทั้งสองเมื่อได้ฟังเจตนาของพระลูกชายเช่นนั้นก็มีความปลาบปลื้มเป็นอย่างยิ่ง แต่ยังมีความรอบคอบอยู่ จึงพูดเป็นเชิงเตือนสติว่า

“ขอท่านจงได้ไตร่ตรองให้แน่นอนว่าจะสละชีวิตคฤหัสถ์ได้เด็ดขาดหรือไม่ ถ้ายังไม่แน่ใจ ก็อย่าเพิ่งด่วนสละทรัพย์สมบัติเสีย เมื่อสึกออกมาจะต้องลำบากเพราะไร้ทุนรอนในการดำรงชีวิต แต่ถ้ามั่นใจจริงๆ ก็ไม่ขัดข้อง

ในเรื่องมูลค่าของมรดกที่ควรจะเป็นส่วนของท่าน โยมจะได้จัดการเฉลี่ยวันในหมู่พี่น้อง แต่พีน้องจะต้องจ่ายเงินส่วนหนึ่งในจำส่วนที่ได้รับ เพื่อจะได้มอบให้พระจัดสร้างอะไรสักอย่างหนึ่งที่เป็นสาธารณสมบัติของวัด จะได้เป็นกุศลส่วนตัวพระสืบไป”

พระภิกษุเงินได้ฟังโยมพูดเช่นนั้น ก็ยืนยันความตั้งใจเดิมอย่างแน่วแน่ ไม่มีการเปลี่ยนแปลงความตั้งใจแต่อย่างใด

ดังนี้ต่อมา บิดาก็ได้จัดการรวบรวมทุนทรัพย์จากลูกๆเป็นเงินก้อนหนึ่ง พอที่จะเป็นทุนสร้างกุฏิหรือศาลาได้ แล้วนำไปมอบให้แก่สมภาร เพื่อจัดการตามประสงค์

ปรากฏว่า จากเงินทุนก้อนนี้และจากการสมทบจากทางอื่น วัดดอนยายหอมได้ก่อสร้างศาลาขนาดใหญ่ขึ้นหลังหนึ่ง แต่ทว่าได้สร้างสำเร็จบริบูรณ์เมื่อพระภิกษุเงินได้เป็นสมภารของวัดนี้แล้ว

อนึ่ง หลังจากพระลูกชายได้บอกสละสมบัติให้แก่พี่น้องดังกล่าว นายพรมก็มั่นใจยิ่งขึ้นว่า พระลูกชายของตนจะต้องยึดเพศบรรพชิตเป็นเรือนตายอย่างแน่นอน จึงได้ขนเอาตำรับตำราทั้งเรื่องเวทมนตร์และเวชศาสตร์ ส่งไปให้ที่วัด เพื่อพระลูกชายจะได้ศึกษา

และต่อมาตำราของโยมพ่อได้ให้ประโยชน์แก่พระภิกษุเงินเป็นอันมาก ท่านได้ปรุงยาที่มีประโยชน์หลายอย่าง เพื่อแจกจ่ายแก่ชาวบ้านที่มาพึ่งเป็นอย่างดี

มติสงฆ์

ในพรรษาที่ 6 นี้เอง พระภิกษุเงิน ก็ได้รับตำแหน่งรองเจ้าอาวาส ดูแลปกครองวัดดอนยายหอมแทน พระปลัดฮวย ที่ชาวบ้านเรียกกันว่า หลวงพ่อฮวยเพราะขณะนั้นท่านชราภาพมากแล้ว และอยู่ในสภาพไม่สามารถจะบริหารกิจการของวัดได้

และอีกประการหนึ่ง พระภิกษุเงินเป็นผู้ใกล้ชิดกับปลัดฮวย ขนาดเรียกว่าต้นกุฏิได้อยู่รับใช้ใกล้ชิดท่าน สมกับเป็นศิษย์ที่ชื่อว่า กตัญญูกตเวที ยิ่งในยามท่านปลัดป่วยไข้ด้วยแล้ว ก็เป็นภาระหนักแก่พระภิกษุเงินเป็นอย่างยิ่ง

