เว็บลิ้งค์ชมรมต่างๆ

เว็บไซต์วัดเกจิดังในสยาม
วัดอัมพวัน จ. สิงห์บุรี
วัดหนองป่าพง จ. อุบลฯ
วัดเขาแหลม จ. สระแก้ว
หลวงพ่อกวย วัดโฆสิตาราม
วัดหัวป่า อ. ระโนด จ. สงขลา
วัดแก้วโกรวาราม จ. กระบี่
หลวงปู่ดุลย์ อตุโล
หลวงสมชาย วัดเขาสุกิม
ป้อนหมายเลขสิ่งของ


***พิมพ์หมายเลขสิ่งของจำนวน 13 หลัก

รายละเอียดเพิ่มเติม

  หน้าหลัก  :  อดีตสู่ปัจจุบัน  :  เว็บบอร์ดชมรม  :  ตารางประกวดพระ  :  สาระน่ารู้  :  เล่าสู่กันฟัง  :  ติดต่อเรา
ประวัติเกจิอาจารย์ดัง: หลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม
ชีวประวัติหลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม นครปฐม
14-03-2010 Views: 7677

คำนำ

หนังสือเรื่องชีวประวัติของหลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม นครปฐม หรือพระราชธรรมาภรณ์ (เงิน จันทสุวัณโณ) นี้ ข้าพเจ้าเขียนเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ..2529 หลังจากเกษียณอายุราชการแล้ว อยู่บ้านมีเวลาว่าง จึงเขียนขึ้นเพื่อบูชาพระคุณของหลวงพ่อพระอุปัชฌาย์ เป็นการศึกษาธรรมะไปด้วย การเขียนประวัติพระอริยสงฆ์เป็นการเขียนเพื่อปฏิบัติบูชา พระสุปฏิปันโน (พระผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ปฏิบัติเหมาะสม แก่พระอริยสงฆ์) พระอุชุปฏิปันโน (พระผู้ปฏิบัติงดงามทุกอิริยาบถ เดิน ยืน นั่ง นอน เหยียด คู้ เหลียว มอง พูด ฉัน ขบ เคี้ยว) เป็นพระญายปฏิปันโน (พระผู้ปฏิบัติด้วยความรู้ตัวทั่วพร้อมทุกขณะจิต) พระสามีจิปฏิปันโน (พระผู้ปฏิบัติด้วยจิตจงรักภักดีต่อพระพุทธเจ้า อย่างมอบกายถวายชีวิต ไม่กลัวอดอยาก ไม่กลัวลำบาก ไม่กลัวตาย) หลวงพ่อเงินเป็นพระอริยสงฆ์ตามบทสรรเสริญพระอริยสงฆ์ที่กล่าวไว้ในบทสุปฏิปันโน ไม่ขาดตกบกพร่องเลย จึงไม่ต้องสงสัยว่าพระราชธรรมาภรณ์ (หลวงพ่อเงิน) เป็นพระอริยสงฆ์หรือเปล่า ท่านเป็นพระอริยสงฆ์แน่นอน แต่จักเป็นชั้นไหนเท่านั้นที่เราไม่รู้ ว่าท่านเป็นพระโสดาบัน หรือ พระสกทาคามี หรือพระอนาคามีบุคคล เราไม่รู้

ข้าพเจ้าเขียนเรื่องนี้จบเมื่อวันที่ 4 มีนาคม พ..2529 ใช้เวลา 1 เดือนหนึ่งเท่านั้น ทั้งนี้เขียนอย่างรวบรัด เนื่องจากประวัติโดยพิสดารนั้นนายชื่น ทักษิณานุกุล ลูกบุญธรรมของหลวงพ่อได้เขียนไว้แล้ว ตั้งแต่ พ..2506 ชื่อหนังสือนั้นว่า "หลวงพ่อเงินเทพเจ้าแห่งดอนยายหอม" หนังสือเล่มนี้ส่วนใหญ่ได้มาจากเรื่อง นายชื่น ทักษิณานุกูล เขียนไว้ เพราะนายชื่นเป็น "อันเตวาสิก" ศิษย์ก้นกุฏิ รู้อะไรเกี่ยวกับหลวงพ่อโดยละเอียด ส่วนข้าพเจ้าเป็น "พาหิรวาสิก" ศิษย์ภายนอกที่หลวงพ่อบวชให้เท่านั้น บวชแล้วก็ไปอยู่เสียที่วัดห้วยจระเข้ ไม่ได้อยู่กับหลวงพ่อโดยใกล้ชิดเหมือน นายชื่น ทักษิณานุกูล ข้าพเจ้าเป็นนักเรียนร่วมชั้นกับ นายชื่น ทักษิณานุกูล ที่โรงเรียนพระปฐมวิทยาลัยแห่งหนึ่ง และบัดนี้นายชื่น ทักษิณานุกูล ก็ล่วงลับไปนานแล้ว จึงไม่ต้องขออนุญาตคัดลอกเอาเรื่องของเขามาเขียนใหม่ในคราวนี้ เรามีจุดประสงค์ร่วมกันคือเขียนเพื่อเผยแพร่เกียรติคุณครูอาจารย์ให้โลกรู้ นายชื่น คงจะอนุโมทนาด้วย   เขียนเสร็จแล้วก็ทิ้งไว้นาน ไม่กล้าพิมพ์เผยแพร่ กลัวจะขาดทุนเปล่า เพราะมีคนคัดลอกเอาไปเขียนกันหลายคนหลายครั้งแล้ว จนกระทั่งเมื่อ พ..2535 ฝันเห็นหลวงพ่อเงินยืนอยู่บนภูเขา ข้าพเจ้ากำลังเดินขึ้นไปหาท่าน แต่ไม่กล้าขึ้นไปถึงท่าน กลัวตกภูเขา ดูเหมือนจะเป็นปริศนาธรรมที่ท่านมาเตือนให้พิมพ์เรื่องนี้ออกเผยแพร่ เมื่อรู้สึกว่าเป็นหนี้ที่ยังมิได้ชดใช้ท่าน จึงได้พิมพ์เรื่องนี้เผยแพร่ในครั้งนี้ ท่านผู้ใดอ่านแล้วไม่จุใจอยากจะทราบรายละเอียด ขอให้อ่านจากเรื่อง "หลวงพ่อเงิน เทพเจ้าแห่งดอนยายหอม" มีอยู่ที่หอสมุดวัดดอนยายหอมหรือตามร้านหนังสือเก่าคงมีเหลืออยู่บ้าง

โยมบิดา-มารดา

หลวงพ่อเงิน เป็นพระภิกษุ มีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วประเทศมีสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะ ชั้นราช ที่ พระราชธรรมาภรณ์ แต่คนทั้งหลายรู้จักในนามของ หลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม

หลวงพ่อเงิน เป็นบุตรของนายพรหม และนางกรอง ด้วงพูล ราษฎรตำบลยายหอม อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม มีอาชีพทำนา มีพี่น้องร่วมบิดามารดา 7 คน คือ

1.นายอยู่ ด้วงพูล

2.นายแพ ด้วงพูล

3.นายทอง    ด้วงพูล

4.พระราชธรรมาภรณ์ (เงิน ด้วงพูล)

5.นายเนียม    ด้วงพูล

6.นายแจ้ง     ด้วงพูล

7.นายเมือง    ด้วงพูล

นายพรหม ด้วงพูล โยมบิดาของหลวงพ่อเงินนั้น เป็นอุบาสกผู้เคร่งครัดในศีลธรรม เคยบวชเรียนมา 3 พรรษา มีความชำนาญในทางสมถะภาวนา ได้ฌานโลกีย์ สามารถเข้าฌานเพ่งจิตเห็นอะไรได้ทั้งใกล้ไกล ลี้ลับอย่างไรก็รู้ได้แจ้ง ใครมีทุกข์เดือดร้อนอะไร ไปหาให้ดูให้ นายพรหมดก็สามารถบอกได้ถูกต้อง นอกจากนั้นยังเป็นแพทย์แผนโบราณด้วย ใครป่วงไข้ก็ไปหาให้ประกอบยารักษาโรคให้ คาถาอาคมก็ได้รับความนับถือ โดยเฉพาะทางเมตตามหานิยม และเสกหุ่นพยนต์สำหรับเฝ้าบ้าน เรื่องนี้ ก็มีคนเล่าลือนับถือกันอยู่ในสมัยนั้น เล่ากันว่า นายพรหม มีความเชียวชาญทางกสิณมาก ถึงขนาดผักตบชวาที่ลอยน้ำมาในลำคลอง นายพรหม ก็สามารถเพ่งกสิณสำรวมจิตบังคับให้ผักตบชะวาลอยทวนกระแสน้ำไหลได้ เล่าลือกันถึงกับว่า แม้เรือเหาะ เรือบินที่แล่นอยู่บนอากาศ เมื่อเพ่งกระแสจิตไปก็ทำให้เรือบินหยุดอยู่กับที่ได้ด้วย คนทั้งหลาย จึงนับถือนายพรหม ด้วงพูล เป็นอาจารย์ เรียกกันว่า อาจารย์พรหม หรือ หมอพรหม เป็นที่รู้จักนับถือกันอยู่ในสมัยโน้น

