เว็บลิ้งค์ชมรมต่างๆ

เว็บไซต์วัดเกจิดังในสยาม
วัดอัมพวัน จ. สิงห์บุรี
วัดหนองป่าพง จ. อุบลฯ
วัดเขาแหลม จ. สระแก้ว
หลวงพ่อกวย วัดโฆสิตาราม
วัดหัวป่า อ. ระโนด จ. สงขลา
วัดแก้วโกรวาราม จ. กระบี่
หลวงปู่ดุลย์ อตุโล
หลวงสมชาย วัดเขาสุกิม
ป้อนหมายเลขสิ่งของ


***พิมพ์หมายเลขสิ่งของจำนวน 13 หลัก

รายละเอียดเพิ่มเติม

  หน้าหลัก  :  อดีตสู่ปัจจุบัน  :  เว็บบอร์ดชมรม  :  ตารางประกวดพระ  :  สาระน่ารู้  :  เล่าสู่กันฟัง  :  ติดต่อเรา
ประวัติเกจิอาจารย์ดัง: หลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม
ชีวประวัติหลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม ตอน ๕
14-03-2010 Views: 7183

ปาฐกถาอวดของดี

เมื่อปี พ..2496 ทางคณะสงฆ์ภาค 7 ได้จัดให้มีการตรวจข้อสอบนักธรรมสนามหลวง ที่ลานพระปฐมเจดีย์ เมื่อตรวจเสร็จแล้ว สมเด็จพระธีรญาณมุนี (สนิธ เขมจารี) สมัยเป็นพระเทพเวที รองเจ้าคณะภาค 7 ได้จัดพระภิกษุจากจังหวัดต่าง ๆ ในภาค 7 ส่งผู้แทนจังหวัดขึ้นมาปาฐกถาอวดของดีในบ้านเมืองของตน จังหวัดไหนมีของดีอะไรให้นำเอามาพูดเป็นการแสดงปฏิภาณโวหารกัน เป็นที่สนุกครื้นเครงไปตามประสาของพระภิกษุสงฆ์ที่อยู่ในวงการของท่าน

จังหวัดสุพรรณ ก็คุยว่า สุพรรณเมืองขุนแผน นางพิมพิลาไลย เป็นคนเก่งคนสวย ขุนช้างก็เป็นคนรวย ใครไปสุพรรณสามวันก็รวย ขาไปขี่ม้าขามาต้องขี่ควาย พระเครื่องผงสุพรรณก็เป็นพระดีมีค่า พระกำแพงศอกสุพรรณก็กันไฟได้

จังหวัดกาญจนบุรี ก็ลุกขึ้นมาคุยว่า มีบ่อพลอย มีน้ำตกไทรโยคไหลฉาดฉาน ไหลตระการเสียงดังจ้อง ๆ โครม ๆ มีนกยูงทอง มันร้องโด่งดังเสียงมันดังกระโต้งโห่ง ๆ แม้เจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินยังหลงใหลความงดงามธรรมชาติของเมืองกาญจน์

จังหวัดราชบุรี ก็ลุกขึ้นมาคุยมีคนสวยโพธาราม คนงามบ้านโป่ง ไม่มีคนโกงเหมือนเมืองเพชร ไม่มีคนเคว็ด เหมือนสุพรรณ มีถ้ำจอมพลสวยงาม

จังหวัดสมุทรสาคร ก็คุยว่ามีโป๊ะ มีปลาเป็นอาหารของชาวโลก มีพันท้ายนรสิงห์ ชื่อเสียงโด่งดัง

จังหวัดสมุทรสงคราม โดยท่านเจ้าคุณสมุทรโมลี ก็คุยว่า มีหลวงพ่อบ้านแหลม อันศักดิ์สิทธิ์ มีน้ำตาลมะพร้าว พริกบางช้าง เป็นเมืองต้นกำเนิดราชวงศ์จักรีของดีจากเมืองกาญจน์ เมืองราชบุรี ก็ไหลตามแม่น้ำแม่กลองไปรวมอยู่ที่สมุทรสงคราม

จังหวัดเพชรบุรี ก็คุยว่า มีต้นตาลมากมาย ถึงเมืองสุพรรณบุรี จะมีต้นตาลมากมายก็ยังมีน้อยกว่าเมืองเพชรบุรีอยู่อีกต้นหนึ่ง คือต้นยอดด้วน นอกนั้นก็มีข้าวเกรียบเมืองเพชร ขนมหม้อแกงเมืองเพชร เขาวังเมืองเพชร หาดเจ้าสำราญ หาดชะอำ มีถ้ำอันสวยงาม มีน้ำตกท่ายาง

จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ท่านมหารูปหนึ่งรูปร่างล่ำ ๆ ขึ้นมาคุยว่ามีหาดทรายชายทะเลหัวหิน มีหนุ่มสาวชาวกรุง นุ่งน้อยห่มน้อย ไปเที่ยวกันบางทีก็มีฝรั่งมาอาบแดดน่าดูนักหนา แม้แต่พระราชาก็ยังมาสร้างพระราชวังไกลกังวลไว้ที่เมืองนี้

พอถึงจังหวัดนครปฐม ซึ่งเป็นเจ้าบ้าน แทนที่จะคัดเลือกเอาพระมหาเปรียญนักเทศน์ผู้ปราดเปรื่องคล่องแคล่วคารมโวหารดีขึ้นพูดแข่งกับเขา กลับเลือกเอาพระภิกษุแก่ชรารูปหนึ่งขึ้นมาพูด พระภิกษุแก่ชราองค์นั้น อายุ 63 ปีแล้ว คือ หลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม

หลวงพ่อเงินพระภิกษุวัยชรา ร่างใหญ่ ห่มจีวรสีคล้ำเป็นแก่นขนุนลุกงุ่มง่ามขึ้นมาหน้าไมโครโฟน พนมมือหลับตาว่าคาถาอะไรอยู่ครู่หนึ่ง ขณะนั้นผู้เขียนฟังอยู่ด้วย นึกในใจว่า หลวงพ่อเงิน แย่คราวนี้เอง จะไปพูดสู้พระมหาเปรียญเขาได้หรือ ?