แต่อย่างไรก็ตามเมื่อถึงคราวซาวเสียงกันขึ้น พระภิกษุเงินก็ขอตัว ปฏิเสธไม่ยอมรับตำแหน่งรองเจ้าอาวาส โดยอ้างว่ายังอ่อนอาวุโสนักเพียง 6 พรรษาเท่านั้น

ในยามนั้น วัดดอนยายหอมกำลังอยู่ในสภาพชำรุดทรุดโทรมชาวบ้านก็วิตกว่าจะยิ่งทรุดโทรมลงไปตามลำดับ เพราะเจ้าอาวาสหรือก็อาพาธเป็นแรมปี ขณะที่เกิดปัญหานี้ ก็พอดีทางจังหวัดมีข่าวด่วนแจ้งมาว่า ท่านเจ้าคุณพุทธรักขิต เจ้าคณะจังหวัดผู้ปกครองคณะสงฆ์จะมาตรวจงานที่วัดดอนยายหอม

ข่าวนี้เองที่สร้างความตื่นเต้นดีใจเป็นที่สุดแก่ชาวบ้านทั่วไป โดยเฉพาะผู้เป็นคณะกรรมการของวัดมั่นใจว่าพระภิกษุเงินคงไม่กล้าปฏิเสธตำแหน่งเจ้าอาวาสในครั้งนี้ในเมื่อท่านเจ้าคุณพุทธรักขิตเป็นผู้แต่งตั้ง

และในวันนั้นเองได้มีการเรียกประชุมชาวบ้านพร้อมทั้งคณะสงฆ์ท่านเจ้าคุณได้กล่าวท่ามกลางที่ประชุมว่า

“เนื่องด้วยท่านเจ้าอาวาสปัจจุบันชราภาพและอาพาธตลอดมา ไม่สามารถจะบริหารวัดให้เจริญสืบไปได้เช่นกาลก่อน บ้านจึงจำเป็นต้องเลือกองค์ใดองค์หนึ่งขึ้นเป็นรองเจ้าอาวาสเพื่อดูแลแทน บรรดาภิกษุและชาวบ้านคณะกรรมการวัด เห็นสมควรหรือไม่

เมื่อทุกคนเห็นพ้องต้องกันว่าสมควร ท่านเจ้าคุณก็ถามต่อไปว่า

“ภิกษุองค์ใดเล่าที่มีความเหมาะสมกับตำแหน่งรองเจ้าอาวาส ขอให้เสนอมา การพิจารณาจะยึดเอาเสียงข้างมากเป็นสำคัญ”

ในที่สุดเสียงข้างมากก็ลงมติว่า ตำแหน่งรองเจ้าอาวาสควรจะได้แก่พระภิกษุเงิน ท่านเจ้าคุณจึงเรียกพระภิกษุเงินออกมายืนต่อหน้าพุทธบริษัททั้งหลาย และได้ประกาศแต่งตั้งให้ เป็นรองเจ้าอาวาสทันที

เจ้าคุณทำนาย

เมื่อเลิกประชุมแล้ว ท่านเจ้าคุณพุทธรักขิต ได้เรียกภิกษุเงินไปสนทนาด้วยเงียบ ๆ โดยกล่าวว่าท่านได้รับทราบกิตติศัพท์ของภิกษุเงินมานานแล้ว ว่าแข็งแกร่งมีศรัทธาต่อพระพุทธศาสนาอย่างไม่มีผู้ใดเหมือน

มีปฏิภาณในการสั่งสอนประชาชน รู้จักวางตนได้เหมาะสม จนเป็นที่เคารพของชาวบ้านตลอดจนเพื่อนภิกษุด้วยกัน

ในอนาคตจะต้องเป็นพระเถระรูปหนึ่งที่มีความสามารถในการทำนุบำรุงพระศาสนาให้รุ่งเรืองลืบไป

“คุณจะเป็นผู้ปกป้องชาวบ้านนี้ให้อยู่ในกรอบของศีลธรรม คุณจะเป็นผู้นำทางให้เขาไปสู่แสงสว่างอันหมายถึงความสงบสุข ลักษณะของคุณบอกชัดว่า เป็นผู้ชอบแผ่เมตตาจิต ขอให้คุณจงเจริญรุ่งเรืองอยู่ในพระบวรพุทธศาสนายิ่งๆ ขึ้นไปเถิด”

