เว็บลิ้งค์ชมรมต่างๆ

เว็บไซต์วัดเกจิดังในสยาม
วัดอัมพวัน จ. สิงห์บุรี
วัดหนองป่าพง จ. อุบลฯ
วัดเขาแหลม จ. สระแก้ว
หลวงพ่อกวย วัดโฆสิตาราม
วัดหัวป่า อ. ระโนด จ. สงขลา
วัดแก้วโกรวาราม จ. กระบี่
หลวงปู่ดุลย์ อตุโล
หลวงสมชาย วัดเขาสุกิม
ป้อนหมายเลขสิ่งของ


***พิมพ์หมายเลขสิ่งของจำนวน 13 หลัก

รายละเอียดเพิ่มเติม

  หน้าหลัก  :  อดีตสู่ปัจจุบัน  :  เว็บบอร์ดชมรม  :  ตารางประกวดพระ  :  สาระน่ารู้  :  เล่าสู่กันฟัง  :  ติดต่อเรา
ประวัติเกจิอาจารย์ดัง: หลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม
ชีวประวัติหลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม ตอน ๖
14-03-2010 Views: 9171

สร้างอาคารเรียนราคาล้าน

เมื่อ พ..2496 หลังจากสร้างอุโบสถเสร็จได้ 3 ปีเต็ม หลวงพ่อก็เริ่มงาน ก่อสร้างใหม่อีก ได้เริ่มลงมือก่อสร้างอาคารเรียนประชาบาล ขนาดใหญ่ เป็นตึกคอนกรีตตามรูปแบบรูปของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งได้ออกแบบขึ้นเป็นพิเศษ เป็นตึก 2 ชั้น ขนาดกว้าง 10 เมตร ยาว 80 เมตร 18 ห้องเรียน ไม่ใช่ตกก่ออิฐถือปูนธรรมดาแต่เป็นตึกเทคอนกรีตทั้งหลัง หลังคาทรงไทยสวยงาม นับเป็นอาคารเรียนตึกคอนกรีตหลังแรกของจังหวัดนครปฐม ไม่มีสมภารเจ้าวัดองค์ใดจะกล้าหาญชาญชัยทำการก่อสร้างตึกขนาดนี้มาก่อน แม้โรงเรียนมัธยมของรัฐบาล ก็ยังไม่มีขนาดนี้ อาคารเรียนหลังนี้ได้รับเงินงบประมาณจากกระทรวงศึกษาธิการ 200,000 บาทโดยพลอากาศเอก หลวงเชิดวุฒากาศ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการสมัยนั้น ได้ไปหาหลวงพ่อที่วัดวุฒากาศ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการสมัยนั้น ได้ไปหาหลวงพ่อที่วัดดอนยายหอม เมื่อเห็นกำลังลงมือทำการก่อสร้างอยู่ก็ได้สอบถามหลวงพ่อว่าสร้างด้วยเงินอะไร สิ้นเงินไปเท่าไร เมื่อทราบว่าไม่ได้เงินงบประมาณเลย ก็รับปากว่าจะจัดสรรเงินงบประมาณให้ 400,000 บาท แต่เมื่อกลับไปแล้วก็จัดสรรเงินมาสมทบทุนก่อสร้างได้เพียง 200,000 บาท หลวงพ่อได้ทำการก่อสร้างคิดเป็นค่าวัสดุที่จำเป็นต้องซื้อ เช่น หิน ทราย เหล็ก ปูน ประตู หน้าต่าง และตัวไม้อื่น ๆ ประมาณ 1,600,000 บาท ในสมัยนั้น ส่วนค่าแรงนั้น ชาวตำบลดอนยายหอมได้ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันมาทำงาน ขุดหลุม ตอกเข็ม ขนดิน ขนทราบ แบกหาม โดยไม่คิดค่าแรงงานเลย จนแล้วเสร็จ อาคารเรียนหลังนี้ ขุนเชาว์ปรีชาศึกษากร ศึกษาธิการจังหวัดนครปฐมสมัยนั้นได้ตั้งชื่อว่า "โรงเรียนหลวงพ่อเงินอุปถัมภ์" เป็นอาคารเรียนที่ชาวตำบลดอนยายหอมภาคภูมิใจมาก เพราะได้ลงมือสร้างร่วมบุญรวมกุศลกับหลวงพ่อ ทั้งบริจาคเงินและแรงงานโดยมีหลวงพ่อเป็นประธานในงานบุญนี้ เป็นอาคารซึ่งเป็นอนุสรณ์แห่งความจงรักภักดี และพลังแห่ง ความรักสามัคคีของผู้คนจำนวนมาก สมกับพระพุทธวัจนะ แห่งองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า ที่ตรัสไว้ว่า

พลัง สังฆัสสะ สามัคคี

(สามัคคีก่อให้เกิดพลังแก่หมู่คณะ)

สุขา สังฆัสสะ สามัคคี

(สามัคคีก่อให้เกิดความสุขแก่หมู่คณะ)

แต่ความสามัคคีจะเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าไม่มีแกนแห่งความสามัคคี สามัคคีจะก่อให้เกิดขึ้นได้ เพราะมีแกนรวมน้ำใจ และแกนแห่งความสามัคคีนั้นก็คือบุคคลผู้มีบุญญาธิการอันได้สั่งสมมา ด้วยพลังแห่งศีล พลังแห่งธรรมหลายสถาน เช่น เมตตาธรรม เป็นต้น หลวงพ่อเงินคือ บุคคลผู้เพียบพร้อมด้วยคุณสมบัติดังว่านี้ คนทั้งหลายจึงเชื่อมั่นว่า หลวงพ่อเงินคือพระโพธิสัตว์อุบัติมาเกิดเพื่อบำเพ็ญเพียรบารมี เป็นที่พึ่งพำนักแก่สัตว์โลกทั้งหลาย

สร้างสถานีอนามัย

ก่อนหน้านี้หลังจากสร้างอุโบสถ เป็นตึกคอนกรีตเสร็จลงใน พ..2492 ซึ่งเป็นโบสถ์คอนกรีตหลังแรกในจังหวัดนครปฐม ราคาล้านนั้นแล้วก็มาสร้างตึกคอนกรีตอาคารเรียน ยาว 2 เส้น จนแล้วเสร็จอีกเมื่อ พ..2496 นั้น ช่วง 3 ปี ที่เว้นว่างนั้น ที่จริง มิได้เว้นว่างเลยเพราะหลวงพ่อได้สร้างสถานีอนามัยขึ้นข้างวัดดอนยายหอมหลังหนึ่ง โดยหลวงพ่อได้จัดซื้อที่ดิน ติดต่อวัดทางด้านใต้ขยายออกไปอีก 1 ไร่ นายอยู่ ด้วงพูล พี่ชายของหลวงพ่อได้บริจาคเงินให้ครั้งหนึ่ง นอกนั้นยังมีผู้ขายบ้านและถวายห้องแถวให้ ชาวตำบลดอนยายหอมก็ช่วยกันบริจาคทรัพย์สมทบทุน ช่วยแรงงาน สร้างสถานีอนามัยจนสำเร็จ ในปี พ..2495 เมื่อทำพิธีเปิดป้ายและมีงานฉลองก็มีคณะกรรมการ จังหวัด เช่น ขุนเชาว์ปรีชาศึกษากร ศึกษาธิการจังหวัด และนายแพทย์ สาธารณสุขจังหวัด คณะกรรมการอำเภอมาร่วมงานด้วยมาก แม้ว่าจะเป็นสิ่งก่อสร้างไม่ใหญ่โตอะไรมากนักแต่ก็เป็นสถานที่อำนวยความสุขให้แก่ประชาชน ตำบลดอนยายหอม ชาวตำบลนี้จึงถือว่าหลวงพ่อเงินเกิดมาเป็นพระโพธิสัตว์บำเพ็ญบารมีช่วยบำบัดทุกข์ บำรุงสุขของประชาชนตำบลนี้ จึงมีแต่ความเคารพบูชา จงรักภักดี โดยทั่วหน้า

ข้าพเจ้าเคยไปนั่งอยู่หน้ากุฏิหลวงพ่อ ขณะที่หลวงพ่อยังไม่โผล่หน้าออกมานั่ง มีชายคนหนึ่งแสดงอาการมึนเมาส่งเสียงพูดดังลั่น เอะอะอยู่ พอหลวงพ่อโผล่หน้าออกมาเท่านั้นชายขี้เมาคนนั้นจึงเงียบกริบ ไม่กระดุกกระดิกเลย มองเหมือนตุ๊กตาจีนทาหน้าสีแดงเรื่อ ๆ แม้แต่คนขี้เมายังรู้สึกตัวเกรงกลัวหลวงพ่อเหมือนถูกสะกดจิต หรือถูกมนต์ "นะจังงัง" เข้าฉะนั้น

ตั้งโรงเรียนสหศึกษาบาลี

หลวงพ่อมิได้คิดการแต่เพียงภายในอาณาเขตของวัดดอนยายหอมเท่านั้น แต่หลวงพ่อคิดการโดยกว้างขวางออกไปนอกอาณาเขตของวัดด้วย หลวงพ่อเงินเห็นว่าเมืองนครปฐมเป็นเมืองต้นตระกูลแห่งการเผยแผ่พระพุทธศาสนาแต่โบราณเมื่อ 2,000 ปีมาแล้ว ประจักษ์พยานก็คือ พระปฐมเจดีย์สร้างขึ้นเมื่อประมาณ พ..235 สมัยเมื่อพระโสณเถระ และพระอุตระเถระมาเผยแพร่พระพุทธศาสนา ณ เมืองท่าแห่งนี้

