หลักธรรมบางประการ
หลวงพ่อที่ดีมีชื่อเสียงนั้น มักจะมีลูกศิษย์ดี การที่มีลูกศิษย์ดีเพราะหลวงพ่อดี การที่หลวงพ่อดี ก็เพราะมีหลักธรรมดี การที่จะรู้ว่ามีหลักธรรมดี ก็รู้ที่การปฏิบัติของท่าน และรู้จากคำสั่งสอนของท่านที่จะออกมาจากจิตใจของท่าน มิใช่สอนคนอื่นอย่างหนึ่ง ประพฤติตนอีกอย่างหนึ่ง หลวงพ่อหรือครูอย่างนี้ไม่มีคนนับถือ แต่หลวงพ่อเงินมีคนนับถือ มีคนพูดสรรเสริญ มีคนเขียนสดุดียกย่องไว้ ก็เพราะหลวงพ่อเป็นพระดี มีหลักธรรมดีประพฤติปฏิบัติดี เป็นพระสงฆ์สาวก ของพระผู้มีพระภาคเจ้าที่ดีพร้อมทั้ง 4 ประการ คือ
1.สุปฏิปันโน - ประพฤติปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ปฏิบัติเหมาะ ปฏิบัติสมกับสมณะ
2.อุชุปฏิปันโน - ประพฤติปฏิบัติงดงามตรงตามพระธรรมวินัย น่าดูน่าชม ทุกอิริยาบถ ทุกย่างก้าวเดิน ทุกวัน ทุกเดือน ทุกปีตลอดชีวิต สม่ำเสมอ ไม่บกพร่อง ไม่ขาดไม่เกิน ครบถ้วนบริสุทธิ์บริบูรณ์
3.ญายปฏิปันโน - ประพฤติปฏิบัติด้วยความสำนึกมีสติกำกับตน รู้อยู่เสมอว่า ปฏิบัติอย่างนั้นเพื่ออะไร มีจุดมุ่งหมายอย่างไรจะได้ผลอย่างไร ไม่ใช่ปฏิบัติไปโดยงมงาย ไม่รู้ว่าทำเพื่ออะไร แบบที่เรียกกันว่า เถรส่องบาตร
4.สามีจิปฏิปันโน - ปฏิบัติด้วยความจงรักภักดีอย่างมอบกายถวายชีวิต ต่อพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยความกตัญญู ด้วยความกตเวที ด้วยความภักดีในพระศาสนาที่ได้เข้ามาบวชดำรงชีพอยู่อย่างเป็นสุข
คำทั้ง 4 คำนี้แหละคือคำอธิบายถึงหลวงพ่อดีอย่างหลวงพ่อเงิน เป็นคุณลักษณะพระอริยสงฆ์ หลวงพ่อเป็นพระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าที่ดีแท้ ดีจริง ไม่มีอะไรจะต้องระแวงสงสัยเลย กราบได้ ไหว้ได้ บูชาได้ เป็นปูชนียบุคคลของผู้ที่ได้พบเห็นจริงๆ
มีหลักธรรมบางประการที่หลวงพ่อเงินนำมาอบรมภิกษุสามเณรอยู่เสมอ สมควรจะนำมากล่าวไว้เป็นตัวอย่างบางเรื่อง คือ
หลัก 3 ประการในการปฏิบัติของภิกษุ
1.สำรวมอินทรีย์
2.ปลงอสุภกรรมฐาน
3.เจริญวิปัสสนา
"ให้ระงับกาย วาจา ใจ การยืน การเดิน การนั่ง การนอน ให้สำรวมระวังอันได้แก่การสำรวมกาย"
"การพูดจา ให้ระวัง พูดแต่น้อย พูดแต่คำสุภาพ พูดแต่คำสัตย์คำจริง คำที่เป็นคุณประโยชน์แก่ตนและเป็นคุณประโยชน์แก่ผู้อื่น ไม่พูดพล่อย ๆ ไม่พูดเพ้อเจ้อ เหลวไหล ไม่พูดส่อเสียด ยุยง ไม่พูดคำหยาบคาย ไม่พูดโป้ปดมดเท็จ ไม่พูดให้คนอื่นได้รับความเดือดร้อน เสียหาย ได้แก่การสำรวมวาจา"
"สำรวมใจนั้น คือระมัดระวังใจ ไม่ให้เกิดความโลภ ความโกรธ ความหลง มาครอบงำจิตใจไม่ให้ยินดีในรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ทั้งหลาย เช่นเห็นหญิงสาวสวยเดินมาก็มิให้มองด้วยความใคร่ พูดด้วยความยินดี คิดไปในทางก่อให้เกิดราคะดังนี้ เป็นต้น" เรื่องปลงอสุภกรรมฐาน หรือนมัสการพระกรรมฐานด้วยคำโบราณนั้น หลวงพ่อสอนว่า
"ให้ระลึกถึงอสุภะในร่างกาย เกสา, โลมา, นะขา, ทันตา, ตะโจ อันเรียกว่าปัญจกรรมฐาน เป็นของไม่สวยงาม เน่าเปื่อย มีแต่เลือดและหนอง อุจจาระ ปัสสาวะเป็นที่อาศัยของหมู่หนอน"
เรื่องเจริญวิปัสสนานั้น หลวงพ่อสอนว่า
"ให้พิจารณาสังขาร แยกออกเป็นขันธ์ 5 คือ รูปร่างกาย-เวทนา-สัญญา-สังขาร-วิญญาณ อันเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ตั้งอยู่ไม่ได้นาน ไม่ใช่ตัวตน กิเลสกาม คือความรักใคร่ยินดี ตัณหาคือความทะยานอยากได้ อยากเป็น อยากมี ไม่อยากเป็น ไม่อยากมี ราคะความกำหนัดยินดี , โทสะคือความขึ้งเคียดเดียดฉันท์จัดว่าเป็นมารมาล้างผลาญ คุณงามความดีของมนุษย์ทำให้คนเสียคน"
เรื่องกำแพงชีวิต
หลวงพ่อสอนว่าคนเราเกิดมาก็คล้ายถูกขังอยู่ในคุกมีกำแพง 4 ด้านคือทุกข์
1.ทุกข์ถึงชีวิต ทุกรูปทุกนามกลัวความตายเป็นห่วงชีวิต ทำให้เกิดความทุกข์ ทุกข์ถึงชีวิตคือกำแพงด้านหน้า ทางที่จะพ้นทุกข์ด้านนี้ได้ก็คือ อุทิศชีวิตของตนให้แก่พระพุทธศาสนา จะตายเมื่อไรก็ไม่ว่า ตั้งหน้าแต่ทำความดีเพื่อเป็นที่พึ่งของสัตว์ เมื่ออุทิศชีวิตเสียได้แล้ว ก็เท่ากับควักเอาดวงใจไปฝากไว้กับพระพุทธเจ้า ตัวของเราจะไม่รู้จักความตาย จะไม่ต้องทุกข์ถึงความตาย ตายเมื่อไรก้เท่ากับสังขารแตกดับไปเท่านั้น ไม่มีความตายสำหรับเรา
2.ทุกข์ถึงทรัพย์ ที่ได้รับมรดก และสะสมแสวงหามาได้ กลัวว่าจะชำรุดสูญหายกลัวจะไม่คืนคงไม่มากมูล กลัวว่าเมื่อตายไปจะตกเป็นของคนอื่น ทรัพย์ของเราเป็นมารทำลายใจเรา เหมือนห่วงผูกเท้าไว้ เป็นกำแพงกั้นกักขังตัวเราเองให้ไปไม่พ้น ดิ้นไม่หลุด และเป็นทุกข์เหมือนกำแพงด้านหลัง ทางที่จะทำลายคุกด้านนี้คือไม่โลภ ไม่ตระหนี่ ไม่สะสม
3.ทุกข์ถึงลูก คนเราเมื่อมีลูกเป็นพ่อเป็นแม่เขา ก็เท่ากับได้สร้างกรรมสร้างห่วงไว้ผูกคอตัวเอง สร้างกำแพงไว้ขังตัวเองอีกด้านหนึ่ง คือกำแพงด้านขวากักขังตัวเราเองไว้ให้หนีไม่พ้น ไปไหนไม่รอด เป็นทุกข์ประการที่ 3 ทางที่จะทำลายกำแพงด้านนี้ ก็คือฝึกฝนอบรมลูกให้เป็นคนดี มีวิชา ทำมาหากินได้จะได้หมดห่วง