ท่านเจ้าคุณได้ทำนายอนาคตและให้พรแก่พระภิกษุเงินโดยประการฉะนี้

ปฏิสังขรณ์วัดดอนยายหอม

กุฏิพำนักของหลวงพ่อเงิน สมัยที่ท่านยังมีชีวิตอยู่

หลังจากได้รับตำแหน่งเป็นรองเจ้าอาวาสแล้ว หลวงพ่อเงิน ได้เริ่มงานปฏิสังขรณ์วัดทันที

พระอุโบสถ หรือกุฏิที่ชำรุดผุพังเกือบทุกหลัง ถนนหนทางในวัดสำหรับภิกษุจะเดิน ส้วมที่ถูกสุขลักษณะ สิ่งต่างๆ เหล่านี้เป็นงานที่จะต้องรีบแก้ไข

เมื่อสำรวจดูแล้ว ท่านก็ตระหนักว่า พระอุโบสถเป็นหัวใจของวัด ซึ่งขณะนั้นพื้นเป็นดิน เวลาภิกษุเข้าทำสังฆกรรมต้องเปรอะเปื้อนเลอะเทอะ

เมื่อมีโอกาสท่านจึงปรารภกับบรรดาสัปบุรุษทั้งหลาย ท่านเหล่านั้นก็พร้อมใจกันบริจาคทรัพย์ จึงได้หินอ่อนมาปูพื้นอุโบสถจนเรียบร้อย

ต่อจากนั้นก็ได้มีการดัดแปลกุฏิที่ชำรุด ให้เป็นที่อยู่อาศัยอันสมบูรณ์อีกหลายหลัง

เมื่อชาวบ้านหมดจากฤดูเก็บเกี่ยว หลวงพ่อเงิน ก็ขอแรงบอกบุญชาวบ้านให้ถือจอบถือพลั่วมาคนละอัน ช่วยกันขุดลอกคูเก่าทางด้านทิศตะวันตกของวัดที่มีความยาวเกือบยี่สิบเส้น ให้ลึกลงไป และขุดลอกให้น้ำสะอาดสดใส

ต่อมาก็ขอแรงชาวบ้านช่วยกันขุดสระน้ำขนาดใหญ่ทางด้านใต้ของวัดอีกหนึ่งสระ มีความกว้าง 10 วาเศษ ยาวประมาณ 3 เส้น ลึกประมาณ 8 วา จัดว่าเป็นสระใหญ่ และยาวที่สุดของตำบลนั้นด้วยความพร้อมเพรียงของชาวบ้านดอนยายหอม สระใหญ่ก็เสร็จเรียบร้อย ขังน้ำไว้ใช้ได้ตลอดปี

สร้างหอสวดมนต์

แม้วัดดอนยายหอมจะเป็นวัดเก่าแก่ก็จริง แต่หาได้มีหอสวดมนต์สำหรับภิกษุสามเณรจะทำวัตรเช้าเย็นไม่

ฉะนั้นพอถึงปี พ.ศ. 2465 หลวงพ่อเงิน จึงปรึกษาชาวบ้านถึงเรื่องนี้โดยเน้นให้เห็นถึงความจำเป็นของหอสวดมนต์ให้ฟัง

ชาวบ้านก็พร้อมใจกันบริจาคทรัพย์คนละเล็กละน้อย ทั่วทั้งตำบล ได้เงินมาสร้างในสมัยนั้น

อนิจจัง...ไม่เที่ยง

ในกลางปี พ.ศ. 2463 หลวงพ่อเงินก็ต้องสูญเสีย นายพรม ด้วงมูล โยมพ่ออันเป็นที่เคารพรัก และอีกหนึ่งปีต่อมา นางกรอง ด้วงมูลโยมแม่ของท่าน ก็มาด่วนจากไปอีกคนหนึ่ง