แต่ปัจจุบันนี้ ในเมืองนครปฐม ไม่มีสำนักศึกษาพระบาลีเลย พระมหาเปรียญที่เป็นคนเลือดเนื้อเชื้อไขคนนครปฐมไม่ค่อยมี หลวงพ่อจึงคิดว่าน่าจะหาทางส่งเสริมการศึกษาพระบาลีขึ้นจึงได้ปรึกษาหารือกับบุคคลสำคัญต่างๆ ไปตามจังหวะเวลาและโอกาสเหมาะเช่น ..แอ๊ด กลกิจ นางสะอาด ตู้จินดา นายมาลัย บุญวัฒน์ และขุนเชาวน์ปรีชาศึกษากร เป็นต้น ท่านเหล่านี้ก็เห็นดีเห็นชอบ ปวารณาตัวว่าจะช่วยเหลือหลวงพ่อให้ทำการต่อไป หลวงพ่อจึงตกลง ตั้งโรงเรียนสหศึกษาบาลี ขึ้นที่วัดพระปฐมเจดีย์ เมื่อ พ..2494

ครั้นถึง พ..2496 ทางการคณะสงฆ์เห็นคุณงามความดีของหลวงพ่อ ที่เอาเป็นธุระในการบริหารกิจการคณะสงฆ์ของจังหวัดเป็นส่วนรวม ไม่คิดเอาธุระอยู่แต่ภายในวัดดอนยายหอมเท่านั้น จึงได้แต่งตั้งท่านให้เป็นคณะกรรมการสงฆ์จังหวัด ในตำแหน่งเผยแพร่จังหวัดนครปฐมตามพระราชบัญญัติการปกครองคณะสงฆ์สมัยนั้น ซึ่งแบ่งหน้าที่ออกเป็น ปกครองจังหวัด ศึกษาจังหวัด เผยแผ่จังหวัด สาธารณูปการจังหวัด มีเจ้าคณะจังหวัดเป็นประธาน น่าเสียดายที่การแบ่งงานบริหารการคณะสงฆ์ นี้ได้ถูกยกเลิกเสียโดยพระราชบัญญัติปกครองคณะสงฆ์ฉบับต่อมาใน พ..2505 เหลือแต่เจ้าคณะจังหวัดเพียงตำแหน่งเดียวเท่านั้น

ทำหน้าที่เผยแผ่จังหวัด

งานในหน้าที่เผยแผ่พระธรรมวินัย หรือเผยแพร่พระธรรมคำสั่งสอนของพระบรมศาสดานั้น อันที่จริงหลวงพ่อทำหน้าที่อยู่แล้วตามปกติ ถึงจะไม่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเผยแผ่จังหวัด หลวงพ่อก็เป็นเผยแผ่จังหวัดอยู่แล้วตลอดมา เพราะจะมีผู้ไปนิมนต์หลวงพ่อไปเทศน์ตามวัดวาอารามต่าง ๆ อยู่เสมอมา หลวงพ่อจึงเทศน์ทั้งในวัดและนอกวัด การเทศน์ของหลวงพ่อก็ทันสมัย ทันโลก จะนิมนต์ขึ้นเทศน์บนธรรมาสน์ หลวงพ่อก็ถือพระธรรมคัมภีร์เทศน์ใบลานไว้ในมือ หลับตาอ่าน หลับตาเทศน์ได้คล่องแคล่ว จะให้เทศน์ปากเปล่า หลวงพ่อก็เทศน์ได้แบบปาฐกถาธรรมะ ภาษาที่ใช้ ก็เป็นภาษาชาวบ้านพูดง่าย ๆ ตรงไปตรงมา พูดให้คนมองเห็นจริง มีแทรกถ้อยคำที่ขำขัน น่าขบน่าคิด น่าหัวเราะลงไปด้วย แต่หลวงพ่อมักจะพูดสำรวมวาจา ไม่พูดหยาบคาย ไม่พูดตลกคะนอง ไม่พูดส่อเสียด ไม่พูดเยาะเย้ย ไม่พูดถากถาง ไม่พูดเสียดสี ไม่พูดยกตน ไม่พูดข่มท่าน ไม่พูดเพ้อเจ้อ ไม่พูดเหลวไหล ไม่พูดเลอะเทอะ ไม่พูดน้ำท่วมทุ่ง ไม่พูดตามอารมณ์เหมือนดังพระเปรียญบางองค์ บางรูปคำพูดหลวงพ่อเด็กฟังได้ ผู้ใหญ่ฟังดี ไม่พูดแบบคาดคะเน ไม่พูดแบบยกเมฆ ไม่พูดแบบข่าวเขาเล่าว่า จระเข้มาที่ท่าน้ำอะไรทำนองนี้ หลวงพ่อมีปฏิภาณเอาเหตุการณ์เฉพาะหน้าเฉพาะเรื่อง เฉพาะประชุมชน เฉพาะกาล เฉพาะสมัย ขึ้นมาพูดได้เสมอ มีประจักษ์พยานอยู่หลายเรื่อง จะพูดสอนนักโทษก็พูดได้ จะพูดสอนโจรก็พูดได้ จะพูดสอนพ่อค้าออกหวยเถื่อนก็ได้ จะสอนคนกำลังบ้าดีเดือด ถือมีดจะทำร้ายตนอยู่ก็พูดได้ จะพูดโต้ตอบบาทหลวงนอกศาสนาก็ได้ จะพูดจูงใจคนนอกศาสนาให้เห็น ให้เข้ามานับถือพุทธศาสนาก็ได้ จะพูดอวดของดีเมืองนครปฐมก็พูดได้ดีไม่มีใครเหมือน หลวงพ่อพูดออกมาแล้วมากมายนับหนไม่ถ้วน นับเรื่องไม่ถูก ไม่มีใครได้กำหนดจดจำไว้ได้ หลวงพ่อเองก็จะไม่ได้ว่าเทศน์เรื่องอะไร เทศน์ที่ไหน เทศน์ว่าอย่างไร มีแต่คนที่เคยฟังหลวงพ่อพูดก็จำได้กระท่อนกระแท่น นำมาเล่าสู่กันฟังบ้าง คนละนิดคนละหน่อย ดังจะได้เล่าต่อไปสักเรื่องหนึ่ง

หลวงพ่อพูดครั้งนี้ เป็นการพูดในตำแหน่งเผยแผ่จังหวัด ไปพูดที่วัดธรรมศาลา พูดให้คณะทอดผ้าป่า ซึ่งมีคุณหญิงประจญปัจนึก ภรรยาของพระยาประจญปัจนึกซึ่งเป็นหัวหน้าคณะนำมาทอด เพื่อสมทบทุนสร้างโรงเรียนเมื่อปี พ..2497 มีคนฟังประมาณ 600 คน ส่วนมากเป็นนักเรียน เรียกว่าหลวงพ่อเทศน์ให้เด็กนักเรียนชั้นประถมฟัง ซึ่งค่อนข้างพูดยาก ในการที่จะพูดให้เด็กวัยนี้ฟังได้

วันนั้นหลวงพ่อขึ้นธรรมาสน์เทศน์ปากเปล่าเรื่อง "ลูก 4 คน" ดำเนินความว่า

"เด็กที่โรงเรียนวัดธรรมศาลานี้มี 600 คน ถ้าได้รับการศึกษาดี มีความฉลาด มีความประพฤติดีเพียง 100 คน อีก 500 คนโง่ เป็นขโมยขะโจร อีก 100 คนนั้นจะมีความสุขได้อย่างไร จึงต้องช่วยกันทำให้เด็กอีก 500 คนนั้น ประพฤติดีมีความฉลาดด้วย จะทำให้เด็กเป็นคนดีต้องให้การศึกษาอบรม มิฉะนั้นก็จะกลายเป็นลูก 4 ลูก ต่อไปนี้

1. ลูกลาก ลูกชนิดนี้เป็นลูกลากพ่อแม่ใช้พ่อแม่ก็ต้องลากโครงเลี้ยงลูกไป เติบโตขึ้นก็ลากเอาแต่ความทุกข์ร้อนมาให้ เอาความฉิบหายมาสู่พ่อแม่ ลูกอย่างนี้ทำให้พ่อแม่มีเคราะห์กรรม

2. ลูกหลง พ่อแม่คู่หนึ่งมีลูก 2 คน คนหนึ่งเป็นหญิง คนหนึ่งเป็นชาย ลูกชายไปได้เมียอยู่ฟากตรงข้าม แม่ป่วยหนัก ลูกชายก็ไม่มาเยี่ยม น้องสาวต้องไปตาม เอาเรือไปรับจึงข้ามฟากคลองมาดูใจแม่จึงสั่งเสียก่อนตายว่า

"ลูกเอ๋ย ลูกมาก็ดีแล้ว แม่กำลังจะจากลูกไปอย่างไม่มีวันกลับ แม่เห็นจะไม่ได้อยู่ดูแลความทุกข์สุขของลูกต่อไปแล้ว แม่ขอฝากน้องด้วย ขอให้ตั้งใจทำมาหากิน เลี้ยงลูกเลี้ยงเมียให้ดี" แม่ ยังสั่งไม่ขาดคำ ฝั่งโน้นก็ตะโกนเรียกมาว่า เมียเจ็บท้องจะคลอดลูก ลูกชายก็กระโดดน้ำว่ายข้ามคลองไปหาเมียเสียแล้ว ลูกอย่างนี้คือลูกหลง คือหลงไปว่าคนอื่นดีกว่าแม่หลงเมียจนลืมแม่ แม่ป่วยต้องเอาเรือไปรับ จึงมาเยี่ยมแม่ เมียเจ็บท้องก็ข้ามน้ำไปเองโดยไม่ต้องเอาเรือรับ ทั้ง ๆที่แม่เจ็บจวนตาย เมียเพียงแค่เจ็บท้อง