4.ทุกข์ถึงภรรยาหรือสามี เมื่อมีคู่ครองแม้จะมีบุตร หรือไม่มี ก็เป็นทุกข์ เป็นห่วง คิดว่าตัวเป็นเจ้าของ กลัวเขาจะป่วยจะไข้ กลัวเขาจะตายจากไป กลัวเขาจะคบชู้มีคู่ใหม่ ทุกข์เหมือนห่วงผูกข้อมือไว้ หรือเหมือนกำแพงคุกด้านซ้าย ทางที่จะทำลายกำแพงด้านนี้ ก็คือคิดว่าแม้แต่ตัวเราเองก็ยังพึ่งพาตัวเองไม่ได้ จะเจ็บจะป่วยไข้จะตายเมื่อไรก็ไม่รู้ ไม่สามารถจะช่วยชีวิตตนเองได้ จะไปห่วงชีวิตคนอื่นเกินไป ไม่สามารถจะทำอะไรได้"
นี่คือคำสอนเรื่องกำแพงคุกของชีวิต จะเห็นว่าเป็นคำสอนง่าย ๆ แต่ฟังแล้วก็เห็นจริง น่าฟังและน่าคิด นี้แหละคือตัวอย่างคำสอนของหลวงพ่อ
สอนคนขอหวย
หลวงพ่อเงิน จะเก่งทางคาถาอาคมอย่างไร มีเมตตามหานิยมขนาดไหน พระเครื่องรางของขลังจะศักดิ์สิทธิ์อย่างไร ก็เป็นเรื่องของลูกศิษย์ลูกหาจะพูดจาเล่าลือกันไปต่าง ๆ นานา แต่คนที่รู้จักหลวงพ่อเงินจริง ๆ แล้ว ก็จะรู้แก่ใจดีว่า หลวงพ่อไม่เคยคุยอวดอะไร เวลาท่านจะแจกพระเครื่ององค์เล็ก ๆ หรือเหรียญรูปตัวของท่าน ท่านก็พูดว่า
"เอาไปเป็นที่ระลึกนะ"
"คนเขาเอาไปใช้ติดตัวเขาว่าดี"
ท่านไม่ได้พูดจาอวดอ้างเอาเอง หรือรับรองว่าของนี้ขลัง ของนี้ศักดิ์สิทธิ์ ของนี้ดี วิเศษทางเมตตามหานิยม แคล้วคลาด คงกะพันชาตรีอะไรเลย คราวหนึ่งพบท่าน ท่านเห็นว่าผู้เขียนเป็นลูกศิษย์ไปรับราชการอยู่ต่างหัวเมืองไม่ได้ไปหาท่าน ท่านก็พูดว่า
"ฉันสร้างพระผงเมตตาไว้รุ่นหนึ่งนะ อยากได้ก็ไปที่วัด"
แต่ผู้เขียนก็ไม่ได้ไปขอรับจากท่าน วันหนึ่งพบหญิงคนหนึ่งเป็นคนชาวนครปฐม พูดถึงพระผงเมตตาของหลวงพ่อเงินว่าอยากได้ เขาก็ส่งให้องค์หนึ่ง ทำด้วยผงสีเหลืองอมแดง ขนาดสัก 5 คูณ 10 มิลลิเมตร รูปสี่เหลี่ยม ผู้หญิงที่ให้พระคนนั้น เป็นใคร ชื่อไรก็ไม่รู้จัก ข้าพเจ้านึกในใจว่า นี่หลวงพ่อรักเราจึงอุตส่าห์ฝากให้หญิงคนนี้มาให้ คราวหนึ่งรำลึกว่าเหรียญรุ่นแรกของหลวงพ่อยังไม่มี อยากได้ก็ได้มา 2 เหรียญ ยังเก็บไว้จนบัดนี้
คราวหนึ่งมีงานทำบุญครบ 6 รอบ อายุ 72 ปีของหลวงพ่อเงิน ท่านสร้างเหรียญทองแดง รูปตัวท่านอายุ 6 รอบแจก เมื่อผู้เขียนโผล่ไปในงาน พอเห็นหน้า หลวงพ่อก็เดินผ่านคนจำนวนมากบนศาลาการเปรียญเข้ามา หาล้วงย่าม หยิบเหรียญรุ่น 6 รอบ พ.ศ.2505 ส่งให้ 1 เหรียญ ไม่ได้พูดอะไรเลย
คราวหนึ่งเมื่อผู้เขียนจะเดินทางไปรับตำแหน่งใหม่ที่เมืองสมุทรสงคราม เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2498 ได้ไปกราบลาท่านขุนเชาว์ปรีชาศึกษากร ท่านขุนเชาว์ก็ไปหยิบเอาพระเครื่องหลวงพ่อเงินมอบให้เป็นที่ระลึก 1 องค์ เพราะท่านขุนเชาว์ปรีชาศีกษากร เป็นลูกศิษย์และเป็นกรรมการวัดดอนยายหอมคนหนึ่ง มีหน้าที่เกี่ยวข้องอยู่ในการสร้างพระเครื่องดินเผารุ่นนั้น
อย่างไรก็ดี ทุก ๆ คนไม่ว่าใครที่เป็นลูกศิษย์หรือเคยไปหาหลวงพ่อเงินจะเป็นที่รู้กันอย่างซาบซึ้งแก่ใจดีว่า คนที่ไปหาหลวงพ่อเงินจะได้รับการต้อนรับโอภาปราศรัย เป็นที่ชื่นอกชื่นใจแก่ทุกคน ทุกคนจะได้รับสิ่งที่เป็นวัตถุติดมือไปเป็นที่ระลึก เป็นสิริมงคลแก่ตัวตามที่ออกปากขอท่าน จะให้รดน้ำมนต์ ท่านก็อ่านโองการเวทย์มนต์รดน้ำมนต์ให้ จะขอเหรียญ ท่านก็หยิบยื่นให้ แต่สิ่งที่ได้รับไปพร้อมกันก็คือ "ธรรมะ" ที่ฝากแฝงอยู่ในคำสนทนาปราศรัยนั้น บุคลิกลักษณะ ผิวพรรณ วรรณะ ของท่านก็ผ่องใส สง่าผ่าเผย มีแววแห่งความเมตตาแฝงอยู่ในน้ำเสียง และฉายแสงออกมาจากดวงตาคู่นั้น น้ำเสียงกังวาลแจ่มใส ผสมกลมกลืนกันอย่างประหลาดระหว่างความมีอำนาจและความเมตตา กิริยาก็สง่าผสมกับความละมุนละไม และความสงบเสงี่ยมเยือกเย็น ถ้อยคำที่กล่าวออกมาแต่ละคำแต่ละประโยคก็น่าฟัง น่าคิด น่าจดจำ น่าเคารพกราบไหว้อย่างสนิทใจ เรียกว่า "กราบเท้ากราบตีนได้อย่างน่าชื่นใจ ยกเอาเท้าขึ้นใส่หัวใส่เกล้าได้อย่างเคารพบูชา" คำพูดนั้นเหมาะแก่กาลเทศะ เหมาะแก่บุคคล เหมาะแก่เหตุการณ์ มีคำอุปมาอุปไมยทางโลกทางธรรมอย่างแยบคาย อันนี้แหละมีคุณค่ายิ่งกว่าคาถาอาคม เครื่องรางของขลังใด ๆ ทั้งสิ้น ดูเหมือนว่าน้ำมนต์ พระเครื่องเหรียญอะไรเหล่านั้นเป็นแต่เพียงสื่อสารระหว่างตัวเรากับตัวท่านยามที่อยู่ห่างไกลกันเท่านั้น ถ้าหากว่าพระเครื่องของท่านจะขลังและศักดิ์สิทธิ์ คุ้มครองป้องกันภัยอันตรายได้จริง ๆ ก็เป็นเพราะ ผู้นั้นระลึกถึงท่าน ยึดเอาท่านเป็นที่พึ่งที่ระลึกในที่ทุกสถาน ในกาลทุกเมื่อ เมื่อยามอยู่ห่างไกล มิได้อยู่ต่อหน้าท่านเท่านั้น
แต่เมื่อยามอยู่ต่อหน้าท่านนั้น แม้คนที่ไม่เคยรู้จักไม่เคยเห็นหน้าตาหลวงพ่อมาก่อน พอเห็นท่านเข้าก็จะเกิดอาการสะดุดใจ บุคลิกลักษณะของหลวงพ่อมีเสน่ห์ดึงดูดใจคนตั้งแต่แรกพบทำให้สะดุดตาสะดุดใจคน เหมือนมีพลังงานแม่เหล็กดึงดูดฉะนั้น
คราวหนึ่งหลวงพ่อเดินอยู่บนระเบียงองค์พระปฐมเจดีย์ มีชายหญิงหมู่หนึ่ง แต่งตัวภูมิฐาน เป็นผู้ดีมีการศึกษา เดินผ่านหลวงพ่อไปโดยไม่รู้จัก ก็พากันหันมามอง แล้วก็พูดจาปรารภกันว่า
"หลวงพ่อองค์นี้มีสง่าราศีดีจัง พระที่ไหนนะ ?"