ต่อมาอีกปีหนึ่ง คือ พ.ศ. 2466 พระปลัดฮวย เจ้าอาวาสก็ถึงแก่มรณภาพ ทางเจ้าคณะจังหวัดจึงมีคำสั่งแต่งตั้งหลวงพ่อเงิน ผู้เป็นรองเจ้าอาวาส เป็นเจ้าอาวาสแทนพระปลัดฮวย เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม ปีนั้นเอง

เป็นที่น่าสังเกตว่า ตราตั้งเจ้าอาวาสนี้ตรงกับเดือนที่ท่านเจ้าคุณพุทธรักขิต ตั้งหลวงพ่อเงินเป็นรองเจ้าอาวาส ใน พ.ศ. 2459

สมภารตัวอย่าง

นับแต่บัดนั้น หลวงพ่อเงิน ก็ได้เอาใจใส่ให้พระเณรได้ศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัย โดยจัดหาหนังสือมาให้ศึกษา นิมนต์พระภิกษุที่ทรงคุณวุฒิมาสอนและได้จัดสร้างโรงเรียนพระปริยัติธรรมขึ้น

ท่านได้ปกครองภิกษุสงฆ์ด้วยความรักใคร่เมตตา ภิกษุใดขาดแคลน หรือมีปัญหาความเดือดร้อน ท่านก็ให้ความช่วยเหลือโดยทั่วถึง ความสามารถในการเป็นสมภารเจ้าวัดของท่าน ได้เป็นที่เลื่องลือกันทั่วไป เจ้าคณะจังหวัดนครปฐมในขณะนั้นถึงกับพูดว่า

“ให้ดูสมภารวัดดอนยายหอมเป็นตัวอย่าง ถึงแม้ว่าจะเป็นสมภารเด็ก ๆ”

งานเพื่อปวงชน

ด้วยความห่วงใยในสุขภาพและการเจ็บป่วยของชาวบ้าน หลวงพ่อเงิน ได้สละทรัพย์ส่วนตัวของท่านร่วมกับพี่ชายซื้อที่ดินไว้แปลงหนึ่ง เพื่อสร้างสุขศาลาในปี 2494 การสร้างสุขศาลาก็เสร็จเรียบร้อย

ก่อนที่จะมีสุขศาลา ชาวบ้านคนใดถูกงูกัดก็จะต้องนำตัวเข้าไปรักษาถึงในเมือง บางคนก็ต้องเสียชีวิตกลางทางเพราะไปรักษาไม่ทัน แต่เมื่อมีสุขศาลาแล้วไม่มีชาวบ้านคนใดตายเพราะงูกัดอีกต่อไป

หลวงพ่อเงิน มีความสนใจและห่วงใยในการศึกษาของเยาวชนตำบลดอนยายหอมเป็นอย่างมาก

ฉะนั้นในปี พ.ศ. 2496 ท่านก็ได้สร้างโรงเรียนประชาบาลเป็นตึกสองชั้น ตึกหลังนี้มีมูลค่าถึงหนึ่งล้านหกแสนบาท (เงินในสมัยนั้น)

แม้จะต้องใช้เงินจำนวนมากแต่คุณความดีของหลวงพ่อก็เปรียบเสมือนแม่เหล็กที่ดูดศรัทธาของประชาชนทั้งใกล้และไกลให้มาร่วมการกุศลกับท่าน

สำหรับชาวบ้านดอนยายหอมซึ่งได้เล็งเห็นความสำคัญของการศึกษาและการมีโรงเรียน ต่างก็ได้พร้อมใจกันบริจาคทรัพย์และแรงงานอย่างเต็มที่

ปิดโรงยาฝิ่น

ที่นั่งรับแขกของหลวงพ่อเงิน

หลวงพ่อเงินได้ทำการปกป้องคุ้มครองชาวบ้านดอนยายหอมให้พ้นจากอบายมุขทั้งหลาย ในสมัยที่รัฐบาลยังอนุญาตให้ตั้งโรงยาฝิ่น ปรากฏว่าทุกตำบลในอำเภอเมืองนครปฐม มีโรงยาตั้งอยู่ทั้งสิ้น มีเพียงตำบลดอนยายหอมเท่านั้นที่โรงยาฝิ่นมาตั้งแล้วตั้งอยู่ไม่ได้