3. ลูกเลิก คือลูกที่เบียดเบียนพ่อแม่ พ่อแม่มีอะไรก็จะเอาเสียให้หมด เมื่อได้ข้าวของไปจนพ่อแม่หมดเนื้อหมดตัวแล้ว ลูกก็หายหน้าไป ครั้นพ่อแม่จะพึ่งพาอาศัยบ้างก็ไม่ได้ มีความรังเกียจ เลิกเป็นพ่อเป็นแม่เป็นลูกกันตอนหมดทรัพย์สมบัตินี่เอง

4. ลูกหลีก คือลูกที่เห็นแก่ตัวจัด เอาเปรียบพ่อแม่ เมื่อไม่มีเงินทอง หรือขนมติดมือมาก็แวะบ้านพ่อแม่ พ่อแม่มีอะไรก็หยิบกินฉวยกิน ถือว่าเป็นบ้านพ่อแม่ มีอะไรก็หยิบเอาไป ถือว่าเป็นของลูก แต่พอตัวมีเงินทอง ทรัพย์สิน ก็หายหน้า กลัวพ่อแม่จะไปเบียดเบียน มีขนมติดมือมาก็อุตส่าห์เดินหลีกบ้านพ่อแม่ไปเสีย รีบหลีกหนีเอาไปฝากลูกเมีย จะแวะบ้านพ่อแม่ก็กลัวว่าจะต้องแบ่งให้พ่อแม่กิน ลูกอย่างนี้เรียกว่าลูกหลีก

พอเทศน์จบเรื่องลูก 4 ลูก คุณหญิงประจญปัจนึก ก็ยกมือขึ้นสาธุ ร้องว่า

"สาธุ หลวงพ่อเทศน์มีคติดีแท้ ๆ"

จะเห็นว่าการเทศน์ของหลวงพ่อนี้ เป็นเทศน์แบบปฏิภาณ เทศน์ให้เด็กฟังได้ เป็นอย่างดี เด็กก็ฟังกันรู้เรื่องดี เป็นที่จับใจตั้งแต่ต้นจนจบ

พระที่เทศน์ได้อย่างนี้ก็เห็นมีพระอริยสงฆ์อีกองค์หนึ่ง คือ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) มีคนไปนิมนต์ว่า ให้เทศน์เรื่องนักษัตร เพราะเขาฟังนายสั่งไม่เข้าใจ นายสั่งว่า ให้นิมนต์สมเด็จเทศน์เรื่อง "อริยสัจจ์" เขาก็ไปนิมนต์สมเด็จให้เทศน์เรื่อง "นักษัตร" เสีย สมเด็จท่านก็ไม่ว่ากระไร ไปถึงบ้านก็เทศน์ "ชวดฉันว่าหนู ฉลูฉันว่าวัว ไปตามลำดับ เอาธรรมะสอดแทรกและสรุปลงเป็นธรรมะ ว่าวันเดือนปีเคลื่อนคล้อยไป คนก็แก่และเจ็บตายกันไป เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา การเวียนว่ายตายเกิด เป็นต้นเหตุแห่งความทุกข์ จะดับทุกข์ได้ด้วย การบำเพ็ญบารมี 10 ประการ จะได้ไปเกิดในสวรรค์ชาติสุดท้ายก็จะได้เกิดเป็นพระโพธิสัตว์บำเพ็ญบารมี 10 ทัศ แล้วอุบัติเกิดในศาสนาพระศรีอาริย์ สำเร็จเป็นพระอรหันต์ ตายไปเกิดเป็นวิสุทธิเทพอยู่ในพระนิพพานเมืองแก้วไม่ต้องกลับมาเวียนว่ายให้เกิดทุกข์เวทนาต่อไป"

ท่านก็เทศน์เข้าเรื่องอริยสัจจ์จนได้ นี่คือแบบอย่างการเทศน์ของพระโสดาบันบุคคลผู้ได้ธรรมจักษุ ได้ดวงตาเห็นแจ้งธรรมะปรุโปร่งตลอด

ช่วยราชการบ้านเมือง

พระเจ้าตากสินมหาราช เคยตรัสกับพระสงฆ์ว่า

"เรื่องอาณาจักรเป็นเรื่องของโยม

เรื่องพุทธจักรเป็นธุระของพระผู้เป็นเจ้า"

หมายความว่า ภาระหน้าที่ในการบริหารบ้านเมืองนั้น เป็นเรื่องของฆราวาสญาติโยมแต่เรื่องภาระธุระทางพระพุทธศาสนานั้นเป็นเรื่องของพระภิกษุสงฆ์

คำว่า พระผู้เป็นเจ้านั้นหมายถึง พระพุทธเจ้าและพระสงฆ์เจ้าทั้งหลายทั้งปวง

ความหมายที่ลึกลงไปกว่านี้ก็คือ การปกครองบ้านเมืองให้ราษฎรอยู่ด้วยความร่มเย็นเป็นสุขนั้น จะต้องช่วยกันทั้งสองฝ่ายคือฝ่ายอาณาจักร และฝ่ายพุทธจักร จึงจะสามารถรักษาชาติศาสนาไว้ได้

สมัยโบราณท่านถือว่า แม้พระยาช้าง พระยาม้า ก็รับราชการเป็นเครื่องมือในการปกครองรักษาพระราชอาณาจักร พระสงฆ์เจ้าคณะทั้งปวง ตลอดจนพระครูสอนพระธรรม ก็รับราชการด้วย ท่านจึงถวายเงินนิตยภัต พัดยศ ตราตั้ง ซึ่งเท่ากับเป็นข้าราชการนั่นเอง

หลวงพ่อเงินดูเหมือนว่าจะถือคติโบราณอันนี้มาตลอดเวลา ตลอดชีวิตของท่าน ท่านถือว่าตัวท่านมีภาระหน้าที่ต้องช่วยราชการบ้านเมือง ไม่ต้องบอกไม่ต้องนิมนต์ ไม่ต้องสั่ง ท่านก็ทำอยู่โดยปกติธรรมดา

เมื่อทางราชการขอร้องท่านก็ทำสิ่งใดการใดที่จะเป็นประโยชน์แก่ราชการบ้านเมือง แก่พระศาสนา หรือเป็นประโยชน์สุขแก่มหาชน หลวงพ่อทำ หลวงพ่อรับภาระ หลวงพ่อช่วยเหลืออย่างเต็มสติปัญญาไม่เคยหลีกเลี่ยง ไม่เคยเกี่ยงงอน ไม่เคยรีรอ ไม่เคยเล่นแง่ ไม่เคยต้องให้ขอร้อง ไม่เคยคิดเอาหน้าเอาชื่อ ไม่เคยวางใหญ่ ว่างานนี้ร้อง ฉันต้องเป็นหัวหน้า ฉันเป็นประธาน ฉันเป็นผู้ชี้ขาด ฉันต้องมีอำนาจคุม ไม่มีเลยในเรื่องเหล่านี้

ดูเหมือนหลวงพ่อจะถือว่าเป็นหน้าที่ที่จะต้องช่วย จะต้องทำไปหมดทุกเรื่อง ไม่ต้องรอให้ผีเห็น คนเห็น ไม่ต้องรอให้คนยกย่อง ไม่ต้องรอเอาชื่อเอาหน้าอะไรทั้งสิ้น คนที่รู้จักหลวงพ่อจะต้องยอมรับในเรื่องนี้ บางทีลูกศิษย์คิดค้านก็มีว่าเรื่องนี้หลวงพ่อไปรับทำทำไม ไม่ใช่ธุระกงการอะไรของหลวงพ่อเลย แต่หลวงพ่อเฉย หลวงพ่อทำต่อไปตามปกติ

จะขอยกตัวอย่างให้เห็นสักเรื่องหนึ่ง

คือเรื่องโรงพยาบาลนครปฐม แต่เดิมนั้นเป็นโรงพยาบาลขนาดเล็ก ตั้งอยู่ในที่ดินคับแคบ มีอาคารไม้หลังเล็ก ๆ มีไม่กี่เตียง อยู่ในบริเวณทิศตะวันตกขององค์พระปฐมเจดีย์

ต่อมานายพล วงศาโรจน์ ผู้ว่าราชการจังหวัด น..สมใจ สุชาดำ สาธารณสุขจังหวัด พร้อมด้วยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ปรึกษากันว่า ควรตจะย้ายไปสร้างใหม่ในที่ราชพัสดุ หน้าโรงเรียนพระปฐมวิทยาลัย ซึ่งเดิมเป็นของโรงเรียนนายร้อยนครปฐม เมื่อได้ที่ดินซึ่งกว้างขวางพอสมควรแล้ว ก็มาถึงงบประมาณในการก่อสร้าง ซึ่งจะต้องใช้เงินนับสิบล้าน จะได้มาอย่างไร แน่นอนส่วนใหญ่จะต้องได้มาจากการบริจาคของประชาชน แต่การที่ประชาชนจะบริจาคนั้นเขาจะต้องมีสิ่งที่เขาเลื่อมใสศรัทธา จะต้องมีแกนกลางของการบุญกุศล หยิบยกเอามาเป็นประธาน เป็นจุดศูนย์กลาง เป็นจุดดึงดูดบุญบริจาค มองดูจนทั่วทิศรอบองค์พระปฐมเจดีย์แล้ว ไม่มีใครจะวิเศษเท่าหลวงพ่อเงินเลย จึงตกลงจะให้หลวงพ่อเงินเป็นประธานในการก่อสร้างโรงพยาบาลแห่งนี้ โดยวิธีหล่อรูปเหมือนหลวงพ่อเงินขึ้นจำนวนหนึ่ง เพื่อเป็นของสมนาคุณผู้บริจาคเงิน ได้กราบเรียนให้หลวงพ่อทราบ หลวงพ่อก็ยินดีอนุญาตให้ทำได้ตามความประสงค์ จึงได้ดำเนิการกันต่อมา มีผู้บริจาคทรัพย์จำนวนมาก พอที่จะสร้างโรงพยาบาลได้ โดยยกหลวงพ่อเงินเป็นประธานโรงพยาบาลแห่งนี้ จึงสร้างต่อมาได้ดังความประสงค์ ด้วยเงินจำนวนมาก และทางกรรมการก็ได้สร้างอาคารตึกพยาบาลขึ้นหลังหนึ่ง ตั้งชื่อว่า "อาคารราชธรรมาภรณ์ (หลวงพ่อเงิน)" พ่อค้าขายดีก็บริจาคทรัพย์กันรายละมาก ๆ เป็นจำนวนหมื่นจำนวนแสนก็มีมาก