เมื่อกล่าวถึงตรงนี้ ผู้เขียนก็จะขอแวะเล่าเรื่องจริงประกอบสักเล็กน้อย เกี่ยวกับเรื่องนี้คือ ที่ตำบลตาก้อง อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม สมัยเดียวกันนี้ ก็มีคนหนึ่งชื่อ หมอแก้ว มีผู้คนทั้งตำบลนับถือกันมากว่า ท่านนั่งทางในดูอะไรเห็นหมดเหมือนตาเห็น แต่มีเคล็ดอยู่ว่า เมื่อไปหาท่าน เมื่อขึ้นเรือนไปพบหน้าท่านให้บอกเรื่องที่จะดูให้ทราบก่อน ห้ามพูดถึงเรื่องอื่น มีเรื่องจริงอยู่ 3 เรื่อง เรื่องที่แม่ข้าพเจ้าไปดูด้วยตนเอง คือ คราวหนึ่งทองที่บ้านป้าหายไป ป้าก็สงสัยยาย คือแม่ของตัว เพราะยายเฝ้าบ้านอยู่คนเดียว ยายจึงให้แม่ไปดูหมอแก้ว หมอแก้วบอกว่าทองเหน็บอยู่ข้างฝาทิศตะวันตก ห่อกระดาษสีแดงให้กลับไปดู เมื่อกลับมาค้นดูก็พบทองเส้นนั้น เจ้าของเก็บไว้เองแล้วลืมที่เก็บ เรื่องที่สอง ควายออกลูกใหม่ๆ ได้ไม่กี่วันก็หายไป แม่ควายนมคัด ก็ร้องเรียกหาลูกทั้งวัน แม่จึงไปหาหมอแก้วดู หมอแก้วบอกว่าลูกควายนอนอยู่ใต้ต้นไม้ใหญ่ ทางทิศหรดี ให้ไปดูแล้วจะพบ เมื่อกลับมาดูก็พบลูกควายนอนอดนมอยู่ใต้ต้นมะขามใหญ่ เรื่องที่สาม นายผิว ศรีสุข หลานแม่ ไปตัดไม้ในป่าเมืองกาญจน์ ถึงกำหนดกลับไม่กลับ มีคนเล่าลือกันว่า นายผิวตายเสียแล้ว นางเมียก็ร้องไห้มาบอกแม่แม่จึงไปหาหมอแก้วดู หมอแก้วบอกว่าไม่ตายหรอก สบายดี กำลังเดินทางกลับจะถึงบ้านแล้ว ไปนี่ให้หุงข้าวไว้ล่วงหน้าเขาจะได้กลับมากินข้าว ก็จริงเหมือนปากว่า แม่กลับบ้านสักพัก นายผิวก็เดินทางกลับถึงบ้าน เรื่องนั่งทางในเห็นอะไรได้ในที่ไกล จึงเป็นเรื่องจริง ไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดในหมู่ผู้ได้ฌานสมาบัติ หรือสำเร็จวิชากสิณ ในพระพุทธศาสนา เรื่องเพ่งอะไรหยุด เพ่งเทียนดับ หรือเพ่งเครื่องยนต์ดับนี้ ก็ได้ยินอยู่บ่อยๆ พระอาจารย์บางองค์นั้นเพ่งเทียนก็ดับ พระอาจารย์ ฝั้นว่าไม่อยากขึ้นเครื่องบิน กลัวจิตจะเผลอไปเพ่งเครื่องยนต์ของเรือบินเข้า เพราะเคยนั่งรถยนต์เพ่งเครื่องรถยนต์ก็ดับ นี่คืออำนาจของฌานสมาบัตินำมาเล่าประกอบเรื่องนี้ไว้ เพื่อแก้สงสัยของนักวิทยาศาสตร์ทางวัตถุ จะโจมตีเอาได้

ก็เอาเป็นว่า นายพรหม ด้วงพูล โยมบิดาของ หลวงพ่อเงิน นั้น มีความรู้ ความชำนาญทางเพ่งฌานสมาบัติ เป็นที่นับถือของชาวบ้านทั้งหลายในสมัยโน้น ซึ่งได้ถ่ายทอดมาสู่บุตรชายคือหลวงพ่อเงินด้วย.

กำเนิดอภิชาตบุตร

เมื่อบุตรชายคนที่ 4 ของอาจารย์พรหม จะมาเกิดนั้นนางกรองผู้ภรรยาได้ฝันว่า ได้ยินเสียงดังอู้มาแต่ไกล ๆ คล้ายมีลมพายุพัด จึงออกไปดูที่ชานเรือน ก็แลเห็น วัตถุสีเหลือง ลอยมาจากท้องฟ้า ต้องแสงอาทิตย์เหลืองอร่ามดั่งสีทองคำ เมื่อวัตถุนั้นลอยลงมาใกล้ ก็ตกใจแทบสิ้นสติ เพราะสิ่งที่กำลังลอยลิ่วลงมานั้นคือ พญานาคตัวใหญ่เกล็ดสีเหลืองเหมือนทองคำ พญานาคนั้นชูเศียรขึ้น แลบลิ้น แล้วพูดกับนางกรอง เป็นภาษามนุษย์ว่า

"แม่จ๋า อย่าตกใจเลย ฉันไม่ได้มาร้ายหรอก ฉันมาดี

ฉันจะมาขออาศัยอยู่ด้วย"

พูดเท่านั้น พญานาคก็เลื้อยเข้ามาหา นางกรองก็ร้องหวีดตกใจตื่นขึ้น เนื้อตัวสั่น เล่าความฝันให้สามีฟัง

อาจารย์พรหม พิจารณาความฝันของภรรยา ประกอบกับดูฤกษ์ยามตามตำราก็ทำนายฝันว่า

"เราจะได้บุตรชายที่มีบุญวาสนา มีวิชาความรู้ มีศีลมีธรรม มีชื่อเสียง ลูกคนนี้จะได้บวชเป็นสมภารเจ้าวัด มีบุญฤทธิ์ อิทธิปาฏิหาริย์ เป็นที่นับถือของคนทั่วบ้านทั่วเมือง เพราะขึ้นชื่อว่างูนั้น ย่อมมีพิษ นี่ขนาดพญานาค แล้วก็ลอยลงมาจากฟากฟ้า ซึ่งยังมีเกล็ดสีทองด้วย"

นับแต่วันนั้นมา นางกรองก็ตั้งครรภ์หนที่ 4 นางกรองมีผิวพรรณผ่องใส ใคร ๆ ก็ทักทายว่าจะได้บุตรหญิง เพราะได้ลูกชายมาแล้ว ถึง 3 คน นางกรองรู้สึกเบื่ออาหารของคาวจำพวกเนื้อสัตว์ทั้งหลาย อยากจะกินแต่ผักผลไม้ อยากจะกินแต่ขุยปูนาในท้องทุ่ง ไปขุดเอาดินขุยปู อันละเอียดนั้นมาเผากินอยู่เสมอ (เรื่องกินดินขุยปูในท้องนานี้ เคยเห็นแม่ของผู้เขียนไปขุดเอามาเผากินเหมือนกัน ผู้เขียนก็เคยชอบกินด้วย รสมัน ๆ ดี คล้าย ๆ รสอะไรก็บอกไม่ถูก)

ครั้นท้องครบกำหนดทศมาส 10 เดือนทางจันทรคติ คือ 280 วัน ที่พระจันทร์เดินรอบโลก ก็เป็นวันที่มีโฉลกโชคชัยมงคล ตรงกับ วันอังคาร ขึ้น 3 ค่ำ เดือน 10 ปีขาล สุริยคติ ตรงกับวันที่ 16 กันยายน พ..2433 นางกรองก็คลอดบุตรเป็นชาย ร่างกายสมบูรณ์ ผิวพรรณขาวสะอาดสะอ้าน ผิดกว่าลูกคนก่อนๆ มีปานขาวอยู่ที่หน้าอกข้างซ้าย มีปานแดงอยู่ที่ต้นแขนซ้าย เป็นรูปใบโพธิ์ ทำให้พ่อแม่พี่น้องดีใจมาก เพราะลักษณะมีบุญวาสนา เพราะปานสีแดงรูปใบโพธิ์นี้ เป็นเครื่องหมายบอกว่า เป็นพระโพธิสัตว์อุบัติเกิดมาเพื่อสร้างบารมี พูดกันตามภาษาชาวบ้านก็ว่า ผู้มีบุญมาเกิด รูปร่างลักษณะก็ต้องโฉลก พ่อแม่ก็จะโชคดี เพราะมีอภิชาตบุตรมาเกิดในตระกูล การก็สมจริงตั้งแต่บุตรคนที่ 4 เกิดมา พ่อแม่ก็ทำมาหากินได้ผลอุดมสมบูรณ์พูนเกิด ขึ้นอย่างทันตาเห็น เรียกว่า "ลาภผลพูนทวี" จึงได้ตั้งชื่อบุตรชายคนนี้ว่า "เงิน" เพราะเกิดมาทำให้พ่อแม่มีเงินมั่งคั่งขึ้น