หลวงพ่อเงินเอ่ยขึ้นว่า

"ข้าแต่ท่านทั้งหลาย !"

ประโยคแรกเท่านั้น ที่ประชุมหัวร่อฮาลั่นเลย

"นครปฐมเป็นเมืองเก่า" (ฮา)

"เป็นเมืองของคนแก่" (ฮา)

"เขาก็เลยเลือกเอาคนแก่มาพูด" (ฮา ๆ ๆ)

"มันช่างเหมาะสมกันดีแท้ ๆ " (ฮา ๆ ๆ ๆ)

"นครปฐมเป็นเมืองดี เพราะมีพระปฐมเจดีย์" (ฮา)

"นครปฐมเป็นเมืองดี เพราะเดิมชื่อว่าเมืองทวาราวดี" (ฮา)

"นครปฐมเป็นเมืองดี เพราะเดิมเขาเรียกว่า สุวรรณภูมิ แปลว่า ทองดี" (ฮา)

"นครปฐมเป็นเมืองดี เพราะเดิมเป็นที่ตั้งของเมืองนครไชยศรี แปลว่า ที่มีชัยชนะอันดี"

(ที่ประชุมฮาตึงเลย)

"นครปฐม เป็นเมืองดี เพราะพระโสณเถระ พระอุตระเถระ อันเป็นพระสาวกชั้นดี ได้นำเอาพระพุทธศาสนาอันดี มาเผยแพร่ด้วยดี ก็เลยต้องเลือกเอาเมืองดี พระโสณพระอุตระเลือกเอาเมืองนครปฐมเป็นเมืองแรกที่เผยแพร่ของดี เมืองนครปฐมจึงต้องยืนยันว่าเป็นเมืองดี"

ที่ประชุม ฮากันอยู่นานตอนนี้

"นครปฐม เป็นเมืองดี เพราะมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์อันใหญ่โต และสูงที่สุดในเมืองไทยอันเราได้มาประชุมกันอยู่ ณ ที่นี้ คือ พระปฐมเจดีย์ (ตอนนี้พระถึงแก่ตบมือกราวใหญ่)

ใคร ๆ ฟังแล้วก็ต้องยอมรับกันว่าเป็นปาฐกถาที่สั้นที่สุด มีสาระที่สุด น่าฟังที่สุด มีคารมคมคายเฉียบแหลมที่สุด ผู้ฟังเกิดอารมณ์ร่วม เกิดอารมณ์ขันมากที่สุด ไม่มีปาฐกถาของผู้ใดจะเสมอเหมือน เป็นตัวอย่างของนักพูด นักปาฐกถาที่น่าศึกษาที่สุด ที่หลวงพ่อเงินใช้เวลาพูดด้วยท่วงทำนองจังหวะลีลาอันอ่อนน้อมเหมือนฟังดนตรีด้วยน้ำเสียงอันกังวานแจ่มใสไพเราะเสนาะโสตอย่างน่าอัศจรรย์.

พระข้าราชการที่ดี

ปฏิปทา หรือการปฏิบัติตน ปฏิบัติงานของหลวงพ่อเงินนั้น ถ้าหากจะติดตาม ศึกษาด้วยความสังเกตพิจารณาโดยตลอดแล้ว ก็จะแลเห็นชัดได้ อย่างหนึ่งคือ

หลวงพ่อเป็นพระข้าราชการที่ดี

คือหลวงพ่อปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต อุทิศเวลาทั้งชีวิตอุทิศจิตใจ ทุ่มเทเสียสละมาตลอดชีวิต เพื่อช่วยชาติบ้านเมือง ช่วยสืบต่ออายุพระพุทธศาสนาไม่ได้หวังผลอะไรเป็นส่วนตัวในชาตินี้เลย

ถ้าหากหลวงพ่อหวังผลบ้าง ก็คือเป็นพระโพธิสัตว์ อุบัติมาสร้างบารมีเพื่อบรรลุพระโพธิญาณ เพื่อจะได้ตรัสแก่พระปรมาภิเศกสัมโพธิญาณในอนาคตกาลอีกแสนไกล ตามปณิธานของพระโพธิสัตว์ทั้งหลายทั้งในอดีตและปัจจุบัน

ข้าพเจ้าเคยทราบมาว่าพระศาสนาของศาสนาฮินดูองค์หนึ่งในปัจจุบันนี้อยู่ที่ประสันตินิลยิม ประเทศอินเดีย ซึ่งมีคนเคารพบูชาทั่วโลก มีสานุศิษย์นับจำนวนล้านทั่วโลก ท่านผู้นี้คือ ท่านภควัน ศรีสัตยา ไสบาบา มีสาวกเป็นคนไทยก็มากมาย ท่านได้ตรัสไว้คำหนึ่งว่า

"Work is worship"

แปลเป็นภาษาไทยยาก แต่พอแปลได้ว่า

"ทำงานเพื่อบูชาพระผู้เป็นเจ้า"

หรือ

"ทำงานเพื่ออุทิศแด่พระผู้เป็นเจ้า"

หรืออาจจะแปลว่า

"ทำงานเพื่องาน"

หรือ

"ปฏิบัติงานเพื่อการปฏิบัติธรรม"