มีเรื่องเล่ากันว่าวันหนึ่ง มีหญิงชาวสุพรรณ 2 คน เดินทางมาหาหลวงพ่อเงินถึงวัดดอนยายหอม ที่รู้ว่าเป็นชาวสุพรรณ เพราะสำเนียงพูดก็เสียงเหมือนชาวดอนยายหอมนั่นแหละ แต่หางเสียงฟังออกว่าเป็นชาวสุพรรณ เมื่อพบหลวงพ่อแล้ว ก็พูดจาตรงไปตรงมาตามประสาชาวบ้าน
"เขาลือกันว่าหลวงพ่อเก่งนักเก่งหนา ฉันอยู่ไกล ก็ต้องอุตส่าห์บากบั่นมาหา เพราะความยากจนนั่นแหละ จะมาหาหลวงพ่อขอหวยไปแทงให้รวยสักที"
หลวงพ่อฟังแล้วก็ยิ้ม ตอบด้วยน้ำเสียงราบเรียบแต่มีกังวาลแจ่มใสเหมือนดังมาจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เหมือนเสียงของพระอินทร์พระพรหมก็ปานกันว่า
"โยมการที่โยมอุตส่าห์บุกน้ำข้ามคลองมาแต่บ้านไกลเมืองไกล ก็เพราะศรัทธาเลื่อมใสในตัวฉัน ฉันก็เห็นใจโยมมากว่านับถือฉันจริง แต่ว่าฉันก็เสียใจที่ทำให้โยมต้องผิดหวังมาก ของที่โยมทั้งสองต้องประสงค์นั้น ฉันไม่มีจะให้ เพราะฉันก็ไม่ได้รู้จักกับขุนบาลหวยที่ไหนเลย จะได้รู้ว่าเขาออกตัวอะไร แล้วก็จะบอกให้โยมเอาไปแทง ถ้าฉันรู้ว่าหวยมันออกตัวอะไรแล้ว ฉันจะมัวโง่อยู่ทำไมล่ะโยม ฉันก็จะใช้ให้เด็กมันไปแทงเสียเองมิดีหรือ จะได้เอาเงินมาสร้างวัดให้มันสวยงามกว่านี้"
โยมทั้งสองผู้ศรัทธาก็นั่งงงอยู่
"อย่าไปหลงมันเลยโยม การพนันนั้นมันเป็นหนทางของคนตาบอดเขาเดินกัน คือมันมีแต่จะต้องเดาสุ่มเอา มองเห็นชัด ๆ อย่างคนตาดี ๆ นี้นะไม่มีหรอก โยมก็เป็นคนมีอายุมากแล้ว แต่ก็ยังดีที่ตาของโยมยังไม่บอดยังไม่ฟาง แล้วโยมจะทำตัวเป็นคนตาบอดตาฟางให้คนอื่นเขาหลอกลวงทำไม การพนันนั้น ไม่ผิดอะไรกับเบ็ดที่เขาเกี่ยวเหยื่อไว้ตกปลา ปลามันโง่ก็มองไม่เห็นเบ็ด คิดว่าเป็นอาหารจึงมากินเบ็ด หมดตัวเมื่อไรจึงจะรู้ว่าเดินทางผิด มีบ้างไหมคนที่เล่นการพนันแล้วร่ำรวย สร้างหลักฐานได้ ไม่เช่นนั้นรัฐบาลท่านเป็นพ่อแม่เรา ท่านคงไม่ห้ามหรอก อีกอย่างหนึ่งเงินเป็นของมีค่ามีคุณ เป็นของที่ควรจะเก็บรักษาไว้ไม่ใช่ของเล่น ถ้าเอาเงินมาเล่นเสียแล้ว เงินจะอยากอยู่กับเราหรือ เพราะดูถูกเงิน เอาเงินไปทำเป็นของเล่นเสียแล้ว"
หญิงทั้งสองนั่งฟังเงียบ สงบนิ่ง จนได้ยินเสียงหัวใจเต้น หลวงพ่อจึงเทศน์โดยไม่ต้องติดกัณฑ์เทศน์ เป็นการเทศน์นอกธรรมาสน์ต่อไปอีกว่า
"สมบัติทางโลกนั้น มันไม่ใช่ของแท้แน่นอนอะไรหรอกโยม ถึงโยมจะถูกหวยรวยเงินอาจจะมีโจรมาทุบตีปล้นเอาไปได้ แต่ถ้าโยมทำบุญทำกุศลไว้ โจรที่ไหนมันจะมาปล้นเอาไปได้"
หลวงพ่อปราบการพนัน
หลวงพ่อไม่ได้บวชเพื่อแสวงหาลาภ แสวงหาชื่อเสียง หรือแสวงหาลูกศิษย์ หลวงพ่อจึงไม่ประพฤติตามใจชาวบ้าน เพราะฉะนั้น เมื่อหญิงชาวสุพรรณ มุ่งมั่นมาขอหวย หลวงพ่อจึงไม่ตามใจ เพราะเห็นแก่ศรัทธาความนับถือของเขา ที่จริงถ้าหลวงพ่อจะรับสมอ้าง นิ่งอึ้งเสียก็ได้ ทำกิริยาอาการอย่างไรก็ได้ ให้หญิงทั้งสองตีใบ้ หรืออ่านลายแทงเอาเองก็ได้ เหมือนที่พระอาจารย์บางท่านทำกันอยู่ แต่หลวงพ่อไม่ได้ทำเช่นนั้น มิหนำซ้ำยังบอกตรง ๆ ว่า "ไม่รู้จักกับขุนบาล"
"ถ้าฉันรู้ว่าหวยออกอะไร ฉันก็บอกให้เด็กไปแทงเอาเงินมาสร้างวัดไม่ดีกว่าหรือ"
คำพูดอย่างนี้ เป็นคำพูดของคนที่มีจิตใจซื่อตรง รักษาสัตย์ รักษาธรรม ไม่มีการพูดอ้อมค้อมวกวนอะไรเลย หลวงพ่อไม่มีกลอุบายลวงใจคนให้เลื่อมใส
มิหนำซ้ำยังสอนเสียด้วยว่า "การคิดเล่นหวยแทงหวยนี่ มันเรื่องของคนตาบอด เรื่องของคนโง่"
บอกเสียด้วยว่า
"เงินไม่ใช่ของเล่น"
"ถึงจะถูกหวยรวยเงิน เงินมันก็ไม่อยู่กับเรานานหรอก สู้ทำบุญทำกุศล (คือทำดี) ดีกว่า"
นี่คือความสัตย์ความจริงของหลวงพ่อเงินไม่มีลับลมคมใน ไม่มีไว้ชั้นเชิง ไม่มีเล่ห์เหลี่ยม ไม่มีกลมารยา ไม่หลอกลวงคนโง่เขลา เมื่อเห็นว่าเขาโง่ ก็พูดก็บอกให้รู้ อย่างตรงไปตรงมา ไม่กลัวโกรธ ไม่กลัวว่าจะไม่มีคนนับถือ เพราะไม่แสวงหาชื่อ ไม่แสวงหาลาภ ไม่แสวงหาศิษย์ แต่ก็แปลกที่มีคนนับถือมากขึ้นตามวัน เดือน ปีที่ผ่านไป นี่ละกระมังที่สุภาษิตฝรั่ง เขาก็บอกว่า
"ความซื่อสัตย์เป็นอุบายที่ดีที่สุด"
มีเรื่องอีกเรื่องหนึ่ง สมควรจะนำมาเล่าไว้ประกอบเรื่อง ในการศึกษาพิจารณาวินิจฉัยประวัติของหลวงพ่อเงิน ว่าหลวงพ่อเงินมีดีอะไรนักหนา