เด็กชายเงิน บุตรชายคนนี้ เติบโตขึ้นก็มีนิสัยดี ไม่ประพฤติเกเรอะไรเลย ไม่เคยพูดจาคำหยาบคาย ด่าทอใครก็ไม่เป็น ผิดกว่าลูกชายชาวบ้านชายไร่ชาวนาทั้งหลาย อาจารย์พรหมสอนหนังสือให้ที่บ้าน ก็เรียนเก่ง จำแม่นตั้งใจเรียน เรียนหนังสือเก่งเกินวัย เป็นคนขยันขันแข็ง และมัธยัสถ์อดออม พ่อแม่ให้สตางค์ก็ไม่เคยใช้ ไม่เคยเที่ยวงานวัด หิวก็กินข้าวที่บ้าน เวลาไปวัดทำบุญ แทนที่จะไปเที่ยวดูลิเก ก็ช่วยพระทำงานวัด ชอบปรนนิบัติรับใช้พระในวัด นิสัยผิดแปลกกว่าลูกชายชาวบ้านทั้งหลาย จนกระทั่งอาจารย์พรหมพูดด้วยความภาคภูมิใจว่า

"พ่อเงินนี้ ถึงใครจะเอาลูกสาว 5 คนมาแลกก็ไม่ต้องการ"

ออกบวชในพุทธศาสนา

หลวงพ่อเงินเมื่อเติบโตเป็นหนุ่มขึ้นนั้น รูปร่างแข็งแรงสมบูรณ์สูงใหญ่ผึ่งผาย ผิวพรรณสะอาด หน้าตาจัดว่าเป็นชายหนุ่มรูปงามในตำบลนั้น แต่ก็เป็นการประหลาดอยู่ไม่น้อยที่ไม่มีนิสัยเจ้าชู้เลย จึงไม่เคยมีคู่รักคู่ใคร่เหมือนหนุ่มชายคนอื่น ไม่ชอบเที่ยวเตร่ไปไหน เหล้าไม่ดื่ม การพนันไม่เล่น อยู่แต่บ้านทำแต่งาน ทำอะไรก็เรียบร้อยประณีต สะอาดเรียบร้อย ทุก ๆอย่าง เรียกว่า ผู้หญิงสาว ๆ ก็สู้ไม่ได้ อาจารย์พรหมและนางกรอง บิดามารดา จึงมักจะพูด อยู่เสมอ ๆ ว่า "เอาลูกสาว 5 คนมาแลกก็ไม่เอา" มีความหมายว่า ถึงผู้หญิง 5 คนรวมกัน ก็สู้ลูกชายคนนี้ไม่ได้

ครั้นเมื่ออายุ 20 ปีบริบูรณ์ ครบบวชแล้ว บิดามารดา จึงได้จัดการบวชให้ตามประเพณี พ่อแม่และลูกชาย มีความคิดตรงกัน คือบวชอย่างประหยัด ไม่จัดงานบวชอย่างเอิกเกริกมโหฬารอะไร ไม่มีการแห่แหน ไม่มีลิเกฉลองเหมือนอย่างชาวบ้านทั่วไป เพียงแต่บอกญาติมิตรคนที่เคารพนับถือกัน จัดเครื่องอัฐบริขาร แล้วก็พากันไปวัด เดินประทักษิณเวียนโบสถ์ 3 รอบ แล้วก็เข้าโบสถ์ ทำพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุสงฆ์ สำเร็จเป็นภิกษุภาวะ เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม พ..2453 เวลา 18.15 นาฬิกา พระอุปัชฌาย์ให้ฉายาว่า "จนฺทสุวณฺโณ" ตามตำราการตั้งฉายาตามวันเกิดของคนวันอังคาร วรรค จ..... พระอุปัชฌาย์ คือหลวงพ่อฮวย เจ้าอาวาสวัดดอนยายหอม

เป็นที่น่าแปลกอยู่ประการหนึ่งคือ ในขณะทำพิธีอุปสมบทนั้น ได้เกิดลมพายุพัดอย่างแรง แล้วฝนก็ตกลงมาอย่างหนัก คล้าย ๆ กับว่าเทพยดาฟ้าดิน ก็พลอยปรีดาปราโมทย์ อนุโมทนาในการอุปสมบทของหลวงพ่อเงินด้วย เมื่อบวชได้ 1 พรรษา ก็ท่องบทสวดมนต์ 7 ตำนาน 12 ตำนาน ได้หมดสิ้น แล้วก็ท่องพระปาฏิโมกข์ได้ในพรรษาแรกนั้นเอง เป็นที่โจษขานกันมาก เพราะคนสมัยนั้นนับถือกันว่าใครท่องพระปาฏิโมกข์ในพรรษาแรกได้ พระภิกษุรูปนั้น ปัญญาดี และมีบุญเก่ามาส่งเสริม จะเจริญในทางพระพุทธศาสนา

วันหนึ่ง เมื่อไปบิณฑบาตที่บ้าน โยมบิดาก็พูดว่า

"คุณเงิน คุณอย่าจำวัดแต่หัวค่ำนัก เป็นพระไม่ได้ทำไร่ทำนาก็ควรจะฝึกหัด ให้อดทน"

หลวงพ่อเงินทราบดีว่า โยมบิดาทราบเรื่องนี้ได้นั้น เพราะนั่งเข้าฌานเพ่งกสิณ ไปดูพระลูกชาย โดยฌานสมาบัติ หรือที่เรียกว่า นั่งทางใน

ต่อมาไม่ช้า เวลาค่ำ อาจารย์พรหม ก็มักจะไปหาพระลูกชาย เพื่อถ่ายทอดวิชาเพ่งฌานสมาบัติให้

อาจารย์พรหม สอนพระลูกชายว่า

"จะเรียนวิชานี้ให้สำเร็จต้องประกอบด้วย ศรัทธา-ความเชื่อมั่น วิริยะ-ความเพียรพยายาม  ขันติ-ความอดทน  สัจจะ-ความถือสัตย์  อธิษฐาน-ความตั้งใจแน่วแน่"

ขั้นแรกต้องมีความเชื่อมั่น(ศรัทธา)

ขั้นสองต้องพากเพียรปฏิบัติ    (วิริยะ)

ขั้นสามต้องมีความอดทน (ขันติ)

ขั้นสี่ ต้องมีสัจจะในใจว่า จะต้องทำให้ได้เหมือนใจคิดและปากพูด ถ้าไม่สำเร็จก็ยอมเสียสละทุกอย่างได้  (สัจจะ)

ขั้นห้า คือ อธิษฐาน-ความตั้งมั่นในจิตใจ อ้างเอาคุณพระรัตนตรัย อ้างเอาคุณบิดามารดา อ้างเอาคุณแห่งศีล คุณแห่งทาน มาตั้งมั่นในใจ เพื่ออธิษฐานให้สำเร็จ"  (อธิษฐาน)

เล่าให้พระลูกชายฟังว่า "เมื่อโยมเรียนวิชากับพระอาจารย์นั้น ท่านหัดให้เพ่งดวงอาทิตย์ตอนเช้า จนสามารถมองดูดวงอาทิตย์ตอนเที่ยงได้ หลับตาก็มองเห็นดวงอาทิตย์ได้ นั่งสมาธิเพ่งดวงเทียนจับนิ่งอยู่ที่เปลวเทียน จนเมื่อหลับตาแล้ว ก็ยังแลเห็นดวงเทียนสว่างอยู่ที่เดิม ให้นั่งที่ท่าน้ำ ใช้ดวงจิตเพ่งไปที่ผักตบชะวา แล้วภาวนาให้ผักตบชะวานั้น นิ่งอยู่กับที่ด้วยอำนาจกระแสจิตได้ เมื่อทำเช่นนี้ จึงจะสามารถเรียนวิชาสำเร็จได้"

หลวงพ่อเงิน จึงฝักใฝ่ตั้งใจฝึกหัด จนสำเร็จวิชาตามที่โยมบิดาสอนให้

ออกป่าถือธุดงควัตร

สมัยนั้น ประมาณ พ..2450 เศษ นับว่ายังเป็นยุคสมัยโบราณอยู่ ถนนหนทาง รถยนต์โดยสาร วิทยุ หนังสือพิมพ์ ไฟฟ้ายังไม่มีเหมือนปัจจุบันนี้ ตามชนบทบ้านนอก ยังมีสภาพเป็นสังคมไทยแท้แต่โบราณ ประชาชนก็ทำไร่ทำนากันไปพอเลี้ยงชีพ เลี้ยงครอบครัว ไม่ได้ทำเพื่อขายเอาเงินมากมายมั่งคั่งร่ำรวยอะไร เรียกว่าทำมาหากินกันจริงๆ เสร็จจากหน้านา ก็ไม่มีเครื่องหย่อนใจอะไร วัดต่างๆ จึงมักจะจัดให้มีมหรสพ แสดงในวัดบ้างเป็นครั้งคราวในฤดูตรุษสงกรานต์ พอให้ประชาชนได้พักผ่อนหย่อนอารมณ์บ้าง พวกนักล่ำนักเลงก็กินเหล้า เล่นการพนัน ตีไก่ กัดปลา สูบฝิ่นกินยา เล่นโปเล่นถั่วกันไปบ้าง พวกนี้เป็นพวกรักชั่วหามเสา ที่รักดีหามจั่วหวังจะบรรเทาเบาบางความทุกข์ในชีวิตก็มักจะเข้าวัดฟังเทศน์ฟังธรรม ถือศีลอุโบสถ หรือที่มีอุปนิสัยแก่กล้าในทางบุญ ก็บวชเรียนกันคนละ 3-4-5 พรรษา คนที่บวชนี้ก็มีอยู่ 2 พวกใหญ่ๆ พวหนึ่งหวังทางลาภยศ ชื่อเสียง ก็เรียนนักธรรมบาลี เพื่อจะเป็นนักปราชญ์ในทางศาสนา เป็นนักเทศน์ เป็นเจ้าคุณ มียศศักดิ์ มีลาภทานสักการะไปทางหนึ่ง อีกพวกหนึ่งก็มุ่งทางปฏิบัติสมถะ วิปัสสนากรรมฐาน เรียนเวทมนต์คาถา เรียนเพ่งฌานภาวนาสมาบัตินั่งทางใน แต่คนที่เรียนทางนี้มีน้อย ต้องมีอุปนิสัย มีใจรัก ต้องเสียสละ ต้องยอมลำบากลำบน ออกธุดงค์เดินป่า ต้องเคร่งครัดในศีลในวินัยปฏิบัติ จะหาคนที่ใจจริง ยอมอุทิศตน อุทิศชีวิต เพื่อบำเพ็ญบารมีอย่างนี้หายาก