อะไรทำนองนี้

หมายความว่า ทำงานโดยไม่หวังผลบุญ ไม่หวังความดีความชอบตอบแทนด้วยลาภ ทาน สักการะ ยศศักดิ์ ชื่อเสียง เกียรติ คำสรรเสริญเยินยอ เพื่อหาพรรคหาพวก หาลูกศิษย์ ลูกหา คนเคารพนับถืออะไรทั้งสิ้น

เหมือนอย่างที่พระพุทธเจ้า ทรงสละราชสมบัติ สละมเหสี สละราชโอรส ออกผนวช เพื่อตรัสรู้พระอรหันตสัมมาสัมโพธิญาณ แล้วก็ทรงพระอุตสาหะวิริยะภาพเสด็จด้วยพระบาทเปล่า เที่ยวเผยแพร่พระธรรมจนตลอดพระชนมชีพนั้นแหละ

หลวงพ่อเงินก็ดำเนินรอยตามพระยุคลบาทของพระบรมศาสดา สละบ้านเรือน ออกบวช อุทิศชีวิตเพื่อพระพุทธศาสนา

ทำตนเป็นข้าราชการที่ดี ทำหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต มีความอุตสาหะวิริยะภาพมิได้ย่อหย่อน วางใจเป็นกลางได้ ในคนจน คนดีคนชั่ว ทำหน้าที่โดยเที่ยงตรง ตรงไปตรงมา ไม่คกเคี้ยว ไม่มีเล่ห์กระเท่ ไม่มีมารยาสาไถยอะไรเลย ทั้งภายนอกภายในไม่มีอะไรซ่อนเร้นปิดบัง ประพฤติพรหมจรรย์ด้วยความขาวสะอาด บริสุทธิ์ ไม่มีใครจะผิดตาผิดใจ สงสัยแคลงใจอะไรได้เลย แม้แต่น้อย

แต่ถึงกระนั้นก็ดี ก็หาใช่ว่าจะปฏิบัติหน้าที่ไปด้วยความปลอดโปร่งไร้อุปสรรค ไม่มีผู้ขัดขวาง ไม่มีผู้ลองดีก็หาไม่ แต่ด้วยความสัตย์ความจริง ความบริสุทธิ์กาย บริสุทธิ์วาจา บริสุทธิ์ใจ จึงดำเนินชีวิต ปฏิบัติหน้าที่มาได้โดยตลอด

หลวงพ่อไม่ใช่พระอรหันต์

คราวหนึ่งมีคนแก่เรียนแก่ปัญหา เข้ามาหาหลวงพ่อแล้วก็ตั้งปัญหาถามว่า

"ทำไมพระภิกษุสมัยนี้จึงไม่มีใครสำเร็จเป็นพระอรหันต์เหมือนครั้งพุทธกาล ?"

คล้าย ๆ จะพูดเป็นเชิงสบประมาทว่าหลวงพ่อเงินนี้ถึงจะเก่งยังไง ก็ไม่ใช่พระอรหันต์

หลวงพ่อตอบเรียบ ๆ ว่า

"คนสมัยนี้กับคนโบราณแตกต่างกันด้วยธรรมชาติ คือคนสมัยโบราณร่างกายแข็งแรงกว่า จิตใจเข้มแข็งกว่าคนสมัยนี้

ข้อสอง ศรัทธา ความเชื่อที่คนสมัยก่อนมีศรัทธาเชื่อมั่นมากกว่าคนสมัยนี้

ข้อสาม สติปัญญา คนสมัยก่อนมีสตินำหน้า มีปัญญาตามหลัง คนสมัยนี้มีปัญญานำหน้า มีสติตามหลัง มีความคิดอันฟุ้งซ่าน แต่ไม่มีสติกำกับใจของตนเอง

ข้อสี่ ความเพียร คนสมัยก่อนมีความเพียรมากกว่าคนสมัยนี้และมีขันติ ความอดทนมากกว่าคนสมัยนี้

หลวงพ่อไม่ได้รับสมอ้างว่าสำเร็จโสดาบัน หรือเป็นพระอริยบุคคลอะไรเลย แต่พูดตามตรงว่า คนสมัยนี้สู้คนสมัยก่อนไม่ได้ในเรื่องคุณสมบัติที่จะเป็นพระอรหันต์.

ทำนอกรีต

คราวหนึ่ง มีข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ แต่งตัวภูมิฐานแบบขุนนางสมัยเก่า เดินอย่างสง่าเข้าไปหาหลวงพ่อ เมื่อเชิญให้นั่ง เขาก็เอ่ยขึ้นมาว่า

"นี่ท่านเป็นหมอด้วยหรือ เห็นมีหยูกยาเยอะแยะ ?"

"อาตมาไม่ได้เป็นหมด ยาที่มีอยู่นี้ มีไว้ใช้เองยามป่วยไข้ แต่ถ้าชาวบ้านมาขออาตมาก็แจกไปเป็นทาน"

"อ้าวก็เมื่อท่านไม่มีวิชาทางการแพทย์แล้ว จะแจกยาส่งเดชไปได้ยังไงคนไข้เอาไปกินผิดหยูกผิดยา เป็นอันตรายเกิดตายขึ้นมาจะไม่ผิดกฎหมายรึ ท่านทำนอกรีตแล้วละ"

"ถึงแม้อาตมาจะทำนอกรีตนอกลู่นอกทางก็ไม่มีเจตนาทำร้ายใคร มีแต่เจตนาดีจะข่วยเขา จึงไม่ถือว่าผิดศีลธรรมผิดวินัย"

"กฎหมายนั้นถึงจะวางบทไว้อย่างไร แต่ก็ไม่เคยช่วยคนไข้คนป่วยในตำบลนี้ เท่าที่อาตมาเคยช่วย"