เมื่อเขาจะตั้งโรงยาฝิ่นใหม่ ๆหลวงพ่อเงินเที่ยวเตือนชาวบ้านให้รู้ถึงภัยจากฝิ่น โดยท่านปรารภให้ใครต่อใครฟังว่า

“ฉันใจไม่ดีเสียแล้ว เพราะได้ข่าวว่าไฟบรรลัยกัลป์กำลังจะมาก่อหวอดขึ้นกลางหมู่บ้านพวกเรา ฉันเกรงว่ามันจะเผาผลาญทรัพย์สินของญาติพี่น้องชาวบ้านนี้ให้วอดวายไปหมด

ไฟบรรลัยกัลป์นี้มันร้ายแรงนักเผาทั้งเงินทอง บ้านช่อง แม้กระทั่งแผ่นดินที่ไร่ที่นาทีเดียว

ต่อไปพวกเราจะต้องพากันลำบากยากไร้ที่อยู่อาศัย ลูกเล็กเด็กแดงก็จะพากันพลอยรับบาปไปด้วย มันช่างน่ากลัวเหลือเกินโยม....”

ชาวบ้านเมื่อได้ฟังคำปรารภของท่านต่างก็ไม่สบายใจไปด้วย และต่างก็บอกต่อ ๆ กันไปถึงภัยที่จะเกิดขึ้นจากโรงยาฝิ่น

ผู้หวังดีต่อส่วนรวมจึงร่วมมือกันคอยชี้แจงคนที่จะเข้าโรงยาว่าหลวงพ่อไม่ชอบให้ใครสูบ ไม่ว่าใครจะเข้าโรงยาฝิ่นเป็นถูกมติมหาชนบ้านดอนยายหอมคัดค้านไว้เสมอ

เจ้าของโรงยาต้องขาดทุนเพราะไม่มีใครมาสูบฝิ่นเลย เมื่อตั้งได้ 5 เดือนกว่าๆ ก็ต้องเลิกกิจการพร้อมกับความแปลกใจว่า ทำไมหนอคนตำบลนี้ออกหนาแน่นและร่ำรวยทั้งนั้น แต่ไม่มีใครมาสูบฝิ่นกันบ้างเลย

ปราบบ่อนการพนัน

นอกจากนี้ท่านยังพยายามสั่งสอนอบรมประชาชนให้เห็นโทษและเลิกจากการพนัน และได้ทำลายแหล่งการพนันที่เกิดขึ้นด้วยกุศโลบายอันแยบคายโดยไม่ต้องใช้กฎหมายและตำรวจแต่อย่างใด

ครั้งหนึ่งได้มีการตั้งบ่อนเล่นหวยจับยี่กีชิ้นที่โรงสีเจ๊กเสียว เมื่อหลวงพ่อเงินทราบ ท่านก็ทำเตร่ไปเยี่ยมเถ้าแก่โรงสี เมื่อได้ไต่ถามทุกข์สุขแล้วท่านก็เปรยขึ้นว่า

“ได้ยินเขาเล่าลือกันว่า เถ้าแก่ตั้งบ่อนการพนัน ไม่คิดว่าคนที่มีเงินเหลือเฟืออย่างเถ้าแก่จะโง่ตั้งบ่อนการพนันขึ้น เพราะถ้าคนเล่นการพนันมากๆ และยากจนลง ก็คงจะต้องลักขโมยและปล้นสะดม ตัวเถ้าแก่เองก็อาจจะถูกปล้นด้วย

หากเถ้าแก่ตั้งบ่อนการพนันจริงก็ขอให้เลิก เพราะยังมีหนทาทำมาหากินอย่างอื่น นอกจากเถ้าแก่จะไม่มีหนทางทำมาหากินอย่างอื่นก็แล้วไป”

เถ้าแก่เสียวฟังแล้วละอายแก่ใจพอหลวงพ่อเงินกลับวัด เถ้าแก่ก็สั่งลูกน้องปิดบ่อนการพนันแต่นั้นมา!