ครั้งหนึ่ง นายฮะ คนจีนในตำบลบ้านดอนยายหอม ซึ่งมีนิสัยเหมือนคนจีนทั้งหลาย ทั้งปวง คือแสวงหาทรัพย์ ไม่ว่าทรัพย์ที่ได้มานั้นจะได้มาแล้วทำให้คนอื่นเดือดร้อนอย่างไรก็ไม่คำนึงถึง คือเขาได้ยื่นคำร้องขอตั้งโรงยาฝิ่นขึ้นในตำบลดอนยายหอม ตามระเบียบของทางราชการไทยในสมัยนั้น ที่อนุญาตให้มีคนประมูลตั้งโรงยาฝิ่นจำหน่ายฝิ่นได้ เพื่อเอาเงินภาษีเข้าท้องพระคลังมหาสมบัติ แม้จะทำให้ราษฎรไทยต้องฉิบหายขายตัวล่มจมก็เป็นเรื่องของสัตว์ผู้โง่เขลาต่างหาก
เมื่อมีคนมาพูดเล่าให้หลวงพ่อเงินทราบ แทนที่จะคิดว่า เรื่องของโยมไม่ใช่กิจของสงฆ์ แทนที่จะวางอุเบกขาญาณอยู่แต่ในวัด หลวงพ่อเงินซึ่งเป็นลูกชายชาวบ้านธรรมดาการศึกษาก็ไม่สูงส่งอะไร กลับคิดไม่เหมือนคนอื่นหรือคิดไม่เหมือนรัฐบาลสมัยนั้น
หลวงพ่อเงินเริ่มพูดปรารภกับคนที่ไปมาหาสู่ท่านว่า
"ฉันใจไม่ดีเสียแล้ว"
"หลวงพ่อใจไม่ดีเรื่องอะไรล่ะครับ ?"
"ฉันได้ข่าวว่าไฟบรรลัยกัลป์ กำลังก่อขึ้นกลางหมู่บ้านของเรา ฉันกลัวว่ามันจะเผาผลาญทรัพย์สิน บ้านเรือน ไร่นา วัวควาย ของพี่น้องชาวบ้านนี้วอดวายไปหมด ไฟพรรค์นี้มันร้ายแรงนัก มันเผาทั้งเงินทอง บ้านช่อง แม้กระทั่งวัวควายไร่นาทีเดียว ต่อไปพวกเราก็จะพากันลำบากยากจนไร้ที่อยู่อาศัย ไร้ที่ทำมาหากิน ลูกเล็กเด็กแดงก็จะพลอยรับบาปไปด้วย มันช่างน่ากลัวเสียเหลือเกิน"
หลวงพ่อพรรณนา ให้เห็นภาพพจน์
ผู้เฒ่าผู้แก่ฟังปริศนาของหลวงพ่อไม่ออก ก็ถามว่า
"หลวงพ่อรู้มาจากไหน ?"
หลวงพ่อย้อนถามว่า
"โยมอยู่บ้านยังไม่รู้อีกหรือนี่ ฉันอยู่วัดนี่ยังรู้เลย ไฟบรรลัยกัลป์ก็คือโรงยาฝิ่นของเจ๊กฮะมันยังไงล่ะ !" หลวงพ่อบอก
"เอาเถอะถ้ามันหลอกให้ชาวบ้านนี้สูบฝิ่นได้ ขืนไปมาหาสู่มัน มันก็จะนั่งหัวเราะ ว่ามันฉลาดกว่าคนบ้านนี้เมืองนี้ หนักเข้าคนทั้งตำบลก็ต้องตกเป็นขี้ข้ามัน เพราะฝิ่นมันกินจนหมดเนื้อหมดตัว"
ใครไปใครมาหลวงพ่อก็พูดอย่างนี้ ถึงแม้จะไม่ได้พูดซ้ำถ้อยคำ ซ้ำประโยคกัน ก็พูดทำนองเดียวกันนี้ หลวงพ่อเปรียบโรงยาฝิ่นของเจ๊กฮะ ว่า
-ไฟบรรลัยกัลป์ ไหม้วอดวาย
-ไฟนรก ไหม้ทุกข์ทรมาน
-ไฟสุมขอน ไหม้ไม่รู้จักดับ
-ไฟเย็น ไหม้อย่างไม่รู้ตัว
จนเป็นที่รู้ทั่วกันไปทั่วทั้งตำบลว่า โรงยาฝิ่น เป็นสถานที่เลวร้าย เป็นสถานที่บาปกรรม ไม่ควรเข้าใกล้เป็นอันขาด ใครเข้าไปก็เป็นคนโง่ ใครเข้าไปก็ไม่ใช่คนไทย ใครเข้าไปก็ไม่ใช่ลูกศิษย์หลวงพ่อเงิน มีความหมายว่าอย่างนั้น ถึงแม้ว่าท่านจะไม่เคยพูดอย่างนั้นเลยสักคำ คนก็เข้าใจกันอย่างนั้น ด้วยคำของคนชาวดอนยายหอมพูดจาเล่าขานกันต่อ ๆ ไป
เมื่อโรงยาฝิ่นของเจ็กฮะมาตั้งขึ้นแล้ว ก็ปรากฏว่าไม่มีใครในตำบลดอนยายหอมย่างกรายเข้าไปในโรงยาฝิ่นเลย หนักเข้าเมื่อจำหน่ายยาฝิ่นไม่ได้ โรงยาฝิ่นของเจ๊กฮะก็ต้องเลิกไปเอง
นี่คือบุญฤทธิ์ของหลวงพ่อเงิน นี่คือบารมีของหลวงพ่อเงิน นี่คือประกาสิตของหลวงพ่อเงินแห่งวัดดอนยายหอม
เรื่องลักเล็กขโมยน้อยในตำบลดอนยายหอมจึงไม่มี กิตติศัพท์หลวงพ่อเงิน จึงมีคนพูดโด่งดังไปถึงหูนายอำเภอ และหูเจ้าเมืองนครปฐม
หลวงพ่อช่วยปราบโจร
เมื่อปี พ.ศ.2479 ชาวตำบลดอนยายหอม ยังจำกันได้ดีว่าเมื่อยามทุกข์เดือดร้อนไร้ที่พึ่งนั้น หลวงพ่อเงินนี้แหละ คือที่พึ่ง หลวงพ่อเงินเป็นมิ่งขวัญให้หายหวาดหวั่น พรั่นพรึง ภัยอันตรายที่จะเกิดขึ้นแก่ชีวิตและร่างกายของพวกเขา
ฤดูหน้าเกี่ยวข้าวปีนั้น ขณะที่ชาวนาตำบลดอนยายหอมกำลังลงแขกเกี่ยวข้าวอยู่ในนาก็ถูกโจรหมู่หนึ่งคุมพวกเข้าปล้นกลางทุ่งนา จับเอาชาวนาไป 7-8 คน คุมตัวเข้าป่า หายไป คือ นางปาน นางแปลก น.ศ.ลำเจียก น.ส.ผ่อง น.ส.ละออง น.ส.เพียร น.ส.ทองดี พวกปล้นอ้างตัวว่า เป็นเสือจากลุ่มแม่น้ำแม่กลอง คือ เสือพาน เสือฟุ้ง เสือเจียน เสือหยด เมื่อปล้นจับตัวชาวนา 7 คนได้ ก็พาไปทางหลัก 6 อำเภอดำเนินสะดวก ปล่อยตัวนางแปลกกลับบ้านคนเดียว สั่งให้หาเงินไปไถ่ตัวในวันรุ่งขึ้น ถ้าผิดนัดจะฆ่าให้ตายทั้งหมด ค่าไถ่ตัวคนละ 50 บาท สมัยนั้นข้าวเปลือกราคาถังละ 3 บาท เกวียนหนึ่งก็ไม่เกิน 30 บาท เงิน 50 บาท ก็นับว่ามีค่ามากโขอยู่ คือต้องขายข้าวเปลือกประมาณ 2 เกวียน ครั้งนั้นชาวบ้านที่ถูกโจรจับเอาลูกเมียไปเป็นตัวประกันเรียกค่าไถ่ ต้องหาเงินไปไถ่ตัวคืนมาได้ทุกคน โดยมอบให้นางแปลกนำเงินไปไถ่อีก