"นายแพทย์และยาหลวง ก็มีอยู่แต่ในเมือง ช่วยได้แต่คนในเมือง"

"ส่วนคนในตำบลนี้ รัฐบาลก็ไม่เคยช่วย ไม่ได้ตั้งสุขศาลาขึ้น ไม่มียา ไม่มีแพทย์ คนที่ยากจนก็ต้องยอมตายอยู่กับบ้านกันทั้งนั้น"

"อาตมาเห็นว่า เพื่อนมนุษย์ตาดำ ๆ ป่วยไข้ได้ทุกข์ต้องช่วยกันไปตามมีตามเกิด จะว่าอาตมาทำผิดกฎหมายก็ยอมละ แต่จะให้อาตมาผิดศีลผิดธรรมยอมนิ่งดูดาย ไม่ช่วยเหลือคนอื่นนั้นอาตมาทนอยู่ไม่ได้"

"อาตมานึกอยู่เสมอว่า ตำรายาของอาตมาไม่ใช่ตำรายาพิษ หากเป็นยาพิษ บรรพบุรุษของอาตมาคงไม่สืบอายุกันมาถึงอาตมาได้ คงตายกันหมดสิ้นไปแล้ว"

"อ้ายไข้ต่าง ๆ นี่ ท่านรู้หรือเปล่าว่า มันมีอยู่กี่ร้อยกี่พันชนิด ?"

"มี 3 ชนิด"

"เอ๊ะ โรคอะไรของท่านมี 3 ชนิด ?"

"หนึ่งโรครักษาก็หาย ไม่รักษาก็หาย

สองรักษาก็ตาย ไม่รักษาก็ตาย

สามโรครักษาจึงหาย"

ชายผู้นั้นนิ่งไปสักครู่ แล้วถามต่อไปอีก

"ที่ท่านรดน้ำมนต์ไล่ผีนั้นน่ะ ท่านเชื่อหรือว่าผีมีจริง ?"

"ผีมีจริง"

"รู้ได้ยังไงว่าผีมีจริง ?"

"พระพุทธเจ้าบัญญัติว่าภิกษุองค์ใดผีเข้าสิงไม่ต้องทำสังฆกรรม ผีเข้าสิงภิกษุเวลาสวดพระปาฏิโมกข์ให้หยุดสวดพระปาฏิโมกข์ได้ ก็ต้องเชื่อว่าผีมีจริง เหมือนที่เขาว่าพระพุทธเจ้ามีจริง"

หลวงพ่อสำทับว่า

"ถ้าเราไม่เชื่อพระธรรมที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนก็เท่ากับเราไม่เชื่อว่ามีพระพุทธเจ้า เท่ากับเราไม่มีศาสดา"

ชายผู้นั้นเขาว่าเป็นเจ้าเมืองนครปฐมสมัยนั้น มีศักดิ์เป็นพระองค์เจ้ามีพระนามว่า พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพยอาภา ภายหลังก็มาเป็นสานุศิษย์ของหลวงพ่อเงิน

ลูกศิษย์หลวงพ่อเงิน จึงมีพระองค์เจ้าอาทิตย์ ทิพย์อาภา พระองค์หนึ่ง เป็นเจ้าเมืองนครปฐม.

บาทหลวงถอยทัพ

ตำบลดอนยายหอม เป็นตำบลใหญ่ตำบลหนึ่ง มีราษฎรตั้งบ้านเรือนอยู่จำนวนมาก และค่อนข้างจะมีฐานะเป็นปึกแผ่นไม่ยากจน จึงเป็นที่หมายตาของคณะคาทอลิค ตั้งใจจะไปโบสถ์คริสตัง เผยแพร่ศาสนาอยู่ที่นั่นเหมือนที่เคยตั้งสำเร็จมาแล้วในท้องที่อื่น ๆ ในจังหวัดนครปฐม แต่บาทหลวงเหล่านี้เขามักจะมีความรอบคอบ มีการสำรวจ วางแผน อย่างมีขั้นตอนตามลำดับ ก่อนจะตั้งโบสถ์ที่ไหน เขาจะต้องสำรวจพื้นที่ และสำรวจศาสนาอื่นที่มีอยู่แล้วว่า มีความมั่นคงคลอนแคลนอย่างไร มีใครเป็นที่เคารพนับถือของผู้คนในท้องถิ่นนั้น

ครั้งหนึ่ง มีบาทหลวงคนหนึ่ง ได้เดินทางไปสำรวจศึกษาดอนยายหอมแล้วได้เข้าไปสังเกตการณ์ที่วัดดอนยายหอม ได้พบและสัมภาษณ์หลวงพ่อเงินเป็นการหยั่งดูท่าทีก่อน

"ศาสนาต่าง ๆ ในโลกนี้ ถ้าพูดอย่างเป็นธรรมแล้ว ท่านเห็นว่าศาสนาไหน ดีที่สุด ดีในแง่ไหน ?"

หลวงพ่อเงินตอบว่า

"อาตมาไม่มีความรู้ในเรื่องศาสนาอื่น แต่อาตมาสันนิษฐานว่าไม่ว่าศาสนาใด ก็ดีด้วยกันทั้งนั้น เพราะถ้าผู้ต้นบัญญัติพระศาสดาไม่ดีแล้ว คงไม่มีมหาชนนับถือศาสนาของเขา ศาสนาจึงดีเท่า ๆ กัน เพราะสอนให้คนเป็นคนดีมีความรู้ ฉะนั้น คนที่นับถือศาสนาอะไร ก็ควรจะเรียกว่าเป็นคนดี คือเป็นคนมีศาสนา"

บาทหลวงคนนั้น ไม่พบจุดอ่อนหรือปมด้อยของหลวงพ่อเงินเลย จึงถอยทัพกลับไปไม่มาตั้งโบสถ์เผยแพร่ศาสนาในตำบลดอนยายหอม