ในจำนวนพระภิกษุที่หายากนี้ ก็มีหลวงพ่อเงินอยู่องค์หนึ่ง เมื่อบวชได้ 5 พรรษาพ้นนิสัยมุตก์แล้ว ก็ตั้งใจปรารถนาจะออกธุดงค์เดินป่าไปต่างบ้านต่างเมือง หลวงพ่อเงินจึงได้เตรียมเครื่องอัฐบริขาร สำหรับธุดงค์เดินป่าพร้อมตามแบบแผนของครูอาจารย์ แล้วก็ออกเดินธุดงค์เท้าเปล่ามุ่งแสวงบุญไปยังภาคเหนือ ได้เดินทางไปจนถึงสระบุรี ลพบุรี นครสวรรค์สมัยนั้นยังเป็นป่าดง ถนนหนทางไม่มี ต้องเดินป่า ทุ่งนา ป่าละเมาะลัดเลาะเรื่อยไป ค่ำไหนนอนนั่น เหมือนนกขมิ้นเหลืองอ่อน การธุดงค์เดินป่านี้ ต้องตั้งจิตอธิษฐานแต่แรกเดินทางด้วยสัตยาธิษฐานอันมั่งคงว่า จะเดินธุดงค์เพื่อเอาบุญเอากุศล บูชาพระบรมศาสดา สืบต่ออายุพระพุทธศาสนา เป็นการฝึกอบรมจิต อย่างยิ่งยวดกวดขัน ต้องตั้งใจอุทิศชีวิตร่างกายให้เป็นทานแก่สัตว์ ถ้าจะมีสัตว์เสือสิงห์ตัวใดหิวอาหาร จะมากัดกินเสียก็ไม่เสียดาย ไม่กลัวตาย ไม่อาลัยแก่ชีวิต ตั้งใจอุทิศเพื่อเป็นทานบารมี ดังเช่นพระเวสสันดรยอมเสียสละเป็นทานได้ทั้งช้างคู่บ้านคู่เมือง บุตรธิดา และพระมเหสี" การเดินธุดงค์จะต้องไม่ห่วงกังวลเรื่องที่อยู่และอาหาร ว่าพรุ่งนี้จะได้อาหารที่ไหนเลี้ยงชีวิต จะมีผู้ตักบาตร ถวายอาหารหรือไม่ ถ้อยคำของหลวงพ่อที่กล่าวแก่ผู้ไต่ถามระหว่างเดินธุดงค์ ก็คือ

"อาตมาได้ตั้งใจอุทิศสังขารให้เป็นทานแก่สัตว์ที่หิวกระหายอยู่แล้ว จึงไม่กลัวภัยอันตรายจากสัตว์ร้าย"

"อีกอย่างหนึ่งอาตมาเชื่อว่า จิตที่เป็นกุศลด้วยการแผ่เมตตาอยู่เสมอ สัตว์ทั้งหลายก็ต้องไม่มีแก่ใจมาปองร้ายอาตมา"

คราวหนึ่งหลวงพ่อเงินเล่าว่าได้ธุดงค์เข้าไปในบริเวณสนามยิงเป้าของทหาร ที่จังหวัดลพบุรี ซึ่งทหารกำลังซ้อมยิงเป้ากันอยู่ เมื่อรู้ก็ตกเข้าไปอยู่ในท่ามกลางอันตรายเสียแล้ว หลวงพ่อเงินจึงหยิบเอาพระเครื่องของหลวงพ่อรุ่งขึ้นมา แล้วน้อมจิตอธิษฐานถึงคุณพระรัตนตรัยว่า

"ด้วยบารมีแห่งสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หากอาตมามีวาสนาที่จะได้เป็นที่พึ่งแก่สัตว์โลกต่อไปภายหน้า ขออย่าให้อาวุธมาต้องกายอาตมาเลย"

ด้วยสัตยาธิษฐาน และบุญกุศลของหลวงพ่อเงิน กระสุนมิได้ต้องกายเลย เพียงเฉียดไปเท่านั้น

สักครู่หนึ่งทหารก็ควบม้าเข้ามาหาท่าน แล้วถามว่า

"ทำไมท่านจึงเข้ามาในเขตยิงเป้าของทหาร"

หลวงพ่อเงินตอบเรียบ ๆ ว่า

"อาตมาไม่ทราบเลยว่า บริเวณนี้มีอันตราย จึงเดินเรื่อยเข้ามาโดยไม่รู้ เมื่อรู้ก็ตกอยู่ท่ามกลางอันตรายเสียแล้ว แต่เมื่อปลอดภัยก็เป็นความสวัสดีของเราทั้ง 2 ฝ่าย"

เข้าฤดูฝน หลวงพ่อเงิน จึงได้เดินทางกลับวัดดอนยายหอม เมื่อถึงวัดนั้นแม้แต่พี่ชายก็จำท่านไม่ได้ เพราะผอมและดำไปด้วยตรากตรำเดินธุดงค์

สละโลกีย์วิสัย

การออกบวช สละบ้านเรือน ทรัพย์สมบัติ การงานไปเป็นภิกษุนั้น ที่จริงก็เรียกว่า สละโลกียวิสัยนั่นเอง แต่ว่าถ้าการออกบวชนั้นเป็นแต่เพียงตั้งใจบวชตามประเพณีบวชทดแทนคุณบิดามารดา บวชเพื่อเอาบุญกุศล บวชเพื่อเป็นญาติกับพระพุทธศาสนา บวชเพื่อศึกษาพระธรรมวินัย หรือบนแล้วบวช บวชหน้าไฟ ก็สุดแล้วแต่ ก็เรียกว่าเป็นการบวชเพียงชั่วคราว ไม่ได้ตั้งใจบวชอุทิศชีวิต เพื่อจะสละโลกีย์วิสัยโดยแท้จริง แม้แต่การบวชนานจนได้เป็นพระมหาเปรียญ มีสมณศักดิ์เป็นพระครู เป็นเจ้าคุณ เป็นสมเด็จพระราชาคณะก็ตาม ก็ยังไม่เรียกว่า บวชอุทิศชีวิตเพื่อพระพุทธศาสนาอยู่นั่นเอง เพราะยังอาจจะลาสึกออกมาครองเรือนอีกเมื่อไรก็ได้ ด้วยน้ำใจยังไม่มั่นคงเด็ดเดี่ยวแน่วแน่พอ ซึ่งก็เป็นธรรมดาของคนทั้งหลายทั่วไป ซึ่งเป็นบุรุษชาย ธรรมดาไม่ว่าใครร้อยละเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ ก็เป็นเช่นนี้

แต่สำหรับหลวงพ่อเงินนั้น เป็นกรณีพิเศษ สำหรับวิสามัญบุรุษ อันนานๆ จะมีสักคนหนึ่ง คือ ตั้งแต่บวชมา ก็ไม่เคยคิดแม้สักขณะจิตเดียวว่าจะสึกออกไปเป็นฆราวาสอีก ตั้งใจตั้งแต่แรกทีเดียวว่าจะขอบวชไปจนตลอดชีวิต จนกว่าชีวิตจะหาไม่ ตั้งใจจะอุทิศชีวิตอยู่ในเพศภิกษุ ตั้งใจถวายชีวิตต่อพระบรมศาสดาพระสัมมาสัมพุทธเจ้า   วันหนึ่ง เมื่อมีโอกาสเหมาะก็ดี จึงได้บอกแก่โยมบิดามารดาว่า

"ทรัพย์สมบัติทางโลกที่โยมยกให้ทั้งหมดนั้น ฉันขอสละหมดทุกสิ่งทุกประการ จะขอบวชต่อไปจนกว่าชีวิตจะหาไม่ จะขออุทิศชีวิตเพื่อเป็นที่พึ่ง เป็นแสงสว่างแก่เพื่อนมนุษย์ผู้เกิดมาอยู่ในความมืดและความทุกข์ยาก ขอให้โยมจงยินดีอนุโมทนาด้วยเถิด"