ทราบข่าวถึงหลวงธานินทร์ปฐมรัฐ (เพิ่ม สงขกุล) นายอำเภอ เมืองนครปฐม ร.ต.อ.แปลก ผจญทรพรรค ร.ต.อ.หลวงฤทธิสรไกร ร.ต.ท.พลอย ประทุม และ ขุนเชาว์ปรีชาศึกษากร ธรรมการอำเภอเมืองนครปฐม ผู้รักการผจญภัยชอบปราบโจรสมัยนั้น จึงได้วางแผนยกกำลังออกต่อสู้โจรคณะนี้ ไปดักคอยโจรอยู่ เมื่อโจรยกพวกมาปล้น จึงได้เกิดการต่อสู้กัน ยิงกันสนั่นทุ่งดอนยายหอม ร.ต.อ.หมื่นผจญทรพรรค ถูกโจรยิงบาดเจ็บ ต้องส่งไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลโดยด่วย ขุนเชาวน์ปรีชาศึกษากร ได้ประกาศแก่ชาวตำบลดอนยายหอมว่า ใครมีปืนผาหน้าไม้ ก็ให้เอามาช่วยกันต่อสู้โจร ชาวตำบลดอนยายหอมที่เป็นชายฉกรรจ์หลาบสิบคน ก็คว้าปืนผาหน้าไม้ หอกดาบเท่าที่มีอยู่ พากันออกสู้รบกับโจรทั้งหมู่บ้าน
แต่ก่อนที่ชาวบ้านจะออกไปรบกับโจรคราวนี้ ได้พากันเดินเรียงแถวไปให้หลวงพ่อประพรมน้ำพระพุทธมนต์ให้เสียก่อน จึงได้มีกำลังใจกล้าหาญมีขวัญดี ออกยิงสู้รบกับพวกโจรได้ จนพวกโจรคณะนั้นแตกหนีไป และไม่กล้ามารบกวนอีก เหตุการณ์ครั้งนี้ก็เหมือนกับ พระอาจารย์ธรรมโชติ อยู่เบื้องหลังชาวบ้านบางระจันครั้งกระโน้น ใครจะพูดว่า พระอาจารย์ชื่อดังทางพระเครื่องรางของขลังไม่ดีอย่างไร ก็ลองไปเป็นชาวบ้านบางระจัน หรืออย่างน้อยก็ชาวบ้านดอนยายหอมก็แล้วกัน ว่าในยามทุกข์เดือดร้อน ไร้ที่พึ่ง มีภัยอันตรายถึงชีวิตลูกเมียนั้น ใครจะเป็นที่พึ่งได้ พระพุทธเจ้าหรือ พระธรรมเจ้าหรือ เทวดาหรือ มันมองไม่เห็นตัว ไม่อุ่นอกอุ่นใจเหมือนได้เห็นหน้าหลวงพ่อที่เคารพนับถือ อย่างหลวงพ่อเงินนี้หรอก คนที่ปากดี อวดเก่ง อวดกล้า ไม่กลัวตายนั้น ก็ร่ายรำอยู่นอกม่านยามที่ยังไม่เห็นเงาของพญามัจจุราชทั้งนั้นแหละ แต่คนที่ไม่กลัวพญามัจจุราช ไม่กลัวความตายก็มีแต่ พระอาจารย์อย่างหลวงพ่อเงินนี้แหละ เป็นที่อุ่นใจเป็นที่พึ่งได้จริง ชาวดอนยายหอมรู้กันอย่างนี้ เมื่อแลเห็นหน้าหลวงพ่อเงิน ซึ่งเขาก็อธิบายไม่ได้ว่าเป็นเพราะอะไร
ครั้งนั้นชาวบ้านช่วยกันกับเจ้าหน้าที่ของบ้านเมืองยิงโจรตายไปคนหนึ่ง แต่ชาวบ้านปลอดภัยทุกคน
สร้างโบสถ์คอนกรีตราคาล้าน
มีบางคนพูดเล่น ๆ ถึงสมภารเจ้าวัดว่า สมภารเจ้าวัดมีอยู่ 2 ประเภท ประเภทหนึ่ง "สมภารอาศัยวัด" ประเภทหนึ่ง "วัดอาศัยสมภาร" ความหมายก็คงจะเป็นที่เข้าใจกันดีในหมู่ชาวบ้าน
บางคนก็มีวาจาคารม ไปอีกอย่างหนึ่งว่า สมภารมี 5 ประเภท คือ หนึ่งสมภารเสริม สองสมภารสร้าง สามสมภารเสก สี่สมภารสวด ห้าสมภารไสย
อธิบายความว่า สมภารประเภทหนึ่งนั้นซ่อมแซมบูรณะปฏสังขรณ์ บางองค์ชอบสร้างสิ่งใหม่ ๆ ขึ้นทั้งหมด โบสถ์ วิหาร ศาลาการเปรียญ กุฏิ เมรุเผาผี โรงเรียนปริยัติธรรม หอไตรหอระฆัง รวมทั้งคิดสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ขึ้นมากมาย ตัวอย่างก็เห็นมีอยู่ที่วัดไผ่โรงวัว ของหลวงพ่อขอม แห่งอำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี ใครไปชมวัดนี้ก็ต้องยกมือขึ้นวันทาสาธุว่า หลวงพ่อขอมนี้คือสมภารสร้างโดยแท้จริง สมภารอีกประเภทหนึ่งนั้นเก่งทางสมถะภาวนา นิยมไปทางปลุกเสกเครื่องรางของขลัง โด่งดังมีชื่อเสียงไปอีกทางหนึ่ง สมภารอีกประเภทหนึ่งนั้น เก่งทางเทศน์มหาชาติ มหาพรหม ว่าแหล่เทศน์ได้เสนาะโสตดีนัก สมภารประเภทนี้สมัยก่อนมีมากเหมือนกัน แต่สมัยหลังนี้หาได้น้อยเต็มที น่าเสียดายอยู่เหมือนกัน อันที่จริงเป็นวัฒนธรรมทางพระพุทธศาสนาเราอย่างหนึ่ง ควรจะรักษาไว้ ไม่น่าเกลียดน่าชังอะไร เพราะเป็นประเพณีของไทยเราแต่โบราณกาลมา เล่านิทานธรรมดา ฟังมันจืดหูนัก ก็ต้องแต่งเป็นกลอน ขับร้องเป็นเพลงเสภาจึงจะสนุกหู ถึงใจคน การเทศน์ธรรมดาก็เหมือนกันมันจืดชืดนัก จึงต้องว่าเป็นทำนองเสนาะ เปลี่ยนทำนองเปลี่ยนลีลาไปตามท้องเรื่อง เช่นการเทศน์แหล่มหาชาติ เป็นต้น สมภารอีกประเภทหนึ่งนั้นคือสมภารไสย อันนี้ก็ไม่แน่ใจว่า หมายถึงเก่งทางไสยศาสตร์ หรือเก่งทางไสยาสน์ แน่ ก็เอาเป็นว่ามีสมภารอยู่ 5 ประเภทดังว่ามานี้