นี่คือบารมีของหลวงพ่อเงินที่ได้ช่วยชาติบ้านเมืองเรื่องหนึ่ง ซึ่งยังมีหลักฐาน ปรากฏอยู่จนทุกวันนี้

และดูเหมือนจะเป็นต้นแบบที่เกิดโรงพยาบาลสมเด็จพระสังฆราช ที่สุพรรณบุรี โรงพยาบาลสมเด็จพระสังฆราช ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ตลอดจนโรงพยาบาลหลวงปู่แหวน สุจิณโณ ในเวลาต่อมาด้วย กล่าวเช่นนี้คงจะไม่เกินความจริงอะไร เพราะโรงพยาบาลนครปฐมของหลวงพ่อเงินเกิดก่อนแห่งอื่น ๆ ทุกแห่ง

กรมตำรวจส่งคนมาศึกษา

เรื่องการช่วยราชการบ้านเมืองของหลวงพ่อนั้น ท่านทำมานาน เช่น เรื่องการปราบหวยเถื่อน ปราบโจร สร้างโรงเรียน สร้างสถานีอนามัย รวมทั้งการสร้างถนน สายพระปฐม - ดอนยายหอม ซึ่งต่อมาก็สร้างถึงอำเภอบ้านแพ้วด้วยนั้น ก็เกิดจากผู้หลักผู้ใหญ่ไปหาหลวงพ่อที่วัด แล้วให้การสนับสนุนอีกทางหนึ่งจึงเกิดถนนสายนี้ขึ้น

เรื่องการช่วยราชการบ้านเมืองของหลวงพ่อนี้ เป็นที่รู้กันทั่วไปมานานแล้ว ราชการกรมกองไหนที่จะทำการพัฒนาบ้านเมือง ก็ต้องนึกถึงหลวงพ่อเงิน รู้จักหลวงพ่อเงินทั้งนั้น กรมตำรวจก็รู้ดีว่า โจรผู้ร้ายสงบ เพราะบารมีของหลวงพ่อช่วยอยู่ทางอ้อม

เมื่อ พ..2497 สมัย พล... เผ่า ศรียานนท์ เป็นอธิบดีกรมตำรวจ ก็เคารพนับถือหลวงพ่อมาตั้งแต่ครั้งปราบเสือผาด ทับสายทอง เคยนิมนต์หลวงพ่อไปพิธีพุทธาภิเษกพระเครื่อง "สมเด็จเผ่า" ที่วัดบางขุนพรหม นิมนต์หลวงพ่อไปทำพุทธาภิเษก เหรียญ 25 พุทธศตวรรษ

นอกจากนั้น สมัยนั้นเริ่มการโอนอำนาจการสอบสวนจากอำเภอไปให้ตำรวจ ได้ประชุมพิจารณากันเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน พ..2497 ท่านอธิบดีกรมตำรวจได้กล่าวว่า

"ต่อไปข้างหน้า การสอบสวนจะเป็นของตำรวจ ปลัดอำเภอจะให้ไปทำงานด้านเศรษฐกิจ จึงควรชี้แจงให้ผู้ว่าราชการจังหวัดได้ทราบ เพราะการเศรษฐกิจเป็นของสำคัญที่สุด ถ้าประชาชนอยู่ดีกินดีแล้ว โจรผู้ร้ายหัวลักหัวขโมยก็จะไม่มี เช่น สมภารวัดดอนยายหอม ท่านมีวิธีการอย่างไร จึงสอนคนให้ตั้งอยู่ในสัมมาอาชีพได้ ท่านเรียกเอานายทุนมาชุมนุมกัน เรียกเอาอันธพาลมาชุมนุม แล้วชี้แจงประกาศตัวคนร้าย คนร้ายก็ไม่มี เพราะประชาชนรู้จักตัว และคอยปราบปราม ท่านชี้แจงว่านายทุนต้องอาศัยคนจน คนจนก็ต้องอาศัยนายทุน ห้ามสูบฝิ่นกินเหล้า จึงรวมความว่า อำเภอควรรับหน้าที่ทางด้านเศรษฐกิจและคงให้มีอำนาจในทางสอนสวนบ้างเหมือนกัน

"เรื่องสมภารวัดดอนยายหอม ให้ พ...สุนทร พันธุมณี และ พ...กว้าง โรหิตรัตน์ ไปสืบเสาะเขียนมา จะได้พิมพ์แจกนายอำเภอเดือนหน้าให้เสร็จ"

เรื่องนี้ ...สุนทร พันธุมณี ได้ไปหาหลวงพ่อ และเขียนวิธีการปกครองของหลวงพ่อตามคำสั่ง พล...เผ่า ศรียานนท์ ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ตำรวจ ฉบับพิเศษ วันตำรวจเล่ม 20 ประจำปี พ..2497 ผู้สนใจจะค้นหาอ่านรายละเอียดได้จากหนังสือนั้น

เล่าเรื่องนี้ไว้ เพื่อเป็นหลักฐานยืนยันว่าทางราชการกรมตำรวจก็ทราบดีว่าหลวงพ่อได้ช่วยราชการบ้านเมืองอยู่อย่างไร และเรื่องที่ช่วยราชการนั้น ก็ไม่ได้มีใครไปไหว้วานหลวงพ่อเลย

คำกล่าวที่ว่าหลวงพ่อเป็นพระโพธิสัตว์มาอุบัติในโลกนี้ เพื่อบำเพ็ญบารมี เป็นที่พึ่งแก่สัตว์โลกทั้งหลาย จึงไม่เกินความจริงแต่ตรงกับจริยาวัตรของหลวงพ่อตามปกติธรรมดาเท่านั้น.

หลวงพ่อโปรดสัตว์

สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น ทรงบรรทมเมื่อเวลาเที่ยงคืนล่วงไปแล้ว 1 ชั่วโมง คือบรรทมเวลา 1 นาฬิกา และทรงตื่นบรรทมเวลา 4.00 นาฬิกา ตื่นแล้วก็ทรงเข้าฌานสมาบัติ สอดส่องพระญาณไปตรวจดูสรรพสัตว์ทั้งปวงว่าจะมีใครอยู่ในข่ายที่จะไปโปรดได้ แล้วก็ส่องพระรัศมีไปโปรดผู้นั้นจนถึงตัวปรากฏพระองค์ต่อผู้อื่น เช่น การโปรดองคุลีมาล เป็นต้น การที่องคุลีมาลไล่วิ่งกวดไม่ทัน ทั้งที่เป็นชายกำยำนั้น ไม่ใช่เรื่องธรรมดาสามัญ แต่เป็นเรื่องอิทธิปาฏิหาริย์ ซึ่งคนสมัยนี้ไม่เชื่อว่าทำได้ และพระเยซู แสดงอิทธิฤทธิ์เสกขนมปัง 5 ก้อน เลี้ยงคนตั้ง 5,000 คน ได้ ชาวคริสต์เขาเชื่อ ท่านไสบาบาแห่งประสันตินิลยิม เนรมิตรสร้อย ล็อกเกต นาฬิกา ขนม วิภูติแจกคนได้ เสด็จไปช่วยสาวกต่างหัวเมืองได้ เป็นหมอผ่าตัดเนื้อร้ายในท้องคนไข้ได้ สาวกของท่านเชื่อถือกันสนิทใจ ไม่สงสัยเลย จึงน่าสงสารชาวพุทธที่เป็นกำพร้า อนาถาไร้ที่พึ่ง ไม่เชื่อว่าพระพุทธองค์แผ่รัศมีไปปรากฏพระองค์ต่อหน้าองคุลีมาล สั่งสอนองคุลีมาลจนใจอ่อนยอมบวช จนสำเร็จ เป็นพระอรหันต์ ได้ ชาวพุทธบางจำพวก ที่เป็นปัญญาชนกลับไม่เชื่อจึงน่าเวทนาสงสารที่เขาเกิดมาเป็นชาวพุทธที่กำพร้าเหล่านั้นเสียจริง ๆ

หลวงพ่อเงินไม่มีอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ คือไม่สำเร็จอภิญญาญาณไม่มีมโนมยิทธิ แสดงฤทธิ์ไม่ได้ อย่างพระผู้มีพระภาคเจ้า (ซึ่งแปลว่า แบ่งภาค หรือเปล่งรัศมีไปโปรดคนได้ ภ = แสงสว่าง ค = ส่องแสงไป = พระผู้มีพระภาคเจ้า คือพระผู้เป็นเจ้า ผู้แบ่งภาคได้ หรือพระผู้เป็นเจ้า ผู้แบ่งภาคได้ หรือพระผู้เป็นเจ้าผู้เปล่งพระรัศมีไปได้ในที่ไกล)

แต่หลวงพ่อเงินก็โปรดสัตว์อยู่เสมอ อย่างที่เคยเล่าว่า ไปเป่าหัวเข่าคนที่ปวดหัวเข่าหายเป็นปลิดทิ้ง แล้วถวายพระบรมธาตุให้แก่หลวงพ่อ เป็นต้น

มีเรื่องเล่าประกอบการโปรดสัตว์ของหลวงพ่ออีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งเป็นเรื่องจริง มีตัวตนยืนยันได้ คือ