นี้เป็นคำกล่าวเมื่อบวชได้พรรษาที่ 5 หลังจากลับจากเดินทางออกธุดงค์ กลับมาถึงวัดแล้ว ความจริงใจนั้น ตั้งใจจะบวชอุทิศชีวิตมาตั้งแต่แรกบวช เพียงแต่ยังไม่ได้กล่าวคำสัตย์ปฏิญาณออกไปให้โยมทราบเท่านั้น เมื่อได้ใช้เวลาตรึกตรองจนแน่ใจแล้ว จึงได้บอกให้โยมทราบเป็นคนแรก โยมทั้งสองก็ยกมือขึ้นสาธุอนุโมทนาด้วย เพราะก็รู้อยู่ตั้งแต่หลวงพ่อเงิน เกิดมาแล้วว่าลูกชายคนนี้จะได้บวชเป็นสมภาพเจ้าวัดแน่ ลูกชายก็ยังมีอยู่อีกถึง 6 คนทีเป็นฆราวาส จึงไม่รู้สึกแปลกใจอะไรเมื่อได้ยินพระลูกชายพูดเช่นนี้

ในพรรษาที่ 5 นั้น ก็มีเหตุการณ์เกิดขึ้นตามมาคือ หลวงพ่อฮวยเจ้าอาวาสวัดดอนยายหอม ซึ่งชราภาพมากแล้วเข้าใจว่าอายุกว่า 80 ปี เจ็บป่วยออด ๆ แอด ๆ เรื่อยมาหลวงพ่อเงินก็ได้พยายามปรนนิบัติอยู่ ไม่ทอดทิ้งด้วยความกตัญญูกตเวที

ต่อมาทางการพระสงฆ์ ก็ได้แต่งตั้งให้หลวงพ่อเงิน เป็นรองเจ้าอาวาส ทำการแทนเจ้าอาวาส ปกครองสงฆ์วัดดอนยายหอมต่อมา

หลวงพ่อเงิน พูดปรารภว่า

"ไม่อยากมีตำแหน่งทางคณะสงฆ์เลย แต่อยากจะทำงานพระพุทธศาสนาอย่างอิสระด้วยใจสมัคร เพื่อสร้างคุณงามความดี การทำงานให้พระศาสนาก็ไม่จำเป็นต้องมีตำแหน่ง หน้าที่อะไร"

เมื่อชาวบ้านกลัวว่าหลวงพ่อเงินไม่รับตำแหน่งหน้าที่ กลัวว่าทางการคณะสงฆ์จะแต่งตั้งพระภิกษุจากที่อื่นมาเป็นแทน จึงได้เข้าชื่อกันร้องเรียนไปทางเจ้าคณะสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่

วันหนึ่ง ท่านเจ้าคุณพุทธรักขิต เจ้าคณะจังหวัดจึงได้เดินทางไปที่วัดดอนยายหอม วันนั้น ตรงกับวันที่ 30 พฤษภาคม 2459 หลวงพ่อเงินอายุได้26 พรรษาที่6 ท่านเจ้าคุณพระพุทธรักขิต ได้ประชุมสงฆ์และราษฎร เพื่อเลือกตั้งรองเจ้าอาวาส ที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์ให้แต่งตั้งพระภิกษุเงิน จันทสุวัณโณ เป็นรองเจ้าอาวาส พระพุทธรักขิตจึงเรียกพระภิกษุเงินให้มายืนต่อหน้าที่ประชุมนั้น แล้วสั่งแต่งตั้งให้เป็นรองเจ้าอาวาสตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

พระพุทธรักขิต เจ้าคณะจังหวัด ได้กล่าวต่อที่ประชุมว่า

"ได้ทราบมานานแล้วว่า คุณเงิน เป็นพระภิกษุหนุ่มที่เข้มแข็งมีศรัทธา เชื่อมั่นในพระพุทธศาสนาอย่างแรงกล้า มีปฏิภาณในการสั่งสอนประชาชน วางตนเป็นที่เคารพนับถือ ของอุบาสกอุบาสิกาทั้งหลาย วันนี้ได้มาเห็นตัว เห็นลักษณะอันมีสง่าน่ายำเกรงด้วยแล้ว ก็สามารถจะทำนายได้ว่า พระภิกษุเงินผู้นี้ จะเป็นพระเถระผู้ทรงคุณความสามารถในการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาให้รุ่งเรืองสืบไปผู้หนึ่ง ประชาชนจะมีความเลื่อมใสศรัทธาไปทุกสารทิศ จึงขอเตือนว่า คุณจะเป็นผู้ปกป้องชาวบ้านนี้ให้อยู่ในกรอบแห่งศีลธรรม คุณจะเป็นผู้นำให้เขาไปสู่แสงสว่าง อันหมายถึงความสงบสุข ลักษณะของคุณก็บอกอยู่ว่า เป็นผู้ประกอบด้วยเมตตาจิต ขอให้คุณจงเจริญรุ่งเรืองอยู่ในพระพุทธศาสนยิ่ง ๆขึ้นไป"

คำกล่าวของท่านเจ้าคุณพุทธรักขิตนี้ นับว่าเป็นคำทำนายที่เป็นคำประกาสิตของท่านซึ่งหลวงพ่อเงินจำได้แม่นยำที่สุด เป็นทั้งคำขวัญที่ส่งเสริมกำลังใจให้ประกอบแต่ความดีตลอดมา คำกล่าวของผู้ใหญ่ที่กล่าวออกมาด้วยน้ำใจเมตตาและปัญญา จึงมีความสำคัญต่อชีวิตของผู้น้อยเป็นอย่างยิ่ง ไม่ว่ายุคสมัยใดหรือบุคคลใด สถานที่ใดก็ดี ประดุจคำพยากรณ์ของพระพุทธองค์ว่าบุคคลใดจะเป็นพระนิตยะโพธิสัตว์ ก็จะได้เป็นพระพุทธเจ้าต่อไปในอนาคต คำของพระพุทธเจ้าเป็นหนึ่งไม่มีสองฉันใด คำของครูอาจารย์ก็ฉันนั้น

งานบริหารพระศาสนา

งานบริหารกิจการพระศาสนานั้น มองดูภายนอกระดับประเทศก็นับว่าเป็นภาพที่กว้างใหญ่ไพศาล จนมองดูพร่ามัว ไม่รู้ว่าบริหารอะไร งานของคณะสังฆมนตรี หรืองานของมหาเถรสมาคม ก็มองไม่เห็นว่าบริหารกิจการพระศาสนาอย่างไร เพราะเป็นงานระดับสูง มีขอบข่ายกว้างขวางมาก งานระดับจังหวัด ระดับอำเภอ ก็ยังมองไม่ออกชัดเจนอะไรนัก

แต่อันที่จริงงานบริหารกิจการพระศาสนานั้น งานจริงๆ อยู่ระดับวัดนั่นเอง เพราะพระภิกษุสงฆ์อยู่ที่วัด หัวหน้าปกครองพระภิกษุสงฆ์คือสมภารเจ้าวัด วัดนั้นก็มีหมู่กุฎีเป็นหลัง ๆ เปรียบเหมือนบ้านเรือนของพระสงฆ์ กุฎีหลังหนึ่ง มีพระภิกษุอยู่ 2-4 รูป ก็เท่ากับครัวเรือนหนึ่ง ซึ่งลูกชายชาวบ้านมาบวชเรียนอยู่อาศัย วัดหนึ่งจึงเท่ากับหมู่บ้านหนึ่ง เจ้าอาวาสนั้นถ้าจะเปรียบกับการปกครองทางบ้านเมือง ก็เท่ากับเป็นผู้ใหญ่บ้าน ปกครองหมู่บ้าน 10-20 หลังคาเรือน ตำแหน่งรองเจ้าอาวาสของพระอาจารย์เงิน จันทสุวัณโณ จึงเทียบเท่ากับผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านของทางการคณะสงฆ์นั่นเอง เมื่อหลวงพ่อฮวยเจ้าอาวาส เป็นพระภิกษุสงฆ์ชราภาพแล้ว การบริหารของวัดดอนยายหอม จึงตกเป็นหน้าที่ของพระอาจารย์เงินเต็มมือ แต่พระอาจารย์เงิน ก็มีความเคารพนอบน้อม ปรนนิบัติรับใช้หลวงพ่อฮวยอยู่ในฐานะเป็นพระอุปัชฌาย์ ด้วยความกตัญญูกตเวที มิได้ดื้อกระด้างอวดดีแข่งดีอะไรเลย เพราะที่จริงใจของพระอาจารย์เงิน ก็ไม่อยากเป็นใหญ่อยู่แล้ว อยากแต่จะทำงานสร้างคุณงามความดี สร้างบารมีเพื่อเอาบุญกุศลตามหลักธรรมของพระพุทธศาสนาแต่อย่างเดียว เมื่อพระเณรลูกวัดและชาวบ้านประจักษ์อยู่แก่ตาแต่ใจเช่นนี้ จึงไม่มีปัญหาอะไร มีแต่ช่วยกันคือช่วยกันทำ ช่วยกันออกเงินบูรณะปฎิสังขรณ์วัดดอนยายหอมให้เจริญเป็นปึกแผ่นขึ้นตามลำดับ