คาถาคุ้มกันตัว

หลวงพ่อเงิน ได้รับการนับถือยกย่องว่า เป็นผู้มีปฏิภาณหลักแหลม และมีคำพูดฉลาดคมคายในการโต้ตอบและอบรมสั่งสอนคน

ครั้งหนึ่งมีนักเลงใหญ่คนหนึ่ง อยู่ตำบลคลองจินดา อำเภอสามพรานได้มาหาหลวงพ่อเพื่อจะขอของดีไว้คุ้มกันตัว ท่านจึงบอกว่า เอาคาถาไปใช้ดีกว่า นักเลงคนนั้นก็รับคำท่านจึงบอกว่าคอยฟังคาถาและท่องจำให้ดี

คาถานั้นมี เพียงสองคำคือ “อยู่คง”

ใช้เวลาเขาจะตีกันทะเลาะกัน เราอย่าไปเกี่ยว คงที่เอาไว้

อีกคาถาหนึ่งคือ “ยิงไม่เข้า ฟันไม่ออก “

เวลาใครจะยิงกัน เราไม่เข้า ให้หนีเสีย เขาจะฟันกัน เราก็ไม่ออกไปยุ่งเกี่ยว

นักเลงคนนั้นได้ฟังหลวงพ่อเงินบอกคาถาดังกล่าวก็ทำสีหน้าชอบกลอยู่ พลางคิดว่าหลวงพ่อตลกเอาเสียแล้ว เมื่อไม่ได้ของดีที่อยากได้ ก็กราบลากลับไป

ศักดิ์สิทธิ์จริง ๆ

หลวงพ่อเงินครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่
พระครูทักษิณานุกิจ

ต่อมาไม่กี่วัน หลวงพ่อเงินเดินทางไปที่คลองจินดา นักเลงคนนั้นก็วิ่งโร่เข้ามากอดหลวงพ่อ พร้อมกับรำพึงรำพันว่า

“คาถาของหลวงพ่อศักดิ์สิทธิ์จริงๆ ถ้าไม่ได้คาถาของหลวงพ่อผมคงเข้าคุกแน่”

แล้วเล่าเรื่องให้ฟังว่า เมื่อ2-3 วันมานี้ เขาได้ไปงานบวชนาคกับพรรคพวก ตกตอนเย็นเจ้าภาพเอาเหล้ามาเลี้ยง พรรคพวกของเขามีเรื่องวิวาทกับนักเลงบ้านคลองตาปลั่งถึงกับกลุ้มรุมทำร้ายกัน

ขณะนั้นเขากำลังนั่งอยู่บนเรือน พอเห็นพรรคพวกมีเรื่องวิวาทกับคนอื่นก็คว้าดาบกระโจนออกมาเพื่อช่วยพรรคพวก แต่พอกระโจนไปได้สาม-สี่ก้าวก็ต้องชะงัก!

นึกไปถึงคาถาของหลวงพ่อที่ว่า “อยู่คง” และ.”ยิงไม่ออก ฟันไม่เข้า”

ผลที่สุดปรากฏว่าพรรคพวกของเขาถูกตำรวจจับเข้าคุกหมด! มีแต่เขาคนเดียวเท่านั้นที่รอดเพราะคาถาของหลวงพ่อ!

ป่วยกันทั้งตำบล

ครั้งหนึ่งมีชาวตำบลบางแขมนำเรือพาลูกหลานพร้อมด้วยสำรับกับข้าวไปถวายท่าน

ตำบลบางแขมนี้เป็นที่รวมเหล่าอันธพาลและอาชญากร ทั้งชาวบ้านนิยมสูบฝิ่นกันมากที่สุด เด็กรุ่นๆ ก็นิยมเข้าโรงยาและพกอาวุธทำตัวเป็นนักเลงแต่เล็ก

ชาวบ้านที่บางแขมไปพบท่านและได้ปรารภขึ้นว่า ทำไมหนอชาวดอนยายหอมจึงทำมาค้าขายร่ำรวยกันแทบจะทุกครัวเรือน ส่วนชาวบ้านบางแขมซึ่งอยู่ใกล้ๆ ไม่ไกลจากกันเท่าใดเลย จึงยากจนแร้นแค้น บางบ้านถึงกับอดอยากแทบไม่มีจะกิน