คุณอนงค์ สุทธิมณฑล ภรรยาของ พ...เทียบ สุทธิมณฑล ป่วยเป็นโรคประสาท จนผ่ายผอมหน้าซุบซีด เที่ยวรักษาหมอไทย หมอจีน หมอโบราณ หมอแผนปัจจุบันหลายแห่ง ก็ไม่หาย ได้ข่าวว่าหลวงพ่อเงินเป็นพระอาจารย์ขลังนัก จึงไปหาหลวงพ่อ ขอให้รดน้ำมนต์ให้

เมื่อพบหน้าหลวงพ่อแล้วก็มีความเลื่อมใสศรัทธามากเพราะหลวงพ่อมีสง่าราศีผุดผ่อง ผิวพรรณขาวสะอาด แจ่มใส พูดจาไพเราะ โอภาปราศรัย ยิ้มแย้มแจ่มใส ถามถึงสารทุกข์สุกดิบ เหมือนคนคุ้นเคยกันมานับแรมปี

ก่อนจะรดน้ำมนต์ คุณอนงค์ จึงเล่าให้หลวงพ่อฟังว่า คุณผู้ชายเจ้าชู้แอบไปมีเมียน้อยไว้ ไม่ค่อยห่วงบ้านช่องเลย

หลวงพ่อได้ฟังดังนั้น ก็เข้าใจถึงสภาพจิตใจ อันเป็นสมุฏฐานของโรคได้ทันที หลวงพ่อจึงพูดถึงธรรมะ การครองชีวิต ความทุกข์ความสุขของตนแม้กระทั่งเทวดาในเทวโลก แล้วก็วกลงมาว่า

"ความรัก ความชัง ความดีใจ เสียใจ เป็นธรรมดาของมนุษย์เหมือนมีมืดมีสว่าง มีสุขก็มีทุกข์ เป็นของคู่กัน มนุษย์จะหลีกเลี่ยงไม่พ้น ไม่ว่าไพร่ผู้ดีมีจน คุณนายเคยมีสุขมาแล้ว บัดนี้ทุกข์มันก็เข้ามาหาเราบ้าง ถึงเราไม่ชอบไม่ต้องการ ก็ต้องยอมรับและต่อสู้กับมัน ไม่ควรจะปล่อยให้มันย่ำยีโดยยอมแพ้ง่ายๆ ทางที่จะต้องสู้กับความทุกข์คือ ธรรมะของพระพุทธเจ้า ขอให้เราเชื่อว่า ทุกคนมีกรรมเป็นของตน ไม่ว่ายากดีมีจนมีทุกข์เดือดร้อนเหมือนกันทั้งนั้น แต่มันทุกข์คนละอย่าง คนมีก็ทุกข์ ไปตามเรื่องของคนมี คนจนก็ทุกข์ไปตามประสาของคนจน จะทุกข์มากหรือทุกข์น้อยอยู่ที่การกำหนดจิตใจ กำหนดจิตใจของตนเองได้ก็มีทุกข์น้อย หากปล่อยใจก็มีทุกข์มากทุกข์อย่างเดียวกัน แต่คนสองคนก็ทุกข์ไม่เท่ากัน เช่น คนสองคนไปปล้นเข้ามา ถูกจับได้ต้องติดตะรางเท่า ๆ กัน แต่คนหนึ่งทุกข์มาก กินไม่ได้นอนไม่หลับ จนผ่ายผอมแต่คนหนึ่งปลงใจได้ว่าทำกรรมไว้ กรรมก็ตามมาสนอง ทนใช้กรรมยอมติดคุกไป เมื่อหมดกรรมก็ออกจากคุกได้ เขาก็ไม่เดือดร้อนใจ

ตามธรรมดาไฟนั้นจะลุกลามได้ใหญ่โตก็เพราะได้เชื้อที่อ่อนนิ่ม ถ้าเพลิงไหม้ไม้เนื้อแข็งก็ลุกลามได้ยาก เหมือนจิตใจคน ถ้าเข้มแข็งทุกข์ก็เกิดได้ยาก

ในโลกนี้อะไร ก็เป็นเรื่องสมมติทั้งนั้น มนุษย์หาความสุขกันไป วัน ๆ หนึ่ง สมมติกันว่า เจ้านั้นรวย เจ้านี่จน เจ้านั่นนาย นั่นเมีย นั่นผัว สุดท้ายก็ไม่มีอะไรเหลืออยู่เลย ตัวของเราก็ไม่เหลืออยู่ ตัวเราก็ไม่ใช่ของเรา เพราะเราห้ามไม่ให้แก่ ไม่ให้เจ็บ ไม่ให้ตายไม่ได้ ทำไมเล่า เราจะไปมัวนึกว่าของอื่น ๆ นอกกายเป็นของเราอีกเล่า

สามีที่ไปมีภรรยาใหม่นั้น เพราะเขามีกรรม เขาจึงสาละวนขวนขวายอยู่ในกองกามกิเลส ถ้าภรรยาตัดใจได้ว่า ปล่อยเขาไปตามกรรม เราตั้งมั่นอยู่ในความดี หนักแน่นเหมือนแผ่นดิน สามีผู้โลดแล่นไปเหมือนตะไลขึ้นสู่ฟ้า เมื่อหมดฤทธิ์ดินขับ ก็ย่อมตกลงสู่พื้นดินจนได้ หนีความดึงดูดของโลก ไปไม่พ้นเลย

ความดีความงามของภรรยาก็เหมือนแผ่นดิน ย่อมจะดึงดูดสามีให้กลับมาหาจนได้เมื่อเขาหมดเวรหมดกรรม

การมีภรรยามาก เป็นธรรมเนียมของผู้มีบุญหนักศักดิ์ใหญ่ เรื่องภรรยานี้ มีอยู่ทั่วไปไม่เว้นคน กษัตริย์มีบุญญาธิการ ยังมีสนมไว้มากมาย เทพบุตรก็ว่ามีนางฟ้าเป็นบริวารมากมายหลายหมื่น คุณผู้ชายก็มียศถาบรรดาศักดิ์ หากจะผิดพลาดไปในเรื่องนี้ก็ควรอภัย หมดเวรหมดกรรมกับเมียน้อยเมื่อไร ก็คงกลับมาอยู่กับคุณนาย คุณนายก็มีกินมีใช้ไม่เดือดร้อนอะไรในเวลานี้ ทำใจให้สงบสบายดีกว่า เอ้าเตรียมตัวเข้ามารดน้ำมนต์เสีย จิตใจจะได้สบาย"

คุณอนงค์ สุทธิมณฑล ยกมือขึ้นประนมสั่นหัว ตอบว่า

"ไม่ต้องอาบน้ำมนต์ก็ได้เจ้าค่ะ ได้อาบพระพุทธมนต์แล้ว ทำใจแล้ว ต่อไปจะไม่ทุกข์ในเรื่องเช่นนี้อีก"

ต่อมาไม่นาน คุณอนงค์ ก็มาหาหลวงพ่ออีก คราวนี้ไม่ได้มาคนเดียว เหมือนคราวก่อน แต่มี พ...เทียบ สุทธิมณฑล มาด้วย

เมื่อ พ...เทียบ สุทธิมณฑล ได้นั่งพิจารณาหลวงพ่ออยู่ครู่หนึ่ง พ...เทียบ ก็เข้ามากราบหลวงพ่อ พูดด้วยความเคารพนอบน้อมว่า

"กระผมรู้สึกเป็นบุญเหลือเกินที่ได้มานมัสการหลวงพ่อ กระผมได้รับคำบอกเล่าจากภรรยา กระผมก็อัศจรรย์ใจ กระผมจึงอยากจะมาดูให้เห็นจริง บัดนี้กระผมทราบแล้วว่า ภรรยาของกระผมโชคดีมากที่ได้มาพบหลวงพ่อ ความจริงนั้นกระผมไม่ค่อยเชื่อถือพระที่ไหนนัก เพราะมีแต่หลวงตาแก่ ๆ รดน้ำมนต์อ่านโองการเป็นชั่วโมง ๆ จนภรรยาผมตัวสั่น ก็ยังรดน้ำมนต์โครม ๆ แต่เสร็จแล้วร้อยทั้งร้อยไม่ได้เรื่องสักราย แต่หลวงพ่อรักษาภรรยาผมด้วยปากจนหายได้อย่างอัศจรรย์"

นับแต่วันนั้นมา พ...เทียบ สุทธิมณฑล ต้องนิมนต์หลวงพ่อไปฉันอาหารที่บ้านในวันทำบุญวันเกิดทุกปี เพื่อนฝูงถามว่าทำไมจึงนิมนต์พระองค์เดียว พ...เทียบ สุทธิมณฑล ตอบว่า

"ผมมีหลวงพ่อองค์เดียว"

คำเทศนาโปรดคุณอนงค์ สุทธิมณฑล ของหลวงพ่อนั้น ลองอ่านทบทวนดูอีกสักครั้งเถิดจะเรียกว่า "พระแม่ธรณีสูตร" ได้หรือไม่ เพราะหลวงพ่อสอนว่า คุณงามความดีของภรรยานั้นเหมือนแม่พระธรณีอันหนักแน่นไม่หวั่นไหว ของที่หลุดลอยไป สู่ฟ้าด้วยแรงขับแรงดันอะไรก็ตามย่อมจะถูกดึงดูดตกลงมาสู่ แผ่นดินเสมอ

คำสั่งสอนอย่างนี้ เป็นคำสั่งสอนของพระโพธิสัตว์อุบัติมาบำเพ็ญบารมีเป็นที่พึ่งแก่สัตว์โลกทั้งหลายได้จริง ๆ สอนได้เหมาะเจาะแก่บุคคลจริง ๆ รักษาโรคใจของคนป่วยให้หายได้จริง ๆ เพราะท่านพูดออกมาจากจิตใจที่เปี่ยมไปด้วยเมตตาจริง ๆ ไม่ได้จดจำเอามาจากไหนเลย