อีก 4 ปีต่อมา คือในปี พ.. 2463 อาจารย์พรหม ด้วงพูล โยมบิดาของพระอาจารย์เงิน ก็ถึงแก่กรรมลง ชาวบ้านลือกันว่า อาจารย์พรหมถูกกระทำทางไสยศาสตร์ เพราะอาจารย์พรหมเป็นอาจารย์ทางไสยศาสตร์อยู่เหมือนกัน หลวงพ่อเงินเล่าว่า โยมบิดาของท่าน ถึงแก่กรรมอย่างปัจจุบัน ไม่ทันได้รักษาพยาบาลแต่อย่างใด ส่วนว่าจะถึงแก่กรรมด้วยโรคอะไร เหตุอะไรก็ไม่มีใครทราบได้ เพราะไม่มีการพิสูจน์กันด้วยวิธีการของแพทย์แผนปัจจุบัน เมื่อโยมบิดาถึงแก่กรรมนี้ หลวงพ่อเงินอายุได้ 30 ปี

ครั้นต่อมาอีก 3 ปี ใน พ..2466 หลวงพ่อฮวย ก็ถึงแก่มรณภาพอีกองค์หนึ่ง เมื่อพระอาจารย์เงิน อายุได้ 33 ปี เป็นอันว่า พระอาจารย์เงินได้สูญเสียที่พึ่ง ที่เคารพนับถือไป 2 คนในเวลาห่างกันเพียง 3 ปีเท่านั้น

ครั้นทราบถึงทางการพระสงฆ์แล้ว จึงได้สั่งแต่งตั้งให้พระอาจารย์เงิน จันทสุวัณโณ รองเจ้าอาวาส เป็นเจ้าอาวาสวัดดอนยายหอม เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2466 อายุพระอาจารย์เงินได้ 33 ปี คนทั้งหลายจึงเรียกพระอาจารย์เงินว่า หลวงพ่อเงิน ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา ถึงแม้จะมีวัยวุฒิน้อย แต่ตำแหน่งหน้าที่และคุณงามความดี ประชาชนก็ยอมรับนับถือว่า เป็นหลวงพ่อของเขา นับแต่นั้นมา

เมื่อได้รับหน้าที่เป็นเจ้าอาวาสเต็มตัวแล้ว หลวงพ่อเงิน ก็เริ่มงานการก่อสร้างหอสวดมนต์ขึ้นหลังหนึ่ง ยาว 9 เมตร กว้าง 4 เมตร สิ้นเงินค่าก่อสร้าง 40,000 บาท ในสมัยนั้นเงินมีค่ามากถ้าตกปัจจุบันก็ต้องคูณด้วย 100 ก็จะตกประมาณ 4,400,000 บาท แต่ก็มีผู้ศรัทธาบริจาคทรัพย์ทำบุญให้ท่านให้ก่อสร้างจนสำเร็จเรียบร้อยเป็นงานชิ้นแรก

ระยะนี้ หลวงพ่อเงิน มีชื่อเสียงดีมาก มีคนเคารพนับถือมาก มีคนขึ้นมาก ทั้งใกล้ไกล สาวและแก่ เป็นมิ่งขวัญของคนตำบลนั้น ถ้าจะพูดให้ตรงก็ต้องพูดว่า เป็นดาวดวงเด่นอยู่ในเวลานั้น ถึงแก่มีคนเป็นห่วงกันมาก กลัวว่าจะมีหญิงสาวคนใดมาชิงเอาหลวงพ่อเงินไปเสีย คนเฒ่าคนแก่ พูดกันทั่วไปว่า

"สำคัญอีพวกสีกาหน้าขาว ๆ นั่นแหละมันจะมาทำให้ผ้าเหลืองพระของกูร้อน"

มีพ่อเฒ่าคนหนึ่งแกหวงหลวงพ่อเงินนักหนา ถ้ามีสาวคนใดไปพูดจาถึงหลวงพ่อเงินให้แกได้ยินเข้า หรือว่าไปมาหาสู่ผิดปกติ แกจะต้องด่าให้อย่างหยาบคายเจ็บแสบ จนอายแทบว่าต้องแทรกแผ่นดินหนีทีเดียว เขาว่าตาคนนี้แหละแกเป็นหมาเฝ้าหลวงพ่อเงินอยู่ที่วัด

อย่างไรก็ดีชื่อเสียงหลวงพ่อเงินก็โด่งดังจริงๆ มีคนไปหาไม่เว้นแต่ละวัน แต่หลวงพ่อเงินก็ประพฤติปฏิบัติตนเหมือนพระลูกวัดธรรมดา ทุกวันทุกเช้าหลวงพ่อเงินก็ออกบิณฑบาตเช่นพระลูกวัด ไม่มีเว้นเลย ได้อาหารดี ๆ มาก็แบ่งปันให้พระลูกวัดฉันเสมอหน้ากันตามมากตามน้อย ได้ลาภทานสักการะอะไรมา ก็ทำบุญสร้างวัด หรือบริจาคให้พระลูกวัดไปฏันใช้สอย ไม่เคยเก็บสะสมไว้เป็นสมบัติส่วนตัวเลย แม้แต่ชิ้นเดียว หลวงพ่อเงินชื่อเงินก็จริง แต่เรื่องเงินแล้วดูจะถือว่าเป็นกาลกิณีแก่ท่าน ท่านไม่เคยแตะต้องเงินเลย ได้มาก็รู้แต่จำนวนเงินเป็นตัวเลข ส่วนตัวเงินอยู่ที่ไวยาวัจกร เอาไปซื้อของเครื่องใช้สำหรับพระลูกวัด สำหรับการบูรณะปฏิสังขรณ์วัดทุกบาททุกสตางค์

ชื่อเสียงของหลวงพ่อเงิน จึงบริสุทธิ์ผุดผ่อง ส่งกลิ่นฟุ้งขจรขจายไปเหมือนกลิ่นดอกไม้หอมหวลทวนลมไปได้ จนรู้ถึงหูเจ้าคณะจังหวัด ท่านก็ ออกปากชมอยู่เสมอ ใครไปท่านก็พูดถึง ขอให้ดูคุณเงินสมภารวัดดอนยายหอมเป็นแบบอย่าง สมภารเด็ก ๆ แต่เขาทำอะไรมีหลักฐานดีจริงๆ

คำยกย่องของเจ้าคณะจังหวัด รู้ถึงหูสมภารวัดอื่น ๆ ทำให้สมภารวัดหลายองค์ เดินทางไปชมวัดดอนยายหอม เมื่อเห็นวัดวาสะอาด เรียบร้อยเป็นระเบียบ เห็นบุคลิกลักษณะของหลวงพ่อเงิน มีสง่าอัธยาศัยดี โอภาปราศรัย พูดจาสุภาพเรียบร้อย พระสงฆ์และชาวบ้านก็พากันทึ่งมาก

ในระยะหลังที่อาจารย์พรหม โยมบิดามรณะไปแล้วชาวบ้านที่เคยพึ่งพาอาศัยอาจารย์พรหมอยู่ เมื่อหมดที่พึ่งก็หันมาหาหลวงพ่อเงินแทน เจ็บไข้ได้ป่วยมีทุกข์ร้อนอะไร ก็พากันหันหน้ามาหาหลวงพ่อเงินให้ช่วย โดยถือว่าเป็นพ่อลูกกันมีตำหรับตำราอะไรก็คงจะตกอยู่แก่พระลูกชาย เรื่องนี้ก็กลายเป็นการบังคับทางอ้อมให้หลวงพ่อเงินต้องบำเพ็ญตนเป็นอาจารย์พรหมไปด้วย เมื่อเห็นมีคนทุกข์ร้อนบ่ายหน้ามาให้ช่วย ก็ต้องช่วยเหลือไปเท่าที่จะช่วยได้ สมัยโน้นโรงพยาบาล สถานีอนามัยก็ไม่มี มีก็อยู่ในเมืองห่างไกลหลายกิโลเมตร ไปมาก็ลำบาก ถนนหนทาง รถยนต์ก็ไม่มี ประชาชนจึงต้องพึ่งหมดแผนโบราณ ยาขอ หมอวาน หมอชาวบ้านอยู่ทั่วไป หลวงพ่อเงิน จึงกลายเป็นหมอแผนโบราณ แทนโยมบิดาไปอีกอย่างหนึ่ง ใครป่วยไข้เป็นอะไรก็มาขอน้ำมนต์ให้เสกเป่าให้บ้าง เมื่อได้ผลคนก็ยิ่งนับถือ พากันมาหามากเข้าทุกที หนักเข้าก็กลายเป็นเกจิอาจารย์ ขอให้ท่านทำเสื้อยันตร์ ตะกรุด ลูกอม ขี้ผึ้ง แป้งผัดหน้า น้ำมันมนต์ เสกหมากพูล เสกทราย ซัดบ้านกันขโมยขะโจร แม้กระทั่งชานหมากก็มีคนต้องการ ไม่มีใครรังเกียจ

แต่จิตที่ตั้งความปรารถนาไว้ว่า จะบวชอุทิศชีวิตสร้างบารมี ช่วยเหลือมนุษย์ผู้ตกทุกข์ได้ยากนี้แหละ ทำให้หลวงพ่อเงินปฏิเสธไม่ได้ เพราะได้ตั้งใจมาแต่แรกแล้วว่า จะอุทิศชีวิตเป็นพระโพธิสัตว์สร้างบารมี จนกว่าชีวิตจะหาไม่ ทำให้ท่านต้องช่วยคนที่บากหน้ามาหาไม่เลือกหน้า