หลวงพ่อเงินฟังแล้วก็พูดว่า

“อาตมาเองก็สงสารชาวบางแขมมาก เพราะพากันป่วยไข้เกือบหมดทั้งตำบล ก็เป็นธรรมดาอยู่เองที่คนป่วยจะทำกินไม่ทันเพื่อนบ้านเขา”

ชายคนที่ปรารภถึงความทุกข์ยากคนบางแขมได้ฟังดังนั้นก็ประหลาดใจจึงบอกท่านว่า

“หลวงพ่อเอาอะไรมาพูด ผมไม่เห็นชาวบ้านบางแขมเป็นอะไรนี่ครับ เขาก็ดีๆ เหมือนชาวบ้านดอนยายหอม ทำไมหลวงพ่อจึงว่าพวกเขาป่วยกันทั้งตำบล”

หลวงพ่อเงินฟังเขาเถียงขึ้นมาเช่นนั้นก็หัวเราะแล้วบอกว่า

“อาตมาเห็นเขากินยากันทั้งตำบลก็คิดว่าเขาป่วยไข้กัน ไม่ป่วยไม่ไข้แล้วไปเข้าโรงยาฝิ่นกินยากันทำไม!”

ชายคนนั้นจึงเข้าใจว่า หลวงพ่อหมายถึงอะไร

คนโง่กว่าปลา

หลวงพ่อเงินถ่ายเมื่อ พ.ศ. 2467

คราวหนึ่งมีคนไปเยี่ยมท่าน ในตอนหนึ่งของการสนทนา ผู้ที่ไปเยี่ยมได้ถามท่านว่า

“หลวงพ่อฉันปลามีความรู้สึกอย่างไรบ้าง

หลวงพ่อเงินได้ตอบว่า

“เฉย ๆ เพราะเท่าที่ฉันเนื้อสัตว์ก็ด้วยคนนำมาถวาย มันเป็นอาหารก็ฉันไปเพื่อยังชีวิตอยู่ จะได้ทำประโยชน์ให้แก่โลกเท่านั้น”

แล้วท่านก็ย้อนถามเขาว่า

“ปลากับคน ใครจะโง่กว่ากัน

ผู้ที่ไปเยี่ยมเยียน กราบเรียน

“ปลาโง่กว่าคน เพราะคนจับปลามากินได้”

หลวงพ่อเงินได้ฟังเขาตอบเช่นนั้นท่านจึงว่า

“คนที่โง่กว่าปลาก็ยังมี ที่ปลาถูกจับก็เพราะมีคนเอาลอบเอาเฝือกไปดักมัน มันไม่รู้ จึงถูกจับ

แต่ขอให้ไปยืนดูที่หน้าคุกบ้าง คุกไม่ได้ทำไว้หลอกใครเหมือนลอบ มันตั้งเด่นอยู่ข้างทางด้วยซ้ำไป แต่ก็มีคนเข้าไปติดวันละหลายๆ พวง คนพวกนี้จัดว่าโง่กว่าปลาเสียอีก!”

คนสี่จำพวก

หลวงพ่อเงิน ท่านแบ่งคนออกเป็น 4 จำพวก ดังนี้

พวกที่ 1 “คนพูดได้ แต่ทำไม่ได้”

คนชนิดนี้ย่อมไม่เป็นลาระและไม่เป็นประโยชน์อะไรเลย อุปมาเหมือนฟ้าร้อง แต่ฝนไม่ตกลงมา

พวกที่ 2 “คนที่ทำได้ แต่พูดไม่ได้”

คนชนิดนี้ได้ผลมาก อุปมาเหมือนฝนตก แต่ฟ้าไม่ร้อง

พวกที่ 3 “คนที่พูดไม่ได้ ทำก็ไม่ได้”

คนชนิดนี้น่าสงลาร แต่ก็ยังดี ไม่ทำให้ใครเดือดร้อน อุปมาเหมือนฝนไม่ตก ฟ้าก็ไม่ร้อง