คริสตังมานับถือพุทธ

เจ้าพงศ์ธาดา ณ ลำพูน อัยการจังหวัดนครปฐม ควรจะถูกบันทึกไว้ในเรื่องนี้ด้วย เพราะเจ้าพงศ์ธาดา ผู้นี้เดิมนับถือศาสนาคริสต์อยู่ก่อน เมื่อมาเป็นอัยการจังหวัดนครปฐม ก็ได้เดินทางไปวัดดอนยายหอมด้วยธุระราชการ ได้สนทนากับหลวงพ่อ ได้พูดถึงหลักธรรม ในศาสนาได้เห็นบุคลิกลักษณะอันน่าเคารพของหลวงพ่อ ได้เห็นธรรมะอันมีค่าอยู่ในตัวหลวงพ่อ เช่น พรหมวิหารธรรม ความเมตตา ความกรุณา มุทิตาจิต และอุเบกขาธรรม อันมีอยู่ในจิตใจ ของหลวงพ่อ เขาจึงเปลี่ยนใจมานับถือศาสนาพุทธได้ปฏิญาณเป็นพุทธมามกะ ต่อหน้าพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ต่อหน้าหลวงพ่อที่วัดดอนยายหอมนั้นเอง

บุคคลอีกคนหนึ่ง เป็นอาจารย์อยู่โรงเรียนบำรุงวิทยา อันเป็นโรงเรียนของคริสตัง และเขานับถือคริสต์ศาสนาอยู่ก่อน ได้ไปโต้ตอบธรรมะกับหลวงพ่อเงินอยู่ก่อน แต่แล้วก็ยอมแพ้อย่างศิโรราบ คือ ขอเข้าบวชเป็นพระภิกษุสงฆ์อยู่ที่วัดดอนยายหอม ยอมให้หลวงพ่อเงิน โกนหัว บวชให้เลยทีเดียว บวชอยู่จนตลอดชีวิต

สองท่านนี้แหละคือเครื่องยืนยันว่า หลวงพ่อเป็นข้าราชการที่ดีของพระพุทธเจ้า รับราชการอยู่ในฝ่ายพุทธจักร

 

ไม่หนีชั่วไม่กลัวตาย

เป็นประเพณีของสมภารเจ้าวัดอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นที่รู้กันทั่วไป คือเมื่อวัดใดสร้างอุโบสถขึ้นสำเร็จแล้ว จะทำพิธีฝังลูกนิมิต สมภารเจ้าวัดนั้นจะต้องหลีกหนีออกไป ให้ไกลสุดเสียงกลอง เมื่อเวลาทำพิธีผลักลูกนิมิตลงหลุม สมภารเจ้าวัดองค์ใดขืนอยู่ร่วมในพิธีนันจะต้องอาถรรพ์ลงหลุมเหมือนลูกนิมิต คือจะถึงกาลมรณภาพไปสู่พรหมโลก เพราะเทวดาได้เล็งเห็นแล้วว่า สมภารเจ้าวัดองค์นั้นได้กระทำบุญกุศลอันยิ่งใหญ่ไว้ในพุทธศาสนาเสร็จสิ้นหมดกิจแล้ว ไม่สมควรจะอยู่ในโลกนี้ต่อไป จำเป็นจะต้องอัญเชิญวิญญาณไปสถิตอยู่ในสวรรค์ชั้นพรหมโลก สมภารเจ้าวัดทั่วไป ก็เชื่อถือคตินี้ สืบเนื่องกันมาแต่โบราณกาล สมภารวัดใดใจแข็งดื้อไม่ยอมหลีกหนีออกไปญาติโยมก็จะจัดการนิมนต์ให้ออกไปให้สุดเสียงกลองจนได้ ถึงแก่แบกขึ้นบ่าให้ขี่คอออกไป

แต่กลับปรากฏว่า หลวงพ่อเงินวัดดอนยายหอม ไม่ยอมปฏิบัติตามประเพณีโบราณเมื่อวัดดอนยายหอมมีงานฝังลูกนิมิตเมื่อปี พ..2492 อย่าว่าแต่จะยอมออกไปให้สุดเสียงกลองเลย หลวงพ่อกลับเข้าร่วมทำพิธีทำสังฆกรรมสวดมนต์ แล้วก็ลงมือผลักลูกนิมิตลงหลุมเองเรียบร้อย ยังความพิศวงสงกาแก่ประชาราษฎรทั้งหลาย รวมทั้งสมภารเจ้าวัดที่ไปร่วมพิธีในครั้งนั้น ว่าหลวงพ่อช่างไม่รักตัวกลัวตายเสียดายแก่ชีวิตบ้างเลย ช่างกล้าฝืนประเพณีแต่โบราณ ที่เชื่อถือกันมาช้านานหนักหนา

คราวนั้นท่านสมเด็จพระธีรญาณมุนี (สนิธ เขมจารี) สมัยยังเป็นพระธรรมปิฎก ได้ไปร่วมในพิธีด้วย ท่านก็ทราบประเพณีนี้ดี จึงได้ถามหลวงพ่อว่า ท่านถือหลักปฏิบัติอย่างไรในเรื่องนี้

หลวงพ่อตอบว่า

"ผู้บัญญัติในเรื่องนี้ อาจแยกออกได้ 2 อย่าง คือ ถ้าไม่ฉลาดเลิศก็ต้องโง่งมงาย"

"ฉลาดเลิศ หรือโง่งมงายอย่างไร ?"