อันที่จริงการเป็นสมภารเจ้าวัดนี้ ก็เปรียบเหมือนพ่อบ้านแม่เรือนต้องแบกภาระไว้จึงเรียกว่า "สมภาร" แปลความว่ามีภาระอยู่เสมอ ไม่หยุดหย่อน ไม่เว้นว่าง ต้องปกครองลูกวัดต้องบำรุงรักษาวัด ต้องเกี่ยวข้องกับชาวบ้าน นิมนต์ไปทำกิจทั้งงานขึ้นบ้านใหม่ แต่งงานจนกระทั่งสวดศพ เรียกว่าต้องเกี่ยวข้องกับชาวบ้านตั้งแต่เกิดจนตายทีเดียว
โดยเฉพาะงานการบูรณะปฏิสังขรณ์ หรือการก่อสร้างนั้น ดูเหมือนจะหลีกเลี่ยงไม่ได้พ้นไปได้เลยจริงๆ ถ้าทอดทิ้งวัดวาอารามทรุดโทรมไป เขาก็พูดว่า ยุคสมัยนี้วัดทรุดโทรมไปเพราะสมภารเจ้าวัดไม่เก่ง หรือไม่เอาธุระในการบริหารวัด แต่ถ้าหากว่าสมภารเจ้าวัด องค์ใดมุ่งทางการก่อสร้างมากไป โดยทำการเรี่ยไรชาวบ้านให้เดือดร้อน คนก็จะนินทาว่าร้ายเอาอีกเหมือนกัน สมภารเจ้าวัดที่ดีมีคนนิยมนับถือ จึงต้องเดินสายกลาง คือ การก่อสร้างโดยไม่เรี่ยไรให้ชาวบ้านเดือดร้อน สมภารองค์ใดจะเดินสายกลางนี้ได้เพียงใดนั้น เราก็ทราบๆ กันอยู่ทั่วไป
แต่หลวงพ่อเงินนั้น ท่านเดินสายกลางได้อย่างดี คือ ท่านทำการก่อสร้างได้เรื่อยมาแต่ก็ไม่ปรากฏว่าท่านทำการเรี่ยไรบอกบุญใครเลยไม่เคยออกฎีกาบอกบุญชาวบ้าน ไม่เคยแม้แต่จะออกปากขอให้ใครบริจาคเงินสร้างอะไรเลย แต่ก็น่าแปลกที่มีคนออกเงินให้ท่านทำการก่อสร้างได้มาตลอด ไม่เคยขาดสายเลย และที่สำคัญที่สุดก็คือ ท่านไม่เคยแตะต้องเงิน ไม่เคยเก็บเงินเองเลย ท่านรู้แต่จำนวนเงินที่มีอยู่ รู้แต่จำนวนค่าใช้จ่าย การเก็บเงิน การจ่ายเงิน การจัดซื้อการจัดจ้าง เป็นหน้าที่ของผู้อื่นทั้งสิ้น หลวงพ่อเงินจึงไม่มี ราคี มัวหมองด้วยเงินเลย ทั้ง ๆ ที่ท่านชื่อเงิน นี่คือเรื่องแปลกประหลาดมาก
เมื่อ พ.ศ.2480 หลวงพ่อเงินได้เริ่มงานก่อสร้างอุโบสถ เป็นตึกคอนกรีต ราคาค่าก่อสร้างเป็นเงินถึง 1 ล้านบาทเศษ สมัยเงินแพง ถ้าคิดถึงค่าเงินในปัจจุบันนี้ (พ.ศ.2529) ก็คงตกราว 100 ล้านบาท
ในการก่อสร้างนี้ ชาวบ้านที่มีเงินก็บริจาคเงินตามกำลังฐานะ และกำลังศรัทธาของตน แต่ดูเหมือนว่าจะออกเงินบริจาคกันทุกคนทุกบ้านเรือน ด้วยความเต็มใจศรัทธา อยากจะทำบุญกับหลวงพ่อ อยากจะหว่านพืชลงในนาดีอย่างหลวงพ่อ ถึงแก่คิดกับพูดกันว่า "ใครไม่ได้ทำบุญ กับหลวงพ่อในการสร้างโบสถ์ครั้งนี้แล้ว ก็จะเสียใจไปจนตายที่ได้ร่วมบุญร่วมกุศล เป็นญาติ กับหลวงพ่อ" เงินทองจึงได้มาเรื่อยๆ ไม่ขาดสาย ออกเงินแล้วก็ไม่พอยังออกแรงไปช่วยกัน ขุดอิฐจากเจดีย์เก่าที่เนินพระ ซึ่งอยู่ห่างวัดไปประมาณ 10 เส้นเศษ ได้ขุดจากบริเวณที่ห่างจากตัวเจดีย์ เพื่อจะเอาอิฐมาถมพื้นฐานสร้างโบสถ์ ในการขุดครั้งนี้ได้พบพระพุทธรูปเนื้อโลหะ ปางปฐมเทศนาสูงประมาณศอกเศษ รูปทรงสวยงามหาที่ตำหนิมิได้ พบรูปกวางหมอบเหลียวหลัง สร้างด้วยหินสีเขียว พบสิ่งแกะสลักเป็นรูปกนกลายไทย พบรูปเสมาธรรมจักร พบพระพิมพ์ขนาดใหญ่แปดเหลี่ยม เนื้อหินสีเขียวตัวเสมาสลักลวดลายสวยงาม ชาวบ้านมีความหวาดเกรงในการขุดซากวัดเก่าแก่เช่นนั้น หลวงพ่อจึงถือโอกาสอธิบายให้ชาวบ้านฟังว่า
"รูปกวางหมอบและเสมาธรรมจักรนี้ เกิดขึ้นภายหลังที่พระพุทธเจ้านิพพานแล้ว ชาวอินเดียแคว้นคันธารราษฎร์ ได้สร้างขึ้นเป็นที่เคารพแทนองค์พระพุทธเจ้า เมื่อตรัสรู้ได้เทศนาสั่งสอนปัญจวัคคีย์ ทั้ง 5 คือ โกณฑัญญะ วัปปะ มหานามะ ภัททิยะ อัสสชิ เมื่อวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 ก่อนพระพุทธศักราช 45 ปี ที่ตำบลมฤคทายวัน เมืองพาราณสี บัดนี้เรียกว่าตำบลสารนาท การเทศนาครั้งแรกของพระพุทธเจ้าครั้งนั้นเรียกว่า แสดงพระธรรมจักกัปปวัตนสูตร แปลว่า พระธรรมได้หมุนไปในโลกเหมือนล้อเกวียน หรือล้อรถพระธรรมจักรหมายถึงการแสดงพระธรรมเทศนาครั้งแรกนั้นคือวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 เรียกว่าวัน พระธรรม"
นี่คือตัวอย่างการเทศนาอย่างง่าย ๆ ปราศจากพิธีรีตอง ถูกต้องกับกาลเทศะ ของหลวงพ่อเงิน หลวงพ่อกล่าวต่อไปว่า
"เมื่อพระพุทธศาสนาเผยแผ่มาสู่เมืองไทย ก็ได้มาตั้งมั่นอยู่ที่เมืองนครปฐม ตั้งแต่พระปฐมเจดีย์ลงมายังตำบลดอนยายหอม ด้วยตั้งแต่ครั้งกระโน้นเป็นเมืองชายทะเลเมืองนครปฐมเป็นเมืองอิสระเมืองหนึ่ง มีเจ้าปกครอง จึงมีการสร้างพระเจดีย์ สร้างพระธรรมจักรสร้างพระพุทธรูปขึ้น