ยึดผ้าเหลืองเป็นธงชัยพระอรหันต์

หลวงพ่อ บวชอยู่ในพระพุทธศาสนา ตั้งแต่อายุครบบวช เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม พ..2453 จนกระทั่ง พ..2519 รวมเวลา 66 ปี อุทิศชีวิตอยู่ในเพศพรหมจรรย์มาโดยตลอดอย่างบริสุทธิ์กายบริสุทธิ์วาจาบริสุทธิ์ใจไม่เคยเกคลื่อนไหวว่าจะสึก โดยกระทำให้ศีลด่างพร้อยมัวหมองเลย แม้แต่สิกขาบทเดียว ไม่เคยพูดถึงเรื่องลาสิกขากับใครเลย มีแต่ลั่นวาจาว่าจะบวชตลอดชีวิต ไม่เคยคิดแม้แต่สักแวบหนึ่งในใจว่าจะลาสิกขา ตั้งใจมุ่งมั่น แน่วแน่แต่จะฝากชีวิตไว้ในผ้าเหลือง ขอยึดเอาผ้าเหลืองเป็นธงชัยพระอรหันต์ คำนี้เป็นคำโบราณ พูดกันมานานนับร้อยนับพันปี "ผ้ากาสาวพัสตร์ เป็น ธงชัยพระอรหันต์" เหมือนทหารยึดเอาธงไชยเฉลิมพลเป็นที่พึ่งที่ระลึกยามเข้าสงคราม การบวชเป็นพระภิกษุนี้ ก็ต้องทำสงครามกับกิเลสตัณหา ความรู้สึกฝ่ายต่ำอยู่ตลอดเวลา คือเรื่อง ราคะ โทสะ โมหะ คนโบราณเข้าใจดี เวลาทอดกฐินเขาจึงทำธง เขียนรูปจระเข้ รูปคลื่น รูปนางมัจฉา 4 ผืนไปปักไว้หน้าวัด

1.ธงรูปจระเข้ คือเรื่องกิน จระเข้นั้นเห็นแก่กิน ตายเพราะกิน เตือนใจพระว่าอย่าเห็นแก่กินเหมือนจระเข้เข้า อย่าเอาแต่กินกับนอน

2.ธงรูปคลื่นนั้น ก็คือ อารมณ์โกรธหรือโทสะเหมือนคลื่นในทะเลพัดเรือจม การบวชเป็นพระนั้น ท่านว่าเป็น "ผู้ชายพายเรือ" อยู่ในทะเลและมหาสมุทร ให้ระวังคลื่นลมพัดเรือจม เรือแตก จะไปไม่ถึงฝั่งพระนิพพาน จะไม่ได้มรรคผล นิพพานอะไรเลย

3.ธงรูปนางมัจฉานั้น หมายถึงราคะ หรือสตรีเพศ เป็นข้าศึกแก่พรหมจรรย์ พระภิกษุบวชอยู่ไม่ไหว ร้อนผ้าเหลืองเป็นไฟ ก็เพราะสตรี จึงให้สำรวมระวังอย่าเข้าใกล้ อย่าเผลอปล่อยกายปล่อยใจ อย่าพ่ายแพ้แก่อิตถีเพศ

4.รูปวังน้ำวน หมายถึง วัฏสงสารที่ต้องเวียนว่ายตายเกิด เพราะกิเลสตัณหา อุปาทาน

ชาวบ้านสอนพระไม่ได้ เขาจึงทำธง 4 ผืนไปปักหน้าวัดเวลาทอดกฐิน เป็นประเพณีมาแต่โบราณกาล เขาปักธงไว้สอนพระ

แต่สำหรับหลวงพ่อเงิน ดูเหมือนธงทั้ง 4 ธงนี้ ไม่มีความหมายอะไรแก่ท่านเลยก็ว่าได้

เพราะท่านยึดเอาผ้าเหลืองเป็นธงชัยพระอรหันต์อยู่ในชีวิตจิตใจ ถึงแม้ว่าชาตินี้จะมีบุญวาสนาไม่สำเร็จมรรคผล เป็นพระโสดา พระสกิทาคามี พระอานาคามี หรือพระอรหันต์แต่ก็มีผ้าเหลืองเป็นจุดมุ่งหมาย เป็นธงชัยพระอรหันต์ที่มุ่งหมายจะบำเพ็ญสมณธรรมให้บรรลุในที่สุด ถ้าไม่บรรลุในชาตินี้ก็ขอบรรลุในชาติต่อ ๆ ไป

หลวงพ่อเงินเป็นพระมหานิกาย โดยเฉพาะก็คือ เป็นพระสงฆ์ที่เชื่อถือลัทธิพระโพธิสัตว์บำเพ็ญบารมี ซึ่งเป็นความเชื่อถือสืบเนื่องมาตั้งแต่ยุคกรุงสุโขทัยแล้ว หลักฐานก็คือ หนังสือไตรภูมิพระร่วงนั่นแหละ ที่พระเจ้าลิไทยธรรมราชาแต่งขึ้น ก็แสดงความเชื่อถือเรื่องลัทธิพระโพธิสัตว์อย่างชัดแจ้งที่สุด

ลัทธินิกายพระโพธิสัตว์ ที่ย่อที่สุดก็คือเชื่อว่า ชีวิตไม่ได้สิ้นสุดลงเมื่อตายในชาตินี้ แต่ยังมีชีวิตสืบเนื่องต่อไปหลังความตาย จะต้องไปเกิดใหม่ในชาติหน้าจะต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในห้วงมหรรณพภพสงสารนี้ไม่รู้จักสิ้นสุด จนกว่าจะบรรลุพระอรหันต์ตัดกิเลสสิ้นขาดแล้ว แต่พระอรหันต์ที่ดับขันธ์ไปสู่นิพพานก็ใช่ว่าจะสิ้นสูญ ยังคงมีชีวิตสถิตอยู่ในพระนิพพานเมืองแก้วนั้นเอง เป็นชีวิตอมตะไม่รู้จักตายเป็นชีวิตนิรันดร เที่ยงแท้ไม่แปรผัน ไม่กลับมาเวียนว่ายตายเกิดอีก แต่ยังคงมี "ชีวิต" อยู่ในพระนิพพานชั่วนิรันดร

ชีวิตของคนผู้ยังไม่บรรลุพระอรหันต์นั้น จะต้องกลับมาเวียนว่ายตายเกิดอีกต้องตายเกิดตายเกิดอยู่เช่นนี้ตลอดไปไม่รู้จักสิ้นสุด ต้องทนทุกข์เวทนา เพราะการเกิดแก่เจ็บตายนี้ไม่รู้จักสิ้นเวรกรรมลงได้เลย พระพุทธองค์เห็นทุกข์เห็นภัยในวัฏสงสารเช่นนี้ จึงแสวงหาโมกขธรรม แสวงหาพระนิพพาน ความหลุดพ้นโลก เป็นโลกุตระ (เหนือโลก พ้นโลก) ไม่ต้องกลับมาเวียนว่ายตายเกิดอีก

แต่พระพุทธองค์ก็ยังทรงสถิตอยู่ในพระนิพพานนั้น ไม่ได้สูญหายไปไหนเลย ยังมีพระพุทธานุภาพอยู่ทุกสถานในกาลทุกเมื่อประดุจพลังงาน ไฟฟ้ามีอยู่คู่โลกธาตุ

ชีวิตอมตะ หรือชีวิตนิรันดรนั้นมีอยู่ทุกศาสนา ศาสนาฮินดูตายแล้วก็ไปอยู่กับพระผู้เป็นเจ้า ศาสนาคริสต์ ตายแล้วก็ไปอยู่ในอาณาจักรของพระเจ้า ศาสนาอิสลาม ตายแล้วพระผู้เป็นเจ้าก็รับไปอยู่ในสวรรค์ ชีวิตไม่ได้สิ้นสุดลงเมื่อตายร่างกายแตกดับ ถ้าหากว่าพระนิพพานสูญสิ้นเชื้อ ไม่เหลือเลย คนก็กลัวนิพพาน

แต่ชาวพุทธที่นับถือลัทธินิกายพระโพธิสัตว์ ซึ่งพระพุทธองค์สอนไว้มากมายนักหนา ในเรื่องชาดกต่างๆ 500 ชาติ ว่าพระองค์ก็เคยเกิดเสวยพระชาติเป็นสัตว์น้อย ๆ ตั้งแต่นกกระจาบ นกคุ่ม จนกระทั่งถึงสัตว์ใหญ่ เช่น ช้าง พญาฉัททันต์ จนกระทั่งเกิดเป็นมนุษย์ธรรมดา เป็นเสนาอำมาตย์ เป็นพราหมณ์ เป็นฤาษี เป็นกษัริย์ เป็นพระเวสสันดรชาติสุดท้าย ก่อนจะอุบัติเกิดมาเป็นพระพุทธองค์ในชาตินี้ นี่คือลัทธินิกายพระโพธิสัตว์ อันเป็นพุทธศาสนานิกายสยามวงศ์ มากกว่า 2000 ปีแล้ว

หลวงพ่อเงินท่านบวชในนิกายสยามวงศ์ หรือนิกายพระโพธิสัตว์นี้ เหมือนสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ผู้นิพนธ์เรื่องปฐมสมโพธิกถาไว้ ในหนังสือเรื่องนี้ ก็สอนเรื่องพระโพธิสัตว์ไว้ตลอดเรื่อง ทรงเรียกพระนิพพานว่า

"พระอมตะมหานิพพาน"

แปลว่า พระนิพพานอันเป็นอมตะอย่างยิ่ง คือ พระพุทธเจ้านั้นสถิตอยู่ในพระอมตะมหานิพพาน ท่านไม่ได้สูญหายไปไหน ท่านเป็นอมตะ ยังอยู่ในพระนิพพานชั่วนิรันดร

ขอยืนยันว่า ปฏิปทาของหลวงพ่อก็ดี จริยาวัตรของหลวงพ่อก็ดี คำสอนของหลวงพ่อก็ดี หลวงพ่อเชื่อถือเรื่องพระโพธิสัตว์ หลวงพ่อเชื่อว่าตัวท่านคือพระโพธิสัตว์อุบัติมาบำเพ็ญบารมีเป็นที่พึ่งแก่สัตว์โลกทั้งหลาย และชาติสุดท้ายท่านจะได้ตรัสรู้แก่พระปรมาภิเศกสัมโพธิญาณ ในอนาคตกาลอีกแสนไกล

โปรดเกล้าฯ ให้เข้าเฝ้าถวายพระพร

เมื่อ พ..2507 หลวงพ่อได้รับนิมนต์เข้าไปสวดพระพุทธมนต์ในพระบรมมหาราชวัง เมื่อเสร็จแล้วก็ออกจากวัง มีตำรวจชั้นผู้ใหญ่ขับรถตามมา พอทันก็ถามว่า

"หลวงพ่อเงินใช่ไหม?"