"ฉลาดเลิศเพราะเป็นเพียงนโยบายอันหลักแหลม ที่จะให้สมภารบางองค์ที่ไม่บริสุทธิ์ในศีล และเป็นที่รังเกียจของภิกษุในอาราม ไม่ให้เข้าร่วมในพิธีสังฆกรรมอันสำคัญนี้ จนถึงแต่ต้องออกกลวิธีไล่ออกไปเสียจากพิธีทางอ้อม บัญญัติขึ้นเพื่อไล่สมภารที่ศีลไม่บริสุทธิ์ออกไปเท่านั้นเอง"

"ที่ว่าโง่งมงาย ก็เพราะว่าสมัยก่อนนี้ มักจะหนักไปทางเชื่อถือมากจนขาดเหตุผลเชื่อว่าทำบุญสร้างโบสถ์เป็นบุญอย่างเยี่ยมยอดในโลกมนุษย์ จนผู้ทำจะอยู่เป็นมนุษย์ต่อไปไม่ได้ ความจริงถ้าหากว่าการทำความดีถึงขนาดแล้ว จะทำให้เสียชีวิตก็เชื่อว่า ไม่มีนักบุญคนใดที่จะอุทิศชีวิต เพื่อความดีจะต้องหวาดกลังเลย เพราะพระพุทธศาสนาก็สอนว่า สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์ สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง สังขารทั้งปวงไม่ใช่ตัวตนของเรา แล้วจะมากลัวอะไรเล่ากับความตาย

อีกอย่างหนึ่ง การทำบุญสร้างโบสถ์ก็จัดว่าเป็นการบำเพ็ญบุญกุศลอันสูงส่ง ไม่น่าจะบัญญัติว่าการทำความดีจะได้ชั่ว คือทำให้เกิดอันตรายแก่ชีวิตของผู้กระทำบุญนั้น จะว่าตายไป เกิดเป็นพระพรหมเป็นของดีก็ไม่ใช่ เพราะว่าชีวิตของใคร ๆ ก็รัก อยากจะมีอายุยืนยาว พระพุทธองค์ก็ทรงบัญญัติพร 4 ประการไว้ว่า อายุ วรรณะ สุขะ พละ ดังนั้นผมจึงไม่เชื่อ"

ดูเหมือนว่านับแต่นั้นมาสมภารเจ้าวัดทั้งหลายรู้เรื่องนี้แล้ว ก็เลิกเชื่อถือเรื่องนี้กันต่อมา โดยหลวงพ่อเงินเป็นผู้ปฏิวัติความเชื่อถือเรื่องนี้เป็นองค์แรก

หลวงพ่อเชื่อมั่นว่า ทำดีต้องได้ดี ไม่ใช่ว่าทำดีที่สุด แล้วจะต้องตาย

หลวงพ่อเชื่อมั่นในศีลของตัวท่านเองว่าบริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีด่างพร้อย ไม่ต้องหนีชั่วเพราะกลัวตาย หรือไม่ต้องหนีตาย เพราะเป็นชายชั่ว เพราะไม่ได้ทำชั่วจึงไม่กลัวตาย

ความจริงเป็นอย่างนี้ต่างหากเล่า

คนชั่ว กลัวหลวงพ่อแช่ง

ความจริงนั้น คนบาป คนชั่ว กลัวหลวงพ่อ เพราะเขารู้ว่าหลวงพ่อเป็นพระบริสุทธิ์ ปากศักดิ์สิทธิ์ เขากลัวหนักหนาคือว่า กลัวหลวงพ่อสาปแช่ง ทั้ง ๆ ที่หลวงพ่อไม่เคยแช่งใคร ยิ่งเขารู้ว่าไม่เคยแช่งใครเขาก็ยิ่งกลัวว่า ถ้าหลวงพ่อแช่ง เขาเจ๊งแน่ ๆ เรื่องนี้มีตัวอย่างหลายเรื่อง

เรื่องหนึ่งก็คือ มีคน ๆ หนึ่ง เป็นคนเกเรมากมีคนบอกหลวงพ่อ หลวงพ่อก็พูดปรารภว่า

"เขาเป็นคนบาปหนา ห้ามเขาไม่เชื่อหรอก ไม่ช้าเขาก็ติดคุก"

อยู่ต่อมาไม่นาน นายคนนั้นไปคบเพื่อนโจรเอาคนมาปล้นบ้านชาวบ้านถูกตำรวจจับไปติดคุก คนก็รู้กันทั่วไป เป็นเรื่องแรกว่า หลวงพ่อปากศักดิ์สิทธิ์นัก

เถ้าแก่เสียงก็กลัว

คราวหนึ่ง เถ้าแก่เสียง เจ้าของโรงสี ได้ออกหวยจับยี่กีขึ้น มีคนแทงหวยกันมาก รู้ถึงหูหลวงพ่อก็เดินไปเยี่ยมเถ้าแก่ถึงโรงสี ถามถึงทุกข์สุขการทำมาหากิน

"คนที่มีปัญญาหากิน และขยันอย่างเถ้าแก่เสียง ไม่มีวันจนแน่นับวันมีแต่จะมั่งคั่งร่ำรวย"

หลวงพ่อพูดไปเรื่อยๆ

"คนบ้านนี้เขารักใคร่นับถือเถ้าแก่เพราะเป็นคนดีมีใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่"

เถ้าแก่ดีใจมากที่หลวงพ่อมาเยี่ยมถึงบ้าน แล้วก็ชมเชยให้ศีลให้พร

"เขาลือกันหนาหูว่า เถ้าแก่ออกหวยจับยี่กี ฉันไม่เชื่อหรอก คนรวย ๆ อย่างเถ้าแก่ จะมาตั้งบ่อยออกหวยจับยี่กี จะคิดสั้นอย่างนั้นเชียหรือ ?"