คนพวกที่ 4 “คนที่ทำได้พูดก็ได้”

คนชนิดนี้ดีที่สุด อุปมาเหมือนฝนก็ตก ฟ้าก็ร้อง

เมตตาเสมอกัน

หลวงพ่อเงินได้ปฏิบัติต่อคนทุกคนด้วยความเมตตากรุณาเสมอเหมือนกันหมด โดยไม่เคยคำนึงว่าผู้ใดจะยากจน หรือร่ำรวยแค่ไหน

ในสมัยที่ท่านยังมีสุขภาพแข็งแรง เมื่อมีผู้ใดนิมนต์ท่านไปงานใดๆ เช่น บวชนาค สวดมนต์ หรือแต่งงาน แม้คนที่มานิมนต์จะยากจนแสนเข็ญ หนทางไปมาจะทุรกันดารสักเพียงใด ท่านก็ไม่เคยขัดศรัทธา มักจะรับนิมนต์เขาเสมอ

และเมื่อท่านรับนิมนต์ผู้ใดในวันใดแล้ว แม้จะมีผู้ยิ่งใหญ่ปานไหนจะมานิมนต์ซ้อนกับวันที่ท่านได้รับนิมนต์แล้ว ท่านก็จะปฏิเสธ

เช่นในครั้งหนึ่ง ท่านได้รับนิมนต์ไปในงานบวชนาคของชาวบ้านดอนขนาก ซึ่งเป็นคนยากจนแทบจะไม่มีสมบัติติดตัว แล้วต่อมาท่านอธิบดีกรมตำรวจในสมัยนั้น ได้ให้ตำรวจมานิมนต์หลวงพ่อไปร่วมสวดมนต์ในพิธีใหญ่แห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ท่านก็ไม่ยอมรับ

พระธรรมวาทีคณาจารย์

โรงเรียนวัดดอนยายหอม

ด้วยคุณงามความดีของหลวงพ่อเงิน ท่านจึงได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ เป็น พระธรรมวาทีคณาจารย์ ในปี พ.ศ. 2499 เป็นที่ปลาบปลื้มยินดีแก่บรรดาสานุศิษย์และชาวบ้านดอนยายหอมเป็นอย่างยิ่ง

บรรดาศิษย์ทั้งหลายได้จัดขบวนแห่และจัดงานฉลองเพื่อแสดงความสักการะและชื่นชมอย่างมโหฬาร ได้มีผู้เคารพเลื่อมใสจำนวนเป็นพัน ๆ เข้าร่วมในขบวนแห่จากสะพานโพธิ์แก้ว ซึ่งข้ามแม่น้ำนครชัยศรี ไปยังองค์พระปฐมเจดีย์



ประวัติเกจิอาจารย์ดัง: หลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม
»อภินิหารหลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม
02-04-2010
»ชีวประวัติหลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม ตอน ๖
14-03-2010
»ชีวประวัติหลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม ตอน ๕
14-03-2010
»ชีวประวัติหลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม ตอน ๔
14-03-2010
»ชีวประวัติหลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม ตอน ๓
14-03-2010
»ชีวประวัติหลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม ตอน ๒
14-03-2010
»หลวงพ่อเงิน จันทสุวัณโณ
02-04-2010
»ชีวประวัติหลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม นครปฐม
14-03-2010
 
------------------------
  หน้าหลัก  
  คำถามที่มีการถามบ่อย  
  เราเล่นพระทำไม ?  
  กฎหมายพระเครื่อง  
  เกร็ดเล็ก-เกร็ดน้อย  
  สมัครเปิดร้านค้า  
  การชำระเงินค่าร้านค้า  
  ความรู้เกี่ยวกับพระเครื่อง  
  ข้อมูลสถิติเกี่ยวกับร้านค้า  
 
หน้าหลัก  อดีตสู่ปัจจุบัน  เว็บบอร์ดชมรม  ตารางประกวดพระ  สาระน่ารู้  เล่าสู่กันฟัง  ติดต่อเรา
Copyright©2024 zoonphra.com
Powered by Tactical IT