"ใช่"

"หยุดก่อน"

"อาตมาทำผิดอะไร?"

"ไม่ผิดอะไรหรอก แต่ในหลวงมีรับสั่งให้หลวงพ่อเข้าเฝ้าเป็นการส่วนพระองค์"

"ไม่ดีหรอก อาตมากระเร่อกะร่าเข้าไปจะแลดูรุ่มร่าม ตะกี้พระองค์ท่านก็พบ อาตมาไม่เห็นว่าจะนิมนต์"

"ทรงระลึกได้ว่าใช่หลวงพ่อเงินหรือเปล่า พอแน่พระทัยก็รับสั่งให้กระผมมานิมนต์"

"กราบทูลท่านได้ไหมว่า จะขอเฝ้าภายหลังในโอกาสหน้า"

"ขอความเมตตาจากพระเดชพระคุณเถิด รับสั่งให้กระผมมานิมนต์หลวงพ่อ ถ้าพบหลวงพ่อแล้วนิมนต์เข้าไปเฝ้าไม่ได้ กระผมจะกราบทูลยังไง กระผมจะเสียผู้เสียคนคราวนี้เอง หลวงพ่อนึกว่าเมตตากระผมเถิด"

หลวงพ่อสงสารนายตำรวจผู้นั้น จึงยอมกลับไปเฝ้าในหลวง เมื่อทอดพระเนตรเห็นหลวงพ่อแล้ว ก็ทรงดีพระทัยมาก เสด็จเข้ามาประทับใกล้ๆ กราบนมัสการหลวงพ่อ แล้วก็ทรงยื่นพระหัตถ์ทั้งสองมากุมมือหลวงพ่อไว้ ตรัสว่า

"ได้ยินชื่อเสียงมานานแล้ว อยากพบหลวงพ่อ อยากรู้จักตัวหลวงพ่อมานานแล้ว"

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ก็ทรงกราบหลวงพ่อ ทรงเรียกว่า "หลวงพ่อ" เหมือนประชาชนทั้งหลาย

นี่คือพระราชจริยาวัตรของพระบรมโพธิสัตว์ต่อพระโพธิสัตว์ ผู้อุบัติมาบำเพ็ญบารมีเป็นที่พึ่งแก่สัตว์โลกทั้งหลาย ได้พบแล้วสนทนาวิสาสะกัน.

พระเจ้าอยู่หัวคือพระบรมโพธิสัตว์

หลวงพ่อเงิน คือพระโพธิสัตว์

อุบัติมาบำเพ็ญพระทศบารมี

สมเด็จป๋า วัดโพธิ์

สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (ปุ่น) วัดพระเชตุพน สมัยยังเป็นพระธรรมวโรดม ได้เล่าให้ น..แอ๊ด กลกิจ คหบดีจังหวัดนครปฐมฟัง เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2503 ว่า ท่านได้ไปในงานทำบุญครบ 5 รอบ 60 ปี ของหลวงพ่อเงิน เมื่อปี พ..2493 ทางวัดได้ถวายพระเครื่องหลวงพ่อเงินให้องค์หนึ่ง เป็นพระผงสีดำ ท่านก็รับไว้ ครั้นเมื่อกลับไปถึงวัดก็ล้วงย่ามจะเอาพระที่ได้จากวัดดอนยายหอมไปไว้ที่โต๊ะบูชา แต่ค้นหาเท่าไรก็ไม่พบ แต่เอาของอื่น ออกหมดย่าม จนลงมือเอาย่ามสะบัดก็ไม่มี ก็เลยปลงใจว่าคงหายเสียแล้ว

ครั้นอยู่ต่อมาท่านล้วงย่ามอีก ใจก็นึกถึงพระเครื่องหลวงพ่อเงินที่หายไปว่ามันหายไปได้ยังไง แต่คราวนี้เหมือนปาฏิหาริย์ พระหลวงพ่อเงินติดมือขึ้นมาจากย่ามได้ ท่านก็เลยนึกในใจว่า พระหลวงพ่อเงินคงอยากอยู่ในย่าม จึงได้ใส่ในย่ามไว้ตามเดิม

ในงานวัดใหม่ประตูน้ำราชบุรี ในระหว่างที่กำลังสวดมนต์อยู่ ได้ยินพระภิกษุรูปหนึ่งสวดมนต์เสียงดัง ชัดเจนดีก็ชอบใจ พอสวดเสร็จก็เรียกเข้ามาหา ถวายย่ามให้เป็นรางวัลแก่พระรูปนั้นไป

ครั้นแยกกันไปแล้ว ก็นึกได้ว่า พระเครื่องหลวงพ่อเงินองค์นั้นติดย่ามไปด้วย ก็รู้สึกเสียดาย เพระเป็นพระที่มีอภินิหารชอบกลอยู่ จึงเที่ยวตามหาพระภิกษุรูปนั้นก็ไม่พบ ถามใครก็ไม่มีใครรู้จักว่าอยู่วัดไหน จึงรู้สึกเสียดายมาก

พอตกกลางคืน ขณะที่กำลังนั่งสนทนากันอยู่กับแขกเหรื่อในปะรำโรงพิธี ท่ามกลางแสงไฟที่สว่างไสวนั่นเอง มีวัตถุชิ้นหนึ่งบินมาตกแป๊ะลงที่หัวเข่า จึงตกใจนึกว่าเป็นจิ้งจก หรือแมงเหนี่ยง จึงสะบัดตกลงไปที่พื้น แต่ครั้นก้มลงมองดูว่าเป็นอะไร ก็ปรากฏว่าเป็นพระเครื่องผงสีดำของหลวงพ่อเงินที่ติดย่ามใบที่ถวายพระเสียงดังองค์นั้นไปเมื่อตอนหัวค่ำนั้นเอง

สมเด็จป๋า ได้ประจักษ์อภินิหารด้วยตนเองดังนี้ จึงเชื่อถือพระเครื่องหลวงพ่อเงินแต่นั้นมา ภายหลังเมื่อสมเด็จป๋าสร้างพระเครื่อง "สมเด็จแสน" แจกบ้าง จึงได้นิมนต์หลวงพ่อเงินไปปลุกเสกด้วย

พระสมเด็จแสน ของสมเด็จป๋าวัดโพธินี้ ข้าพเจ้าได้รับแจกจากท่านองค์หนึ่ง เป็นพระเครื่องสามเหลี่ยม แบบพระนางพญาพิษณุโลก ที่เรียกสมเด็จแสน เพราะสร้าง 100,000 องค์ เป็นพระที่มีปาฏิหาริย์เหมือนกัน คนที่เป็นลูกศิษย์สมเด็จป๋า เลื่อมใสกันทุกคน สมเด็จป๋า เป็นลูกศิษย์ของหลวงพ่อวัดปากน้ำ

นายสุรินทร์ นาทวรทัต

เมื่อ พ..2504 มีเรื่องเศร้าและสยดสยองเกิดขึ้นที่จังหวัดนครปฐม โดยรถยนต์โดยสารคันหนึ่งแล่นตัดหน้ารถไฟ ที่ทางแยกถนนมาลัยแมน จะไปอำเภอกำแพงแสน มีรถไฟขบวนหนึ่งแล่นจากทางใต้จะเข้ากรุงเทพฯ คนที่นั่งในรถยนต์ตะโกนว่า "รถไฟมา ๆ" แต่เด็กกระเป๋าท้ายตะโกนบอกคนขับว่า "ไป - พ้น" คนในรถยนต์คนหนึ่งตะโกนว่า "ไม่พ้นๆ" คนขับจะลังเลใจหรือไม่เห็นรถไฟ จึงขับรถยนต์แล่นตัดหน้ารถไฟ จึงถูกรถไฟชนตูมเข้า เสียงดังสนั่นหวั่นไหวคนโดยสารตายทันทีหลายคน บาดเจ็บ อีกหลายคน แต่คนที่ร้องตะโกนว่า ไม่พ้น ๆ นั้น บาดเจ็บสาหัส ส่งโรงพยาบาลแล้วก็ยังร้องว่า "ไม่พ้น ๆ ๆ" จนกระทั่งขาดใจ