ตามตำนานกล่าวไว้ว่า ครั้งพญากง ครองเมืองนครปฐม มีบุตรชื่อพญาพาน เมื่อเกิดมาโหรทำนายว่าจะฆ่าพ่อ พญากงจึงลอยแพไปตามลำแม่น้ำ ไปติดอยู่ที่หน้าบ้านของยายหอม ที่ตำบลนี้ยายหอมจึงเลี้ยงไว้ เติบโตขึ้นได้เรียนวิชามีความรู้ ได้เป็นทหารเมืองราชบุรี ได้ยกทัพมาตีเมืองนครปฐม ฆ่าพญากงตาย แล้วเข้าหามารดาคือมเหสีพญากง จะเอาทำภรรยา มารดาจำตำหนิได้จึงร้องบอก พญาพานไม่เชื่อ ไปสอบถามยายหอม ยายหอมก็บอกความจริงให้ฟัง พญาพานโกรธที่ยายหอมปิดบังไว้ จนต้องทำบาปฆ่าบิดาตาย โมโหหน้ามืดขึ้นมาจึงฆ่ายายหอมตายไปอีกคนหนึ่ง ภายหลังพญาพานได้พบพระอรหันต์ที่เข้ามาเผยแพร่พระพุทธศาสนา ได้สารภาพบาปที่ฆ่าบิดา และฆ่าแม่เลี้ยงตาย พระอรหันต์แนะนำให้สร้างพระเจดีย์สูงเท่านกเขาเหิน เพื่อล้างบาปกรรม เมื่อเจดีย์ราบลงเป็นหน้ากลองเมื่อใด พญาพานก็จะสิ้นเวรกรรม พญาพานจึงให้สร้างเจดีย์ไว้ 2 แห่ง แห่งหนึ่งที่เมืองนครปฐม เพื่อเป็นที่ระลึกและทดแทนคุณบิดา องค์หนึ่งสร้างที่ดอนยายหอม เพื่อระลึกถึงและทดแทนคุณยายหอม แล้วสร้างถนนจากนครปฐมไปสู่ตำบลดอนยายหอมด้วยเจดีย์ทั้ง 2 องค์ และยังมีอยู่จนทุกวันนี้ บ้านดอนยายหอมนี้เคยเป็นบ้าน เป็นเมือง มีวัดวาอารามเจริญรุ่งเรืองมาก่อน"
คำเทศนาของหลวงพ่อเงินนี้ ทำให้ชาวบ้านชาวตำบลดอนยายหอมปลื้มเปรม อิ่มอกอิ่มใจเพราะตรงกับตำนานที่ผู้เฒ่าผู้แก่เล่ากันสืบ ๆ มา แล้วหลวงพ่อเงินก็มาเล่าซ้ำให้แลเห็นจริงจัง มีพยานหลักฐานยืนยัน คือเป็นพระเจดีย์ พระพุทธรูป เสมาธรรมจักร และกวางหมอบเป็นสักขีพยานอยู่ ไม่ใช่นิทานที่เล่าลือกันอย่างเลื่อนลอย หลวงพ่อได้ให้ชาวบ้านขนเอาพระพุทธรูปเสมาธรรมจักร และกวางหมอบ มาไว้ที่วัดดอนยายหอม อิฐก็ขนเอามาสร้างอุโบสถคราวนั้นด้วย
หลวงพ่อทำการก่อสร้างโบสถ์หลังใหม่มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2480 สร้างเรื่อย ๆ มาตามกำลังเงิน กำลังแรง และกำลังศรัทธาของชาวบ้าน จนถึงปี พ.ศ.2492 ถึงสำเร็จเรียบร้อยใช้เวลาสร้างถึง 12 ปีเต็ม จึงได้กำหนดให้มีงานผูกพัทธสีมา ปิดทองลูกนิมิตขึ้นเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2492 ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ในงานนี้ผู้เขียนได้มีบุญไปปิดทองลูกนิมิตในงานนี้ด้วย ผู้คนหลามไหลเนืองแน่นเหมือนน้ำไหลบ่าในฤดูน้ำหลาก บุคคลสำคัญที่เป็นประธานจัดงานครั้งนี้คือ พันเอกช่วง เชวงศักดิ์สงคราม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในสมัยนั้น ท่านรัฐมนตรีผู้นี้นอกจากเป็นประธานในงานฝังลูกนิมิตวัดดอนยายหอมนี้แล้ว ยังได้สร้างพระประธาน ในอุโบสถวัดทัพหลวง ตำบลปีนเกลียวอีกวัดหนึ่ง เพราะท่านชอบคำว่า "ทัพหลวง"
ในงานฝังลูกนิมิตวัดดอนยายหอมนี้ หลวงพ่อเงินได้สร้างพระพุทธรูปองค์น้อย ขนาด 1 ซม. ขึ้นแจกเป็นที่ระลึกแก่ผู้ไปทำบุญด้วย หล่อด้วยทองเหลืองรูป 4 เหลี่ยมผืนผ้า พระพุทธรูปนั่งขัดสมาธิอยู่ในเรือนแก้ว หมายถึงพระพุทธเจ้าเสด็จอยู่ในพระนิพพานเมืองแก้ว นับเป็นพระพุทธรูป หรือพระเครื่องรุ่นที่ 4 ที่หลวงพ่อสร้างขึ้น สร้างจากเศษทองเหลืองที่ชาวบ้านนำเอาขันทองเหลือง พานทองเหลือง เอามาถวายหลวงพ่อให้สร้างพระประธานในอุโบสถ เหลือเศษก็เอามาหล่อเป็นพระเครื่องรุ่นนี้ พระเครื่องรุ่นนี้จึงมีผู้นิยมกันมาก เพราะสร้างด้วยวัตถุทานอันบริสุทธิ์ด้วยเจตนาอันบริสุทธิ์ และพิธีกรรมอันบริสุทธิ์ ผู้สร้างก็มีศีลบริสุทธิ์ ผู้ร่วมสร้างก็มีศีลอันบริสุทธิ์ หลวงพ่อได้ควบคุมการหล่อเอง และทำพิธีพุทธาภิเสกในอุโบสถวัดดอนยายหอมนั้นด้วย
พระเครื่องรุ่นนี้มีจำนวนน้อย ผู้เขียนก็ได้รับแจกมาองค์หนึ่ ยังเก็บไว้เป็นที่ระลึกจนกระทั่งบัดนี้ เป็นเวลา 36 ปีแล้ว
พระเครื่องรุ่นนี้เป็นที่นิยมแสวงหากันมากจนกระทั่งบัดนี้มีผู้ทำปลอมขึ้นจำหน่ายในตลาดพระเครื่อง แต่ผู้ชำนาญย่อมดูออกว่า พระแท้ หรือพระปลอมที่มีคนทำพระเครื่องรุ่นนี้ปลอม ก็เหมือนพิมพ์แบงค์ปลอมนั่นแหละ คือเขาเห็นว่ามีค่า มีคนต้องการมาก เขาจึงทำปลอมขึ้นเพื่อจำหน่ายเอาเงิน เป็นพุทธพานิชชนิดปลอมแปลงสินค้า ถ้าหากไม่มีค่า ไม่มีคนต้องการ เขาก็คงไม่ทำปลอมขึ้นจำหน่าย