หลวงพ่อพูดต่อไป

"เพราะถ้าคนบ้านนี้เล่นหวยกัน เขาก็ต้องพากันยากจน ก็จะกลายเป็นคนลักขโมยปล้นสะดม เถ้าแก่ก็จะถูกปล้น"

แล้วหลวงพ่อก็เทศน์ว่า

"ถ้าเถ้าแก่คิดจะตั้งบ่อนจริง ๆ ฉันก็ขอร้องว่าเลิกเสียเถอะ ถ้าเถ้าก็ไม่ยากจนหมดทางหากินอย่างอื่นแล้ว ฉันก็จะไม่ขอร้องให้เลิกเลย"

ตั้งแต่วันนั้นมา หวยจับยี่กีก็เลิกออก

เถ้าแก่เสียงพูดว่า

"แหม-อั้วอายหลวงพ่อแท้ ๆ อีว่าอั้วหมดปัญญาหากินแล้วออกหวยจับยี่กี"

แต่ที่จริงเถ้าแก่เสียงกลัวถูกปล้น ตามคำของหลวงพ่อ

เถ้าแก่เสียงจะถูกปล้นจริง ๆ ด้วย ถ้าไม่เลิกออกหวยจับยี่กี

พระแม่คงคาก็กลัว

เมื่อปี พ..2485 เกิดน้ำท่วมใหญ่ในกรุงเทพฯ น้ำท่วมจากถนนราชดำเนิน พายเรือเล่นได้ นครปฐมก็ท่วมไร่นาเสียหายทั่วไป ต้องขนย้ายวัวควายไปอยู่ตามถนนหนทาง วัว ควาย หมู หมา ไก่ ก็ถูกภัยน้ำท่วมล้มตายกันมาก หน้าที่ว่าการอำเภอกำแพงแสน ก็น้ำท่วมจนต้องพายเรือไปอำเภอ

แต่น่าประหลาดปีนั้น น้ำไม่ท่วมวัดดอนยายหอม น้ำไหลอ้อมไปทางบ่อตะกั่ว โคกพระเจดีย์ ไปทางบางแขม บางแพ

คนจึงเล่าลือกันต่อ ๆ ไปว่า หลวงพ่อเงินแสดงปาฏิหาริย์กันน้ำท่วมได้ มีคนไปถามหลวงพ่อเงินว่าจริงหรือเปล่า หลวงพ่อตอบว่า

"ฉันจะไปกั้นน้ำได้หรือ ? ความจริงฉันได้ให้เด็กพายเรือออกไปดูน้ำว่าไหลแรงแค่ไหน ท่วมไร่นาเสียหายไปเพียงไร ในระหว่างที่แล่นเรือไป ฉันก็เป็นห่วงชาวบ้านดอนยายหอม จึงได้ตั้งใจอธิษฐานว่า ขออย่าให้น้ำท่วมข้าวปลาของคนดอนยายหอมเลย ถ้าชาวบ้านยากจนโบสถ์ที่สร้างไว้ จะสำเร็จช้าออกไป เพราะไม่มีใครจะทำบุญ เป็นการเผอิญที่น้ำไหลออกตำบลดอนยายหอมไปได้จริง ๆ"

หลวงพ่อไม่ได้คุยรับสมอ้างอะไร แต่หลวงพ่อบอกว่าเป็นห่วงผู้คน จึงได้ตั้งจิตอธิษฐานขออย่าให้น้ำท่วมเลย พระแม่คงคากลัวว่า โบสถ์หลวงพ่อจะสำเร็จช้า จึงไหลอ้อมตำบลดอนยายหอมไป ไม่ท่วมเหมือนตำบลอื่น ๆ

แต่ข่าวเล่าลือกันไปทั่วว่า หลวงพ่อมีบุญบารมีคุ้มครองป้องกันภัยน้ำท่วมก็ได้

แม้แต่พระแม่คงคายังเกรงใจ คนทั้งหลายจะไม่เกรงใจหลวงพ่ออย่างไร

เรื่องนี้ไม่น่าประหลาดใจอะไรนัก เพราะพระเจ้าตากสินท่านยังตั้งพิธีขอให้ฝนตกฤดูแล้ง จนน้ำท่วมขอนลอยในป่า สมัยยกทัพไปตีเมืองเชียงใหม่ทหารอดน้ำ ท่านกลับตอบว่า

"อย่าปรารมภ์เลย คืนนี้พ่อจะให้ฝนตกลงมาให้จงได้"

ครั้นแล้วก็โปรดให้ตั้งศาลเพียงตา บวงสรวงสังเวยเทพยดา อ้างเอาบุญบารมีที่เคยสั่งสมแต่ปุเรชาติ จงมาเป็นพลังคุ้มครองปกป้องไพร่พลขอให้ฝนตกมาในคืนนี้ให้จงได้

คืนนั้นเพลาห้าทุ่มเศษ ฝนก็ตกใหญ่จนน้ำท่วมนองในป่า จนขอนลอยไปในป่านั้น

พระโพธิสัตว์ย่อมอุบัติมาบำเพ็ญพระบารมีเป็นที่พึ่งแก่ฝูงสัตว์ทั้งหลายในแผ่นดินโลกมนุษย์นี้ ท่านจึงอธิษฐานจิตเพื่อคุ้มครองปวงสัตว์ได้จริง อย่าได้ วิจิกิจฉา อะไรเลย