คนที่โดยสารรถยนต์คันนั้น มีอยู่คนหนึ่ง ชื่อคุณสุรินทร์ นาทวรทัต ปลัดอำเภอเมืองนครปฐม นั่งรถคันนั้นจะไปทัพหลวง เขานั่งอยู่ด้านซ้ายที่รถไฟชนพอดี แต่ไม่ทราบเป็นอย่างไรจึงกระเด็นออกนอกรถยนต์มานอนอยู่ที่พื้นดิน ห่างจากรถยนต์คันนั้นมาก พอได้สติก็ลุกขึ้นตรวจดูร่างกายว่าบาดเจ็บที่ไหนบ้าง ก็ไม่ปรากฏว่าบาดเจ็บอะไรเลยแม้แต่น้อย แต่คนที่นั่งเคียงข้างเขาตายทั้งคู่ เขาจึงเดินทางกลับบ้าน เล่าให้พ่อแม่พี่น้องฟัง พ่อของเขาคือ นายหิรัญ นาทวรทัต ผู้ช่วยศึกษาธิการจังหวัดนครปฐม ทุกคนก็ลงความเห็นว่า ที่เขาปลอดภัยเพราะมีเหรียญหลวงพ่อเงินคล้องคออยู่

รุ่งเช้า นายสุรินทร์ นาทวรทัต ก็ไปหาหลวงพ่อที่วัดดอนยายหอม กราบนมัสการแล้วเล่าให้หลวงพ่อฟัง แล้วขอให้หลวงพ่อรดน้ำมนต์เรียกขวัญที่หนีดีฝ่อไปกลับคืนมา

หลวงพ่อก็รดน้ำมนต์ให้ตามความประสงค์ ก่อนกลับหลวงพ่อได้พูดกับเขาว่า

"คนที่นับถือพระนั้น บางทีคุณพระก็คุ้มครองได้จริง ๆ "

นายสุรินทร์ นาทวรทัต เป็นเพื่อนนักเรียนโรงเรียนพระปฐมวิทยาลัยร่วมโรงเรียนกับ นายชื่น ทักษิณานุกูล และข้าพเจ้าผู้เขียนเรื่องนี้ บิดาของเขาเป็นเจ้านายเก่าของผู้เขียน คือนายหิรัญ นาทวรทัต อาของเขาคือ ครูไชย นาทวรทัต เป็นครูของผู้เขียน.

หญิงชราถูกปล้น

หญิงชราชาวลาวโซ่งคนหนึ่ง ได้มาหาหลวงพ่อเล่าว่า นางเคยเป็นชาวจังหวัดนครปฐม ได้อพยพไปทำมาหากินอยู่ที่จังหวัดพิจิตร เมื่อนางจะเดินทางไปอยู่จังหวัดพิจิตรนั้น ได้เคยมาหาหลวงพ่อขอพระเครื่องไปคุ้มครององค์หนึ่ง นางก็เก็บติดตัวเสมอ ก่อนนอนก็สวดมนต์ระลึกถึงหลวงพ่ออยู่เสมอไม่ขาด คราวหนึ่งถูกโจรปล้นบ้าน นางหนีไม่พ้น แต่มีสติดีระลึกถึงหลวงพ่อ แล้วก้มหน้าลงกราบหลวงพ่อมือกำพระเครื่องหลวงพ่อไว้แน่น ฟุบหน้าลงกับพื้น นึกเหมือนว่านั่งหมอบกราบหลวงพ่ออยู่ตรงหน้ากุฏิหลวงพ่อ หลับตามองเห็นหลวงพ่อนั่งเคี้ยวหมากอยู่ตรงหน้า ฝ่ายพวกโจรก็ค้นบ้านโครมครามอยู่ครู่หนึ่ง เมื่อไม่ได้ของมีค่าอะไรก็เตรียมกลับไป ได้ยินเสียงมันบ่นว่า

"นี่เจ้าของบ้านมันไปไหนหมด ?"

แล้วมันก็ลงเรือนเงียบหายไป

น่าประหลาดก็คือ วันรุ่งขึ้น มันกลับมาเอาเชี่ยนหมากที่มันถือติดมือไป เอามาโยนทิ้งคืนไว้ที่หน้าบ้านด้วย

หลวงพ่อฟังหญิงชราคนนั้นเล่าจบแล้ว ก็ตอบว่า

"ศรัทธา ความยึดมั่นถือมั่น โดยระลึกถึงคุณพระด้วยความเชื่อมั่น คุณพระจึงบันดาลให้โจรมองไม่เห็นโยม เมื่อมันกลับไปเห็นว่าในเชี่ยนหมากไม่มีเงินทอง มันก็เลยเอามาคืนให้..."

หลวงพ่อเงินเล่า

เรื่องทั้งหมดที่เล่าประกอบเรื่องพระเครื่องของหลวงพ่อเงินนั้น เป็นเรื่องของคนอื่น ซึ่งมีตัวตนอยู่จริง จึงขออนุญาตออกชื่อไว้ให้ปรากฏเป็นหลักฐานสำหรับผู้สนใจจะได้ทราบข้อเท็จจริงต่อไป ไม่ใช่เรื่องโฆษณาขายพระเครื่องหรือโฆษณาชวนเชื่อชื่อเสียงของหลวงพ่อเงิน เพราะบัดนี้หลวงพ่อเงินก็ล่วงลับดับขันธ์ไปแล้ว ตั้งแต่ พ..2519 นับจนถึงปีที่เขียนเรื่องนี้ พ..2529 ก็ 10 ปีเต็มแล้ว จึงไม่ได้เขียนเพื่อประโยชน์อย่างอื่นตามที่บางท่านอาจจะสงสัย

แต่ผู้เขียนขอเล่าเรื่องที่หลวงพ่อเล่าให้ฟังสักเรื่องหนึ่ง คือเมื่อประมาณ ปีพ..2516 หลวงพ่อเงินได้รับกิจนิมนต์ไปนั่งเป็นประธานในงานผูกพัทธสีมาวัดลาดเป้ง ผู้เขียนเรื่องนี้ได้นั่งรถยนต์กลับจากจังหวัดนครปฐมกับหลวงพ่อในระหว่างนั่งอยู่ในรถยนต์ด้วยกันตอนเบาะท้ายรถ หลวงพ่อก็เล่าให้ฟังในฐานะครูอาจารย์กับลูกศิษย์

หลวงพ่อเล่าว่า คราวหนึ่งได้นั่งแท็กซี่ไปจังหวัดลพบุรี ไปด้วยกัน 2 คัน หลวงพ่อนั่งคันหลัง คนที่ไปด้วยนั่งคันหน้า แล่นไปในระหว่างทางเวลากลางคืน ก็ถูกคนร้ายดักปล้นจี้แท็กซี่ เมื่อไม่ยอมให้เงินมัน มันก็ยิงเอา 2-3 นัด คนที่ถูกยิงก็สลบไป คือตกใจจนสลบไม่ได้สติ หลวงพ่อนั่งไปคันหลังจึงส่งกระแสจิตไปช่วยคุ้มครอง รถคันหน้าแล่นหนีไป มาถึงรถหลวงพ่อ มันไม่ยิง เพราะมันเห็นเป็นพระภิกษุนั่งอยู่ มันก็ไม่ยิง เมื่อพ้นอันตรายแล้ว คนขับก็หยุดดูอาการของคนที่ถูกปล้นแล้วถูกโจรยิง เขาฟื้นสติขึ้นมา ลุกขึ้นลูกปืนก็หลุดออกมาจากรักแร้ ในเสื้อผ้า 3 ลูก แต่ไม่เข้า ไม่มีบาดแผลที่ไหนเลยมีแต่ลูกปืน 3 ลูก

หลวงพ่อเล่าแล้วก็หัวร่อ ผู้เขียนก็ได้แต่นั่งฟัง ผู้เขียนเชื่อว่าเป็นเรื่องจริง เพราะผู้เขียนเชื่อศีลธรรม คุณธรรมของหลวงพ่อ หลวงพ่อทรงศีลทรงคุณธรรม อยู่เต็มตัว จะคุยเรื่องโกหกหลอกลวงให้ฟังทำไม เพื่อประโยชน์อะไรเล่า ?

แต่เสียดายที่ไม่ได้ถามชื่อผู้ถูกปล้นผู้ถูกยิงว่าชื่ออะไร อยู่ที่ไหน ดูเหมือนจะบอกชื่อให้ฟังด้วย แต่ผู้เขียนมัวฉงนเสีย ไม่ได้จดจำไว้ คือเชื่อสนิทใจจนไม่สงสัยถึงแก่จะต้องจดชื่อไว้สอบถามเขาภายหลัง นึกได้ว่าคือ คุณอรุณี สุจริตจิตต์ ภรรยาของคุณวัฒนา สุจริตจิตต์ อดีตนายอำเภอซึ่งเคยเป็นครูของข้าพเจ้า



ประวัติเกจิอาจารย์ดัง: หลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม
»อภินิหารหลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม
02-04-2010
»ชีวประวัติหลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม ตอน ๖
14-03-2010
»ชีวประวัติหลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม ตอน ๕
14-03-2010
»ชีวประวัติหลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม ตอน ๔
14-03-2010
»ชีวประวัติหลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม ตอน ๓
14-03-2010
»ชีวประวัติหลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม ตอน ๒
14-03-2010
»หลวงพ่อเงิน จันทสุวัณโณ
02-04-2010
»ชีวประวัติหลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม นครปฐม
14-03-2010
 
------------------------
  หน้าหลัก  
  คำถามที่มีการถามบ่อย  
  เราเล่นพระทำไม ?  
  กฎหมายพระเครื่อง  
  เกร็ดเล็ก-เกร็ดน้อย  
  สมัครเปิดร้านค้า  
  การชำระเงินค่าร้านค้า  
  ความรู้เกี่ยวกับพระเครื่อง  
  ข้อมูลสถิติเกี่ยวกับร้านค้า  
 
หน้าหลัก  อดีตสู่ปัจจุบัน  เว็บบอร์ดชมรม  ตารางประกวดพระ  สาระน่ารู้  เล่าสู่กันฟัง  ติดต่อเรา
Copyright©2024 zoonphra.com
Powered by Tactical IT