เรื่องของหลวงพ่อเงินจะมีเรื่องเกี่ยวกับพระเครื่องหรืออภินิหารหรือประสบการณ์เกี่ยวกับพระเครื่องอะไรทำนองนี้เข้ามาเกี่ยวข้อง ถ้าท่านใดไม่สนใจก็ไม่จำเป็นต้องรับมาพิจารณาก็ได้นะครับ หรือถ้าผู้ดูแลเห็นว่าเรื่องนี้ไม่เหมาะสมก็แจ้งเตือนมาได้ แล้วผมจะข้ามไปโดยยกมาแต่เนื้อหาที่ดีๆครับ
อ่านเรื่องราวของท่านแล้วจะทำให้เข้าใจชีวิตความเป็นอยู่ของพระได้ดีและละเอียดมากขึ้น ดังนั้นเวลาเจอพระท่านทำอะไรซึ่งบางท่านอาจจะไม่ชอบใจก็อย่าพึ่งด่วนตัดสินว่าไม่ดีไปซะก่อนนะครับบางทีท่านอาจจะมีเหตุผลก็ได้ครับ
ปล.คือบางเรื่องถ้าเรามองผิวเผินจะนึกว่าพระบางท่านทำผิดพระธรรมวินัย แต่ถ้าศึกษาให้ละเอียดเจาะลึกลงไปบางอย่างก็มีข้อยกเว้นและต้องดูที่เจตนา ซึ่งเมื่อพิจารณาตรงนั้นแล้วก็จะเห็นว่าจริงๆแล้วท่านก็ไม่ได้ทำผิดพระธรรมวินัยแต่อย่างใดท่านยังเคร่งครัดในพระธรรมวินัยอยู่ครับ
(แต่ถ้าเป็นโดยส่วนตัวแล้ว ผมจะค่อนข้างศรัทธาพระในสายของหลวงปู่มั่นมาก เพราะลูกศิษย์ของท่านส่วนใหญ่เคร่งครัดในพระธรรมวินัยและเป็นพระที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบจริงๆ แต่เรื่องราวของท่านใดที่มีเนื้อหาหรือแง่มุมที่น่าสนใจผมก็จะพยายามนำมาลงเสนอเพื่อให้ทุกท่านได้ทราบเรื่องราวที่ดีมีประโยชน์ ดังเช่นที่ผมได้พบเห็นมาเช่นกันครับ)
พรหมวิหารธรรม
พรหมวิหารธรรม แปลว่าสถานที่อาศัยสิ่งสถิตของพระพรหม มีลักษณะ 4 ประการ คือ
1.เมตตา รักใคร่อยากให้เขาเป็นสุข
2.กรุณา สงสาร อยากให้เขาพ้นทุกข์
3.มุทิตา ยินดีด้วย เมื่อเขาได้ดีมีสุข
4.อุเบกขา วางใจเป็นกลางได้ ในคนจนคนมี คนดีคนชั่ว มิตรและศัตรู เหมือนพระพุทธเจ้าวางใจเป็นกลางได้ในระหว่างพระราหุล โอรส กับพระเทวทัต ผู้คิดประทุษร้าย และช้างนาฬาคีรีที่วิ่งมาจะแทงพระองค์
ผู้ใดมีคุณลักษณะทั้ง 4 ประการนี้ อยู่ในจิตใจ หัวใจของท่านผู้นั้นก็จะเป็นวิหารธรรมที่มาสถิตอยู่อาศัยของพระพรหม (คำย่อว่า เม, กะ, มุ, อุ) และมีคาถาว่า นะ เมตตา, โม กรุณา, พุท มุทิตา, ธา อุเบกขา, ยะไมตรี ฯ เป็นคาถาเมตตามหานิยม
น้ำใจของหลวงพ่อเงินนั้น ผู้ใกล้ชิดก็จะแลเห็นได้ว่า เป็นที่สถิตของพระพรหม ได้จริงๆ เพราะหลวงพ่อมีน้ำใจเป็นพรหมวิหารจริง ๆ
วงศ์ญาติของหลวงพ่อ กับลูกศิษย์และคนอื่นไกลที่ไปหา หลวงพ่อมีน้ำใจต่อคนเหล่านั้นเสมอเหมือนกัน น้ำใจอันกว้างขวางดุจน้ำใจของพระพรหม แผ่ไปในคนทั้งหลายทั่วหน้า แม้แต่สัตว์เดรัจฉาน หลวงพ่อเป็นพระที่มีเมตตาบารมีสูงมาก
"ฉันสอนคนไหน ก็สอนด้วยความเมตตา ฉันแผ่เมตตาแก่ทุกคน เจตนาดีต่อเขาอย่างแรงกล้า จนเป็นเมตตานุภาพ น้อมจิตของเขาให้มีแต่ความภักดี เกิดความเชื่อถือ จิตของเขาก็อ่อนโยนลง เราจะบังคับจิตของเขาให้ไปทางไหนก็ได้ เรื่องอำนาจจิตนี้ ฉันฝึกฝนมาแรมปี พอจะน้อมใจคนให้อ่อนลงได้"
"คนใดฉันสอนไม่ได้ แสดงว่าคนนั้นมีกรรมหนัก ไม่สามารถช่วยได้ จัดอยู่ในจำพวกที่เรียกว่า "เรียกไม่ลุกปลุกไม่ตื่น" ต้องปล่อยไปตามกรรม"
เรื่องแผ่เมตตานี้ หลวงพ่อพูดอยู่เสมอแม้แต่คนขนาดอ้ายเสือ หรือโจรหลวงพ่อก็บอกว่า
"ก่อนนอนให้แผ่เมตตาไว้ โจรผู้ร้ายมันก็สงสารเรา มันปล้นฆ่าเราไม่ลงหรอก"
"โจรจะปลื้นจะฆ่าเรา เราก็ว่า น่าสงสารจริงเจ้าโจรเอ๋ย ช่างโง่งมงาย ไม่รู้จักบาปกรรม"
"ถ้าพบนักเลงอันธพาล เพ่งมองเราอย่างไม่พอใจ แทนที่จะมองตอบด้วยสายตากล้าแข็ง คิดโกรธ คิดร้ายตอบ เราก็นึกสงสารเขา คิดว่าเขาเป็นมิตรเรา เขาคงจะเข้าใจผิดต่อเราจิตใจอันกล้าแข็งของเขาก็จะอ่อนลง คลายความดุดันโหดเหี้ยมลงได้"
เรื่องนี้ผู้เขียนเชื่อว่าจริง และการที่เราไม่คิดต่อสู้ หรือคิดประทุษร้ายตอบเขานั้น เขาย่อมพ่ายแพ้ภัยตัวเอง เขาย่อมได้รับโทษรับภัยเอง
ผู้เขียนจำได้ว่า วันหนึ่งถูกนักเลงอันธพาลวัยรุ่นคนหนึ่งเขม่น เข้ามายืนเทียบอยู่สักพักใหญ่ แล้วพูดว่า "อ้ายหยั่งงี้ มันต้องเอาให้หัวแตก" แต่ข้าพเจ้าทำไม่รู้ไม่ชี้ ไม่หันไปมองเลย เขาก็ไม่รู้จะหาเรื่องอย่างไร จึงเดินจากไป ต่อมาไม่กี่วัน เขาคนนั้นก็ถูกตำรวจจับในข้อหาก่อคดีวิวาทและดูเหมือนไปตายเสียในคุก
ประจักษ์พยานในเรื่องเมตตาพรหมวิหารของหลวงพ่อเงิน มีอยู่หลายเรื่อง จะขอนำมาเล่าสัก 2-3 เรื่อง ดังต่อไปนี้ |