
อิ่มบุญ-ได้กุศลสนุกสนาน 9 วัน 9 คืน ส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองนครพนม
สังคมไทยเป็นสังคมที่มีความผูกพันกับพระพุทธศาสนามาเป็นเวลาช้านานเนื่องจากเป็นศาสนาประจำชาติไทย ดังนั้นพิธีกรรมและความเชื่อต่าง ๆ ทางศาสนาจึงถูกถ่ายทอดจากคนรุ่นหนึ่งสู่คนอีกรุ่นหนึ่ง ซึ่งความผูกพันทางศาสนาและพิธีกรรมต่าง ๆ ในแต่ละท้องถิ่นก็มีความแตกต่างกัน รวมทั้งนับถือพระบรมธาตุ ซึ่งในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีพระธาตุพนมซึ่งเป็นที่เคารพศรัทธาของชาวไทยและชาวลาวมาเป็นเวลานานแล้ว ทุกปีจังหวัดนครพนมได้จัดงานนมัสการ เพื่อเปิดโอกาสให้ชาวพุทธทั้งชาวไทยและชาวลาวเดินทางมานมัสการเพื่อความสุขและความเป็นสิริมงคลในชีวิต

ทั้งนี้เพื่อเป็นการดำรงพระพุทธศาสนาและสืบสานประเพณีท้องถิ่นที่มีมาแต่โบราณกาล ซึ่งพระธาตุพนมเป็นพระธาตุประจำวันเกิดของผู้ที่เกิดปีวอก และเป็นอีกหนึ่งในเส้นทางไหว้พระธาตุประจำวันเกิดของจังหวัดนครพนม คือ เป็นพระธาตุประจำวันเกิดของผู้ที่เกิดวันอาทิตย์ ซึ่งเชื่อว่าผู้ใดได้ไปนมัสการจะได้รับอานิสงส์ ทำให้ผู้คนให้ความรักเคารพนับถือ และประสบความสำเร็จในด้านต่าง ๆ องค์พระธาตุพนม ประดิษฐานอยู่ที่วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร อ.ธาตุพนม จ.นครพนม อยู่ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 51 กิโลเมตร สร้างเป็นสถูปทางพระพุทธศาสนา ซึ่งตามตำนาน อุรังคธาตุ เล่าว่า พระธาตุพระพนมสร้างขึ้นประมาณ พ.ศ. 8 โดยได้บูรณะพระเจดีย์แห่งนี้เป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2157 พระยานครหลวงพิชิตราชบุรีศรีโคตรบูร เจ้าเมืองนครพนมได้บูรณะเป็นครั้งที่ 2 ในปี พ.ศ. 2233-2235 พระครูโพนสะเม็ก พระมหาเถระแห่งเมืองเวียงจันทน์ ได้นำชาวบ้านมาบูรณะเป็นครั้งที่ 3 ในปี พ.ศ. 2444 พระครูวิโรจน์ รัตโนบล เจ้าอาวาสวัดทุ่งศรีเมือง เป็นผู้นำบูรณะในครั้งที่ 4 ในปี พ.ศ. 2483-2484 จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้เป็นผู้นำเสริมยอดองค์พระธาตุพนมให้สูงสง่าขึ้น
จนกระทั่งเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2518 เวลา 19.38 น. พระธาตุพนมได้ล้มทลายลงมาทั้งองค์ ประชาชนชาวไทยทั่วประเทศต่างพากันเศร้าโศกเสียใจ จึงได้ร่วมบริจาคทุนทรัพย์ให้รัฐบาลร่วมก่อสร้างองค์พระธาตุพนมขึ้นใหม่ตามแบบเดิม ต่อมาวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2522 พระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินประกอบพระราชพิธี อัญเชิญ พระบรมสารีริกธาตุขึ้นบรรจุในองค์พระธาตุพนม นอกจากพระบรมสารีริกธาตุแล้ว ยังมีการประดับของมีค่าอีกมากมายหลายหมื่นชิ้น โดยเฉพาะฉัตรทองคำบนยอดพระธาตุพนม ซึ่งมีน้ำหนัก 110 กิโลกรัม เป็นเนื้อทองบริสุทธิ์ 7 กิโลกรัม เมื่อครั้งที่พระธาตุพนมล้มทลายลงมา มีผลจากการขุดค้นทางโบราณคดี นักโบราณคดีลงความเห็นว่าพระธาตุพนมสร้างขึ้น ระหว่าง พ.ศ. 1200-1400 ลักษณะของสถาปัตยกรรม มีแหล่งที่มาที่เดียวกับปราสาทของจามและขอม ซึ่งได้รับแบบอย่างมาจากศิลปกรรมที่ผ่านขึ้น มาจากทะเลทางปากแม่น้ำโขงและแคว้นอันนัม พระธาตุพนมองค์ปัจจุบันมีฐานกว้างด้านละ 112.33 เมตร สูง 53.60 เมตร เป็นเจดีย์ทางสูงเพรียวแลดูสง่างามและแปลกตากว่าพระเจดีย์แห่งอื่น ๆ ทุกครั้งที่จัดงานประเพณี จะมีพุทธศาสนิกชนทั่วประเทศชาวไทย-ลาวหลั่งไหลมานมัสการ เป็นจำนวนมากทุก ๆ ปี ซึ่งในปีนี้งานประเพณีนมัสการองค์พระธาตุพนม ตรงกับวันที่ 14-22 กุมภาพันธ์ 2551