ก็เป็นธรรมดาของสังคม ย่อมจะมีคนดีคนชั่วปะปนกันอยู่ทั่วไปไม่เลือกกาลสถานที่ บรรดาคนที่มาหาหลวงพ่อเงินจึงย่อมจะมีคนชั่วคนพาลปะปนอยู่ด้วย ลูกศิษย์หลวงพ่อเงิน บางคนก็กลายเป็นอ้ายเสือร้ายไปเมื่อออกพ้นวัดไปแล้ว เช่น เสือชม เสือเชย ผู้ร้ายมีชื่อสมัยนั้นก็เป็นลูกศิษย์หลวงพ่อเงินด้วย

จึงทำให้เจ้าเมืองนครปฐม ต้องเดินทางไปหาหลวงพ่อเงิน ครั้งหนึ่งพระองค์เจ้าอาทิตย์-ทิพยอาภา เจ้าเมืองนครปฐม ได้เสด็จไปหาหลวงพ่อเงินถึงวัดดอนยายหอม เพื่อจะไปขอร้องให้เลิกให้เครื่องรางของขลังเสีย แต่เมื่อเจ้านายเชื้อพระวงศืผู้ใหญ่องค์นี้ได้เห็นบุคลิกลักษณะหลวงพ่อเงินเข้า ประกอบกับได้ทรงสนทนาโต้ตอบโอภาปราศรัย แลเห็นอัธยาศัยน้ำใจอันแท้จริงของหลวงพ่อเงิน พระองค์เจ้าอาทิตย์ก็ล้มเลิกความคิดที่จะขอร้อง ได้กลายเป็นแขกประจำของหลวงพ่อเงินไปด้วย ทุกวันอาทิตย์ พระองค์เจ้าอาทิตย์ จะต้องไปหาหลวงพ่อเงิน เป็นแขกประจำ

หลังจากนั้นจะอย่างไรไม่ทราบชัด เจ้าคณะจังหวัด ได้มีคำสั่งแต่งตั้งให้หลวงพ่อเงินเป็นเจ้าคณะตำบลดอนยายหอม เมื่อ พ..2470 อายุได้ 37 ปี และในปี พ..2471 ต่อมาเจ้าคณะจังหวัดก็ได้มีคำสั่งแต่งตั้งให้พระภิกษุเงิน จันทสุวัณโณเป็นพระครูปลัด ของเจ้าคณะอำเภอเมืองนครปฐม

ส่วนเรื่องการก่อสร้างบูรณะปฏิสังขรณ์วัดนั้น หลวงพ่อเงินก็ทำไปเรื่อยๆ

..2470 ได้สร้างศาลาการเปรียญหลังใหม่ขึ้น โดยอาศัยทุนทรัพย์ของบรรดาญาติพี่น้องของท่านเอง รวมทั้งชาวบ้านดอนยายหอม อุทิศกุศลให้โยมบิดามารดา เป็นศาลาขนาดกว้างใหญ่เป็นที่เชิดหน้าชูตาวัดนี้ หลวงพ่อเงินมีดีอยู่อย่างหนึ่งเรื่องเงิน คือท่านไม่สะสมเงิน ไม่แตะต้องเงินเลย ท่านไม่ยอมสะสมเงินไว้เพื่อส่วนตัวหรือเอาไปเจือจุนญาติพี่น้อง มีแต่เอาทรัพย์สินเงินทองของญาติพี่น้องมาร่วมทำบุญสร้างวัด คนทั้งหลายเมื่อทราบว่าท่านจะสร้างอะไร ก็มีคนเต็มใจออกเงินช่วยทำบุญอยู่เสมอ ครั้งหนึ่งท่านกำลังสร้างอาคารเป็นตึกคอนกรีตอยู่ ผู้เขียนถามว่า

"หลวงพ่อ สร้างอะไรหลังใหญ่ ๆ อย่างนี้ ไม่กลัวว่าจะไม่มีเงินพอสร้างไม่เสร็จมั่งหรือครับ"

หลวงพ่อเงินตอบเรียบ ๆ ว่า

"ตั้งใจทำไปตามกำลังศรัทธา ก็สำเร็จจนได้นั่นแหละ"

หลวงพ่อเงิน ไม่มีนิสัยโลภ ไม่สะสม ไม่ต้องการมีอะไรเป็นของตน ไม่มีห่วง ไม่มีหวังทางโลก ไม่ทำอะไรเพื่อตัวเอง มีนิสัยเสียสละทำเพื่อคนอื่นทั้งสิ้น นิสัยจิตใจอย่างนี้ เป็นที่รู้เป็นที่ประจักษ์แจ้งในผู้คนทั้งหลายทั้งปวงทั่วไป เพราะเหตุนี้เมื่อท่านทำอะไร ใครรู้เข้า ก็เต็มใจยินดีบริจาคด้วยความเต็มใจเต็มสติกำลัง หลวงพ่อเงินเสมือนเนื้อนาอันดุดม เมื่อหว่านพืชลงไปย่อมจะได้ผลเต็มที่

"อนุตตะรัง ปุญญํกเขตตัง โลกัสสาติ"

"เป็นเนื้อนาบุญของโลก ไม่มีอะไรเหนือกว่า"

คนจึงยินดีหว่านพืชลงไปในนาดีอย่างหลวงพ่อเงิน

ต่อมาในปี พ..2473 ท่านได้สร้างโรงเรียนปริยัติธรรมอีกหลังหนึ่ง ขนาดกว้าง 6 เมตร ยาว 16 เมตร สิ้นค่าก่อสร้างสมัยนั้น 40,000 บาท

และในปี พ..2473 นั้นเอง ท่านก็ได้รับแต่งตั้งให้เป็นพระอุปัชฌาย์ ทำการอุปสมบทกุลบุตร ในตำบลดอนยายหอมนั้น เมื่อ อายุ 40 ปี

พระธรรมเทศนา

คุณวิเศษของหลวงพ่อเงิน ซึ่งเป็นที่นิยมชมชื่นสรรเสริญกันหนักหนาก็คือ การสั่งสอนธรรม หรือจะเรียกว่าวิสัชนาธรรมก็ได้ จะเรียกธรรมเทศนาชนิดที่ไม่ต้องขึ้นธรรมาสน์เทศน์ไม่ต้องอาราธนาธรรม หลวงพ่อมักจะพูดเรื่องธรรมะกับคนที่ไปหาทุก ๆ คน สอดแทรกอยู่ในคำสนทนานั่นเอง ใช้คำพูดง่าย ๆ ฟังเข้าใจทันที ได้คติเตือนใจเหมาะสมกับวัย และสภาพจิตใจของบุคคลนั้น ๆ ใคร ๆ ได้ฟังแล้วก็เคลิบเคลิ้มเหมือนมีมนต์สะกดให้เห็นดีเห็นชอบเห็นจริง จดจำได้อยากทำตาม บางคนถึงแก่ปฏิญาณตนว่าจะเลิกทำบาปทำชั่ว เลิกอบายมุขต่างๆ เพียงแต่ได้สนทนาธรรมกับหลวงพ่อเงินครั้งแรก และครั้งเดียวก็มี

วิธีสอนคนอีกอย่างหนึ่งก็คือ การไปเยี่ยมเยียนถามสารทุกข์สุกดิบถึงที่บ้าน เมื่อได้ทราบว่าใครกำลังคิดชั่วทำชั่ว ท่านก็จะเดินไปโปรดถึงที่บ้าน ท่านทำคล้ายกับจริยวัตรของพระบรมศาสดา เมื่อไปถึงแล้วก็คุยถึงเรื่องโน้นเรื่องนี้แล้วก็วกเข้าเรื่อง ด้วยจิตอันเปี่ยมไปด้วยความเมตตา อยากจะให้คนพ้นทุกข์ อยากให้เขาได้อยู่ดีมีสุข โดยไม่หวังผลตอบแทนอะไรเลย ใครกำลังคิดชั่วทำชั่วอยู่ ก็สารภาพกับหลวงพ่อ แล้วก็เกิดความละอายใจ ไม่กล้าคิดชั่วทำชั่วอีกต่อไป แล้วก็เล่าให้ใคร ๆ ฟังด้วยความปลื้มใจว่าหลวงพ่อมาโปรดถึงที่บ้าน ทำให้เขาเลิกทำความชั่วเสียได้ หลวงพ่อจึงเป็นที่เคารพรักของชาวบ้านอย่างฝังจิตฝังใจ