บารมีแผ่ไพศาล

สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น ทรงสอนเรื่องสันโดษให้พอใจในสิ่งที่มีที่ได้ที่เป็นที่เราแปลกันว่า "มักน้อย" อันที่จริงแปลไม่ตรงความหมายแท้ของคำสอนนี้ทีเดียว ต้องศึกษาทำความเข้าใจกันให้ถ่องแท้ต่อไป เพราะพระพุทธองค์นั้น ไม่เคยทรงสันโดษในบุญกุศล หรือคุณความดีเลย พระองค์มีพระหทัยเหมือนทะเล ไม่อิ่มน้ำ ในเรื่องการบำเพ็ญบุญกุศล ไม่เคยหยุด ไม่เคยพอเลย ตลอดระยะเวลา 45 พรรษา พระองค์ไม่เคยหยุดพักการโปรดสัตว์แม้วันสุดท้าย จะเสด็จดับขันธ์ปรินิพพานอยู่แล้วยังโปรดให้สุภัททะปริพาชกเข้าเฝ้า เพื่ออุปสมบทให้เป็นพระอรหันต์องค์สุดท้ายในวันเสด็จดับขันธปรินิพพานนั้นเอง

ถ้าดูปฏิปทาของหลวงพ่อเงิน ก็ดำเนินรอยตามพระยุคลบาทพระบรมศาสดาเหมือนหลวงพ่อทำงานตามหน้าที่ตลอดเวลา ไม่มีพัก ไม่มีหยุด ไม่มีย่อท้อ ไม่มีเบื่อหน่าย ยินดีในการสร้างบุญสร้างกุศลอยู่ตลอดเวลาจับงานทำงานรับทำ อยู่ตลอดเดือน ตลอดปี รับแขกอยู่ตลอดวัน รับนิมนต์ไปทำกิจอยู่ตลอดปี จนมองดูกว้างขวางออกไปทุกที ๆ จะพรรณนาไปก็ไม่หมดสิ้น เพระไม่มีใครติดตามจนจำได้หมดสิ้นทุกสิ่งทุกอย่างทุกเรื่อง คงพูดกันได้เขียนได้ เล่ากันได้เฉพาะเรื่องที่รู้เห็นเท่านั้น เพราะหลวงพ่อบวชมาตั้งแต่ปี พ..2453-2519 รวมเวลา 66 ปี นับว่าเป็นเวลาที่ยาวนานมากเหลือกำลังที่ใครผู้ใดจะติดตามจดจำมาเล่ากันได้หมดสิ้น เพราะหลวงพ่อทำงานให้แก่พระศาสนามาตลอดเวลา 66 ปีนั้น ไม่เคยหยุดเลย ไม่เคยพักเลย

งานที่หลวงพ่อทำนั้น ถ้าหากจะแยกประเภทออกไปตามหลักของกิจการพระสงฆ์ก็คงจะได้ 10 อย่างคือ

1.การบริหาร   หรืองานปกครองพระสงฆ์

2.สาธารณูปการ หรืองานการบูรณะปฏิสังขรณ์ หรืองานก่อสร้างอาคารวัตถุ

3.การศึกษา   หรืองานด้านพระปริยัติธรรม

4.การเผยแผ่   หรืองานเผยแพร่พระศาสนา

5.การสังคมวัฒนธรรม   คืองานที่เกี่ยวกับเรื่องสังคมท้องถิ่นและวัฒนธรรมประเพณี

6.การอุปสมบท    ให้กุลบุตร ได้บวชเรียนในพระพุทธศาสนา

7.การช่วยราชการ   คืองานช่วยบ้านเมืองในด้านต่าง ๆ เช่นทำถนนสร้างโรงเรียน

8.การพระธรรมวินัย   คือการรักษาศีล รักษาธรรม ปฏิบัติเป็นแบบอย่างแก่ประชาชน

9.การสงเคราะห์ประชาชน  ในด้านการศึกษา การแพทย์ การพยาบาล การรักษาความสงบ ความปลอดภัย

10.งานเบ็ดเตล็ดอื่น  อันเป็นเรื่องปลีกย่อย และนอกเหนือหน้าที่ เช่น งานเจิมรถ เจิมป้าย งานพุทธาภิเษก งานของทางราชการต่างๆ งานของเอกชน ที่มาขอร้องให้ช่วย

งานทั้ง 10 ประเภทนี้ หลวงพ่อรับทำ รับธุระ เอามาเป็นภาระธุระทุกสิ่ง ทุกอย่าง ไม่เคยหลีกเลี่ยง ไม่เคยเบื่อหน่าย ไม่เคยย่อท้อ ไม่เคยออกปากบ่นเลย

บารมีหลวงพ่อจึงแผ่ไพศาลครอบคลุมไปทั่วบ้านเมือง



ประวัติเกจิอาจารย์ดัง: หลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม
»อภินิหารหลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม
02-04-2010
»ชีวประวัติหลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม ตอน ๖
14-03-2010
»ชีวประวัติหลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม ตอน ๕
14-03-2010
»ชีวประวัติหลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม ตอน ๔
14-03-2010
»ชีวประวัติหลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม ตอน ๓
14-03-2010
»ชีวประวัติหลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม ตอน ๒
14-03-2010
»หลวงพ่อเงิน จันทสุวัณโณ
02-04-2010
»ชีวประวัติหลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม นครปฐม
14-03-2010
 
------------------------
  หน้าหลัก  
  คำถามที่มีการถามบ่อย  
  เราเล่นพระทำไม ?  
  กฎหมายพระเครื่อง  
  เกร็ดเล็ก-เกร็ดน้อย  
  สมัครเปิดร้านค้า  
  การชำระเงินค่าร้านค้า  
  ความรู้เกี่ยวกับพระเครื่อง  
  ข้อมูลสถิติเกี่ยวกับร้านค้า  
 
หน้าหลัก  อดีตสู่ปัจจุบัน  เว็บบอร์ดชมรม  ตารางประกวดพระ  สาระน่ารู้  เล่าสู่กันฟัง  ติดต่อเรา
Copyright©2024 zoonphra.com
Powered by Tactical IT