สำหรับกิจกรรมต่าง ๆ นั้น เริ่มเช้า วันที่ 14 กุมภาพันธ์ จะมีพิธีอัญเชิญ พระอุปคุต ขึ้นมาจากแม่น้ำโขง (ซึ่งสมมุติเป็นพระมหาสมุทรที่อยู่จำพรรษาของพระเถระรูปนี้ในอดีตกาล) บริเวณท่าด่านศุลกากร อ.ธาตุพนม โดยมีขบวนแห่มาประดิษฐานไว้ในบริเวณลานพระธาตุพนม ซึ่งเชื่อกัน ว่า พระ อุปคุต เป็นพระเถระองค์สำคัญที่มีบทบาทในทางทรงอานุภาพและมีฤทธิ์เดช ปราบปรามสิ่ง เลวร้ายในงานพิธีใหญ่ ๆ มาแต่โบราณ เวลา 10.00 น. ประกอบพิธีคารวะองค์พระธาตุพนม แล้วถวายข้าวพืชภาคที่ชาวบ้านนำมาถวายด้วยความศรัทธา การรำบูชาพระธาตุพนมเป็นการรวมตัวของชนพื้นเมืองเผ่า ต่าง ๆ รวม 7 เผ่า ที่อาศัยอยู่ในจังหวัดนคร พนม แต่งกายด้วยเสื้อผ้าประจำเผ่าตน เพื่อบูชาองค์พระธาตุพนม วันที่ 21 กุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นวันมาฆบูชา จะมีพิธีเวียนเทียนองค์พระธาตุพนม ถือว่าเป็นวันที่มีความสำคัญเกี่ยวเนื่องกับพระพุทธเจ้า คือ เป็นวันแสดงโอวาทปาติโมกข์ และเป็นวันปลงอายุสังขารหลังจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสรู้และสั่งสอนพระธรรมมาเป็นระยะเวลา 45 ปี พระองค์ทรงปลงพระชนมายุสังขารตรงกับวันมาฆบูชาในปีที่พระพุทธองค์มีพระชนมายุ 80 พรรษา
นอกจากนี้แล้วยังมีกิจกรรมนิยมปฏิบัติกันระหว่างงาน คือ การแห่กองบุญผ้าป่า รองพระธาตุพนม เวียนเทียนรอบองค์พระธาตุพนม มีการออกร้านจำหน่ายสินค้าพื้นเมือง มีการละเล่นที่แสดงถึงประเพณีวัฒนธรรมพื้นเมืองของชาวอีสาน ตลอดจนการแสดงมหรสพสมโภชตลอดงาน ซึ่งในแต่ละปีทางจังหวัดนครพนมจะถือโอกาสประชาสัมพันธ์และส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดนครพนมซึ่งมีเสน่ห์ไม่แพ้จังหวัดอื่นในประเทศไทย
ในปีนี้จึงขอเชิญชวนประชาชนชาวไทยและชาวต่างชาติมาเที่ยวงานประจำปีนมัสการพระธาตุพนม จังหวัดนครพนม ตั้งแต่วันที่ 10 ถึง 22 กุมภาพันธ์ 2551 เสมือนหนึ่งได้ไปนมัสการองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า จะเป็นสิริมงคลแก่ชีวิตและครอบครัวยิ่งนัก จะได้ทั้งบุญได้ทั้งกุศล จะมีแต่ความสุขความเจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงานและครอบครัว รวมทั้งเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดนครพนมด้วย และที่สำคัญที่สุดคือการได้มีส่วนร่วมในการสืบทอดประเพณีวัฒนธรรมอันเก่าแก่ของพระพุทธศาสนาให้อยู่คู่กับจังหวัดนครพนมและสังคมไทยตลอดไป.

ขอขอบคุณเนื้อหาดีดีจาก ผู้จัดการออนไลน์
สำหรับงานนมัสการพระธาตุพนม เป็นประ เพณีที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ในวันขึ้น 8 ค่ำ ถึง วันแรม 1 ค่ำเดือน 3 รวม 9 วัน 9 คืน วันขึ้น 15 ค่ำ (วันมาฆบูชา) ถือเป็นวันไหว้องค์ พระธาตุพนม