เพราะเหตุที่หลวงพ่อเงินเป็นที่เคารพนับถือของชาวบ้านชาวเมืองทั่วไป ทั้งพระเณรในวัดก็เคารพบูชา การปกครองพระภิกษุสงฆ์ในวัดจึงไม่มีปัญหาอย่างใด แม้จะหย่อนด้านวัยวุฒิอายุยังน้อยอยู่ คนก็เรียกหลวงพ่อกันทั่วไป หลวงพ่อเป็นพระที่เคร่งครัดอยู่ในพระธรรมวินัยไม่เคยประพฤติย่อหย่อนเลี่ยงวินัยให้ใครเห็นเลย ไม่มีปมด้อยหรือจุดอ่อนอันจะต้องซ่อนเร้นปิดบัง หลวงพ่อมักน้อย สันโดษ ไม่โลภ ไม่สะสมทรัพย์ไว้เป็นของส่วนตัวเลยแม้แต่น้อย ไม่เคยแม้แต่จะคิดโลภเอาไว้เพื่อเห็นแก่วัดก็ไม่ปรากฏ จิตใจก็เต็มเปี่ยมไปด้วยเมตตา เผื่อแผ่ แบ่งปัน ช่วยเหลือคนทุกคนด้วยความบริสุทธิ์ใจ ไม่ได้ทำเพื่อจะเอาหน้าเอาซื่อ หรือเอาพวก หรือมีเล่ห์เหลี่ยมกลอุบายอะไรทั้งสิ้น พูดจากและปฏิบัติตนเปิดเผย ตรงไปตรงมา สม่ำเสมอ เคยอย่างไรก็อย่างนั้นคงเส้นคงวา หลักธรรมเรื่องที่พระพุทธองค์สอนไว้ เรื่อง สังคหวัตถุธรรม-เครื่องสงเคราะห์ผูกพันจิตใจคนนั้น ดูเหมือนหลวงพ่อจะมีอยู่ครบถ้วน ในจิตใจไม่บกพร่องเลยคือ

1.ทาน การให้ปัน

2.ปิยวาจา พูดจาเป็นที่รัก

3.อัตถจริยา ช่วยเหลือเกื้อกูล

4.สมานัตตตา วางตนสม่ำเสมอ คงเส้นคงวา ไม่มีขึ้นมีลงไปตามอำนาจ วาสนา ยศศักดิ์ หรืออารมณ์ สังคหวัตถุธรรมนี้ ดูแล้วมีอยู่ในตัวหลวงพ่อครบบริบูรณ์ไม่บกพร่องเลย

การได้รับแต่งตั้งให้เป็นพระอุปัชฌาย์นั้น ท่านก็ไม่ได้ถือโอกาสเอาตำแหน่งนี้ กระทำการเพื่อประโยชน์ตนเองเลย ท่านทำการบวชกุลบุตร เพื่อพระพุทธศาสนาเท่านั้น ไม่ได้เห็นแก่ลาภทางสักการะหรือชื่อเสียง ความเป็นใหญ่ หรือหาลูกศิษย์ลูกหาอะไรทั้งสิ้น สังเกตเห็นได้จากการรับคนเข้ามาบวช ท่านก็ตั้งกฎเกณฑ์ไว้ เป็นการพูดปากเปล่าบอกชาวบ้านให้รู้ทั่วกันว่า

"การที่จะเข้ามาบวชเป็นสาวกของพระพุทธเจ้านั้นต้องเข้ามาอยู่วัดเสียก่อน เพื่อฝึกหัดอบรมให้มีนิสัยปัจจัยเสียก่อน จึงจะบวชเป็นพระได้ การบวชจึงจะเป็นเนื้อนาบุญ ได้กุศลผลบุญโดยแท้จริง"   การสั่งสอนอบรมพระภิกษุหลวงพ่อก็พูดอยู่เสมอว่า

"พระภิกษุก็เหมือนเนื้อที่นา ต้องเป็นเนื้อนาดี ดินดี การหว่านพืชข้าวลงไป จึงจะได้ผลงอกงาม การเป็นพระเนื้อนาไม่ดี ก็ไม่มีใครเขาอยากจะหว่านพืช คือทำบุญให้ เพราะรังแต่จะสูยเสียเปล่า เป็นข้าวที่เฉา ม้าน หรือรวงลีบ ไม่ได้ผลอะไรตอบแทน"

"อีกอย่างหนึ่ง พระภิกษุมาบวชแล้วต้องเรียน จึงจะชื่อว่าบวชเรียน โดยแท้จริงตามคำโบราณ ไม่ได้เรียนเพื่อเอาประกาศนียบัตรเป็นเครื่องหมายรับรองคุณวุฒิเหมือนทางโลกที่เขาต้องการเอาไปอวดคน หรือนายเพื่อรับเข้าทำงาน การเรียนของพระสงฆ์เป็นการเรียนศึกษาพระธรรมวินัยให้รู้ไว้ตามภาวะตามหน้าที่การงานของตนเท่านั้น คือเป็นพระก็ต้องเรียนรู้เรื่องของพระให้เข้าใจ มิฉะนั้นก็จะได้ชื่อว่า บวชเสียผ้าเหลือง สึกก็เปลืองผ้าลาย"

หลังจากสวดมนต์ไหว้พระ ที่เรียกว่าทำวัตรเช้า ทำวัตรเย็นแล้ว หลวงพ่อก็อบรมพระ วิธีการอบรมก็พูดจาสนทนาธรรมกันตามธรรมดา ท่านค่อย ๆ พูดเลียบเคียงหว่านล้อม ทีละน้อย จนผู้ฟังเพลิน มีเกล็ดขำ ๆ เรื่องเบ็ดเตล็ดต่าง ๆ มาเล่าประกอบ แล้วสุดท้ายก็วกเข้าหาจุดที่ตั้งใจสอน เช่นถ้าเห็นพระภิกษุรูปใดชอบเปลือยกายท่อนบน ตามปกตินิสัยของชาวนา ชาวไร่ ตามบ้านนอกเมื่ออยู่กับบ้าน ท่านก็จะเล่าอะไรต่ออะไรเกี่ยวกับเรื่องเปลือยกายเสียก่อน จึงจะถึงจุดว่า

"เป็นพระสงฆ์นั้นเป็นรูปกายที่ชาวบ้านเขายกมือพนมกราบไหว้ ถ้าปล่อยกายปล่อยตัวเหมือนชาวบ้านแล้ว ก็จะไม่มีอะไรให้อยู่ในฐานะอันชาวบ้านเขาจะกราบไหว้ได้ เขาก็จะหมดศรัทธาเลื่อมใสใน พระสงฆ์ และในพระรัตนตรัยด้วย การสังวรระวังอยู่ในวินัยจึงเป็นสมบัติของพระสงฆ์ เพื่อเขาจะได้ยกมือกราบไหว้ได้โดยไม่ตะขิดตะขวงใจ"

แล้วหลวงพ่อก็จะเล่าเกล็ด เล่านิทาน เล่าชาดกให้ฟังประกอบเรื่องจนผู้ฟังเห็นดีเห็นชอบ ไม่เบื่อหน่าย และยินดีที่จะประพฤติปฏิบัติตาม

ในส่วนตัวของหลวงพ่อเอง ก็ตั้งอยู่ในวินัยเป็นตัวอย่างด้วย จนพระภิกษุที่บวชอยู่ในวัดดอนยายหอม เมื่อสึกออกไปก็เอาไปนินทาว่าร้ายหลวงพ่อไม่ได้เลย ไม่เหมือนพระบางวัด พอสึกออกไปก็เอาความไดของพระในวัด และของสมภารไปเล่านินทากันสนุกปาก เล่าเป็นนิทาน เรื่องเถรกับยายชีต่าง ๆ นานา เป็นเรื่องลามก จนคนไม่อยากเข้าวัด คนเล่าก็ไม่อยากหันหน้าเข้าวัด กลายเป็นคนเบื่อวัดเกลียดพระไปก็มี สรุปว่าพระก็ไม่เห็นมีอะไรดีวิเศษกว่าชาวบ้านเลย บางทีแย่กว่าฆราวาสก็มี เรื่องอย่างนี้พระพุทธศาสนาขาดทุนป่นปี้ แต่เรื่องอย่างนี้วัดดอนยายหอม ไม่มีเลย มีแต่เอาเรื่องคุณงามความดีของหลวงพ่อไปยกย่องสรรเสริญกันทั่วทุกตัวคน ชื่อเสียงของหลวงพ่อเงินจึงโด่งดังออกไปนอกวัดไกลออกไปทุกที เพราะว่ากลิ่นและสีของหลวงพ่อเหมือนกลิ่นและสีของดอกไม้อันหอมหวนทวนลมได้

หอมกลิ่นดอกไม้ที่ นับถือ

หอมแต่ตามลมรือ    กลับย้อน



ประวัติเกจิอาจารย์ดัง: หลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม
»อภินิหารหลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม
02-04-2010
»ชีวประวัติหลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม ตอน ๖
14-03-2010
»ชีวประวัติหลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม ตอน ๕
14-03-2010
»ชีวประวัติหลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม ตอน ๔
14-03-2010
»ชีวประวัติหลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม ตอน ๓
14-03-2010
»ชีวประวัติหลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม ตอน ๒
14-03-2010
»หลวงพ่อเงิน จันทสุวัณโณ
02-04-2010
»ชีวประวัติหลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม นครปฐม
14-03-2010
 
------------------------
  หน้าหลัก  
  คำถามที่มีการถามบ่อย  
  เราเล่นพระทำไม ?  
  กฎหมายพระเครื่อง  
  เกร็ดเล็ก-เกร็ดน้อย  
  สมัครเปิดร้านค้า  
  การชำระเงินค่าร้านค้า  
  ความรู้เกี่ยวกับพระเครื่อง  
  ข้อมูลสถิติเกี่ยวกับร้านค้า  
 
หน้าหลัก  อดีตสู่ปัจจุบัน  เว็บบอร์ดชมรม  ตารางประกวดพระ  สาระน่ารู้  เล่าสู่กันฟัง  ติดต่อเรา
Copyright©2024 zoonphra.com
Powered by Tactical IT